วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับหลุมอากาศว่าเป็นอย่างไร.??

วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับหลุมอากาศว่าเป็นอย่างไร.??

หลายคนคงจินตนาการไปว่าหลุมอากาศมันคือพื้นที่บนท้องฟ้าส่วนหนึ่งที่อยู่ๆก็ไม่มีอากาศให้ปีกเครื่องบินเกาะมันก็เลยหล่น เหมือนขับรถตกหลุม ... เกือบใช่ครับมาถูกทางแล้ว แต่ไม่ใช่ไม่มีอากาศครับ พื้นที่ตรงนั้นมีอากาศแต่ความหนาแน่นไม่เท่ากัน ทดลองง่ายๆครับ หากใครได้มีโอกาสไปว่ายน้ำ ลองเหยียดมือตรงเป็นแผ่นคล้ายปีกเครื่องบิน ตั้งฉากกับพื้นโลก ลากมือจากไต้น้ำขึ้นมาเหนือน้ำสุดแรง เมื่อมือพ้นน้ำความเร็วที่ลากอยู่ไต้น้ำ และเหนือพื้นน้ำ ต่างกันเยอะครับ (พ้นน้ำจะรู้สึกวูบหรือลากมือไปได้เร็วกว่า) นี่แหละครับคอนเซปต์ของหลุมอากาศ 
ลองกลับมาจินตนาการถึงเครื่องบินครับ เครื่องบินบินได้จากแรงขับ และการยกตัวของปีกที่เกิดจากรูปร่างของปีก ความเร็ว มุมปะทะปีก และความหนาแน่นของอากาศเหนือปีกและไต้ปีก เมื่อเครื่องบิน บินข้ามจากความหนาแน่นอากาศมากไปความหนาแน่นอากาศน้อย เครื่องบินจะพุ่งไปเร็วขึ้น คนที่นั่งจะรู้สึกว่าเครื่องบินเร่ง และความหนาแน่นที่น้อยกว่า ส่งผลให้แรงยกก็น้อยตาม เครื่องก็จะถูกแรงดึงดูดโลกดึงลงไปให้เสียความสูง ผู้โดยสารจึงรู้สึกว่าร่วงหล่น หากบินสูงๆก็ยังปลอดภัยครับ แต่ถ้าเกิดใกล้ๆพื้น ก็มีสิทธิ์เครื่องชนพื้นได้ 

แล้วสภาพอากาศแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
สภาพอากาศที่มีความปั่นป่วนอาจจะรู้จักในอีกชื่อคือ เทอบูแลนซ์ (turbulence) 
เวลาดูข่าวพยากรณ์อากาศจะเห็นว่ามีแผนที่ และเส้นขีดๆโค้งๆ พาดผ่าน และมีสัญลักษณ์ "H" และ "L" หรือความกดอากาศสูงและความกดอากาศต่ำ เส้นที่ขีดพาดดังกล่าวเป็นเส้นที่บอกว่า บริเวณนั้นความกดอากาศเท่ากันทั้งแนว โดยแต่ละเส้นจะมีความกดอากาศที่ไม่เท่ากัน เส้นที่ใกล้กันแปลว่าความกดอากาศเปลี่ยนแปลงมาก (ไปทางมากหรือน้อยลงต้องพิจารณาถึงตำแหน่งของ H L ด้วย) เมื่อไรที่เกิดพายุ เส้นจะมีความถี่มากๆ เครื่องบินที่จำเป็นต้องบินเฉียดแนวพายุ เครื่องจะสั่นตลอดเวลาจนกว่าจะพ้นแนว อันนี้พูดในสเกลใหญ่ เพดานบินสูงๆ ระดับประเทศหรือทวีปครับ

ในส่วนสเกลเล็ก บินกันต่ำๆ ความปั่นป่วนของอากาศที่ทำให้เครื่องสั่นไหวขณะบินก็มีหลายปัจจัย ส่วนใหญ่เป็นการยกตัวของอากาศที่ไม่เท่ากัน ถ้าเราบินในเมืองที่มีตึกรามบ้านช่องเยอะ ตึกเหล่านี้เก็บความร้อนมากครับ อากาศร้อนลอยขึ้นสูงอากาศเย็นลอยลงต่ำ ยิ่งร้อนยิ่งยกตัวเร็วและแรงในทางกลับกันอากาศเย็นก็จะไหลลงมาเร็วเหมือนกัน หากบินเหนือทะเล น้ำจะคายความร้อนเท่าๆกัน จึงไม่ค่อยปั่นป่วน 
ภูมิประเทศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งถ้าเราบินเหนือภูเขา เชิงเขา ลมที่พัดในระดับผิวพื้นเมื่อปะทะแนวเขาก็จะช้อนตัวขึ้นมา และตีไต้ปีกเราได้ เครื่องก็อาจจะหงายเงิบขึ้นไป หากบินจากยอดเขาข้ามหน้าผา ลมก็อาจจะดึงเครื่องเราลงไปตามslopeของผาได้
ส่วนที่สำคัญที่สุดคือเมฆฝนและพายุ แน่นอนครับอันดับแรกเลย ลมแรงและปั่นป่วนในบริเวณที่มีเมฆฝนและพายุ ลมที่เกิดในเมฆฝนจะเป็นลมที่ทั้งตีขึ้นและตีลง (up draft & down draft) นอกจากนี้อาจจะมี wind shear (กระแสลมที่พัดในแนวดิ่ง หรือขนาน แบบฉับพลัน) และmicro burst (กระแสลมที่พัดลงมาที่พื้น อย่างฉับพลันและรุนแรง) ซึ่งมีผลต่อท่าทางการบินในขณะนั้น นักบินหากไม่จำเป็นจะไม่บินเข้าเมฆเด็ดขาด นอกจากจะมีความเสี่ยงเรื่องความปั่นป่วนภายในเมฆแล้ว ยังมองไม่เห็นสภาพแวดล้อมภายนอก พื้นดิน และอาจจะหลงสภาพอากาศ ไม่รู้ว่าเครื่องเอียงหรือบินท่าทางอะไรอยู่ ซึ่งๆนานๆไปอาจจะเอียงจนเครื่องพลิกและตกเป็นได้

เมื่อเข้าสภาพอากาศที่ปั่นป่วนแน่นอนครับ สัญญาณรัดเข็มขัดจะเปิดขึ้น แอร์ทั้งหลายจะไล่คุณกลับไปนั่งที่ และงดเสิร์ฟ แต่สภาพอากาศนักบินอาอาจจะเตือนไม่ได้ตลอด หลายสายการบินมักจะบอกว่า คาดเข็มขัดไว้ด้วย (หลวมๆก็ยังดี) เพราะอากาศดีฟ้าใสๆ แต่ข้ามเส้นความกดอากาศที่ชันๆ ก็อาจจะโยนคุณขึ้นไปกระแทกเพดานได้..!!


suriya mardeegun

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น