วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

10 สุดยอดการค้นพบแห่งปี 2016

10 สุดยอดการค้นพบแห่งปี 2016

นักโบราณคดีและนักวิจัยทั่วโลกต่างทำงานหนักเพื่อขุดค้นหลักฐานใหม่ๆ ที่ทำให้เราทราบความเป็นไปต่างๆ ของมนุษยชาติ ขณะเดียวกันก็หาคำอธิบายหรือการตีความให้กับหลักฐานที่แม้จะมีการค้นพบนานแล้ว แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็อาจให้คำอธิบายที่ดีขึ้นได้เช่นกัน

ตลอดปี ค.ศ.2016 ที่ผ่านมา มีหลักฐานทางโบราณคดีทั้งที่ค้นพบใหม่ รวมถึงคำอธิบายใหม่ที่มีให้กับเรื่องราวหรือหลักฐานที่ค้นพบมาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งนิตยสาร Archeology ของสถาบันโบราณคดีแห่งอเมริกา รวบรวมไว้เป็น 10 สุดยอดการค้นพบแห่งปี Gypzyworld จึงเรียบเรียงมาฝากกัน

10. แผ่นขี้ผึ้งแห่งลอนดอน

แผ่นไม้ศตวรรษที่ 1 ซึ่งขุดพบในลอนดอน กล่าวถึงสถานที่ดังกล่าวว่า “โลนดินิอุม”

แผ่นไม้กว่า 400 ชิ้นที่นักโบราณคดีจากพิพิธภัณฑ์โบราณคดีลอนดอน (MOLA) ขุดได้จากสถานที่ก่อสร้างที่ทำการบริษัทบลูมเบอรีภาคพื้นยุโรป เป็นแผ่นไม้ที่ครั้งหนึ่งเคยรอง "แผ่นขี้ผึ้ง" ซึ่งเป็นวัสดุรองรับการเขียนสมัยโรมันซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอังกฤษเมื่อราว ค.ศ.​50

เรื่องราวที่บันทึกไว้แสดงถึงวิถีชีวิต การทำงาน การค้าขาย และการบริหาร "เมืองใหม่" ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และกฎระเบียบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาและข้อตกลงทางกฎหมาย รวมไปถึงแบบฝึกหัดของนักเรียน

9. นครเขมรโบราณ

ภาพจากเทคโนโลยีเลเซอร์ทางอากาศ เผยให้เห็นผังเมืองโบราณของอาณาจักรเขมร 

นักวิจัยในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา (เมืองเสียมเรียบ)ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ทางอากาศ (Lidar) ที่เผยให้เห็นเมืองโบราณอายุหลายร้อยปี (กำหนดอายุราวศตวรรษที่ 11-12) ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในจักรวรรดิเขมรอันกว้างใหญ่

นักโบราณคดีใช้เวลานับสิบปีเพื่อค้นหาแหล่งเศรษฐกิจสำคัญทางตะวันออกของเมืองพระนคร (นครวัด) คือ เมืองพระขรรค์แห่งกำปงสวาย จนเมื่อมีเทคโนโลยีเลเซอร์ทางอากาศ จึงเผยให้เห็นซากเมืองขนาด 3x3 ไมล์ที่ปกคลุมด้วยป่าทึบ ขนาดดังกล่าวถือว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

8. หลุมศพหมู่แห่งเอเธนส์

ศพผู้ชาย 80 ศพในสภาพถูกมัดมือไว้ด้วยกันในหลุมศพที่ป่าช้าใกล้กรุงเอเธนส์ 

ช่วงปลายศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช เป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายที่สุดในประวัติศาสตร์เอเธนส์ แม้ครั้งหนึ่งจะเคยปกครองในระบอบกษัตริย์ แต่ต่อมาก็ต้องเปิดทางให้ "อภิชน" (aristocrats) ก้าวขึ้นมามีอำนาจจากการครอบครองที่ดิน แล้วบรรยากาศทางการเมืองก็เปลี่ยนไปสู่ระบอบเผด็จการที่อำนาจอยู่ที่คนผู้เดียว หรือ “ทรราชย์” (tyrant) หลุมศพที่พบบริเวณชานเมืองเอเธนส์เป็นหลักฐานสำคัญของยุคสมัยดังกล่าว

ที่แหล่งขุดค้นป่าช้าดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฟาเลรอน พบโครงกระดูกมนุษย์ 80 ศพ ในสภาพมัดโยงข้อมือเข้าด้วยกันในหลุมศพขนาดใหญ่ การศึกษาพบว่าอายุเฉลี่ยของศพเหล่านี้อยู่ระหว่าง 20-30 ปี มี 4 ศพที่อายุน้อยกว่านั้น แต่ทั้ง 80 ศพตายในลักษณะเดียวกันคือ ถูกตีอย่างแรงที่ศีรษะ ภาชนะดินเผาเล็กๆ 2 ใบที่พบในหลุมศพทำให้นักโบราณคดีกำหนดอายุหลุมศพได้ในราวกลางศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช และสันนิษฐานว่าคนเหล่านี้เสียชีวิตจากการแก่งแย่งอำนาจทางการเมือง

7. ชุดเก่าที่สุดในโลก

ชุดเก่าแก่ที่สุดในโลก พบในอียิปต์ อายุอย่างน้อย 5,100 ปีมาแล้ว 

แทบเป็นไปไม่ได้ที่เสื้อผ้าซึ่งสวมใส่เมื่อหลายพันปีก่อนจะหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน แต่ "ชุดตาร์คัน" (Tarkhan Dress) ที่ตั้งตามชื่อมาจากเมืองในอียิปต์ที่ค้นพบตั้งแต่ ค.ศ.1913 ยังคงอยู่ และใน ค.ศ.2016 ก็ได้รับการกำหนดอายุแน่นอนด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในเวลานี้

นักวิจัยพบว่าชุดดังกล่าวตัดเย็บจากผ้าลินินเนื้อละเอียด มีอายุระหว่าง 3,482-3,103 ปีก่อนคริสต์ศักราช ทำให้กลายเป็นเครื่องนุ่มห่มจากการทอเก่าแก่ที่สุดในโลก

6. ถ้ำยุคแรกของมนุษย์

วงปริศนาของมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลภายในถ้ำที่ฝรั่งเศส 

ลึกเข้าไป 1/5 ไมล์ในถ้ำบรูนิเคล (Bruniquel) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส มีหินงอกวางไว้เป็นรูปวงแหวนหลายแห่ง การทดสอบอายุของกระดูกหมีที่ถูกเผาซึ่งพบในถ้ำดังกล่าวกำหนดอายุได้ราว 47,000 ปีมาแล้ว แต่การทดสอบล่าสุดโดยใช้เทคโนโลยียูเรเนียม-ธอเรียมจากหินงอกเหล่านั้น ทำให้กำหนดอายุได้ใหม่ราว 176,000 ปีมาแล้ว และเนื่องจากมีเพียงมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ นักวิจัยจึงสรุปได้ว่านี่คือผลงานของมนุษย์กลุ่มดังกล่าว กระนั้นก็ยังคงเป็นสงสัยกันอยู่ว่า นอกจากการแสดงความร่วมไม้ร่วมมือในแง่ความเป็นกลุ่มก้อนแล้ว มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลเข้ามาทำวงปริศนาภายในถ้ำลึกขนาดนี้เพื่ออะไร

5. หญิงเปรู

ศพหญิงในเปรูอายุราว 4,600 ปีมาแล้ว ที่มาของภาพ
เครื่องประดับทำจากกระดูกเป็นรูปลิงอะเมซอนที่พบในศพหญิงเปรู 


บทบาทของผู้หญิงในวัฒนธรรมโบราณได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฟาโรห์หญิงแห่งอียิปต์ ไปจนถึงภรรยาเหล่าไวกิ้งในยุโรปเหนือ เช่นเดียวกับการที่นักโบราณคดีในเปรูพบว่าที่แหล่งขุดค้นแอสเปโร (Áspero) มีโครงกระดูกผู้หญิงที่ตกแต่งด้วยเปลือกหอยในตระกูลสปอนไดลัส (Spondylus) ที่มาจากแหล่งที่อยู่ห่างไปหลายร้อยไมล์ทางตอนเหนือของเปรู และเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในวัฒนธรรมแถบเทือกเขาแอนดีสอยู่หลายศตวรรษ

การศึกษาพบว่าหญิงดังกล่าวตายขณะอายุราว 45 ปี เสื้อผ้าที่สวมใส่ประดับด้วยกระดูกที่แกะสลักเป็นรูปนกทะเลและลิงอะเมซอนซึ่งเป็นเครื่องแสดงสถานะในสังคม ส่ิงที่น่าแปลกใจคือหลุมศพดังกล่าวกำหนดอายุได้ 4,600 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งเกิดสังคมที่ดำรงชีพด้วยการหาปลาและการเพาะปลูกขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเลของเปรู นอกจากนี้ยังพบรูปสลักผู้หญิงรูปเล็กๆ จากช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งช่วยยืนยันว่าผู้หญิงมีฐานะสำคัญในสังคม

4. กระโหลกแห่งตูร์กานา

กระโหลกใบหนึ่งที่พบในการสังหารหมู่ริมทะเลสาบตูร์กานา 
พบโครงกระดูก 27 ศพ อายุราว 10,000 ปี ในพื้นที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นริมทะเลสาบตูร์กานา (Turkana) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเคนยา โครงกระดูกเหล่านี้แสดงการฆ่าอย่างทารุณ กระดูกของผู้ใหญ่ 21 คน และเด็ก 6 คน มีอาการบาดเจ็บสาหัสจากลูกศรและกระบอง อาวุธที่พบในแหล่งขุดค้นทำมาจากหินออบสิเดียนจากพื้นที่ห่างไกล แสดงว่าผู้โจมตีไม่ใช่คนในพื้นที่

นักวิจัยสันนิษฐานว่าการสังหารดังกล่าวเกิดจากการแย่งชิงพื้นที่ล่าสัตว์หรือหาอาหารในบริเวณริมชายฝั่งทะเลสาบซึ่งรายล้อมไปด้วยภูเขาและป่าไม้อันเป็นที่ที่สัตว์ต่างๆ มากินอาหารและน้ำ

3. จุดบรรจบสองวัฒนธรรม

ภาพเทพตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทโน (ภาพบน) และเครื่องหมายของศาสนาคริสต์ (ภาพล่าง) พบในถ้ำบนเกาะโมนา 

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ชนพื้นเมืองเผ่าไทโน (Taino) ในเกาะโมนา บนชายฝั่งตะวันตกของเปอร์โต ริโก ทำเครื่องหมายเซมี (cemies) หรือเครื่องหมายเทพไว้บนผนังถ้ำหินปูนจำนวนมาก ขณะเดียวกันนักโบราณคดีก็พบว่านอกจากเครื่องหมายโบราณแล้ว ยังมีเครื่องหมายที่ชาวสเปนในศตวรรษที่ 16 ทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นรูปไม้กางเขน ข้อความภาษาละตินจากพระคัมภีร์ไบเบิล หรือแม้แต่ลายเซ็นบุคคล อาทิ ข้าราชการสเปนคนหนึ่ง ชื่อว่า ฟรานซิสโก อาเลเกร ที่ครั้งหนึ่งเคยตัดสินคดีความบนเกาะโมนา

นักวิจัยชี้ว่าเครื่องหมายของชาวสเปนถึงจะอยู่ใกล้เครื่องหมายชนพื้นเมือง แต่ไม่ทับกัน แสดงว่าชาวสเปนระมัดระวังไม่ทำลายศิลปะผนังถ้ำของชาวไทโน ขณะเดียวกันก็มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นผลงานของชาวไทโนที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ก็เป็นได้

2. มนุษย์แอนติไคธีรา

นักโบราณคดีใต้น้ำกำลังสำรวจโครงกระดูกมนุษย์ที่พบเป็นครั้งแรกนับแต่มีการขุดค้นแหล่งเรืออับปางแห่งนี้เมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว 

แหล่งเรืออับปางแอนติไคธีรา (อายุราว 65 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นแหล่งเรืออับปางที่มีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุด ค้นพบเมื่อปี 1990 นอกชายฝั่งแอนติไคธีราของกรีซ มีทั้งสมบัติต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสัมฤทธิ์และรูปสลักหิน  รวมไปถึงเครื่องคำนวณโบราณที่เรียกว่า เครื่องกลแห่งแอนติไคธีรา ซึ่งเชื่อกันว่าทำหน้าที่เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์โบราณ

ค.ศ.​2016 มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ทั้งกระโหลก ขากรรไกร ฟัน ซี่โครง และกระดูกแขน-ขา เชื่อกันว่าน่าจะเป็นคนหนุ่ม และยังพบโครงกระดูกอีก 4 โครงในแหล่งเดียวกัน และเป็นครั้งแรกที่จะนำไปสู่การศึกษา DNA ของโครงกระดูกจากแหล่งเรืออับปาง ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับบรรพบุรุษและแหล่งกำเนิดของลูกเรือได้

1. ตะแลงแกงที่ซาเล็ม


ที่มาของภาพ
เนินหินที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นจุดที่มีการแขวนคอคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด ในเมืองซาเล็ม รัฐแมสซาชูเซตส์ 


หลักฐานนับพันชิ้นและข้อมูลประวัติศาสตร์ร่วมสมัยจำนวนมากเกี่ยวกับเหตุการณ์การสอบสวนแม่มดซาเล็ม (Salem witch trials) ระหว่าง ค.ศ.1692-1693 แต่กลับไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับการแขวนคอคน 19 คน และไม่มีหลักฐานใดเลยที่กล่าวว่าคนเหล่านั้นถูกแขวนคนที่ใด

เชื่อกันมานานแล้วว่าน่าจะเป็นที่ใดที่หนึ่งใกล้ๆ กับเนินตะแลงแกง (Gallows Hill) ที่ถูกลืมไปแล้วในต้นศตวรรษที่ 19 ขณะเดียวกันซิดนีย์ เพอร์ลีย์ นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 สันนิษฐานว่าน่าจะแขวนคอที่หน้าผาใกล้ๆ เนินตะแลงแกงนั่นเอง

ค.ศ.2016 นักวิจัยใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยยืนยันข้อสันนิษฐานของเพอร์ลีย์ ซึ่งจากการศึกษาทางธรณีฟิสิกส์ไม่พบศพมนุษย์หรือหลักฐานของการแขวนคอที่แหล่งดังกล่าว ซึ่งตรงกับตำนานท้องถิ่นที่บอกว่า ครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายจะลอบเข้ามานำศพไปฝังไว้ในสุสานของครอบครัวในเวลากลางคื

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น