วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ประวัติ ศิลป์ พีระศรี บิดาวงการศิลปะ







ย้อนอ่านประวัติ บิดาแห่งวงการศิลปะ ศิลป์ พีระศรี

ศิลป์ พีระศรี  ชื่นชอบศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี  เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาลีสัญชาติไทย และเป็นประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประวัติส่วนตัวของท่านเกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของนายอาตูโด เฟโรชีและนางซานตินา เฟโรชี ซึ่งประกอบธุรกิจการค้า และเนื่องจากเกิดและอาศัยอยู่ ณ เมืองฟลอเรนซ์ นครแห่งการกำเนิดศิลปะเรอเนซองส์ชื่อก้องของอิตาลี จึงมีความสนใจในวิชาศิลปะมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะผลงานประติมากรรมของมิเกลันเจโลและโลเรนโซ กีแบร์ตีในมหาวิหารฟลอเรนซ์ท่านชื่นชอบเป็นอย่างมาก

เก็บเงินเรียนเอง อายุ 23 จบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

เมื่อรู้ว่าตนเองชอบงานทางด้านศิลปะ  คอร์ราโด เฟโรชี จึงได้สมัครเป็นลูกมือช่วยงานศิลปินที่มีชื่อเสียงตามสตูดิโอต่างๆ ของเมืองฟลอเรนซ์
เขามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะศึกษาวิชาศิลปะและเป็นศิลปินให้ได้ แม้บิดามารดาไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขาเพราะต้องการให้มาสืบทอดธุรกิจของครอบครัวต่อไป แต่เขาก็ยังมีความตั้งใจที่จะศึกษาศิลปะอย่างแรงกล้า จึงได้เก็บสะสมเงินเอง และเข้าศึกษาในสถาบันศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์ (Accademia di Belle Arti di Firenze) หลักสูตร 7 ปี ในปีพ.ศ. 2451 และจบการศึกษาในปีพ.ศ. 2458 ในขณะที่มีอายุ 23 ปีด้วยเกียรตินิยมอันดับที่หนึ่ง และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน
ต่อมาได้สอบคัดเลือกและได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำราชวิทยาลัย สามารถสอบเข้าเป็นศาสตราจารย์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ศาสตราจารย์คอร์ราโดมีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญาโดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมเป็นอย่างสูง ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมายและได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์จากรัฐบาลหลายครั้ง อาทิ ผลงานอนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 บนเกาะเอลบา เป็นต้น



“ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ( Prof.Corrado Feroci ) ที่ปราสาทพระวิหาร
ภาพจาก: คุณวิจิตร อภิชาติเกรียงไกร

ได้รับคัดเลือกเป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ ในแผ่นดินสยาม

สืบเนื่องจากปี พ.ศ. 2466 ท่านได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรปและยังมีความต้องการแสวงหาสถานที่ปฏิบัติงานแห่งใหม่ ประกอบกับในช่วงเวลานั้นซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระประสงค์ต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านศิลปะตะวันตกเพื่อที่จะเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นในแผ่นดินไทยและทำการฝึกสอนช่างไทยให้มีความสามารถในการสร้างงานประติมากรรมแบบตะวันตกได้ ทางรัฐบาลอิตาลีจึงได้ยื่นข้อเสนอโดยการส่งคุณวุฒิและผลงานของศาสตราจารย์คอร์ราโดให้สยามพิจารณา โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการคัดเลือกศาสตรจารย์คอร์ราโดให้มาปฏิบัติงานในสยาม ด้วยเหตุนี้ศาตราจารย์คอร์ราโดจึงเดินทางสู่แผ่นดินสยามพร้อมกับภรรยาและบุตรสาวโดยทางเรือ เพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 ขณะมีอายุได้ 32 ปี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ. 2469

ปั้นพระพักตร์รัชกาลที่ 6 เป็นที่พอพระราชหฤทัย

เมื่อแรกเริ่มการเข้ารับราชการ ศาสตาจารย์คอร์ราโดทำสัญญารับราชการในสยามเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้วยอัตราเงินเดือน 800 บาท แต่ในตอนแรกก็ยังไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าใดเนื่องจากยังไม่มีใครได้เห็นฝีมือของท่าน จนกระทั่งท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ซึ่งได้ประทับทดลองเป็นแบบปั้นให้อาจารย์คอร์ราโด และปรากฏว่าศาสตรจารย์คอร์ราโดสามารถปั้นได้อย่างสมจริงเป็นอย่างมาก กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงกราบบังคมทูลฯ เชิญให้รัชกาลที่ 6 มาเป็นแบบจริงให้แก่ศาสตรจารย์คอร์ราโด โดยปั้นเฉพาะพระพักตร์ เป็นที่พอพระราชหฤทัย และเป็นที่ยอมรับของคนในกระทรวง แรกเริ่มศาสราจารย์คอร์ราโดได้วางหลักสูตรอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรมซึ่งส่วนมาจบการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่างโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ซึ่งต่อมาบุคคลที่ผ่านการอบรมก็ได้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของกิจการงานปั้นหล่อของกรมศิลปากร ทำให้ทางราชการได้ขอให้ศาสตราจารย์คอร์ราโดวางหลักสูตรการศึกษารูปแบบเดียวกันกับสถาบันศิลปยุโรป



ศาสตราจารย์ศิลป์ในวัยหนุ่มศาสตราจารย์ศิลป์ขณะบรรยายเนื้อหาให้นักศึกษาคณะจิตรกรรมและประติมากรรม

คณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร

ศาสตรจารย์คอร์ราโดได้วางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรขึ้นพร้อมกับก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้น สังกัดกรมศิลปากร ภายหลังได้รวมโรงเรียนเข้ากับโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง” และพัฒนาการเรียนการสอนเรื่อยมา จนในปี พ.ศ. 2485 กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในขณะนั้นโดย พณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 โดยจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโดก็ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยควบคู่ไปกับตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนอีกด้วย

ชีวิตส่วนตัว รักความเรียบง่าย มีความตั้งใจจริงพัฒนาศิลปะไทย

แต่งงานครั้งแรกกับนางพาโอล่า แองเจลินี แต่ก็ได้ขอแยกทางตามคำสั่งศาลในหนึ่งปีให้หลัง จากนั้นท่านแต่งงานใหม่กับ แฟนนี วิเวียนนี มีบุตรสองคน บุตรสาวชื่อ อิซาเบลลา ส่วนบุตรชายชื่อ โรมาโน (เกิดและเติบโตที่ไทย) และได้แต่งงานใหม่กับนางมาลินี เคนนี่ในปีพ.ศ. 2502 แต่ไม่ได้มีบุตรด้วยกัน
ศาสตราจารย์ศิลป์ยังคงทุ่มเทเวลาและอุทิศชีวิตให้กับวงการศิลปะไทยเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2505 ซึ่งท่านได้ล้มป่วยลงจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก่อนที่จะถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวภายหลังการเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมสิริอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน
โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดเทพศิรินทราวาสเมื่อวันที่17 มกราคม พ.ศ. 2506 ซึ่งอัฐิถูกแยกไปสามส่วนด้วยกันคือที่สุสานชิมิเตโร เดญลี อัลลอรี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ส่วนที่สองถูกบรรจุในอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ณ ลานศาสตรจารย์ศิลป์ พีระศรี ในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และส่วนที่สามถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ในกรมศิลปากร ( พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2527 ในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 92 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย)
โดยตลอดชั่วชีวิตการทำงานกว่า 39 ปีในประเทศไทย ท่านได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระบรมราชนุสาวรีย์และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทยจำนวนมาก และยังรวมไปถึงการออกแบบพระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล ซึ่งศาสตรจารย์ศิลป์ได้ศึกษาพระพุทธรูปลีลาของศิลปะสุโขทัยอย่างลึกซึ้ง จนสามารถสร้างพระพุทธรูปลีลาที่มีการผสมผสานรูแปบบศิลปะสุโขทัยเข้ากับศิลปะไทยสมัยใหม่และมีความงดงามเป็นอย่างมากที่สุดองค์หนึ่งของไทย ผลงานของท่านยังคงปรากฏให้เห็นต่อสายตาชาวไทย เฉกเช่นเดียวกับคุณงามความดีของท่านที่ยังเป็นที่ระลึกถึงเสมอมา

ในมุมมองของลูกศิษย์ ศ.ศิลป์ ปรารถนาดีต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก

ศาสตราจารย์ศิลป์มีนิสัยรักธรรมชาติ ชอบความเรียบง่ายและหลงรักในวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยพัฒนาวงการศิลปะไทยให้ก้าวหน้า ในมุมมองของลูกศิษย์นั้น ศาสตราจารย์ศิลป์เป็นคนที่มีความรักใคร่ ห่วงใยละปรารถนาดีต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก ในเวลาสอนศาสตราจารย์ศิลป์จะจริงจังและเป็นคนที่มีความตรงต่อเวลา สอนด้วยความเข้มงวดและมักจะพร่ำสอนให้นักศึกษาทำงานหนักอยู่เป็นประจำ เพราะงานศิลปะที่ดีนั้นย่อมมาจากการฝึกฝนอย่างหนัก โดยท่านยังมีความเป็นกันเองกับนักศึกษา มักจะแทนตัวเองว่า “ฉัน” และแทนนักศึกษาว่า “นาย” เมื่อนักศึกษาคนไหนขาดแคลนทุนทรัพย์ท่านก็มักจะช่วยเหลือเสมอ ท่านยังโปรดปรานการฟังเพลงเป็นอย่างมาก โดยเพลงที่ท่านมักจะฮัมเวลาทำงานอยู่บ่อยๆก็คือเพลงซานตา ลูเชีย เพลงพื้นเมืองภาษาอิตาลีซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร



สุสานที่เมืองฟลอเรนซ์ บรรจุอัฐิของศาตรจารย์ศิลป์ บิดามารดา ภรรยาและลูกชาย

“นาย ถ้าฉันตาย นายนึกถึงฉัน นายรักฉัน นายไม่ต้องไปทำอะไร นายทำงาน”

ศาสตราจารย์ศิลป์เป็นคนที่ตั้งใจในการทำงานอย่างแท้จริง ท่านจะมาทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ ใช้เวลาพักผ่อนในช่วงกลางวันแค่สั้นๆ เพื่อที่จะไม่เป็นการเสียเวลาต่อการทำงาน และจะกลับบ้านก็ต่อเมื่อค่ำแล้วเท่านั้น โดยจะใช้เวลาไปกับการทำงานในห้องทำงาน สอนนักศึกษาและหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านจะพิมพ์คัดลอกเอกสารสำหรับสอนนักศึกษาไว้เพิ่มเติมอีกหนึ่งชุดเสมอเพื่อป้องกันความเสียหายจากระเบิด
หลังจากสงครามสิ้นสุดท่านจำต้องขายทั้งรถ บ้านและที่ดินเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินครอบครัว แต่ก็ยังปั่นจักรยานจากบ้านทางถนนสุขุมวิทมาสอนอยู่ทุกวัน เมื่อจำเป็นต้องเดินทางกลับอิตาลีเพราะวิกฤตทางการเงินแต่ท่านก็ยังห่วงงานที่ประเทศไทยที่ยังคงคั่งค้าง จึงจำเป็นต้องแยกทางกับครอบครัวเพื่อที่จะมาสานต่ออุดมการณ์ของท่านต่อ ในช่วงบั้นปลายแม้จะป่วยหนักแต่ศาสตราจารย์ศิลป์ก็ยังทำงานของท่านต่อ ท่านยังตรวจข้อสอบของนักศึกษาในขณะที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านได้บอกกล่าวกับลูกศิษย์ไว้ว่า
“นาย ถ้าฉันตาย นายนึกถึงฉัน นายรักฉัน นายไม่ต้องไปทำอะไร นายทำงาน”
ซึ่งเป็นคำสอนที่ลูกศิษย์ยึดถือไว้อีกประโยคหนึ่งเพื่อช่วยสืบต่ออุดมการณ์ของศาสตรจารย์ศิลป์ในการพัฒนาวงการศิลปะไทยต่อไปตราบนานเท่านาน

คุณูปการต่อศิลปะไทย

ศาสตราจารย์ศิลป์ได้รับมอบหมายให้สร้างพระบรมราชนุเสาวรีย์และอนุสาวรีย์สำคัญของไทยมากมายหลายแห่ง ซึ่งท่านได้ใช้ความรู้ในด้านศิลปะตะวันตกสร้างงานแต่ก็ยังมิได้ละทิ้งความงามของศิลปะไทยหรือที่เรียกกันว่า ศิลปะแบบไทยประเพณีไป ทั้งนี้เพราะท่านได้เล็งเห็นว่าศิลปะไทยก็มีความงามและเอกลักษณ์เป็นของตน อีกทั้งช่างไทยยังได้มีการสืบทอดความรู้วิชาในด้านศิลปะไทยมายอย่างยาวนาน การที่จะทำให้วงการศิลปะไทยก้าวหน้าก็ต้องไม่ลืมรากเหง้าเดิมของไทยที่มีมาแต่โบราณ ท่านจึงได้ทำการศึกษาศิลปะไทยอย่างละเอียดโดยเฉพาะการศึกษาพระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัยที่ท่านได้ยกย่องไว้ว่ามีความงดงามเป็นที่สุด ได้มีการศึกษารูปแบบศิลปะของพระพุทธรูปและมีบทความวิชาการตีพิมพ์ออกมามากมาย ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการออกแบบพระพุทธรูปพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของความงามของศิลปะไทย มีการนำความรู้ใหม่คือศิลปะตะวันตกในลัทธิสัจนิยมที่เชื่อในเรื่องของความสมจริงมาผนวกใช้กับความงามแบบดั้งเดิมของศิลปะสุโขทัย ที่สร้างแบบศิลปะไทยประเพณีจนก่อให้เกิดความงามรูปแบบใหม่ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นต้นแบบของศิลปะไทยสมัยใหม่อย่างแท้จริง เนื่องจากศาสตราจารย์ศิลป์ได้เป็นผู้วางรากฐานให้อย่างมั่นคง จึงส่งผลให้ศิลปินรุ่นหลังสามารถสืบทอดงานศิลปะไทยออกไปได้อย่างเต็มที่
ศาสตราจารย์ศิลป์ถือเป็นกำลังหลักในการผลักดันให้เกิดการประกวดวาดเส้น จิตรกรรมและประติมากรรม จนเกิดเป็นงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเกิดขึ้น มีจุดประสงค์ให้ศิลปินไทยเกิดการแข่งขันในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีออกสู่สาธารณชนและช่วยให้ศิลปะไทยมีความก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไม่มีหยุด และเล็งเห็นต่องานช่างและงานศิลปะไทยในสาขาอื่นๆจึงได้ส่งเสริมให้มีการก่อตั้งคณะในมหาวิทยาลัยศิลปากรเพิ่มคือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะโบราณคดี และคณะมัณฑนศิลป์ ด้วยคุณูประการนานัประการนี้ศาสตราจารย์ศิลป์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของศิลปะไทยสมัยใหม่ที่ได้พลิกโฉมรูปแบบศิลปะไทยแบบเดิมให้มีความก้าวหน้าไปอย่างสูงทัดเทียมสากล เกิดศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่สามารถสืบทอดงานศิลปะไทยต่อไปได้นานเท่านาน ไม่เพียงแต่งานด้านจิตรกรรม ประติมากรรมแต่ยังรวมไปถึงงานด้านสถาปัตยกรรม โบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ รวมไปถึงมัณฑนศิลป์อีกด้วย
ผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ พระบรมราชานุสาวรีย์และอนุสาวรีย์สำคัญ อาทิ
– อนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 เกาะเอลบา ประเทศอิตาลี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2465
– พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ประดิษฐานที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2472
– อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี นครราชสีมา สร้างเมื่อพ.ศ. 2477
– อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2482
– นางมีเซียม ยิบอินซอย (รูปเหมือนครึ่งตัว) – ทำจากบรอนซ์ ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลปแห่งชาติ
– พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (เฉพาะพระเศียร)
– พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช – ครึ่งพระองค์ ปั้นไม่เสร็จ เพราะศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน

กิจกรรมที่จัดในวันศิลป์ พีระศรี

ด้วยคุณูปการที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีมีให้ต่อประเทศไทย ทำให้มีการรำลึกถึงท่านทุกวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายเกิดของท่าน เรียกกันว่าวันศิลป์ พีระศรี โดยถือเป็นวันสำคัญของวงการศิลปะไทยและนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ในวันศิลป์ พีระศรีนั้น
– มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระจะจัดกิจกรรมขึ้นในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่าหรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน มีการวางดอกไม้เป็นการรำลึกถึงท่านที่ลานอนุสาวรีย์ที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ โดยนักศึกษาจะเปิดร้านขายของที่ระลึกและมีการแสดงดนตรีสดตลอดทั้งวัน
– นอกจากนั้นยังมีการเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความเคารพต่ออัฐิของท่านในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
– พิธีสำคัญจะเริ่มขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งทุ่มจะเป็นการจุดเทียนที่ลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์พร้อมไปกับการร้องเพลง Santa Lucia และ เพลงศิลปากรนิยมเพื่อเป็นการรำลึกถึงท่าน

บทความแนะนำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น