ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2
ไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์
(Heinrich Himmler)
ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส และหนึ่งในผู้สั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว
ฮิมม์เลอร์ขณะได้รับการต้อนรับจากนายทหารระดับสูงของหน่วยเอสเอสที่เมือง Mauthausen ในปี ค.ศ. 1941 ซึ่งเป็นปีที่เขาเรืองอำนาจอย่างมาก
บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งของพรรคนาซีที่มีบทบาทอย่างมากในการแปรคำสั่งการทำลายล้างชาวยิวของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ไปสู่การปฏิบัติที่โหดเหี้ยมก็คือ ไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยตำรวจลับ "เกสตาโป" และผู้บัญชาการหน่วยเอส เอส อันลือชื่อ ทั้งๆ ที่บุคคลดังกล่าวเคยเป็นเพียงนักธุรกิจที่ล้มเหลว มีร่างกายที่อ่อนแอ และที่สำคัญที่สุดคือ ในช่วงท้ายที่สุดเขากลับเป็นผู้หนึ่งที่พยายามแปรพักตร์ด้วยการหันไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อหาทางยุติสงครามและกำจัดฮิตเลอร์ออกจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดของเยอรมัน
ไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1900 ที่เมืองมิวนิค บิดาของเขาเป็นครูในโรงเรียนคาทอลิคที่เคร่งศาสนา หลังจากที่ฮิมเลอร์สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมต้น เขาก็เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในฐานะนายทหารของกรมบาวาเรียนที่ 11 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามเขาก็เข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมปลายระหว่างปี ค.ศ. 1918-1922 จนได้รับประกาศนียบัตรด้านการเกษตรจากโรงเรียนมัธยมและประกอบอาชีพเป็นพนักงานขายสินค้าการเกษตรในโรงงานผลิตสินค้าการเกษตร จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1923 ฮิมม์เลอร์ได้เข้าร่วมกับพรรคนาซีในการปฏิวัติที่มิวนิค ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งให้เป็นหัวหน้าหน่วยประชาสัมพันธ์ของพรรค รับผิดชอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการผลิตใบปลิว เอกสารสิ่งพิมพ์ปลุกระดมให้ชาวเยอรมันหันมาให้การสนับสนุนพรรคนาซี โดยใช้การกดขี่ชาวเยอรมันจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์เป็นสาระสำคัญ
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1927 ฮิมม์เลอร์แต่งงานและหันหลังให้กับพรรคนาซี โดยเริ่มต้นทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่ของตัวเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องกลับมาเข้าร่วมพรรคนาซีอีกครั้งในปี ค.ศ. 1929 พร้อมๆ กับได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยองครักษ์ของฮิตเลอร์หรือที่รู้จักกันในนามหน่วยเอสเอส (Schutzstaffel – SS) ซึ่งในขณะนั้นมีกำลังพลเพียง 200 นายเท่านั้น
ในฐานะสมาชิกพรรคนาซี เขาได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาไรซ์สตาร์คของประเทศเยอรมันในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1930 และทำหน้าที่ในการเสริมสร้างกองกำลังเอสเอส ให้เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ขึ้นจนกระทั่งมีกำลังพลเป็นจำนวนถึง 52,000 คนในปี ค.ศ. 1933 นอกจากนี้เขายังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยตำรวจลับ "เกสตาโป" ในบาวาเรียซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของพรรคนาซีและของฮิตเลอร์ในปี ค.ศ. 1934 อีกตำแหน่งหนึ่ง
ไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์ ผู้ที่ทรงอำนาจที่สุดคนหนึ่งของพรรคนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2
และแล้วเหตุการณ์ที่ทำให้ฮิมม์เลอร์ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคนาซีก็มาถึง นั่นคือการมีส่วนร่วมในการวางแผนโค่นล้มกองกำลังเอสเอ ที่เป็นคู่แข่งของเอสเอสในเหตุการณ์ "คืนแห่งมีดดาบยาว" ในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1934 ซึ่งแท้จริงแล้วผู้นำหน่วยเอสเอ คือเออร์เนส โรห์มที่ร่วมเส้นทางการต่อสู้มากับฮิตเลอร์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นนั้น แทบไม่มีความคิดในการเป็นปฏิปักษ์ต่อฮิตเลอร์หรือพรรคนาซีเลย เพียงแต่เขาได้แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อฮิมม์เลอร์และกองกำลัง เอสเอส อย่างเห็นได้ชัด และฮิมม์เลอร์นั่นเองที่เป็นผู้ยุยงให้ฮิตเลอร์เกิดความหวาดระแวงในตัวเออร์เนส โรห์มว่ากำลังก้าวขึ้นมาเทียบบารมีของเขา จนสั่งการให้เกิดการกวาดล้างพวกเอสเอ ครั้งใหญ่
และฮิมม์เลอร์อีกนั่นเองที่สั่งการให้ทหารเอสเอส ที่เขาไว้ใจที่สุดจำนวน 3 นายควบคุมตัวเออร์เนส โรห์ม พร้อมกับยื่นคำขาดพร้อมปืนพกให้ปลิดชีพตัวเองโดยให้เวลา 10 นาที แต่เมื่อเวลาครบ เออร์เนส โรห์มกล่าวว่า "… หากฮิตเลอร์ต้องการชีวิตฉัน ให้เขามาเอาไปเอง …" ทหารเอสเอสคนหนึ่งจึงใช้ปืนพกจ่อยิงเขาจนเสียชีวิตทันที
การล่มสลายของเอสเอ ส่งผลให้กองกำลังเอสเอส ของฮิมม์เลอร์ก้าวขึ้นมาเป็นองค์กรหลักเพียงองค์กรเดียวในการเป็นหน่วยอารักขาของฮิตเลอร์ และเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในการควบคุมเรื่องความมั่นคงของประเทศ รวมไปถึงเป็นหน่วยงานที่ทำการแปลงทฤษฎีว่าด้วย "การกำจัดชาวยิว พวกคอมมิวนิสต์และชนชาติที่ต่ำกว่ามนุษย์" ของฮิตเลอร์ไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งแปรเปลี่ยนทฤษฎีแห่งการแบ่งแยก "เชื้อชาติ" ที่เต็มไปด้วยความกังขาและการต่อต้าน ไปสู่การปฏิบัติแห่ง "การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ" ที่ปราศจากข้อสงสัยและข้อคัดค้านใดๆ อย่างสิ้นเชิง
ฮิมม์เลอร์ยังคงก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในพรรคนาซีด้วยบุคลิกที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและความทะเยอทะยาน เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของหน่วยตำรวจลับเกสตาโปทั่วประเทศเยอรมัน และเมื่อควบรวมกับตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยเอสเอสแล้ว ก็ทำให้ฮิมม์เลอร์กลายเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในการตัดสินชะตาชีวิตผู้คนหรือองค์กรที่เป็นปฎิปักษ์ต่อพรรคนาซี หรือที่พรรคนาซีวิเคราะห์แล้วว่าเป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดออกจากสังคมตามแนวทางการสร้างสังคมบริสุทธิ์ของชนชาติ "อารยัน" ซึ่งเครื่องมือที่ฮิมม์เลอร์คิดค้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1933 ก็คือค่ายกักกันที่ "ดาเชา" (Dachau) อันเป็นสถานที่ที่ฮิมม์เลอร์บรรยายไว้ว่า
"… เป็นสถานที่สำหรับการทำสะอาดผู้คนที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากพรรคนาซี ผู้คนที่มีเชื้อสายยิวหรือแม้กระทั่งลูกครึ่งยิว ชาวสลาฟส์ (Slavs) ในโปแลนด์ ตลอดจนผู้คนที่เป็นภาระต่อสังคม เช่น คนพิการ คนโรคจิต พวกลักเพศ ทั้งนี้เพราะหน้าที่ของชาวเยอรมันทุกคนก็คือการทำลายล้างกลุ่มคนที่มีสถานะต่ำกว่ามนุษย์ (sub-human) เหล่านี้ให้หมดสิ้นไปจากโลก ..."
ภาพนี้ถ่ายระหว่างที่ฮิมม์เลอร์เดินทางมาเยี่ยมค่ายเชลยศึกสัมพันธมิตรแห่งหนึ่ง เขากำลังแสดงความประหลาดใจที่เชลยอังกฤษนายหนึ่งกล้าที่จะออกมาจากกลุ่มเพื่อขออาหารเพิ่มให้กับนักโทษทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้บรรยายภาพต้นฉบับไม่ได้ระบุถึงชะตากรรมของเชลยศึกชาวอังกฤษนายนี้ภายหลังจากการถ่ายภาพดังกล่าว
ณ ที่ค่ายดาเชาแห่งนี้นี่เองที่ทำให้ฮิตเลอร์เกิดความประทับใจในแนวคิดของฮิมม์เลอร์ จนมีคำสั่งให้ขยายค่ายกักกันเหล่านี้ออกไปทั่วพื้นที่ยึดครองของเยอรมัน ฮิมม์เลอร์อาศัยจังหวะนี้ขยายองค์กรเอสเอส ของเขาออกไปให้กว้างขวางขึ้น โดยการจัดตั้งหน่วย "กระโหลกไขว้" หรือ "โทเทนคอฟ" (Totenkopf) ซึ่งเป็นหน่วยรับผิดชอบในการดูแลค่ายกักกันทั้งหมด พร้อมทั้งดำเนินการพัฒนาศักยภาพของกำลังพลของหน่วยเอสเอส ที่เขาเป็นผู้บัญชาการสูงสุดให้เพิ่มสูงขึ้น โดยทหารเอสเอส จะต้องเป็นทั้งผู้นำ ผู้บริหาร นักรบ และนักวิชาการพร้อมๆ กันในคนเดียว
การพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้ทหารเอสเอส กลายเป็นกำลังพลที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ และยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคนาซีอย่างมั่นคง จนกลายเป็นหน่วยรบที่ข้าศึกของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ต้องหวั่นเกรงทุกครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากันในสนามรบ
กล่าวกันว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฮิมม์เลอร์ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในการฆ่าล้าเผ่าพันธ์ชาวยิวนั้น น่าจะเป็นผลมาจากการที่เขาเป็นผู้ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ลี้ลับ เรื่องของเวทมนตร์คาถาตลอดจนเรื่องการรักษาโรคด้วยสมุนไพรแปลกๆ นานาชนิด ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ได้ถูกผสมผสานกับทฤษฎีเกี่ยวกับความคลั่งเชื้อชาติอารยัน ส่งผลให้ฮิมม์เลอร์เกิดอาการเพ้อฝันถึงการสร้างสังคมในอุดมคติ สังคมที่จะก้าวไปถึงได้ด้วยการทำลายล้างสังคมอื่นที่เป็นอุปสรรคให้หมดสิ้นไป นักข่าวอังกฤษคนหนึ่งอธิบายลักษณะของฮิมม์เลอร์ว่า
"… เหมือนคนที่ไร้ความหวาดกลัว เยือกเย็น สงบ สุขุมและถ่อมตนราวกับเสมียนในธนาคารมากกว่าที่จะเป็นผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส และเกสตาโปอันเหี้ยมโหด ที่สำคัญคือเขาเป็นคนที่ปกปิดความรู้สึกได้ดีมาก เราไม่มีวันรับรู้ได้เลยว่าเขากำลังคิดอะไร รู้สึกเช่นไรและจะตัดสินใจอะไรต่อไป ..."
สภาพร่างกายโดยทั่วไปของฮิมม์เลอร์นั้นไม่สู้แข็งแรงนัก เขามีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงอยู่บ่อยๆ จนเกือบจะเป็นลมล้มลงระหว่างเยี่ยมชมการสังหารหมู่ชาวยิวกว่าร้อยคนในรัสเซีย จนต้องมีการออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงวิธีการสังหารหมู่ชาวยิวให้ "มีมนุษยธรรม" มากขึ้น เช่น ใช้การรมแก็สพิษโดยตกแต่งห้องที่ใช้ในการสังหารให้เป็นแบบฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น
ฮิมม์เลอร์เชื่อในเรื่อง "ชาติพันธุ์" เป็นอย่างมาก เขาสั่งให้มีการกำหนดกฏเกณฑ์ในการแต่งงานของชนชาติอารยัน เพื่อคงความบริสุทธิ์ของชาติพันธ์ุและเพื่อให้ได้มาซึ่งทารกหรือเมล็ดพันธ์ุที่มีความพิเศษเสมือน "ยอดมนุษย์" (Super-human) รวมทั้งจัดตั้งฟาร์มมนุษย์ที่เรียกว่า "เลเบนส์บอร์น" (Lebensborn) ซึ่งเป็นสถานที่ที่พรรคนาซีจะนำเด็กสาวในวัยเจริญพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกแล้วว่ามีเลือดอารยันสมบรูรณ์ที่สุด มาเป็นแม่พันธุ์ในการให้กำเนิดชนชาติอารยันรุ่นใหม่ โดยให้ทำการสมรสกับทหารหน่วยเอสเอส ของเขา มีนักประวัติศาสตร์หลายคนวิเคราะห์ว่า ฮิมม์เลอร์นำแนวคิดนี้มาจากประสบการณ์ที่ล้มเหลวในการทำฟาร์มไก่มาใช้ประยุกต์ในการทำฟาร์มมนุษย์
ฮิตเลอร์ (หันหลัง) และฮิมม์เลอร์ขณะตรวจดูธงประจำหน่วยทหารโปแลนด์ที่ทหารเยอรมันยึดได้ในปี ค.ศ. 1939
ในปี ค.ศ. 1939 ภายหลังจากที่เยอรมันเข้ายึดครองประเทศโปแลนด์แล้ว ฮิตเลอร์ก็แต่งตั้งให้ฮิมม์เลอร์เป็นผู้รับผิดชอบในการเคลื่อนย้ายผู้ที่มีเชื้อชาติเยอรมันจากประเทศในทะเลบอลติค เข้าไปยึดครองพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินแทนชาวโปแลนด์และชาวยิว ซึ่งในเวลาเพียง 1 ปี มีชาวโปแลนด์กว่า 1 ล้านและชาวยิวกว่า 300,000 คนถูกบังคับให้สละพื้นที่ของตนให้ชาวเยอรมัน พร้อมๆ กับการกวาดต้อนไปสู่ค่ายกักกันเพื่อรอการทำลายล้าง ฮิมม์เลอร์เคยกล่าวให้โอวาทต่อกำลังพลเอสเอส สังกัดกรมทหารเอสเอส ไลป์สตานดาร์ด อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (ต่อมาได้รับการยกระดับเป็นกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด อดอล์ฟ ฮิตเลอร์) ตอนหนึ่งว่า
" … การเข้าสู่สนามรบร่วมกับเพื่อนร่วมสมรภูมินั้น ง่ายกว่าการที่จะต้องอดทน อดกลั้นต่อการดำรงอยู่ของพวกชนชั้นต่ำ (โปแลนด์, ยิว และชนชาติอื่นๆ ที่นาซีมองว่า ต่ำกว่ามนุษย์) ดังนั้นในฐานะชาวอารยัน ผู้ที่มีชาติพันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุด เราต้องเดินหน้าในการทำลายคนเหล่านั้นให้หมดสิ้นไป เพื่อสร้างสังคมในอุดมคติของพรรคนาซีที่ปราศจากชนชั้นต่ำกว่ามนุษย์ขึ้นมาให้จงได้ …"
เมื่อยุทธการบาร์บารอสซ่า ซึ่งเป็นการบุกเข้าสู่ประเทศรัสเซียของกองทัพเยอรมันเปิดฉากขึ้นนั้น ฮิมม์เลอร์พยายามเปรียบเทียบการรบของกองทัพนาซีเยอรมันในครั้งนี้เสมือนกับสงครามครูเสดในยุคกลาง โดยเทียบเคียงว่าเป็นการเคลื่อนกำลังพลของนักรบผู้กล้าจากยุโรปเพื่อมุ่งทำลายล้างพวกยิว บอลเชวิคและคอมมิวนิสต์ให้หมดสิ้นไปจากผืนแผ่นดินยุโรป
เขาสั่งให้มีการรับสมัครทหารเอสเอส จากยุโรปตอนเหนือ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน และฮอลแลนด์ เพื่อเข้าร่วมในสงครามครูเสดครั้งนี้ ซึ่งการรับสมัครดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก บางประเทศมีผู้สมัครจนสามารถจัดกำลังได้ถึง 1 กองพลเลยทีเดียว เช่น กองพลฟรีวิลลิเกน ลีเจียน นีเดอร์ลันด์ (Freiwilligen Legion Niederlande Division) ที่มีกำลังพลจากประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งปฏิบัติการรบอย่างห้าวหาญในแนวรบด้านรัสเซียจนสูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนถึง 80 เปอร์เซนต์ ก่อนที่จะสลายตัวไปรวมกับหน่วยอื่น
นอกจากนี้ยังมีกองพลที่มีกำลังพลจากยุโรปอีกกองพลหนึ่งที่มีชื่อเสียงอย่างมากนั่นคือ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 5 ไวกิ้ง (5th SS Panzer Division Wiking) ซึ่งรวบรวมกำลังพลจากประเทศเดนมาร์ก นอรเวย์ และกลุ่มประเทศบอลติคอื่นๆ กองพลนี้ทำการรบในรัสเซียอย่างกล้าหาญแม้จะต้องประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก แต่กำลังพลของหน่วยก็เลือกที่สละชีพในการรบมากกว่าที่จะต้องเดินทางกลับประเทศในฐานะผู้ร่วมกับนาซีทรยศต่อประเทศของตน กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 5 ไวกิ้งส์เลือกที่จะปิดตำนานอันห้าวหาญของตนเองด้วยการต่อสู้ราวกับ "ราชสีห์" ในการรบกับกองทัพรัสเซียจำนวนมหาศาลในการป้องกันกรุงเวียนนาของประเทศออสเตรียในปี ค.ศ. 1945 จนกำลังพลคนสุดท้ายจบชีวิตลง
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านเลยไป ทฤษฎีชาติพันธุ์ของฮิมม์เลอร์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ทหารเอสเอส ของเขาจำนวนเสียชีวิตจนกระทั่งจำเป็นต้องเสริมกำลังมาทดแทนส่วนที่สูญเสียไป ในขณะที่กำลังคนที่เป็นวัตถุดิบชั้นดีของเอสเอส แทบไม่หลงเหลือให้คัดเลือกอีกต่อไปแล้ว ฮิมม์เลอร์ก็ตัดสินใจลดเงื่อนไขในการคัดเลือกทหาร เอส เอส ของเขาลง
จนในที่สุดก็สิ้นหนทางที่จะหาคนมาเสริม ฮิมม์เลอร์ตัดสินใจตั้งกองพล เอส เอส ที่ 13 ฮันด์ซาร์ (13th SS Division Handschar) ขึ้นโดยมีกำลังเป็นชาวมุสลิมในโครเอเชียทั้งหมด นับเป็นการฉีกกฏเกณฑ์เรื่องการรบในสงครามครูเสดของชนชาติอารยันที่ฮิมม์เลอร์วาดเอาไว้อย่างสวยหรูลงอย่างสิ้นเชิง มาตรฐานการคัดเลือกที่ลดต่ำลงอย่างน่าใจหายทำให้ประสิทธิภาพของหน่วยเอสเอส ในระยะปี ค.ศ. 1943 เป็นต้นมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด กำลังพลของกองพล เอส เอส ที่ 13 ฮันด์ซาร์เคยสังหารครูฝึกของพวกเขาระหว่างการฝึกในฝรั่งเศส อีกทั้งยังเป็นหน่วยที่มีปัญหาในด้านต่างๆ พอสมควรจนถูกยุบหน่วยลงในปลายปี ค.ศ. 1944 แต่กำลังพล เอส เอส บางส่วนที่มีประสิทธิภาพได้รวมตัวกันเป็นคามป์กรุ๊ปป์ หรือชุดเฉพาะกิจทำการต่อสู้กับกองทัพรัสเซียต่อไปจนสิ้นสุดสงคราม
นอกจากบทบาทในฐานะผู้บัญชาการกองกำลัง เอส เอส แล้ว ในปี ค.ศ. 1943 ฮิมม์เลอร์ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบด้านความมั่นคงในภาคพลเรือน ซึ่งเขาพยายามดึงเอาหน่วย เอส เอส เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอีกเช่นเคย และในปลายปี ค.ศ. 1944 เขายังรับตำแหน่ง "ผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพบกภาคพื้นแม่น้ำไรน์ตอนบน" เพื่อต่อต้านการรุกของกองทัพบกที่ 7 ของสหรัฐฯ และกองทัพที่ 1 ของฝรั่งเศสอีกด้วย
ตำแหน่งใหม่ทั้งสองนี้ทำให้ฮิมม์เลอร์กลายเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งของพรรคนาซีและของประเทศเยอรมัน อย่างไรก็ตามแม้ว่ากลุ่มกองทัพบกภาคพื้นแม่น้ำไรน์ตอนบนของเขาจะประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆ ต่อมากลุ่มกองทัพนี้ก็ถูกทำลายลง นับเป็นความล้มเหลวที่ทำให้ฮิมม์เลอร์เสียหน้าเป็นอย่างมาก
แต่ฮิตเลอร์ก็ยังตั้งให้เขาบังคับบัญชากลุ่มกองทัพวิสทูรา เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันกรุงเบอร์ลินรอบนอกอีก ซึ่งผลก็ออกมาดังที่คาด กลุ่มกองทัพวิสทูราถูกกองทัพรัสเซียตีแตกถอยร่นไม่เป็นกระบวน จนฮิมม์เลอร์ต้องขอถอนตัวเองออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1945 โดยอ้างปัญหาเรื่องสุขภาพ
ฮิมม์เลอร์ขณะตรวจค่ายกักกัน Mauthausen ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นค่ายกักกันที่โหดเหี้ยมที่สุดแห่งหนึ่ง มีชาวยิว เชลยรัสเซียและศัตรูของนาซีถูกสังหารที่ค่ายแห่งนี้กว่า 320,000 คน
ในช่วงนี้สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ฮิมม์เลอร์เริ่มเห็นเค้าลางความหายนะของพรรคนาซีและอาณาจักรไรซ์ที่ 3 เขาไม่เห็นด้วยที่ฮิตเลอร์ยืนหยัดต่อสู้อย่างสิ้นหวังในกรุงเบอร์ลิน ฮิมม์เลอร์จึงตีตัวออกห่างจากฮิตเลอร์และเริ่มมองว่า หากต้องการรักษาพรรคนาซีและประเทศเยอรมันเอาไว้ก็จำเป็นต้องเจรจาสันติภาพกับอังกฤษและสหรัฐฯ อีกทั้งยังมองว่าเมื่อปราศจากฮิตเลอร์แล้ว ตัวเขาเองก็คือผู้นำคนต่อไปของเยอรมันนั่นเอง ฮิมม์เลอร์จึงตัดสินใจติดต่อกับจอมพลดไวท์ ไอเซนฮาวว์ของสหรัฐฯ ว่าเยอรมันขอยอมแพ้ในแนวรบด้านตะวันตกต่อสหรัฐฯ และอังกฤษ โดยมุ่งหวังว่าทหารสหรัฐฯ และอังกฤษจะรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารเยอรมันในการต่อต้านกองทัพรัสเซีย
ข่าวการเจรจาสันติภาพถูกเผยแพร่ทางสถานีวิทยุ บีบีซี ในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1945 ทำให้ฮิตเลอร์โกรธมาก เพราะเขาเคยเชื่ออยู่เสมอว่าฮิมม์เลอร์คือบุคคลผู้ที่เขาไว้วางใจได้มากที่สุดคนหนึ่ง ก่อนที่ฮิตเลอร์จะปลิดชีพตัวเอง เขาสั่งปลดฮิมม์เลอร์ออกจากตำแหน่งทุกตำแหน่งและเรียกฮิมม์เลอร์ว่า "คนทรยศ" แต่ฮิมม์เลอร์ไม่สนใจสิ่งใดๆ ทั้งสิ้นเขาตั้งหน้าตั้งหน้าเจรจาต่อรองกับไอเซนฮาวว์ว่า หากเขายอมเจรจาสงบศึกกับสหรัฐฯ แล้ว เขาจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมัน แต่ไอเซนฮาวว์ปฏิเสธทุกข้อเรียกร้องที่ฮิมม์เลอร์เสนอพร้อมทั้งประกาศว่า เขาคืออาชญากรสงครามคนสำคัญที่ต้องถูกนำตัวมาลงโทษ
เมื่อการเจรจาไม่ได้ผล ฮิมม์เลอร์ก็พยายามหลบหนีโดยปลอมตัวเป็นคนตาบอดข้างเดียว มีผ้าคาดปิดตา โกนหนวดออกทั้งหมดเพื่ออำพรางตนเอง แต่เอกสารปลอมที่ยึดมาจากตำรวจที่เสียชีวิตมีพิรุธ ทำให้ทหารอังกฤษสงสัยและจับกุมตัวเขาได้ที่เมืองเบรเมน (Bremen) ก่อนที่จะทราบว่าชายคนดังกล่าวคืออาชญากรสงครามอันดับต้นๆ ของเยอรมัน
ในระหว่างรอการสอบสวนเบื้องต้น ฮิมม์เลอร์ก็ตัดสินใจกัดเม็ดยาพิษไซยาไนด์ที่ซ่อนไว้ในฟันซี่หนึ่งเพื่อปลิดชีวิตตัวเอง ในห้วงสุดท้ายของชีวิตนั้นมีหนังสือบางเล่มได้อ้างว่าฮิมม์เลอร์ได้กล่าวประโยคสุดท้ายของเขาก่อนสิ้นลมหายใจว่า "… ฉันคือไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์ …" ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็หมายความว่า ฮิมม์เลอร์ต้องการประกาศให้โลกรับรู้ถึงการเดินทางมาถึงจุดสุดท้ายของชีวิต และไม่ว่าเขาจะถูกประณามว่าเป็นอาชญากรสงครามคนสำคัญที่มีส่วนในการสังหารชาวยิวกว่าหกล้านคนทั่วทั้งยุโรป หรือจะได้รับการยกย่องในฐานะผู้บัญชาการหน่วยทหารเอสเอส อันทรงอานุภาพที่สุดหน่วยหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม ฮิมม์เลอร์ก็ได้จากโลกนี้ไปแล้ว คงเหลือทิ้งไว้แต่บทเรียนอันทรงคุณค่าให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
เครดิต : พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ
Master of International Relations (with merit)
Victoria University of Wellington, New Zealand
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น