วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ … ตามไปดูธรรมมาสน์ที่สวยแปลกตาที่สุดในภาคอิสาน

วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ … ตามไปดูธรรมมาสน์ที่สวยแปลกตาที่สุดในภาคอิสาน
ภาคอีสานยามหน้าฝน เขียวขจีท้าทายสายตา … พืชพรรณที่หมกตัวอยู่ใต้พื้นดินมานานแรมเดือนในช่วงหน้าแล้ง แก่งแย่งกันขานรับสัญญาณแห่งวสันตฤดูอย่างพร้อมเพรียง ผุดใบอ่อนสีเขียวแทรกผ่านรอยระแหงของผืนดินราวผืนพรมธรรมชาติ ชีวิตความเคลื่อนไหวของผู้คนในภาคเกษตรกรรมที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของธรรมชาติก็พะเยิบขึ้น แอก ไถ ถูกปลดจากใต้ถุนเรือนมาเทียมเข้ากับความทุยที่ร้างการลากไถมาหลายเดือน
ระหว่างทางบนถนนที่เชื่อมอำเภอเมือง และอำเภอเขื่องในเข้าด้วยกัน เมื่อมองผ่านกระจกของรถยนต์คันเล็กๆที่ฉันนั่งมา ภาพที่ปรากฏต่อสายตา เป็นสีเขียวลออตาของต้นข้าวในทุ่งนาเขียวโล่งทอดยางขนาบไปไปตลอดเส้นทางที่รถของเราแล่นผ่าน รายเรียงไปด้วยเถียงนาหลังเล็กๆที่ปลูกสร้างอย่างง่ายๆไม่ซับซ้อน วางตัวอยู่เป็นระยะ … ให้ความรู้สึกของการหยุดพักเพียงชั่วครู่ชั่วยาม
ภาพที่ฉันใช้เป็นที่พักสายตาปรากฏแจ่มชัดมากขึ้น เมื่อสายฝนห่างเม็ด ทิ้งไว้เพียงความร่มรื่นแก่ผืนแผ่นดิน .. ภาพที่ฉันเห็นยังคงเป็นความเขียวขจีของทุ่งนาทีสามรถมองเห็นรายละเอียดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ลมชายทุ่งกระทบยอดข่าวให้เอนลู่ไปตามแรงลมอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน 
ภาพของทุ่งนา .. แท้จริงเป็นภาพธรรมดาๆของผู้คนที่ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับผืนนา บ้างหลบฝนอยู่กับเถียงนาง่ายๆที่สร้างด้วยมือ เป็นที่พักพิงชั่วครู่ยาม กินข้าวเที่ยงเมื่อพักจากการลงนา หรือเป็นที่สำหรับผู้ล้าเหนื่อยจากการรอนแรม
 
 
คนเรามีความต้องการหยุดพักและพึ่งพิงอยู่โดยสัญชาติญาน และหลายครั้งเป็นสิ่งผลักดันให้ผู้คนสร้างสรรค์คุณค่าและความงดงามให้กับมวลหมู่มนุษย์มาช้านาน ด้วยการพึ่งพาของมนุษย์มีการร้อยโยงอยู่กับศรัทธาและความดีงาม และภาพท้องทุ่ง เถียงนา วัดวาอาราม จึงเป็นสัญลักษณ์ง่ายๆที่โยงใยความคิดและการเดินทางของฉันมาที่นี่ … บ้านชีทวน
ฉันเดินทางมาเพื่อต้องการจะพบเห็นโบราณวัตถุสายสกุลช่วงญวนที่ซุกซ่อนอยู่ในมุมเมืองเล็กๆอย่างบ้านชีทวนแห่งนี้
วัดศรีนวล สร้างโดยครูญาตีนก้อม (ท่านอุปัชฌาย์วงค์  พรหมฺสโร) แต่ไม่ปรากฏปีที่สร้าง ชื่อวัดสีนวล ตั้งมาจากนางสีนวล ที่ถวายที่ดินให้ขยายวัด ภายหลังได้เพิ่มชื่อว่า แสงสว่างอารมณ์ ต่อท้าย และใช้ชื่อว่า วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ มาจนถึงปัจจุบัน
ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบก ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 26 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 23 (อุบลราชธานี-ยโสธร) ประมาณ 24 กิโลเมตร จะถึงบ้านท่าวารี (กม.268) มีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าหมู่บ้านอีก 5 กิโลเมตร
ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบก เป็นธรรมาสน์แห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีรูปแบบแตกต่างจากธรรมาสน์โดยทั่วไป กล่าวคือ อาจเป็นฝีมือช่างชาวญวน ถึงแม้ว่าจะไม่มีศิลปะไทยผสมอยู่ แต่มีรูปลักษณะท้องถิ่น เป็นรูปสิงห์ ยืนเทินปราสาท(ตัวธรรมาสน์) สร้างด้วยอิฐถือปูน
ยอดปราสาทเป็นเครื่องไม้ทำเป็นชั้นซ้อนลดหลั่น ประดับตกแต่งลายปูนปั้น และลายเขียนสีแบบศิลปะญวนทั้งหลัง ตัวธรรมาสน์ ตั้งอยู่ในหอแจก (ศาลาการเปรียญ) ทรงไทยที่มีจิตรกรรมฝ้าเพดาน ศิลปะสกุลช่างเดียวกัน
ธรรมาสน์แห่งนี้ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในปี 2468-2470 โดยช่างฝีมือไทยชีทวนกับช่างญวน ตามคติความเชื่อเรื่อง สิงหาสน์บัลลังก์ ลักษณะตัวสิงห์ ปราสาท หลังคาทรงมณฑป เป็นฝีมือผสมผสานของช่างญวนที่รับอิทธิพลฝรั่งเศส ถือเป็นประติมากรรมที่มีคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง

เพดานหอแจก (ศาลาการเปรียญ) เหนือธรรมาสน์ มีฮูปแต้ม (ภาพเขียนสี) ที่งดงามฝีมือช่างญวน ถือเป็นประติมากรรมที่มีคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เคยมีผู้อธิบายเกี่ยวกับธรรมาสน์ไว้ว่า การที่ให้พระขึ้นไปนั่งในที่สูงนั้น คงเป็นอุบายของคนโบราณ เพราะคนที่ไปวัดส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ควรอยู่ห่างๆกัน
ธรรมมาสน์หลังนี้มีเกริน หรือบันไดขึ้นลงทางด้านหลัง เกรินนี้ภาษาอีสานจะออกเสียงว่า เกิน …
ธรรมาสน์นี้ปกติจะใช้ปีละครั้ง เป็นงานใหญ่ๆ โดยพระจะขึ้นไปนั่งบนปราสาทเวลาเทศน์ และเวลามีงานชาวบ้านจะประดับธรรมาสน์นี้ด้วยตุง แต่ทางอีสานจะเรียก ทุง ทำจากข้าวตอกใหม่ๆ
บนเพดาน จะมีภาพจิตรกรรม ทราบมาว่าชาวบ้านเขียนขึ้นเองเมื่อนานมากแล้ว แต่สีสันยังคงสวยมากๆ น่าทึ่งในความสามารถของผู้คนที่นี่ค่ะ
ปูนปั้นประดับรอบๆธรรมาสน์ .. คล้ายกับที่เคยเห็นในศิลปะของพม่ามาก
เดาเอาว่า อาจจะมีศิลปะมอญปนๆอยู่บ้าง
นอกจากธรรมาสน์ชิ้นนี้แล้ว ศาลาอันเป็นที่ตั้งของธรรมมาสก็น่าประทับใจมาก
เพดานของศาลาวาดไว้ด้วยดวงดารา หลายดวง บั้งหัวเสา บัวเชิงเสา ชั้นเชิงกลอน (ตอนระหว่างชั้นหลังคา) ลวดลายฉลุต่างๆในศาลาธรรมาสน์แห่งนี้ดูสวยงามไปหมด
ฉันถือโอกาสเดินดูรอบๆวัด พบสิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้านที่น่าสนใจมากๆอยู่จำนวนหนึ่ง
หลายชิ้นได้รับการบริจาคจากคนในท้องถิ่นเพื่อให้วัดแห่งนี้จัดแสดง ... คล้ายๆเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขนาดย่อม สะท้อนวิถึชีวิต และความศรัทธาของผู้คนในที่นี่

สุริยา มาดึกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น