รู้จัก เสือดำ กับชะตากรรมในผืนป่า
จาก ข่าว การจับกุม เจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูต ตั้งเต็นท์ล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกหลังตรวจสอบพบซากไก่ฟ้าหลังเทา เนื้อเก้ง และ เสือดำ ถูกชำแหละ-ถลกหนัง พร้อมปืนและเครื่องกระสุน ต้องบอกว่าข่าวดังถูกจับจ้องจากคนในสังคมเป็นอย่างมาก
ในเหตุการณ์นี้เมื่อ เสือดำ สัตว์ป่าคุ้มครองที่ถูกทำร้าย ทำให้หลายคนเริ่มสนใจอยากรู้จักราชาแห่งป่าตัวดำน่าเกรงขามประเภทนี้
เสือดำ เป็นชื่อสามัญเรียกของสัตว์กินเนื้อประเภทเสือและแมว (Felidae) ที่มีลักษณะลำตัวรวมถึงลวดลายเป็นสีดำตลอดทั้งลำตัว ซึ่งเกิดขึ้นได้ในเสือหลายชนิด
เสือดำ เกิดจากความผิดปกติในเม็ดสีที่เรียกว่าเมลานิซึม ส่งผลให้เสือที่เกิดมานั้นเป็นสีดำตลอดทั้งลำตัว โดยที่ยังมีลายหรือลายจุดคงอยู่ แต่จะสังเกตเห็นได้ยาก จะเห็นได้ชัดเจนเมื่ออยู่ในแสงแดด ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบเสือดำบริเวณป่าภาคใต้ และเสือดำมีความดุร้ายกว่าเสือดาว
ย้อนไปเมื่อปี 2521 เรื่องราวของ เสือดำ ในประเทศไทยเคยเป็นข่าวฮือฮา มีคนพบเห็นเสือดำเดินเพ่นพ่านอยู่แถวมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร จนเป็นที่หวาดกลัวของผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น จนได้ชื่อว่า "เสือดำมักกะสัน" ต่อมาถูกจับไปปล่อยไว้ในป่าห้วยขาแข้ง
จากนั้น เสือดำ ได้เป็นที่รู้จักของมนุษย์อีกครั้ง เพราะเดือนมีนาคม ปี 2560 มีรายงานว่าพบ เสือดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
จ.ตาก ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถบันทึกภาพวิดีโอไว้ได้เป็นภาพ เสือดำ จากกล้องดักถ่ายภาพบริเวณถนนเส้นคลองลาน-อุ้มผาง หรือถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1117 ซึ่งเป็นเขตรักษาสัตว์ป่าอุ้มผาง ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์ของสัตว์ป่าที่กระจายตัวในแถบนี้
และ เสือดำ กลับมาเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้ง คราวนี้ไม่ใช่ภาพของ เสือดำ ที่ยังเดินเล่นตามธรรมชาติในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่เป็นการพบซากของมันที่ถูกถลกหนังแล้ว พร้อมกับข่าวการจับกุม เจ้าสัวเปรมชัย ประธานบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย และบุคคลอื่นอีก 4 คน พร้อมอาวุธปืนอีกหลายกระบอกในบริเวณตั้งแคมป์
ข่าวดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจให้กับคนในสังคมเป็นอย่างมาก
เปิดเป้าหมาย เสือดำ การไล่ล่าของมนุษย์ที่มีมาเนิ่นนาน เพียงเพราะความเชื่อบางอย่างของคนบางกลุ่ม ผู้หิวกระหายในอำนาจบารมีหากมีของดีย่อมส่งผลให้ชีวิตดีรุ่งโรจน์ มีผู้คนเกรงขามเหมือนเช่น เสือดำ ที่มีความดุดัน ดุร้าย เป็นนักล่าเพราะมันคือราชาแห่งสัตว์ป่านั่นเอง
หากความเชื่อนี้ยังคงมีอยู่ไม่เฉพาะแต่ เสือดำ เท่านั้น บรรดาสัตว์อื่นๆ ยังคงต้องเผชิญชะตากรรมกันต่อ ไม่รู้ว่าวันใดจะโดนปลิดชีพสังเวยบารมี
ปัจจุบัน เสือดำ จากข้อมูลของผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เปิดเผยไว้ว่าปริมาณประชากรของเสือดำ (หรือเสือดาวที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน) ในขณะนี้ว่าในแถบโซนเอเซียมีประมาณ 1,000-1,500 ตัว ในขณะที่ประเทศไทยมีเหลือไม่น่าเกิน 350 ตัว
ชีวิตตาดำๆ ของเสือดำ กับ ชะตากรรมในอนาคต หากยังมีการไล่ล่า เด็กรุ่นหลังอาจจะรู้จักเสือดำในแบบฉบับเสือกระดาษที่อยู่ในหนังสือแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : sanook.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น