3 จุดตายของ กกต. เสี่ยงคุก เสี่ยงโมฆะ
3 จุดตายของ กกต. เสี่ยงคุก เสี่ยงโมฆะ
บอลได้รวบรวม 3 จุดตายสำคัญ ที่อาจทำให้ กกต. ชุดนี้ ต้องมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอาจทำให้การเลือกตั้งที่เราต่างเฝ้าคอยกันมานานกว่า 5 ปี และใช้งบประมาณจากภาษีของเราไปกว่า 5,800 ล้านบาทเป็นเป็นโมฆะ ลองมาดูจุดเสี่ยงเหล่านี้ และร่วมกันจับตาการทำงานของ กกต. กันครับ
(คำอธิบายของแต่ละจุดเสี่ยงอยู่ใน comment ใต้รูปนะครับ)
1. วินิจฉัยบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากนิวซีแลนด์ที่ขนส่งมาไม่ทันให้เป็นบัตรเสีย ขัด พ.ร.ป. ส.ส. มาตรา 114
จากมติของ กกต. ที่วินิจฉัยให้บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ ที่ขนส่งมาไม่ทันปิดหีบ กลายเป็นบัตรเสีย หรือที่ กกต. ขอให้เรียกชื่อว่า “บัตรที่ไม่สามารถนับคะแนนได้” นั้น ไม่สมด้วยเหตุและผล และขัดต่อหลักกฎหมาย พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 114
ซึ่งสาระสำคัญของมาตรานี้ โดยเฉพาะกรณีที่บัตรเลือกตั้งจากต่างประเทศมาถึงล่าช้า กกต. จะไม่นับบัตรนั้น หรือจะตีเป็นบัตรเสียได้ก็ต่อเมื่อบัตรเลือกตั้งเหล่านั้นเกิดขึ้นจากความไม่สุจริต ความไม่เป็นธรรม หรือที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีความไม่สุจริต มีความไม่เที่ยงธรรม
แต่ ณ ขณะนี้จากข้อมูลหลายด้านยังไม่มีความชัดเจน จน กกต. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบภายใน 7 วัน แต่กลับมีมติก่อนแบบนี้หมายความว่าอย่างไร และบางข่าวมีการรายงานว่าเป็นความผิดพลาดของ กกต. อีกด้วย ซึ่งหากเป็นความผิดพลาดของ กกต. แล้ว กกต. จะมาตัดสิทธิ์ 1,542 เสียงนี้ได้อย่างไร
นอกจากนี้ องค์ประกอบสำคัญของมาตรา 114 คือ การส่งบัตรเลือกตั้งที่อยู่นอกราชอาณาจักร มาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้ง หลังจากที่มีการนับคะแนนแล้ว กกต. จะไม่ทำการนับคะแนนนั้น ต้องพิสูจน์ได้ว่าเกิดความไม่สุจริตเกิดขึ้น กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า “โดยมีเหตุสมควรเชื่อได้ว่าเกิดจากการกระทำที่ไม่สุจริต หรือไม่เที่ยงธรรม”
แต่การขนส่งล่าช้านั้นไม่เข้าองค์ประกอบที่จะทำให้ กกต. ตีบัตรเลือกตั้งเหล่านี้เป็นบัตรเสียได้แต่อย่างใด
2. ใช้สูตรคำนวณ ส.ส. ให้เกิดพรรคเล็ก ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 94 (1)
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เผยแพร่ข่าวสารอ้างว่า กกต.ได้เห็นชอบวิธีการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามที่สำนักงาน กกต.ได้เสนอ โดยอ้างว่าเป็นวิธีที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งเป็นวิธีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 และมาตรา 129 ประกอบกับเจตนารมณ์ของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลจากการคำนวณตามวิธีการดังกล่าวทำให้มีพรรคการเมืองได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรค ซึ่งรวมถึงพรรคที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคนด้วยนั้น
การนำวิธีการคำนวณดังกล่าวมาใช้จะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 128 และยังขัดต่อหลักตรรกวิทยาด้วย ดังเหตุผลต่อไปนี้
1. การที่พรรคการเมืองใดจะได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองนั้นต้องได้รับคะแนนไม่ต่ำกว่าจำนวนคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคน เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (1) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (1) ให้ความสำคัญต่อทุกคะแนนเสียง จึงให้นำทุกคะแนนที่ลงให้กับทุกพรรคการเมืองมารวมกันแล้วหารด้วย 500 คือ จำนวน ส.ส.ทั้งหมด เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน ซึ่งจากคะแนนรวมของทุกพรรค 35,532,647 คะแนน หารด้วย 500 ผลลัพธ์คือ 71,065 คะแนน ซึ่งตัวเลขนี้จะเป็นตัวกำหนด ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคด้วย จึงเห็นได้ว่าหลักการที่ว่าทุกคะแนนเสียงมีค่าและไม่เป็นคะแนนตกน้ำนั้น ได้นำมาใช้ในการคิดคำนวณในส่วนนี้แล้ว
2. จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีนั้นต้องยึดจำนวนตามที่คำนวณได้เป็นเกณฑ์จะนำไปเฉลี่ยให้กับพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนนมิได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (2) ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับจากทุกเขตเลือกตั้งหารด้วยคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคน (71,065) ผลลัพธ์ คือ จำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้นและเมื่อนำผลลัพธ์ดังกล่าวไปลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตของพรรคนั้น ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้รับเบื้องต้น ตามมาตรา128 (3) จะเห็นได้ว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมีของแต่ละพรรคก็ดี หรือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับเบื้องต้นก็ดี ล้วนมีฐานมาจากที่พรรคนั้นต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคน (71,065 คะแนน) ทั้งสิ้น
3. พรรคการเมืองใดที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อส.ส.หนึ่งคนคือต่ำกว่า 71,065 คะแนนซึ่งไม่มีจำนวน ส.ส. ที่พึงมีและไม่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ตามมาตรา128 (3) ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 128 (4) เพราะตามมาตรา 128 (4) ให้จัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้เฉพาะกับพรรคที่มีสิทธิจะได้รับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 128 (3) เท่านั้น โดยให้จัดสรรเป็นจำนวนเต็มก่อนถ้ายังไม่ครบ 150 คน จึงไปพิจารณาว่าพรรคใดมีเศษจากการคำนวณมากกว่ากัน ดังนั้นเมื่อพรรคใดไม่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ก็ไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรดังกล่าว และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจากทุกพรรคที่มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ 71,065 คะแนนขึ้นไปมีจำนวน 152 คน เกินมา 2 คน จึงไม่ต้องไปพิจารณาเรื่องเศษจากการคำนวณ และไม่ต้องไปพิจารณาตามมาตรา128 (6) ด้วยเช่นกัน
4. พรรคที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 (5) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส.พึงมีเสียก่อน เนื่องจากการคำนวณตามมาตรา 128 (5) ต้องพิจารณาตามมาตรา 128 (2) เป็นหลักโดยจัดสรรภายใต้เงื่อนไขดังนี้
(1) ถ้าพรรคนั้นมี ส.ส.เขตเท่ากับ หรือ สูงกว่าจำนวนส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมี ตามมาตรา 128 (2) ให้พรรคนั้นมี ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับจาก ส.ส.แบบแบ่งเขตและไม่มีสิทธิได้รับจัดสรรแบบ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
(2) ให้นำ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไปจัดสรรให้แก่พรรคที่มี ส.ส.แบบแบ่งเขตต่ำกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นจะพึงมี ตามมาตรา 128 (2)
(3) การจัดสรรข้างต้นต้องไม่มีผลให้พรรคนั้นมี ส.ส.เกินจำนวนที่พึงมีตามมาตรา 128 (2)
ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองใดไม่มี ส.ส. ที่พึงมี ตามมาตรา 128 (2) ตั้งแต่ต้นก็ไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 (5) ได้
5. พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน ซึ่งเป็นพรรคที่ไม่มี ส.ส.พึงมี ตามมาตรา128 (2) ไม่มีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้นตามมาตรา 128 (3) ซึ่งไม่มีสิทธิจะได้รับจัดสรรแบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 (4) และ (5) พรรคนั้นก็ย่อมไม่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 (7) เพราะพรรคเหล่านั้นไม่มีจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับมาตั้งแต่ต้น จึงไม่มีจำนวน ส.ส.ที่จะมาคูณกับจำนวน 150 และหารด้วยผลบวกของ 150 กับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่เกิน 150 คนได้
ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้วไม่มีช่องทางใดเลยที่พรรคซึ่งมีคะแนนต่ำกว่า71,065 คะแนน จะได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ การคำนวณคะแนนตามแบบวิธีของกกต. จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 94 (1) ที่ห้ามให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เกินกว่า ส.ส.พึงมี ของแต่ละพรรคการเมืองครับ
3. วันเลือกตั้งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ
คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้แสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดวันเลือกตั้งของ กกต. ไว้อย่างน่าสนใจครับ โดยคุณธีระชัยบอกว่าการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 61 นับแต่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 มกราคม 2562 ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 วรรคสาม กล่าวคือ ต้องจัดการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ ลองอ่านคำอธิบายของคุณธีระชัยกันนะครับ
“เงื่อนไขในมาตรา ๑๐๓ มีลักษณะเป็นเงื่อนไขหลักการทั่วไป เหตุผลที่มาตรา ๑๐๓ ให้กำหนดเวลาต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับนั้น ก็เพื่อให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยกำหนดไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันเพื่อให้ทุกพรรคมีเวลาเตรียมตัวผู้สมัครที่เพียงพอ และให้เวลาหาเสียงที่เพียงพอ และกำหนดไม่เกินหกสิบวันเพื่อมิให้ลากวันเลือกตั้งออกไปเพื่อเอื้ออำนวยแก่พรรคใดที่ยังไม่สามารถเตรียมตัวให้พร้อมได้ภายในเวลาอันควร
ส่วนการที่มาตรา ๑๐๒ กำหนดเวลาวันเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวัน ซึ่งสั้นกว่าที่กำหนดในมาตรา ๑๐๓ เนื่องจากกำหนดวันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงนั้น ย่อมเป็นที่รู้ทั่วไปก่อนหน้านานแล้ว และผู้ที่เกี่ยวข้องย่อมจะได้มีเวลาเตรียมตัวมากพอเพียงแล้ว ดังนั้น กำหนดเวลาสูงสุดตามมาตรา ๑๐๒ จึงสั้นกว่ากำหนดเวลาสูงสุดตามมาตรา ๑๐๓
สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากการปฏิวัติรัฐประหารนั้น จะต้องใช้ข้อบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักการทั่วไป ไม่ว่ากระบวนการเกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ การแบ่งเขต วิธีการจัดการเลือกตั้ง ฯลฯ เว้นแต่จะมีข้อบัญญัติใดเป็นการเฉพาะที่ยกเว้นการปฏิบัติตามหลักการทั่วไป และถึงแม้ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๖๘ จะบัญญัติให้ดําเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๗ (๑) (๒) (๓) และ (๔) มีผลใช้บังคับแล้ว ก็มิใช่ว่าจะใช้ระยะเวลาตามมาตรา ๒๖๘ ได้เพียงลำพัง แต่จะต้องใช้ควบคู่กับมาตรา ๑๐๓ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
(ก) บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มิได้มีการระบุให้ยกเว้นการปฏิบัติตามข้อบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้เป็นหลักการทั่วไป จึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนเวลาในมาตรา ๑๐๓ เป็นหลัก ส่วนเงื่อนเวลาในมาตรา ๒๖๘ ย่อมจะต้องถือเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม
(ข) มาตรา ๒๖๘ บัญญัติให้ดําเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตาม ‘รัฐธรรมนูญนี้’ ซึ่งย่อมหมายความถึงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มิใช่ให้บังคับเฉพาะมาตราใดมาตราหนึ่ง
(ค) เงื่อนเวลาในมาตรา ๒๖๘ นั้น อ้างถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๗ (๑) (๒) (๓) และ (๔) จึงหมายความว่า ให้ถือวันที่กฎกติกาเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒสภา เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเรื่องพรรคการเมือง มีผลใช้บังคับ เมื่อใด ภายหลังจากที่ประเทศมีกฎกติกาใน ๔ เรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว ก็ให้จัดการเลือกตั้งโดยมิชักช้า คือภายใน ๑๕๐ วัน มิให้เนิ่นนานกว่านี้
(ง) เงื่อนเวลา ๑๕๐ วันตามที่ระบุในมาตรา ๒๖๘ นั้น เนื่องจากเป็นเงื่อนเวลา นับจากวันที่ประเทศมีกฎกติกาเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นเรื่องที่แตกต่างจากมาตรา ๑๐๓ ซึ่งกำหนดเงื่อนเวลา นับจากวันที่ประชาชนล่วงรู้เจตนาที่จะให้มีการเลือกตั้งอย่างแน่ชัด
(จ) เงื่อนเวลา ๑๕๐ วันตามที่ระบุในมาตรา ๒๖๘ นั้น ย่อมหมายความรวมถึงทุกขั้นตอนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ได้แก่ การรับสมัคร การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ การเลือกตั้ง และการประกาศผล ซึ่งแตกต่างจากมาตรา ๑๐๓ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวันเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากการปฏิวัติรัฐประหาร ย่อมไม่มีเหตุการณ์สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๒ หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๐๓ วรรคแรกและวรรคสองเกิดขึ้นได้ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะเป็น รัฏฐาธิปัตย์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจเสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๖๒ จึงย่อมมีฐานะเป็นพระราชกฤษฎีกา ตามที่มาตรา ๑๐๓ วรรคสองและวรรคสามกล่าวถึง และการกำหนดวันเลือกตั้งจึงต้องปฏิบัติตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม กล่าวคือต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ
หรือพิจารณาอีกทางหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ มีการบัญญัติมาตรา ๔๔ ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํารวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าวเป็นคําสั่งหรือการกระทําหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด และบทบาทของคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ได้มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยมาตรา ๒๖๕ บัญญัติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และยังกำหนดด้วยว่าในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่๒) พุทธศักราช ๒๕๕๙ และให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอํานาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่กล่าวถึงข้างต้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจในการที่จะออกกฎหมายเพื่อกำหนดให้มีการเลือกตั้งได้ด้วยตนเอง ซึ่งถ้าหากมีการดำเนินการดังกล่าว กฎหมายเพื่อกำหนดให้มีการเลือกตั้งก็จะมีสภาพเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาที่มาตรา ๑๐๓ วรรคสองและวรรคสามกล่าวถึง และวิธีปฏิบัติในการกำหนดวันเลือกตั้งก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม กล่าวคือต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่กฎหมายเพื่อกำหนดให้มีการเลือกตั้งดังกล่าวใช้บังคับ
สำหรับประเด็นเรื่องประเพณีการปกครอง
อนึ่ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕ วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”ข้าพเจ้าจึงเห็นจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังการปฏิวัติรัฐประหารในปัจจุบันและในอดีต คือในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ , ๒๕๕๐ , ๒๕๓๕ และ ๒๕๒๒ ซึ่งปรากฏข้อมูลดังนี้
๑ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๖๒
(ก) วันเลือกตั้ง ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นวันที่ ๖๑นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ (๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒)
(ข) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ บัญญัติให้กำหนดวันเลือกตั้ง หลังวันที่สภาหมดอายุต้องไม่เกิน ๔๕ วัน (มาตรา ๑๐๒) และหลังวันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาหมดอายุ ไม่น้อยกว่า ๔๕ วัน แต่ไม่เกิน ๖๐ วัน (มาตรา ๑๐๓)
(ค) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ บทเฉพาะกาลมาตรา ๒๖๘ บัญญัติให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน ๑๕๐ วันนับแต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ
(กำหนดวันเลือกตั้ง เกินกว่าเงื่อนเวลาสูงสุดของกรณียุบสภา)
๒ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๕๐
(ก) วันเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นวันที่ ๖๐ นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ (๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐)
(ข) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้กำหนดวันเลือกตั้ง หลังวันที่สภาหมดอายุต้องไม่เกิน ๔๕ วัน (มาตรา ๑๐๗) และหลังวันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาหมดอายุ ไม่น้อยกว่า ๔๕ วัน แต่ไม่เกิน ๖๐ วัน (มาตรา ๑๐๘)
(ค) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ บทเฉพาะกาลมาตรา ๒๙๖ บัญญัติให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน ๙๐ วันนับแต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ
(กำหนดวันเลือกตั้ง ไม่เกินเงื่อนเวลาสูงสุดของกรณียุบสภา)
๓ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕
(ก) วันเลือกตั้ง ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นวันที่ ๖๖ นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ (๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕)
(ข) ธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ บัญญัติให้กำหนดวันเลือกตั้ง หลังวันที่สภาหมดอายุต้องไม่เกิน ๖๐ วัน (มาตรา ๑๑๑) และหลังวันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาหมดอายุ ไม่เกิน ๙๐ วัน(มาตรา ๑๑๒)
(ค) ธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ บทเฉพาะกาลมาตรา ๒๑๘ บัญญัติให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน ๑๒๐ วันนับแต่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ
(กำหนดวันเลือกตั้ง ไม่เกินเงื่อนเวลาสูงสุดของกรณียุบสภา)
๔ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒
(ก) วันเลือกตั้ง ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นวันที่ ๗๕ นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ (๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒)
(ข) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ บัญญัติให้กำหนดวันเลือกตั้ง หลังวันที่สภาหมดอายุต้องไม่เกิน ๖๐ วัน (มาตรา ๑๐๐) และหลังวันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาหมดอายุ ไม่เกิน ๙๐ วัน(มาตรา ๑๐๑)
(ค) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ บทเฉพาะกาลมาตรา ๒๐๒ บัญญัติให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน ๑๒๙ วันนับแต่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ
(กำหนดวันเลือกตั้ง ไม่เกินเงื่อนเวลาสูงสุดของกรณียุบสภา)
จะเห็นได้ว่า ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กำหนดวันเลือกตั้งจะอยู่ภายในเงื่อนเวลาของการยุบสภาทุกครั้ง ยกเว้นปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงแม้เงื่อนเวลาสูงสุดในบทเฉพาะกาลจะกำหนดไว้สูงกว่าทุกครั้ง
จึงขอเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อ กกต. จะได้จัดเตรียมคำโต้แย้งได้อย่างสะดวก”