คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ปลดล็อคผังเมือง ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สีเขียว กับผลต่อการนำเข้าขยะพิษ ขยะอิเล็กทรอนิกส์
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ประกาศเมื่อ วันที่ 20 มกราคม 2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สําหรับการประกอบกิจการบางประเภท
.
สาระสำคัญคือ โรงงานประเภทพลังงานทดแทน และโรงงานคัดแยก ฝั่งกลบและรีไซเคิลขยะและกากอุตสาหกรรม สามารถที่จะก่อสร้างในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่เกษตรกรรมได้ ซึ่งในอดีตไม่สามารถสร้างได้
.
เหตุผลที่ต้องมีการปลดล็อคผังเมือง ตามคำสั่งนี้อ้างว่าเพื่อเป็นการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว แต่ในขณะเดียวกัน โรงงานเหล่านี้ไม่ถูกกำหนดให้ต้องทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จึงทำให้ภาคประชาสังคม เห็นว่า การก่อตั้งโรงงานในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมโดยไม่มีการประเมินผลกระทบก่อน จะส่งผลเสียต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
แล้วทำไม คำสั่งหัวหน้า คสช. ถึงเกี่ยวข้องกับประเด็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ?
.
โรงงานประเภท 105 คือ โรงงานคัดแยก-ฝังกลบ วัสดุไม่ใช้แล้ว โรงงานประเภท 106 คือ โรงงานรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและของเสียจากโรงงาน
.
หากดูเฉพาะโรงงานประเภท 105 และ 106 ที่ได้รับใบอนุญาตตั้งแต่ ปี 2557 83 โรง ปี 2558 93 โรง
แต่ภายหลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. 20 มกราคม 2559 ยกเลิกผังเมือง มีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาต ปี2559 จำนวน 162 โรง ปี 2560 235 โรง และ ปี2561 (1 ม.ค. - 31 พ.ค.) 119 โรง รวมทั้งหมด 516 โรง โดยจังหวัดที่มีมากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ ชลบุรี สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา
หากพิจารณาเฉพาะ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่มีการตรวจสอบพบการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าหลังมีคำสั่งปลดล็อคผังเมือง มีโรงงานประเภท 105 และ106 เพิ่มเป็น82โรง จาก 516 โรงทั่วประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ16 จากโรงงานทั้งหมด
.
แบ่งเป็น ประเภท 105 42 โรง จดแจ้งทั้ง 105 และ 106 3 โรง และ106 อย่างเดียว 37 โรง หากเปรียบเทียบกับปี 2556 - 2558 ที่มีการประกาศใช้กฎหมายผังเมืองรวม พบมีโรงงานได้รับการอนุญาตประกอบกิจการ 105 และ 106 รวม 23 โรง
.
สำหรับการออกใบอนุญาต กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะพิจารณาจากที่ตั้ง สภาพแวดล้อม และกฎหมายผังเมือง ซึ่ง โรงงานคัดแยกและรีไซเคิล ขยะประเภท 105 106 ไม่สามารถตั้งในพื้นที่สีเขียวได้ตามกฎหมายผังเมือง เพราะถูกกำหนดให้เป็นเขตชนบทและเกษตรกรรม แต่เมื่อกฎหมายผังเมืองที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมใช้เป็นเกณฑ์ในการออกใบอนุญาต ถูกคำสั่งหัวหน้าคสช. ยกเลิก จึงทำให้โรงงานประเภทนี้สามารถก่อสร้างได้
ทีมข่าวลงสำรวจพื้นที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา พบว่า หลายโรงงาน ตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียว ทั้งพื้นที่เพาะปลูกข้าว ไร่มันสัมปะหลัง และชุมชน
.
โรงงานบางแห่งถูกตรวจสอบ และสั่งให้ปิดปรับปรุง หลัง ดำเนินกิจการ ผิด พ.ร.บ.โรงงาน 2535 ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า ก่อนเริ่มก่อสร้างโรงงาน ไม่เคยรู้มาก่อนว่า จะมีโรงงานมาตั้งใกล้บ้านขนาดนี้ และมองว่าชาวบ้านต้องได้รับข้อมูลและมีส่วนร่วม เพราะถือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน
.
สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานเหล่านี้ จึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่ง หัวหน้า คสช. 4/2559 ให้โรงงานประเภทนี้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และมีมาตรการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุ ไทยมีปริมาณการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับอนุญาต
ปี 2558 2,856.41 ตัน
ปี 2559 9,402.62 ตัน
ปี 2560 53,290.60 ตัน
ปี 2561 37,805.59 ตัน
จะสังเกตเห็นได้ว่า การนำเข้าปี 2560 มากกว่าปี 2559 อย่างก้าวกระโดดเกือบ 6 เท่าตัว
.
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ปัจจุบันมีการอนุญาตให้โรงงาน 7 แห่ง นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตราย ตามอนุสัญญาบาเซล
และพบกระทำผิดเงื่อนไขการนำเข้า 5 บริษัท และทั้งหมดถูกพักใบอนุญาตนำเข้าแล้ว
ล่าสุด มีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 3 หมื่นตัน เมื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิล ไม่ได้มีเฉพาะวัสดุที่เป็นประโยชน์เท่านั้น แต่ยังมีของเสียอันตรายที่เกิดจากกระบวนการนี้ คิดเป็นร้อยละ 10
ของเสียอันตราย ต้องถูกส่งไปกำจัดและบำบัดตามมาตรฐาน แต่ในความเป็นจริง โรงงานก็ไม่ได้ส่งไปกำจัดและบำบัดอย่างถูกวิธี อีกทั้ง มาตรการติดตามของภาครัฐ ก็ไม่มีชัดเจน
แล้วคุณคิดว่า...
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ปลดล็อคผังเมืองเพื่อให้สามารถตั้งโรงงานประเภทพลังงานทดแทน และโรงงานคัดแยก ฝั่งกลบและรีไซเคิลขยะและกากอุตสาหกรรม ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่เกษตรกรรมได้
ส่งผลต่อการนำเข้าขยะพิษหรือไม่?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น