ฟังเสียงชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างเขื่อนในลาว และถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่ คาดว่า 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งออกไปประเทศไทย
...
(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10215883471575611&set=pcb.10215883496576236&type=3)
เสียงจากชาวบ้าน ทีมงานขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ ได้เคยลงพื้นที่เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย ในปี 2013 และได้เขียนงานไว้ ตามด้านล่างค่ะ
— เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้ไปพักกับครอบครัวชนเผ่ายาหวน (Nya Heun) ในพื้นที่รองรับผู้อพยพที่หนาแน่นบริเวณแขวงปากซอง ลาวใต้ ประชาชนหลายพันคนถูกบังคับให้อพยพมาที่นี่ระหว่างปี 2539-2544 เพื่อปูทางให้มีการสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยและห้วยห้อที่มีการวางแผนก่อสร้างในช่วงนั้น บริเวณพื้นที่ที่ตกทอดมาแต่บรรพชนของพวกเขาตามริมฝั่งแม่น้ำเซเปียนและเซน้ำน้อย แม่น้ำและลำห้วยใกล้กับถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเขาเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำไหลจืดไหลอย่างเสรี พวกเขาสามารถเก็บของป่าได้จากในป่า มีพื้นที่เพื่อทำการเกษตรบนพื้นที่สูงโดยปลูกพันธุ์ผักต่าง ๆ ผสมกับผลไม้ กาแฟ และข้าว
แต่ในพื้นที่รองรับผู้อพยพที่ดิฉันไปพัก เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการถางป่า และมีหน้าดินตื้นไม่เหมาะสมกับรูปแบบการเกษตรบนพื้นที่สูงที่พวกเขาคุ้นเคย ทั้งไม่มีแม่น้ำบริเวณใกล้เคียงที่สามารถจับปลา หรือสามารถนำน้ำสะอาดมาใช้งานได้เหมือนที่เคยเป็นมา ชาวบ้านเหล่านี้กลับต้องกลายเป็นคนซื้อข้าว ซื้อเนื้อ และซื้อปลาจากตลาดซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 5-8 กม. โดยมีระบบส่งน้ำแบบใช้แรงโน้มถ่วงเพียงเครื่องเดียวเพื่อจ่ายน้ำสำหรับใช้งานประจำวันทั้งชุมชน
ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างเป็นแรงงานรายวันในแปลงปลูกกาแฟบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นของบริษัทจากลาวและต่างชาติ รวมทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟจากแปลงปลูกเล็ก ๆ ในที่ดินซึ่งได้รับมาใกล้กับบ้าน เพื่อส่งขายให้กับบริษัท
ชาวบ้านบอกว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกเจ็บปวดจากความหิวโหยอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้เลย แม้ว่าในหมู่บ้านเดิมที่พวกเขาอยู่ เด็กอาจต้องเสียค่าเล่าเรียน และคนป่วยอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลบ้าง แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายในระดับที่ชาวบ้านจ่ายได้ เนื่องจากไม่มีรายจ่ายในด้านอื่น ๆ มากนัก แต่ในปัจจุบัน ครอบครัวเหล่านี้บอกว่ากำลังประสบปัญหาไม่มีเงินส่งลูกไปโรงเรียน หรือไม่มีเงินรักษาตัวยามเจ็บป่วย เนื่องจากเงินที่เก็บสะสมได้ต้องนำไปใช้ซื้ออาหาร
การหาทางแก้ปัญหาและอยู่รอดในที่ดินใหม่
ชาวบ้านทุกคนต่างต้องปากกัดตีนถีบในสภาพที่แร้นแค้น แต่พวกเขาต้องประหลาดใจว่า ที่ดินเดิมของพวกเขาส่วนใหญ่กลับไม่ถูกน้ำท่วม กว่า 10 ปีที่แล้ว ชาวบ้านได้รับการแจ้งเตือนว่า น้ำจากแม่น้ำจะหลากท่วมบ้านเรือนของตนโดยเร็ว เนื่องจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย
เพราะอันที่จริงยังไม่มีการสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยขึ้นมาในตอนนั้น เนื่องจากแผนก่อสร้างเดิมของบริษัทจากเกาหลีใต้ประสบปัญหาจากวิกฤตการเงินในเอเชีย ทำให้ชาวบ้านรู้สึกโกรธ สับสน และกังวลใจพร้อมกับตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงถูกบีบให้อพยพออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง
ปัจจุบันครอบครัวส่วนใหญ่ได้กลับเข้าไปจับจองที่ดินเดิมของตน พวกเขาเริ่มเพาะปลูกและเก็บของป่าอย่างที่เคยทำมา แต่ก็เพิ่งทำได้ไม่นานมานี้เอง เนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ขัดขวางไม่ให้พวกเขาเข้าไปในที่ดินของตน แต่ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ทางการบอกว่าหลายครอบครัวที่ต้องการกลับไปที่ดินเดิม ต้องสามารถจำแนกได้ว่าที่ดินของตนอยู่ที่แปลงไหน และต้องจ่ายเงินจำนวนมาก
ในปัจจุบัน ถนนที่จะนำพวกเขากลับไปสู่บ้านเกิดของตนมีเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งด่านตรวจเต็มไปหมด แต่ถ้าครอบครัวเหล่านี้สามารถจ่ายค่าผ่านทางได้ พวกเขาก็สามารถกลับไปบ้านเกิดของตนเองได้
ชาวบ้านแสดงจุดยืนอย่างหนักแน่นและภูมิใจที่จะต่อต้านการบังคับให้อพยพ
แม้ว่าครอบครัวส่วนใหญ่จะย้ายรวมกันไปอยู่ในพื้นที่รองรับผู้อพยพ แต่มีสองหมู่บ้านที่ไม่ยอมย้าย ได้แก่บ้านห้วยโจดและบ้านหนองผานวน แม้จะถูกข่มขู่จากทางการ แต่ทุกครอบครัวในหมู่บ้านตัดสินใจร่วมกันกับผู้ใหญ่บ้าน ที่จะไม่ยอมรับข้อเสนอให้อพยพโยกย้าย แม้จะถูกทางการตัดบริการสาธารณูปการทั้งหลาย
แต่ชาวบ้านยืนยันจะไม่ยอมละทิ้งถิ่นฐานของตนในป่าบนพื้นที่สูง ช่วงที่ดิฉันไปเยี่ยมพวกเขา ๆ ประกาศอย่างภูมิใจว่า สามารถเก็บเกี่ยวธัญญาหารจากในป่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บน้ำผึ้งป่าและการทำแปลงเกษตรขนาดเล็กเพื่อการพึ่งตนเองของครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถทำได้บนพื้นที่ที่แห้งแล้งในแปลงอพยพ
ชาวบ้านที่ห้วยโจดตระหนักดีถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนที่ถูกโยกย้ายไปแล้ว พวกเขาอธิบายกับดิฉันว่า ได้เริ่มโครงการถ่ายภาพ เพื่อบันทึกข้อมูลพันธุ์พืชและสัตว์ท้องถิ่นบริเวณภูเขาและแม่น้ำรอบชุมชน ในเวลาอันรวดเร็ว พวกเขาสามารถอธิบายถึงตัวอย่างพันธุ์ปลาที่แตกต่างกันกว่า 20 ชนิด ซึ่งจับได้จากลำห้วยและแม่น้ำบริเวณใกล้เคียง และกับข้าวอีกหลายสิบอย่างที่พวกเขาปรุงขึ้นมาจากของที่หาได้จากธรรมชาติที่มีความสำคัญเช่นนี้
ในปัจจุบันพวกเขาต้องการบันทึกข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพตอนที่บริษัทที่ทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่หรือบริษัทที่สร้างเขื่อนเริ่มเข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินของพวกเขา
อนาคตร่วมกันที่ถูกคุกคาม
บรรดาผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านที่ดิฉันได้พบต่างบอกว่า ในช่วงหกสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนของบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย และที่ปรึกษาโครงการจากประเทศไทย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้เข้ามาหาพวกเขาในหมู่บ้าน มีการถ่ายภาพบ้านเรือนของชาวบ้าน ที่ดินทำกิน และครอบครัวของพวกเขา มีการสอบถามชาวบ้านเกี่ยวกับอาหารและรายได้หลัก และเริ่มจะมีการปักป้ายชื่อของบริษัทจากเกาหลีใต้ SK Construction and Engineering บริเวณพื้นที่หน้าแคมป์คนงาน
ในตอนนี้ดูเหมือนว่าหลังจากล่าช้าไปหลายปี คงจะมีการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยเสียที ทั้งนี้ด้วยเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย และมีการลงนามสัญญาสัมปทานเมื่อเดือนตุลาคม 2555 มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จากไทย บริษัทจากเกาหลีใต้สองแห่งได้แก่ SK Engineering & Construction Company และ Korea Western Power Company และรัฐบาลสปป.ลาว
โดยคาดว่า 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งออกไปประเทศไทย
โครงการที่ครอบคลุมหลายลุ่มน้ำประกอบด้วยเขื่อนหกแห่งที่จะก่อสร้างขึ้นในแม่น้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย และแม่น้ำห้วยหมากจัน โดยจะมีการผันน้ำผ่านระบบท่อและคลองเข้าไปสู่แม่น้ำเซกง คาดว่าโครงการนี้จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณป่าต้นน้ำ ซึ่งยังคงเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับชาวบ้านชนเผ่ายาหวน ซึ่งอยู่ในพื้นที่รองรับผู้อพยพ ทั้งยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการประมงในภูมิภาค ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าที่ผ่านมาได้มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนแล้วหรือไม่ แม้ว่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายพันคนในกัมพูชาซึ่งอาศัยอยู่ด้านท้ายน้ำของแม่น้ำเซกง
อันที่จริง ชาวบ้านในชุมชนที่ดิฉันได้พบใกล้กับแขวงปากซองหรือัตตะปือ ต่างไม่เคยได้ทราบเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการนี้ที่จะมีต่อผืนดิน แม่น้ำ และสัตว์น้ำรอบตัวพวกเขาเลย เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ถูกโยกย้ายมาแล้วครั้งหนึ่ง พวกเขาจึงรู้สึกโกรธและต้องการทราบว่า บริษัทจากไทยและเกาหลีใต้มีแผนการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการดำรงชีพของพวกเขา
ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งบอกกับดิฉันว่า “บริษัทที่ต้องการสร้างเขื่อนเซน้ำน้อย ควรมาพูดคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านเสียก่อน พวกเขาไม่ควรเริ่มก่อสร้างเขื่อนโดยที่ยังไม่ได้พูดคุยกับชาวบ้าน พวกเราที่เป็นชาวบ้านต้องการทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเกิดขึ้นเมื่อไร... พวกเรากังวลมากในตอนนี้ ที่ผ่านมาได้มีการเริ่มจัดเตรียมพื้นที่ก่อสร้างของบริษัท SK แล้ว แต่พวกเขาไม่เคยเข้ามาที่หมู่บ้านเพื่ออธิบายอะไรเลย พวกเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เรายังคงรอคอยข้อมูลเหล่านี้”
หากสถาบันระหว่างประเทศซึ่งมีขั้นตอนปฏิบัติเพื่อคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อย่างเช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย พิจารณาที่จะลงทุนในโครงการนี้ พวกเขาจำเป็นต้องรับฟังข้อกังวลอย่างจริงจังของชาวบ้านเกี่ยวกับช่องว่างที่ชัดเจนในแง่การปรึกษาหารือและความโปร่งใสของโครงการ เรากำลังรอดูอยู่ว่าพวกเขาจะแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ https://www.internationalrivers.org/…/xe-pian%E2%80%93xe-na…
ที่มา FB
Pai Deetes
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น