รายงานพิเศษ: ระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ไทยจะเสียมากกว่าได้?
หลายประเทศในเอเชียคาดหวังจะพัฒนาการเดินทางข้ามแดนผ่านแม่น้ำโขง
ในส่วนของไทย โครงการขยายร่องน้ำโขง ที่ถูกระงับไปในสมัยของ รัฐบาลทักษิณ
ชินวัตร กำลังฟื้นชีวิตอีกครั้ง หลัง ครม. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559
ให้พิจารณาแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง
ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากจีนมาถึงไทย และเชื่อมต่อไปยังประเทศลาว
มติ
ครม.ดังกล่าวทำให้เกิดเสียงคัดค้านในหลายภาคส่วน
ซึ่งเกรงว่าการปรับปรุงร่องน้ำ อาจนำไปสู่
การระเบิดเกาะแก่งและดอนทรายในแม่น้ำโขง
ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล
นำโดยกรมเจ้าท่าและผู้ว่าการจังหวัดเชียงรายชี้แจงว่า มติ ครม.นี้
ไม่มีข้อตกลงใด ที่เกี่ยวกับการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงในไทย
แต่จะเป็นการสำรวจร่องน้ำในแม่น้ำโขงจาก
จ.เชียงรายถึงแขวงหลวงพระบางในประเทศลาว คิดเป็นระยะทางราว 374 กิโลเมตร
ส่วนนักวิชาการในภาคเหนือบางส่วนเตือนว่า แผนพัฒนาทางเดินเรือ ในแม่น้ำโขง
อาจเปิดทางให้จีนขยายอิทธิพลในภูมิภาคได้'หินโสโครก' หรือ 'องค์ประกอบระบบนิเวศ'
คอนผีหลวง หรือ คอนผีหลง ตามคำเรียกของคนในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อยู่ติดกับชายแดนไทย-ลาว เป็นกลุ่มเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่รองรับเรือจีน ที่ออกจากมณฑลยูนนานมายังไทย และเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งถูกรวมไว้ว่า จะต้องถูกปรับปรุงตามแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ตั้งแต่สมัย สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และปิดโครงการระยะแรกไปในปี 2548 แต่รัฐบาลปัจจุบันรื้อฟื้นขึ้นมาสำรวจใหม่นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ระบุว่าโครงการปรับปรุงร่องน้ำโขงในระยะแรกเกิดขึ้นช่วงปี 2543-2548 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และมีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงไปแล้ว 10 จุดบริเวณชายแดนจีน-เมียนมา และเมียนมา-ลาว เหลือแต่ คอนผีหลง ซึ่งยังไม่ถูกระเบิด เพราะประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย
Image copyright
Wasawat Lukharang/BBC Thai
ผู้ประสานงานสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ระบุว่า ประมาณต้นเดือน ธ.ค.2559 มีตัวแทนจากบริษัทด้านวิศวกรรมของจีนเข้าพบเครือข่ายประชาชนที่คัดค้านการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง โดยให้เหตุผลว่าต้องการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ และหลังจากนั้นไม่นาน ครม.ของไทยก็มีมติในวันที่ 27 ธ.ค. เห็นชอบการสำรวจร่องน้ำตามแผนพัฒนาการเดินเรือแม่น้ำล้านช้าง หรือแม่น้ำโขงตอนบนซึ่งอยู่ในมณฑลยูนนานของจีน จนถึงแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านไทยและลาว
นายสมเกียรติตั้งข้อสังเกตว่าคณะสำรวจของรัฐบาลจีนได้เผยแพร่รายงานข้อปฏิบัติในการเดินเรือและสิทธิของเรือจีนที่จะแล่นผ่านแม่น้ำไทย ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านฝั่งไทยไม่มีสิทธิขึ้นไปตรวจสอบ ทั้งยังมีการนิยามเกาะแก่งในแม่น้ำโขงว่าเป็น "หินโสโครก" แต่ชาวบ้านในพื้นที่มองว่าเกาะแก่งต่างๆ คือความซับซ้อนทางภูมิศาสตร์ และเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญ เป็นทั้งแหล่งหาปลาและพื้นที่วางไข่ของนกสายพันธุ์ต่างๆ ขณะที่การปรับปรุงร่องน้ำอาจส่งผลให้กระแสน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงจนกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งจะส่งผลเรื่องเขตแดนระหว่างไทย-ลาวด้วย
"คนในพื้นที่อยากให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม.วันที่ 27 ธันวาคม และขอให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสียก่อนว่ามีความสมเหตุสมผลที่จะดำเนินการหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ระบุว่าเรื่องที่จะส่งผลกระทบใหญ่ๆ หรือส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลง ของประเทศในด้านความมั่นคงจะต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ไม่ใช่แค่กลุ่มคนกลุ่มเดียว"
เหตุที่ต้องอ้างอิง รธน ปี 2540 ที่ถูกฉีกทิ้งไปในการรัฐประหารเมื่อ 2549 เพราะ รธน.2557 กับฉบับที่ผ่านประชามติไม่มีการระบุถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชน จึงพยายามเรียกร้องให้กลับไปยึดตาม รธน. 2540
Image copyright
Wasawat Lukharang/BBC Thai
"ขยายการลงทุน - สิทธิสภาพนอกอาณาเขต?"
กลุ่มนักวิชาการภาคเหนือเป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่สะท้อนมุมมองต่อแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ โดย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ แห่ง ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า การระเบิดแก่งไม่ใช่กระทบแค่ไทย แต่กระทบถึงลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม เพราะทรัพยากรในแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรส่วนรวม หรือ common space ซึ่งประชากรในลุ่มน้ำโขงมีสิทธิในการเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมใช้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีประเทศหรือการสถาปนารัฐชาติ และประชากรในกัมพูชาและเวียดนามอาศัยปลาแม่น้ำโขงเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญนอกจากนี้ ดร.ชยันต์ ได้ยกตัวอย่างกรณีภาคเอกชนของจีนขยายการลงทุนมายังประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีทั้งการปลูกยางพารา เปิดคาสิโน ลงทุนเพื่อพัฒนาการขนส่ง เช่าสัมปทานที่ดินในการปลูกผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเขาเรียกว่า "การขยายอิทธิพลของจีน" พร้อมยกตัวอย่างการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปีในลาว ที่ทำให้จีนได้อธิปไตยเหนือ ดินแดนดังกล่าว เป็นระยะเวลานาน เทียบได้กับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในยุคอาณานิคม
"ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการใช้แม่น้ำโขง ถ้าคนไทยไม่ได้สะท้อนความเห็น ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาแบบครอบคลุม เพราะถ้าเลือกพัฒนาแต่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ประชาชนจะอยู่ได้อย่างไร"
Image copyright
Wasawat Lukharang/BBC Thai
ขณะที่ ผศ.ดร.รณิดา ปิงเมือง สำนักวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ผู้เคยทำวิจัยและสำรวจความคิดเห็นประชาชน ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อปี 2546 กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ 3 อำเภอ จ.เชียงราย ได้แก่ อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจความเห็นในครั้งนั้น ไม่เห็นด้วยกับโครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงและแผนพัฒนาการเดินเรือฯ
"ผลสรุปของรัฐบาลยุคนั้น ระบุว่าถ้ามีการระเบิดเกาะแก่งเพื่อปรับปรุงแม่น้ำโขงบริเวณไทย-ลาวจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเรื่องเขตแดน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ทางด้านความมั่นคง ทำให้โครงการดังกล่าวถูกชะลอไป และตอนนั้นมีหน่วยงานเอกชนจีนที่เป็นผู้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เอาไว้แล้ว แต่เป็นการศึกษาที่ค่อนข้างรวบรัด ไม่ครบ 1 ปี ถ้าหากรัฐบาลชุดนี้จะพิจารณาโครงการใหม่ก็ควรต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกครั้งหนึ่งให้รอบด้านกว่าเดิม"
Image copyright
Wasawat Lukharang/BBC Thai
"ปรับปรุงร่องแม่น้ำโขง-ใครได้ประโยชน์?"
แม้จะเผชิญกับเสียงคัดค้านจากประชาชนส่วนหนึ่งในพื้นที่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทรวงคมนาคมของไทยได้ร่วมลงนามกับรัฐบาลลาว เมียนมา และจีน ยอมรับความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.2543 โดยมีวัตถุประสงค์ให้การเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง "เป็นไปโดยเสรี สะดวก ปลอดภัยและมีระเบียบ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการค้าขายระหว่างกัน" ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลชุดปัจจุบันนำมาสนับสนุนการสำรวจร่องน้ำและแผนพัฒนาการเดินเรือในแม่น้ำโขงครั้งใหม่นายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจการค้าบริเวณชายแดนไทย-จีน "มีความคืบหน้าอย่างมาก" ในแง่ของความร่วมมือด้านต่างๆ รวมถึงการเดินเรือท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน แต่หากพูดถึงการแข่งขันทางการค้า พบว่ายังมีฝ่ายได้เปรียบและเสียเปรียบที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
Image copyright
Wasawat Lukharang/BBC Thai
ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 กล่าวว่า เวลาที่จีนต้องการล่องเรือบรรทุกสินค้าเข้ามายังฝั่งไทยหรือลาว จะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ซึ่งสร้างในแม่น้ำโขงตอนบน แม้บางครั้งจะมีการประสานงานกับหน่วยงานราชการไทย เพื่อให้แจ้งต่อประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ แต่หลายครั้งก็ไม่มีการแจ้งเตือน และหากเรือไทยจะขึ้นไปให้ถึงจีนจะต้องขอให้มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนจีนจึงจะไปได้
"ถ้ามีการประสานงานตามเวลาที่กำหนดให้ชัดเจน มีการระบุตารางเวลาที่จะปล่อยน้ำหรือกั้นน้ำในเขื่อนจีน ก็จะช่วยเรื่องธุรกิจการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น ไม่ใช่เรือจะมาถึงเชียงแสน แล้วค่อยแจ้ง"
เมื่อบีบีซีไทยสอบถามว่าหากมีความจำเป็นต้องระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อปรับปรุงร่องน้ำให้เรือขนาดใหญ่หนัก 500 ตันแล่นผ่านแม่น้ำโขงตามความตกลงระหว่างรัฐบาลเมื่อปี 2543 จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อธุรกิจการค้าชายแดน นายวิรุณระบุว่า การระเบิดเกาะแก่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งไทยและลาว เพราะอาจทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องสูญเสียชายฝั่งและมีปัญหาเรื่องความงามของเกาะแก่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
"ที่ผ่านมามีการนำนักท่องเที่ยวล่องเรือชมเกาะแก่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการใช้เรือขนาดเล็กที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ ไม่ได้ใช้เรือขนาดใหญ่ที่ไม่เหมาะกับพื้นที่ คนเชียงรายส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยสบายใจที่จะมีการพิจารณาแผนระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เพราะมีผลกระทบ การที่ภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคมออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้"
ข้อมูลจาก : BBC
edit : suriya mardeegun
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น