วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พบกับ 5 นักพูดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จักมา กว่าพวกเขาจะไปถึงขั้นนั้นบอกเลยว่าไม่ได้มี ‘ดีแต่พูด’ อย่างเดียวแน่นอน


พบกับ 5 นักพูดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จักมา กว่าพวกเขาจะไปถึงขั้นนั้นบอกเลยว่าไม่ได้มี ‘ดีแต่พูด’ อย่างเดียวแน่นอน


แชแนลยูทูบเผยเรื่องราวของ 5 นักพูดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก….กว่าพวกเขาจะมาได้ถึงขั้นนี้บอกได้เลยว่าไม่ได้มีดีแต่พูดอย่างเดียวแน่นอน
วินสตัน เชอร์ชิล : นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้มีบทบาทสำคัญในการพาชาติให้พ้นหายนะครั้งใหญ่จากการคุกคามของนาซีเยอรมันภายใต้การนับของฮิตเลอร์ เชอร์ชิลได้กล่าวสุนทรพจน์มากมายเพื่อให้กำลังใจประชาชนและทหารอังกฤษที่ทำการรบเพื่อป้องกันประเทศ ก่อนที่สหรัฐฯ จะเข้าร่วมสงครามและได้ชัยชนะในท้ายที่สุด
topfive-most-powerful-orators-pics-1

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง : เขาเป็นนักเทศน์ในนิกายแบปทิส ผู้แสวงหาความเท่าเทียมของมนุษย์ และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนอเมริกันผิวดำ และเขาได้กลายเป็นนักเรียกร้องสิทธิมนุษย์ชนที่โด่งดังและมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว จนฝ่ายตรงข้ามไม่พอใจและหาทางกลั่นแกล้งด้วยวิธีต่าง ๆ และ ลูเธอร์ คิง ไม่ยอมแพ้ เขายังคงเดินหน้าต่อสู้ในแบบฉบับของเขาจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จนทำให้ผู้นำสหรัฐฯ ในขณะนั้นต้องยอมให้เข้าพบเป็นการส่วนตัว ต่อมา ลูเธอร์ คิง ถูกลอบยิงเสียชีวิต และทุกวันที่ 3 มกราคมของทุกปี กลายเป็นวัน ”มาร์ติน ลูเธอร์ คิง” โดยการรับรองของ ปธน.เรแกน
topfive-most-powerful-orators-pics-2

อดอลฟ์ ฮิตเลอร์ : ไม่ว่าคุณจะศรัทธาหรือเกลียดชังชายคนนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ฮิตเลอร์คือนักกล่าวสุนทรพจน์ที่เก่งกาจจนหาตัวจับยาก เขาใช้วาทศิลป์รวบรวมนายทหารฝีมือดีของเยอรมันที่กำลังอ่อนแอให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ด้วยสไตล์การพูดที่ดุเดือดและชวนให้ฮึกเหิม ทำให้มีชาวเยอรมันในขณะนั้นจำนวนไม่น้อยที่พร้อมสู้ตายถวายหัวให้กับท่านผู้นำรายนี้ ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วเยอรมนีต้องพ่ายแพ้ในสงครามก็ตาม
topfive-most-powerful-orators-pics-3

จอห์น เอฟ เคนเนดี้ : ปธน.เคนเนดี้ คือผู้นำรุ่นใหม่ไฟแรง ที่กล่าวกันว่าชาวสหรัฐฯ ในขณะนั้นให้ความนิยมชมชอบไม่น้อย เพราะ ปธน.เคนเนดี้ มักใช้นโยบายทางการทูตนำหน้าการทหาร และพยายามเจรจาหาข้อยุติความบาดหมางระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต แต่น่าเสียดายที่นโยบายของเขาไม่ได้รับการสานต่อให้ลุล่วง เพราะ ปธน.เคนเนดี้ถูกลอบสังหารไปเสียก่อน
topfive-most-powerful-orators-pics-4

เนลสัน แมนเดลา : อดีตประธานาธิบดีและรัฐบุรุษของแอฟริกาใต้ ผู้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ ด้วยเหตุนี้ทำให้แมนเดลาต้องถูกจำคุกอยู่นาน 27 ปี หลังจากพ้นโทษ แมนเดลายังไม่ย้อท้อ เขาเดินหน้าต่อสู้เพื่อคนผิวดำ จนแอฟริกาใต้ได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ และทำให้แมนเดลาได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐบุรุษ และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโลก ก่อนเสียชีวิตในปี ค.ศ.2013 ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของชาวแอฟริกาใต้
topfive-most-powerful-orators-pics-5
ที่มา : WatchMojo.com

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อัตตะปือ หัวใจการเมืองลาวใต้

อัตตะปือ หัวใจการเมืองลาวใต้

อัตตะปือ ตั้งอยู่ตรงจุดบรรจบระหว่างลำน้ำเซกองกับลำน้ำเซกะมาน มีอาณาเขตไม่ไกลจากกัมพูชาและเวียดนาม ภูมิประเทศส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยป่าทึบและเขาสูงที่ทุรกันดาร หากแต่เต็มไปด้วยทองคำและสินแร่นานาชนิด ในบรรดาหัวเมืองลาวใต้ทั้งหมด อาทิ เมืองจำปาสัก เมืองสาละวัน และเมืองโขง อัตตะปือ ถือเป็นนครที่ประกอบไปด้วยชนพื้นเมืองหลากหลายชาติพันธุ์ อาทิ เผ่าเบรา เผ่าละแว เผ่าอาลัก เผ่าส่วย ฯลฯ
ฉะนั้น ปัจจัยทางทรัพยากรและผู้คน จึงเป็นตัวกำหนดให้อัตตะปือกลายเป็นเขตพลวัตทางการเมืองในประวัติศาสตร์ล้านช้าง โดยเฉพาะการลุกฮือของชนพื้นเมืองเพื่อต่อต้านการเก็บส่วยสาอากรจากผู้ปกครองส่วนกลาง
สำหรับที่มาของชื่อ 'อัตตะปือ' เอเจียน แอมอนิเย ในหนังสือเรื่อง บันทึกการเดินทางในลาว ภาคที่หนึ่ง พ.ศ.2438 ได้ให้ความเห็นว่า อัตตะปือ อาจเพี้ยนมาจากภาษาชนเผ่าเบราที่เรียกเมืองนี้ว่า 'อิดกระบือ' ที่แปลว่า มูลควาย โดยอาจเป็นเพราะภูมิสัณฐานตรงจุดสบระหว่างเซกองกับเซกะมาน ที่พบเห็นสันดอนที่เกิดจากการต้อนควายของพ่อค้าเร่จากฝั่งเขมรมาพักไว้ตรงจุดสบก่อนส่งต่อให้พ่อค้าเวียดนาม จนทำให้เกิดสันดอนมูลควายขนาดใหญ่
ขณะที่ ภาษาเขมร ได้เรียกขานดินแดนแถบนี้ว่า 'อักกระไบ' หรือ 'อักกรอเบย' ซึ่งก็มีความหมายในทำนองเดียวกัน ดังนั้น อัตตะปือจึงเป็นเมืองการค้าตอนในที่เต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ตามดินแดนต่างๆ
ในทางประวัติศาสตร์และการเมือง อัตตะปือ เคยเป็นฐานทรัพยากรที่ส่งผลต่อความรุ่งเรืองของราชสำนักล้านช้าง เช่น การร่อนทองคำของชนพื้นเมืองตามลำน้ำต่างๆ เพื่อส่งสายแร่ให้กับชนชั้นสูงและช่างศิลปะเวียงจันทน์ ตลอดจน การคล้องช้างป่าเพื่อส่งเข้ากองทัพหลวง และการเปิดตลาดเมืองอัตตะปือ ซึ่งเต็มไปด้วยการหมุนเวียนไหลบ่าของสินค้าป่านานาชนิด
โดยความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผลให้ราชสำนักเวียงจันทน์ พยายามแผ่อิทธิพลเหนือเจ้าเมืองอัตตะปือเพื่อควบคุมการส่งส่วยแรงงานของชนพื้นเมือง
กระนั้น ด้วยการกดขี่ที่เข้มงวดในบางช่วงสมัย จึงก่อให้เกิดการประท้วงขัดขืนจากชนพื้นเมืองในวงกว้าง ซึ่งเรียกกันว่า 'ข่าขัด' อันเป็นคำที่สะท้อนถึงพฤติกรรมขัดขวางของชนพื้นเมืองหลายๆ เผ่า ที่มักก่อกวนกระบวนการเก็บส่วยของชนชั้นปกครองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ข่มขู่ เข่นฆ่าและไล่จับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมักพบเห็นอยู่บ่อยครั้งตามตะเข็บชายแดนที่ติดกับอาณาจักรเขมรและเวียดนาม โดยเฉพาะที่เมืองอัตตะปือ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะข่าขัดที่รุนแรงอันดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์ล้านช้าง
ส่วนนัยสำคัญของการเมืองอัตตะปือที่มีต่อรัฐสยาม พบว่า ในช่วงที่ราชสำนักล้านช้างเกิดการแยกขั้วทางการเมืองออกเป็นสามศูนย์อำนาจหลัก คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์และ จำปาศักดิ์ ราว ปี พ.ศ.2256 ซึ่งส่งผลให้พระเจ้ากรุงธนบุรีตัดสินใจทำสงครามยึดครองล้านช้างเอาไว้ทั้งหมด อัตตะปือได้ตกเป็นหัวเมืองประเทศราชสยามภายใต้การควบคุมของราชวงศ์จำปาสัก
ทว่า กระบวนการสักเลขและเก็บสวยของสยาม มักจะถูกขัดขวางผ่านการประท้วงก่อหวอดจากชนพื้นเมืองอัตตะปืออยู่เป็นระยะ จนทำให้มีการตั้งหัวเมืองขนาดใหญ่ เช่น อุบลราชธานี เพื่อเพิ่มศูนย์อำนาจปราบปราบการลุกฮือของอัตตะปือ พร้อมโยกเมืองอัตตะปือจากเมืองใต้ราชสำนักจำปาสัก ให้เข้ามาอยู่ใต้วงควบคุมของรัฐบาลธนบุรีโดยตรง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้เกิดศึกอานามสยามยุทธ์ โดยเป็นการรบพุ่งระหว่างสยามกับเวียดนามบนแผ่นดินส่วนใหญ่ของกัมพูชา อัตตะปือ ได้แปลงสภาพเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่ทำหน้าที่ป้อนเสบียงของป่าให้กับกองทัพสยาม
โดยพบเห็นเส้นทางการค้า 2 สายหลัก ได้แก่ สายที่ผ่านแก่งหลี่ผีแม่น้ำโขง แล้วลงใต้เข้าทะเลสาบเขมร จนไปถึงศรีโสภณ จากนั้น จึงลำเลียงสินค้าไปอรัญประเทศ ผ่านคลองแสนแสบ เข้ากรุงเทพมหานคร ส่วนอีกสาย คือ การใช้เรือลำเลียงจากแม่น้ำโขงเข้าแม่น้ำมูลในเขตเมืองอุบลราชธานี แล้วมาหยุดพักที่โคราช จากนั้น จึงแบ่งเส้นทางลำเลียงออกเป็นสายปักธงชัย กบินทร์บุรี คลองแสนแสบ กับสายสีคิ้ว มวกเหล็ก แก่งคอย ซึ่งอาศัยการล่องเรือผ่านแม่น้ำป่าสักเข้ากรุงเทพ
จากประวัติศาสตร์ที่นำแสดงมา อาจกล่าวได้ว่า อัตตะปือ คือ จุดหัวใจแห่งการเมืองลาวใต้ โดยการแข่งขันครอบครองทรัพยากรเศรษฐกิจ ทั้งที่มาจากกลุ่มอำนาจล้านช้างเวียงจันทน์และสยามธนบุรี-กรุงเทพ ได้ส่งผลให้ชนพื้นเมืองก่อพฤติกรรมลุกฮือปฏิวัติแบบข่าขัดเพื่อต่อต้านอำนาจกดขี่จากภายนอกพร้อมประกันไว้ซึ่งอิสรภาพในบริหารจัดการตนเอง ซึ่งแม้การเคลื่อนไหวของชนพื้นเมืองจะถูกกำราบกดทับจากส่วนกลางอยู่เป็นระยะ หากแต่ พลังทางการเมืองดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างส่วนกลาง-ท้องถิ่น หรือศูนย์กลาง-ชายขอบ ได้อย่างเด่นชัด จนกลายมาเป็นกรณีศึกษาที่ยังประโยชน์ต่อแวดวงประวัติศาสตร์และการเมืองเอเชียอาคเนย์

suriya mardeegun

"ค่ายวัด" กับ การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา

"ค่ายวัด" กับ การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา







13 December, 2016 - 10:58 
ทฤษฎีว่าด้วยการพังทลายของรัฐอยุธยา ถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสทรรศน์หลากหลายระนาบ เช่น หลักเชื้อชาติ/เผ่าพันธุ์นิยม ที่นำเสนอโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเน้นไปที่ภาพความโหดร้ายป่าเถื่อนของกองทัพพม่าที่ผสมผสานกับการแตกความสามัคคีของคนไทยจนทำให้ต้องเสียกรุงครั้งที่สอง ขณะที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิพากษ์ไปที่โครงสร้างรัฐ นั่นก็คือ ปัญหาการเกณฑ์ทัพอันเป็นผลสืบเนื่องจากความหละหลวมของระบบควบคุมไพร่แห่งอาณาจักรอยุธยา ส่วนสุเนตร ชุตินธรานนท์ กลับพุ่งเป้าไปที่ปฏิบัติการทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการทหาร โดยเฉพาะ ความทนทานของกองทัพพม่าในการรบข้ามฤดูน้ำหลากซึ่งทำให้ทหารอยุธยาต้องจนแต้มในการป้องกันกรุง
หากแบ่งการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์อยุธยาช่วงเสียกรุงครั้งสุดท้ายคร่าวๆ ออกเป็น สำนักชาตินิยม โครงสร้างนิยม และ พิชัยยุทธ์นิยม พบเห็นงานเขียนจากนักวิชาการฝรั่งจำนวนมิน้อยที่จัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับข้อโต้แย้งของนิธิและสุเนตร โดยเฉพาะตามหลักยุทธนิยม เช่น หนังสือของ B.J.Terwiel เรื่อง Thailand's Political History: From the Fall of Ayuthaya to Recent Times (2006) ที่แม้ผู้เขียนจะพูดถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการล่มสลายของอยุธยาเอาไว้หลายมิติ หากแต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดอ่อนอยุธยาในระดับยุทธวิธีทางทหาร ซึ่ง Terwiel ได้นำเอาภูมิทัศน์ความมั่นคงวัดเข้าไปวางไว้ในปฏิบัติการโจมตีอยุธยาโดยฝ่ายกองทัพพม่า
Terwiel ได้อธิบายว่า กิจกรรมสร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ในสมัยราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวง เช่น วัดไชยวัฒนาราม ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของย่านวัดจำนวนมากที่มีลักษณะหันเหออกจากแกนราชธานีอยุธยาตรงเกาะเมือง มิหนำซ้ำ รูปแบบวัดที่เต็มไปด้วยชั้นกำแพงอิฐ ยังทำให้เขตวัดที่กระจายตัวอยู่รอบนอกมีความแข็งแกร่งทนทานใกล้เคียงกับตัวกำแพงพระนครศรีอยุธยา ดังนั้น เมื่อกองทัพพม่าสามารถชิงชัยยึดวัดต่างๆ ได้ทีละเล็กทีน้อยจากทหารอยุธยา พร้อมแปลงสภาพวัดให้เป็นค่ายหรือป้อมทหารพม่า เมื่อนั้นกองทัพพม่าจึงเริ่มเขยิบอยู่ในสภาพได้เปรียบทางการยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกหอรบประชิดเมืองหรือการใช้อิฐวัดเป็นฐานกำบังปืนใหญ่จากอยุธยา
จริงแล้ว ข้อสังเกตของ Terwiel ถือว่าน่าสนใจมิน้อย เพราะช่วงใกล้อวสานกรุงศรีฯ ทหารพม่าได้ล้อมกำแพงเมืองอยุธยาผ่านการประสานโครงข่ายจากป้อมวัดที่มีการชักโยกถ่ายเทกำลังกันไปมา โดยเฉพาะ การกระชับวงล้อมตีกรุงแบบรอบทิศทาง เช่น การยิงปืนใหญ่ถล่มตัวเมืองอยุธยาจากวัดสามพิหาร วัดหน้าพระเมรุ วัดพิชัย วัดไชยวัฒนาราม วัดท่าการ้อง ฯลฯ
ขณะเดียวกัน แม้การใช้ค่ายวัดจะสร้างข้อได้เปรียบให้กับทหารพม่าโดยมิต้องวิเคราะห์หรือใช้หลักฐานสนับสนุนข้อโต้แย้งอะไรมากนัก เพราะถือเป็นธรรมชาติทางการยุทธ์ทั้งนี้เนื่องจากค่ายวัดส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในระยะประชิดกรุงโดยมีแต่เพียงลำน้ำหรือคูเมืองเป็นเส้นแบ่งเขตเท่านั้น ทว่า จากการที่รัฐบาลอยุธยาเริ่มสูญเสียกลุ่มวิสุงคามสีมาจำนวนมากให้กับกองทัพพม่า คงทำให้ทหารอยุธยาเกิดอาการเสียขวัญประหวั่นพรั่นพรึงมิน้อยอันเป็นผลจากการที่เขตศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองได้ถูกศัตรูย่ำยีหรือถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อต่อรบกับฝ่ายตน โดยไม่มีหลักประกันแน่ชัดว่าขวัญเมืองเหล่านี้ ท้ายที่สุดจะยังคงคุ้มครองปกป้องทหารอยุธยาหรือหันไปช่วยข้าศึกกันแน่ นอกจากนั้น การที่ทัพอยุธยาตัดสินใจยิงปืนใหญ่ใส่วัดวาอารามที่ถูกเนรมิตรังสรรค์โดยบรรพบุรุษฝ่ายตน คงจะทำให้เกิดภาวะชะงักงันหรือความรวนเรในการโจมตีเป้าหมายทางการรบอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม หากสืบย้อนไปดูศึกล้อมกรุงศรีฯ ก่อนหน้า ก็พบว่า การตีอยุธยาผ่านระบบค่ายวัด นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เช่น ค่ายวัดหน้าพระเมรุ หรือ วัดสามพิหาร ที่ล้วนแล้วแต่เคยเป็นที่ตั้งค่ายของทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้/บุเรงนอง พระเจ้าอลองพญา หรือแม้กระทั่ง พระยาละแวกจากกัมพูชา (หรือพูดอีกแง่ คือ ทั้งศึกเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง ศึกสมัยพระมหาธรรมราชาและศึกอลองพญา ล้วนแล้วแต่มีการใช้ประโยชน์จากค่ายวัดทั้งสิ้น) ซึ่งตรงจุดนี้นี่เองที่ Terwiel กลับแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนในสมมุติฐานของเขา ทั้งนี้เนื่องจาก Terwiel ระบุว่าเขาไม่ค่อยแน่ใจจริงๆ ว่าชาวอยุธยาพอจะทราบเรื่องอันตรายจากการปล่อยให้ข้าศึกใช้ประโยชน์จากภูมิทัศน์วัดหรือไม่ เพราะเขารู้สึกฉงนใจว่าทั้งๆ ที่อาจมีผลเสียรุกกระทบตามมา แต่ทำไมรัฐอยุธยาถึงปล่อยให้มีมหกรรมปฏิสังขรณ์วัดจำนวนมาก (ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมอันแข็งแกร่งดุจป้อมค่าย) ในช่วงปลายอาณาจักร
คำตอบนี้ คิดว่า ผู้ปกครองอยุธยาย่อมประจักษ์ชัดอยู่แล้วเกี่ยวกับพิชัยยุทธ์ล้อมกรุงของข้าศึกผ่านอรรถประโยชน์จากค่ายวัด (ซึ่งคงมีการจดบันทึกหรือบอกเล่าสืบทอดกันมา) เพียงแต่ว่า ความสงบร้างศึกมาร้อยกว่าปีนับแต่ครารัชสมัยพระนเรศวรบวกกับธรรมชาติการขยายตัวของนคราตามกาลเวลา ย่อมทำให้เกิดการผุดตัวขึ้นมาของพระอารามที่กระจายตัวออกไปเรื่อยๆ จากแกนเมืองโดยอัตโนมัติ (บวกกับความมั่นใจของชาวอยุธยาเอง ว่าอย่างไรเสียคงไม่มีศึกใหญ่เข้ามาประชิดกรุงอีกเป็นแน่) แต่อย่างไรก็ตาม หลังการรุกแบบสายฟ้าแลบของศึกอลองพญาที่มีการระดมยิงปืนใหญ่จากวัดหน้าพระเมรุ นับเป็นจุดพลิกผันที่สร้างความตกตะลึงให้กับนักการทหารอยุธยา ซึ่งโชคดีที่องค์ปฐมกษัตริย์คองบองทรงประสบอุบัติเหตุจากการยุทธ์จนต้องเลิกทัพกลับไปก่อน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังหมดศึกอลองพญาจนกระทั่งถึงศึกเสียกรุงครั้งที่สอง กษัตริย์อยุธยาได้ทำทุกวิถีทางเพื่อวางแนวปะทะผลักพม่าออกนอกกำแพงเมืองโดยอาศัยการตั้งทัพตามวัดต่างๆ เช่น ค่ายเจ้าตากที่วัดพิชัย ทว่า เมื่อท้ายที่สุด ทัพพม่าสามารถขับไล่ทหารอยุธยาออกจากค่ายวัดได้ทั้งหมด จนสามารถตั้งป้อมสวมทับประชิดกำแพงเมืองได้สำเร็จพร้อมกุมชัยชนะในการรบข้ามฤดูน้ำหลาก เมื่อนั้น ทหารอยุธยาจึงเริ่มเห็นลางพ่ายแพ้ทางการยุทธ์อย่างชัดเจน
จากกรณีดังกล่าว จึงนับได้ว่า การประดิษฐ์ปรับแปลงค่ายวัดโดยทหารพม่า ถือเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อความปราชัยของทัพอยุธยาในศึกอวสานกรุงศรีฯ โดยหากจะใส่ปฏิบัติการยึดค่ายวัดเข้าไปใน Dynamic Tactical Framework หรือ กรอบพลวัตยุทธวิธีช่วงหลังฤดูน้ำหลาก อาจเรียงลำดับการรณรงค์สงครามของทัพพม่าคร่าวๆ ได้ดังนี้
1. ระดมเสบียงและกำลังพลเข้ารุกคืบทำลายฐานทหารอยุธยา
2. ไล่ทัพอยุธยาออกจากค่ายวัดรอบเมือง พร้อมตั้งค่ายใหม่สวมทับเข้าไปในเขตวัดประกอบกับเพิ่มค่ายใหม่ระหว่างวัดเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลำเลียงพลและขยับวงล้อมกรุง
3. ก่อมูลดินตามค่ายวัดและค่ายอื่นๆ เพื่อระดมยิงทำลายเป้าหมายภายในตัวกำแพงอยุธยา
4. ขุดอุโมงค์เพื่อเผาฐานกำแพงเมือง และ
5. ระดมพลบุกเข้าเมืองเพื่อรบขั้นแตกหัก
จากขั้นลำดับที่นำแสดงมา "Temple Fortress" จึงมีผลต่อการ "Shut Down" กรุงศรีอยุธยาอย่างล้ำลึก

ขอขอบคุณข้อมูล : ดุลยภาค ปรีชารัชช