วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2564

สงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ไทยซะเมื่อไหร่ ? 


สงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ไทยซะเมื่อไหร่ ?

ตรุษสงกรานต์ไม่ใช่ประเพณีขึ้นปีใหม่ไทยเท่านั้น แต่เป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของเมืองในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่หลายบ้านหลายเมืองทีเดียว เขรม ลาว พม่า มอญ ล้านถือว่าตรุษสงกรานต์เป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของเขาด้วยทั้งนั้น ทำไม ? ถึงเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้มีเหตุมาจาก อินเดีย เพราะตรุษสงการนต์เป็นประเพณีที่มีกำเนิดมาจากอินเดีย พวกพราหมณ์จากอินเดียคงจะเอามาเผยแพร่ในราชสำนักของบ้านเมืองในภูมิภาคนี้ก่อน จากนั้นก็ส่งอิทธิพลลงไปชุมชนหมู่บ้านทั่วไป ทั้งภูมิภาคที่นับถือพุทธกับพราหมณ์สืบมาจนทุกวันนี้ ถ้าถามว่าประเพณีนี้เริ่มมีมาแต่แต่ครั้งไหน ? ตอบไม่ได้ชัดเจน เพราะไม่มีหลักฐาน แต่น่าเชื่อว่ามีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธา เพราะมีเอกสารยืนยันแน่นอนว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา ราชสำนักมีพระราชพิธีนี้แล้ว ดังปรากฎในกฎมณเฑียรบาลมีพระราชพิธีใหญ่ในเดือนห้า คือ สงกรานต์นี่แหละ มีเอกสารจำนวนหนึ่ง ประกอบกับวิถีชีวิตประจำวันของคนพื้นเมืองระบุว่า แต่เดิมผู้คนพลเมืองของสยามประเทศมีประเพณีขึ้นปีใหม่เมื่อเดือนอ้าย แปลว่าเดือนที่หนึ่ง ตรงกับปฎิทินสากลราวพฤศจิกายนหรือพูดง่ายๆ ว่าเสร็จลอยกระทงก็ขึ้นปีใหม่ เขียนบอกมาอย่างนี้เห็นจะมีคนเชื่อยาก เพราะต่างก็ลืมเดือนอ้ายตามจันทรคติไปเสียหมดแล้ว แต่มาหลงเดือนห้าที่มีตรุษสงกรานต์ว่าเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ไทยไปเสียหมด แม้สถาบันการศึกษาก็อบรมสั่งสอนกันมาอย่างนี้ไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนั้นยังฟูมฟายว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ไทยแท้ๆ ถ้าบ้านเมื่ออื่นเขาถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของเขาบ้าง ก็พากันงงๆ แล้วพานคิดเอาเองว่ารับแบบแผนไปจากไทย ทั้งๆ ที่อาจตรงกันข้าม คือสมัยแรกๆ ฝ่ายไทยอาจรับแบบแผนมาจากเขมร หรือ มอญก็ได้ แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือ ต้นแบบมาจากอินเดียโน่น ไม่ใช่ประเพณี ดั้งเดิมของภูมิภาคนี้ อันที่จริงการรับแบบแผนประเพณีของใครมาเป็นเรื่องปกติ เมื่อรับมาแล้วก็ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจนเป็นลักษณะของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่แปลกก็คือ เมื่อมีหลักฐานชัดๆ ว่าไม่ใช่ของตนมาแต่เดิม และไม่ใช่ของตนฝ่ายเดียว เพราะที่อื่นๆ ก็มีแบบเดียวกัน กลับไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมทำความเข้าใจความเป็นมาที่แท้จริง แถมไปดูหมิ่นถิ่นแคลนบ้านเมืองอื่นๆ เขาอีก ตรงนี้แหละแปลก และประหลาดแท้ๆ เหตุที่เป็นอย่างนี้พอเข้าใจได้ว่ามาจากถูกสอนให้ หลงความเป็นไทย ทั้งๆ ไม่รู้ว่าอะไรคือไทย แม้คนไทยมาจากไหนก็ยังไม่รู้ แต่หลงเอาไว้ก่อนเพื่อใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงคนอื่นที่ไม่ใช่ไทย หรือ ที่คิดแตกต่างจากไทย ความเป็นไทย คืออะไร? อยู่ตรงไหน? ผมไม่รู้ ตอบไม่ได้ อธิบายไม่ถูก จะมีหรือไม่มี ไม่ทราบ แต่รู้แน่ว่าความเป็นคนน่ะมี และมีอยู่ทุกคน ประเพณีสงกรานต์ไม่ได้แสดงความเป็นไทย แต่แสดงความเป็นคนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในภูมิภาคนี้ ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ต้องอ่อนน้อมถ่อมตัวต่อธรรมชาติ เพราะพืนพันธุ์ธัญญาหารมาจากธรรมชาติ พิธีกรรมที่แสดงออกในเทศกาลนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติ พระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาต้อวประกอบพระราชพิธีเดือนห้า หรือ สงกรานต์ ก็เพื่อขอความอุคมสมบูรณ์ให้คนทุกคนในราชอาณาจักร คนทุกคนในราชอาณาจักรก็ทำพิธีกรรมในเทศกาลสงกรานต์เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ ชุมชน ของตนและของคนอื่น แต่ทุกวันนี้เราเล่นสงกรานต์ด้วยการสาดน้ำอย่างรุนแรงเท่านั้นเพื่ออะไร ? เพื่อความสะใจส่วนตัว และพวกพ้องเท่านั้น หรือ เพื่อรับนักท่องเที่ยว เราลืมธรรมชาติ ลืมคน ลืมชุมชน แล้วก็ลืมราชอาณาจักรใช่ไหม ? ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวบ้าน ชาวเมือง ถึงได้มีแต่ความทุกข์ยากลำบากบนจนยากกันทั่วไป น่าเวทนาจริงๆ ?

 

อ้างอิง : บทบรรณาธิการ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 6 เมษายน 2544 หน้า 10-11

 

ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ภาพ : ฉีดน้ำและสาดน้ำสงกรานต์ในกรุงมัณฑะเลย์ ที่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2431 (ตรงกับไทยสมัย ร.5) [ภาพ THE BURMESE NEW YEAR จาก THE GRAPHIC (ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1888 หน้า 13)]


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น