แม่ทัพโจด์ลได้ประกาศว่า เยอรมันกำลังจะเริ่มใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพที่ร้ายแรงกว่าเก่า กองทัพก็จะขนาดใหญ่กว่าเก่า.
ซึ่ง ฮิตเล่อร์เชื่อว่า นี่คือคำตอบสำหรับการที่จะจบสงครามครั้งนี้ได้อย่างสวยงาม
สถานที่ที่เลือกถล่ม..นั่นคือ ส่วนของป่าอาร์เดนน์ ที่ชื่อว่า Monschau-Echternach ที่ได้ทำการสำรวจมาแล้วว่า ทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่ป้องกันอย่างบางตา...นี่คือ สงครามที่เรียกว่า The Battle of the Bulge ในปี 1944 หรือ Ardennes offensive
อีกทั้งทหารก็เหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางข้ามมาจากฝรั่งเศส และ อาจนึกไม่ถึงว่าจะเจอกับการบุกย้อนศรของกองทัพเยอรมัน
ทุกคนรอเวลาที่ดินฟ้าอากาศจะช่วยเป็นใจ..คือ การมืดคลึ้มของอากาศ ท้องฟ้าปิดไม่เหมาะต่อกองบินของทัพอากาศที่จะเข้ามาช่วย
เยอรมัน ..รอเวลาที่จะลั่นไกของการเดินทัพแบบจู่โจมสายฟ้าแลบของกองพันยานเกราะโยธิน เพราะ การปฏิบัติการเช่นนั้นได้สร้างชัยชนะให้แก่เยอรมันมานับครั้งไม่ถ้วน
การ เดินทัพบุกครั้งนี้ วางแผนกันไว้ว่า หน่วยยานเกราะจะเข้าตะลุยไปทางริมฝั่งแม่น้ำ Meuse ระหว่าง Liege และ Namur และจะกระจายกำลังเข้าตีแบบที่เคยกวาดต้อน
ทัพอังกฤษเมื่อครั้ง สงครามที่ Dunkirk
และ ผลคือ เมื่อแผนเริ่มปฏิบัติเข้าจริงๆ กองทัพยานเกราะของเยอรมันได้ผ่านมาทางแม่น้ำ Meuse นั่นหมายความว่า หน่วยสื่อสารของกองทัพอเมริกันได้ถูกตัดขาด..
และถ้าได้ผ่านไปถึง ยัง เขตของ Brussels นั่นก็หมายถึงว่ากองทัพของอังกฤษที่ 21 ก็จะประสบกับการถูกทำลายหน่วยสื่อสารเช่นเดียวกันกับอเมริกา
จากนั้น..เยอรมันก็จะเข้ารุมโอบหน่วยสพมที่มีขนาดถึง สามสิบกองพลไว้ในอุ้งมือ..
และ นั่นหมายความว่า..อาวุธยุทโธปกรณ์และสัมภาระที่จะยึดมาได้มีจำนวนมหาศาล สามารถเอามาเป็นยุทธปัจจัยให้กับเยอรมันได้ไปอีกนานหลายเดือน
ส่วนแม่ทัพนายกองหน่วยทหารราบได้ฟังดังนั้น ก็ เริ่มรู้สึกได้ทันทีว่า แผนครั้งนี้มันฟังแล้วแหม่งๆอย่างไรพิกล เพราะ การที่จะเข้าต่อตีข้าศึก เพื่อยึดครอง
และหวังพึ่งหน่วยสัมภาระนั้น..มันบ่งบอกถึงสภาพที่แย่เต็มทีของเยอรมัน..
แต่นายพล โจด์ล ก็ยังไม่รู้สึก..ปากก็แถลงแผนการต่อไปว่า..
ท่านผู้นำ ท่านว่า แผนนี้จะทำให้ข้าศึกต้องชะงักงันไปอีกนาน และการล่าช้าระส่ำระสายในครั้งนี้ จะทำให้ข้าศึกเปลี่ยนใจไม่เข้ามาบุกเยอรมัน ซึ่ง
จะเป็นการพักรบเพื่อมีเวลาฟื้นฟูหน่วยรบของเราให้แข็งแรงกลับมาดังเดิม..
นี่ คือ..ความผิดพลาดอีกอย่างหนึ่งของฮิตเล่อร์ เพราะแม่ทัพนายพลทั้งหลายต่างก็รู้ดีว่า ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งทัพของสพม.ได้อย่างแน่นอน
แต่..ใครเล่าจะกล้าทัดทาน..!!
ความ ผิดพลาดของแผนนี้ได้แก่..กำลังพลที่มีน้อยไป และ การคิดอ่านดำเนินการช้าไป..เพียงแต่ถ้าฮิตเล่อร์ยอมที่จะเคลื่อนย้ายทัพทาง ใต้ขึ้นมา หรือถอนกำลังจากอิตาลี
หรือแบ่งจากฝั่งแนวหน้ารัสเซีย มาเสริมทางด้านนี้ การต่อสู้ก็จะเปลี่ยนโฉมไป
ใน คืนที่กะว่าจะเริ่มปฏิบัติการ คือ วันที่ 25 พฤศจิกายนนั้น กลายเป็นคืนเดือนมืด แม่ทัพโจด์ล และแม่ทัพอื่นๆจึงมาประชุมกันใหม่ เปลี่ยนมาเป็นเดือนธันวาคม
และ ในคำสั่งของฮิตเล่อร์ เขาต้องการใช้หน่วยของ SS นำขบวนเข้าโจมตีในทุกจุด และ นั่นเท่ากับว่า กองทัพได้แตกออกเป็นสองฝ่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายที่ว่านี้
ไม่ลงรอยกันอย่างแรง
ฉะนั้น ที่กรุงเบอร์ลิน วันที่ 2 ธันวาคม เหล่าคอมมานเดอร์ทั้งหลาย คือ Field Marshal Model, Gen. Dietrich, Gen. von Manteuffel ได้ขอเข้าพบฮิตเล่อร์
แม่ทัพ Model ได้กล่าวว่า เขาได้ทำการตกลงกับท่านรมต. Spreer แห่งกระทรวงส่งเสริมอาวุธ แล้ว ถึงเรื่องการส่งกำลังบำรุงทางรถไฟ ถึงขบวนรถด่วนพิเศษ
ในการเข้ารบครั้งนี้ ซึ่งทุกอย่างได้ตกลงตามนั้น
การประชุมได้ดำเนินไปถึงเจ็ดชั่วโมง หลังจากนั้น ฮิตเล่อร์ได้ดึงตัว Gen. von Manteuffel(จากหน่วย SS) ไปคุยต่ออีกชั่วโมงครึ่ง..
แต่เมื่อการประชุมได้สร็จสิ้นลง ฮิตเล่อร์ กลับบอกว่า..ที่ขอมาน่ะ..ให้ไม่ได้ง่ะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น คือ ฮิตเล่อร์ไม่เชื่อใจในตัวแม่ทัพทหารอาชีพของเขาเลยแม้แต่นิด และ นายพล มันโตเฟล นั้นคือลูกหม้อของกองทัพตัวจริง
General Hasso von Manteuffel
การรบครั้งนี้ เยอรมันมีส่วนได้เปรียบหลายอย่าง
หนึ่งก็คือ การรบในเขต Aachen นั้น เยอรมันสามารถเคลื่อนตัวไปในพื้นที่อย่างสบาย เพราะเป็นชายแดนของตัวเอง
สอง.. การคุ้นเคยกับภูมิประเทศ เยอรมันใช้เส้นทางนี้รบมาตั้งแต่ครั้ง 1940 (เคลื่อนตัวเข้าฝรั่งเศส อย่างง่ายดาย ยามถอยทัพ ก็ใช้เส้นทางนี้แหละ)
ไม่ว่าจะจุดไหน มุมไหน ช่องไหน เส้นทางลำเลียงทุกอย่างเจนจัดไปทั้งหมด
แต่กระนั้น ปัญหาก็ยังมี นั่นคือ อาวุธและเครื่องยนต์ต่างๆของเยอรมันไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์นัก จึงมีการต้องหยุดซ่อมกันบ่อยๆ
ทหาร(ใหม่ๆ )ขาดความช่ำชอง ไม่รู้จักการใช้อาวุธอย่างถูกต้อง เพราะ ตั้งแต่ 1943 เป็นต้นมา ยังไม่ปรากฏการปะทะในหน่วยยานเกราะครั้งใหญ่ๆเลย
แถม เส้นทางลำเลียงรถไฟทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ไรห์น ก็พังแล้วพังอีก..
แต่กระนั้น..แผนการที่จะสู้รบ ก็ยังจะต้องยึดปฏิบัติต่อไป.. ว่า..
เมื่อ กองทัพได้มารวมตัวกันยังที่จุดเป้าหมาย(การกระทำการโจมตี) ทุกอย่างต้องอยู่ในความเงียบเชียบ และ ปกปิดให้ดีที่สุด เช่น การใช้ถ่านหินเพื่อเป็นเชื้อเพลิง
สำหรับหุงหา (เพราะไม่มีควันไฟ) การใช้ม้าลากปืนใหญ่มาสมทบ การให้เครื่องบินลุฟท์วัฟฟ์ คอยบินเลียบยามค่ำคืนเพื่อกลบเสียงเครื่องยนตร์ของรถ
หรือถ้ามีการขับหลุดออกนอกแนว รถคันหลังจะคอยเกลี่ยหิมะให้กลบรอยยางรถยนต์อย่างรวดเร็ว..
ทหารในหน่วยยานเกราะเปลี่ยนมาใช้เครื่องแบบของทหาราบ..เพื่อเป็นการอำพราง
ทุกอย่างที่วางมานี้ เพื่อเป็นการไม่กระโตกกระตากให้กับข้าศึกได้ล่วงรู้..ว่า..การจู่โจมกำลังจะเกิดขึ้น
ในช่วงสองอาทิตย์หลังของเดือนพฤศจิกายน การสู้รบของสองฝ่ายเข้าข่ายนองเลือดกว่าครั้งไหนๆ ทัพของอเมริกา ได้บุกตะลุยผ่ากำแพงตะวันตกของฮิตเล่อร์มาจนถึง
Walendorf เยอรมันก็ยันกลับออกไป แต่พอมาถึงตอนสิ้นเดือน การสู้รบกับสพม.เริ่มยากขึ้น เพราะ ทั้งอเมริกาและอังกฤษได้รวมตัวกันอย่างแข็งแรง เข้ายึดครองเขต Ruhr
ได้เป็นผลสำเร็จ (เพราะ ทหารถูกเรียกตัวไปยังฝั่ง Ardenne ที่ว่ามาข้างบน)
ใน วันที่ 11 ธันวาคม ขณะที่นายพล von Manteuffel ได้เตรียมพร้อมต่อการปะทะ แต่ก็ได้รับการเรียกตัวไปยังรังพญานกอินทรีย์ พร้อมทั้งแม่ทัพคนสำคัญอื่นๆเพื่อเข้าประชุมกับท่านผู้นำ..
ในบันทึกของ..นายพล ฟอน มันโตเฟล ได้เขียนไว้ว่า..
" ผู้ร่วมประชุมดูค่อนข้างแปลกๆ..ฝั่งหนึ่งของห้องคือเหล่าแม่ทัพชื่อดังที่ ผ่านสงครามมาโชกโชนหลายท่าน ที่ต่างก็นั่งเรียงแถวต่อหน้าท่านผู้นำในฐานะผู้บัญชาการรบที่นั่งหน้าขาว
ราวกับกระดาษอยู่บนเก้าอี้ ด้วยลักษณะที่หลังคุ้มงอ..ที่มือมีอาการสั่นระริกอย่างเห็นได้ชัด แขนซ้ายมีอาการกระตุกเป็นระยะ..
แต่ก็ยังพยายามกลบเกลื่อนทำทีท่าว่าเป็น ปรกติ สังเกตุได้ว่าสุขภาพของท่านผู้นำได้ทรุดโทรมลงไปมากกว่าเก่า ทั้งๆที่ครั้งสุดท้ายที่พบกันนั้น ห่างเพียงแค่ เก้าวัน
โดยเฉพาะยิ่งยามเดิน ขานั้นลากไปข้างหนึ่ง..ข้างตัวของฮิตเล่อร์ คือแม่ทัพ โจด์ล ที่ดูแก่ไปไม่แพ้กัน ทั้งๆที่เมื่อก่อนนั้น ชายผู้นี้ องอาจผึ่งผายนัก
แต่..ทั้งหมดนั่นมันเหือดหายไปเพราะการเคร่งเครียดเหนื่อยล้าต่อสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น..
เหล่าแม่ทัพ..มีความเห็นแตกต่างจนเกิดการแยกวงสนทนาราชการศึก
อย่างแม่ทัพไกเทล..ดูท่าเหมือนกับมาประชุมอย่างเสียไม่ได้.."
ฮิตเล่อร์ได้ใช้เวลาในการประชุมอยู่ประมาณชั่วโมงครึ่ง แต่ข้อความนั้นไม่มีอะไรที่เป็นสาระสำคัญ แถมยังมีท่าทีเหยื่อยอ่อนอย่างเห็นได้ชัด
ยิ่งพูดข้อความก็ยิ่งขัดแย้ง ในตัวเอง เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่า การที่จะบุกครั้งยิ่งใหญ่ที่จะมีขึ้นนั้น ต้องมีกำลังทหารที่เข้มแข็ง และ การเตรียมการที่หนาแน่น
อีกทั้งกำลังทางอาวุธต้องยิ่งใหญ่..แต่มาครั้งนี้ ทุกคนรู้ดีว่า เยอรมันไม่มีทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด..
ในตอนสุดท้ายของการประชุม..ทุกคนได้ลาจาก พร้อมกับความหวังสูงสุดที่ท่านผู้นำฝากติดตัวออกมา นั่นคือ เอาชัยชนะให้จงได้..
การปะทะ ได้เริ่มขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม ..ท่ามกลางการตกตะลึงของฝ่ายสัมพันธมิตรที่กำลังเริงร่ากับชัยชนะที่ผ่านๆมา..
ไอ เซ่นฮาวร์และมอนต์คอมเมอรี่ ต่างมัวแต่พนันขันต่อกันว่า สงครามจะเสร็จก่อนหรือหลังคริสมาสต์ และท่าทีที่เงียบๆเหงาๆ ทางกองทัพจึงได้ให้ทหารทั้งหลายไปพักผ่อน
เหล่านายทหารชั้นสูงส่วนใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน เพื่อฉลองเทศกาล
เป้า สำคัญในการจู่โจมครั้งนี้คือ ฝั่งขวาที่แม่ทัพ Dietrich ที่มีกำลังพลและกำลังอาวุธพร้อมที่สุด และ ได้ใช่เล่ห์กลโดยเอาหน่วย SS ที่พูดภาษาอังกฤษแบบอเมริกันได้
มาแต่งตัวเป็นทหารอเมริกัน พร้อมรถจี๊ป แผนที่ ล่อหลอกฝ่ายสัมพันธมิตร และเปลี่ยนชื่อถนน ชี้ทิศทางให้ไปที่ผิดๆ
แผนนี้ใช้ได้ผลในระยะแรกๆ แต่ต่อมา..ฝ่ายสพม.ก็ไม่ได้หลงกลง่ายๆอีกต่อไป
เพียง ในวันแรกของการบุก แม่ทัพ Model ก็ได้พบลางร้ายของการย่อยยับ นั่นคือ ขณะที่เขาตรวจเส้นทางรถไฟสายลำเลียงสัมภาระอยู่นั้น ได้พบว่า
ขบวนรถบรรทุกของสำคัญ ที่อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำไรห์น หยุดชะงักงัน เพราะ ถูกระเบิดของผ่ายสพม.ถล่อมจนไม่มีชิ้นดี..
และ เขาก็ได้พบลางบอกเหตุต่อไป นั่นคือ ทางฝ่ายเสนาธิการนั่งโต๊ะทำงานในกรุงเบอร์ลิน ได้ประมาณ ไว้ว่า ในหน่วยกองพลหนึ่งต้องเดินทางเพียง 100 กิโลเมตร
จึงกำหนดน้ำมันมาแค่นั้น แต่..ในการสภาพการรบ รถถังต้องใช้น้ำมันมากกว่าปรกติถึง สองเท่า และ..เพราะความลำบากในการส่งกำลัง ที่อาจถูกตัดตอนได้ทุกเมื่อนั้น
ควรต้องมีตุนไว้อย่างน้อยๆคือ ห้าเท่าของที่ควรจะใช้..
แต่..น้ำมันที่ทางเบอร์ลินได้จัดส่งให้มานั้น มีมากกว่าเพียง เท่าครึ่ง เท่านั้น..
กองทัพของนายพล ฟอน มันโตเฟล อยู่ทางฝั่งกลาง ส่วนของ นายพล Brandenberger อยู่ทางฝั่งซ้าย
การ จู่โจมไปได้สวยในระยะแรกๆ นายพล ฟอน มันโตเฟล ได้ทะลวงไปจนเกือบถึงแม่น้ำ Meuse {มึส) เพราะ พวกเขาไม่รู้ว่า เป็นเพราะความผิดพลาดในการคำนวนของ
ฝ่ายสพม. แต่พอหลังจากที่ ทุกคนถูกเรียกตัวกลับมารวมพลหลังจากที่ต้องทิ้งงานปาร์ตี้มาอย่างกลางคัน นั้น..สถานะการณ์ได้เปลี่ยนไป
ใน วันที่ 18 ธันวาคม เยอรมัน เกือบจะเข้ายึดจุดและเส้นทางสำคัญๆอย่าง..ชุมทางBastogne (บัสตอนจ์ ในเบลเยี่ยม)ได้ตามกำหนดในวันที่สองของการจู่โจมได้นั้น..
แต่...ต้องถูกฝ่ายสพม.สะกัดกั้นปะทะทันท่วงทีในวันที่ 20 ธันวาคม
การ สู้รบได้เกิดขึ้นอย่างชนิดที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ ถึงความโหดเหี้ยม ที่ทหารอเมริกันถูกฆ่าตายอย่างทารุณทั้งๆที่อยู่ในสภาพเชลยศึก
ในวันที่ 26 ธันวาคม..ผู้ที่นำทัพเข้ามากู้สถานะการณ์การนองเลือดที่ ชุมทาง Bastogne นี้ คือ กองทัพอเมริกันที่นำโดย
นายพล แพตตัน
และอาจเป็นเพราะโชคช่วย..ในวันนั้น อากาศแจ่มใส ท้องฟ้าโปร่ง น่านฟ้าเป็นของสัมพันธมิตร ที่นำฝูงบินเข้าจู่โจมแบบมืดฟ้ามัวดิน..
ภายในสิ้นเดือนธันวาคม..กองทัพเยอรมันได้สูญเสียชีวิตทหารนับไม่ถ้วน จากตำแหน่งที่ถือเป็นฝ่ายบุก ตอนนี้ คือ ต้องสู้เพื่อเอาตัวรอด..
เพียงต้นเดือนมกราคม..ชุมทาง Bastogne ก็ได้รับการปลดปล่อย อยู่ในเขตการันตีความปลอดภัย
ฝ่าย เยอรมัน ..ถือว่าเสียแรงเปล่า เพราะ การบุกไปครั้งนี้เท่ากับเป็นการส่งแมงเม่าเข้ากองไฟ..แม่ทัพ ฟอน รุนสเตดท์ สั่งกองทัพถอยเพื่อรักษาชีวิตและอาวุธ
ฮิตเล่อร์ไม่ค่อยพอใจนัก เพราะ เขายังหวังว่า ปาฏิหารย์อะไรสักอย่างน่าจะเกิดขึ้น..เพื่อช่วยชะตาชีวิตของเยอรมัน
ฝ่ายสพม. เริ่มตีรุกไล่..ล้อมกรอบบีบกองทัพรถถังเยอรมันให้มารวมตัวกันเป็นหมวดเป็นหมู่
ใน วันที่ 13 มกราคม กองทัพรัสเซียได้เคลื่อนพลเข้าสู่ฝั่งชายแดนเยอรมัน ..ทำให้ กองทัพเยอรมันที่กำลังอยู่ใน Ardenne ต้องรีบถอนออกไปปะทะแทบไม่ทัน
วันที่ 9 มกราคม คือวันที่สงครามฝั่งอาร์เดนน์ ของเยอรมันได้หยุดลงอย่างเงียบสนิท กำลังทั้งหมดได้ย้ายไปยันรับการบุกของรัสเซียที่ลุยเข้ามาอย่างดุเดือดทาง ตะวันออก แม่ทัพ คูเดอเรียนก็กำลังหนักใจ ต่อการเข้ามาของทหารแดง จนทนไม่ไหว ต้องเดินทางไปพบกับท่านผู้นำที่ Ziegerberg และพยายามที่จะขอให้ออกคำสั่งให้ส่งกองทัพทั้งหมดจากทุกๆที่มายันทางตะวัน ออก
การไปครั้งนี้ของแม่ทัพ ได้พานายพล Thomale นักรบคู่ใจไปด้วย เพื่อไปกางแผนที่ ชี้ให้เห็นถึงเส้นทางที่ไม่น่าวางใจ
ฮิตเล่อร์..ก็ดื้อเหมือนเดิม เขาไม่ฟังอะไรเลย แถมยังสั่งให้ทุกคนหยุดพูด เขาว่า
" ไอ้รายงานที่เอามานี่..มันช่างปัญญาอ่อนเสียจริงๆ ทำงานโง่ๆแบบนี้ ลาออกได้แล้ว !!"
แม่ทัพคูเดอเรียน หมดความอดทนอีกต่อไป เขาบอกว่า..
"ถ้าลูกน้องกระผ้มออก ผ๊มก็ขอลาออกไปด้วย"
ฮิตเล่อร์เริ่มได้สติ..พูดด้วยเสียงอ่อนว่า
" ทางฝั่งตะวันออกเนี่ย ไม่เคยเข้มแข็งอย่างนี้มาก่อน ก็เป็นเพราะท่านนี่แหละ"
แค่ ผู้ฟังกลับไม่สนใจในคำหวานอีกต่อไป เขาฮึดฮัด..จนแม่ทัพโจด์ลต้องกล่าวเสริมขึ้นว่า ทุกอย่างนั้นเป็นแผนกลลวงของรัสเซียที่แค่เขียนเสือให้วัวกลัวเท่านั้น
ที่จริงไม่มีอะไรหรอก..มันล้อเล่น..
แม่ ทัพคูเดอเรียนรู้ดีว่า..ทั้งหมดนั้นคือเรื่องจริง แต่จะมีประโยชน์อะไร ที่จะพูดต่อไป..ในเมื่อเหล่าผู้นำต่างใช้วิธีเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทุกคนต่างไม่ยอมรับความจริงว่า
รัสเซียนั้น คือศัตรูตัวฉกาจที่จ้องรอการแก้แค้นอยู่ในทุกขณะจิต...
ขอคั่นเวลา วกมาเล่าเรื่องที่น่าสนใจคือได้หนังสือที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่ง คือ The American Axis ที่แฉนาย Henry Ford และ นักบินวีรบุรุษของอเมริกา Charles
Lindbergh ใน.. The American Axis Henry Ford , Charles Lindbergh and the Rise of the Third Reich and the Rise of the Third Reich เขียนโดย Max Walllace
โอ้โห อ่านแล้วตะลึงงันนะ เพราะ ปรากฏว่า เงินทุนที่ฮิตเล่อร์เอามาอุดหนุนพรรคนั้นมาจาก นาย ฟอร์ด นี่เอง
(เพราะ ฟอร์ดมีโรงงานผลิตรถยนตร์ในเยอรมัน )
และทั้งฟอร์ด และ ชารลส์ ทั้งคู่ เกลียดยิวพอๆกับฮิตเล่อร์
ในหนังสือ มีหลักฐานประกอบมากมาย
ยังอ่านไม่จบ เอาไว้จบก่อนจะมาเล่าเสริมให้ฟังที่หลัง..
หนาตั้งเกือบ ๕๐๐ หน้าแน่ะ.
มีคนโพสต์มาถามว่า..."เคยได้ยินมาว่า henry ford เป็นเยอรมันเชื้อสายยิวไม่ใช่เหรอครับ"
ตอบค่ะ....เฮนรี่ ฟอร์ด เป็นลูกชาวนาแต้ๆ ที่เกิดมาพร้อมกับความอัจฉริยะทางเครื่องยนตร์ตั้งแต่เด็กๆ
ในปี 1941 (ปีที่สงครามกำลังดุเดือด) เขาสามารถสร้างรถยนตร์ที่ใช้ตัวถังทำด้วยพลาสติกจาก soy bean ได้อย่างน่าพิศวง..
(เดี๋ยวไปหารูปก่อน แล้วจะมาโพสต์ให้)
ส่วนเรื่องความรุนแรงในด้านความคิดการการเมือง เขาเกลียดยิวมาแต่ไหนแต่ไรแล้วค่ะ
เคยเล่าให้ฟังแล้ว ว่า ในยุคโบราณครั้งนั้น การเล่านิทานอันเป็นสิ่งบันเทิงแก่เด็กๆ มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความดีและ
สิ่งชั่วร้าย..ที่มักโป้ยให้กับชาวยิว ( เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง Passion of the Christ )
รูป นาย ฟอร์ด กำลังทดลองความแข็งแกร่งของพลาสติก โดยการทุบตัวถังรถที่ทำมาจากผลิตภัณฑ์ใหม่
ที่คิดขึ้นมาได้ในปี 1941 ค่ะ..
ความจริงนะ..เขียนแต่เรื่องรบก็เบื่อเหมือนกัน เพราะมันรบกันทั้งตาปีตาชาติ นัวเนียกันไปหมด
เห็นว่า ส่วนใหญ่ ก็เอาไปสร้างหนังให้ดูกันหมดแล้ว
เอาเป็นว่า...เรามาคุยเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงดีกว่า
เพราะจะว่าไปแล้ว มันก็สำคัญไม่น้อยเชียว
อย่างเรื่องของคนที่แบ๊คอัฟพ่อยอดชายนายฮิตเล่อร์ที่ไม่ใช่ชาวเยอรมันเนี่ย(ในช่วงของ 1930's และ 1940's)
มีด้วยกันแบบเห็นชัดๆอยู่สี่คน สองคนในนั้นเป็นอเมริกัน คือ ท่านทูตอเมริกันแห่งสำนัก เซ็นต์ เจมส์ (อังกฤษ)
นายโจเซฟ เคนเนดี้ (บิดาของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้)
และ นายชารลส์ ลินด์เบอร์ค นักบินที่โด่งดังปานประหนึ่งวีรบุรุษ อีกสองคนนั้นเป็นอังกฤษ (เคยเล่าไว้แล้ว)
นั่นคือ ดยุค และ ดัชเชส แห่งวินเซอร์ (เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด และ หม่อมวอลลิส ซิมปสัน)
มาเล่าจะๆกันถึงนายโจเซฟเลยดีกว่า เพราะคนนี้เขาโปรนาซีแบบเปิดเผย อย่างไม่เกรงใจใคร
รวมทั้งพยายามแหกคอกในนโยบายของท่านประธานาธิบดีรูสเวลต์แทบในทุกขณะจิต
เรื่องเป็นงี้..
เมื่อปี 1938 ควันแห่งสงครามเริ่มกรุ่นๆไปทั่วยุโรป ปธน. รูสเวลต์ ได้แต่งตั้งให้นายโจเซฟไปเป็นทูตที่อังกฤษ
ก็ด้วยความจำใจ เพราะ ความจริงแล้วมันออกจะเป็นเรื่องขำกลิ้งเสียด้วยซ้ำ ที่อเมริกาส่งชาวไอริช(ที่มาของนายโจเซฟ)
ไปเป็นทูตอเมริกัน แต่ ในตอนนั้นกระแสการเมืองของอเมริกายังมีการต่อต้านอังกฤษอยู่ในกลุ่มพวกชาว
ไอริช-อเมริกันในนครใหญ่ๆอย่าง บอสตัน และ นิวยอร์ค
และ ตัวท่านประธานาธิบดีเองก็ตั้งใจที่จะช่วยเหลืออังกฤษอย่างเต็มกำลังอยู่แล้วในเรื่องของการต่อต้านนาซี
ดังนั้น การส่งนายโจเซฟไปจึงอาจเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ในเชิงบวก
นายโจเซฟเองเป็นคนเก่งสารพัด ประสบความสำเร็จในด้านการงานในฐานะเป็นสต๊อคโบร์คเกอร์
จัดว่าเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง แต่ยกเว้นในเรื่องของการทูต เพราะ ทันที่ที่เข้ามารับงานปุ๊บ..เธอก็เข้า"ตีซี้"กับ
กับนายกรัฐมนตรี เนวิลล์ แชมเบอร์เลน ทันที เนื่องจากทั้งสองนี้ช่างมีความคิดที่เหมือนกันมาก
นั่นคือ ไม่ต้องการสงคราม (ออกจะกลัวฮิตเล่อร์ซะด้วยซ้ำ)
นายแชมเบอร์เลน เคยเป็นรมต. คลัง มุ่งคิดแต่เรื่องว่าเศรษฐกิจจะพังระเนระนาด ถ้าหากเกิดสงคราม
นายโจเซฟ ก็ห่วงว่า ตลาดหุ้นจะล้มละลาย
โดยที่ไม่รู้แม้แต่นิดเดียวว่า เมื่อตอนเขาก้าวเท้ามาเหยียบผืนแผ่นดินอังกฤษนั้น
สงครามก็กำลังจะเริ่มแหล่มิแหล่อยู่แล้ว..
ฉะนั้น สิ่งที่เขาจะทำได้ นั่นคือ พยายามยื้อไม่ให้มันเกิดให้มากที่สุด และสนับสนุนนโยบายสันติภาพของนาย
แชมเบอร์เลนอย่างออกหน้าออกตา เพราะในการกล่าวสุนทรพจน์ของเขาครั้งหนึ่ง ที่พูดออกมาโต้งๆว่า
" กระผ้มไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมผู้คนถึงอยากจะทำสงครามให้เสียเลือดเนื้อ เพื่อที่จะพยายามรักษาประเทศเชค"
ถ้าคณะที่ไปด้วยไม่ห้าม หรือกระตุกให้หยุดพูดเสียก่อน คงจะ"งามหน้า" ไปกว่านี้แน่นอน
ข่าวการพูดออกนอกลู่นอกทางของทูตโจเซฟได้เข้าหู
รูสเวลต์แบบเต็มๆ ท่านประธานาธิบดีเริ่มประสาทเสีย
เพราะ นั่นมันไม่ใช่นโยบายของประเทศเลยแม้แต่นิด มันเป็นนโยบายส่วนตัวของนายโจเซฟเอง ที่เกรงว่าจะเกิดสงคราม ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจเสียหาย
และ ที่สำคัญคือ ตัวเขาเอง มีลูกชาย 4 คน ซึ่งอยู่ในวัยเกณฑ์ทหารด้วยกันทั้งนั้น
ดังที่ เขาได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ในช่วงฤดูร้อน 1938 ในอังกฤษว่า
" กระผ้มอยากจะถามท่านๆว่า...ในโลกนี้..มีการขัดแย้งอะไรที่ไหน..ที่มีค่าควรต่อการเสียเลือดเนื้อของลูกหลาน
ของเราๆท่านๆหรือไม่?"
รูสเวลต์ได้ยินเข้า ก็ ปวดหมองอีก..เพราะ นี่มันไม่ใช่กงการของทูตระหว่างประเทศที่จะมาเที่ยวล๊อบบี้ใครต่อใคร
แถมมิหนำซ้ำ นายโจเซฟ ยังเข้าไปวุ่นวายในกลุ่มสังคม
ไฮโซชาวอังกฤษระดับต้นๆอีก กลุ่มนี้ เรียกว่า กลุ่ม
" Cliveden Set" (ตั้งตามชื่อของ แม่ทัพ ที่สามารถสยบอินเดียมาเป็นเมืองขึ้นได้)
พวกเศรษฐีในกลุ่มนี้ ก็มีความคิดเหมือนๆกับนายแชมเบอร์เลนและท่านทูต คือ "กลัวสงคราม"
และไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า
ฮิตเล่อร์จะเอาอะไรก็ให้ๆมันไปซะ..
และในวงสังคมนี้เอง ที่ท่านทูตโจเซฟ ได้มีโอกาสรู้จักกับ นาย ชารลส์ ลินด์เบอร์ค นักบินอเมริกันผู้ยิ่งยง
ผู้ซึ่งนิยมชมชอบฮิตเล่อร์อย่างหมดใจ..
ชารลส์ ได้บินไปมาเข้าออกเยอรมันเป็นว่าเล่น ในช่วงปี 1936-1938 เพื่อการพบปะคบค้าสมาคมกับระดับบิ๊กๆของลุฟท์วัฟฟ์
เขาให้เครดิตในแสนยานุภาพกองทัพอากาศเยอรมันว่า เหนือชั้นกว่าผู้ใดในปฐพี
เขารักการมีวินัยของชาวเยอรมัน และคล้อยตามนโยบายของฮิตเล่อร์ในทุกขั้นตอน
ฉะนั้น การคบค้าระหว่าง ท่านทูตโจเซฟ นายกแชมเบอร์เลน และ ชารลส์ จึงสนิทชิดเชื้อเพราะร่วมอุดมการณ์เดียวกัน
ในบันทึกของชารลส์ถึงกับเขียนไว้ว่า..
" ท่านทูตเคนเนดี้ได้ให้เกียรติเราเป็นอย่างมาก ท่านช่างเป็นคนที่มีวิเศษ และมีความคิดในด้านการเมืองและการทูตอย่างลึกล้ำ ท่านสามารถ"อ่านขาด"อย่างทะลุปรุโปร่งเกี่ยวกับสถานะการณ์ต่อไปในยุโรป ซึ่งน่าสนใจมาก เราเองก็หวังว่าคงจะมีโอกาสได้พบปะสนทนากับท่านบ่อยๆ"
นอกจากนาซีแล้ว นายโจเซฟก็ยังมีส่วนสนับสนุนนายพลฟรังโก ในช่วงของสงครามกลางเมืองประเทศสเปนด้วย
ถ้า จะเลือกระหว่าง ฟาสซิสต์ กับ คอมมิวนิสต์ แน่นอนว่า คนอย่างนายโจเซฟต้องเลือกอย่างแรก เพราะเขาคือคนหนึ่งที่ต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์
ในทุกรูปแบบ เขาว่า ระบบนี้คือการล่มสลายของเศรษฐกิจโลก..
นายโจเซฟทุ่มเทเวลาและสมองให้กับนโยบายสันติสุขของนายแชมเบอร์เลนแบบไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย
เช่นฮิตเล่อร์ ประกาศปาวๆว่า ต้องการพื้นที่ที่มีทรัพยากรให้ประชาชนได้"ทำกิน"
ท่านทูตก็รีบตูดกระดกชี้ไปที่แผนที่ของยุโรปตอนตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า ให้เค้าเอาตรงนี้ไปม๊า??
แต่..ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ก็รีบสวนกับมาว่า จะบ้าไปรึไงฟะ?
พอสถานการณ์ที่ประเทศเชคตึงเครียด (ในช่วงของ Sudeten ไปอ่านเอาในกระทู้เก่าๆนะ) ปี 1938
ก็มีข่าวลือไปทั่วกรุงลอนดอนว่า จะมีการปฏิวัติรัฐบาลของฮิตเล่อร์ในเยอรมัน นายโจเซฟได้ยินเข้าก็อกสั่นขวัญแขวน
ด้วยเกรงว่า รัฐบาลใหม่จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ เขาจึงรีบส่งโทรเลขไปหาชารลส์ทันที
ตอนนั้น ชารลส์กำลังอยู่ที่ฝรั่งเศส ใจความว่า ขอให้มาที่กรุงลอนดอนด่วน !!
ซึ่งชารลส์ก็มาถึงในสองวัน..เพื่อมานั่งคุยกันที่สถานทูต
ชารลส์ได้บันทึกไว้ว่า
" วันนี้คุยกับท่านทูตเคนเนดี้ประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังอาหารกลางวัน เกี่ยวกับเรื่องของสถานะการณ์ที่น่าเป็นห่วงของยุโรป ใครต่อใครในสถานทูตมีท่าทางเป็นกังวลอย่างผิดปรกติ"
ในความเห็นของที่ชารลส์เชื่อว่า แสนยานุภาพของลุฟท์วัฟฟ์นั้นเหนือกว่าประเทศไหนๆในโลกนั้น
เพราะเขาว่า เฉพาะเครื่องบินทิ้งระเบิดอย่างเดียวสามารถบอมบ์ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสให้ราบเป็นหน้ากลอง
ได้ทุกเมื่อ ครั้นท่านทูตได้ยินคำพูดนี้จากวีรบุรุษนักบินเข้า ถึงกับปากสั่นคอสั่น
ขอร้องให้ชารลส์เขียนลงเป็นรายงานด้วยลายลักษณ์อักษรทันที
วันรุ่งขึ้น รายงานที่ว่านั่น ก็ส่งถึงมือท่านทูต อันเป็นเวลาเดียวกันกับที่นายแชมเบอร์เลนกำลังจะขึ้นเครื่องบิน
เพื่อพบปะเจรจาสันติภาพกับฮิตเล่อร์พอดี๊..
นายโจเซฟรีบส่งรายงานนั้นไปให้ทั่นนายกอังกฤษได้อ่านก่อนขึ้นเครื่องเพื่อเป็นเครื่องช่วยประกอบการตัดสินใจ
และมันก็ช่างได้ผลเสียจริงๆ...
เพราะทันทีที่ได้อ่าน..นายแชมเบอร์เลน เกิดอาการ
อึหดตดหายพอๆกับนายโจเซฟ รีบป่าวร้องให้ฝรั่งเศส
ให้รู้ตัว อย่าไปขัดขืนพอฮิตเล่อร์เค้าเลย..ยกประเทศเชคให้มันไปซะเหอะ..
ฮิตเล่อร์เลยเหมือนกับได้เชคมาแบบไม่ต้องลงแรงไปมากกว่าน้ำลายสองสามหยด..
ถามว่าพวกเขารู้สึกละอายกันบ้างไหม
แน่นอน..เพราะนายโจเซฟได้ใช้อิทธิพลที่มี...ปิดปากสื่ออย่างเงียบเชียบ
ในสมัยก่อนนั้น ก่อนฉายภาพยนตร์ในโรง มักจะมีหนังข่าวขาวดำก่อนรายการถึงสถานะการณ์โลกที่โน่นที่นี่
แต่..ข่าวของ Munich Agreement ถูกเก็บเงียบ
นาย Jan Masaryk (ยัน มาซาริค) นักการเมืองลี้ภัยรุ่นใหม่ไฟแรงชาวเชคที่อยู่ในอังกฤษ
ได้ออกมาประนามนายโจเซฟอย่างไม่มีชิ้นดี และ ถือว่าการล่มสลายของประเทศบ้านเกิดเมืองนอน
ของเขานั้น นายโจเซฟคือบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ..
ตอนนั้น ผู้คนต่างรุมด่านายแชมเบอร์เลนกันอื้ออึงเช่นกัน นายโจเซฟก็ช่วยออกแก้เกี้ยวให้ ดังเช่นในงานเลี้ยง
ของกองทัพเรือ เขามีหน้ามาพูดว่า "เรื่องการเสียประเทศเชคไปให้เยอรมันเพื่อสันติสุขนั้น นับว่าคุ้มค่า"
แค่ประโยคนั้นประโยคเดียว เล่นเอารูสเวลต์ที่นั่งอยู่ในทำเนียบขาวแทบหงายท้องตึง
เพราะ คนด่ามาจากทุกแห่งหน ว่า แล้วตกลงนโยบายของอเมริกามันยังไงกันแน่ฟะ..จะร่วมกับนาซีหรือไง?
อาทิตย์ต่อมา ท่านประธานาธิบดีรีบออกข่าวไปทั่วโลกว่า..
"นโยบายของอเมริกาคือการอยู่เฉยๆ..ไม่ยุ่งและไม่ร่วมกับนาซีอย่างแน่นอน"
ทั้งๆที่รูสเวลต์ประกาศออกมาปาวๆอย่างนั้น..ท่านทูตโจเซฟ ก็ยั๊งพยายามที่จะสมานสัมพันธไมตรีกับนาซีอย่างเหลือเกิน
ถึงกับเข้าพบทูตเยอรมันในลอนดอน นาย Herbert von Dirken และรีบพูดปลอบประโลมใจฝ่ายเยอรมันว่า
" ที่ท่านประธานาธิบดีพูดไปอย่างนั้นน่ะ อย่าไปถือไปสาท่านเล๊ย เพราะท่านก็ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรในเรื่องของการเมืองเยอรมันเลยสักนิด
ไอ้พวกหน้าห้องทั่นน่ะ ตัวดี ชอบชงเรื่องเข้าไปอย่างผิดๆ เพราะคนรอบข้างท่านก็ล้วนแล้วแต่เป็นยิวทั้งนั้น"
แถมยังหยอดยาหอมต่อซะอีกว่า
"ท่านประธานาธิบดี ท่านยังชมเลย..ว่าเศรษฐกิจของเยอรมันภายใต้การนำของทั่นฮิตเล่อร์น่ะไปได้สวย "
และเขาได้ใช้คารมหว่านล้อมทุกอย่างเพื่อให้ทูตเยอรมันได้เชื่อว่า นโยบายหลักของแชมเบอร์เลน คือ
การประสานให้สอดคล้องกับเยอรมันในทุกขั้นตอน
(ข้อมูลข้างล่างนี้..จากปากคำของนายโจเซฟได้ทำเป็นรายงานเป็นรายงานอย่างละเอียดส่งไปยังเบอร์ลินโดยนาย
Herbert von Dirken) ว่า
ท่านทูตเคนเนดี้ ได้แสดงความเห็นว่า ปัญหาการขจัดยิว นั้นอาจจะกระทบกระเทือนสัมพันธภาพอเมริกัน-เยอรมันได้
เพราะอเมริกันไม่ได้คิดถึงและกระทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ถึงแม้ว่า พวกชาวยิวนี้จัดว่าเป็นกลุ่ม"อันตราย" อย่างมากมายก็ตาม
ท่านทูตท่านเข้าใจดีถึงปัญหาดังกล่าว เพราะ ท่านเองก็มาจากเมืองบอสตัน ซึ่งที่นั่น มีสโมสรสนามกอล์ฟบางสนาม
ที่ ไม่ยอมรับสมาชิกที่เป็นชาวยิวมาโดยตลอดห้าสิบปี ฉะนั้น ความรู้สึกต่อต้านยิวนั้นก็เป็นไปคล้ายๆกับเยอรมัน เพียงแต่อเมริกาไม่ได้กระทำอย่างออกหน้าออกตา
ในการใช้คำพูดอย่างเออออห่อหมกของท่านทูตโจเซฟในข้อที่ว่า การขจัดยิว ( get rid of ) นั้น
เป็นการพลาดอย่างยิ่ง
และส่งผลให้นาซีย่ามใจว่า..มีคนเห็นด้วยในนโยบาย
อีกทั้ง ในอเมริกาได้มีกฏหมายห้ามยิวยพยพเข้าเมือง
ทำให้เป็นที่น่าเชื่อถือว่า อเมริกานั้นกำลังใช่นโยบายขจัดยิวด้วยเช่นกัน
ความจริงแล้ว นายโจเซฟได้หมายความถึงแค่ การจำกัดสิทธิ และ เพิ่มกฏข้อห้าม เท่านั้น ไม่ได้หมายถึง
การฆ่าแบบทารุณ หรือล้างเผ่าพันธ์ สักกะหน่อย
พอรายงานของนาย Herbert อันนี้ได้นำมาแฉหลังจากสงครามได้เสร็จสิ้นๆไป นายโจเซฟรีบออกมาแก้ตัวเป็นพัลวัน ว่า ม่ะด้ายพูด ...
สาเหตุเพราะ ตอนนั้น ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน นายจอห์น เอฟ เคนเนดี้ กำลังกระโจนเข้าสู่การเมือง
แต่หลักฐานจากเยอรมันนั้นมันแน่นหนา เพราะมีพยานรู้เห็นมากมายว่า ท่านทูตโจเซฟนั้นเป็นคนรังเกียจยิว
และนิยมชมชื่นฮิตเล่อร์
หลักฐานที่ว่านั้นก็คือ...เขามักตำหนิรัฐบาลของรูสเวลต์เสมอว่า มี"ยิว"หนุนหลังแบบคับคั่ง และ ยามที่ท่านผู้หญิง
เอลลิเนอร์ รูสเวลต์ มาที่อังกฤษและเชื้อเชิญสหายหญิงชาวยิวมาร่วมรับน้ำชา ท่านทูตก็ค่อนขอดซ้าาา..
ครั้งที่หนักที่สุด คือ เมื่อคืนวัน Kristallnacht ที่มีการทุบตียิวและมีการเผาโรงสวดแบบล้างผลาญนั้น
ทนายความอเมริกัน-ยิว นาย George Rublee วัย 70 ปี พยายามขอให้อเมริการับให้การช่วยเหลือชาวยิวหนีตายให้ส่งไปที่ไหนก็ได้ที่ ปลอดภัย
ซึ่งความจริงอเมริกาภายใต้การตกลงของ
เคนเนดี้และแชมเบอร์เลน ได้มีนโยบายอยู่แล้วในการที่จะเคลื่อนย้ายชาวยิวไปยัง
เกาะ มาดากัสการ์ ชายฝั่งทวีปอาฟริกา ซึ่ง บรรดาสื่อได้กระหน่ำความเห็นนี้ว่า มันก็เลวร้ายส่งไปตายพอๆกับแผนกำจัดยิวของฮิมม์เม่อร์นั่นแหละ
แต่..การช่วยนี้ไม่ใช่ว่าฟรี..สมาคมชาวยิวจากทั่วโลกจะต้องลงขันกันประมาณ ว่า 600 ล้านเหรียญในการเคลื่อนย้ายและ จัดตั้งสาธารณูปโภค
และ..นายโจเซฟก็ไม่ได้คิดจะช่วยอย่างจริงๆจังๆ จากบันทึกของนาย George Rublee ได้ว่าไว้ว่า
"แทบไม่ได้รับการตอบสนองและความช่วยเหลือใดๆจากทูต โจเซฟ เคนเนดี้เลยแม้แต่นิด การทำงานของเขาครั้งนี้ นับว่าเสียเวลาเปล่า"
ในปี 1939 ก่อนสงครามจะประทุขึ้นมา นายโจเซฟได้พยายามที่จะพบปะกับฮิตเล่อร์ โดยติดต่อ
นาย James D. Mooney ประธานบริษัท General Motors ในเยอรมัน
และการพบปะของทั้งสองคนนั้น คือในสถานทูตอเมริกาในกรุงลอนลอน เนื้อความคือ การที่จะจัดหากองทุน
ระหว่างนายทุนอเมริกา-อังกฤษ เพื่อที่จะให้เยอรมันกู้
ความ จริง นายโจเซฟได้นัดแนะที่จะเจอกันกับตัวแทนของเกอริง (ผู้บริหารเศรษฐกิจ โครงการ4 ปี อันเป็นตำแหน่งที่ได้รับนอกเหนือไปจากการเป็นแม่ทัพอากาศ)
นามว่า Dr. Helmuth Wohlthat ที่กรุงปารีส เพื่อที่จะคุยกันถึงเรื่องรายละเอียดต่างๆ
แต่เผอิญว่า สายลับอังกฤษได้รู้ระแคะระคายเสียก่อน จึงระงับการเดินทางออกนอกประเทศของนายโจเซฟ
อย่างทันท่วงที
แต่..หาใช่ว่าคนทั้งสองจะล้มเลิกความพยายาม..
นาย Mooney ได้เชิญ Dr. Wohlthat มาพบปะแบบลับเฉพาะกับท่านทูตโจเซฟถึงในกรุงลอนดอน ในวันที่ 9 พฤษภาคม
ตัว Dr. Wohlthat หาได้เป็นตัวแทนจากเกอริงคนเดียวไม่..หากแต่เขาเป็นตัวแทนของกลุ่มนายทุนผู้สนับสนุน
นาซีอื่นๆในเยอรมันด้วย
การพบปะระหว่าง ท่านทูตโจเซฟ และ ด๊อกเตอร์
โวห์ลธัท นั้น เกิดขึ้นในเวลาประมาณเที่ยงที่ห้องพักห้องหนึ่งในโรงแรม เบอร์คลี่ย์ โดยใช้เวลากว่าสองชั่วโมงในการเจรจาต้าอ้วย
จึงเป็นผลลงตัวออกมาที่...
เงินทุนการให้เยอรมันกู้ครั้งนี้ คือ หนึ่งพันล้านเหรียญ(เงินตราที่สำรองด้วยทองคำ), การคืนผืนแผ่นดิน
ในส่วนของทวีปอาฟริกาให้ส่วนหนึ่ง และ เยอรมันมีสิทธิค้าขายเสรี ยกเลิกการจำกัดสิทธิทั้งหมด
และในส่วนของฮิตเล่อร์ที่จะตอบแทนก็คือ จะไม่ต่อตี..รุกล้ำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และ ให้มีการค้าขายเสรีระหว่างประเทศเช่นกัน
ทั้งนายโจเซฟและนายมูนี่ ต่างก็มีสะตุ้งสตังส์จากเหล่านายทุนพร้อมที่จะควักลงขันอยู่แล้วเชียว
แต่...การพบปะเพื่อยืนยันในครั้งที่สอง ..ต้องแห้วสนิท..เพราะ "ข่าวรั่ว"
หนังสือพิมพ์ในกรุงลอนดอนต่างพาดหัวกันเอิกเกริกว่า ตัวแทนของเกอริงได้มาเหยียบถึงกลางกรุงลอนดอน..
ดร. โวห์ลธัท บินกลับเบอร์ลิน พร้อมทั้งนายมูนี่ เพื่อที่จะเข้าพบเจรจากับเกอริงและฮิตเล่อร์ถึง
รายละเอียดในการเจรจา
ฮิตเล่อร์ชอบไอเดียนี้มั่กม๊ากกก..
เพราะ เขาอาจได้เงินมาใช้ตั้งพันล้านฟรีๆ สัญยง สัญญาบ้าบออะไร..ฝันไปเหอะ
แต่ก็ยังเป็นโชคดีที่ ฝ่ายข่าวกรองของอเมริกาและอังกฤษได้ไหวตัวเสียก่อน ในแผนของ Kennedy-Mooney ..
จึงมีการค้นหา และสอบสวนข้อมูลกันวุ่นวาย
เหล่านายทุนทั้งหลายเลยถอยกันไปเป็นแถวๆ..
วันที่ 3 กันยายน เวลาประมาณว่าตีสี่ โทรศัพท์สายด่วนได้ดังสนั่นที่ข้างเตียงของประธานาธิบดี รูสเวลต์
จากท่านทูตโจเซฟ ที่พูดด้วยเสียงสั่นระรัวอยู่ปลายสาย ว่า..
" ท่านขอรับ แย่แล้ว ทุกอย่างพังพินาศหมดแล้ว ท่านนายกแชมเบอร์เลนเพิ่งประกาศสงครามกับเยอรมันเดี๋ยวนี้เอง...ยุโรปเห็นที จะไปไม่รอดแล้วคราวนี้"
รูสเวลต์กลายต้องมาเป็นฝ่ายปลอบขวัญให้นายโจเซฟคลายความตระหนก แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ยังไม่วายพูดพร่ำซ้ำๆซากๆว่า
"แย่แล้ว..เราจะทำอย่างไรกันดี พังหมดแล้ววว"
แต่ พอสงครามคืบใกล้เข้ามาจริงๆ นายโจเซฟก็เปลี่ยนแผนจากการยื้อยุดไม่ให้เกิดสงครามอย่างในทีแรก ให้กลายมาเป็น "ตีกัน" ไม่ให้อเมริกาเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสงครามในครั้งนี้
ในยามที่เขาได้กลับไปเมื่อคราวเทศกาลคริสมาสต์ เขาได้ป่าวประกาศให้สมาชิกในโบสถ์ไอริชคาทอลิคได้ฟังกันเต็มๆว่า
" ใครมาบอกก็อย่าเชื่อเชียวนะ ว่าสงครามครั้งนี้เราควรจะยื่นมือไปเอี่ยวด้วย เพราะ มันเลวร้ายอย่างไม่มีอะไรเปรียบ เราไม่ควรไปยุ่ง ปล่อยมัน ปล่อยให้มันฆ่ากันตายไปเอง"
แต่พอตอนที่นายโจเซฟกลับมาถึงลอนดอนก็ต้อง มาเจอกับการถล่มทางอากาศของเยอรมันเข้าพอดี ..ด้วยความรักตัวกลัวตาย พี่แกแทบจะรีบเก็บเข้าเก็บของกลับบ้านแทบไม่ทัน
ครั้นเมื่อไปไหนไม่ได้ เขาก็เหลืออยู่ทางเดียว
นั่น คือ ย้ายที่พักออกไปนอกชนบท ซึ่งตัวเองต้องรีบเดินทางกลับตั้งแต่ตอนบ่ายๆ เพื่อหนีให้พ้นจากการถล่มของฝูงบินลุฟท์วัฟฟ์ที่มาในยามกลางคืน จนเป็นที่กล่าวขวัญเป็นเชิงล้อๆแบบเสียดสี ว่า พ่อขวัญอ่อนโจ (Jittery Joe)
นายโจเซฟได้พยายามวางสายงาน ติดต่อกับกลุ่มพวก"ขวัญอ่อน"กลุ่มอื่นๆด้วยเช่นกัน ในการผลักดันให้มีการเจรจาสันติกับเยอรมัน
ซึ่งในที่สุด เชอร์ชิลล์(ที่เพิ่งก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทยนายแชมเบอร์เลน) เริ่มรำคาญและต้องมีการเชือดไก่ให้โจดูซะบ้าง
นั่นคือ สั่งจับเจ้าหน้าที่แผนกสื่อสารในสถานฑูตอเมริกัน ที่นำความลับของประเทศไปเปิดเผยต่อกลุ่มผู้ไม่หวังดี
การกระทำครั้งนี้ ..เหมือนกับการฝากข้อความเตือนไปยังท่านทูตด้วยไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางนัก
ซึ่ง ก็ได้ผล..เพราะ ในที่สุด นายโจเซฟก็ขอลาออกจากตำแหน่งแต่โดยดี แต่มันก็หลังจากที่ชื่อเสียงในด้านการฝักใฝ่ต่อนาซีได้ขจรขจายไปไหนๆแล้ว.. เท่านั้นไม่พอ คนก็ยังเชื่อว่า เขาได้ให้ความสนับสนุนเรื่องเงินกองทุนให้กับฮิตเล่อร์ซะด้วย
คนที่ส่งรายงานแบบละเอียดในเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ นาย J.Edgar Hoover หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับของอเมริกานั่นเอง
(คนนี้ก็ไม่ใช่ย่อย เพราะ ตามจองล้างจองผลาญมาจนถึงยุคของ จอห์น เอฟ เคนเนดี้....เอาไว้รอดูหนังที่ลีโอนาโดเล่นเป็นนาย เจ เอดการ์ ฮูเว่อร์ ที่กำลังจะออกฉายเร็วๆนี้)
J. Edgar Hoover
แต่..เมื่อนายโจเซฟได้รามือ ลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ผู้ที่ก้าวเข้ามาสานต่อในเจตนารมณ์ต่อไป นั่นคือ
นาย ชารลส์ ลินด์เบอร์ค
(ตอนนี้จะขอเรียกว่านาย CL)
นั่นคือในช่วง 1941 นาย CL เขากำลังโด่งดัง(ประวัติที่มาเดี๋ยวค่อยเล่า) และ ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามกับเยอรมันอย่างเปิดเผย
ทั้งๆ ที่ รูสเวลต์เองอยากจะเปิดฉากฉะกับฮิตเล่อร์ใจจะขาด แต่ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้ถูดล๊อบบี้ให้ต่อต้าน ประเทศประชาธิปไตยอย่างอเมริกาก็ต้องได้แต่นิ่ง..
ทำให้นาย CL ได้ใจ เริ่มเปิดฉากโจมตีรัฐบาลด้วยคำพูดที่รุนแรง เช่น..
" คนที่สติสัมชัญญะสมบูรณ์ทั้งหลาย ก็ต้องมองเห็นได้ชัดว่า คนที่จะอยากเข้ามาร่วมในสงครามครั้งนี้ มันก็ต้องเป็นพวกขี้ข้ายิว แล้วพวกมันก็ไม่ใช่ใครที่ไหน มันเป็นพวกคณะในรัฐบาลของเรานี่ครับท่าน..ไอ้พวกนี้ มันมีอิทธิพลไปหมด ในสื่อ ทั้งภาพยนตร์และวิทยุ
และ..มันก็นั่งหน้าสลอนอยู่ในสภาของเรา"
ฐาน ข้อมูลในคำพูดของนาย CL ที่อ้างถึงสื่อในกำมือ"ยิว" นั้นมาจาก ข้อเขียนของนาย Henry Ford ที่เขียนมาตั้ง 20 กว่าปีที่แล้ว (ในหนังสือ The International Jew)
อ้ะ..แล้วก็อย่าแปลกใจนะ ที่จะบอกว่า ทั้งนาย CL และ นาย HF เขาเป็นเกลอกันฮ่ะ..เพราะ ความเหมือนในหลายอย่างๆ เช่นการเป็นอัจฉริยะ
ในเรื่องเครื่องยนตร์ เครื่องบิน แถม ยังนับถือนิกาย
โปแตสแทนต์เหมือนกันเข้าไปอีก
แต่ หลังจากที่นาย CL ปาวๆเรื่องยิวออกไปในวันนั้น เสียงสนองกลับเข้ามา กลายเป็นลบมากกว่าบวก เพราะ ในอเมริกา การที่จะเหยียดหยามเผ่าพันธ์นั้น
ไม่ใช่เรื่องที่ผู้คนนิยม แถมทำให้เขาเริ่มถูกเพ่งเล็งว่า เป็นพวกโปรนาซี
เฮนรี่ ฟอร์ด และ ชารลส์ ลินส์เบอร์ค
ดังนั้น นาย CL ต้องเริ่มรู้ตัว..และเก็บปากคำเงียบ แต่
สาเหตุเบื้องหลังในการเกลียดยิว ของเขานั้นก็คือ
เมื่อ ปี 1932 ลูกชายคนแรกที่ยังแบเบาะของเขาได้ถูกลักพาตัวไปเพื่อเรียกค่าไถ่ แต่ เด็กได้ถูกฆ่าตายในที่สุด ปรากฏว่าคนร้ายคืออดีตลูกจ้างในบ้าน
และใน ตอนนั้น มันประจวบเหมาะกับข่าวของนาซีที่ออกอากาศทุกวันเกี่ยวกับนิยายปรำปราครั้งศต วรรตที่12 ว่า พวกยิวนั้นชอบขโมยเด็กชาวคริสต์
ไปทำร้าย และฆ่าทิ้ง
ซึ่งเรื่องแบบนี้ นาย CL ได้เชื่ออย่างหัวปักหัวปำ
แต่พอหลังจากที่ญี่ปุ่นได้พาฝูงบินมาถล่มเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในตอนปลายปี 1941 นั้น..คนอเมริกันที่เคยหลงเชื่อถ้อยคำของนายโจเซฟ นาย CL
ต่างก็เริ่มมองแปรพักต์ ทำให้ คนทั้งสองค่อยๆเลือนหายไปจากวิถีการเมืองและการต่างประเทศ
งั้นมาเล่าต่อถึงเรื่องเคราะห์กรรมที่เราๆท่านๆเชื่อกันว่ามีจริงในความเป็นพุทธศาสนิกชนนะคะ
หลังจากปี 1940 ที่นายโจเชฟต้องเลือนหายไปนั้น เขาต้องพบกับวิบากกรรมที่กระหน่ำเข้าในชีวิตอย่างต่อเนื่อง
คือ การเสียชีวิตของลูกสองคนติดๆกัน คนแรกคือ โจ จูเนี่ยร์ ที่ตายในสนามรบในช่วงสงครามครั้งนั้น
คนต่อมาคือ ลูกสาวคนโต แคธลีน ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก
จาก นั้นมาไม่นาน ลูกสาวคนต่อมา นามว่า โรสแมรี่ ที่มีอาการผิดปรกติทางสมองตั้งแต่เล็กนั้น เกิดกำเริบขึ้นมาเรื่อยๆจนต้องส่งเข้าสถานเลี้ยงดูในวิสคอนซิน
แต่ อย่างไรก็ตาม ในความฝันลึกๆของนายโจเซฟ เขามีความใฝ่ฝันอยากที่จะเป็นประธานาธิบดีจนตัวสั่น แต่..ความฝันนั้นมันสลายไป ตั้งแต่วันที่รูสเวลต์ประกาศเข้าร่วมสงครามโลก
แต่..ความฝันนั้นได้ถ่ายเทมายังทายาทคนรองต่อไป
นั่น คือ จอห์น ที่ได้ตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซทส์มาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว..ต่อมาในการ เลือกตั้งประธานาธิบดีของปี 1960 จอห์นได้คะแนนสูสีกับกับนายริชาร์ด นิกสัน แบบสูสีจนอาจจะไม่ชนะ
ข่าววงในออกมาว่า..นายโจเซฟยอมทุ่มเงินมหาศาลอย่างไม่เสียดมเสียดาย เพราะ นี่การซื้อฝันให้เป็นความจริง
เขาอยากเห็นนัก..ว่านี่คือครั้งแรกที่ประธานาธิบดีของอเมริกา..นับถือศาสนาในนิกายโรมัน-คาธอลิก
แต่..หลังจากที่จอห์นได้รับตำแหน่งไม่นาน นายโจเซฟก็มีอาการของโรคหัวใจ ที่ทำให้เขาเคลื่อนไหวไปมาไม่สะดวก
เข้าข่ายอัมพฤกษ์
บนเก้าอี้รถเข็นของเขานั้น..รายงานส่งเข้ามาบีบหัวใจแบบไม่ขาดระยะ เช่น..
การอสัญกรรมของลูกรัก จอห์น เอฟ เคนเนดี้
การถูกลอบสังหาร ของ ลูกชายต่อมา โรเบิร์ต
ส่วน..เทด หรือ เอ็ดเวิร์ด น้องนุช มีส่วนเกี่ยวพันกับการฆาตกรรมของอดีตเลขานุการิณี ที่ เชฟปาควิดดิค อันเป็นการดับสลายของความฝัน
หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็เสียชีวิตในปี 1969 ด้วยอายุสิริรวม 81 ปี..!!
(ดีนะ ที่ไม่ได้อยู่เห็นจนถึงรุ่นหลาน..)
ความจริงก่อนที่ทั้งนายโจเซฟและชารลส์จะก้าวเข้ามา ผู้หนุนหลังระดับชาติของฮิตเล่อร์ก็คือ อดีตเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของอังกฤษเชียว เคยเล่าไว้แล้วในกระทู้เก่าๆ
แต่เห็นทีว่า ต้องเอามาลงรายละเอียดเพิ่มเติมซะอีก
ความ รู้ทางด้านราชวงค์จะได้แน่นๆขึ้นเข้าไปอีกหน่อย เพราะจบจากเรื่องนี้ ก็จะยี่เกลงโรงเลย..ในเรื่องของ ราชวงค์โรมานอฟ (มีคนมาคอยอ่านแล้วนะ..เขาว่า)
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปด ที่เพิ่งทรงได้รับพิธีสถาปนาได้หมาดๆนั้น อันเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า พระองค์นิยมชมชื่นกับฮิตเล่อร์เป็นอย่างมาก จนเป็นที่หวาดผวาในกลุ่มสภาและรัฐบาล
พอเมื่อพระองค์ได้ตกหลุมรักกับนาง วอลลิส ซิมป์สัน แม่ม่าย(อเมริกัน)ที่ผ่านการหย่ามาแล้วถึงสองครั้งนั้น พระองค์ทรงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนชาวอังกฤษหันมายอมรับ
"นางในดวงใจ" ของพระองค์ให้ขึ้นมานั่งบัลลังค์เคียงข้างในฐานะพระราชินี..แต่..มันเป็นไปไม่ได้
คณะรัฐบาลจึงฉวยเอาโอกาสนี้ ยื่นข้อเสนอให้พระองค์สละพระราชสมบัติเพื่อที่จะได้ไปครองรักให้สมใจ
ในปี 1936 เป็นอันว่าทุกอย่างได้จบสิ้นท่ามกลางความโล่งใจของใครต่อใคร
แต่เมื่อ..สละราชแล้ว..พระอนุชาที่ขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทน นั่นคือ พระเจ้าจอร์ชที่หก ได้ทรงประทานตำแหน่ง ดยุคออฟวินเซอร์ ให้
ซึ่งท่านดยุคได้วางแผนการไปเยี่ยมเยอรมันทันที
มิ ใยที่รัฐบาลจะแย้งขึ้นมาว่า ไม่เหมาะไม่ควร ก็ไม่สำเร็จ ท่านดยุคดึงดันที่จะไป..ด้วยสาเหตุที่อ้างว่าจะไปดูงานด้านแรงงาน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์
ทั้งนี้ทั้งนั้น ได้มีหลักฐานว่า พระองค์และ(ว่าที่)หม่อม ได้มีการติดต่อและสานสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับกลุ่มนาซีของฮิตเล่อร์
ใน การเยือนเยอรมันครั้งนั้น พระองค์มีพระประสงค์แอบแฝงอยู่บ้างนั่นคือ การที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้นิยมลัทธิฟาสซิสต์ที่เพียงอยู่เพียงหยิบมือใน อังกฤษ หัวหน้าและมือขวาของพระองค์
ในกลุ่มนี้ นั่นก็คือ เซอร์ ออสวัลด์ มอสลีย์ แต่ต่อมาในปี 1937 กลุ่มนี้ก็ได้ขยับขยายมีผู้คนมาสมทบมากขึ้น เพราะเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ปัญหาการว่างงานเพิ่มพูนขึ้น
พระ เจ้าจอร์ชที่หก ได้พยายามขอร้องและทัดทานในการเสด็จ ถึงกับส่ง ท่านลอร์ด บีเว่อร์บรุ๊ค ไปพบที่ฝรั่งเศส เพื่อขอร้องให้ระงับการเสด็จเยอรมัน แต่..การเจรจานั้นได้ถูดสกัดกั้นจาก
หม่อมวอลลิส และมาถึงตอนนั้น ใครต่อใครจึงได้ทราบว่า หม่อมช่างมีอานุภาพเหนือท่านดยุคในแทบทุกเรื่อง..
ส่วน ทางเยอรมัน..ฮิตเล่อร์ได้เตรียมการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ โดยให้ ด๊อกเตอร์ ลีย์ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานนาซี เป็นผู้คอยถวายการรับใช้ให้ความสะดวก
ในตอนนั้น ถึงกับมีการวางแผนกันว่า ฮิตเล่อร์จะ"คืน"บัลลังค์ให้กับพระองค์ เมื่อยามที่เข้าครอบครองอังกฤษได้แล้ว
และ เมื่อทันทีที่ท่านดยุคและหม่อมได้มาถึงยังเบอร์ลินโดยขบวนรถไฟในวันที่ 11 ตุลาคม ผู้ที่เข้าถวายการต้อนรับก็มี อุปทูต(อันดับสาม) ของสถานทูตอังกฤษ ที่ได้เข้ามากราบทูลหน้าตาเฉยว่า..
ท่านเอกอัครราชทูต เซอร์ เนวิลล์ เฮนเดอร์สัน มิได้อยู่ในกรุงเบอร์ลินในขณะนี้ (นี่คือการตอกกลับอย่างเจ็บแสบที่สุด)
ส่วนอีกทางหนึ่งของสถานี นั่นก็คือ
ด๊อก เตอร์ ลีย์ และขบวนวงดุริยางค์ทหารที่ยกมาทั้งกรม อีกทั้งขบวนผู้แหนแห่อีกหนาแน่น..ราวกับการต้อนรับพระเจ้าแผ่นดินและพระ ราชินีอย่างไงอย่างงั้น.. Dr. Willi Ley
ท่านดยุคและหม่อมได้เดินทางไปเกือบทั่วในเยอรมัน เข้าเยี่ยมชมกิจการ โรงงาน และ ศูนย์เยาวชนนาซี อีกทั้งเป็นฮิตเล่อร์ได้สั่งให้บุคคลสำคัญต่างๆเช่น เกอริง,เฮสส์, เกิบเบิลส์,
ฮิมม์เล่อร์ คอยเข้าประกบเคียงข้างอย่างไม่ให้คลาดสายตา
ที่ นูเรมเบอร์ก ท่านดยุคแห่งโคเบอร์ค(พระญาติสายเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของพระนางวิคตอเรีย) ได้จัดงานเลี้ยงรับรองถวาย
ซึ่งแขกเชิญในค่ำคืนนั้น ล้วนแล้วแต่มาด้วยชุดเครื่องแบบนาซี พร้อมกับปลอกแขนตราสวัสดิกะ
ซึ่งท่านดยุคและหม่อมกับเห็นเป็นเรื่องปรกติ
ไม่ ว่าจะหันไปข้างไหน การต้องรับได้จัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติให้กับหม่อม ซึ่งท่านดยุคถึงกับเพิ่มความปลาบปลื้มเป็นทวีคูณให้กับรัฐบาลนาซีของฮิต เล่อร์สหายรัก
แต่อะไรไม่ว่า..ข้อเสียเห็นทีจะมีอยู่ข้อเดียว นั่นคือ ตัว ดร.ลีย์ ที่ทำหน้าที่มัคคุเทศก์นั้น แกเป็นคนขี้เหล้า และ ชอบขับรถแบบเบรคหัวทิ่มหัวตำ ซึ่ง สร้างความหวาดเสียวให้กับหม่อม
ดังมีบันทึกจาก Han Sopple คนสนิทของ ดร. ลีย์ ว่าไว้ว่า..
" ท่านดร. ลีย์ ได้ใช้รถเมอร์ซิเดส-เบ๊นซ์ สีดำรุ่นใหญ่และสภาพยอดเยี่ยม และในยามที่ท่านลงได้ดื่มสักแก้วสองแก้วเข้าไปละก้อ ท่านมักชอบขับรถผาดโผน และในวันที่ท่านได้ทราบว่า
ท่านดยุคและหม่อมอยากจะไปเที่ยวชมโรงงาน ท่านถึงกับกระโดดเข้าที่คนขับ นำพาบุคคลทั้งสอง ขึ้นรถ และเหยียบคันเร่งจนมิด ขับปาดซ้ายป่ายขวา ผ่าไปอย่างดุเดือดจนแทบจะชนคนงานตาย
เล่นเอา หม่อมหวีดร้องจนสุดเสียง"
หลังจากวันนั้นมา..ฮิตเล่อร์ รีบเรียกเกอริงให้เข้ามาพบ เพื่อที่จะเปลี่ยนตัวผู้ดูแลคนใหม่ให้"ห่าม" น้อยกว่านี้..
แต่ อะไรก็ไม่ร้ายเท่า ท่านดยุคได้เสด็จไปร่วมในพิธีศพของนายทหารระดับสูงของนาซีคนหนึ่ง เมื่อยามที่ ขบวนรถนำศพได้ผ่านตรงที่ประทับ พระองค์ได้ยกแขนออกไปทำ นาซี สลุต
อันเป็นสิ่งที่สร้างความอับอายขายหน้าสำหรับชาวอังกฤษยิ่งนัก !!
ทีนี้ก็กลับมาถึง ฮิตเล่อร์ในบั้นปลายสงครามได้แล้ว..
ในวันที่ 12 มกราคม 1945 รัสเซียได้ส่งหน่วยกล้าตาย
(กล้าตายจริงๆนะ เพราะพวกนี้คือ นักโทษขั้นเด็ดขาดที่ต้องโทษประหารทั้งนั้น ที่กองทัพแดงเอามาเป็นทหาร โดยให้คิดว่า ไหนๆก็จะตายอยู่แล้วมารบเพื่อนประเทศชาติดีกว่า เผลอๆรอดออกมา กลายเป็นวีรบุรุษ อีกต่างหาก)
มาทางด้านหัวหาดแม่น้ำ บารานอฟ และยังมีทัพรถถังคอยอยู่ห่างไปอีกสองไมล์ แต่ไม่มีการเคลื่อนขบวนใดๆ
เพราะได้ส่งหน่วยกล้าตายออกไปหยั่งเชิงดูก่อน..
แต่แล้ว..ในยามเคลื่อนพลอีกสองวันต่อมา รัสเซียได้นำกองทัพรถถังดาหน้าออกมาพร้อมๆกันในทุกจุด หลังจากที่ได้ส่งเครื่องทำลายทุ่นระเบิดจนเหี้ยนแล้ว..
เยอรมันได้จัดส่ง กองทัพ(ที่เรียกและเกณฑ์มา ที่มีทั้งคนแก่และเด็ก) เข้าทำการปะทะ แต่เนื่องจากการวางแผนงานของฮิตเล่อร์ที่ได้สั่งให้กองทัพหนุนอยู่ห่างไป ตั้งหลายไมล์นั้นมันไกลเกินไป
กองทัพรถถังของรัสเซียจึงสามารถโอบล้อมกองทัพเยอรมันภายใต้การนำของนายพล เนห์ริง ไว้ได้ ..กว่าจะผ่าด่านแหกวงล้อมพ้นออกมาได้..
ศพก็กองพะเนินเทินทึก ..
ความผิดทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้สั่งงานคือฮิตเล่อร์คนเดียวเท่านั้น ที่ตอนนั้นเหล่าแม่ทัพนายกองถึงกับเบื่อหน่าย ในยามที่ที่ฮิตเล่อร์ได้ตะโกนปาวๆให้คนนั้นคนนี้ไป"แนวหน้า" ที่ตะวันตกมั่ง
ตะวันอกมั่ง..แม่ทัพคูเดอเรียนจึงต้องสวนออกไปอย่างเหลืออดว่า..
"ท่านผู้นำขอรับ..ตอนนี้ออกนอกเบอร์ลินออกไป..ก็กลายเป็นแนวหน้าแล้วขอรับ ไม่มีตะวันตก ตะวันออก ทั้งสิ้น"
ในวันที่ 24 มกราคม ฐานทัพที่ Lotzen ก็ได้ตกเป็นของข้าศึก ที่ไม่มีการสู้รบใดๆ เพราะทหารเยอรมันต่างหนีเอาตัวรอดไปจนหมด ทั้งๆที่ฮิตเล่อร์ได้สั่งการให้สู้จนถึงคนสุดท้าย
ข่าวมาถึง..ทำให้ฮิตเล่อร์ได้รู้ตัวแล้วว่า..เขาควบคุมกำลังไม่ได้อีกต่อ ไป..ดังนั้น เขาจึงประกาศสั่งจัดการขั้นเด็ดกับผู้ที่คิดเอาใจออกห่างทันที
แต่..ความจริงก็คือความจริง ประชาชนได้เห็นแล้วว่า ไม่มีทางที่จะทานทัพของข้าศึกทั้งสองข้างได้
ซึ่งแม่ทัพคูเดอเรียน เริ่มมองเห็นอยู่ทางเดียวที่จะรักษาเมือง นั่นคือ การเจรจาสงบศึก
เขาจึงนำความไปปรึกษากับท่านรมต, ริบเบนทรอปทันที ใจความว่า..
" ท่านมีความเห็นอย่างไรที่กองทัพรถถังของรัสเซียเข้ามาจ่อคอหอยเราที่ปากทาง เข้าเบอร์ลิน และอาจใช้เวลาเคลื่อนพลมาถึงที่นี่ ในเวลาเพียงแค่สามอาทิตย์เท่านั้น"
"ไม่มีทาง..ที่รัสเซียจะบุกเข้ามาได้หรอก" นี่คือคำตอบจากท่านรมต. ต่างประเทศ
"แต่..ตามรูปการณ์ มันกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆนะครับท่าน"
ริบเบนทรอป ก็ยังยืนยันว่า ทุกอย่างจะเรียบร้อย ไม่น่าเป็นกังวล และขอให้การสนทนาในครั้งนี้เป็นความลับ..
แต่พอในยามค่ำของวันนั้น ฮิตเล่อร์ได้เรียกให้แม่ทัพคูเดอเรียนเข้าพบ..พร้อมทั้งด่าว่าแม่ทัพจนไม่มีชิ้นดี
ในฐานะที่เข้าพบกับริบเบนทรอป และพูดจาเหลวไหล..
เพราะอีตารมต, ต่างประเทศนั่น รีบไปเสนอหน้ารายงาน เอาความดีความชอบใส่ตัวเป็นที่เรียบร้อย.
ก่อนสิ้นเดือนมกราคม ด้านเหนือของ Silesia ก็ได้ตกเป็นของรัสเซีย
อย่างเรียบร้อย นั่นหมายถึงดินแดนที่ตั้งฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมได้หายวับไปกับตา
นาย อัลเบิร์ต สเปียร์ รมต,กระทรวงสร้างอาวุธ ได้ทำรายงานว่า เยอรมันไม่น่าจะอยู่สู้ไปได้เกินกว่าสองสามอาทิตย์ และ ถือว่า สงครามครั้งนี้ เราแพ้ !!
ก่อนที่เขาจะยื่นให้กับท่านผู้นำ สเปียร์ได้ส่งให้แม่ทัพคูเดอเรียนได้อ่าน ทั้งสองเห็นพ้องต้องกัน..
ฮิตเล่อร์รับไป..อ่านเพียงแว้บนึง ก่อนที่จะโยนเข้าไปเก็บในลิ้นชัก พร้อมล๊อคแน่นหนา..
แน่นอนว่า สงครามครั้งนี้ เยอรมันหมดรูปไปเสียแล้ว เพราะ
Koninsberg ตกอยู่ในวงล้อมหนาแน่น
Stettin ก็จวนเจียน
Hungary หลุดไปแล้ว..
เท่า กับว่า ปรัสเซียตะวันออกอยู่ในมือของรัสเซียทั้งสิ้น ฮิตเล่อร์ก็ยังคงเหลือแต่วิมานในอากาศ นั่นคือ เขาสั่งสร้างหน่วยทำลายรถถัง..ที่มีหัวหน้าเป็นทหารยศร้อยโท
ที่ได้ไปเกณฑ์เอารถจักรยานสองล้อมาดัดแปลง มีที่วางลูกน้อยหน่าสำหรับขว้างใส่รถถังของรัสเซีย ยี่ห้อ T-34 (เนี่ยนะ)
แต่นั่นหมายถึง การเข้าชาร์ททั้งรถจักรยานและคนถีบ เท่ากับว่าเป็น"ระเบิดพลีชีพ" ดีๆนี่เอง !!
สถานะการณ์ของสงครามจัดว่าอยู่ในช่วงที่เลวร้าย
ฮิตเล่อร์ก็มักระงับโทสะไม่ค่อยได้ เขาด่ากราดไปทั่ว คนที่โดนมากที่สุด เห็นจะเป็นแม่ทัพ คูเดอเรียน ที่กองทัพของเขาทางฝั่งตะวันออก
ได้แตกพ่ายลงมาอย่างไม่มีชิ้นดี
ฮิตเล่อร์โทษการผิดพลาดทั้งหมดให้กับแม่ทัพเพียงสถานเดียว ว่าเป็นไอ้ขี้ขลาด..ไอ้ขี้แพ้ ถ้าไม่งั้นก็คงไม่ยับเยินกลับมา
แม่ทัพที่ถูกด่า ต่างก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่มีใครสนใจ เพราะรู้ดีว่า ยังไงยังไงฮิตเล่อร์ก็ต้องหา"แพะ"มาด่าจนได้
เอ วา บราวน์ แม่หญิงของฮิตเล่อร์ ก็ได้ย้ายจากรังพญานกอินทรีย์มาอยู่ด้วยกับฮิตเล่อร์ในบังเกอร์หลบภัยใต้ ทำเนียบ..เพราะรู้ดีว่า ฮิตเล่อร์คงไม่กลับไปที่นั่นอีกแน่นอน
อีตอนขามา..เอวาไม่ได้รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่า เบอร์ลินถูกบอมบ์ในสภาพที่เละเทะขนาดไหน..ทุกอย่างที่เคยสวยงามต้องตกอยู่ใน สภาพปรักหักพัง
แต่ กระนั้น ในบังเกอร์ก็ยังมีห้องพักที่จัดว่าหรูหราไว้สำหรับเธอ มีช่างทำผมส่วนตัว และในช่วงกลางวันที่ปลอดจากการบอมบ์ เธอมักพาบรรดาสุนัขออกมาเดินเล่นรับลมในสวนหลังทำเนียบ
ยามบ่าย เธอมักชวนเพื่อนๆมาดื่มแชมเปญจัดปาร์ตี้คลายเครียดในห้องพักที่ว่า..
ครั้นพอตกค่ำ เธอก็แต่งตัวสวยงามเพื่อที่จะนั่งดินเนอร์กับท่านผู้นำอันเป็นการส่วนตัว เพราะในยามหลังๆนี้ ผู้คนที่เคยแหนแห่ต่างก็หายหน้าหนีระเบิดไปกันทีละคนสองคน
อีกทั้ง ฮิตเล่อร์เริ่มไม่วางใจในบรรดาพรรคพวกที่เคยใกล้ชิด นอกจากท่านแม่ทัพเรือ โดนิตซ์ (ผู้ซึ่งในอดีตที่เริ่มสงครามอาจทำให้เยอรมันชนะศึกได้ ถ้าได้เรือดำน้ำตามที่ขอ)
ชีวิตและการเป็นอยู่ในบังเกอร์นั้น เหลือเชื่อนัก..เพราะจากในนั้น ต่อให้การบอมบ์จะหนักหนาสาหัสแค่ไหน ก็ไม่มีทางได้ยิน
การเสริฟอาหารยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยพนักงานเสริฟที่มีเครื่องแบบชนิดลงแป้งแข็งปั๋ง..
และ ข่าวคราวที่ว่า รัสเซียได้จัดหน่วยกล้าตายออกไปรบเป็นแนวหน้าแทนทหารนั่น..ทำให้ฮิตเล่อร์ เริ่มมองเห็นเป็นแนวทางมั่ง เขาจึงเรียก ฮิมม์เล่อร์มาคุยด่วนเพื่อถามถึงเชลย"ยิว" และนักโทษอื่นๆ
คำตอบว่า..คนพวกนั้น (นับล้านๆคน) ได้ถูกฆ่าตายหมดแล้ว ที่เหลือก็มีสภาพไม่ต่างไปกับศพที่เดินได้..ขอรับท่าน..!!
ต่อมา..ฟินแลนด์ได้แปรพักต์ ประกาศสงครามกับเยอรมัน ในวันที่ สาม มีนาคม , ฮังการี ได้เซ็นสัญญาสันติภาพกับรัสเซีย, จากนั้นกองทัพของสพม. ได้เคลื่อนตัวเข้าหนีบเยอรมันทั้งสองด้าน
ฮิต เล่อร์สั่งสู้สุดฤทธิ์ เพื่อที่จะยึดดินแดนเหล่านั้นกลับคืนมา..แต่..ไม่มีผลอะไรทั้งสิ้นนอกจากการ นองเลือด แถม กรุงเบอร์ลินได้ถูกถล่มติดๆกันยี่สิบวันซ้อน
หน่วย SS ลูกรักของฮิตเล่อร์เริ่มแตกกระสานซ่านเซ็น ต่างละทิ้งหน้าที่หนีเอาตัวรอด ซึ่ง พอได้ยินเข้าฮิตเล่อร์ก็สติแตก สั่ง"ยิงเป้า" ทั้งหมด แต่ เสียงสั่งนั้นไม่มีผลใดๆ
เพราะใครต่อใครแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน..
คราวนี้ มาอีกแล้ว..ดร. ลีย์ { Dr. Willi Ley อีตาขี้เมานั่น} เข้ามาพบด้วยไอเดียที่ตัวเองคิดว่าแยบยลสุดๆนั่นคือ การจัดกำลังทัพ สี่หมื่นคน โดยเอาทหารที่หนีตายมาจากหน่วยที่ถูก ฝ่านสพม.ยึดครองต่างๆ
มา ตั้งเป็น Freikorps Adolf Hitler หรือเรียกง่ายๆว่า หน่วยกล้าตาย อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ อะไรทำนองนั้น ที่จะมาสู้ยันทัพของสพม. ทางด้านตะวันตก โดยใช้แนวป่าเป็นฐานทัพ
ทั้งนี้ทั้งนั้น แม่ทัพคูเดอเรียนต้องจัดหาปืนกลใหญ่ให้สัก แปดหมื่นกระบอก..
ทั้ง ฮิตเล่อร์และ แม่ทัพคูเดอเรียน..ต่างก็ไม่สนใจในข้อเสนอนี้แม้แต่นิด แต่ไม่ได้หมายความว่า ฮิตเล่อร์จะรามือไปจากการบัญชาการรบซะที่ไหน
เขาเรียกประชุมระดับแม่ทัพแบบถี่ยิบและ ใจความสรุปที่น่าสะพึงกลัวนั้น มีว่า
" ไหนๆถ้าประเทศชาติมันจะต้องแพ้ย่อยยับไป..พวกเราควรจะทำลายมันซะด้วยตัวเอง ระเบิดให้หมด โรงงาน บ้านเมือง ตึกรามบ้านช่อง อย่าให้เหลือไว้เป็นประโยชน์กับพวกศัตรู"
คำสั่งนี้ เขาได้มอบให้กับ นาย มาร์ติน บอร์มันน์ มือขวาคนสนิท ผู้ซึ่งได้ฟอร์มคณะทำลายไว้แล้ว.. พร้อมด้วยบัญชีหางว่าวในรายละเอียดถึงจุดต่างๆ (แบบคราวที่จะระเบิดปารีสทิ้ง)
คนอื่นๆต่างต่อต้านในความคิดนี้กันเป็น แถวๆ รวมทั้ง อัลเบิร์ต สเปียร์ ที่พยายามชี้แจงว่า มันจะให้ผลร้ายต่อประเทศชาติยามที่จะฟื้นฟูหลังสงคราม
แต่ ฮิตเล่อร์ได้ตอบว่า
" ศัตรูที่แท้จริงของเยอรมัน คือ คอมมิวนิสต์ (หมายถึงรัสเซีย) ถ้าแพ้ ก็หมายถึงว่า รัสเซียมันมีอำนาจเหนือกว่า เก่งกว่า แล้ว เยอรมันจะอยู่ไปใย..ให้มันจบสิ้นล่มสลาย รู้แล้วรู้รอดไป"
Martin Bormann
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น