วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แคว้นโยนก (พ.ศ. 1835–2435)

แคว้นโยนก (พ.ศ. 1835–2435) 
 
(ข้อมูล : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
(ภาพ : จากหลากหลายเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต)


เป็นรัฐของชาวไทยวนที่ตั้งอยู่แถบลุ่มน้ำโขงตอนกลาง อันเป็นที่ราบลุ่มของแม่น้ำกก เป็นตั้งของชุมชนที่มีมาช้านาน เช่น เมืองเงินยาง เมืองรอย และเมืองเชียงแสน แม้จะเป็นรัฐชายขอบที่ตั้งอยู่ใกล้กับอาณาจักรขนาดใหญ่ ขอม พุกาม และยูนนาน แต่ก็มีพัฒนาการที่รวดเร็วช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ก่อนที่จะพัฒนาจนสถาปนาอาณาจักรล้านนาในกาลต่อมา



ในตำนานและพงศาวดารล้านนา

เล่าว่า นานมาแล้ว (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13) มีพวกลัวะ หรือละว้า ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้ดอยตุง มีปู่เจ้าลาวจกหรือลวจักราช เป็นหัวหน้า(จกคือจอบขุดดิน) ต่อมาได้สร้างบ้านเมืองในทุ่งราบเรียกชื่อว่า “หิรัญนครเงินยางเชียงแสน” ลูกหลานของปู่เจ้าลาวจกหรือลวจักราช ได้ขึ้นครองเมืองต่อเนื่องกันมาหลายสิบคน และได้มีการสร้างเมืองใหม่เรียกว่า “ภูกามยาวหรือพะเยา” มีผู้ครองเมืองต่อมาหลายคนจนถึง ขุนเจือง (พุทธศตวรรษที่ 17) และพญางำเมือง
อาณาจักรหิรัญนครเงินยางเชียงแสนหรืออาณาจักรเงินยางนี้ประกอบด้วย เมืองเงินยาง เมืองไชยนารายณ์ เมืองล้านช้าง และเมืองเชียงรุ้งในสิบสองพันนา

พงศาวดารโยนก

พุทธศตวรรษที่ 11–18 นั้นในพงศาวดารโยนก ได้กล่าวไว้ว่า ได้เกิดชุมชนนครสุวรรณโคมคำ เมืองโยนกนาคนคร เชียงแสน และอาณาจักรล้านนาไทยขึ้น บริเวณ ลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำกก แม่น้ำอิง และแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ตั้งแต่สิบสองปันนาลงมาจนถึงเมืองหริภุญชัย(ลำพูน) นั้นได้มีเจ้าผู้ครองนครคนสำคัญคือ พญาสิงหนวัติ พระเจ้าพังคราช พระเจ้าพรหม และพระเจ้ามังรายมหาราช(ครองราชย์ที่เมืองเงินยางเมื่อ พ.ศ. 1804)

สุวัณณะโคมฅำ เป็นชื่อตำนานและชื่อเมืองโบราณในเขตจังหวัดเชียงราย ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ได้ศึกษาสรุปว่า ตั้งอยู่บนเกาะใหญ่ริมแม่น้ำโขงฝั่งลาวตรงดอนมูล เยื้องปากแม่น้ำกกลงไปทางใต้เล็กน้อย อยู่ตรงกันข้ามกับบ้านสวนดอก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ในพงศาวดารโยนก กล่าวว่า ในช่วงปลายศาสนาของพระพุทธโกนาคมะนั้น ได้เกิดโรคระบาด ราชบุตรแห่งเมืองปาตลีบุตรจึงพาผู้คนอพยพไปตั้งอยู่ในเขตโพธิสารหลวง ต่อมาราชบุตรชื่อกุรุวงษากุมารได้สร้างเป็นเมืองขึ้นมา พอพระเจ้าโพธิสารหลวงทราบข่าวก็ไปรบหลายครั้งแต่ก็พ่ายแพ้ จนพระองค์ต้องยกราชสมบัติให้แก่กุรุวงษากุมาร

ต่อมาได้เรียกชื่อแคว้นนั้นว่ากุรุรัฐและเรียกประชาชนว่า "กล๋อม" ยังมีนางกุมารีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าเมืองได้อพยพหนีโรคร้ายไปอยู่ในป่า และพาบริวารปลูกข้าวอยู่ที่ขอบหนองแห่งหนึ่ง และได้สร้างเมืองชื่อ "อินทปฐาน" ต่อมาเจ้ากุรุวงษากุมารได้นางนั้นเป็นชายาจึงรวมสองเมืองเข้าด้วยกันให้ชื่อ ว่า "อินทปัตถมหานคร"

จากนั้นก็มีกษัตริย์สืบมาถึง ๔๔๘๐๐ องค์ จนถึงสมัยพญาศรีวงษาได้ครองเมืองโพธิสารหลวง พระองค์มีราชบุตรสององค์คือ "อินทรวงษา"และองค์น้องชื่อ"ไอยกุมาร" ซึ่งอินทรวงษาก็ได้ขึ้นครองเมืองสืบจากพระบิดาและมีไอยกุมารเป็นอุปราช ต่อมาราชบุตรของพญาอินทรวงษาชื่ออินทรปฐมได้อภิเษกกับธิดาของไอยอุปราช มีราชบุตรรวมห้าพระองค์อยู่ครองเมืองโพธิสารหลวง

ต่อมาไอยอุปราชได้ลาจาก ตำแหน่งอุปราช และพาบริวารลงเรือขึ้นไปแม่น้ำโขง จนไปถึงเขตดอนทรายกลางน้ำแม่โขงเยื้องปากน้ำแม่กก จึงตั้งเมืองอยู่ในที่นั้น หลังจากนางอุรสา ราชเทวีของพญาอินทรปฐมคลอดราชบุตรออกทางปากมีชื่อ "สุวัณณมุกขทวาร"

เมื่ออายุ ๗ เดือนก็มีอภินิหารแรงกล้า พาหิรพราหมณ์ปุโรหิตจึงไปทูลยุยงให้ลอยแพพระกุมารและพระเทวีไปเสีย มิฉะนั้นจะเกิดอุบาทว์แก่เมือง ฝ่ายไอยมหาอุปราช ทราบว่าพระเทวีและพระกุมารถูกลอยแพก็รีบกลับเมืองแล้วให้จัดพิธีบวงสรวงพญา นาคและปักเสาประทีปโคมทองทุกท่าน้ำ ครั้งนั้นพญานาคชื่อ พญาศรีสัตตนาคก็พาบริวารนำหินไปทำฝาย ปิดทางต้นน้ำแม่โขงไว้มิให้ไหลลงสู่สมุทร(ทุกวันนี้เรียกว่า"ฝายนาค" หรือ"ลี่ผี")

เมื่อน้ำท้นขึ้นเต็มฝั่งแล้ว แพของพระเทวีและพระกุมารก็ย้อนไปถึงท่าโคมฅำ ไอยมหาอุปราชจึงรับธิดาและนัดดาไว้ แล้วต่อมาก็ให้สร้างเป็นเมืองให้ชื่อว่า "สุวัณณะโคมฅำ" ฝ่ายเมืองโพธิสารหลวง เมื่อลอยแพพระกุมารและพระเทวีไปแล้วก็เกิดโรคระบาด คนหนีออกจากเมืองไปสมทบกับเมืองสุวัณณะโคมฅำเป็นอันมาก

ต่อมาพระอินทร์ต้องการให้พระราชบิดาและราชบุตรได้พบกัน จึงบันดาลให้มีม้าอัศดรไปยังเมืองโพธิสาร ซึ่งผู้จับขี่ได้คือราชกุมาร ชื่อเทวินทรบวรและม้านั้นก็พาไปพบไอยอุปราชและทุกท่านในเมืองสุวัณณะโคมฅำ เมื่อพระบิดาได้ทราบข่าวแล้วก็เชิญให้พระเทวีและพระโอรสกลับเมือง แต่นางไม่ยอมกลับ พญาอินทรปฐมและไอยอุปราชจึงอภิเษกสุวัณณมุกขทวารราชกุมารขึ้นเป็นพญาในเมือง สุวัณณะโคมฅำ

องค์เทวินทรบวรราชกุมารจึงได้ครองเมืองโพธิสาร สืบจากพระราชบิดา และได้เนรเทศพาหิรพราหมณ์เสีย พาหิรพราหมณ์จึงพาบริวารไปตั้งอยู่ที่เชิงเขา ปลายแม่น้ำกกเบื้องตะวันตก ไกลจากเมืองสุวัณณะโคมฅำชั่วระยะ ๓ คืน เนื่องจากที่อยู่นั้นเป็นถ้ำใหญ่ ต่อมาจึงตั้งชื่อว่าเมือง"อุมงคเสลานคร" กษัตริย์ในเมืองสุวัณณะโคมฅำสืบต่อจากพญาสุวัณณมุกขทวารมีถึง ๘๔๕๕๐ องค์ จึงสิ้นสุดลง และเชื้อสายฝ่ายพาหิรพราหมณ์

เมืองอุมงคเสลานครได้เป็นใหญ่ในสุวัณณะโคมฅำ และได้ข่มเหงไพร่เมืองให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ยังมีชายเข็ญใจคนหนึ่ง ทำไร่อยู่ริมแม่น้ำโขง ระหว่างเมืองสุวัณณะโคมฅำและเมืองโพธิสารหลวง มีนางนาคธิดา ๓ นางไปกินข้าวไร่ของปลูกในไร่ของชายนั้น เมื่อพญาศรีสัตตนาคได้รับแจ้งจากชายเข็ญใจว่า ธิดาของตนไปลักกินพืชผลดังกล่าว จึงให้ธิดาทั้งสามแปลงเป็นคนไปรับใช้มานพนั้น

ต่อมา นางทั้งสามแนะให้ชายหนุ่มไปค้าขายที่เมืองสุวัณณะโคมฅำ แต่ก็ถูกชาวเมืองทำอุบายใส่ความแล้วริบสินค้า ภายหลังนางนาคธิดาจึงไปกับเรือค้านั้นด้วย เมื่อพญาขอมในเมืองนั้นทำอุบายมาพนันเพื่อจะริบเอาสินค้า นางก็บันดาลให้พญาขอมแพ้ แต่พญาขอมไม่ยอมให้สินพนันตามสัญญาและยังหาเหตุไล่ออกจากเมืองด้วย

นางจึงไปทูลพญานาคผู้บิดา พญานาคจึงพาบริวารไปขุดฝั่งน้ำ"ขลนที-ขรนที"คือน้ำของหรือแม่โขง ทำให้เมืองล่มลงในเวลาราตรี พญาขอมเจ้าเมืองและชาวเมืองจมน้ำตายไปมาก ที่เหลือก็แตกกระจายกันไป และมีจำนวนมากที่ไปสมทบอยู่กับชายเข็ญใจพ่อค้าผู้นั้นจนกลายเป็นเมืองใหญ่ ขึ้นมา เมืองสุวัณณะโคมฅำก็ร้างกลายเป็นท่าหลวงไปได้ชื่อว่า "ท่าโคมฅำ"

อนึ่ง ตำนานเมืองสุวัณณะโคมฅำนี้ เป็นที่มาของวรรณกรรมล้านนาหลายเรื่อง ดังพบว่าเรื่อง "สิรสากุมารชาดก"ในชุดปัญญาสชาดก ก็ได้กล่าวถึงสิรสากุมารว่าคลอดจากทางปาก ถูกเนรเทศ และมีปู่ "อัยยอามาตย์"เป็นผู้อุปถัมภ์คล้ายกับเรื่องในตำนาน และยังมีเรื่องชายหนุ่มไปทำไร่และมีธิดาพญานาคไปกินพืชผล จนต้องไปเป็นผู้รับใช้ ดังปรากฏในเรื่อง "อ้อมล้อมต่อมฅำ"หรือ"ชมพูราชแตงเขียว" เป็นต้น


................................................................................................................................................................................................................................................
.............................................................................


สถาปนาเมือง


พญาสิงหนวัติได้สถาปนาเมืองโยนกนาคพันธุสิงหนวัตินครขึ้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ดินแดนที่ราบในเมืองเชียงราย ใน พ.ศ. 1117 โดยทำการแย่งชิงดินแดนมาจากพวกที่มีอิทธิพลอยู่ก่อนคือ พวกขอมดำหรือกล๋อม ที่พากันหนีไปตั้งหลักแหล่งอยู่ทางใต้บริเวณถ้ำอุโมงค์เสลานคร

พญาสิงหนวัติ ทรงรวบรวมพวกมิลักขุหรือคนป่าคนดอยเข้ามาอยู่ในอำนาจของเมืองโยนกนาคนคร มีอาณาเขตทิศเหนือจดเมืองน่าน ทิศใต้จดปากน้ำโพ ทิศตะวันออกจดแม่น้ำดำในตังเกี๋ย ทิศตะวันตกจดแม่น้ำสาละวิน มีเมืองสำคัญ คือเมืองเวียงไชยปราการ อยู่บริเวณแม่น้ำฝางและแม่น้ำกก ดินแดนทางใต้สุดคือที่เมืองกำแพงเพชร

อาณาจักรโยนกนาคนครนี้มีพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ เช่น พระเจ้าพังคราช พระเจ้าพรหม พระเจ้าชัยศิริ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1552 อาณาจักรโยนกนาคนครในสมัยพระเจ้ามหาชัยชนะ ได้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องมาจากพนังกั้นน้ำหรือเขื่อนเหนือน้ำพังทลายลง จนทำให้ที่ตั้งเมืองกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ (เข้าใจว่าจะเป็นบริเวณที่เรียกว่าเวียงหนองล่ม บ้านท่าข้าวเปลือก ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากทะเลสาบเชียงแสน และบริเวณที่แม่น้ำกกต่อกับแม่น้ำโขง ใกล้วัดพระธาตุผาเงาและพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย)

จนเป็นเหตุให้บรรดาราชวงศ์กษัตริย์และขุนนางของโยนกนาคนครเสียชีวิตด้วยเหตุ น้ำท่วมเมืองทั้งหมด พวกชาวบ้านที่เหลือรอดชีวิตได้ประชุมปรึกษากันเลือกตั้งให้คนกลุ่มหนึ่งที่ มิใช่เชื้อสายราชวงศ์ขึ้นดูแลพวกตน เรียกว่า ขุนแต่งเมือง และเรียกชุมชนแห่งนั้นว่า “เวียงปรึกษา” เป็นเวลาต่อไปอีก 94 ปี อาณาจักรโยนกนาคนครจึงสิ้นสุดลงเพราะเกิดแผ่นดินไหว ในสมัยพระมหาชัย

.............................................................................................................................................................................................................................................................................................................................


การรวบรวมอาณาจักร


ตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 18 พญามังราย(หรือพ่อขุนเม็งราย) ผู้สืบเชื้อสายมาจากผู้ครองเมืองเงินยางเชียงแสน ได้ทรงทำการรวบรวมอาณาจักรล้านนาไทยที่กระจัดกระจายให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมา ใหม่ และทำการสร้างเมืองเชียงรายเมื่อ พ.ศ. 1805

ครั้งนั้นพระองค์ทรงยกทัพเข้ายึดเอาอาณาจักรหริภุญชัยจากพวกมอญเชื้อสายของ พระนางจามเทวีได้ใน พ.ศ. 1835 แล้วทำการตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นเรียกชื่อว่า อาณาจักรล้านนา

เรื่องราวของอาณาจักรแห่งนี้มีปรากฏในตำนานสุวรรณโคมคำ หิรัญนครเงินยางเชียงแสน ตำนานพระธาตุดอยตุง ตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานเมืองพะเยา ตำนานเมืองเชียงใหม่และวรรณคดีล้านช้าง เรื่องท้าวฮุ่ง หรือเจือง รวมทั้งพงศาวดารโยนก เรียบเรียงโดย พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค)

ศิลาจารึกที่วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ได้บันทึกไว้ว่า พ่อขุนเม็งรายแห่งแคว้นล้านนา พ่อขุนงำเมืองแห่งแคว้นพะเยาและพ่อขุนรามคำแหงแห่งแคว้นสุโขทัย ได้ร่วมกันวางแผนสร้างเมือง“นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”เริ่มสร้างเมื่อวัน ที่12เมษายนพ.ศ. 1839 แล้วให้ย้ายเมืองหลวงของล้านนามาอยู่ที่เมืองนพบุรีนครพิงค์เชียงใหม่

พญามังรายทรงเป็นนักรบและนักปกครองที่สามารถ ทรงขยายอาณาเขตไปครอบครอง เมืองแม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ เชียงราย จดเขตแดนเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง สิบสองพันนา ทรงครองราชย์อยู่ประมาณ 50 ปี ปัจจุบันได้สร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายอยู่กลางเมืองเชียงราย

ส่วนกษัตริย์ล้านนาองค์ต่อมาที่มีชื่อเสียงได้แก่พระเจ้าแสนภู พระองค์ทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้น บนสถานที่ที่เคยเป็นเมืองเก่ามาก่อนราว พ.ศ. 1871
ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวว่า พระเจ้าแสนภู(หลานพ่อขุนเม็งราย)ทรงสร้างเมืองเชียงแสน ทรงสร้างวัดป่าสัก และครองเมืองอยู่ 25 ปี แล้วจึงไปครองเมืองเชียงใหม่ในปีพ.ศ. 1856 หลังจากพ่อขุนเม็งราย และขุนคราม พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2020


................................................................................................................................................................................................................................................
.............................................................................


พงศาวดารเหนือ


พงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า “พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงสร้างเมืองพิษณุโลกและทรงสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ ปีจอ(ประมาณ พ.ศ. 1907) แล้วปลูกต้นโพธิ์สามต้นไว้ที่หล่อพระพุทธรูปสามองค์นั้นเรียกว่า โพธิ์สามเส้า
สมัยพระเจ้าติโลกราชนั้นได้ มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลกขึ้นที่วัดโพธาราม(วัดเจดีย์เจ็ดยอด)

อาณาจักรล้านนามีภาษาพูดและอักษรเขียนของตนเอง เรียกว่าอักษรธรรมล้านนา(ตั๋วเมือง)หรืออักษรไทยยวน(ไทยโยนก) ศิลปกรรม ล้านนาที่เหลือถึงปัจจุบันมีหลายแห่ง เช่น พระพุทธสิหิงค์ ที่เชียงใหม่ เจดีย์วัดป่าสักที่เชียงราย เจดีย์วัดเจ็ดยอดที่เชียงใหม่ พระธาตุลำปางหลวงที่จังหวัดลำปาง

สำหรับที่เมืองเชียงแสนนั้นมีพระพุทธรูปโลหะขนาดใหญ่องค์หนึ่งชื่อพระเจ้า ล้านทอง หน้าตัก 4 ศอกปลาย 2 กำ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2032 โดยพระยาศรีรัชฎเงินกองเจ้าเมืองเงินยางเชียงแสน และยังมีพระเมาฬี(ยอดผม) ของพระพุทธรูปโลหะขนาดใหญ่มากชิ้นหนึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์เชียงแสน เล่ากันว่า มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งจมน้ำอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน ปัจจุบันยังสำรวจค้นหาไม่พบ ในพ.ศ. 2088 นั้นได้ เกิดแผ่นดินไหวในเชียงใหม่ จนทำให้ส่วนยอดของเจดีย์หลวงหักลง

กษัตริย์ราชวงศ์มังรายครองอาณาจักรล้านนาสืบต่อกันมาเป็นเวลา 262 ปี จนถึง พ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาอ่อนแอ ในไม่ช้าก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์แห่งพม่า ต่อมาได้เปลี่ยนสลับมาขึ้นกับอาณาจักรสยามกลับไปกลับมาหลายครั้ง ครั้งสุดท้าย พ.ศ. 2317 เมืองเชียงใหม่ได้ตกเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์ได้ทรงรวบรวมเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย และได้มีการพัฒนาบ้านเมืองนี้ในสมัยต่อมาเช่น พ.ศ. 2464 ได้สร้างทางรถไฟจากกรุงเทพผ่านดอยขุนตาลถึงเชียงใหม่ และ พ.ศ. 2539 เมืองเชียงใหม่ได้จัดงานฉลอง 700ปี นครเชียงใหม่

สำหรับเหตุการณ์สำคัญนั้นคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2541 ได้เกิดแผ่นดินไหวที่เชียงใหม่ ทำให้ลูกแก้วบนยอดพระธาตุดอยสุเทพตกลงมาแตก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานลูกแก้วดวงใหม่ไปทดแทน




อาณาจักรโยนก
(ที่มา :เว็บไซต์ www.gotoknow.org)


อาณาจักรโยนก มีจริงหรือไม่


เมื่อกล่าวถึงอาณาจักรโยนก มี นักวิชาการหลายท่านแสดงความเห็นว่าเป็นอาณาจักรที่มีอยู่แต่ในตำนาน ไม่มีตัวตนในความเป็นจริง เนื่องด้วยไม่สามารถค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีใด ๆ ที่พอจะยืนยันความมีตัวตนของอาณาจักรโยนกได้

แต่หากตั้งสมมุติฐานว่าที่ตั้งของอาณาจักรโยนกที่มีการกล่าวถึงในตำนานคือ บริเวณที่ราบลุ่มแม่จัน แม่สาย และเชียงแสน บริเวณดังกล่าวเราปฏิเสธไม่ได้ว่าได้มีการค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของ มนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยการค้นพบเครื่องมือหินกะเทาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง และพบเครื่องมือหินขัดในบริเวณที่ราบลุ่มอันมีแหล่งโบราณคดีกระจายตัวอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการมีมนุษย์อาศัยอยู่ในบริเวณ นี้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์

นักวิชาการบางท่านแสดงความคิดเห็นว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความล่าหลัง กว่าบริเวณอื่นในประเทศไทย  อันเนื่องมาจากที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากทะเล  โดยความเจริญในอดีตนั้นมีการแพร่กระจายมาจากเส้นทางคมนาคมทางทะเลเป็นสำคัญ 

ดังนั้นจึงทำให้ความเจริญจากแหล่งอารยธรรมภายนอกเข้าถึงพื้นที่ได้ยากและช้า กว่าบริเวณอื่นๆ จำทำให้มีวัฒนธรรม และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ค่อนข้างจะล่าหลังจึงสามารถพบเครื่องมือหินใน บริเวณนี้จำนวนมาก

พื้นที่แห่งนี้ได้มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงกลุ่มชนที่เคยอาศัย อยู่ในพื้นที่ได้แก่  พงศาวดารโยนก และตำนานสิงหนวัติกุมารได้ระบุว่ามีชาวโยนกได้อพยพลงมาจากทางทิศเหนือ และนำความเจริญเข้ามายังบริเวณนี้ โดยได้ร่วมกับชนพื้นเมืองในการก่อตั้งอาณาจักรขึ้นมา และเรียกว่า โยนกนาคพันธุ์บุรีสรีช้างแสน หากวิเคราะห์ดูชื่ออาณาจักร จะปรากฏว่ามีนำชื่อของกลุ่มชนสองกลุ่มรวมกัน ได้แก่ กลุ่มชนชาติโยนก

 (คำว่า “โยนก” หมายถึง ..กลุ่มชนที่มาจากที่อื่นที่มีความเจริญรุ่งเรืองกว่า..) …. และ กลุ่มชนชาติ นาค (คำว่า “นาค” หมายถึง …กลุ่มชนพื้นเมืองที่มีอารยธรรมที่ล้าหลังกว่ากลุ่มพวกโยนก และกลุ่มชนชาตินาคนี้อาจจะไม่ได้หมายถึง พวกนาคเพียงพวกเดียว แต่อาจจะรวมถึงกลุ่มชนอื่น เช่น ลัวะ  ข่า  ขมุ  ที่มีอารยธรรมด้อยกว่ากลุ่มพวกโยนก..)

การอพยพของชาวโยนกลงมาตั้งถิ่นฐานและอาณาจักรในครั้งนั้น ในพื้นที่เดิมมีกลุ่มชนที่ปกครองดูแลพื้นที่อยู่ก่อนแล้วได้แก่พวกขอม แห่งเมืองสุวรรณโคมคำ แต่เมืองสุวรรณโคมคำได้ล่มสลายลงไปเนื่องด้วยจากภัยธรรมชาติน้ำโขงได้กัด เซาะตัวเมืองพังเสียหายอย่างหนัก  พวกขอมก็ได้อพยพไปอยู่ที่เมืองใกล้เคียงซึ่งอยู่ทางต้นน้ำกกขึ้นไป ได้แก่เมืองอุโมงคเสลา ซึ่ง คำว่า “ขอม” ในที่นี้มีความเห็นจากนักวิชาการแบ่งเป็นสองประเด็นดังนี้ 

ประเด็นแรก หมายถึง พวกชนชาติขอม หรือเขมรที่อยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบันเดิมมีความเข้มแข็งขยายอิทธิพลขึ้น ไปถึงตอนใต้ของจีน ประเด็นที่สอง หมายถึง พวกที่อยู่ทางตอนใต้ไม่ได้หมายถึง ชาวขอมที่เป็นอาณาจักรขอมไม่    แต่ทั้งสองประเด็นนั้นก็ยังหาข้อสรุปยังไม่ได้ว่า ขอม นั้นหมายถึงพวกใด แต่มีสิ่งที่ตรงกันอยู่ที่ว่าก่อนที่พวกโยนกจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานมีการรวม กลุ่มก่อตั้งบ้าน เมืองขึ้นมาในบริเวณนี้ก่อนแล้ว


.............................................................................................................................................................................................................................................................................................................................


สำหรับความมีตัวตนของอาณาจักรโยนก


นักวิชาการหลายท่านที่ได้มาสำรวจบริเวณที่ได้สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของ ราชธานีอาณาจักรโยนกทั้งบริเวณคูคันดินในตัวอำเภอแม่สาย เมืองโบราณเชียงแสน   เวียงปรึกษา หรือ บริเวณเวียงหนองหล่ม ต่างกล่าวว่าโบราณวัตถุที่พบนั้นอายุไม่น่าจะแก่ไปกว่า พุทธศตวรรษที่ ๑๙  แต่มีสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจที่ยังไม่ได้รับการขุดค้นเพื่อหาความจริง ตามหลักวิชาการมีเพียงแต่การเดินสำรวจ ได้แก่บริเวณเวียงหนองหล่ม

ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นจุดศูนย์กลางของอาณาจักรโยนก สภาพของพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีการค้นพบซากโบราณสถานที่ และแหล่งโบราณคดีจำนวนมากทั่วบริเวณ บางแห่งอยู่ตามสันดอนกลางน้ำ ในแต่ละแห่งจะพบเศษโบราณวัตถุ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ปะปนอยู่ด้วยกัน

จึงทำให้เชื่อว่าบริเวณนี้น่าจะมีผู้อาณาอยู่กันอย่างต่อเนื่องยาวนาน เนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในพื้นที่ชุ่มน้ำทำให้เป็นสิ่งดึงดูด ผู้คนมาตั้งหลักแหล่งบริเวณนี้ เมื่อจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็ได้พัฒนาไปสู่ชุมชนเมือง และอาณาจักรต่อไป บริเวณแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ผู้เขียนให้ความสนใจศึกษาหาคำตอบถึง พื้นที่นี้ที่เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโยนก ที่ระบุในพงศาวดารโยนก หรือในตำนานสิงหนวัติกุมารหรือไม่

ข้อความที่กล่าวในพงศาวดารโยนก หรือตำนานสิงหวติกุมารมักไม่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการ เนื่องด้วยความอ่อนด้อยในเรื่องของระยะเวลาที่ระบุในเอกสารซึ่งกล่าวไปไกล เกินความเป็นจริง โดยปัจจุบันยังหาหลักฐานใดมายืนยันความเก่าแก่ตามเอกสารระบุได้

จนทำให้ดูเหมือนเรื่องที่กล่าวถึงไม่เป็นความจริง และชื่อสถานที่ที่ระบุในเอกสารยังหาหลักฐานมายืนยันความมีตัวตนที่แน่ชัดยัง ไม่พบ จึงทำให้เอกสารทั้งสองมักถูกมองข้ามไป แต่เมื่อมองเอกสารดังกล่าวอีกมุมหนึ่ง จะมีคำถาม เกิดขึ้นว่า ผู้แต่งหรือเขียนเอกสารทั้งสองนี้ได้เอาเค้าโครงเรื่องดังกล่าวมาจากไหน ทำไมถึงเขียนเล่าได้อย่างละเอียด ระบุระยะเวลาอย่างชัดเจน

เมื่อแยกเอาการกล่าวถึงอิทธิปาฏิหารย์ออก และลองเทียบเคียงระยะเวลาโดยใช้การคำนวณตามแบบของท่าน อ.มานิต  วัลลิโภดม ผู้เรียบเรียงตำนานสิงหนวติกุมารฉบับสอบค้น เรื่องราวต่าง ๆ ก็จะดูปะติดปะต่อกันขึ้นมา เพราะเมื่ออาณาจักรโยนกนครได้ล่มสลายในปี พ.ศ. ๑๕๕๐  ได้มีการตั้งเวียงปรึกษาขึ้นมา และประชาชนเลือกตั้งขุนมาปกครองบ้านเมือง จนถึง พ.ศ. ๑๖๓๘

ต่อจากนั้นได้มีการกล่าวในพงศาวดารโยนก ว่ามีการก่อตั้งอาณาจักรหิรัญนครเงินยางขึ้นมาโดยรวบรวมบ้านเมืองที่แตกสลาย ตัวของอาณาจักรโยนกขึ้นมาใหม่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ลาว หรือ ดาว จนมาถึงสมัยของพ่อขุนมังราย แห่งราชวงศ์ลาว ซึ่งได้สถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นมา และย้ายศูนย์กลางอำนาจจากลุ่มแม่น้ำกกมาสู่ลุ่มแม่น้ำปิง

ความเชื่อมโยงของอาณาจักรโยนก อาณาจักรหิรัญนครเงินยาง และอาณาจักรล้านนานั้น ยังจำเป็นจะต้องศึกษาโดยละเอียดรอบคอบถึงความเกี่ยวเนื่องเพื่อให้เข้าถึง ข้อเท็จจริงต่อไป

บทความที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการสอบทานเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง กับอาณาจักรโยนนคร โดยใช้พงศาวดารโยนก ของ พระยาประชากิจกรจักร์ เป็นหลักและใช้เอกสารอื่นสอบทาน ดังนี้

๑.  ตำนานสิงหนวติกุมาร  ของ มานิต  วัลลิโภดม
๒.  ตำนานเมืองเชียงแสน  ของ พระธรรมวิมลโมลี
๓.  ตำนานโยนกนาคนครไชยบุรีสรีช้างแส่น กล่าวถึงพระเจ้าพรหมมหาราช มหาราชองค์แรกของชนชาติไทย  ของ  สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย

ถ้อยคำและสำนวนที่ใช้ยังคงตามแบบของต้นฉบับเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้บางคำ หรือบางประโยคนั้นฟังอาจจะไม่คุ้นเคย




ประวัติอาณาจักรโยนกเชียงแสน
ที่มา : http://eve270338.blogspot.com/2013/07/blog-post_7033.html
เขียนโดย Anusara Yangkul


1. อาณาจักรโยนกเชียงแสน ตั้งขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นแหล่งกำเนิดศิลปะสกุลช่างเชียงแสน ซึ่งมีลักษณะช่างชั้นสูงสุดสกุลหนึ่งของไทย อาณาจักรนี้สูญเสียอำนาจให้แก่ขอมถึง 2 ครั้ง และล่มสลายไปเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 15

2. ตำนานสิงหนวัติ ได้กล่าวถึง อาณาจักรโยนกเชียงแสนว่า พระเจ้าสิงหนวัติ ได้อพยพผู้คนเดินทางลงมาจากทางตอนใต้ของจีน และมาสร้างเมืองชื่อ นาคพันธุ์สิงหนวัตินคร ขึ้นในที่ซึ่งเป็นอำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงรายปัจจุบันนี้ มีเมืองเชียงแสนเป็นราชธานี

ต่อมากลายเป็นอาณาจักรใหญ่รอบคลุมดินแดนกว้างขวาง ทางทิศตะวันออกตั้งแต่แคว้นตังเกี๋ยของเวียดนามปัจจุบันไปจดแม่น้ำสาละวิ นเขตรัฐฉานในประเทศพม่าทางเหนือจากบริเวณเมืองหนองแส มณฑลยูนนานของจีนลงมาถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ถึงสมัย พระเจ้าพังคราช อาณาจักรโยนกเชียงแสนถูกขอมรุกรานจนต้องอพยพราษฎรไปสร้างเมืองใหม่ที่เวียง สีทอง ริมฝั่งแม่น้ำแม่สาย

ต่อมา เจ้าชายพรหมกุมาร ราชโอรสขับไล่ขอมได้สำเร็จ จึงเชิญเสด็จพระเจ้าพังคราชกลับไปครองเชียงแสนตามเดิม ส่วนพระองค์ได้พาผู้คนไปสร้างเมืองไชยปราการทางใต้ของเชียงแสน เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันขอมกับมาขึ้นไปรุกราน
อาณาจักรโยนกเชียงแสน

อาณาจักรโยนกเชียงแสน   (พุทธศตวรรษที่ 12 – 16)   เป็นอาณาจักรเก่าแก่ของชนชาติไทยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13  ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย  ปัจจุบันคือ อำเภอเชียงแสน  จังหวัดเชียงราย  เป็นสถานที่ตั้งถิ่นฐานครังแรกหลังจากที่ชนชาติไทยได้อพยพหนีการรุกรานของ จีนลงมา  

โดยพระเจ้าสิงหนวัติ โอรสของพระเจ้าพีล่อโก๊ะ  ได้เป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสน หรือ โยนกนาคนคร ขึ้น  นับเป็นอาณาจักรทีมียิ่งใหญ่และสง่างาม  จนถึงสมัยของพระเจ้าพังคราช จึงตกอยู่ภายใต้อารยธรรมและการปกครองของพวก ลอม”  หรือ  ขอมดำ”  ซึ่งเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ก่อนที่จะมีการก่อตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสน ได้เข้ายึดครองโยนกเชียงแสน
ในสมัยของพระเจ้าพรหม  โอรสของพระเจ้าพังคราช  ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เป็นนักรบและมีความกล้าหาญ ได้ทำการต่อต้านพวกขอม  ไม่ยอมส่งส่วย  เมื่อขอมยกกองทัพมาปราบปรามก็ได้โจมตีขับไล่กองทัพขอมแตกพ่ายไป  และยังได้แผ่อิทธิพลขยายอาณาเขตเข้าไปในดินแดนของขอม  ยึดไปถึงเมืองเชลียง  และล้านนา ล้านช้าง  แล้วอัญเชิญพระเจ้าพรหม พระราชบิดาให้กลับมาครองเมืองโยนกเชียงแสนเหมือนเดิน  แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น เมืองชัยบุรี 

ส่วนพระเจ้าพรหมได้เสด็จไปสร้างเมืองใหม่ทางใต้ของโยนกเชียงแสน คือ เมืองชัยปราการ ให้พระเชษฐาคือ เจ้าทุกขิตราช เป็นพระอุปราช ปกครองเมือง  นอกจากนั้นยังได้สร้างเมืองอื่นๆ ขึ้นอีก เช่น ชัยนารายณ์  นครพางคำ    
เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าพังคราช  พระเจ้าทุกขิตราชก็ได้ขึ้นครองเมืองชัยบุรี (โยนกเชียงแสน)  ส่วนพระเจ้าพรหมและโอรสของพระองค์ได้ครองเมืองชัยปราการในสมัยต่อมา  และเป็นระยะเวลาที่พวกขอมเริ่มเสื่อมอำนาจลง  

เมื่อหมดสมัยของพระเจ้าพรหม เป็นต้นไป อาณาจักรโยนกเชียงแสนเริ่มเสื่อมอำนาจลง  กษัตริย์ล้วนอ่อนแอ หย่อนความสามารถ  จนถึง พ.ศ. 1731  พวกมอญก็ได้ยกทัพเข้ายึดครอบครองอาณาจักรขอม และได้แผ่อำนาจเข้ายึดเมืองโยนกเชียงแสน  ซึ่งขณะนั้นมีพระเจ้าชัยศิริ โอรสของพระเจ้าพรหมเป็นกษัตริย์ปกครอง  

พระเจ้าชัยศิริไม่สามารถต่อต้านกองทัพมอญได้ จึงพากันเผาเมืองทิ้ง เพื่อไม่ให้เป็นที่พำนัก และเสบียงอาหารแก่พวกมอญ  แล้วพากันอพยพลงมาทางใต้ จนมาถึงเมืองร้าง้แห่งหนึ่งในแขวงเมืองกำแพงเพชร ชื่อเมืองแปป ได้อาศัยอยู่ที่เมืองแปประยะหนึ่ง เห็นว่าชัยภูมิไม่สู้เหมาะเพราะอยู่ใกล้ขอม จึงได้อพยพลงไปทางใต้จนถึงถึงเมืองนครปฐมจึงได้สร้างเมืองนครปฐมและพำนัก อยู่ ณ ที่นั้น
ส่วนกองทัพมอญ หลังจากรุกรานเมืองชัยปราการแล้ว  ก็ได้ยกล่วงเลยตลอดไปถึงเมืองอื่นๆ ในแคว้นโยนกเชียงแสน จึงทำให้พระญาติของพระเจ้าชัยศิริซึ่งครองเมืองชัยบุรี  ต้องอพยพหลบหนีข้าศึกเช่นกัน ปรากฏว่าเมืองชัยบุรีนั้นเกิดน้ำท่วม บรรดาเมืองในแคว้นโยนกต่างก็ถูกทำลายลงหมด  พวกมอญเห็นว่าหากเข้าไปตั้งอยู่ก็อาจเสียแรง เสียเวลา และทรัพย์สินเงินทอง เพื่อที่จะสถาปนาขึ้นมาใหม่ พวกมอญจึงยกทัพกลับ เป็นเหตุให้เมืองโยนกเชียงแสนขาดผู้ปกครองอยู่ระยะหนึ่ง

ในระยะที่ฝ่ายไทยกำลังระส่ำระสายอยู่นี้ เป็นโอกาสให้ขอมซึ่งมีราชธานีอยู่ที่เมืองละโว้ ถือสิทธิ์เข้าครอบครองแคว้นโยนกเชียงแสน  แล้วบังคับให้คนไทยที่ตกค้างอยู่นั้นให้ส่งส่วยแก่ขอม  ความเสื่อมสลายของอาณาจักรโยนกเชียงแสนครั้งนี้ ทำให้ชาวไทยต้องอพยพย้ายกันลงมาเป็นสองสายคือ สายของพระเจ้าชัยศิริ อพยพลงมาทางใต้ และได้อาศัยอยู่ชั่วคราวที่เมืองแปป 

ส่วนสายของพระเจ้าชัยบุรีได้แยกออกไปทางตะวันออกของสุโขทัย จนมาถึงเมืองนครไทย จึงได้เข้าไปตั้งรกรากอยู่ ณ เมืองนั้นด้วยเห็นว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสม เพราะเป็นเมืองใหญ่ และตั้งอยู่สุดเขตของขอมทางเหนือ  ผู้คนในเมืองนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไทย อย่างไรก็ตามในช่วงแรกที่เข้าไปตั้งเมืองอยู่นั้น ก็ต้องยอมอ่อนน้อมต่อขอม ซึ่งขณะนั้นยังคงเรืองอำนาจอยู่
ในเวลาต่อมาเมื่อคนไทยอพยพลงมาจากน่าน เจ้าเป็นจำนวนมาก  ทำให้นครไทยมีกำลังผู้คนมากขึ้น  ข้างฝ่ายอาณาจักรโยนกเชียงแสนนั้น เมื่อพระเจ้าชัยศิริทิ้งเมืองลงมาทางใต้ ก็เป็นเหตุให้ดินแดนแถบนั้นว่างผู้ปกครอง และระยะต่อมาชาวไทยที่ยังคงเหลืออยู่ในอาณาจักรโยนกเชียงแสนได้รวมตัวกัน ตั้งเมืองขี้นหลายแห่งตั้งเป็นอิสระแก่กัน  บรรดาหัวเองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นนับว่าสำคัญ มีอยู่สามเมืองด้วยกัน คือ นครเงินยาง  อยู่ทางเหนือ  นครพะเยา อยู่ตอนกลาง และเมืองหริภุญไชย อยู่ทางใต้ 

ส่วนเมืองนครไทยนั้นด้วยเหตุที่ว่ามีที่ตั้งอยู่ปลายทางการอพยพ และอาศัญที่มีราชวงศ์เชื้อสายโยนกอพยพมาอยู่ที่เมืองนี้ จึงเป็นทีนิยมของชาวไทยมากกว่า
เมื่อบรรดาชาวไทยเกิดความคิดที่จะสลัด แอกจากขอมครั้งนี้  บุคคลสำคัญในการนี้คือ พ่อขุนบางกลางท่าว  ซึ่งเป็นเจ้าเมืองบางยาง  และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองตราด ได้ร่วมกำลังกัน ยกขึ้นไปโจมตีขอม จนได้เมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองหน้าด่านของขอมไว้ได้ เมื่อปี พ.ศ. 1800 การชัยใน ครังนี้นับว่าเป็นนิมิตหมายเบื้องต้นแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทย และเป็นลางร้ายแห่งความเสื่อมโทรมของขอม  เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมาอาณาจักรขอมก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง จนสิ้นสุดอำนาจไปจากบริเวณนี้

ต่อมาเมืองโยนกเชียงแสน (เมืองชัยบุรี)  เกิดน้ำท่วม  บรรดาเมืองในแคว้นโยนกเชียงแสนต่างๆ ก็ถูกทำลายลงหมด  พวกมอญเห็นว่าหากจะเข้าไปบูรณะซ่อมแซม ปฎิสังขรเมืองใหม่ จะสิ้นเปลืองเงินทองจำนวนมาก จึงได้พากันยกทัพกลับ   เป็นเหตุให้เมืองโยนกเชียงแสน (ชัยบุรี) ขาดกษัตริย์ปกครอง ทำให้อำนาจ และอารยธรรมเริ่มเสื่อมลง 

ชนชาติไทยในโยนกเชียงแสนจึงได้พากันอพยพลงมาทางตอนใต้ แล้วได้สร้างอาณาจักรใหม่ขึ้นคือ อาณาจักรล้านนา  ซึ่งต่อมาได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นอาณาจักร




ประวัติอำเภอเชียงแสน
(ภาพและบทความ จาก www.Chiangrai.net)


วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน (คลิกดูภาพใหญ่)

ในปี พ.ศ. 2413 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอินทวิชยานนท์ (พระเจ้านครเชียงใหม่) ได้ทรงส่งใบบอกข้อราชการไปยังกรุงเทพมหานครว่า มีชาวพม่า ไทลื้อ และไทเขินจากเมืองเชียงตุงประมาณ 300 ครอบครัวได้อพยพลงมาอยู่เมืองเชียงแสนและตั้งตนเป็นอิสระไม่ยอมอยู่ใต้การ ปกครองของสยามและล้านนา จึงแต่งคนไปว่ากล่าวให้ถอยออกจากเมือง

ถ้าอยากจะอยู่ ให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเมืองเชียงรายและนครเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้ผล ไม่มีใครยอมออกไป ในปี พ.ศ. 2417 พระเจ้านครเชียงใหม่จึงทรงเกณฑ์กำลัง 4,500 คน จากเมืองต่าง ๆ ยกทัพจากนครเชียงใหม่มาเมืองเชียงรายและ เมืองเชียงแสน ไล่ชนเหล่านั้นออกจากเมืองเชียงแสน จึงทำให้เชียงแสนกลายเป็นเมืองร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2423 ได้ทรงให้เจ้าอินต๊ะ ราชโอรสในพระเจ้าบุญมาเมือง พระเจ้าผู้ครองนครลำพูนมาเป็นเจ้าเมือง (ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์) องค์แรก และให้พระเจ้าผู้ครองนครลำพูนทรงเกณฑ์ราษฎรจากหลาย ๆ เมือง

ประมาณ 1,500 ครอบครัว ขึ้นมาตั้งรกราก “ปักซั้งตั้งถิ่น” อยู่ที่เมืองเชียงแสนจวบจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2442 ทางราชการได้ย้ายศูนย์การปกครองเมืองไปอยู่ที่ตำบลกาสา เรียกชื่อว่า อำเภอเชียงแสน ส่วนบริเวณเมืองเชียงแสนเดิมถูกยุบลงเป็น กิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง ขึ้นกับอำเภอเชียงแสน และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กิ่งอำเภอเชียงแสนในปี พ.ศ. 2482 (โดยอำเภอเชียงแสนซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลกาสานั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอแม่ จันแทน) จนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเชียงแสน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา 
ที่ตั้งและอาณาเขต

อำเภอเชียงแสนตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอแม่สาย รัฐฉาน (ประเทศพม่า) และแขวงบ่อแก้ว (ประเทศลาว)
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงบ่อแก้ว (ประเทศลาว) และอำเภอเชียงของ
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเชียงของ อำเภอดอยหลวง และอำเภอแม่จัน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแม่จันและอำเภอแม่สาย

โบราณสถานวัดป่าสัก


(ที่มาของภาพ : chaingraifocus.com)
ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์เชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย นอกกำแพงเมืองโบราณเชียงแสนไปทางตะวันตก ประมาณ 200 เมตร จากสภาพโดยทั่วไปวัดป่าสักเป็นโบราณสถานร้าง โดยรอบของเขตโบราณสถานเป็นพื้นที่ของราษฎร มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่โดยรอบ วัดป่าสักสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1838 ในสมัยพญาแสนภูเนื่องจากมีพระมหาเถระเจ้าองค์หนึ่งนำพระบรมธาตุมาถวายพระแสน ภู จึงโปรดให้สร้างมหาเจดีย์นอกเมืองโดยสร้างให้เป็นวัดขึ้นเอาต้นสักมาปลูกทำ กำแพง 300 ต้น

จึงเรียกว่า วัดป่าสัก และได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า 3679-3717 กำหนดขอบเขตในเล่มที่ 74 ตอนที่ 96 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2500 หน้า 2670-2678
ประติมากรรม
เจดีย์ประธาน มีลักษณะเป็นเจดีย์ 5 ยอด สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1871 ในรัชกาลของพญาแสนภู ผังของส่วนล่างสี่เหลียมจัตุรัส ฐานล่างสุดมีลวดลายเรียบง่าย ผนังของฐานชั้นถัดขึ้นไปเจาะช่องผนังเป็นซุ้มจระนำ ด้านละ 3 ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยและมีจระนำขนาดเล็กอีก 4 สลับไว้ประดิษฐานรูปเทวดายืน และชั้นฐานบัวลูกแก้วอกไก่รองรับเรือนธาตุ

ส่วนเรือนธาตุมีชั้นลดทำเสาอิงประดับมุม และซุ้มจระนำประดิษฐาน พระพุทธรูปยืนกรอบซุ้มประดับแถวเพกา ปลายกรอบรูปหัวพญานาคหลายหัวที่มุมทั้ง 4 ของชั้นลดประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็กล้อมแท่น 8 เหลี่ยม ซึ่งรองรับบัวกลุ่มและทองระฆังส่วนปลายคือ ปล้อไฉน และปลี
สภาพประติมากรรม
ก่อนการอนุรักษ์ ประติมากรรมอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม มีคราบสกปรกจากเชื้อราดำ แต่ได้รับการอนุรักษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2533 แล้ว และเนื่องจากบริเวณวัดป่าสักมีความชื้นมากและมีฝนตก จึงทำให้หลังการอนุรักษ์ไม่นานเกิดวัชพืชจำพวกตะไคร่และเชื้อราขึ้นบริเวณ ส่วนลางของเจดีย์ ต่อมาควรดำเนินงานติดตามผลการอนุรักษ์ เพื่อรักษาสถานประติมากรรมให้อยู่คงนานสืบไป




โบราณสถานยุคอาณาจักรเชียงแสน
(ที่มาของภาพ : จากหลากหลายเว็บไซต์)





พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน
(ภาพจากหลากหลายเว็บไซต์)





แผนที่อาณาจักรโยนก





.............................................................................................................................................................................................................................................................................................................................

รายพระนามกษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงแสน
(ที่มา วิกิพีเดีย)
ยุคเมืองหิรัญนคร
1 พญาลวจักราช (ลาวจก)
2 พญาลาวเก๊าแก้วมาเมือง
3 พญาลาวเส้า (ลาวเสา)
4 พญาลาวตัง (ลาวพัง)
5 พญาลาวกลม (ลาวหลวง)
6 พญาลาวเหลว
7 พญาลาวกับ
8 พญาลาวคิม (ลาวกิน)

ยุคเมืองเงินยาง
1 พญาลาวเคียง (กษัตริย์ลำดับที่ 9 ของเมืองเชียงแสน)
2 พญาลาวคิว (กษัตริย์ลำดับที่ 10 ของเมืองเชียงแสน)
3 พญาลาวเทิง (ลาวติง) (กษัตริย์ลำดับที่ 11 ของเมืองเชียงแสน)
4 พญาลาวทึง (ลาวเติง) (กษัตริย์ลำดับที่ 12 ของเมืองเชียงแสน)
5 พญาลาวคน (กษัตริย์ลำดับที่13 ของเมืองเชียงแสน)
6 พญาลาวสม (กษัตริย์ลำดับที่149 ของเมืองเชียงแสน)
7 พญาลาวกวก (ลาวพวก) (กษัตริย์ลำดับที่ 15 ของเมืองเชียงแสน)
8 พญาลาวกิว (ลาวกวิน) (กษัตริย์ลำดับที่ 16 ของเมืองเชียงแสน)
9 พญาลาวจง (กษัตริย์ลำดับที่ 17 ของเมืองเชียงแสน)
10 พญาจอมผาเรือง (กษัตริย์ลำดับที่ 18 ของเมืองเชียงแสน)
11 พญาลาวเจิง (ลาวเจื๋อง) (กษัตริย์ลำดับที่ 19 ของเมืองเชียงแสน)
12 พญาลาวเงินเรือง (กษัตริย์ลำดับที่ 20 ของเมืองเชียงแสน)
13 พญาลาวซิน (ลาวชื่น) (กษัตริย์ลำดับที่ 21 ของเมืองเชียงแสน)
14 พญาลาวมิง (กษัตริย์ลำดับที่ 22 ของเมืองเชียงแสน)
15 พญาลาวเมือง (ลาวเมิง) (กษัตริย์ลำดับที่ 23 ของเมืองเชียงแสน)
16 พญาลาวเมง (พระบิดาพญามังราย แห่งล้านนา) (กษัตริย์ลำดับที่ 24 ของเมืองเชียงแสน)
17 พญามังราย(แห่งล้านนา) (กษัตริย์ลำดับที่ 25 ของเมืองเชียงแสน)

พญามังรายเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 25 (สุดท้าย)ของอาณาจักรเชียงแสน ขณะเดียวกันก็เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 1 ของอาณาจักรล้านนา) 

ข้อมูลจาก : หนังสือศิลปวัฒนธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น