วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เปิด-ปิดประเทศ :โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เปิด-ปิดประเทศ :โดย วีรพงษ์ รามางกูร


เมื่ออ่านคอลัมน์ "หมาย เหตุประเทศไทย"เรื่อง "แค่พูดก็ฟุบแล้ว" ของลมกรด ก็รู้สึกตกใจที่มีการพูดถึงเรื่อง เปิด-ปิดประเทศไทยของผู้นำประเทศในศตวรรษที่ 21 และที่ตกใจยิ่งขึ้นเมื่อดูข่าวทางโทรทัศน์ ที่เสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยสวนดุสิตโพล ที่พบว่ากว่าร้อยละ 55 เห็นด้วยกับคำพูดดังกล่าว

คำพูดดังกล่าวจากผู้คนที่มีอารมณ์ทาง การเมืองอย่างรุนแรง แม้ว่าผู้พูดอาจจะไม่ได้ "คิด" แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาพอารมณ์ของคนชั้นสูง ที่ยังมีอารมณ์โกรธเกลียดเข้ามาอยู่ในวิธีคิด วิธีตัดสินใจ ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผล ผิดถูกชั่วดี เห็นคนที่มีความคิดแตกต่างเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับตนไปเสียหมด

ในโลก นี้ ขณะนี้ ไม่มีประเทศใดปิดประเทศอยู่ตามลำพังได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายเกือบทุกชนิด มีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่โต มีประชากร มีแรงงานเป็นจำนวนมาก หรือประเทศเล็ก เช่น สิงคโปร์ มัลดีฟส์ ไต้หวัน ลาว กัมพูชา และอื่นๆ ที่มีพื้นที่จำกัด ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรเลย ตลาดภายในเล็ก ประชากรมีน้อย กำลังซื้อรวมกันก็ไม่มาก ทุกประเทศไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ไม่มีประเทศใดปิดประเทศอยู่ตามลำพังได้เลย ทุกประเทศต้องเปิดกับโลกภายนอกทั้งสิ้น

ในสมัยหลังที่โลกแบ่งออกเป็น 2 ค่ายคือ ค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และค่ายเสรีประชาธิปไตย ค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ รวมทั้งอินเดียหลังประกาศเอกราชเมื่อปี 1947 ที่ประกาศตนเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง แต่ทางเศรษฐกิจเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ปิดประเทศค้าขายกันเองในกลุ่มคอมมิวนิสต์ด้วยกัน ในที่สุดก็ไปไม่รอด เพราะการปิดประเทศหรือค้าขายกันเองในกลุ่มคอมมิวนิสต์ด้วยกัน ไม่ใช้กลไกตลาดในการกำหนดราคา เหมือนกับที่เรากำลังจะลงทุนระบบรถไฟความเร็วสูงโดยไม่เปิดประมูล แต่ใช้วิธีกำหนดเจาะจงไปเลยว่าจะใช้ของจีน เจรจากับจีนประเทศเดียว ซึ่งไม่มีทางจะทราบได้เลยว่าเทคโนโลยีควรจะเป็นอย่างไร ราคาควรจะเป็นเท่าไหร่ ดอกเบี้ยสูงหรือต่ำไป ต้องชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศยังไม่ทราบว่าเป็นสกุลใด บาท หยวน หรือดอลลาร์ ถามใครก็ยังไม่มีใครตอบได้ ขบวนการพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนก็จะไม่ใช้ เพราะยืดยาดล่าช้า จะใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว

วิธีคิดเช่นนี้ของระบอบการปกครองอำนาจนิยม จึงเป็นวิธีคิดของผู้นิยมระบบ "ปิด" ประเทศ แต่มีข้อแม้เป็นเรื่องๆ ไป



บรรดา ประเทศที่ต้องการจัดให้เกิด "ความสงบเรียบร้อย" ภายในประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายทางการเมือง โดยยอมสละเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือความเจริญความอยู่ดีกินดีของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะการควบคุมประชาชนโดยการปิดประเทศทำได้ง่าย แม้จะสามารถอยู่ได้ แต่ประชาชนจะอยู่อย่างแร้นแค้นยากจน เด็กๆ ขาดอาหาร มาตรฐานคุณภาพชีวิตต่ำ อายุขัยโดยเฉลี่ยต่ำ และในที่สุดระบอบการเมืองเช่นว่านั้นก็อยู่ไม่ได้ต้องพังทลายลง

การ ล่มสลายของระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ สืบเนื่องมาจากการล่มสลายของระบอบเศรษฐกิจที่เป็นระบอบเศรษฐกิจปิด เป็นระบอบที่ฝืนกลไกตลาด เป็นระบอบที่ใช้คำสั่งจากอำนาจรัฐแทนกลไกตลาด ซึ่งในที่สุดก็ไปไม่รอด แต่ก่อนจะล่มสลายก็จะเห็นความไร้ประสิทธิภาพของระบอบการผลิต ความล้าสมัยของโรงงานเครื่องจักร เพราะไม่มีเงินตราต่างประเทศที่จะเปลี่ยนเครื่องจักร สั่งซื้อชิ้นส่วนอะไหล่ วัตถุดิบและอื่นๆ สารพัด

เคยเดินทางไปใน ประเทศพม่า เวียดนาม จีน แม้แต่อินเดีย ในสมัยที่ประเทศเหล่านี้ยังปิดประเทศอยู่ ซึ่งเต็มไปด้วยความขาดแคลน อดอยาก ยากจน ทุกย่านมีแต่ตลาดมืดเต็มไปหมด ราคาเงินตราต่างประเทศ ทองคำ ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ แหวน หรือแม้แต่ปากกาปลอกทอง เสื้อผ้า กางเกงยีนส์ สามารถซื้อขายได้ในตลาดมืดและได้ราคาดีกว่าราคาที่ซื้อไปจากกรุงเทพฯทั้ง นั้น ส่วนผู้คนที่เป็นเจ้าหน้าที่กลับมีสิทธิพิเศษ มีความเป็นอยู่แตกต่างจากผู้ปกครองอย่างเทียบกันไม่ได้ ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนเท่าเทียมกันเกือบหมด ในที่สุดระบอบการเมืองที่ปิดประเทศคู่กับระบอบเศรษฐกิจที่ปิดก็ดำรงอยู่ไม่ ได้ เกิดความวุ่นวาย "อำนาจรัฐที่มาจากปากกระบอกปืน" ก็เอาไว้ไม่อยู่ ต้องเปิด ส่วนจะเปิดมากเปิดน้อยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ

ความ จำเป็นที่จะต้องเปิดประเทศสำหรับประเทศเล็ก ยิ่งมีความจำเป็นมากกว่าของประเทศใหญ่ ความจำเป็นต้องเปิดประเทศของสิงคโปร์ ย่อมมีมากกว่ามาเลเซีย ความจำเป็นของมาเลเซียอาจจะต้องมีมากกว่าไต้หวัน หรือเกาหลี และไทย เป็นต้น

ลองเปรียบเทียบความอยู่ดีกินดีและมาตรฐานความเป็นอยู่ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ก็คงจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร



สํา หรับประเทศที่เคยเปิด แล้วคิดจะย้อนกลับไปปิดประเทศ ก็ยิ่งจะมีปัญหามากยิ่งขึ้น ถ้าเราไม่ส่งข้าวออก ไม่ส่งยางพาราออก ไม่ส่งน้ำตาลออก ไม่ส่งสินค้าอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิดออก การผลิตของเราไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม อุตสาหกรรมหรือบริการ เช่น การท่องเที่ยว รายได้ประชาชาติจะต้องลดลงถึงครึ่ง หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้ในปีแรกและจะลดลงไปเรื่อยๆ ในปีต่อไป ค่าเงินบาทจะตกต่ำทันที เพราะจะไม่มีสินค้าเหลืออยู่ในประเทศมากมาย อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นทันที ถ้าทางการไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เงินบาทจากที่เคยมีอัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์กลายเป็น 100 บาท หรือ 200 บาทต่อดอลลาร์ ถ้าทางการจะเข้ามาแทรกแซงกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ตามเดิม ก็จะเกิดตลาดมืดขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะสูงกว่าที่ควรจะเป็นที่ 100 บาทต่อดอลลาร์หรือ 200 ต่อดอลลาร์ก็ได้ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนเป็น 200 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันควรจะเป็นลิตรละเท่าใด ถ้าทางการต้องการควบคุมราคา ตลาดมืดก็จะเกิดขึ้นทันที การลักลอบนำเข้าและส่งออกก็จะเกิดขึ้น ไม่เป็นผลดีกับใคร ยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้นเอง

การ จะ "ปิดประเทศ" อย่าว่าแต่พูดเลย แม้แต่คิดก็ไม่ควร เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ว่าระบอบการปกครองที่กระทำเช่นนั้นจะดำรงอยู่ได้แม้ แต่ปีเดียว หรือเริ่มทำก็คงจะมีการต่อต้านกันแล้ว เพราะผลในทางเศรษฐกิจจะรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนในเมือง

นอกจาก คำพูดที่ว่า "จะปิดประเทศ" แล้ว ยังมีอีกคำพูดหนึ่งที่พยายามปลอบใจตนเอง เพราะการอยู่ร่วมกันในประชาคมโลก ย่อมต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของประชาคมโลก สำหรับความเป็น "อารยะ" ของโลกโดยส่วนรวม เช่น การเคารพต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ตนเป็นสมาชิก การเคารพต่อการเปิดประเทศมีผลผูกพันไว้กับต่างประเทศและองค์การระหว่าง ประเทศ เช่น อาเซียน องค์การค้าระหว่างประเทศ หรือสหประชาชาติ การเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนก็ย่อมเกี่ยวข้องผูกพันกับสิทธิเสรีภาพทาง การเมืองด้วย และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเยียวยาความแตกแยก หรือความไม่ปรองดองระหว่างคนในชาติ

ระบอบที่เปิดกว้างน่าจะเป็นหนทางปรองดองที่ถูกต้องกว่า คนไทยไม่ชอบบังคับในระยะสั้นๆ อาจจะทำได้แต่ในระยะยาวทำได้ยาก



มี คำพูดปลอบใจตนเองอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เราไม่ควรพึ่งการส่งออกมากเกินไป เราควรจะพัฒนาความต้องการซื้อของตลาดในประเทศให้แข็งแรงมากกว่านี้ โดยยกตัวอย่างประเทศใหญ่ที่มีทรัพยากรมากเป็นตัวอย่าง แม้จะเป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วสบายใจแต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็น ไปได้ยากสำหรับประเทศที่เล็กและไม่มีทรัพยากรที่สำคัญ เช่น พลังงาน ทุน เทคโนโลยี เครือข่ายหรืออภิสิทธิ์ในการค้าระหว่างประเทศ เช่น ประเทศไทย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ได้อภิสิทธิ์การนำเข้าสหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกงและประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมเก่าของอังกฤษ ได้อภิสิทธิ์ในเรื่องการค้าระหว่างกัน ก่อนที่จะมาเป็นการค้าเสรีอย่างปัจจุบัน การจะลดความสำคัญของการส่งออกการนำเข้า การเคลื่อนย้ายของเงินทุน ทำได้ยากและไม่ควรทำ วาทะเช่นนี้เป็นวาทะที่ฟังดูดีแต่ทำไม่ได้

เมื่อ ระดับการพัฒนาทั้งในด้านการผลิต การเงินและอื่นๆ มาไกลถึงระดับนี้ การที่ต้องปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์ของประชาคมโลกอารยะ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นตัวตั้งตัวตีจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเราต้องการการค้าขาย การลงทุนและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจแบบเดียวกับเขา

การที่จะ แยกตัวเองออกจากประชาคมโลก ปิดประเทศ พัฒนาความต้องการซื้อจากตลาดภายในประเทศ ลดความสำคัญในการส่งออก ลดการนำเข้าลง ควรจะเลิกคิด เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจและระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของเรามาไกลเกินกว่าจะถอย หลังเข้าคลองแล้ว มีแต่เดินหน้าออกมหาสมุทรอย่างชาญฉลาดและปลอดภัยเท่านั้น มีแต่ต้องเดินหน้าไปให้ถึงการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเท่านั้น

หยุดเพ้อเจ้อกันได้แล้ว

(ที่มา:มติชนรายวัน 5 พ.ย.2558) :http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1446697849

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น