เผด็จการนาซีกับเรื่องของดนตรีในอาณาจักรไรค์ที่สาม
(ฮิตเลอร์กับเกิบเบิลส์)
แต่ไหนแต่ไร ดนตรีกับบทกวีนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน การร้องเพลงไทยสมัยก่อนไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการนำเอาบทกลอนที่เขียนขึ้นมา ใช้ร้องเท่านั้น
เนื้อเพลงย่อมแสดงความคิดของผู้แต่ง ซึ่งย่อมต้องยึดโยงอยู่กับความเป็นไปและสภาพสังคมไม่มากก็น้อย
เนื้อความเมื่อถูกขับร้องในรูปแบบบทเพลง ย่อมทำให้ผู้ฟังคล้อยตามได้ง่ายกว่าการพูดปกติ (เพราะฉาบเคลือบด้วยความไพเราะ)
ดังนั้น นักปราชญ์ชาวกรีกจึงไม่ปรารถนาได้ยินเพลงที่มีเนื้อหาไร้สาระ หรือเนื้อหาที่ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดอารมณ์โศกเศร้าท้อแท้ เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่สภาพสังคมที่ปั่นป่วนวุ่นวาย ไร้ระเบียบ
และแนะว่าเพลงที่ดีควรมีเนื้อหาสดุดีวีรบุรุษ ส่งเสริมให้พลเมืองเกิดความเข้มแข็งทางจิตใจและมั่นคงทางอารมณ์
ดังนั้น ในทางทฤษฎีแล้ว จึงปรากฏความพยายามควบคุมดนตรีให้อยู่ในร่องในรอยมาตั้งแต่สมัยนั้น
ฮิตเลอร์ตระหนักในความข้อนี้เป็นอย่างดีและมี ระบบการจัดการกับดนตรี (และศิลปะทุกชนิด) ในเยอรมนีสมัยที่นาซีครองอำนาจอย่างเข้มงวด (ค.ศ. 1933-1945)
ฮิตเลอร์ประกาศให้ผลงานของนักแต่งเพลงชาวยิวทุกคนเป็นงานศิลปะ เสื่อมทราม (degenerate music) ในปี 1938 ซึ่งส่งผลให้ผลงานของนักแต่งเพลงคนสำคัญชาวเยอรมัน (ที่มีเชื้อสายยิว) หลายคนต้องถูกห้ามบรรเลงในช่วงเวลานั้น
ซึ่งในจำนวนนักแต่งเพลงเหล่าน้ันปรากฏชื่อของมาห์เลอร์และเมนเดลโซห์นอยู่ด้วย
กล่าวกันว่าฮิตเลอร์เข้าใจลักษณะสังคมของเยอรมนีในขณะนั้นเป็น อย่างดี รู้ว่าในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์เป็นช่วงที่ผู้คนประสบกับความวุ่นวายยุ่งเหยิง การปะทะทางการเมืองของฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง
ชาวเยอรมันจำนวนมากรับไม่ได้กับความเคลื่อนไหวที่ก้าวร้าว รุนแรงของฝ่ายสังคมนิยม ฮิตเลอร์จับใจความสำคัญข้อนี้ได้ จึงประกาศตัวปกป้องประเทศจากคอมมิวนิสต์และเสนออุดมการณ์ชาตินิยมเยอรมัน เป็นที่ประทับใจฝ่ายขวาเก่าที่เป็นพลังเงียบให้ลุกขึ้นมาสนับสนุนพรรคนาซี อย่างท่วมท้น ตั้งแต่ ค.ศ. 1924
และเมื่อฮิตเลอร์ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดในปี 1933 นักแต่งเพลงนักดนตรีจำนวนมากที่เป็นชาวยิว จึงต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศ
โดยมีนักแต่งเพลงคนสำคัญสองคนลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา คือโชนแบร์กกับไวล์
และขณะที่ฮิตเลอร์กวาดล้างชาวยิว ออกกฏหมายห้ามชาวยิวทำงานในวงดนตรี ฮิตเลอร์ก็ยกย่องนักแต่งเพลงชาวเยอรมันเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองเป็นผู้มีรสนิยมและวัฒนธรรมชั้นดี
โดยยกนักแต่งเพลงสามคนขึ้นเป็นสดมภ์หลักของศิลปะการดนตรีแบบเยอรมัน คือเบโธเฟน วากเนอร์ และบรูคเนอร์
นอกจากดนตรีตะวันตกชั้นสูงเหล่านี้แล้ว ฮิตเลอร์ยังไม่ละเลยดนตรีมวลชน และทำการเผยแพร่เพลงโฆษณาชวนเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยมีโยเซฟ เกิบเบิลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการเป็นมือขวา
พรรคนาซียกเพลง Die Fahne hoch (ชูธง) ที่เขียนขึ้นโดยโฮร์สต์ เวสเซลเป็นเพลงประจำพรรคตั้งแต่ปี 1930
และยกอ้างความตายของเวสเซลมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ (เวสเซลถูกสังหารโดยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก)
เนื้อร้องเพลงนี้เรียกร้องความรุนแรงและสงคราม พูดถึงความพร้อมรบ
นอกจากนั้นยังแก้เนื้อเพลงเดิมบางส่วนของเวสเซลและเพิ่มชื่อฮิตเลอร์ลงไปด้วย
เพลงนี้ถูกโหมเปิดซ้ำๆ จนผู้คนในสมัยนั้นล้วนสามารถจดจำและร้องได้ขึ้นใจ
แต่ปัจจุบันเพลงนี้ถูกแบนในเยอรมนี ห้ามบรรเลงและรับฟัง นอกจากจะใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น
การกระทำของฮิตเลอร์ไม่ต่างไปจากที่จอมพล ป. พิบูลสงครามทำในช่วงก่อน พ.ศ. 2500 โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นคู่ใจ คิดค้นและเผยแพร่เพลงโฆษณาชวนเชื่อจำนวนมาก
ต่างออกไปตรงที่สังคมเยอรมนีปัจจุบันไม่มีที่ยืนให้กับงานเพลง โฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้นอีกต่อไปแล้ว แต่ในสังคมไทย ดูเหมือนผู้คนจะยังคงหลงใหลชื่มชมกับเพลงอย่าง รักเมืองไทย ต้นตระกูลไทย กันอยู่ไม่รู้วาย
แถมยังละเมอเพ้อพกถึงขนาดคิดไปว่าเพลงเหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย
ที่พูดๆ มานี่รวมถึง เพลงชาติไทย ด้วย เพราะเนื้อร้องเพลงชาติก็เขียนขึ้นในสมัยนั้น
ก็คือเป็นส่วนหนึ่งของระบอบเผด็จการจอมพล ป. พิบูลสงครามนั่นแหละ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น