วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อาณาจักรล้านนา

อาณาจักรล้านนา 
(ข้อมูล : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
(ภาพ : จากหลากหลายเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต)


                

อาณาจักรล้านนา  คือ ราชอาณาจักรของชาวไทยวนในอดีตที่ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ตลอดจนสิบสองปันนา เช่น เมืองเชียงรุ่ง (จิ่งหง) มณฑลยูนนาน ภาคตะวันออกของพม่า ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีเมืองเชียงตุงเป็นเมืองเอก ฝั่งตะวันตกแม่นำสาละวิน มีเมืองนายเป็นเมืองเอก และ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน

โดยมีเมืองเชียงใหม่ เป็นราชธานี มีภาษา ตัวหนังสือ วัฒนธรรม และประเพณีเป็นของตนเอง ต่อมาถูกปกครองในฐานะรัฐบรรณาการของอาณาจักรตองอู อาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรอังวะ จนสิ้นฐานะอาณาจักร กลายเป็นเมืองส่วนหนึ่งของอาณาจักรอังวะในราชวงศ์นยองยาน ไปในที่สุด


ชื่อ

ล้านนา หมายถึง ดินแดนที่มีนานับล้าน หรือมีที่นาเป็นจำนวนมาก คู่กับล้านช้าง คือดินแดนที่มีช้างนับล้านตัว

เมื่อปี พ.ศ. 2530 คำว่า "ล้านนา" กับ "ลานนา" เป็นหัวข้อโต้เถียงกัน ซึ่งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมี ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน ได้ให้ข้อยุติว่า "ล้านนา" เป็นคำที่ถูกต้อง และเป็นคำที่ใช้กันในวงวิชาการ

ปัญหาที่นำไปสู่การโตเถียงกันนั้น สืบเนื่องมาจากในอดีตการเขียนมักไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องวรรณยุกต์ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า แม้จะเขียนโดยไม่มีรูปวรรณยุกต์โทกำกับ แต่ให้อ่านเหมือนมีวรรณยุกต์โท[2] สำหรับคำ "ลานนา" น่าจะมาจากพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ ว่า "ลานนาหมายถึงทำเลทำนา" ซึ่งทำให้คำว่าลานนาใช้กันมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ

ภายหลัง พ.ศ. 2510 นักวิชาการระดับสูงพบว่าล้านนาเป็นคำที่ถูกต้องแล้ว และชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อ ดร. ฮันส์ เพนธ์ ค้นพบคำว่า "ล้านนา" ในศิลาจารึกที่วัดเชียงสา ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2096

อย่างไรก็ดี การตรวจสอบคำว่า ล้านนา ได้อาศัยศัพท์ภาษาบาลี โดยพบว่าท้ายคัมภีร์ใบลานจากเมืองน่านและที่อื่นๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 50 แห่ง เขียนว่า ทสลกฺขเขตฺตนคร (LN-Dassalakakettanakorn.png) /ทะสะลักขะเขตตะนะคอน/ แปลว่า เมืองสิบแสนนา เป็นคำคู่กับเมืองหลวงพระบางที่ชื่ออาณาจักร ศรีสตนาคนหุต หรือช้างร้อยหมื่น

คำว่าล้านนาน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพญากือนา เนื่องจากพระนาม "กือนา" หมายถึงจำนวนร้อยล้าน และต่อมาคำล้านนาได้ใช้เรียกกษัตริย์และประชาชน แพร่หลายมากในสมัยพระเจ้าติโลกราช ส่วนการใช้ว่า "ล้านนาไทย" นั้น เป็นเสมือนการเน้นความเป็นไทย ซึ่งใช้กันมาในสมัยหลังด้วยเหตุผลทางการเมือง


.............................................................................................................................................................................................................................................................................................................................


อาณาเขต

หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ดินแดนล้านนานั้นหมายถึงดินแดนบางส่วนของอาณาเขตบริเวณ ลุ่มน้ำแม่โขง ลุ่มน้ำสาละวิน แม่น้าเจ้าพระยา ตลอดจนเมืองที่ตั้งตามลุ่มน้ำสาขาเช่นแม่นำกก แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปาย แม่นำแตง แม่น้ำงัด ฯลฯ

โดยมีอาณาเขตทางทิศใต้จดเมืองตาก (อำเภอบ้านตากในปัจจุบัน) และจดเขตดินแดนด้านเหนือของอาณาจักรสุโขทัย ทิศตะวันตกเลยลึกเข้าไปในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ทิศตะวันออกจดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ทิศเหนือจดเมืองเชียงรุ่ง (หรือคนจีนเรียกในปัจจุบันว่า เมืองจิ่งหง

เนื่องจากคนจีนออกเสียงภาษา"ไทยลื้อ"ไม่ชัด จาก "เจียงฮุ่ง" จึงกลายเป็น "จิ่งหง"Jinghong ซึ่งบริเวณชายขอบของล้านนา อาทิ เมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองปุ เมืองสาด เมืองนาย เป็นบริเวณที่รัฐล้านนาแผ่อิทธิพล ไปถึงในเมืองนั้นๆ (ในบางสมัยเช่นสมัยพญามังราย พระเจ้าติโลกราช ที่มีพระราชแสนยานุภาพเกรียงไกร)

ในสมัยโบราณได้กล่าวถึงเมืองขึ้นกับดินแดนล้านนามี 57 เมือง ดังปรากฏในตำนาน พื้นเมืองของเชียงใหม่ว่า ใน สัตตปัญญาสล้านนา 57 หัวเมือง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่ามีเมืองใดบ้าง ปัจจุบันมีหลักฐานที่พม่านำไปจากเชียงใหม่ในสมัยที่พม่าปกครองเมือง เชียงใหม่ (พ.ศ. 2101-2317) และได้แปลเป็นภาษาพม่า

ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 ทางมหาวิทยาลัย Yangon ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ) ชื่อ Zinme Yazawin หรือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่า(ชื่อเต็มดูที่อ้างอิง ท้ายนี้)ได้ระบุเมืองต่างๆ กว่า 50 หัวเมือง(รายละเอียดชื่อเมืองต่างๆปรากฏอยู่ในหนังสือ Zinme Yazawin ภาคภาษาอังกฤษ อยู่แล้ว)

เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงของ เมืองพร้าว เมืองเชียงดาว เมืองลี้ เมืองยวม เมืองสาด เมืองนาย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงคำ เมืองเชียงตอง เมืองน่าน เมืองเทิง เมืองยอง เมืองลอง เมืองตุ่น เมืองแช่ เมืองอิง เมืองไลค่า เมืองลอกจ๊อก เมืองปั่น เมืองยองห้วย เมืองหนองบอน เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง เมืองจำคา เมืองพุย เมืองสีซอ เมืองแหง เมืองหาง เมืองพง เมืองด้ง ฯลฯ



รายพระนามพระมหากษัตริย์ล้านนาในราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 1835 - 2101 หรือ 266 ปี )

1              พญามังราย           พ.ศ. 1808 - 1854 (19 ปี)
2              พญาไชยสงคราม  พ.ศ. 1854 - 1868 (14 ปี)
3              พญาแสนภู            พ.ศ. 1868 - 1877 (9 ปี)
4              พญาคำฟู               พ.ศ. 1877 - 1879 (2 ปี)
5              พญาผายู               พ.ศ. 1879 - 1898 (19 ปี)
6              พญากือนา            พ.ศ. 1898 - 1928 (30 ปี)
7              พญาแสนเมืองมา พ.ศ. 1928 - 1944 (16 ปี)
8              พญาสามฝั่งแกน   พ.ศ. 1954 - 1984 (30 ปี)
9              พระเจ้าติโลกราช  พ.ศ. 1984 - 2030 (46 ปี)
10           พญายอดเชียงราย               พ.ศ. 2030 - 2038 (8 ปี)
11           พญาแก้ว (พระเมืองแก้ว)    พ.ศ. 2038 - 2068 (30 ปี)
12           พญาเกศเชษฐราช (พระเมืองเกษเกล้า) พ.ศ. 2068 - 2081 (13 ปี) ครั้งที่ 1
13           ท้าวซายคำ            พ.ศ. 2081 - 2086 (5 ปี)
               พญาเกศเชษฐราช (พระเมืองเกษเกล้า) พ.ศ. 2086 - 2088 (2 ปี) ครั้งที่ 2
14           พระนางจิรประภา พ.ศ. 2088 - 2089 (1 ปี)
15           พระไชยเชษฐา       พ.ศ. 2089 - 2090 (1 ปี)
               ว่างกษัตริย์  พ.ศ.      2090 - 2094 (4 ปี)
16           พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ (ท้าวเม่กุ) พ.ศ. 2094 - 2107 (13 ปี)
ตั้งแต่ พ.ศ. 2101 ปกครองภายใต้อำนาจพม่า


.............................................................................................................................................................................................................................................................................................................................


ประวัติศาสตร์

การก่อตั้งอาณาจักร
พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์; พญามังราย พญาร่วง และพญางำเมือง ขณะทรงปรึกษาหารือการสร้างเมืองเชียงใหม่
พญามังราย กษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยาง องค์ที่ 25 ในราชวงศ์ลวจังกราชปู่เจ้าลาวจก ได้เริ่มตีเมืองเล็กเมืองน้อย ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และแม่น้ำปิงตอนบน รวบรวมเมืองต่างๆให้เป็นปึกแผ่น

นอกจากเงินยางแล้ว ยังมีเมืองพะเยาของพญางำเมืองพระสหาย ซึ่งพญามังรายไม่ประสงค์จะได้เมืองพะเยาด้วยการสงคราม แต่ทรงใช้วิธีผูกสัมพันธไมตรีแทน หลังจากขยายอำนาจระยะหนึ่ง พระองค์ทรงย้ายศูนย์กลางการปกครอง โดยสร้างเมืองเชียงรายขึ้นแทนเมืองเงินยาง เนื่องด้วยเชียงรายตั้งอยู่ริมแม่น้ำกกเหมาะเป็นชัยสมรภูมิ ตลอดจนทำการเกษตรและการค้าขาย
หลังจากได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองมา อยู่ที่เมืองเชียงรายแล้ว พระองค์ก็ได้ขยายอาณาจักรแผ่อิทธิพลลงทางมาทางทิศใต้ ขณะนั้นก็ได้มีอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนอยู่แล้วคือ อาณาจักรหริภุญชัย มี นครลำพูนเป็นเมืองหลวง ตั้งอยู่ในชัยสมรภูมิที่เหมาะสมประกอบด้วยมีแม่น้ำสองสายไหลผ่านได้แก่แม่ น้ำกวง และแม่น้ำปิงซึ่งเป็นลำน้ำสายใหญ่ไหลลงสู่ทะเลเหมาะแก่การค้าขาย มีนครลำปางเป็นเมืองหน้าด่านคอยป้องกันศึกศัตรู

สองเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่มีกษัตริย์ปกครองอย่างเข้มแข็ง การที่จะเป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้ได้จะต้องตีอาณาจักรหริภุญชัยให้ได้ พระองค์ได้รวบรวมกำลังผู้คนจากที่ได้จากตีเมืองเล็กเมืองน้อยรวมกันเข้าเป็น ทัพใหญ่และยกลงใต้เพื่อจะตีอาณาจักรหริภุญชัยให้ได้ โดยเริ่มจากตีเมืองเขลางค์นคร นครลำปางเมืองหน้าด่านของอาณาจักรหริภุญชัยก่อน

เมื่อได้เมืองลำปางแล้วก็ยกทัพเข้าตีนครลำพูน (แคว้นหริภุญชัย) พระองค์เป็นกษัตริย์ชาตินักรบมีความสามารถในการรบไปทั่วทุกสารทิศ สามารถทำศึกเอาชนะเมืองเล็กเมืองน้อยแม้กระทั่งอาณาจักรหริภุญชัยแล้วรวบ เข้ากับอาณาจักรโยนกเชียงแสนได้อย่างสมบูรณ์

หลังจากพญามังรายรวบรวมอาณาจักรหริภุญชัยเข้ากับโยนกเชียงแสนเสร็จสิ้นแล้ว ได้ขนามนามราชอาณาจักรแห่งใหม่นี้ว่า "อาณาจักรล้านนา" พระองค์มีดำริจะสร้างราชธานีแห่งใหม่นี้ให้ใหญ่โตเพื่อให้สมกับเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งอาณาจักรล้านนาทั้งหมด

พร้อมกันนั้นก็ ได้อัญเชิญพระสหายสนิทร่วมน้ำสาบานสองพระองค์ได้แก่ พญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา และ พ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย มาร่วมกันสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ในสมรภูมิบริเวณที่ลุ่มริมฝั่งมหานทีแม่ระ มิงค์ (แม่น้ำปิง) โดยตั้งชื่อราชธานีแห่งใหม่นี้ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"  

แต่ก่อนที่จะตั้งเมือง พระองค์ทรงได้สร้างราชธานีชั่วคราวขึ้นก่อนแล้ว ซึ่งก็เรียกว่า เวียงกุมกาม แต่ เนื่องจากเวียงกุมกามประสบภัยธรรมชาติใหญ่หลวงเกิดน้ำท่วมเมืองจนกลายเป็น เมืองบาดาล ดังนั้นพระองค์จึงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ นครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1839 และได้เป็นศูนย์กลางการปกครองราชอาณาจักรล้านนานับแต่นั้น

นครเชียงใหม่มีอาณาเขตบริเวณอยู่ระหว่างเชิงดอยอ้อยช้าง (ดอยสุเทพ) และ บริเวณที่ราบฝั่งขวาของแม่น้ำปิง (พิงคนที) นับเป็นสมรภูมิที่ดีและเหมาะแก่การเพาะปลูกเนื่องจากเป็นบริเวณที่ราบลุ่มมี แม่น้ำไหลผ่าน


.............................................................................................................................................................................................................................................................................................................................


การเมือง-การปกครองในสมัยราชวงศ์มังราย

พญามังรายทรงส่งพระญาติวงศ์ของพระองค์ ไปปกครองหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองขึ้น หรือเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น เมืองเขลางค์ (ลำปาง) เมืองเขมรัฐเชียงตุง (ในพม่า) และ เชียงรุ้ง (สิบสองปันนาในจีน) ทรงส่งพระราชโอรสไปปกครอง เมืองที่ใหญ่และสำคัญๆ ได้แก่ เมืองนาย (หัวเมืองไทใหญ่) และเชียงราย ซึ่งเคยเป็นเมืองราชธานีของล้านนา

รัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1985-2030) พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 ในราชวงศ์มังราย พระองค์ได้รับการยกย่องให้มีฐานะเป็น "ราชาธิราช" พระองค์ทรงแผ่ขยายขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรล้านนาให้ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่า เดิม

ด้านทิศเหนือ เมืองเชียงรุ้ง เมืองยอง
ด้านทิศตะวันออก เมืองนันทบุรี (น่าน) แพร่ ทุ่งยั้ง (ส่วนหนึ่งของอุตรดิตถ์) จรดถึง หลวงพระบาง
ด้านทิศตะวันตก ขยายไปจนถึงรัฐฉาน (ตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า) เช่น เมืองไลคา เมืองยองห้วย เมืองสีซอ

ในรัชสมัยของพระ เจ้าติโลกราช อาณาจักรล้านนา ยังได้ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นานถึง 25 ปี โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการในการแผ่อิทธิพลเข้าไปในสุโขทัยของทั้งสอง อาณาจักร แต่ไม่มีฝ่ายไหนได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ทั้งสองอาณาจักรจึงผูกสัมพันธไมตรีต่อกัน จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่าในปี พ.ศ. 2101


.............................................................................................................................................................................................................................................................................................................................


การล่มสลายของอาณาจักร

วัด เจดีย์หลวง สร้างขึ้นในช่วงยุคทองของล้านนา องค์พระเจดีย์พังทลายลงมาด้วยแรงแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2088 อันเป็นลางบอกเหตุความแตกแยกในราชสำนักและความอ่อนแอของอาณาจักร


อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมลงในปลายรัชสมัย "พญาแก้ว"

เมื่อกองทัพเชียงใหม่ได้พ่ายแพ้แก่ทัพเชียงตุงในการทำสงครามขยายอาณาจักร ไพร่พลในกำลังล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปีนั้นเกิดอุทกภัยใหญ่หลวงขึ้นในเมืองเชียงใหม่ ทำให้บ้านเรือนราษฎรเสียหายและผู้คนเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก สภาพบ้านเมืองเริ่มอ่อนแอเกิดความไม่มั่นคง

หลังจาก "พญาแก้ว" สิ้นพระชนม์ก็เกิดการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ ระหว่างขุนนางมีอำนาจมากขึ้น ถึงกับแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าได้ เมื่อนครเชียงใหม่ศูนย์กลางอำนาจเกิดสั่นคลอน เมืองขึ้นต่าง ๆ ที่อยู่ในการปกครองของเชียงใหม่จึงแยกตัวเป็นอิสระ และไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการอีกต่อไป

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 1 พระเจ้าบุเรงนอง แห่งอาณาจักรตองอูได้ทำศึกมีชัยชนะไปทั่วทุกทิศานุทิศ จนได้รับการขนานนามพระเจ้าผู้ชนะสิบทิศ พระเจ้าบุเรงนองได้ทำศึกยึดครองนครเชียงใหม่ไปประเทศราชได้สำเร็จ รวมทั้งได้เข้าได้ยึดเมืองลูกหลวงและเมืองบริเวณของเชียงใหม่ไปเป็น ประเทศราชด้วย

ในช่วงแรกนั้นทางพม่ายังไม่ได้เข้ามาปกครองเชียงใหม่โดยตรง เนื่องจากยุ่งกับการศึกกับกรุงศรีอยุธยา แต่ยังคงให้ "พระเจ้าเมกุฎิ" ทำการปกครองบ้านเมืองต่อตามเดิม แต่ทางเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้หงสาวดี

ต่อมา "พระเจ้าเมกุฎิ" ทรงคิดที่จะตั้งตนเป็นอิสระ ฝ่ายพม่าจึงปลดออกและแต่งตั้ง "มหาเทวีวิสุทธิ" เชื้อสายราชวงศ์มังราย ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นพระมารดาของพระเจ้าเมกุฏิ  ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทน

จนกระทั่งมหาเทวีวิสุทธิสิ้นพระชนม์ ทางฝ่ายพม่าจึงได้ส่งเจ้านายทางฝ่ายพม่ามาปกครองแทน เพื่อคอยดูแลความเรียบร้อยของเมืองเชียงใหม่ ในสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่เกือบจะเป็นเมืองพระยามหานครของพม่าแล้ว อีกประการหนึ่งก็เพื่อที่จะเกณฑ์พลชาวเชียงใหม่ และเตรียมเสบียงอาหารเพื่อไปทำศึกสงครามกับทางกรุงศรีอยุธยา

อาณาจักรล้านนาในฐานะเมืองขึ้นของพม่าไม่ได้มีความสงบสุข มีแต่การกบฏแก่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แต่เชียงใหม่อย่างเดียว แต่เมืองอื่น ๆ ในล้านนาก็ด้วย จนกระทั่งราชวงศ์นยองยาน สถาปนาอาณาจักรรัตนปุระอังวะอีกครั้งจึงหันมาปกครองเชียงใหม่โดยตรง




ประวัติศาสตร์ล้านนา - ล้านนาสมัยพม่าปกครอง (พ.ศ. 2101 –
2317)
ที่มา : เว็บไซต์ http://www.openbase.in.th/node/6406


ล้านนาสมัยพม่าปกครอง (พ.ศ. 21012317 ประมาณ 216 ปี )

นับเป็นยุคแห่งความอ่อนแอของล้านนา ในช่วงเวลาดังกล่าวส่วนใหญ่พม่าปกครอง แต่จะมีบางช่วงที่อยุธยายกทับขึ้นมายึดเชียงใหม่ได้ เช่น สมัยพระนเรศวรและสมัยพระนารายณ์ นอกจากนั้นมีบางช่วงที่เชียงใหม่และเมืองต่าง ๆ แยกเป็นรัฐอิสระ เช่น ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เนื่องจากเป็นช่วงที่พม่าประสบปัญหาการเมืองภายใน เมื่อพม่าแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้วจะยกทัพมาปราบล้านนา

ดังนั้นจึงควรเข้าใจว่าอำนาจพม่าในล้านนาไม่สม่ำเสมอ แต่ด้วยเหตุผลที่ช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนใหญ่พม่าปกครองล้านนา จึงเรียกสมัยนี้ว่าสมัยพม่าปกครอง ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นพม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง (พ.ศ. 2101) จนถึง พ.ศ. 2317 สมัยพระเจ้าตากสิน ล้านนาจึงตกเป็นเมืองประเทศราชสยาม ล้านนาในสมัยพม่าปกครองเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 216 ปี

นโยบายของพม่าที่ปกครองล้านนาได้ปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขตามการเมืองภายใน ของพม่าและปรับตามสภาพการเมืองในท้องถิ่นล้านนา


ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้แบ่งตามพัฒนาการเป็นสองสมัย

สมัยแรก ระหว่าง พ.ศ. 2101 – 2207 ประมาณ 106 ปี

คือประมาณร้อยปีแรก ช่วงนี้ล้านนามีฐานะเป็นมณฑลหนึ่งของราชอาณาจักรพม่า เนื่องจากล้านนามีความแตกต่างกับพม่าทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม คนต่างชาติต่างภาษา พม่าจึงกำหนดให้เป็นเขตที่มีการปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง คือคงให้เจ้าเมืองคนเดิมสามารถปกครองตนเองได้ โดยยอมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกษัตริย์พม่า

ดังพบว่า บุเรงนองแต่งตั้งให้พระเมกุฏิกษัตริย์เชียงใหม่ปกครองตนเองตามเดิม แต่ต้องส่งส่วยเป็น ช้าง ม้า และแพรพรรณต่าง ๆ ทุกปี และในราชการสงครามต้องส่งกำลังร่วมรบ

ต่อมาพม่าเข้าจัดการควบคุมเข้มงวดยิ่งขึ้น เพราะในสงครามระหว่างพม่ากับอยุธยา พ.ศ. 2106 พระเมกุฏิไม่ได้ช่วยพม่ารับอยุธยาอย่างจริงจัง บุเรงนองจึงปลดพระเมกุฏิออกใน พ.ศ. 2107 แล้วแต่งตั้งพระนาง วิสุทธิเทวีซึ่งเป็นพระชายา ซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังรายเป็นกษัตริย์ เมื่อพระนางวิสุทธิเทวีสิ้นเจ้ามังนรธาช่อ โอรสของบุเรงนองกับพระนางวิสุทธิเทวี เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่

จึงเป็นการสิ้นสุดของการปกครองเชียงใหม่ โดยเชื้อสายของราชวงศ์มังราย อย่างไรก็ตามเชื้อสายมังนรธาช่อ ปกครองต่อมา 2 องค์ หลังจากนั้นพม่าส่งข้าหลวงมาประจำการที่เชียงใหม่ ส่วนตำแหน่งเข้าเมืองอื่น ๆ ในล้านนาพม่าควบคุม โดยการแต่งตั้งโยกย้ายถอดถอนและปูนบำเหน็จความดีความชอบ ข้าหลวงพม่าที่เชียงใหม่จะทำหน้าที่ปกครองเชียงใหม่ และดูแลเมืองอื่น ๆ ในล้านนา

ในส่วนการปกครองภายในของล้านนา คงปฏิบัติไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของตน พม่าจะควบคุมนโยบายที่สำคัญคือ ตำแหน่งเจ้าเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในรูปการเกณฑ์แรงงานและ การส่งส่วยไปให้พม่า อย่างไรก็ตามการปกครองของพม่ามีการควบคุมที่เข้มงวด โดยเฉพาะการเกณฑ์แรงงานทำสงครามและการส่งส่วย
สมัยที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2207 – 2317 ประมาณ 110 ปีหลัง

ฐานะของล้านนา เปลี่ยนไป คือถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรพม่าโดยกษัตริย์พม่าส่งขุนนางชาว พม่ามาปกครองร่วมกับชาวล้านนา กำหนดให้ขุนนางพม่ามีตำแหน่งสำคัญและมีอำนาจอย่างแท้จริง ส่วนขุนนางล้านนาอยู่ในกำกับของขุนนางพม่า

นอกจากนั้นใน พ.ศ. 2244 พม่าใช้วิธีแยกเชียงแสนออกเป็นเขตสำคัญ เพื่อทอนกำลังของเชียงใหม่ลง เนื่องจากเชียงใหม่เป็นแหล่งเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านพม่า เมืองเชียงแสนเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพม่าจนกระทั่งพม่าหมดอำนาจในล้านนา ใน พ.ศ. 2347

อย่างไรก็ตาม ในสมัยพระเจ้าฉินบูชินหรือมังระ (พ.ศ. 2306 – 2319) แห่งราชวงศ์คอนบอง ปกครองล้านนาได้เพียง 11 ปี (พ.ศ. 2306 – 2317) เชียงใหม่ก็หันไปสวามิภักดิ์ต่อสยาม นโยบายพม่าช่วงสุดท้ายนี้ปกครองอย่างเฉียบขาดมากขึ้นโดยส่งโป่แม่ทัพ มาปกครองแทนเมียวหวุ่น ซึ่งโป่มักจะใช้อำนาจขูดรีดเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มาเป็นของตนอย่างมาก และใช้อำนาจตามอำเภอใจสร้างความทุกข์ยากแก่ราษฎร

นอกจากนั้นข้าหลวงพม่าขัดแย้งกับขุนนางท้องถิ่น เพราะโป่ดึงอำนาจและผลประโยชน์จากส่วยและเกณฑ์แรงงานไพร่ไปจากท้องถิ่น โดยที่ขุนนางท้องถิ่นเสียผลประโยชน์จากส่วยและยังถูกข่มเหงอีกด้วย


ความขัดแจ้งระหว่างโป่กับขุนนางท้องถิ่นนำไปสู่การสู้รบ

ดังพบว่าพระญาจ่าบ้าน (บุญมา) รบกับโป่หัวขาว พระญาจ่าบ้านมีกำลังไม่พอจึงชักชวนพระเจ้ากาวิละร่วมกันสวามิภักดิ์พระเจ้า ตากสิน กองทัพพระเจ้าตากสินและร่วมกับผู้นำชาวล้านนาช่วยกันขับไล่พม่าไปจาก เชียงใหม่สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2317 นับตั้งแต่นั้นมา เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทย
น่าสังเกตในสมัยพม่า ปกครองมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองตอบโต้พม่าอย่างต่อเนื่อง พม่าก็ใช้วิธียกทับมาปราบกันเป็นระยะ ๆ การต่อต้านพม่าของชาวล้านนามีข้อจำกัดเพราะความเป็นรัฐในหุบเขาเป็นเงื่อนไข ทำให้ความร่วมมือกันทำได้ยาก ดังนั้นแต่ละเมืองมักต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวและพม่าคงพบข้อจำกัดนี้ จึงใช้วิธีแบ่งแยกแล้วปกครองโดยแบ่งแยกเมืองต่าง ๆ ออกจากกัน ให้ทุกเมืองขึ้นกับพม่า
การต่อต้านอำนาจพม่าได้ปรับ เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คือช่วงแรก ต้นพุทธศตวรรษที่ 22 เมื่อพม่ายึดครองล้านนาใหม่ ๆ ลักษณะการต่อต้านอยู่ในกลุ่มเจ้านครรัฐต่าง ๆ เจ้านครรัฐที่ต่อต้าน เช่น พระเมกุฏิ หรือท้าวแม่กุ เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองลำปาง โดยมีพระไชยเชษฐา จากล้านช้างเป็นผู้นำ

กองทัพพม่าได้ยกมาปราบปรามสำเร็จ สาเหตุที่เจ้านครรัฐต่อต้านเพราะพม่าได้ดึงผลประโยชน์จากท้องถิ่นไปพม่า คือการให้ส่งบรรณาการและส่วย และเกณฑ์กำลังคน ดังนั้นแม่เจ้านครยังมีหน้าที่ปกครองตามจารีตของตนเอง แต่อยู่ในฐานะเสียผลประโยชน์

ในระยะหลังคือปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 กลุ่มการเมืองท้องถิ่นต่อต้านพม่ามีความหลากหลายมากขึ้น เช่นมีกลุ่มพระสงฆ์ คนบุญ มีกลุ่มไพร่ตั้งเป็นกองโจร และกลุ่มเจ้านครรัฐ แต่ละกลุ่มกระทำกันไปตามลำพัง เพราะพม่าพยายามเข้าควบคุมที่ตำแหน่งเจ้าเมืองมากขึ้น

ตำแหน่งเจ้าเมืองสำคัญเป็นชาวพม่า ส่วนเมืองระดับเล็กนั้นอาจเป็นชาวพม่าหรือไทใหญ่ หากเป็นชาวพื้นเมืองก็ต้องภักดีต่อพม่าลักษณะเช่นนี้ทำให้การเคลื่อนไหวลง สู่ระดับล่ามมากขึ้น สถานการณ์ในล้านนาในช่วงปลายสมัยพม่าปกครองจึงเกิดรัฐบาลท้องถิ่นกระจายตัว อยู่ทั่วไป ซึ่งบางครั้งก็สู้รับกันเอง บางครั้งก็สู้รบกับพม่า บ้านเมืองล้านนามีสภาพระส่ำระสาย

(ข้อมูล : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
(ภาพ : จากหลากหลายเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น