วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อัตตะปือ หัวใจการเมืองลาวใต้

อัตตะปือ หัวใจการเมืองลาวใต้

อัตตะปือ ตั้งอยู่ตรงจุดบรรจบระหว่างลำน้ำเซกองกับลำน้ำเซกะมาน มีอาณาเขตไม่ไกลจากกัมพูชาและเวียดนาม ภูมิประเทศส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยป่าทึบและเขาสูงที่ทุรกันดาร หากแต่เต็มไปด้วยทองคำและสินแร่นานาชนิด ในบรรดาหัวเมืองลาวใต้ทั้งหมด อาทิ เมืองจำปาสัก เมืองสาละวัน และเมืองโขง อัตตะปือ ถือเป็นนครที่ประกอบไปด้วยชนพื้นเมืองหลากหลายชาติพันธุ์ อาทิ เผ่าเบรา เผ่าละแว เผ่าอาลัก เผ่าส่วย ฯลฯ
ฉะนั้น ปัจจัยทางทรัพยากรและผู้คน จึงเป็นตัวกำหนดให้อัตตะปือกลายเป็นเขตพลวัตทางการเมืองในประวัติศาสตร์ล้านช้าง โดยเฉพาะการลุกฮือของชนพื้นเมืองเพื่อต่อต้านการเก็บส่วยสาอากรจากผู้ปกครองส่วนกลาง
สำหรับที่มาของชื่อ 'อัตตะปือ' เอเจียน แอมอนิเย ในหนังสือเรื่อง บันทึกการเดินทางในลาว ภาคที่หนึ่ง พ.ศ.2438 ได้ให้ความเห็นว่า อัตตะปือ อาจเพี้ยนมาจากภาษาชนเผ่าเบราที่เรียกเมืองนี้ว่า 'อิดกระบือ' ที่แปลว่า มูลควาย โดยอาจเป็นเพราะภูมิสัณฐานตรงจุดสบระหว่างเซกองกับเซกะมาน ที่พบเห็นสันดอนที่เกิดจากการต้อนควายของพ่อค้าเร่จากฝั่งเขมรมาพักไว้ตรงจุดสบก่อนส่งต่อให้พ่อค้าเวียดนาม จนทำให้เกิดสันดอนมูลควายขนาดใหญ่
ขณะที่ ภาษาเขมร ได้เรียกขานดินแดนแถบนี้ว่า 'อักกระไบ' หรือ 'อักกรอเบย' ซึ่งก็มีความหมายในทำนองเดียวกัน ดังนั้น อัตตะปือจึงเป็นเมืองการค้าตอนในที่เต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ตามดินแดนต่างๆ
ในทางประวัติศาสตร์และการเมือง อัตตะปือ เคยเป็นฐานทรัพยากรที่ส่งผลต่อความรุ่งเรืองของราชสำนักล้านช้าง เช่น การร่อนทองคำของชนพื้นเมืองตามลำน้ำต่างๆ เพื่อส่งสายแร่ให้กับชนชั้นสูงและช่างศิลปะเวียงจันทน์ ตลอดจน การคล้องช้างป่าเพื่อส่งเข้ากองทัพหลวง และการเปิดตลาดเมืองอัตตะปือ ซึ่งเต็มไปด้วยการหมุนเวียนไหลบ่าของสินค้าป่านานาชนิด
โดยความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผลให้ราชสำนักเวียงจันทน์ พยายามแผ่อิทธิพลเหนือเจ้าเมืองอัตตะปือเพื่อควบคุมการส่งส่วยแรงงานของชนพื้นเมือง
กระนั้น ด้วยการกดขี่ที่เข้มงวดในบางช่วงสมัย จึงก่อให้เกิดการประท้วงขัดขืนจากชนพื้นเมืองในวงกว้าง ซึ่งเรียกกันว่า 'ข่าขัด' อันเป็นคำที่สะท้อนถึงพฤติกรรมขัดขวางของชนพื้นเมืองหลายๆ เผ่า ที่มักก่อกวนกระบวนการเก็บส่วยของชนชั้นปกครองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ข่มขู่ เข่นฆ่าและไล่จับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมักพบเห็นอยู่บ่อยครั้งตามตะเข็บชายแดนที่ติดกับอาณาจักรเขมรและเวียดนาม โดยเฉพาะที่เมืองอัตตะปือ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะข่าขัดที่รุนแรงอันดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์ล้านช้าง
ส่วนนัยสำคัญของการเมืองอัตตะปือที่มีต่อรัฐสยาม พบว่า ในช่วงที่ราชสำนักล้านช้างเกิดการแยกขั้วทางการเมืองออกเป็นสามศูนย์อำนาจหลัก คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์และ จำปาศักดิ์ ราว ปี พ.ศ.2256 ซึ่งส่งผลให้พระเจ้ากรุงธนบุรีตัดสินใจทำสงครามยึดครองล้านช้างเอาไว้ทั้งหมด อัตตะปือได้ตกเป็นหัวเมืองประเทศราชสยามภายใต้การควบคุมของราชวงศ์จำปาสัก
ทว่า กระบวนการสักเลขและเก็บสวยของสยาม มักจะถูกขัดขวางผ่านการประท้วงก่อหวอดจากชนพื้นเมืองอัตตะปืออยู่เป็นระยะ จนทำให้มีการตั้งหัวเมืองขนาดใหญ่ เช่น อุบลราชธานี เพื่อเพิ่มศูนย์อำนาจปราบปราบการลุกฮือของอัตตะปือ พร้อมโยกเมืองอัตตะปือจากเมืองใต้ราชสำนักจำปาสัก ให้เข้ามาอยู่ใต้วงควบคุมของรัฐบาลธนบุรีโดยตรง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้เกิดศึกอานามสยามยุทธ์ โดยเป็นการรบพุ่งระหว่างสยามกับเวียดนามบนแผ่นดินส่วนใหญ่ของกัมพูชา อัตตะปือ ได้แปลงสภาพเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่ทำหน้าที่ป้อนเสบียงของป่าให้กับกองทัพสยาม
โดยพบเห็นเส้นทางการค้า 2 สายหลัก ได้แก่ สายที่ผ่านแก่งหลี่ผีแม่น้ำโขง แล้วลงใต้เข้าทะเลสาบเขมร จนไปถึงศรีโสภณ จากนั้น จึงลำเลียงสินค้าไปอรัญประเทศ ผ่านคลองแสนแสบ เข้ากรุงเทพมหานคร ส่วนอีกสาย คือ การใช้เรือลำเลียงจากแม่น้ำโขงเข้าแม่น้ำมูลในเขตเมืองอุบลราชธานี แล้วมาหยุดพักที่โคราช จากนั้น จึงแบ่งเส้นทางลำเลียงออกเป็นสายปักธงชัย กบินทร์บุรี คลองแสนแสบ กับสายสีคิ้ว มวกเหล็ก แก่งคอย ซึ่งอาศัยการล่องเรือผ่านแม่น้ำป่าสักเข้ากรุงเทพ
จากประวัติศาสตร์ที่นำแสดงมา อาจกล่าวได้ว่า อัตตะปือ คือ จุดหัวใจแห่งการเมืองลาวใต้ โดยการแข่งขันครอบครองทรัพยากรเศรษฐกิจ ทั้งที่มาจากกลุ่มอำนาจล้านช้างเวียงจันทน์และสยามธนบุรี-กรุงเทพ ได้ส่งผลให้ชนพื้นเมืองก่อพฤติกรรมลุกฮือปฏิวัติแบบข่าขัดเพื่อต่อต้านอำนาจกดขี่จากภายนอกพร้อมประกันไว้ซึ่งอิสรภาพในบริหารจัดการตนเอง ซึ่งแม้การเคลื่อนไหวของชนพื้นเมืองจะถูกกำราบกดทับจากส่วนกลางอยู่เป็นระยะ หากแต่ พลังทางการเมืองดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างส่วนกลาง-ท้องถิ่น หรือศูนย์กลาง-ชายขอบ ได้อย่างเด่นชัด จนกลายมาเป็นกรณีศึกษาที่ยังประโยชน์ต่อแวดวงประวัติศาสตร์และการเมืองเอเชียอาคเนย์

suriya mardeegun

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น