วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วิธีคิดไม่ธรรมดาของ “มาร์ติน วีลเลอร์” ฝรั่งขี้นก... ที่จบเกียรตินิยมอันดับ 1 จากเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลก!!!

วิธีคิดไม่ธรรมดาของ “มาร์ติน วีลเลอร์” ฝรั่งขี้นก...
ที่จบเกียรตินิยมอันดับ 1 จากเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลก!!!



“คนไทยมีพระเจ้าอยู่หัว มีแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ มีศาสนาพุทธที่ดีมาก ทั้ง 3 อย่างนี้พยายามรักษาเอาไว้ให้ได้"

คำว่ารวยกับคำว่าจน มันคืออะไรกันแน่?

ที่ ขอนแก่นเขาว่าผมบ้าบ้าง ฝรั่งยากจนบ้าง ฝรั่งตกอับบ้าง ฝรั่งขี้นก ฝรั่งไม่มีเงิน แต่ผมบอกว่า ไม่ใช่ ผมรวยนะ เขาถามว่ารวยได้ยังไง ผมบอกว่า…

ข้อ 1) ผมมีบ้าน ผมทำบ้านเล็ก ๆ เป็นกระท่อมน้อย ๆ เอาหญ้ามามุงหลังคา ชาวบ้านเรียกว่า เถียงนา ไม่ใช่บ้านหรอก ผมบอกว่าใช่ มันบ้านของผม ไม่ใช่บ้านเจ้านาย ราคาหนึ่งหมื่นสองพันบาท อยู่ได้ครับ มันกันแดดกันฝนได้ แค่นั้นผมก็รวยแล้ว

ข้อ 2) มีที่ดิน แค่ 6 ไร่เท่านั้นเอง ที่นั่นเขาบอกว่ากระจอก มีนิดเดียว แต่สำหรับฝรั่ง มันเยอะมาก จริง ๆ ผมคิดว่า มันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นพื้นฐานของชีวิต เราต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นของเรา ไม่ใช่ของเจ้านาย เพราะว่าถ้ามันเป็นของเจ้านาย เราต้องไปหาเงินให้เขา ถ้าเราไม่มีเงิน เขาก็ไล่เราออก เราไม่มีที่อยู่นะ เพราะฉะนั้น ต้องมีบ้านเป็นของตัวเองไว้ก่อน ซึ่งผมก็มีบ้าน คิดว่าลูกของผม จะต้องมีบ้านแน่ ๆ ด้วย

เรื่องเกษตรผมทำไม่เก่ง แต่ที่ทำได้ง่ายคือ ปลูกต้นไม้ ไม้ประดู่ ไม้สะเดา ไม้ยาง ปลูกไว้ให้ลูกสร้างบ้าน ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้โตเร็วมาก แค่ 25 -30 ปี ตัดได้แล้ว ไม่เหมือนอังกฤษ 200ปีได้เท่านี้เอง เพราะอากาศเย็น เป็นเรื่องแปลก ที่คนไทยจะบ่น โอ๊ย..มันร้อน

ผมว่ากลับเป็นเรื่องดี แสงแดดเยอะ จะทำการเกษตรได้ ตลอดเวลา 1 ปี ทำได้ทุกวัน แต่คนไทยจะบ่นร้อนๆ ไม่เอาๆ อยากเป็นคนผิวขาวดีกว่า แต่คนอังกฤษ เขาถือคนผิวขาวเป็นคนจน เพราะว่าไม่มีปัญญา จะไปเมืองนอก ซึ่งกลับกันเลย แม้แต่พ่อของผม เขาก็ยังมีเครื่องอาบแดดเพื่อให้ผิวเป็นสีแทน ให้ดูเป็นแบบคนมีสตางค์ แต่คนไทยกลับอยากมีผิวขาว

ผมมีลูก 3 คน ชาย 2 หญิง 1 สิ่งสำคัญที่สุด ๒ เรื่องในชีวิตของเรา คือ…

ข้อ 1) ต้องมีบ้าน เป็นของตัวเองให้ได้ จึงจะถือว่าชีวิตประสบความสำเร็จ

ข้อ 2) ต้องมีงานทำทุกวัน ไม่ได้จำกัดว่า ต้องเป็นงานอะไร แต่ขอให้มีงานทำทุกวัน ชีวิตจึงจะไม่สูญเปล่า วิธีเดียวที่รับประกันได้ว่า ลูกมีงานทำ คือการมีที่ทำกินให้เขา และเราต้องช่วยให้เขาทำเป็น ผมคิดว่าคนชนบทจริง ๆ ใครมีที่ดินทำกินแล้วจะไม่ตกงาน เว้นแต่คนขี้เกียจ ซึ่งบางคนมีที่ดินเยอะ แต่ไม่ยอมทำ ถ้าเราสั่งสอน ให้ลูกรู้จักทำมาหากิน เขาก็ไม่ตกงาน

ผมถือว่างานที่อิสระ และมีประโยชน์มากที่สุด คืองานเกษตรซึ่งช่วยให้เรากินอิ่มทุกวัน คนอังกฤษกินไม่อิ่มเยอะมากนะ ผมไม่อยากให้ลูกของผมอดอาหาร อยากให้ลูกกินอิ่ม ในลักษณะที่ส่งเสริมสุขภาพด้วย กินอาหาร ที่ไม่มีสารพิษ กินอาหารแบบเรียบง่ายก็ได้ แต่อิ่มทุกวัน เมื่อมีบ้าน มีงาน มีอาหาร ลูกของผม ก็จะรวยที่สุด ผมอยากให้ลูกอยู่บ้านนอก เพราะว่าสะอาด

จ้าง เท่าไหร่ก็ไม่อยากให้ไปอยู่ ในเมืองหรอกเพราะสกปรก แออัด สำคัญที่สุดคือ เรื่องของสังคม ผมไม่อยากให้ลูกไปอยู่ในเมือง เพราะว่าคนเมืองเห็นแก่ตัว วิ่งไปหาเงินอย่างเดียว แข่งขันกันเยอะ เดี๋ยวก็ฆ่ากัน ด่ากันทุกวัน ไม่สงบ อยากให้ลูกอยู่บ้านนอก เขาจะได้สิ่งที่หายากที่สุดในโลก

คนอีสาน บ้านนอกเป็นคนดีมากนะ มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือคนอื่น เอื้ออาทรกัน เกื้อกูลกัน แบ่งปันกัน ไม่แข่งขันกัน ความเป็นชุมชนเป็นสิ่งที่หายากนะ ถ้าเราไปอยู่ในเมือง จะอยู่แบบของใครของมัน บ้านคนละหลัง ครอบครัวคนละหลัง ไม่รู้จักกัน ถ้าเราอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ เราก็ช่วยเหลือกันได้ คุยกันได้ แบ่งปันกันได้ ในที่สุดเราก็จะเป็นคนมีน้ำใจได้

ลูกของผมเขาเป็นคนมี น้ำใจ เขาอาจจะไม่มีเงิน ไม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ แต่เขาจะมีสิ่งที่ดีกว่านั้นเยอะ คือเขาจะมีที่อยู่อาศัย มีชุมชนที่ดี ไม่มียาเสพติด ไม่มีการพนัน ไม่มีอาชญากรรม มันน่าอยู่ ขอให้เราอยู่ในชุมชนที่เป็นแบบนั้นมันก็ดีนะ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องเป็นห่วง ลูกก็จะเป็นคนดี ไม่ติดยา ไม่ขี้ขโมย ไม่เล่นไพ่ มีน้ำใจและรู้จักช่วยเหลือคนอื่น

ลูกผมเรียนหนังสือไม่เก่ง ปีนี้เขาได้คะแนนเป็นอันดับที่ ๑๙ ในห้องของเขา มีนักเรียน ๓๙ คน มันเดินสายกลางพอดีเลย (หัวเราะ) แต่ผมไม่ได้สนใจเรื่องอันดับคะแนนหรอก
ครูเขาเขียนถึงอุปนิสัยของลูกว่า เป็นคนที่มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งผมไม่ได้สอนแบบนั้น ฝรั่งส่วนมากจะเห็นแก่ตัว

ผม เคยอยู่ในสังคมอย่างนั้นมาก่อน มันเปลี่ยนยากครับ ผมจึงไม่ได้สอนให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจ แต่มันเป็นที่ชุมชน เป็นวิถีชีวิตของคนอีสาน ที่เริ่มซึมเข้าไปในกระดูกของเขา ทำให้ลูกอายุแค่ 8 ขวบเป็นคนมีน้ำใจ ผมถือว่าสุดยอดแล้ว ผมภูมิใจในตัวของลูกมาก ๆ เรื่องเรียนไม่สำคัญหรอก.

suriya mardeegun

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น