วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ทำไมผู้ชุมนุมประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันในฝรั่งเศส ต้องก่อม็อบ ทำไมสัญญลักษณ์ต้อง "เสื้อกั๊กเหลือง" - BBC Thai

ทำไมผู้ชุมนุมประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันในฝรั่งเศส ต้องก่อม็อบ ทำไมสัญญลักษณ์ต้อง "เสื้อกั๊กเหลือง" - BBC Thai



ANADOLU AGENCY/GETTY IMAGES


มาครงอัดม็อบ “เสื้อกั๊กเหลือง” น่าละอาย


25 พฤศจิกายน 2018
บีบีซีไทย


ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ออกมาสวนกลับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกลางกรุงปารีส

"น่าละอายจริง ๆ สำหรับพวกที่โจมตีตำรวจ" และ "ไม่มีพื้นที่สำหรับความรุนแรงในสาธารณรัฐฝรั่งเศส" นายมาครงทวีตข้อความ หลังเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นบนถนนช็องเอลีเซ่ เมื่อวันเสาร์ (24 พ.ย.) จนตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุม

กลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกเรียกว่า "'เสื้อกั๊กเหลือง" ตามสีเสื้อที่พวกเขาสวมใส่ ระบุว่า การชุมนุมในวันเสาร์เป็น "ภาคที่ 2" ในการรณรงค์ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่อต่อต้านการขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล และก็ขยายความโกรธแค้นไปยังปัญหาค่าครองชีพโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท และความคับแค้นใจต่อนโยบายของนายมาครง



กระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสประเมินว่า มีประชาชนมากกว่า 1 แสนคนเข้าร่วมการประท้วงที่เกิดขึ้นราว 1,600 จุดทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมอย่างสงบ ยกเว้นในกรุงปารีสซึ่งมีผู้ชุมนุมราว 8,000 คน ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เกิดอะไรในช็องเอลีเซ่

ตำรวจราว 5,000 นายถูกส่งมารักษาความสงบในกรุงปารีส และได้วางแนวกั้นรอบ ๆ อาคารสำคัญ อาทิ ทำเนียบประธานาธิบดี และรัฐสภา


REUTERS


โฆษกกลุ่มผู้ชุมนุมบอกเอเอฟพีว่า พวกเขาจะชุมนุมอย่างสันติ เพื่อบอกให้รัฐบาลรับฟัง

ทว่าในช่วงเช้า กลุ่มผู้ชุมนุมได้พยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจ จุดไฟเผา รื้อป้ายบอกสัญญาณจราจรบนถนน ดึงก้อนอิฐปูทางเท้าขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ ขณะที่บางส่วนก็ตะโกนต่อต้านนายมาครง สถานการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึงช่วงเย็น ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าควบคุมสถานการณ์ได้

เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะ 19 คน ในจำนวนนี้เป็นตำรวจ 4 นาย และมีผู้ถูกจับกุม 40 คน

ความวุ่นวายในจุดอื่น ๆ ในฝรั่งเศส

กลุ่มผู้ประท้วงได้นัดชุมนุมพร้อมกันทั้งประเทศ ปิดกั้นถนน ทำให้สภาพการจราจรชะลอตัวลง บางคนเข้ายึดด่านผ่านทางยกระดับ (มอเตอร์เวย์) แล้วปล่อยให้รถผ่านเข้าไปแบบดื้อ ๆ

นอกจากนี้ยังมีเหตุปะทะกันเล็กน้อย ทำให้มีผู้ถูกจับกุมไป 130 คน

การชุมนุมและการใช้ความรุนแรงอยู่ในระดับที่เล็กกว่า หากเทียบกับการชุมนุมเมื่อสัปดาห์ก่อน (17 พ.ย.) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 2.8 แสนคน โดยมีประชาชน 2 คนเสียชีวิต ขณะที่อีก 600 คนได้รับบาดเจ็บ


ANADOLU AGENCY/GETTY IMAGES


ชนวนก่อเหตุประท้วงเกิดจากอะไร

ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งใช้กับรถยนต์ส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสได้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา จนมีราคาเฉลี่ย 1.51 ยูโรต่อลิตร (ประมาณ 56.65 บาท) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000

ในขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ก่อนร่วงลงมา แต่รัฐบาลนายมาครงได้ปรับขึ้นภาษีไฮโดรคาร์บอนในปีนี้ที่อัตรา 7.6 เซนต์ต่อลิตรสำหรับดีเซล และ 3.9 เซนต์ต่อลิตรสำหรับเบนซิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ให้ใช้เชื้อเพลิงสะอาด

การตัดสินใจขึ้นภาษีดีเซลอีก 6.5 เซนต์ต่อลิตร และเบนซิน 2.9 เซนต์ต่อลิตร ที่จะมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2019 กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นประท้วง ทว่าประธานาธิบดีมาครงกล่าวอ้างว่าเป็นเพราะราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 3


CHINA NEWS SERVICE/VCG VIA GETTY IMAGES


การประท้วง 2 ครั้งนี้เป็นสัญญาณร้ายต่อรัฐบาลของนายมาครง เพราะเป็นการรวมกลุ่มของประชาชนหลากหลายกลุ่ม แม้แต่กลุ่มที่เคยสนับสนุนนายมาครงเองก็ตาม ฝรั่งเศสมักคุ้นชินกับการประท้วงในเรื่องต่าง ๆ แต่ก็มักนำโดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง หากแต่กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองไม่มีผู้นำเช่นนั้น และทำให้ยากที่จะควบคุมพฤติกรรมฝูงชน

ทำไมต้อง "เสื้อกั๊กเหลือง"

ผู้ขับขี่รถทุกคนในฝรั่งเศสต้องพกเสื้อกั๊กสีเหลืองไว้ในรถของตน เพราะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีกรวยสามเหลี่ยมสีแดงที่ต้องวางไว้ด้านหลังรถที่เกิดเสียขึ้นมากลางทาง และถ้าพลขับจะลงจากตัวรถก็ต้องสวมเสื้อกั๊กสีเหลืองสะท้อนแสงที่มองเห็นได้ชัดเจนด้วย

การไม่สวมใส่เสื้อกั๊กหลังรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุ อาจทำให้ต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 135 ยูโร (ประมาณ 5,064 บาท) ตามกฎหมายที่นำมาบังคับใช้ในปี 2008

ooo



https://www.facebook.com/AntiCorruption001/videos/727335277637161/

...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น