วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

"เฮียงเฮียงกงจู้" ตำนานรัก ตำนานแค้นอุยกูร์

"เฮียงเฮียงกงจู้" ตำนานรัก ตำนานแค้นอุยกูร์

เรื่องอุยกูร์-ตุรกี-จีน เป็นอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมาก เพราะเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและศาสนา เสี่ยงที่จะกระทบต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อุยกูร์และรัฐบาลกลางของจีนมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะกลมเกลียวกันนัก อุยกูร์ชอบที่จะนับญาติกับตุรกีมากกว่า เพราะเป็นชาวเติร์กด้วยกัน

ความขัดแย้งระหว่างอุยกูร์กับรัฐบาลกลางนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน นับแต่สมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งไม่ใช่
ชาวฮั่น แต่เป็นชาวแมนจู ทว่าอุยกูร์ก็ไม่อยากจะคบค้าสมาคมและยอมอยู่ใต้อำนาจเช่นกัน

ตำนานเรื่อง "เฮียงเฮียงกงจู้" น่าจะสะท้อนความสัมพันธ์ที่อิหลักอิเหลื่อได้ดีที่สุด ตำนานานของฝ่ายจงหยวนเล่าว่า เฮียงเฮียงกงจู้ หรือ เฮียงฮุย (เซียงเฟย) เป็นสตรีในตำนานสมัยราชวงศ์ชิง นางเป็นชาวอุยกูร์ที่เฉียนหลงฮ่องเต้รับมาเป็นสนม แล้วตั้งให้เป็น เซียงเฟย หรือ พระสนมกลิ่นระรวย เพราะว่ากันว่านางมีกลิ่นกายที่หอมรื่นชื่นใจ เฉียนหลงหลงใหลพระสนมเป็นอันมาก จัดแต่งพระตำหนักให้มีบรรยากาศแบบซินเจียง มีมัสยิด มีตลาดคาราวานเพื่อไม่ให้นางคิดถึงบ้านเกิด กระทั่งนางยอมเป็นของพระองค์โดยยินยอมพร้อมใจ หลังจากที่เฉียนหลงสั่งให้นำต้นพุทราทะเลทรายจากซินเจียงมาปลูกที่ปักกิ่ง ว่ากันว่า พระสนมจะใช้ดอกพุทรามาเหน็บไว้ที่ผม ทำให้มีกลิ่นหอมจนกลายเป็นตำนานเล่าขาน


พระสนมเซียงเฟย หรือ เฮียงเฮียงกงจู้ วาดโดย หลางซื่อหนิง (郎世宁) หรือ จูเซปเป กัสติลโญเน บาทหลวงชาวอิตาเลียนและจิตรกรในราชสำนักจีน ที่มาของภาพ

ตำนานของซินเจียงเล่าว่า เฉียนหลงรุกรานเซินเจียง เฮียงเฮียงกงจู้ออกรบต่อต้านทัพต้าชิง แต่พ่ายแพ้ นางถูกบังคับให้เป็นสนมของเฉียนหลง แต่ไม่ยินยอม ทั้งยังพกดาบสั้นไว้ในชายเสื้อเพื่อลอบปลงพระชนม์ แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกไทเฮาพระราชทานความตายให้ (บางตำนานว่า ไทเฮาไม่สบอารมณ์ที่พระโอรสเอาใจนางเกินไป จึงพระราชทานความตายให้)

ตำนานของชาวซินเจียงฟังดูดุดัน แต่คนท้องถิ่นชอบมาก หากเล่าตำนานแนวโรแมนติกจะไม่ค่อยพอใจ เพราะเท่ากับสยบต่ออำนาจจีน แม้แต่กิมย้งน่าจะชอบ เพราะนำไปขยายความต่อในนิยาย เพราะดูท่าจะมันหยดกว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ

เฮียงเฮียงกงจู้ หรือ ฟาติลี เป็นตัวละครเอกในนิยายเรื่อง "จอมใจจอมยุทธ์" หรือ "ตำนานอักษรกระบี่" เป็นผลงานชิ้นแรกๆ ของกิมย้ง เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ ความรักชาติ และความ "ต่างชาติ" เรื่องนี้เขียนอิงจากตำนานที่เล่าว่า ฮ่องเต้เฉียนหลงไม่ใช่แมนจู แต่เป็นชาวฮั่นถูกสลับตัวตอนประสูติ ที่จริงแล้วเป็นลูกของขุนนางแซ่ตั้ง ต่อเมื่อเป็นฮ่องเต้พบความจริงว่า ตัวเองเป็นชาวฮั่น แถมยังมีพี่ชายเป็นหัวหน้าพรรคดอกไม้แดง คือ ตั้งแกลก จึงต้องตามน้ำรับคำพี่ชายให้ช่วยพรรคดอกไม้แดงโค่นชิงฟื้นหมิงแบบเสียไม่ได้


สุสาน อาปาเหอเจีย (阿巴和加麻札) หรือ Afaq Khoja Mausoleum ที่เมืองคัชการ์ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ที่เชื่อกันว่า เป็นสุสานของเฮียงเฮียงกงจู้ ที่มาของภาพ

นอกจากเรื่องวุ่นๆ ระหว่างฮั่นและแมนจูแล้ว ยังไปพัวพันกับชาวอุยกูร์อีก เพราะเฉียนหลงดันสั่งกองทัพรุกรานซินเจียง หารู้ไม่ว่าพี่ชายคือ "ตั้งแกลก" มีมิตรสหายเป็นชาวอุยกูร์แถมสาวอุยกูร์ที่ชื่อ
"ฮาซิลโซม" พี่สาวกับ "ฟาติลี" น้องสาวยังหลงรัก "ตั้งแกลก" อีก

ฟาติลีมีความงามหยดย้อยมาก เมื่อกองทัพต้าชิงมาประจันอุยกูร์ นางขี่ม้าผ่านไป ทั้งกองทัพต้าชิงถึงกับตะลึงงันทำอะไรไม่เป็นเลยทีเดียว

แต่สุดท้ายเฉียนหลงเอาชนะอุยกูร์ได้ แต่สร้างความบาดหมางครั้งใหญ่ มิหนำซ้ำยังตกหลุมรักฟาติลี จึงลักพาตัวนางพาไปเป็นสนมที่ปักกิ่ง ทั้งที่นางหลงรัก "ตั้งแกลก" นางจึงไม่ยินยอมท่าเดียว

เดชะบุญที่ตั้งแกลก ลักลอบเข้าวังเพื่อย้ำเตือนให้ฮ่องเต้น้องชายรีบล้มแมนจูฟื้นแผ่นดินฮั่น จึงพยายามเกลี้ยกล่อมให้ฟาติลียอมเป็นของเฉียนหลง นางก็ยอมโดยดีเพราะคำของชายที่นางรัก ได้ตำแหน่งเป็น "เฮียงฮุย" (เซียงเฟย) หรือ สนมกลิ่นสุคนธ์ เพราะนางทั้งงาม ทั้งผิวกายหอมระรื่น แต่แล้วฟาติลีล่วงรู้ว่า เฉียนหลงคิดจะทรยศพรรคกดอกไม้แดงกับเชื้อชาติตัวเอง นางจึงฆ่าตัวตายเพื่อบอกให้ตั้งแกลกล่วงรู้ความจริง เรื่องราวจะจบลงอย่างไรนั้น ต้องติดตามอ่านใน "ตำนานอักษรกระบี่" กันต่อไป

แน่นอนว่า "ฟาติลี" ในนิยายไม่มีตัวตนจริง ส่วนกิมย้งก็เชื่อว่า นางไม่มีตัวจริงๆ ในประวัติศาสตร์ หากแต่นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่า เซียงเฟย น่าจะเป็นพระสนมองค์หนึ่งของเฉียนหลง
พระนามว่า อิปาเอ่อร์ฮาน มีพระยศว่า "หรงเฟย" ซึ่งมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นชาวอุยกูร์ เป็นธิดาของผู้นำท้องถิ่นที่ช่วยกองทัพต้าชิงปราบปรามซินเจียง ปัจจุบันยังมีภาพที่เชื่อว่า พระสนมสวมเกราะแบบฝรั่ง
คาดว่าวาดโดย
จูเซปเป กัสติลโญเน บาทหลวงชาวอิตาเลียนและจิตรกรในราชสำนักจีน ยังมีภาพอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่คาดว่าเป็น หรงเฟย แต่ยืนยันไม่ได้ทั้งนั้นว่าเป็นของจริงหรือไม่... อีกทั้งหรงเฟยยังมีกลิ่นกายหอมระรื่นเหมือนในตำนานหรือไม่นั้น ก็ยังยากจะทราบโดยแท้


สุสานของพระสนมหรงเฟย (容妃) ตั้งอยู่ที่สุสานหลวงชิงตงหลิง (清东陵) สุสานหลวงฟากตะวันออกของราชวงศ์ชิง ที่มาของภาพ

ที่แน่ๆ ชาวอุยกูร์ในซินเจียงไม่ชอบตำนานแนวโรแมนติกที่หญิงชาวอุยกูร์ตกเป็นของชาวจงหยวน แต่พวกเขาชอบตำนานที่เจ้าหญิงอุยกูร์ลุกขึ้นต่อสู้ขัดขืน และยอมตายเพื่อแผ่นดิน แทนที่จะเป็นของเจ้าแผ่นดินผู้รุกรานมากกว่า

ขณะที่รัฐบาลจีนก็ทราบปัญหาดี พยายามใช้ "ตำนานรัก" ผูกสัมพันธ์สมานฉันท์ในชาติ เมื่อสักสองสามปีก่อนมีการ์ตูนเกี่ยวกับพระสนมเรื่อง "เทียนเซียงกงจู้" ปรากฏว่านอกจากจะซื้อใจไม่ได้ ชาวอุยกูร์ยังยี้ใส่เสียอีก

อุยกูร์คิดอย่างนี้ รัฐบาลคิดอีกอย่าง มันจึงวุ่นวายไม่หยุด ต่อให้มีอีกสิบอีกร้อยเรื่องรักอย่างเซียงเฟยก็ช่วยไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น