ภาพ
แกะสลักที่ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าเป็นพิธีเบิกพรหมจารี
แต่พิเศษเชื่อว่าเป็นการรักษาคนถูกงูกัดที่ภาพสลักปัจจุบันเหลือเพียงปลาย
เท้า ส่วนหญิงที่ยืนด้านหลังก็น่าจะเป็น "ผู้ดี" ที่มากับขบวนแห่ มากกว่า
"สาวพรหมจรรย์"
ผู้เขียน พล อิฏฐารมณ์
เผยแพร่ วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ.2559
ใน
ปี พ.ศ.1838 โจวต้ากวาน ทูตจีนแห่งราชสำนักหยวนได้เดินทางมายังเขมร
เพื่อเกลี่ยกล่อมให้อาณาจักรเขมรยอมสวามิภักดิ์
ระหว่างนั้นเขาได้ใช้เวลากว่า 1 ปี ในดินแดนอุษาคเนย์
และได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ รวมถึงวิถีชีวิตของชาวเขมร
โดยเรื่องหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขานถึงมากในบันทึกของเขา คือ
“พิธีเบิกพรหมจารี” ที่เขาเรียกว่า “เจวิ้นถาน”
เรื่องนี้ได้มีผู้แปลเอาไว้ได้ความว่า ลูกสาวของผู้มีฐานะเมื่ออายุได้ 7
ถึง 9 ขวบ จะต้องให้ “ภิกษุ” หรือ “ดาบส” ทำพิธีทำลายพรหมจารี
ซึ่งครอบครัวของเด็กสาวต้องจองตัวพระ หรือดาบสล่วงหน้า
โดยนักบวชเหล่านี้จะทำพิธีทำลายพรหมจารีได้เพียงปีละครั้ง
และค่าธรรมเนียมบุญก็สูงตามฐานะ เช่น ถ้าเป็นขุนนาง คหบดี ก็ต้องถวายเหล้า
ข้าวสาร ผ้าแพร หมาก และเครื่องเงินหนักเป็นร้อยหาบ หรือ 2-3 ร้อยตำลึงจีน
ส่วนที่ฐานะต่ำลงมาก็อาจต้องจ่ายเป็นเงินหลักสิบหาบลดหลั่นกันลงมา
ส่วนคนยากคนจนก็อาจต้องรอให้ลูกโตถึง 11 ขวบจึงจะได้ทำพิธี
โดยอาศัยเงินทำบุญจากผู้มีฐานะ
“ข้าพเจ้าได้ยินว่าเมื่อถึงเวลาพระภิกษุและเด็กหญิงก็เข้าไปในห้อง
พระภิกษุใช้มือทำลายพรหมจารีนั้นใส่ลงในเหล้า เขายังเล่ากันอีกว่า
บิดามารดาญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านต่างแต้มเหล้านั้นที่หน้าผากของตนทุกคน
บางคนก็ว่าทุกคนใช้ปากชิมดู บ้างก็ว่าพระภิกษุประกอบเมถุนธรรมกับเด็กหญิง
บ้างก็ว่าไม่เป็นความจริงดังว่านั้นเลย โดยเหตุที่เขาไม่ยอมให้คนจีนรู้เห็น
ข้าพเจ้าจึงไม่ทราบเรื่องที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร” โจวต้ากวานกล่าว
ทูตจีนยังอ้างว่า ชาวเขมรมิได้ใส่ใจเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการสมรส
โดยกล่าวว่า “…เกี่ยวกับการมีสามีและการมีภรรยา แม้จะมีประเพณีรับผ้าไหว้
ก็เป็นเพียงแต่การกระทำลวกๆ พอเป็นพิธี
หญิงชายส่วนมากได้เสียกันมาแล้วจึงได้แต่งงาน
ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของเขาไม่ถือเป็นสิ่งที่น่าละอายและก็ไม่ถือเป็น
เรื่องประหลาดด้วย”
ในส่วนที่ทูตจีนกล่าวถึงพิธีเบิกพรหมจรรย์นั้น เห็นได้ว่า
ตัวเขาเองมิได้เป็นประจักษ์พยานในพิธี เพียงแต่บอกต่อในสิ่งที่ตนรับฟังมา
ซึ่งก็มีข้อมูลที่ขัดแย้งกัน เขาจึงออกตัวว่า
“ข้าพเจ้าไม่ทราบเรื่องที่แท้จริงเป็นอย่างไร”
แต่!
ในไทยได้มีผู้นำคำบอกเล่าเกี่ยวกับพิธีดังกล่าวของโจวต้ากวานไปเชื่อมโยงกับ
ภาพสลักบนปราสาทพนมรุ้งว่าเป็น “พิธีเบิกพรหมจรรย์”
ตามที่ทูตชาวจีนกล่าวถึง หลังมีการพบศิวลึงค์ขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง
ซึ่งเท่ากับว่าผู้สันนิษฐานเชื่อแล้วว่า พิธีดังกล่าวมีอยู่จริง แม้ว่า
โจวต้ากวานเองยังไม่กล้ายืนยันก็ตาม!
เรื่องนี้ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถาน เคยอธิบายไว้นานแล้วว่า
ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง
เพราะผู้เล่าเรื่องนี้อาจเล่าเชิงทีเล่นทีจริงให้กับพวก “ไม่รู้ภาษา”
(มิงติงเทียซา) ฟัง ความที่โจวต้ากวนรับฟังมาจึงขัดแย้งกัน
แต่เขาก็บันทึกตามที่ตนได้รับฟังมา
พิเศษ ชี้ว่า ภาพสลักบนปราสาทไม่เคยเห็นภาพที่สมบูรณ์
ภาพที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันก็เหลือเพียง “ฝ่าเท้า”
ยากที่จะบอกเพศของบุคคลในภาพ หรือจะบอกได้ว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
และหากยังไม่ยอมสนใจคำบอกของโจวต้ากวานเองว่า
“ข้าพเจ้าไม่ทราบเรื่องที่แท้จริงเป็นอย่างไร” ถึงอย่างนั้น
การสันนิษฐานว่าภาพดังกล่าวบนปราสาทเขาพนมรุ้งเป็นพิธีเบิกพรหมจรรย์ก็ยังมี
ข้อบกพร่อง
หนึ่งคือ เรื่องที่โจวต้ากวานเล่าอยู่คนละยุคกับปราสาทเขาพนมรุ้ง
ห่างกันกว่า 200 ปี สองคือ
โจวต้ากวานเล่าว่าพิธีดังกล่าวทำกันที่บ้านของเด็กหญิง
การบอกว่าพิธีดังกล่าวทำในปราสาทเขาพนมรุ้งจึงขัดกันเอง และสาม
โจวต้ากวานกล่าวว่า การประกอบพิธีจะทำกันในห้องสองต่อสอง
แต่ในภาพสลักกลับมีผู้อื่นอยู่ร่วมด้วยหลายคน
พิเศษจึงยืนยันว่า ภาพดังกล่าวไม่ใช่พิธีเบิกพรหมจรรย์แน่
แต่น่าจะเป็นภาพที่ขบวนของนเรนทราทิตย์เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของอาณาจักรขอม
ขณะหยุดระหว่างทางเพื่อช่วยคนถูกงูกัด
สังเกตได้จากภาพคนนั่งเหยียดเท้าที่ชำรุดจนเหลือแต่ส่วนเท้า
และส่วนบนของภาพที่เป็นภาพธวัชฉัตรธง
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาพขบวนแห่ในศิลปะขอมทั่วไป
อันเป็นเหตุการณ์ที่สอดคล้องกับบันทึกใน “จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง ๙”
ตอนหนึ่งว่า “…เขาไปพร้อมฝูงชนที่เป็นทั้งผู้ดีและไพร่
ยังคนหนึ่งซึ่งกำลังทำแพถูกงูกัด
ได้รับความเจ็บปวดเพราะพิษอันร้ายแรงให้จากสระ
แล้วรักษาโดยเวทย์มนตร์…เขาชื่อนเรนทราทิตย์ ซึ่งเป็นครูของไตรโลก…”
พิเศษอธิบายภาพว่า คนที่นั่งคุกเข่าอยู่คือผู้ให้การรักษา
โดยในมือของเขาถือหินซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาพิษงู
ส่วนสตรีที่ยืนอยู่ด้านหลังเป็น “ผู้ดี” ที่มากับขบวนของนเรนทราทิตย์
[ไม่ใช่สาวพรหมจรรย์] โดยพิเศษเชื่อว่า
สตรีในภาพนี้เป็นสตรีคนเดียวกันกับที่ปรากฏในภาพอื่นๆ บนปราสาทพนมรุ้ง
นั่นคือมารดาของนเรนทราทิตย์ ที่น่าจะเสด็จมาประอยู่ ณ
ปราสาทพนมรุ้งเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ ข้อสันนิษฐานของผู้ที่เชื่อว่า “พิธีเบิกพรหมจรรย์” มีจริง
และเป็นพิธีที่พระหรือดาบสเป็นผู้ทำลายพรหมจรรย์ของเด็กสาวเอง
จึงเป็นเพียงคำบอกเล่าฝ่ายเดียวที่ผู้บอกเล่าไม่กล้ายืนยัน
และไม่มีบันทึกอื่นใดที่สอดรับกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว
การเชื่อมโยงว่าพิธีดังกล่าวถูกจารึกไว้บนปราสาทพนมรุ้งก็มีหลายส่วนที่
ขัดกันเอง
จนไม่น่าเชื่อว่าพิธีดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่จารึกของปราสาทพนมรุ้งสื่อไปถึง
และยังมีหลักฐานอื่นๆ ที่ชี้ว่า ภาพดังกล่าวน่าจะเป็นภาพประกาศ
แสดงถึงการสร้างกุศลของนเรนทราทิตย์ซึ่งเดินทางมาเป็นผู้ทรงศีลที่พนมรุ้ง
เพื่อหลีกทางให้เชื้อพระวงศ์ท่านอื่นขึ้นครองราชย์
อ้างอิง:
ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ “บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ โดย เฉลิม ยงบุญเกิด แปลจากต้นฉบับภาษาจีนของโจวต้ากวาน
2.“เบิกพรหมจรรย์” UNSEEN ไทยแลนด์ ที่ปราสาทพนมรุ้ง โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ใน ศิลป
วัฒนธรรม ฉบับ กันยายน 2546