(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้อนรับปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน อย่างอบอุ่นในกรุงเทพฯ (ขวา) ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ทรงขอพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงสยาม
ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤษภาคม 2548
ผู้เขียน ไกรฤกษ์ นานา
เผยแพร่ วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2560
ต้นทศวรรษ ค.ศ. ๑๘๖๐ (พ.ศ. ๒๔๐๓) ถือเป็นยุคทองของรัชกาลพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ฝรั่งเศสได้กลายเป็นชาติชั้นนำของโลกทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง พระนามของพระองค์มีอิทธิพลเตือนใจให้ชาวฝรั่งเศสรำลึกถึงคุณงามความดีของพระเจ้านโปเลียนที่ ๑ ผู้เป็นพระปิตุลาและผู้ก่อตั้งราชวงศ์โบนาร์ปาต พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ จึงทรงเกิดความคิดที่จะรื้อฟื้นอำนาจของราชวงศ์โบนาร์ปาตขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสในการก้าวขึ้นมาเป็น “เจ้ายุโรป” อีกครั้ง
การขยายอิทธิพลของมหาอำนาจยุโรป ซึ่งในเวลานั้นมีเพียงอังกฤษและฝรั่งเศส ไม่ได้จำกัดตัวอยู่เฉพาะการสงครามเท่านั้น ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ยังเป็นยุคของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอาณานิคมด้วย เครื่องจักรกลชนิดใหม่ได้แปรเปลี่ยนอังกฤษและฝรั่งเศสให้เป็นผู้นำทางอุตสาหกรรม สนามแข่งขันแห่งใหม่ของยุคนั้นคือตะวันออกไกล ซึ่งทั้ง ๒ ประเทศขับเคี่ยวกันอย่างเผ็ดร้อน และต่างก็หวังที่จะเข้าครอบครองดินแดนใหม่อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อหาแหล่งระบายสินค้าขนาดใหญ่ ดินแดนที่ว่านี้คือคาบสมุทรอินโดจีน (อุษาคเนย์) และแคว้นยูนนาน (จีนตอนกลาง) อันเป็นผืนแผ่นดินที่ยังบริสุทธิ์อยู่
มงติญี ราชทูตฝรั่งเศสประจำเมืองมาเก๊า รายงานการสำรวจเข้าไปทางปารีสว่า “บทบาทของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบทบาทอันยิ่งใหญ่ คือบทบาทของผู้คุ้มครอง ไม่เพียงแค่สำหรับไทยและลาวเท่านั้น แต่ยังสำหรับดินแดนทั้งหมดอันมั่งคั่งและไพศาล ซึ่งมีอาณาเขตตั้งแต่อินเดียของอังกฤษจนกระทั่งจรดเมืองจีน หากรัฐบาลแห่งองค์จักรพรรดิประสงค์แล้ว ฝรั่งเศสก็จะเข้าอารักขาเยี่ยงผู้มีอำนาจสูงสุด และยามนั้นฝรั่งเศสก็จะเป็นผู้ตัดสินที่การุณย์และเป็นผู้พิทักษ์อันทรงเดชานุภาพที่เหลืออยู่สำหรับพวกเขา” (๖)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหยั่งรู้โครงสร้างของลัทธิจักรวรรดินิยมดี ตรัสว่า“เมื่อครั้งมงติญี ก็ได้เคยมาเกลี้ยกล่อมชักชวนสยามที่นี่ ให้ขึ้นกับฝรั่งเศส โดยนำเอาเรื่องร้ายต่างๆ ที่จะมีกับอังกฤษมาชี้แจงให้เห็น เดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสก็คงจะรู้แล้วว่า จะปฏิบัติหรือดำเนินนโยบายอย่างสันติกับกรุงสยามนั้นคงจะไม่สำเร็จเสียแล้ว มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น เขาจะต้องใช้กำลังเข้ารุกราน” (๕)
แต่พระองค์ก็ทรงทำใจดีสู้เสือ และทรงหาทางออกด้วยกุศโลบายต่างๆ เพื่อผ่อนปรนการบีบคั้นของศัตรู ในขั้นแรกแทนที่จะตั้งรับฝ่ายเดียว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยส่งคณะทูตชุดใหญ่ที่สุดจากกรุงรัตนโกสินทร์ไปเปิดฉากเจรจาโดยตรงถึงกรุงปารีส พระราชวิเทโศบายเชิงรุกที่ทรงใช้กับฝรั่งเศส มีเจตนาที่จะขัดขวางนโยบายขยายอาณานิคมของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ไม่ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ การต้อนรับความแข็งกร้าวด้วยการประนีประนอม ๒ ครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นโดยวิธีออกอุบายให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งเรือรบขนาดใหญ่มารับทั้ง ๒ ครั้ง ครั้งแรกเพื่ออัญเชิญเครื่องมงคลราชบรรณาการจำนวนมหาศาลรวมถึงพระมหามงกุฎสยามอันสูงค่าไปพระราชทาน (พ.ศ. ๒๔๐๔) และครั้งที่ ๒ เพื่อนำช้างกับสัตว์ป่ามีชีวิตจำนวนมากไปเป็นของขวัญเพิ่มเติมอีก (พ.ศ. ๒๔๐๕) ล้วนเป็นแนวคิดรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใดทรงกระทำมาก่อน ส่งผลให้ผู้นำฝรั่งเศสต้องหันมาเปลี่ยนแปลงท่าทีที่เคยใช้ความรุนแรงมาเป็นการเจรจาแทน กลยุทธ์ใหม่ที่พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ทรงใช้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ทรงเคยปฏิบัติต่อราชสำนักอื่นใดในทวีปเอเชียมาก่อนเลยเช่นกัน ในการนี้ทรงจัดส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดสำหรับชาวต่างชาติ ชื่อลิยอง ดอนเนอร์ มาพระราชทานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระองค์และจักรพรรดินียูเจนี ขนาดเท่าองค์จริง ๒ รูป นอกจากนั้นยังมีภาพวาดคณะราชทูตสยามเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นที่พระราชวังฟองเตนโบล แล้วยังมีพระบรมรูปปั้นจำลองส่งมาให้เป็นที่ระลึกด้วย แต่ที่พิเศษที่สุดประกอบด้วยพระแสงกระบี่ ๒ เล่ม สลักพระบรมนามาภิไธยย่อ “N III” แทนคำเต็มว่า Napoleon III ซึ่งถึงแม้จะไม่มีความมุ่งหวังโดยตรงก็ตาม ทว่ามันกลับสื่อความหมายสำคัญทางการเมืองต่อราชสำนักกรุงเทพฯ และมีผลทางจิตวิทยาต่อเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ในตระกูลบุนนาค ทำให้เกิดความลังเลใจและหวั่นเกรงพระบารมีของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ไปตามๆ กัน สร้างแรงกดดันให้กับเสียงสนับสนุนและการสรรหาองค์รัชทายาทที่จะสืบทอดราชบัลลังก์สยามต่อไป ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ร.๕ ว่า
“ฝ่ายฝรั่งเศสก็เห็นจะเข้าใจอย่างเดียวกัน พระเจ้าเอมเปอเรอนโปเลียนที่ ๓ จึงถือเอาเป็นโอกาสที่จะบำรุงทางพระราชไมตรีให้สนิทยิ่งขึ้น โปรดให้สร้างพระแสงกระบี่ขึ้น ๒ องค์ ส่งมาถวายเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ พระแสงกระบี่องค์ใหญ่จารึกอักษรว่า ‘ของเอมเปอเรอฝรั่งเศสถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม’ พระแสงกระบี่องค์น้อยจารึกอักษรว่า ‘ของพระยุพราชกุมารฝรั่งเศสถวายพระราชกุมารสยาม’ ดังนี้” (๓)
ภาพพจน์ของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ มีผลทางจิตใจและความรู้สึกของเสนาบดีไทยไม่น้อยไปกว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะนั้น พระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวเน้นต่อไปถึงอิทธิพลของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ที่มีต่อพระเจ้ากรุงสยาม
“พระยาสุรวงศวัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่า ถ้าไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ [เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์] ขึ้นครองราชสมบัติ น่ากลัวจะมีเหตุร้ายไปภายหน้า ด้วยคนทั้งหลายตลอดจนชาวนานาประเทศก็นิยมนับถือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถว่า เป็นรัชทายาท แม้สมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ เอมเปอเรอฝรั่งเศสก็ได้มีพระราชสาส์นทรงยินดีประทานพระแสงมีจารึกยกย่องพระเกียรติยศเป็นรัชทายาทมาเป็นสำคัญ ถ้าไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป การภายหน้าเห็นจะไม่เป็นปกติเรียบร้อยได้ มีพระราชดำรัสว่า เมื่อเห็นพร้อมกันเช่นนั้นก็ตามใจ” (๓)
ความเข้าใจเรื่องความสำคัญของพระแสงกระบี่นโปเลียนอาจจะมีความจริงอยู่บ้าง เพราะนอกจากกระบี่อาญาสิทธิ์จะสามารถทำให้พระราชกุมารสยามได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินจริงๆ แล้ว มันยังเป็นเครื่องมือที่พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ใช้บอกสัญญาณในการสละราชสมบัติของตัวพระองค์เอง ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นเพียง ๓ ปี และจะได้อธิบายต่อไป
นอกจากพระนามของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ จะได้รับการบันทึกอยู่ในพงศาวดารไทยมากมายหลายที่แล้ว พระนามของพระราชโอรสของพระองค์ที่ชื่อ “หลุยส์ นโปเลียน” ยังได้รับการกล่าวขวัญถึงควบคู่กันอยู่เสมอๆ พระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) ในคณะราชทูตไทยไปฝรั่งเศสครั้งปี พ.ศ. ๒๔๐๔ เคยพูดถึงปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ไว้เช่นกันดังนี้ “ท้องพระโรงที่เสด็จออกนั้น พื้นสองชั้นๆ บนมีพระแท่นยาวแล้วมีพระที่นั่งเรียงกัน ๓ องค์ สมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอเสด็จประทับพระที่นั่งข้างซ้าย พระเจ้าลูกยาเธอทรงเครื่องดำอย่างทหาร เสด็จยืนอยู่ข้างพระที่นั่งฝ่ายขวา” และภายหลังพิธีการถวายพระราชสาส์นจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว “สมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอแลเอมเปรศ พระมเหษีแลพระเจ้าลูกยาเธอเนโปเลียน เสด็จมาไต่ถามทุกข์สุขถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ แล้วรับสั่งให้หาตัวนายชาย [บุตรของอุปทูตอายุ ๑๐ ขวบ] มาให้พระเจ้าลูกยาเธอเนโปเลียนจับมือด้วย” ราชวงศ์โบนาร์ปาตถูกฟื้นฟูจนได้รับการยอมรับถึงขีดสุดอีกครั้งเมื่อพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ทรงสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนและศรัทธาจากพันธมิตรกลับคืนมาให้สนับสนุนนโยบายใหม่ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความหวังของพระองค์(๑)
(ซ้าย) ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ทรงสัมผัสมือกับบุตรชายอุปทูตไทย พาดหัวข่าวทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ในฝรั่งเศส (ภาพจากหนังสือพิมพ์ Le Monde Illustré, 1861) (ขวา-บน) ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน วันหนึ่งข้างหน้าจะเข้ามากรุงสยามเพื่อขอพบพระสหายเก่า (ภาพจากหนังสือพิมพ์ Le Monde Illustré, 1861) (ขวา-ล่าง) ความฝันของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ วันหนึ่งฝรั่งเศสจะมีพระเจ้านโปเลียนที่ ๔
แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พงศาวดารไทยก็ไม่เขียนถึงจักรพรรดิฝรั่งเศสอีก ราชวงศ์โบนาร์ปาตและราชวงศ์จักรี “ขาดการติดต่อ” กันโดยฉับพลัน ระหว่างรอยต่อของรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ ในสยามมีเพียงหนังสือพิมพ์สยามรีโพซิตอรี (The Siam Repository) ของ Samuel J. Smith เท่านั้นที่รายงานความต่อเนื่องเป็นระยะๆ ว่าในยุโรปสงครามได้ปะทุขึ้นระหว่างฝรั่งเศสและปรัสเซีย (เยอรมนี) ประมาณกลางปี ค.ศ. ๑๘๗๐ (พ.ศ. ๒๔๑๓) โดยฝรั่งเศสเป็นฝ่ายเริ่มประกาศสงครามก่อน
“พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ พร้อมด้วยสมเด็จพระยุพราช เสด็จฯ โดยรถไฟพระที่นั่งสู่แนวรบด้านชายแดนฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของกองทหารรักษาพระองค์ที่มาส่งเสด็จ “พระจักรพรรดิจงทรงพระเจริญ!” (Vive L”Empereur!) จักรพรรดินีทรงพระกันแสงแต่ก็ทรงฝืนยิ้มด้วยความตื้นตันพระทัย” (ข่าว ๑๐ สิงหาคม ๑๘๗๐)
นายสมิธรายงานความเป็นไปต่อไปอีก “สมเด็จพระยุพราชทรงตรากตรำอยู่กับสมเด็จพระจักรพรรดิผู้ทรงบัญชาการรบอย่างองอาจ ทรงควบม้าตามหลังม้าพระที่นั่งของพระบรมราชชนกเป็นชั่วโมงๆ เมื่อเสด็จไปทอดพระเนตรการรบในสมรภูมิ” แต่แล้วข่าวสั้นๆ ที่สร้างความตื่นตระหนกก็แทรกเข้ามาอย่างกะทันหัน “สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระราชบัญชาให้นำพระยุพราชออกไปจากสมรภูมิโดยเร็วเพื่อความปลอดภัย และด้วยเหตุผลบางประการ พระยุพราชมิได้ถูกอัญเชิญกลับมากรุงปารีสในทันที แต่ถูกนายทหารกลุ่มหนึ่งนำพระองค์บ่ายหน้าไปทางพรมแดนเบลเยียม แล้วทรงถูก ‘ลักลอบ’ ข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังเมืองเฮสติงบนฝั่งอังกฤษแล้ว” (ข่าว ๑๗ กันยายน ๑๘๗๐)(๙)
ช่างเป็นเรื่องน่าสลดใจที่พระยุพราชผู้ทรงเป็นความหวังของราชวงศ์โบนาร์ปาต จำต้องมีอันพลัดพรากไปอย่างกะทันหันเช่นนั้น ลางร้ายของความวิบัติจากสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย นำความหายนะมาสู่ราชบัลลังก์ พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ จึงทรงตัดสินพระทัยที่จะสละราชสมบัติในสนามรบนั่นเอง โดยปล่อยให้อนาคตของฝรั่งเศสเป็นไปตามชะตากรรม
พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ และพระโอรส ที่แนวหน้า
นักพงศาวดารชาวอังกฤษลำดับเหตุการณ์ของชั่วโมงวิกฤติในเวลานั้น
“ที่เมือง Sedan [อ่าน เซ-ดง] ทหารฝรั่งเศสถูกโอบล้อมอยู่โดยรอบด้วยกองทัพปรัสเซีย พระเจ้านโปเลียนทรงเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของพระยุพราชจึงมีพระบัญชาให้นำพระราชโอรสไปอยู่ใกล้ชายแดนเบลเยียมที่สุด หากเกิดอันตรายขึ้นจะได้เล็ดลอดข้ามชายแดนเข้าไปได้โดยสะดวก พระยุพราชถวายบังคมลาที่เมือง Tourterton ครึ่งทางระหว่าง Rheims กับ Sedan พระเจ้านโปเลียนทรงแน่พระทัยว่ามันเป็นการลาครั้งสุดท้าย พระองค์ทรงมอบหมายให้ราชองครักษ์ ๓ นาย คือ กัปตัน Duperre, Lamey และ Comte Clary เป็นผู้ถวายอารักขาพระยุพราช โดยที่พระจักรพรรดินียูเจนี ณ กรุงปารีสไม่ทรงทราบความคืบหน้าเหล่านั้นเลย
พระยุพราชต้องทรงระหกระเหินตามลำพังต่อไปอีก ๑ สัปดาห์ ด้วยพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา ความตรากตรำจาก ๔ สัปดาห์ที่แนวรบทำให้ทรงอิดโรยอย่างมาก คืนหนึ่งทรงผวาตื่นจากพระบรรทม เพราะเสียงปืนใหญ่ของฝ่ายศัตรูที่ประชิดเข้ามา ราชองครักษ์รีบนำพระองค์ลึกเข้าไปในป่าใหญ่ทางทิศเหนือ แต่เนื่องจากไม่มีพระราชบัญชาจากพระจักรพรรดิ ราชองครักษ์รีบถวายรายงานเข้ามายังจักรพรรดินีที่ปารีส พระนางตอบกลับไปอย่างฉุนเฉียวว่า ‘จงยืนหยัดต่อไปในสนามรบ ฉันยอมเสียน้ำตาหากสงครามจะมาพรากลูกที่รักไป แต่การทรยศต่อหน้าที่ฉันคงไม่ยอมแน่’ “ (๘)
ในที่สุดก็มีหมายรับสั่งเข้ามาจากพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ให้ลักลอบนำพระยุพราชเข้าไปในเบลเยียม ข่าวความพ่ายแพ้ของกองทัพฝรั่งเศสมาถึงหูชาวปารีสในไม่ช้า จักรวรรดิที่สอง (Second Empire) กำลังสิ้นสุดลงแล้ว ประชาชนลุกฮือขึ้นก่อการจลาจลไปทั่วทุกหย่อมหญ้า พระยุพราชต้องทรงปลอมพระองค์ไปตลอดทางเพื่อกันคนสังเกต พระองค์ทรงเปลี่ยนเครื่องแบบจากหัวหน้าทหารมหาดเล็กฝรั่งเศสเป็นชุดเด็กชาวนามอมแมม พรางตาผ่านเข้าไปยังประเทศที่สาม จากเมืองท่า Ostend บนชายฝั่งเบลเยียม ทรงต่อเรือข้ามไปยังประเทศอังกฤษ
ณ จุดนั้น แม่ทัพชั้นผู้ใหญ่ทูลแนะนำให้พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ทรงหนีเอาชีวิตรอดเช่นกัน แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ มีพระราชหัตถเลขาไปยังแม่ทัพใหญ่ M. Macmahon ให้ประกาศว่า “ทหารหาญของข้า พวกเจ้าจงแสดงวีรกรรมเฉกเช่นบรรพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของพวกเจ้า พระเจ้าจะไม่ทอดทิ้งฝรั่งเศส ถ้าทุกคนต่อสู้เพื่อมาตุภูมิต่อไปอย่างกล้าหาญ” แต่ทรงถลำไปข้างหน้าเพราะความเจ็บปวดจากพระอาการประชวรที่กำเริบขึ้น [ทรงเป็นโรคนิ่วเรื้อรังในกระเพาะปัสสาวะ-ผู้เขียน] จนต้องถูกหามออกไปจากสนามรบ วันรุ่งขึ้นมีพระราชหัตถเลขาถึงพระจักรพรรดินีมีใจว่าความ “ฉันไม่เคยนึกฝันถึงความหายนะที่เลวร้ายถึงขนาดนี้” นายพล ๓ คนขอเข้าเฝ้าด่วนเพื่อถวายรายงานถึงความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในการรบ และทูลแนะนำให้ยอมจำนนเพื่อยุติการรบทันทีเพื่อรักษาชีวิตไว้ แต่ก็ทรงปฏิเสธอีก หลังจากนั้นไม่นาน นายพล Lebrun ก็ยกธงขาวขึ้นและยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข
(ซ้าย) ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ทรงฉายกับพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ และพระราชชนนี ภายหลังรับรองทูตจากสยาม (ขวา) ทหารนโปเลียน “ยกธงขาว” ย้อมแพ้ที่เซดง (ภาพจาก The Illustrated London News, 1870)
พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ทรงฝืนพระทัยร่างพระราชหัตถเลขาถึง Prince Frederik William มกุฎราชกุมารปรัสเซีย ซึ่งทรงบัญชาการรบอยู่นอกเมือง Sedan เจ้าชายพระองค์นี้ครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ (พ.ศ. ๒๔๑๐) เคยได้รับการทูลเชิญจากพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ให้เป็นตัวแทนปรัสเซียไปร่วมในงานปารีสเอ๊กซิบิชั่น เฉกเช่นพระประยูรญาติที่สนิทชิดเชื้อพระองค์หนึ่ง ในพระราชหัตถเลขานั้นมีใจความว่า
“พระอนุชาที่รักของฉัน เพราะฉันไม่สามารถตายในสนามรบพร้อมกับกองทัพของฉัน ฉันจึงขอใช้เวลานี้มอบพระแสงกระบี่ของฉันต่อพระหัตถ์ของท่านแต่โดยดี
จากพระเชษฐาของท่าน
นโปเลียน
เซ-ดง ๑ กันยายน ๑๘๗๐” (๗)
พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ มีพระราชหัตถเลขาอีกฉบับหนึ่งส่งถึงจักรพรรดินีเปิดเผยความในพระทัยว่า
“ฉันปรารถนาความตายมากกว่าที่จะมีชีวิตอยู่อย่างผู้ปราชัย แต่มันเป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งการทำลายชีวิตทหารหาญกว่า ๘๐,๐๐๐ คน ฉันได้เข้าเฝ้ากษัตริย์แล้ว [พระเจ้าวิลเลียมแห่งปรัสเซีย] พระองค์ตรัสกับฉันพร้อมน้ำตาถึงความอัปยศและความเศร้าโศกที่ฉันได้รับ พวกเขากำลังจะส่งฉันไปอยู่ที่ปราสาทแห่งหนึ่งใกล้เมือง Cassel แต่มันจะมีความหมายอะไรอีก ฉันโทมนัสด้วยความทุกข์ระทมแสนสาหัส ขอพระเจ้าคุ้มครองเธอ
นโปเลียน”
หลังจากนั้นเพียง ๑ เดือน กองทัพปรัสเซียเกือบครึ่งล้านคนก็เคลื่อนถึงกรุงปารีส ท่ามกลางความไม่สงบและจลาจลที่มีอยู่ทั่วไป จักรพรรดินียูเจนีทรงหนีตายออกมาได้อย่างหวุดหวิด ด้วยความช่วยเหลือของ Dr.Evans นายแพทย์ชาวอเมริกันประจำราชสำนัก ทางรอดของราชวงศ์โบนาร์ปาตที่เหลืออยู่มีเพียงประเทศอังกฤษเท่านั้น และควีนวิกตอเรียพระสหายเก่า ก็ไม่ทรงทำให้ผิดหวังเลย(๘)
อีก ๓ เดือนต่อมา พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ก็ทรงถูกเนรเทศออกไปสมทบกับครอบครัวของพระองค์ในอังกฤษ สมาชิกในราชวงศ์ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาฝรั่งเศสอีก พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ จักรพรรดินียูเจนี และปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน มาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง ในสภาพผู้ขอลี้ภัยการเมืองในประเทศที่ ๓ ถึงจะมีชีวิตรอดมาได้ แต่ก็ปราศจากเกียรติยศและอิสรภาพ ได้มีความพยายามที่จะกอบกู้ราชบัลลังก์ของพวกฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าพวกนิยมโบนาร์ปาต ซึ่งตั้งตัวเป็นขบวนการใต้ดิน เพื่อเตรียมการทำรัฐประหารครั้งใหม่ในฝรั่งเศส แต่มันก็สายไปเสียแล้ว เพราะพระอาการประชวรของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ไม่ดีขึ้น ความเคลื่อนไหวต่างๆ จำต้องหยุดชะงักลงเป็นการชั่วคราว ปี ค.ศ. ๑๘๗๒ (พ.ศ. ๒๔๑๕) พระยุพราชซึ่งมีพระชนมายุย่างเข้า ๑๗ พรรษา ทรงเจริญวัยเข้าสู่วัยหนุ่มที่มีความมั่นใจและเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน มีพระประสงค์จะเป็นทหาร เพื่อเตรียมตัวสำหรับการสืบทอดราชบัลลังก์ต่อไปในอนาคต ติดอยู่ที่กฎมณเฑียรบาลไม่อนุญาตให้พระยุพราชฝรั่งเศสรับราชการในกองทัพต่างชาติ แต่แล้วพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ก็เข้าแทรกแซงและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นกรณีพิเศษ พระยุพราชจึงทรงได้มีโอกาสเข้าศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยทหารบกอังกฤษที่เมือง Woolwich
วันที่ ๘ มกราคม ๑๘๗๓ (พ.ศ. ๒๔๑๖) พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ทรงเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะเป็นครั้งที่ ๓ แต่พระอาการกลับทรุดลงอย่างหนัก และเสด็จสวรรคตในวันนั้นที่เมือง Chiselhurst ในประเทศอังกฤษ ท่ามกลางผู้แทนจากราชสำนักอังกฤษและชาวฝรั่งเศสโพ้นทะเลประมาณ ๓๐๐ คน งานพระบรมศพถูกจัดขึ้นอย่างเศร้าสลดที่โบสถ์เล็กๆ ชื่อ St.Mary ซึ่งผู้แทนพระองค์ของควีนวิกตอเรียเขียนรายงานถวายภายหลังว่า ถึงมันจะเป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่ก็เป็นการถวายพระเกียรติยศเต็มรูปแบบสำหรับกษัตริย์เช่นที่ควรเป็น หากจัดขึ้นที่โบสถ์ Notre Dame ในปารีส เมื่อพระยุพราชเสด็จออกมาทางประตูโบสถ์ ฝูงชนก็ร้องตะโกนอยู่เซ็งแซ่ว่า “พระจักรพรรดิองค์ใหม่จงทรงพระเจริญ” แต่พระยุพราชร้องตอบไปว่า “ไม่ใช่, พระจักรพรรดิสวรรคตแล้ว ขอให้ฝรั่งเศสจงเจริญ” แต่ก็ยังมีเสียงโห่ร้องอื้ออึงสวนขึ้นอีกว่า “นโปเลียนที่ ๔ จงทรงพระเจริญ!” (๗)
“ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน” รัชทายาทองค์สุดท้ายโดยชอบธรรมของราชวงศ์โบนาร์ปาตทรงใช้ชีวิตอยู่ต่อไปในอังกฤษกับพระราชชนนี แต่ด้วยวัยหนุ่มแน่นและนิสัยรักการผจญภัย พระองค์เสด็จไปในประเทศต่างๆ ที่พระองค์รู้จักและที่ที่ประชาชนให้การยอมรับ อิตาลีเป็นประเทศหนึ่งที่พระเจ้าแผ่นดิน [พระเจ้าอุมแบรโต] มีศักดิ์เป็นพระประยูรญาติทางพระบรมราชชนก ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน จึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่นั่นเสมอ
ทว่ายังมีอีกประเทศหนึ่งในซีกโลกตะวันออก ซึ่งครอบครัวของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ทรงคุ้นเคยเป็นอย่างดี ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ทรงเคยมีโอกาสรู้จักกับคณะของชาวสยามที่เดินทางมาเยือนถึงพระราชวังฟองเตนโบล ๑๐ กว่าปีก่อนหน้านั้น และพระบรมราชชนกของพระองค์ก็ทรงเคยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวราชสำนักที่กรุงเทพฯ บางทีราชวงศ์จักรียังพอจะนับญาติกับราชวงศ์โบนาร์ปาตอยู่บ้าง
หนังสือพระราชประวัติพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ทุกเล่ม กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า สมาชิกของพระราชวงศ์โบนาร์ปาตเดินทางออกมาจากประเทศฝรั่งเศสแบบคนสิ้นเนื้อประดาตัว การดำรงชีพในอังกฤษจึงอยู่ภายใต้พระบรมราชินูปถัมภ์ของพระราชินีอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ การเดินทางของพระยุพราชฝรั่งเศสไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองมาก จึงไม่น่าจะเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเหมือนในยามปกติ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า การเสด็จประพาสแต่ละครั้ง ถ้ามิใช่เป็นการเดินสายเพื่อหาเสียงสนับสนุนทางการเมืองแล้วก็อาจจะเป็นการแสวงหาปัจจัยนอกระบบ หรือเพื่อร้องขอความอนุเคราะห์จากมิตรประเทศที่เคยมีสัมพันธ์อันดีต่อกันมาก่อน อย่างไรก็ตามยังไม่มีคำอธิบายใดๆ ที่สามารถยืนยันจุดประสงค์ที่แท้จริงของพระยุพราชได้ การค้นพบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระกรณียกิจลับๆ ของสมาชิกจากราชวงศ์โบนาร์ปาตนับจากนั้น ถือเป็นการค้นพบทางประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นเต้น และยังมิได้มีการชำระมาก่อน(๘)
หนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ ๒๐ เล่าเรื่องการมาเยือนกรุงสยามของปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน พระราชโอรสองค์เดียวของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นที่เปิดเผย การมาครั้งนี้เป็นราชกิจส่วนพระองค์ที่รัฐบาลฝรั่งเศสไม่รับรู้ด้วย และไม่ยอมถวายการต้อนรับในฐานะราชนิกุลฝรั่งเศสผู้มีเกียรติ ในเวลานั้นประเทศฝรั่งเศสได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐแล้ว โดยมีตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นผู้นำประเทศแทนจักรพรรดิ ชาวฝรั่งเศสจึงไม่เคารพนับถือเจ้านายในระบอบเก่าอีก โดยเฉพาะรัชทายาทของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ซึ่งนำความพ่ายแพ้ในสงครามที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นมาสู่ชาวฝรั่งเศสโดยตรง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกถึงพระสหายเก่าแก่ผู้เคยถวาย “กระบี่พระยุพราชนโปเลียน” เข้ามาพระราชทานถึงกรุงสยาม มีรายละเอียดดังนี้
“วันอาทิตย์, ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา เวลาจวนย่ำค่ำกรมหมื่นเทววงศ์นำฮีลไฮเนส ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน เอมเปรอฝรั่งเศส ซึ่งปราชัยในการสงครามกับเยอรมันแล้ว ต้องจากเมืองฝรั่งเศสไป ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน องค์นี้เปนราชภาคินัยของสมเด็จพระเจ้าอุมเบิด พระเจ้าแผ่นดินอิตาลีด้วย ครั้งนี้กงสุลอิตาลีเปนธุระรับรอง และได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ไปอยู่ที่วังพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณตามเช่นเคยรับเจ้านายต่างประเทศมาแต่ก่อน เมื่อปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน เข้าเฝ้าก็ได้ดำรัสพระราชปฏิสันถารโดยสมควรแล้ว กราบถวายบังคมลากลับไป เสด็จออกมาส่งถึงมุขอัฒจันทร์พระที่นั่ง” (๒)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เป็นเจ้านายไทยอีกผู้หนึ่งที่มีโอกาสได้ถวายต้อนรับปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน บันทึกความทรงจำของพระองค์ตอนหนึ่งกล่าวถึงพระยุพราชผู้ตกยากว่า
“เวลาบ่าย ๕ โมงเสด็จออกประทับที่ซิตติงรูม ปรินสหลุย แนโปเลียน เฝ้า ปรินสหลุย แนโปเลียน คนนี้เปนเจ้านายเชื้อวงษ์ของเอมเปอเรอฝรั่งเศส แต่การบ้านเมืองผันแปรไป คือ เขาไม่นับถือเจ้าในบัดนี้ จึงต้องเที่ยวรหกรเหินไป เข้าในกรุงเทพฯ สองสามวันนี้เปนการไปรเวต กงซุลอิตาลีผู้เปนธุระรับรอง ทูตฝรั่งเศสไม่ยอมเกี่ยวข้องเปนธุระด้วย มาพักอยู่ที่วังองค์สวัสดิโสภณ วันนี้จึ่งมาเฝ้า” (๔)
หลักฐานเพิ่มเติมที่พบในเมืองไทยทำให้เชื่อได้ว่าปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ทรงพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ นานกว่า ๑๐ วัน พร้อมด้วยราชองครักษ์อย่างน้อยคนหนึ่ง ทำให้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายครั้งหลายหน
“วันพุธ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา มีการมหรสพสมโภชพระอาราม [วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม] เปนการใหญ่ตามธรรมเนียม วันนี้ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน มาเข้าเฝ้าที่พลับพลาด้วย” (๒)
ต่อมาอีก ๑ สัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสบโอกาสเหมาะที่จะพระราชทานเลี้ยงใหญ่เพื่อเป็นเกียรติยศต่อพระสหายเก่า ซึ่งมีให้เห็นไม่บ่อยนักสำหรับผู้นำประเทศที่หมดอำนาจทางการเมือง ข้อมูลต่อไปนี้เป็นรายละเอียดของงานเลี้ยง พร้อมด้วยพระนามของเจ้านายฝ่ายสยามผู้ได้รับคัดเลือกให้ร่วมโต๊ะเสวยอยู่ด้วย บ่งบอกความสำคัญของผู้มาเยือน
“วันพุธ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา วันนี้ไม่มีราชการอะไร โปรดให้มีการดินเนอร์พระราชทานฮีลไฮเนส ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน เวลาทุ่มเศษ พระเจ้าอยู่หัวทรงครึ่งยศทหาร เสด็จออกประทับดายนิ่งรูม ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน กับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกเชิญเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสด็จไปประทับห้องเสวยพระที่นั่งมูลสถานบรมอาศน์ มีแผนที่และพระนาม นาม ท่านผู้ที่ประชุมในโต๊ะข้างล่างนี้
ยามเศสดินเนอร์แล้วเสด็จประทับซิตติ้งรูม ตรัสอยู่กับเจ้านโปเลียน จนเวลา ๔ ทุ่มเศษเจ้ากลับไป เสด็จขึ้น”(๒)
บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น เป็นสักขีพยานของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะของเหตุการณ์ต่างๆ สยามประเทศสามารถปรับสภาพของตนเองจากครั้งหนึ่งที่เคย “เป็นรอง” ฝรั่งเศสอยู่อย่างเทียบไม่ติด ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มา “เป็นต่อ” ได้ ในระดับหนึ่งสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ นี่เอง ความเป็นต่อนี้เห็นได้จากการที่ผู้นำในระบอบเก่า คือปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ทรงอุตส่าห์เดินทางมาขอพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงสยามซึ่งเคยถูกฝรั่งเศสข่มเหงรังแกมาก่อน นอกจากนี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้นำในระบอบใหม่ คือประธานาธิบดีจูล เกรวี ก็ยังติดต่อมาขอทหารไทย ๕๐๐ คน ให้ไปช่วยฝรั่งเศสรบกับพวกญวนในตังเกี๋ย (Tonkin) อีกด้วย(๔)
(ซ้าย) พระแสงกระบี่นโปเลียนถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระแสงกระบี่หลุยส์ นโปเลียนถวายเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (สันนิษฐานว่าทรงฉายพระรูปนี้เพื่อส่งกลับไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ จักรพรรดินียูเจนี และพระโอรสขณะทรงลี้ภัย (ขวา-บน) “ตกยากในอังกฤษ” พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ จักรพรรดินียูเจี และพระโอรส ขณะทรงลี้ภัย (ล่าง-ซ้าย) พระเจ้านโปเลียน โบนาร์ปาตที่ ๑ เป็นพระปิตุลาของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ (ล่าง-ขวา) ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ในฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารม้าอังกฤษ ทรงฉายก่อนทิวงคตไม่นาน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้อนรับขับสู้ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน อย่างอบอุ่น โดยไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์จะพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์อะไรไปมากกว่านั้น แผนฟื้นฟูราชวงศ์โบนาร์ปาตที่เริ่มต้นไว้ก่อนที่พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ จะสวรรคต ไม่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกเพราะขาดปัจจัยเฉพาะหน้าหลายอย่าง เช่น อุปสรรคด้านทุนทรัพย์ กำลังทหาร และฐานอำนาจของปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน เองที่ไม่มีเหลืออยู่เลย ตั้งแต่พระบรมราชชนกจากไปอย่างกะทันหัน
เมื่อปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ทรงพบว่าความพยายามที่จะสืบทอดราชบัลลังก์เป็นเรื่องไกลตัว พระภารกิจที่เหลืออยู่จึงทุ่มเทไปกับการศึกษาวิชาทหารที่ทรงถนัดและเหมาะสมที่สุดต่อไป ประมาณปี ค.ศ. ๑๘๗๙ (พ.ศ. ๒๔๒๒) ในแอฟริกาใต้เกิดการต่อต้านการยึดครองของกองทัพอังกฤษโดยชนพื้นเมืองเผ่าซูลู การสู้รบครั้งใหญ่ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๑๘๗๙ (พ.ศ. ๒๔๒๒) ที่เมือง Isandhlwana เป็นเหตุให้ทหารอังกฤษเสียชีวิต ๘๐๐ นาย รัฐบาลอังกฤษจึงมีมติให้ส่งกองหนุนไปเสริมทันที และหน่วยหนึ่งที่ได้รับมอบหมายมีปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน รวมอยู่ด้วย พระองค์มีพระประสงค์จะเสด็จไปช่วยอังกฤษอย่างกระตือรือร้น แต่รัฐบาลอังกฤษไม่อนุญาตให้ไปในฐานะที่ทรงเป็นพระยุพราชของราชวงศ์ฝรั่งเศส ด้วยเห็นแก่พระโอรสที่ต้องการทำหน้าที่อย่างชายชาติทหาร จักรพรรดินียูเจนีทรงร้องขอให้สมเด็จพระราชินีอังกฤษเข้าแทรกแซง ควีนวิกตอเรียจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โดยมีข้อแม้ว่า ไม่ทรงอนุญาตให้ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ร่วมในปฏิบัติการสู้รบไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น(๘)
M. Deleage นักข่าวหนังสือพิมพ์ Le Figaro จากฝรั่งเศส ประจำสำนักข่าวในแอฟริกาใต้ รายงานความคืบหน้าของสงคราม และพาดพิงไปถึงปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ว่า “ทรงเป็นชายชาติทหารโดยกำเนิด มีบุคลิกลักษณะและสายเลือดของนักรบแห่งราชวงศ์โบนาร์ปาตอันเป็นที่เลื่องลือ” (๗)
ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๑๘๗๙ (พ.ศ. ๒๔๒๒) หน่วยลาดตระเวนเบาประกอบด้วยทหาร ๖ นาย รวมทั้งปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน เข้าเวรตรวจการอยู่นอกค่าย ทันใดนั้นก็ต้องเผชิญหน้ากับหน่วยสอดแนมของซูลูโดยบังเอิญ ทหารอังกฤษซึ่งไม่ได้รับคำสั่งให้ต่อสู้ เกิดความตกใจต่างกระโจนขึ้นม้าควบหนีเอาตัวรอด เหลืออยู่แต่ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ซึ่งปกติเป็นคนชำนาญการขี่ม้า แต่ในวันนั้นพลาดท่าเนื่องจากขาหยั่งเท้าที่อานม้าหักลงกลางคัน ทำให้ทรงหงายหลังหล่นลงมากองอยู่ที่พื้นหญ้า พวกซูลู ๗ คนตีวงล้อมเข้ามา ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน รีบชักปืนสั้นออกมาเพื่อป้องกันตัว โดยยิงออกไป ๓ นัด แต่ด้วยคราวเคราะห์เสียหลักเท้าสะดุดก้อนหินเข้าอีก เลยคะมำไปข้างหน้า ซูลูจึงกระหน่ำแทงด้วยหอกพร้อมๆ กัน ทำให้เสด็จทิวงคตในทันที
เชลยซูลูคนหนึ่งซึ่งถูกจับได้ในเวลาต่อมา สารภาพว่าร่างของหลุยส์ นโปเลียน ไม่ได้ถูกชำแหละเป็นชิ้นๆ เหมือนเหยื่อรายอื่นๆ อันเป็นสัญลักษณ์ของการเสียชีวิตเยี่ยงนักรบผู้กล้า เขาเล่าว่าพระองค์ยืนหยัดสู้อย่างพญาราชสีห์ด้วยความทระนงองอาจ(๘)
นักหนังสือพิมพ์คนเดิมรายงานข่าวอันเศร้าสลดไปฝรั่งเศสว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่านี่คือความสูญเสียครั้งใหญ่ของคนฝรั่งเศส ความเกลียดชังที่พวกเรามีต่อเขาได้บีบคั้นให้เจ้าชายผู้อาภัพ ต้องการพิสูจน์ความกล้าหาญของสายเลือดนักรบอันเข้มข้นที่เขามีอยู่ แต่ในดินแดนซึ่งไม่มีค่าสำหรับเขาเลย วีรกรรมของนโปเลียนคนสุดท้ายนำเกียรติยศมาสู่ประเทศฝรั่งเศสมากกว่าประเทศอังกฤษจะพึงได้รับ” (๗)
กองทัพอังกฤษได้ถวายคืนเครื่องแบบและสิ่งของติดตัวปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ทั้งหมดให้กับจักรพรรดินียูเจนี หนึ่งในของสำคัญนั้นมีกระดาษแผ่นหนึ่งเป็นพินัยกรรมอันสะเทือนใจที่ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ได้เขียนไว้
“ฉันตายในนามของคริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิกที่ฉันเลื่อมใส ฉันปรารถนาให้ร่างของฉันอยู่เคียงข้างพระบรมชนกนาถของฉัน จนกว่าร่างของพวกเราจะถูกนำไปฝังไว้โดยสงบในสุสานหลวงของผู้ก่อตั้งพระราชวงศ์โบนาร์ปาตของเรา [หมายถึงที่ฝังพระศพพระเจ้านโปเลียนที่ ๑ ที่สุสานหลวง Les Invalides ในกรุงปารีส-ผู้เขียน] สิ่งสุดท้ายที่ฉันฝันถึงคือประเทศฝรั่งเศส และเพื่อฝรั่งเศสเท่านั้น ที่ฉันปรารถนาจะสละชีวิตให้เป็นราชพลี”
(ซ้าย) ปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ทรงพลาดท่าตกจากม้า ถูกปลงพระชนม์โดยนักรบซูลู (ภาพจากวารสาร Royal Romances ตอน Emperor Napleon III & Eugénie) (ขวา) ยถากรรมของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ถวายบังคมพระบรมศพแบบตามมีตามเกิด
ปัจจุบันนี้พระศพของปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน พร้อมด้วยพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ยังคงอยู่ในอังกฤษ บรรจุอยู่เคียงข้างกันในสุสานโบนาร์ปาตของโบสถ์ Farnboroug Abbey ในจังหวัด Hampshire พระบรมศพจักรพรรดิองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศส และรัชทายาทของพระองค์ไม่ได้ถูกนำกลับไปฝรั่งเศสตามพระราชประสงค์ในพินัยกรรมฉบับนั้น มีแต่เพียงเครื่องแบบทหารอังกฤษของปรินซ์หลุยส์ นโปเลียน ที่มีรอยหอก ๑๗ รู และคราบเลือดจางๆ เท่านั้นที่ถูกนำกลับไปเก็บรักษาไว้เพื่อจัดแสดง ณ พระราชวังกองเปียญ (Chateaux de Compiegne) นอกกรุงปารีสจนทุกวันนี้(๗)
พงศาวดารฝรั่งเศสยังไม่ยอมรับวีรกรรมของพระเจ้านโปเลียนทุกพระองค์เสียทั้งหมด ประวัติการณ์อันโชกโชนของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ และพระราชโอรสเป็นเรื่องราวที่น่าอัปยศในหัวใจของชาวฝรั่งเศสจริงหรือ?
หนังสือประกอบการค้นคว้า
(๑) จดหมายเหตุเรื่องราชทูตสยามไปกรุงฝรั่งเศส . พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงตลับ ประดิพันธภูบาล. กทม., ๒๕๑๓.
(๒) จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๒๐ . พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมเอิบ ต.จ.ว. ในรัชกาลที่ ๕. กทม., ๒๔๘๗.
(๓) ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ร.๕.
(๔) บันทึกรายวัน ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ . พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเกื้อ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ต.จ. กทม., ๒๕๒๖.
(๕) พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีถึงราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ๔ มีนาคม ๒๔๑๐ . พิมพ์ในงานอนุสรณ์หม่อมสาย ศรีธวัช ณ อยุธยา. พระนคร, ๒๕๑๒.
(๖) เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย (สยาม) กับฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙. ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙.
(๗) Bierman, John. Napoleon III and his Carnival Empire . New York, 1988.
(๘) Duff, David. Eugenie and Napoleon III. New York, 1978.
(๙) Smith, Samuel J. The Siam Repository. Vol.3 No.4, Bangkok, 1871.