วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คนเฝ้าศาลเจ้า โดย ดร. วีรพงษ์ รามางกูร

คนเฝ้าศาลเจ้า โดย ดร. วีรพงษ์ รามางกูร



ผู้เขียนดร. วีรพงษ์ รามางกูร
ที่มาคอลัมน์คนเดินตรอก ประชาชาติธุรกิจ
เมื่อ”ดร.โกร่ง”พูดถึง “คนเฝ้าศาลเจ้า”ที่มักจะเกิดขึ้นในสังคมที่การเมืองยังล้าหลัง เชื่อถือศรัทธาตัวบุคคลหรือคณะบุคคลมากกว่าเชื่อในเรื่องเหตุผล และมักจะมี “ผู้วิเศษ” ที่สถาปนาตนเองว่าสามารถทำนายทายทักอนาคตของประเทศชาติได้….
…………
ตรุษจีนปี 2559 นี้เพิ่งผ่านพ้นไป แต่ภาพที่ติดหูติดตาคนไทยเราก็คือ การเซ่นไหว้บรรพบุรุษด้วยหมูเห็ดเป็ดไก่และปลา ส้มสุกลูกไม้ ขนมเทียน ขนมเข่ง ขนมถ้วยฟู เส้นหมี่ ธูปเทียนสีแดงพร้อมกับคำอวยพร “ขอให้ร่ำรวย ขอให้มีความสุข” เป็นที่ชื่นอกชื่นใจกัน ปีละครั้งจะได้ไหว้ “เจ้า” การไหว้เจ้าเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ หรือขอให้สมปรารถนา ขอให้ประสบความสำเร็จตรุษจีนปี 2559 นี้เพิ่งผ่านพ้นไป
เมื่อได้ไหว้ “เจ้า” วันตรุษจีนที่บ้านแล้ว ทำให้นึกถึงเจ้าที่เราอาจจะไปไหว้ได้ในวันอื่น ๆ แต่ต้องไปที่ “ศาลเจ้า” ซึ่งมีอยู่ทั่วไป
ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดในประเทศไทย ไม่มีจังหวัดไหนในประเทศไทยที่ไม่มี “ศาลเจ้า”
“เจ้า” คือวิญญาณของ “บุคคล” ในอดีตที่ได้รับการเคารพนับถือและเชื่อว่ายังคงวนเวียนอยู่ คอยช่วยเหลือให้คุณหรือบางทีก็ให้โทษกับผู้คนได้
ผู้คนจึงได้ทำการเซ่นไหว้เพื่อให้เจ้าดีใจ จะได้คงอยู่และเมตตาช่วยเหลืออำนวยอวยพรให้ร่ำรวย มีความสุข ความเจริญ ที่น่าสังเกตก็คือ เจ้าทุกองค์ “รับสินบน” จึงมีผู้คนไป “บน” ขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่น ถ้ามีบุตรก็จะนำไข่ต้มมาถวาย 1,000 ฟอง หรือบนกับศาลพระพรหมก็จะมา “แก้ผ้ารำถวาย” แล้วก็มีข่าวว่ามีผู้หญิงมาแอบแก้ผ้ารำถวายพระพรหมที่หน้าโรงแรมเอราวัณจริง ๆ
ศาลเจ้าที่ดัง ๆ ก็เช่น ศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลเจ้าพ่อกวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ศาลเจ้าแม่ทับทิม เทพธิดาที่คอยช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล ศาลพระเจ้าตากสิน ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และศาลอื่น ๆ ที่ชื่อเจ้าเป็นภาษาจีน

ศาลเจ้าเหล่านี้ก็จะมีเครื่องเซ่นไหว้ที่ไม่ใช่อาหาร เช่น ธูปเทียน ดอกไม้ กระดาษเงินกระดาษทอง มีกระบอกเซียมซี ตู้บริจาคเงินและเครื่องเซ่นไหว้เพื่อการสะเดาะเคราะห์ ซึ่งล้วนแต่เป็นของที่ผู้ที่จะใช้ต้องซื้อหา หรือบริจาคเงินทองทั้งสิ้ศาลเจ้าจึงมีรายได้ จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ความศักดิ์สิทธิ์ ตามจำนวนของประชาชนที่นิยมมากราบไหว้มากหรือน้อย
ศาลเจ้าทุกแห่งที่มีกิจกรรมสร้างศรัทธา มีผู้คนมากราบไหว้มาก ๆ ก็จะมี”ผู้จัดการ” คนหนึ่งหรือหลายคน บางทีเราก็เรียกว่า “ผู้เฝ้าศาลเจ้า” เป็นคนดูแลจัดการผู้เฝ้าศาลเจ้าที่จะเป็นที่เคารพนับถือ เป็นที่ยอมรับก็ต้องเป็น “ผู้เฝ้าศาลเจ้า” ที่สามารถสื่อสารกับ “เจ้า” ได้ สามารถตีความได้ว่า “เจ้า” บอกให้ไปทำอะไรหรือบนบานอย่างไรถ้าต้องการความสำเร็จ สามารถสื่อสารกับ “เจ้า” ได้ว่า สิ่งที่มาถามนั้น คำตอบคืออะไร เช่น จะเข้าไปแข่งขันประมูลโครงการรัฐบาลจะประมูลได้หรือไม่ ผู้เฝ้าศาลก็จะสื่อสารกับ “เจ้า” ใน “ทางใน” เมื่อลืมตาขึ้นมาก็จะบอกได้ว่า “เจ้า” บอกว่าได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้จะแก้ไขอย่างไร เช่น ต้องนำทรัพย์สินข้าวของมาบริจาคให้ “เจ้า” ที่ศาล ศาลเจ้าบางแห่งมีทรัพย์สินที่มีค่า เช่น เพชรนิลจินดา ทองคำของเก่าที่เก็บไว้มากมาย
คนเฝ้าศาลจึงกลายเป็นคนที่มี “อำนาจ” แทน “เจ้า” ที่สถิตอยู่ในศาลโดยปริยาย สามารถสั่งการให้ผู้คนที่มีอำนาจหน้าที่ กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ เพราะสามารถสื่อสารกับ “เจ้า” ได้
คนเฝ้าศาลเจ้ามิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศเราเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วไป ไม่ว่าที่จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ แม้แต่ประเทศที่เป็นมุสลิม หากว่ามีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ ที่ประเทศพม่านั้น “ศาลเจ้า” มีอยู่ทั่วไป พม่าเรียกว่า “นัต” จะเห็นทุกหนทุกแห่ง ที่อินเดียและบาหลีซึ่งผู้คนนับถือศาสนาฮินดูก็มีเทวาลัยใหญ่น้อยทั่วไป แม้แต่ในบ้าน
การตั้ง “ศาลเจ้า” หรือถ้าใหญ่โตอาจเรียกว่าเทวาลัยนั้น มีมาตั้งแต่ยุคกรีกและยุคโรมัน กรีกสร้างศาลหรือเทวาลัยเป็นที่สถิตของเทพเจ้าอพอลโล ที่ศาลเจ้าอพอลโล มี ชายผู้หนึ่งชื่อ เดลฟี หรือ Delphie เป็นผู้ที่สามารถบอกได้ว่าอพอลโลพูดว่าอย่างไร ทำนายว่าอย่างไร ที่พูดอย่างนั้นมีความหมายว่าอย่างไร จนสามารถถ่ายทอดคำพูดของตนได้ และเรียกว่า “Delphie Oracle”
ผู้คนที่ไปที่ “ศาลเจ้า” แต่ในสมัยโบราณนั้นมีอยู่ 2 วัตถุประสงค์ อันแรกก็อยากจะไปบนบานศาลกล่าว ขอพรให้ตนประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนา อันที่สองคือต้องการความศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับ การประสิทธิ์ประสาทให้มีอำนาจที่จะให้คนเชื่อฟังและกระทำตามความประสงค์ของ เจ้า ผ่านทางคน “เฝ้าศาลเจ้า” หรือ “Delphie Oracle” หรือคำสั่งของผู้สื่อสารกับเจ้า
ต่อจากกรีกก็เป็นสมัยโรมัน ชาวโรมันก็นับถือเทพเจ้าคล้าย ๆ กับกรีก ผู้ที่สามารถติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้าได้เป็นคณะหญิงสาวพรหมจารี มีศีลที่ต้องถืออย่างเคร่งครัด คณะหญิงพรหมจารีบริสุทธิ์เหล่านี้จะเป็นผู้บอกว่า เทพเจ้าทำนายทายทักอนาคตของบ้านเมืองว่าอย่างไร ซึ่งในสังคมตะวันตกเดี๋ยวนี้ไม่มี คณะหญิงพรหมจารีเหล่านี้จึงมีอำนาจ ชี้เป็นชี้ตายได้ โดยอาศัยความเชื่อว่าสามารถสื่อสารกับเทพเจ้าได้
ในวัฒนธรรมของจีน ผู้ที่อ้างว่าสามารถสื่อสารกับ “เจ้า” ในศาลได้มักจะเป็นผู้เฝ้าศาล ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สถาปนาตนเองขึ้นมา เพราะเอาอำนาจจาก “เจ้า” ในศาลที่มีคนเคารพนับถือเชื่อฟัง เพราะผู้คนมักเชื่อเจ้าหรือ “ผี” มากกว่าเชื่อคน ภาพยนตร์คลาสสิกของญี่ปุ่นชื่อ “ราโชมอน”เป็นภาพยนตร์ที่กระแนะกระแหน หรือเสียดสีคนญี่ปุ่น ถ้าเชื่อ “เจ้า” หรือ “ผี” มากกว่าเชื่อคน
สำหรับของไทย ไม่ต้องใช้คนสื่อสารกับ “เจ้า” แต่ใช้วิธีเรียก “เจ้า” มาประทับทรงในตัวที่เป็นร่างทรงเลยทีเดียว โดยร่างทรงจะแต่งเนื้อแต่งตัวเหมือนเจ้า หรือในชุดลำลองของเจ้า จุดธูปเทียน อัญเชิญ “เจ้า” มาเข้าทรงหรือประทับทรงในร่างทรง เมื่อเจ้ามาประทับ ร่างทรงก็จะตัวสั่นเทา ล้มฟุบลง เมื่อฟื้นขึ้นมาก็กลายเป็นเจ้าใน “ร่างทรง” พูดจาสำเนียงเปลี่ยนไป ภาษาที่ใช้ก็กลายเป็นภาษา “เจ้า” สามารถตอบคำถามของคนที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือได้ ทำนายทายทักเรื่องของบ้านเมือง อนาคตของผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและบ้านเมืองได้ พอ “เจ้า” จะออกจากร่างทรง ก็บอกว่า “ไปละ” ร่างทรงก็ฟุบตัวลงเมื่อฟื้นขึ้นมาก็เป็นคนเดิมธรรมดา จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างที่ถูก “เจ้า” มาเข้าทรง ของไทยเราไม่จำเป็นต้องเป็นคนเฝ้าศาลเจ้าอย่างของจีน แต่ลาภยศและอำนาจก็จะไม่ดีเท่ากับ “คนเฝ้าศาลเจ้า” ที่สามารถสั่งให้คนปฏิบัติและถามได้ในนามของ “เจ้า”
ในองค์กรใหญ่ ๆ เช่น กระทรวงหรือกรมใหญ่ ๆ หรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่พนักงานระดับล่าง ๆ ที่มีจำนวนมาก ๆ ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้บังคับบัญชาสูงสุดได้ โดยไม่ผ่านตามลำดับชั้น ก็อาจจะมี “คนเฝ้าศาล” ที่สามารถติดต่อสื่อสารกับเจ้านายระดับสูงเพื่อขออภิสิทธิ์พิเศษต่าง ๆ ได้
ในการวิ่งเต้นที่ไม่ถูกต้อง ก็มักจะมี “คนเฝ้าศาล” ที่สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้มีอำนาจที่จะดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ และสามารถนำ “สินน้ำใจ” ไปให้ได้ ในกรณีที่สามารถดลบันดาลให้เป็นผลสำเร็จตามที่ได้ “บน” บานศาลกล่าวไว้ ผู้ที่ติดต่อสื่อสารกับผู้มีอำนาจวาสนาดังกล่าวก็คือ “คนเฝ้าศาล” นั่นเอง
คนเฝ้าศาลเจ้ามักจะเกิดขึ้นในสังคมที่การเมืองยังล้าหลัง ในสังคมที่ยังงมงาย ยังเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ว่าจะดลบันดาลสิ่งที่ตนปรารถนาได้ เชื่อถือศรัทธาตัวบุคคลหรือคณะบุคคลมากกว่าเชื่อในเรื่องเหตุผล เป็นสังคมที่ไม่โปร่งใส คลุมเครือ ไม่ต้องการข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อจะนำมาวิเคราะห์ หาเหตุผล หาความถูกต้อง แสดงความชอบธรรมได้
ในสังคมที่ไม่โปร่งใส คลุมเครือ จึงมักจะมี “ผู้วิเศษ” ที่สถาปนาตนเองว่าสามารถทำนายทายทักอนาคตของประเทศชาติได้ สามารถทำให้ผู้นำประเทศผู้นำกองทัพเชื่อถือ สามารถชี้นำว่าผู้นำจะอยู่ในอำนาจได้เท่านั้นเท่านี้ปี ที่สำคัญก็คือบุคคลที่สถาปนาตนเองเป็นผู้ชี้ชะตาบ้านเมืองเหล่านี้กลับมี อำนาจ วาสนา ชี้นำการตัดสินใจในกิจการบ้านเมืองได้ มีผลกระทบต่อประชาชน เป็นที่ขบขันไปทั่วโลก
ในบ้านเราก็จะเห็นอยู่เสมอ ที่มี “คนเฝ้าศาล” ออกมาบอกว่า บ้านเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อไหร่ต้องทำอะไร ถือเป็นเรื่องจริงเรื่องจังที่ต้องทำกันจริง ๆ
คณะหญิงพรหมจารีในสมัยโรมันนั้น ก็มิได้สมัครสมานกลมเกลียวกันเสมอไป บางครั้งก็แตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า แก่งแย่งกันเป็นใหญ่ก็มี แต่ถ้ามีเหตุเภทภัยจากบุคคลภายนอก กลุ่มคณะหญิงพรหมจารีที่เป็นผู้บอกอนาคตของอาณาจักรโรมันก็จะรวมตัวกัน ต่อสู้อย่างแข็งขัน
การที่ “คนเฝ้าศาลเจ้า” ไม่ว่าจะเป็นบุคคลคนเดียวอย่าง Delphie หรือจะเป็นคณะบุคคลอย่างคณะหญิงพรหมจารีแห่งโรมัน จะมีอำนาจสามารถทำให้คนเชื่อได้ ก็ต่อเมื่อผู้คนรวมทั้งผู้ปกครองนั้นมีความเชื่อ มี ความลุ่มหลงในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าเรื่องหรือคำพูดของบุคคลที่มีบารมีหรือของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็น สิ่งที่ถูกต้องตลอดกาล ไม่มีวันผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง
แต่เรื่องที่ไม่จริงมักจะเป็นจริงเสมอ

suriya mardeegun

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น