ติดเชื้อรุนแรง...ทำไมต้องตัดขา?
เป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศรู้สึกสะเทือนใจต่อสิ่งที่ได้รับรู้ หลังจากโรงพยาบาลรามาธิบดีออกแถลงการณ์ว่า คณะแพทย์มีความจำเป็นต้องตัดข้อเท้าซ้ายพระเอกหนุ่ม "ปอ" ทฤษฎี สหวงษ์ โดยให้เหตุผลว่า ต้องการควบคุมการติดเชื้อที่รุนแรง
สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องยากเกินกว่าใครจะรับไหว แต่ขณะเดียวกันการล้มป่วยด้วยอาการไข้เลือดออกของ "ปอ" ได้สร้างคำถามให้เกิดขึ้นในใจใครหลายคนว่า
"ไข้เลือดมันส่งผลรุนแรงขนาดไหนจนถึงขนาดต้องตัดข้อเท้าทิ้งเพื่อรักษาชีวิตหรือ และอะไรเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะรุนแรงจนส่งผลโดยตรงกับร่างกายของพระเอกคนดัง"
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว "นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไข้เลือดออกไม่ได้มีผลโดยตรงที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ แต่ผู้ป่วยไข้เลือดออกบางรายที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นได้ อาทิ อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติ ความดันต่ำ ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะได้น้อย ไม่เพียงพอ เช่น หากเลือดไปเลี้ยงที่ไตน้อยจะทำให้เกิดภาวะไตวาย หากไปเลี้ยงสมองน้อยจะส่งผลให้สมองขาดเลือด ทำให้ผู้ป่วยหมดสติ และหากไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย เช่น แขน ขา ได้น้อย ก็จะทำให้เนื้อเยื่อตายทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณดังกล่าวได้ง่าย หากรุนแรงแพทย์ก็จำเป็นต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นออกเพื่อควบคุมการติดเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย และป้องกันภาวะช็อกจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
"ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีโอกาสประสบภาวะแทรกซ้อนได้ทุกคนหากถึงขั้นช็อก ซึ่งสาเหตุของการช็อกเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ เสียเลือดมาก ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือได้รับสารพิษ เป็นต้น การป้องกันจึงต้องดูที่สาเหตุแต่หากจะให้ดี เมื่อเจ็บป่วยเป็นเวลานานควรรีบพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยให้ถึงขั้นมีอาการช็อก"
คำอธิบายดังกล่าวสอดคล้องกับ "แหล่งข่าวในวงการแพทย์" ที่อธิบายถึงอาการป่วยไข้เลือดออกของ "ปอ" และต้องตัดข้อเท้าซ้ายว่า อาการของปอช่วงที่มาโรงพยาบาลรามาธิบดีอยู่ในภาวะวิกฤติมาก จึงต้องใช้เครื่องช่วยพยุงหัวใจและปอดในการรักษา เพื่อให้มีโอกาสรอดชีวิต แม้แพทย์รักษากันอย่างสุดความสามารถด้วยการใช้เครื่องมือเครื่องช่วยพยุงหัวใจและปอด แต่บางครั้งไม่อาจให้การรักษาอวัยวะทุกส่วนในร่างกายครอบคลุมทั้งหมด เพราะปอมีอาการไตวาย อาการทางหัวใจ ปอด ระบบเลือดก็ต้องเน้นให้การรักษาอวัยวะหลักเหล่านี้ก่อน เพื่อให้มีโอกาสรอดชีวิต แต่อวัยวะอื่นๆ เช่น มือ เท้า หากกรณีความดันเลือดตกอาจจะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะเหล่านี้ได้น้อยลงและเกิดผลข้างเคียงตามมาภายหลัง
แหล่งข่าวรายเดิม อธิบายอีกว่า สาเหตุที่ต้องตัดข้อเท้าซ้ายคาดว่าเกิดจากผลข้างเคียงของอาการ ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤติตั้งแต่ช่วงแรก ส่วนโอกาสที่จะเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากเครื่องช่วยพยุงหัวใจและปอดนั้น มีโอกาสไม่มาก และก่อนที่แพทย์จะใส่เครื่องเหล่านี้เข้าไปในร่างกายจะต้องมีการใส่ยาละลายลิ่มเลือดก่อน เพื่อช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ในร่างกาย
"ส่วนผลข้างเคียงของอาการ ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤติตั้งแต่ช่วงแรก จะต้องเฝ้าระวังหลังจากนี้ก็มี เช่น ระบบสมอง ระบบเลือดไม่ให้ติดเชื้อ ซึ่งทีมแพทย์ที่ให้การรักษาก็ต้องดูแลเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด"
ขณะที่ในเฟซบุ๊กหลอดเลือดฟอกไต 360 องศา ได้โพสต์ข้อมูลของ "นพ.นันทพล พงศ์รัตนามาน" ศัลยแพทย์หลอดเลือด โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เกี่ยวกับการติดเชื้อที่ขา...ทำไมต้องตัดขา? ไม่ตัดไม่ได้หรือ? โดยมีเนื้อหาสรุปว่า ...ภาวะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในวงการแพทย์ครับ สามารถพบได้เรื่อยๆ เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นแผลติดเชื้อเบาหวานรุนแรงต้องตัดขา ถ้าไม่ตัดอาจเสียชีวิต หรือคนไข้ในกลุ่มที่มีภาวะขาดเลือดรุนแรงที่ปลายเท้าเฉียบพลันจนมีปัญหาเนื้อตายและเน่าจนติดเชื้อ
ภาวะขาดเลือดรุนแรงพบในคนไข้กลุ่มไหน? 1.มีภาวะ Shock รุนแรงและยาวนาน 2.มีลิ่มเลือดจากหัวใจหลุดมาอุดเส้นเลือดปลายเท้า 3.ได้รับยากระตุ้นความดันนานๆ (เพื่อนำเลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจ) 4.เส้นเลือดหดตัวรุนแรงจากยาจำพวก ergotamine (ยาแก้ไมเกรน) และยังมีภาวะอื่นๆ อีกหลายอย่างที่สามารถทำให้ขาขาดเลือดได้
ขาขาดเลือดทุกคนต้องติดเชื้อหรือไม่? ไม่จำเป็น แต่ถ้ามีภาวะติดเชื้อและติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วยอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที แล้วถ้าไม่ตัด ...ได้หรือไม่? ขึ้นอยู่กับความรุนแรง หากการติดเชื้อไม่เข้าสู่กระแสเลือด การให้ยาปฏิชีวนะแล้วรอดูอาจทำได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูง มีเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง จำเป็นต้องตัด เพราะหลักการการรักษาก็คือ "Safe life > Safe limb > Safe function" รักษาชีวิตก่อน...รักษาแขนขา...รักษาแขนขาก่อน...รักษาการใช้งาน
"สรุปในกรณีที่มีการติดเชื้อไม่รุนแรงไม่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย เราอาจตัดเพียงเล็กน้อยรอดูอาการก่อนได้ แต่ถ้ามีภาวะติดเชื้อรุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดสูงขึ้นไปอีก เพื่อให้แน่ใจว่าภาวะติดเชื้อโดนกำจัดไปมากที่สุดในขณะที่ต้องเหลือส่วนขาให้ยาวที่สุดไปพร้อมกัน ตัดแล้วไม่ต้องตัดเพิ่มแล้วใช่ไหม? อันนี้ยังบอกไม่ได้ครับ ความมุ่งหวังของผู้รักษาคือไม่อยากตัดเพิ่มอยู่แล้ว แต่ก็คงต้องดูที่ผู้ป่วยเป็นหลัก ถ้ามีติดเชื้อเพิ่มเติมก็ต้องว่ากันไปตามอาการ"
เช่นเดียวกับ "เพจ นศพ.ลูกเป็ด" อธิบายกรณีการตัดขาผู้ป่วยเพื่อรักษาชีวิตในเชิงการแพทย์แบบฉบับการ์ตูนที่เข้าใจง่าย โดยได้อธิบายถึงสาเหตุและเหตุผลที่แพทย์จำเป็นต้องเลือกตัดส่วนน้อย เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วย นอกจากนี้เพจดังกล่าวยังแนะนำถึงนวัตกรรมสมัยใหม่ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยที่โดนตัดขาให้สามารถใช้ชีวิตได้เช่นคนทั่วไป
มาถึงคำถามที่ว่า อาการป่วยด้วยโรคใดจะมีความเสี่ยง และส่งผลร้ายแรงจนถึงขนาดต้องตัดขาด
ในเรื่องนี้ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยที่แพทย์จะพิจารณาในการตัดอวัยวะโดยเฉพาะเท้าและขาที่พบมากที่สุด คือ ผู้ที่ป่วยเป็น "โรคเบาหวาน" ความดันมาเป็นเวลานานๆ ร่วม 10 ปี เนื่องจากเส้นเลือดจะตีบ ทั้งนี้จากการที่ป่วยมานานเส้นเลือดแข็งและหนาขึ้นเรื่อยๆ จนตีบ แรงดันเลือดไม่พอ ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะได้ไม่เต็มที่ จึงเป็นเหตุให้เส้นเลือดเสีย เส้นประสาทเสียจนเท้าไม่มีความรู้สึก เมื่อเป็นแผลจะไม่รู้สึกเจ็บ เกิดแผลติดเชื้อ เนื้อเน่า เนื้อตาย แพทย์จำเป็นต้องพิจารณาตัดเท้า และขา
"อวัยวะที่มีเนื้อตายเก็บไว้ก็ไม่สามารถใช้งานอะไรได้อีก และจะกลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค ต้องตัดออก เพื่อไม่ให้ลามไปยังบริเวณอื่น หากตัดช้าจะยิ่งลาม หรือติดเชื้อเข้ากระแสเลือดเป็นอันตรายอย่างมาก ส่วนการป่วยเป็นไข้เลือดออกนั้น ไม่ได้ทำให้ต้องตัดอวัยวะ หากจำเป็นต้องตัดอาจจะเกิดจากภาวะแทรกซ้อน"
แม้คำว่า ตัดขา จะฟังดูร้ายแรง แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งว่า การรักษาดังกล่าวยังสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ สิ่งนี้น่าจะทำให้ทุกคนมีกำลังใจสู้ต่อไปได้...
คมชัดลึก ( Kom Chad Luek)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น