จินดามณีนั้นไม่ใช่จะท่องกันได้ง่ายๆ “แต่คุณตู่คงไม่สนใจจะฟังครูบาอาจารย์แนะนำกระมัง”
หัวหน้า คสช.เงิบคนเดียวไม่พอ ลิ่วล้อในกระทรวงวัฒนธรรมช่วยเงิบด้วย เอาใจนายประมาณดั่งตำนานฝรั่ง ที่ว่าคิงลืมใส่เสื้อผ้า แล้วพวกขี้ข้าพากันชมกันใหญ่ว่าฉลองพระองค์ช่างงามเลิศล้ำเหลือหลาย
หลังจากที่มีข่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้คณะรัฐมนตรีไปท่องโคลงกลอนในหนังสือจินดามณีมาให้ได้คนละบท ครั้นพออาทิตย์ต่อมา (๒๗ มีนา) เจอผู้สื่อข่าวถามเรื่องจินดามณีไปถึงไหน ตุ๊ดตู่เลยท่องให้ฟังเป็นตัวอย่างบทหนึ่งว่า
“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย” ซึ่งกลายเป็นนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ ที่ประพันธ์หลังจินดามณีถึง ๑๕๐ ปี ไปเสียฉิบ
ทางด้าน รมว.วัฒนธรรม วีระ โรจน์พจนรัตน์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อต้นอาทิตย์นี้ ชี้แจงว่านายกฯ ไม่ได้สั่งให้รัฐมนตรีไปท่องจินดามณีอย่างที่เป็นข่าว แค่ให้ไปอ่านกัน ตนเองได้เตรียมไว้หนึ่งบทสำหรับท่องให้นายกฯ ฟัง พร้อมแสดงแซมเปิ้ลว่า
“เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น...” (ฤๅพี่ สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือฯ)
ซึ่งเพจ ‘การเมืองไทย ในกะลา’ ดันจำแม่นเสียอีกว่า นั่นมาจากเรื่อง ‘ลิลิตพระลอ’ อันเป็นรวมบทกลอนสมัยอยุทธยาตอนต้น และตัวอย่างที่ รมว.วัฒนธรรมยกมา เป็น “ตอนที่นางรื่นกับนางโรยร่วมมือกับนักดนตรีขับเพลงยอความงามของ ‘พระเพื่อน’ ‘พระแพง’ นายของตัวเองให้กับ ‘พระลอ’ฟัง เพื่อให้พระลอหลงใหล”
ที่ถ้าทั้งนายและบ่าวชวนกันไปถามรศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เสียก่อนก็จะทราบว่า จินดามณีนั้นไม่ใช่จะท่องกันได้ง่ายๆ เนื่องจากต้นแบบในสมัยพระนารายณ์เป็นหลักสูตรสำหรับการฝึกฝนแต่งโคลงกลอน ไม่ใช่บทเรียนของเด็กๆ
จินดามณีถูกปรับให้เป็นแบบเรียนที่เรียกว่า ‘ปฐม ก กา’ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ จนกระทั่งรัชกาลที่ ๕ จึงได้มีการสังคายนาใหม่ให้เป็นแบบเรียนสมบูรณ์ โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกว่า‘มูลบทบรรพกิจ’
“แต่คุณตู่คงไม่สนใจจะฟังครูบาอาจารย์แนะนำกระมัง” Nithinand Yorsaengrat เย้าความเขลาของทั่นผู้นำและลิ่วล้อ พร้อมกันนั้นเธอ “ขออนุญาตสรุปสั้นๆ เพิ่มเติมว่า”
1. จินดามณี มีหลายเวอร์ชั่น และจินดามณีที่เชื่อกันว่าเขียนโดยพระยาโหราธิบดีในสมัยพระนารายณ์นั้น ยังไม่เคยมีหลักฐานว่ามีต้นฉบับตัวจริงเลย มีแต่ต้นฉบับครูถูกคัดลอกต่อกันมาเรื่อยๆ แล้วคนคัดลอกก็ต่อเติมโคลง กลอนที่คนคัดลอกเห็นว่าดีเข้าไปเรื่อยๆ
2. จินดามณีในสมุดไทยฉบับคัดลอกที่ว่าเก่าแก่ตั้งแต่ยุคอยุธยานั้น อ่านยากมาก ภาษาโบราณ ไม่คุ้นปาก ไม่คุ้นหูคนสมัยปัจจุบัน และไม่ใช่หนังสือสำหรับคนทั่วไปจะใช้ท่องจำบทกลอนเป็นบทๆ แต่เป็นหนังสือสำหรับคนจะฝึกเขียน โดยเฉพาะโคลง กลอน ให้ได้เห็นตัวอย่างแบบแผนการเขียน การสะกดให้ถูกต้องตามหลักการ
3. คำว่า เอกาทศรถที่ว่ามีปรากฎในจินดามณี จึงทำให้นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่าจินดามณีมีมาก่อนยุคพระนารายณ์ ก็มีนักวิชาการบางกลุ่มค้านว่า“เอกทศรถ” “เอกาทศรถ” เป็นคำที่ใช้เรียกกษัตริย์โดยทั่วไปอยู่แล้ว
4.แบบเรียนภาษาไทยที่ปรับภาษายากของจินดามณียุคอยุธยา มาเป็นภาษาคนทั่วไป คือ ประถม ก กา สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งยังไม่มีหลักฐานว่าผู้ใดแต่ง และประถมมาลา โดยพระเทพโมฬี ตามด้วยมูลบทบรรพกิจ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5
5. เห็นด้วยกับอาจารย์ธำรงศักดิ์ว่า คนสั่งให้ท่องจินดามณี คงไม่รู้จักจินดามณี
6. นึกสงสัยเองว่าคนสั่งให้ท่องจินดามณี อาจนึกว่าจินดามณี เป็นวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีไหมนะ
7. ไม่ล้อเลียนคนสั่งให้ท่องจินดามณีแล้ว หัวเราะใหญ่ไปหลายรอบแล้ว555 เห็นใจ ไม่รู้ไม่ผิด แต่นึกสงสัยอีกเหมือนกันว่าเขารู้อะไรบ้าง เขาเคยพูดอะไรที่ตรงความจริงบ้าง
8. จริงๆ มันก็กึ่งๆสะท้อนคุณภาพการศึกษาไทยนะนี่นะ คนระดับผู้นำประเทศที่ชอบคุยว่าเรียนเก่ง และมั่นใจมากเสมอว่ารู้ทุกอย่างดีเลิศกว่าใครๆ แสดงความรู้ทีไร ผิดๆถูกๆ หลงๆงงงวยตลอด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น