วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โศกนาฏกรรมความรักต้องห้ามของชาวล้านนา

 
 โศกนาฏกรรมความรักต้องห้ามของชาวล้านนา
 
เริ่มต้นที่บทรักแสนเศร้า จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่กลายเป็นตำนาน

“ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์"

บทรักที่ไม่สมหวัง โศกเศร้า เสียใจ คือบทที่ไม่มีใครอยากสรรค์สร้าง แต่ชะตาฟ้าลิขิตไว้แล้ว บทรักที่แสนเศร้าจึงกลายเป็น โศกนาฏกรรมความรัก ที่ไม่อาจหลีกหนีได้
เดือนนี้เป็นเดือนแห่งความรักเลยขอหยิบ ตำนาน ความรักแห่งการพลัดพราก ลาจาก มาเล่าขานให้ฟังกันอีกครั้ง

โศกนาฏกรรมความรักต้องห้ามของชาวล้านนา

ตำนาน ความรักของ มะ เมียะ หญิงสาวชาวพม่าที่มีความรักมั่นกับ เจ้าน้อยศุขเกษม เจ้าชายล้านนา แต่ความรักต้องจบลงด้วยความโศกสลด เพราะถูกกีดกันด้วยความต่างของเชื้อชาติ ชนชั้น และสถานการณ์บ้านเมือง อันเป็นที่มาของตำนานความรักที่เล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงเวลาสร้าง ตำนาน ปี พ.ศ. 2445-2505

สถานที่ก่อเกิด ตำนาน นครเชียงใหม่ แคว้นล้านนา (จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบัน)

ร้อยตรี เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือ เจ้าน้อยศุขเกษม (พ.ศ. 2423-พ.ศ. 2453) ราชโอรสองค์โตในเจ้าแก้วนวรัฐ กับแม่เจ้าจามรีมหาเทวี แห่งนครเชียงใหม่ เมื่ออายุได้ 15 ปี ถูกส่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์แพทริค (St. Patrick′s School) ในเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า เมื่อเจ้าน้อยฯ มีอายุ 19 ปี ได้ออกไปเดินเที่ยวในตลาดจึงพบ มะเมียะ (พ.ศ. 2430-พ.ศ. 2505) หญิงสาวชาวพม่า แม่ค้าขายบุหรี่อายุ 15 ปี ทั้งคู่ต่างก็ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน จนกระทั่งได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา โดยทั้งสองได้สาบานต่อกัน ณ ลานหน้าพระธาตุใจ้ตะหลั่นว่า จะรักกันตลอดไปและจะไม่ทอดทิ้งกัน หากผู้ใดทรยศต่อความรักที่มีให้กัน ก็ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น

เมื่อเจ้าน้อยฯ อายุ 20 ปี ต้องกลับนครเชียงใหม่ จึงแอบพามะเมียะกลับมาด้วย เมื่อกลับมาถึงจึงทราบว่าได้ถูกหมั้นหมายผู้หญิงไว้ให้แล้ว เจ้าน้อยฯ จึงตัดสินใจเล่าเรื่อง มะเมียะให้ฟัง แต่ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะช่วงนั้นพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษที่กำลังมีคดีความกับสยามอยู่ (นครเชียงใหม่เป็นประเทศราชของสยามในสมัยนั้น) มะเมียะจึงถูกส่งตัวกลับทันที

วันเดินทางกลับ อันจะกลายเป็นการจากลาชั่วนิรันดร์ เจ้าน้อยฯ พูดภาษาพม่ากับมะเมียะได้เพียงไม่กี่คำ นางก็ร่ำไห้ด้วยความอัดอั้นตันใจในอ้อมแขนที่ยากจะแยกจากกันได้ เจ้าน้อยฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับไปหามะเมียะให้จงได้ นางจึงคุกเข่าลงกับพื้น ก้มหน้า สยายผมออกเช็ดเท้าเจ้าน้อยฯ ด้วยความอาลัยหา ก่อนที่นางจะจากไป

นางได้แต่เฝ้ารอคอยเจ้าน้อยฯ แต่กลับไร้วี่แววใดๆ มะเมียะจึงตัดสินใจครองตนเป็นแม่ชีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่านางยังซื่อ สัตย์ ต่อความรักที่มีต่อเจ้าน้อย

หลังจากที่ทราบข่าวการแต่งงานของ เจ้าน้อยฯ กับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ แม่ชีมะเมียะจึงเดินทางมายังเมืองเชียงใหม่และขอเข้าพบเจ้าน้อยฯ เป็นครั้งสุดท้าย แต่เจ้าน้อยฯ ไม่สามารถหักห้ามความสงสารที่มีต่อมะเมียะได้ จึงไม่ยอมลงไปพบแม่ชีมะเมียะตามคำขอร้อง เพียงแต่มอบหมายให้พี่เลี้ยงคนสนิทนำเงิน 1 กำปั่น( 800 บาท) ไปมอบให้กับแม่ชีมะเมียะเพื่อใช้ในการทำบุญ พร้อมกับมอบแหวนทับทิมประจำกายอีกวงหนึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าน้อยฯ ให้กับแม่ชีมะเมียะ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มะเมียะและเจ้าน้อยฯ ต่างสะเทือนใจเป็นที่สุด หลังจากเหตุการณ์นั้นเจ้าน้อยฯ ก็ตรอมใจเอาแต่กินเหล้าและสิ้นชีพิตักษัยในอีกไม่กี่ปีต่อมา ส่วน มะเมียะ ได้ครองบวชเป็น แม่ชี จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2505 รวมอายุได้ 75 ปี
 
suriya mardeegun

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น