วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สถานที่ที่ต้องรีบไปก่อนจะหายไปจากโลก

สถานที่ที่ต้องรีบไปก่อนจะหายไปจากโลก
 
สถานที่ที่ต้องไปก่อนจะสูญสลายไปจากโลก
ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น การกลายสภาพเป็นทะเลทราย ลมมรสุม หรือธารน้ำแข็งละลาย การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกำลังทำให้ภูมิประเทศของโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และนี่คือสถานที่หลายแห่งที่กำลังจะหายไปจากโลกในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
 
ธารน้ำแข็งอะธาบาสก้า อัลเบอร์ต้า แคนาดา
ธารน้ำแข็งที่มีคนไปเยือนมากที่สุดในอเมริกาเหนือ ธารน้ำแข็งอะธาบาสก้า ในอัลเบอร์ต้า เป็นส่วนหนึ่งของทุ่งน้ำแข็งโคลัมเบีย ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตร.กม. ธารน้ำแข็งแห่งนี้เริ่มละลายตลอด 125 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนทางใต้ของมันหดลงเกือบหนึ่งไมล์ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ขณะนี้ ธารน้ำแข็งนี้กำลังหดตัวด้วยอัตราเร็วที่สุด คือ ตกปีละ 6.6 ถึง 9.8 ฟุต
 
เทือกเขาแอลป์
หนึ่งในแหล่งเล่นสกีขึ้นชื่อของโลก เทือกเขาแอลป์ตั้งอยู่ที่ระดับความสูงต่ำกว่าเทือกเขาร็อคกี้ ทำให้มันมีความเสี่ยงมากกว่าจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ในแต่ละปี ธารน้ำแข็งของเทือกเขาแอลป์ ละลายไปราว 3 % ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ธารน้ำแข็งเหล่านี้จะหายไปทั้งหมดภายในปี 2050
 
หมู่เกาะซีเชลส์
ราวกับหมู่เกาะสวรรค์เขตร้อน ซีเชลส์ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ราว 115 เกาะในมหาสมุทรอินเดีย และเต็มไปด้วยรีสอร์ทหรูหรา ทว่า หมู่เกาะแห่งนี้กำลังตกอยู่ในอันตรายจากการถูกกัดเซาะของชายหาด หลังจากเพิ่งเผชิญกับปัญหาแนวปะการังถูกทำลาย ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าภายใน 50 ปี หมู่เกาะแห่งนี้จะจมลงใต้ทะเลทั้งหมด
 
หมู่เกาะมัลดีฟส์
ในฐานะประเทศที่อยู่ต่ำที่สุดของโลก โดยพื้นที่ 80 % ของประเทศอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ถึงหนึ่งเมตร ภายในหนึ่งร้อยปี หมู่เกาะมัลดีฟส์จะถูกน้ำทะเลท่วมจนมิด
 
อุทยานแห่งชาติกลาเซียร์ มอนทานา สหรัฐ
ครั้งหนึ่ง ที่นี่เคยมีธารน้ำแข็งกว่า 150 แห่ง ปัจจุบัน อุทยานแห่งชาติของมอนทานา เหลือธารน้ำแข็งไม่ถึง 25 แห่ง การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ธารน้ำแข็งทั้งหมดสูญสลายภายในปี 2030 ซึ่งจะสร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่ระบบนิเวศน์ของที่นี่
 
ทะเลเด๊ดซี
ทะเลเกลืออันเก่าแก่แห่งนี้ เป็นทั้งแหล่งประวัติศาสตร์และสถานสำหรับบำบัดโรค ทว่า ในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา ทะเลสาบแห่งนี้หดตัวลงถึงหนึ่งในสาม และจมลงถึง 80 ฟุต ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ทะเลสาบแห่งนี้อาจหายไปหมดภายในห้าสิบปี เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านรอบทะเลสาบ ต่างสูบน้ำจากแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดเพียงแหล่งเดียวที่ไหลลงสู่ทะเลเด๊ดซี
 
เวนิซ อิตาลี
เมืองเวนิซของอิตาลี เป็นหนึ่งในเมืองที่โรแมนติกที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเสน่ห์จากลำคลองน้อยใหญ่ แม้ว่าเมืองแห่งสายน้ำนี้จะถูกน้ำท่วมมาแล้วหลายครั้ง แต่ปริมาณน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี อาจทำให้เวนิซกลายเป็นเมืองบาดาล ภายในศตวรรษนี้
 
แนวปะการังเกรท แบริเออร์ รีฟ ออสเตรเลีย
แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่กว่า 344,400 ตารางกิโลเมตร เป็นจุดดำน้ำขึ้นชื่อของออสเตรเลีย แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น ทั้งอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นและมลพิษที่ไหลลงทะเล ทำให้โครงสร้างแนวปะการังถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า 60 % ของแนวปะการังแห่งนี้ อาจสูญสลายไปภายในปี 2030.
 
หมู่เกาะโซโลมอน
หมู่เกาะโซโลมอนเป็นประเทศเอกราช ที่ประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ โรบิน มัวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำระหว่างประเทศกล่าวว่า หมู่เกาะโซโลมอน กำลังเผชิญกับปัญหาที่หมู่เกาะอื่นๆในแถบนี้เจอ นั่นคือ การตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง
 
ผืนป่าแอตแลนติก อเมริกาใต้
ครั้งหนึ่ง ผืนป่าแอตแลนติก ที่เคยเป็นแหล่งพำนักของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ มีพื้นที่ถึง 1.35 ล้านตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในบราซิล ปารากวัย อาร์เจนตินา และอุรุกวัย ทว่า การตัดไม้ทำลายป่าและการถางพื้นที่เพื่อการเกษตร ทำให้ปัจจุบัน ผืนป่าแห่งนี้มีพื้นที่ไม่ถึง 7 % ของพื้นที่ดั้งเดิม พื้นที่หลายแห่งถูกตัดขาดเป็นพื้นที่เหมือนเกาะเล็กๆ มีพื้นที่ไม่ถึง 24 เฮกตาร์
 
เทือกเขาคิลิมันจาโร แทนซาเนีย แอฟริกา
ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาคิลิมันจาโร อยู่มากว่า 10,000 ปีแล้ว แต่ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งเหล่านี้ หดหายไปถึง 80 %จากข้อมูลของยูเอ็น ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการใช้ที่ดินทำการเกษตร อาจเป็นสาเหตุทำให้ธารน้ำแข็งละลาย ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางคน คาดว่า ธารน้ำแข็งเหล่านี้อาจหายไปหมดภายในปี 2022
 
บึงเอเวอร์เกลดส์ ฟลอริดา สหรัฐ
บึงเอเวอร์เกลดส์ เผชิญกับปัญหาหลากหลายรุมเร้า ทั้งการรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นอย่างงูเหลือม มลพิษทางน้ำ และผลกระทบจากการเล่นกีฬาทางน้ำ แต่ระบบนิเวศน์ของที่นี่ อาจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงจากปัญหาน้ำเค็ม อันเนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ข้อมูลจากโครงการวิจัยยูเอส โกลบอล เชนจ์ ระบุว่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลของโลก สูงขึ้น 4-8 นิ้ว
 
เกาะมาดากัสการ์
เกาะใหญ่อันดับสี่ของโลก มาดากัสการ์เป็นแหล่งผืนป่าเขตร้อนและบ้านของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย อาทิ ลีเมอร์และพังพอน อย่างไรก็ดี ระบบนิเวศน์ที่หนาแน่นแห่งนี้ กำลังถูกทำลายโดยการตัดไม้ และเผาป่า หากปราศจากการดำเนินการใดๆ คาดว่า ผืนป่าเขตร้อนและผู้อยู่อาศัยอาจสูญสลายไปภายใน 35 ปี
 
ทุ่งน้ำแข็งพาทาโกเนีย ชิลี
ทุ่งน้ำแข็งที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์ ทุ่งน้ำแข็งพาทาโกเนียในชิลี กำลังเผชิญกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้ทุ่งน้ำแข็งหดหายไปในอัตราที่รวดเร็วจนน่าตกใจ นักวิทยาศาสตร์พบว่า 90 % ของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาละลายในอัตรารวดเร็วกว่าช่วง 3 ศตวรรษที่ผ่านมาถึงร้อยเท่า และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทะเลสาบธารน้ำแข็งหลายสิบแห่งได้สูญสลายไปแล้ว

 สุริยา มาดีกุล

1 ความคิดเห็น: