วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2562

12 คน มีใครบ้าง



"กลุ่มผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 12 คน ได้มีการพูดนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องต่อประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน" พล.ต. บุรินทร์ระบุในคำร้องทุกข์กล่าวโทษจึงขอให้ตำรวจดำเนินคดีทั้ง 12 คน ให้ได้รับโทษตามกฎหมายในความผิดฐาน "ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องต่อประชาชนฯ" ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 116

ฝ่ายค้านเพื่อประชาชนสัญจรภาคใต้Image copyrightเฟซบุ๊ก พรรคประชาชาติ
คำบรรยายภาพเวทีเสวนาหัวข้อ "พลวัติแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" ที่ จ.ปัตตานี เมื่อ 28 ก.ย. 2562

12 คน มีใครบ้าง
1. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อายุ 78 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
2. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 40 ปี หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
3. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคประชาชาติ
4. นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ
5. นายนิคม บุญวิเศษ อายุ 49 ปี หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย
6. นายมุข สุไลมาน อายุ 70 ปี กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ
7. พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร อายุ 64 ปี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
8. นายสมพงษ์ สระกวี อายุ 69 ปี อดีตสมาชิกวุฒิสภา และตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย
9. นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อายุ 47 ปี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
10. น.ส. อสมา มังกรชัย อายุ 45 ปี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
11. นายรักชาติ สุวรรณ อายุ 55 ปี เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
12. นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อายุ 48 ปี นักวิชาการอิสระ
ใคร-พูดอะไร
งานเสวนาหัวข้อ "พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" นั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม "ฝ่ายค้านเพื่อประชาชนสัญจรภาคใต้ พบประชาชนที่จังหวัดปัตตานี" ของ 7 พรรคฝ่ายค้านระหว่างวันที่ 27-28 ก.ย.
เฟซบุ๊กพรรคประชาชาติ รายงานเนื้อหาบางส่วนที่นายวันมูหะมัดนอร์ หัวหน้าพรรค กล่าวบนเวทีดังนี้
  • นายวันมูหะมัดนอร์ได้ก้มคารวะต่อชาวปัตตานีที่ได้ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นจำนวนสูงที่สุดในประเทศ รวมถึงชาวยะลาและนราธิวาสที่ไม่รับรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน วันนี้ปรากฏชัดว่าวิสัยทัศน์ของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว้างไกล เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่ามีปัญหา เรารู้ว่าเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหนและพยายามช่วยกันแก้ ส่วนตัวมองว่าทั้งรัฐธรรมนูญและ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีปัญหาพอกัน แต่ไม่รู้จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไล่ พล.อ. ประยุทธ์ ออกไปก่อนดี แต่ส่วนตัวอยากเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ลาออก เพราะเป็นคนแรกที่สร้างปัญหา ถ้ายังดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไป โอกาสการแก้ปัญหาของประเทศจะมืดมน โอกาสการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะลำบาก... ที่สำคัญถ้า พล.อ. ประยุทธ์ลาออก ส.ว.จะได้เลิกทำหน้าที่ทดแทนบุญคุณที่เลือกเขามา จะได้ใช้สติปัญญาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แก้ไขกฎหมายให้ประชาชนได้ประโยชน์

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทาImage copyrightเฟซบุ๊ก พรรคประชาชาติ
คำบรรยายภาพนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวชื่นชมชาวปัตตานีที่ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559

ขณะที่เฟซบุ๊กของนางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มก.ได้โพสต์ข้อความที่พูดบนเวทีเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ซึ่งบีบีซีไทยคัดมาบางส่วน ดังนี้
  • ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนบอกว่าสมควรเป็นวาระแห่งชาติ ทุกฝ่ายควรจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการแก้ไขปัญหา ดิฉันอยากเน้นย้ำว่าความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ผล ต้องไม่แยกออกจากประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เอื้อต่อการสร้างการมีส่วนร่วม การคุ้มครองเสรีภาพ การเปิดกว้าง และการแสดงจำนงทางการเมือง เพราะฉะนั้น ภายใต้ระบอบ คสช. 5 ปีที่ผ่านมา และระบอบประยุทธ์ในตอนนี้ ปัญหาชายแดนใต้ไม่มีทางที่จะดีขึ้น และภายใต้ รัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจระบอบเหล่านี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
นางชลิตาย้ำในช่วงท้ายว่า มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เพราะที่ผ่านมามีงานวิชาการหลายชิ้นที่บอกว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จริงแล้วเป็นปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยในแบบปัจจุบัน ที่ไม่สามารถเผชิญกับความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ได้ ดังนั้นจึงหวังว่าในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจะมีพื้นที่ที่สามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้ ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตราที่ 1 ด้วยก็ได้
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ระบุว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้"

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เวทีเสวนาที่แกนนำพรรคฝ่ายคัานและนักวิชาการ 12 คน โดน กอ.รมน. แจ้งความดำเนินคดีImage copyrightเฟซบุ๊ก พรรคประชาชาติ
คำบรรยายภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เวทีเสวนาที่แกนนำพรรคฝ่ายคัานและนักวิชาการ 12 คน โดน กอ.รมน. แจ้งความดำเนินคดี

พล.อ.ประวิตร : ดูแล้วว่าผิด แต่ยังไม่รู้ว่าผิดข้อหาอะไร
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่ กอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการในข้อหากระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 ว่าเป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมาย กอ.รมน.ภาค 4
"ก็แล้วเขาทำผิดหรือเปล่า...จะเดินทางไปไหนก็ไป ไปพูดที่ไหนก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ต้องดูที่คำพูด เพราะเขาพูดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอะไรนั่น" พล.อ. ประวิตรกล่าว
รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า แม้ข้อเสนอเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 จะเป็นข้อเสนอของนักวิชาการเพียงคนเดียวในเวทีเสวนา แต่ "ในเมื่อนั่งอยู่ด้วยกัน ก็ต้องคัดค้านกันสิ" และเมื่อพิจารณาในเบื้องต้นก็ดูแล้วว่าผิด แต่ยังไม่ทราบว่าผิดข้อหาอะไร
"วันนอร์" ลั่น "ฟ้องกลับแน่"
นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่าการอภิปรายในเวทีเสวนาเมื่อวันที่ 28 ก.ย. นั้นอยู่ภายใต้กฎหมายทุกประการ โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายใต้กรอบของกฎหมาย
"คดีนี้ไม่กระทบต่อการทำงานของฝ่ายค้าน เราจะเดินหน้าทำงานทั้งในสภาและนอกสภาต่อไปตามกฎหมาย ส่วนการฟ้องร้องก็ต้องดูข้อกล่าวหา ถ้าหากว่าการฟ้องร้องนั้นไม่ตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เราคงต้องดำเนินคดีฟ้องกลับ ตั้งแต่ผู้บังคับบัญชา ไปจนถึงผู้ที่มาแจ้งความ เพราะมาตรา 116 เป็นกฎหมายอาญาที่ว่ายุยงปลุกปั่นให้ใช้กำลังประทุษร้ายต่อรัฐบาลหรือเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งกิจกรรมในวันนั้นไม่มีอะไรที่สร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย"
"ผมคิดว่าเป็นการข่มขู่ของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการใช้อำนาจกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านมากกว่า" หัวหน้าพรรคประชาชาติระบุ ส่วนจะฟ้องกลับในข้อหาอะไรนั้น นายวันมูหะหมัดนอร์กล่าวว่า ต้องขอดูข้อกล่าวหาก่อน "แต่ผมรู้สึกว่าเขาดำเนินการในทางที่มิชอบ ผมต้องฟ้องกลับแน่นอน"

นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านและผู้ร่วมฟังเสวนาเมื่อวันที่ 28 ก.ย.Image copyrightเฟซบุ๊ก พรรคประชาชาติ
คำบรรยายภาพนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านและผู้ร่วมฟังเสวนาเมื่อวันที่ 28 ก.ย.

7 พรรคฝ่ายค้าน ชี้ กอ.รมน. หวังผลทางการเมืองปิดปากฝ่ายค้าน ย้ำไม่ต้องการแตะหมวด 1-2
ขณะเดียวกันแกนนำและตัวแทนจาก 7 พรรคฝ่ายค้าน ได้ประชุมหารือกันเมื่อ 4 ต.ค. ทันทีที่ทราบข่าวว่า กอ.รมน. ร้องทุกข์กล่าวโทษพวกเขา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานฝ่ายกฎหมายพรรค กล่าวว่าการจัดเวทีเสวนานี้ของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ จ.ปัตตานี ไม่เข้าข่ายมาตรา 116 เพราะเป็นเพียงการให้ข้อมูลทางวิชาการและใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านย้ำมาโดยตลอดว่า ไม่มีการแตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน จึงไม่เข้าข่ายตามมาตรา116 ที่ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย และเห็นว่า การดำเนินการของ กอ.รมน. เป็นการกระทำที่มุ่งหวังผลทางการเมืองเพื่อปิดปากนักการเมือง
เช่นเดียวกับนายอดิศร เพียงเกษ โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านเป็นการลงพื้นที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันจะไม่แตะต้องแก้ไขหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายอดิศร ระบุอีกว่า กอ.รมน. ไม่ควรหลงยุคว่าปัจจุบันยังปกครองโดย คสช. และขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน. ระงับการดำเนินคดีนี้
พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การดำเนินงานสร้างความมั่นคงควรใช้เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ไม่ควรให้ใช้อำนาจหน้าที่ไปละเมิดสิทธิของประชาชน เพราะสุดท้ายอาจจะเป็นเงื่อนไข ทำให้ผู้บังคับบัญชาเดือดร้อนเอง และหลังจากนี้ก็จะมีมาตรการดำเนินการกับบุคคลเหล่านี้
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า 7 พรรคฝ่ายค้านจะประสานนักวิชาการที่รณรงค์การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกกล่าวหา เพื่อดำเนินคดี ฐานแจ้งความเท็จ กับผู้แจ้งความและผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งจะดูว่ารวมไปถึงนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่
นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า ขณะนี้เราอยู่ในยุคของประชาธิปไตย แม้จะไม่เต็มใบก็ตาม แต่เรามาจากการเลือกตั้งของประชาชนดังนั้นการแจ้งความ กับส.ส 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้านเท่ากับเป็นการแจ้งความประชาชน ถ้าแน่จริงก็ควรไปแจ้งความ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ถวายสัตย์ไม่ครบ จะดีกว่า

ข้อมูล/ภาพ : BBC - Thai


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น