วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559

กุลาร้องไห้

กุลาร้องไห้

โคต่างที่พ่อค้าใช้บรรทุกสินค้า [ภาพจากหนังสือ Tresor du Laos ถ่าย พ.ศ. 2440]






กุลา เป็นพ่อค้าเร่ เดินทางเร่ขายสินค้า เช่น ง้าว (ดาบปลายกุด) เครื่องเงิน เครื่องเขิน ขันทองเหลือง เชี่ยนหมาก ผ้าแพร สีย้อมผ้า และฆ้อง เร่ร่อนไปตามหมู่บ้าน [สรุปจากเรื่อง “กุลา (บ้านโนนใหญ่) : ชาติพันธุ์” เรียบเรียงโดย คนึงนิตย์ จันทบุตร จาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542] ดังต่อไปนี้
เนื่อง จากการเดินทางในสมัยก่อนมีผู้ร้ายชุกชุม จึงมักไปเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 10-20 คน นำสินค้าเดินทางเร่ขายจากเมืองนั้นไปเมืองนี้ รอนแรมไปตามหมู่บ้าน ค่ำไหนนอนนั่น ส่วนมากจะอาศัยนอนตามศาลาวัด เมื่อสินค้าที่นำมาขายหมดก็จะขึ้นไปซื้อสินค้านำลงมาขายใหม่ แต่จะไปโดยไม่ให้เสียเที่ยว เพราะเขาจะต้องซื้อสินค้าจากภาคอีสานขึ้นไปขายด้วย เมื่อขายหมดก็จะซื้อสินค้าจากเหนือลงมาขายอีก กลับไปแต่ละทีก็จะชวนญาติพี่น้อง พวกพ้องที่สนิทสนม นำสินค้าตามมาขายด้วย
เกวียน ชาวบ้านในอีสานสมัยก่อน เป็นพาหนะเก่าแก่ใช้ขนเครื่องมือเครื่องใช้และขนสินค้าไปค้าขายแลกเปลี่ยน กับท้องถิ่นอื่นๆ [ภาพวาดโดย M. Bocourt, from a Sketch by M. Mouhot]
Junko Koisumi (จุนโกะ โคอิซูมิ) เขียนไว้ในบทความเรื่อง “ทำไมกุลาจึงร้องไห้” กล่าวถึงการเข้ามาของชนเผ่ากุลาในปี พ.ศ. 2381 ในสมัย ร.3 ว่า“ชาว ต้องซู่ (กุลา) จะมาเป็นกลุ่มจากมะละแหม่ง (เมาะลำเลิง-เมืองมอลเมียน ที่ว่าราชการของมณฑลตะนาวศรี) ผ่านจังหวัดตากหรือเมืองระแหงนำสินค้ามาขายระหว่างทาง และซื้อช้างและวัวกลับไปยังบ้านเกิดของตน ช้าง งาช้าง เขาสัตว์ ไหม วัว และควาย เป็นสินค้าที่นิยมในการซื้อขายของกุลา (ต้องซู่) ในแถบนครราชสีมา และลาวเหนือ”
เหตุที่การค้าของกุลาเฟื่องฟู เพราะได้รับอภิสิทธิ์ด้านการค้าตามสนธิสัญญาบาวริ่ง พ.ศ. 2398 เนื่องจากชาวกุลาถือเป็นคนในบังคับของอังกฤษ เมื่อทำความผิดไม่ต้องขึ้นตรงต่อศาลไทย แต่ขึ้นตรงต่อศาลกงสุลอังกฤษ รัฐบาลไทยให้ความสะดวกในการค้าขายตามพันธสัญญาบาวริ่ง
กุลาจำนวนมากมักจะมาจากมะละแหม่ง (เมาะลำเลิง) และเดินทางค้าขายไปมาระหว่างมะละแหม่งกับอีสาน ดังเรื่องเล่าของหม่องคำ
หม่องคำ เกิดในกลางปี ค.ศ. 1845 (พ.ศ. 2388) ในหมู่บ้านมะละแหม่ง เขาเดินทางไปยังลาวตะวันออก พร้อมพรรคพวก 32 คน ตอนนั้นเขาอายุประมาณ 30 ปี เขาซื้อวัวควายที่นครพนมและท่าอุเทน เขาขายไปในระหว่างการเดินทาง ปีต่อมาเขาก็เดินทางมาค้าขายอีก เขาซื้อช้าง 3 เชือกที่พนัสนิคม ขากลับไปมะละแหม่งเขาไปพักที่หมู่บ้านเขวาที่หนองหาน และติดพันหญิงพื้นเมืองและได้แต่งงานกับหล่อน สองเดือนต่อมาหม่องคำและพรรคพวกกลับไปที่มะละแหม่ง 2 ปีต่อมาจึงได้กลับมาอีก
มีชาวกุลาจำนวนไม่น้อยที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังปรากฏว่ามีกุลา 60 คน ที่แต่งงานกับหญิงพื้นเมือง และตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านโนนใหญ่ อ. เขื่องใน  จ. อุบลราชธานี
อาชีพอีกประการหนึ่งของชาวกุลา คือการทำบ่อพลอย เมื่อมีการขุดค้นพบพลอยสีแถวจันทบุรี พระตะบอง ชาวกุลาจำนวนหนึ่งหลั่งไหลไปขุดพลอย ดังปรากฏรายงานของกงสุลอังกฤษ แจ้งว่ามีต้องซู่หรือกุลาถึง 3,000 คน ที่จังหวัดตราด และอีก 2,000 คน ที่จังหวัดพระตะบอง
เส้นทางการค้าที่สำคัญสำหรับเดินทางมาภาคกลางมี 3 เส้นทาง
เส้นทางแรก เดินทางผ่านดงพญาไฟลงไปปากเพรียว จ. สระบุรี
เส้นทางที่ 2 ผ่านดงพญากลางไป อ. สนามแจง จ. ลพบุรี
เส้นทางที่ 3 ลงมาทางช่องตะโก ซึ่งเป็นช่องเขาระหว่าง จ. นครราชสีมาไปกบินทร์บุรี ลงไปขายที่พนัสนิคม พนมสารคาม และนครนายก
นอกจากนี้ยังนำไปขายที่มะละแหม่ง โดยผ่านไปตามมณฑลเพชรบูรณ์ไประแหง (จ. ตาก)
อุปสรรค ปัญหาสำคัญของการค้า คือโจรผู้ร้ายชุกชุม ชาวกุลา หรือชาวจีนมักประสบปัญหาการถูกโจรปล้นสะดมเอาเงินทอง วัว ควาย ไปบ่อยๆ แต่บางครั้งก็พบว่าชาวกุลาตั้งตัวเป็นโจรปล้นสะดมเอาเงินทอง วัว ควาย หรือรับซื้อของโจร เช่น กรณีอ้ายตังแกโบ เมืองแสนปาง นครจำปาศักดิ์
ชาว กุลาเป็นผู้กล้าหาญอดทน ไม่กลัวใคร แต่แม้กระนั้นเมื่อเดินทางรอนแรมมายังบริเวณทุ่งกว้างระหว่าง จ. ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม อุบลราชธานี และยโสธร ความแห้งแล้งทุรกันดารของพื้นที่ เป็นผลให้เลือดนักสู้อย่างชาวกุลาก็ยังอดหวั่นไหวไม่ได้ บริเวณตรงนี้จึงเป็นที่เรียกขานกันมาว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” หมายความว่า แม้กุลาเองก็ยังร้องไห้ แสดงถึงความทุรกันดารของพื้นที่อันหาที่เปรียบมิได้
 คนพื้นเมืองรัฐฉาน02คนพื้นเมืองรัฐฉาน01


คนพื้นเมืองรัฐฉาน03
(จากซ้าย) คนพื้นเมืองในรัฐชาน, ชนเผ่าในรัฐชาน [ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ใน Amongst the Shans. Archibald Ross Colquhoun. New York: Paragon, 1970.], ผู้หญิงไทยใหญ่
(จาก ซ้าย) คนพื้นเมืองในรัฐชาน, ชนเผ่าในรัฐชาน [ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ใน Amongst the Shans. Archibald Ross Colquhoun. New York: Paragon, 1970.], ผู้หญิงไทยใหญ่

ชนชาติตองสู้ กุลาร้องไห้

ตองสู้ เป็นชนชาติกุลา หรือไทยใหญ่ ที่เข้ามาค้าขายในภาคอีสาน ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “กุลา” แต่เอกสารราชการเรียกว่า “ต้องสู้” หรือ “ตองสู้” หรือ “ตองซู่”
คำว่า กุลา นี้ ในเอกสารเก่าใช้ว่า “คุลา” ก็มี “กุหล่า” ก็มี
ชาวตองสู้ เข้า มาค้าขายเป็นพ่อค้าเร่ ขนสินค้าจากเมืองหนึ่งไปขายอีกเมืองหนึ่ง โดยใช้วัวต่างหรือกองเกวียน หรือจ้างกรรมกรแบกหามไปก็มี แต่กระนั้นก็ตามสินค้าที่ชาวตองสู้นำจากหัวเมืองอีสานไปขายที่ภาคกลาง เช่น เมืองสระบุรี (ในเอกสารเรียกว่า เมืองปากเพรียว) ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี และจันทบุรี ส่วนใหญ่จะเป็น วัว ควาย ม้า (จำนวนน้อย)
กุลา คนพื้นเมืองจากพม่า เดินทางมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับพวกลาวที่ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณสองฝั่งโขง และดินแดนอีสาน [ภาพวาดฝีมือชาวยุโรป]
กุลา คนพื้นเมืองจากพม่า เดินทางมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับพวกลาวที่ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณสองฝั่งโขง และดินแดนอีสาน [ภาพวาดฝีมือชาวยุโรป]
ขบวนสินค้าของ ชาวตองสู้มักจะมีผู้คน จำนวนมาก มีทั้งชาวตองสู้ (จำนวนหนึ่งไม่มากนัก) และชาวอีสานจำนวนมากที่รับจ้างเป็นกรรมกรช่วยเหลือในการแบกขนสินค้า หรือดูแลไล่ต้อนวัวควาย ฉะนั้นชาวอีสานจึงมักเรียกหัวหน้าขบวนสินค้าที่เป็นชาวตองสู้ว่า “นายฮ้อย” (หมายถึงผู้เป็นหัวหน้าพ่อค้าวัวต่าง)ชาวตองสู้มีภูมิลำเนาอยู่ใน เมืองมะละแหม่ง (ประเทศพม่าตอนใต้) เดินทางเข้ามาค้าขายผ่านเมืองตาก เมืองระแหง เมืองกำแพงเพชร ผ่านเพชรบูรณ์ หรือสระบุรี ขึ้นไปภาคอีสาน
ดัง กรณี หม่องคำ (ตองสู้) ดังปรากฏอยู่ในเอกสาร กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) (ใบบอกจากเมืองต่างๆ) “เรื่องนายร้อยเอกนายบุ้ง หลวงแพง หลวงพร้อม หลวงบำรุงโยธา นั่งพร้อมกันในค่ายเมืองหนองคายได้ถามฮ้อยคำตองสู้” วันที่ 27 กันยายน ร.ศ. 110 ว่า
“หม่องคำ เกิดกลางปี พ.ศ. 2383 ที่เมืองมะละแหม่ง เดินทางมาภาคอีสานครั้งแรกกับเพื่อน 32 คน อายุประมาณ 30 ปี ซื้อวัวควายที่เมืองนครพนม ท่าอุเทน และนำไปขายตามเมืองต่างๆ ที่ผ่านกลับไปบ้านเกิด ปีรุ่งขึ้นมาค้าที่เมืองพรรณานิคม (อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร) แต่งงานกับสาวชาวบ้านเกาะ เมืองหนองหาน (อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี) พักอยู่ 2 เดือนกับภรรยา เพื่อเลี้ยงช้าง 3 ตัว หลังจากนั้นกลับเมืองมะละแหม่งพร้อมกับพวก นำช้างไปขายที่เมืองมะละแหม่ง อีก 2 ปีต่อมา หม่องคำกับพวกก็กลับมาบ้านเกาะอีก พรรคพวกมาซื้อวัวควายไปขายเมืองมะละแหม่ง แต่หม่องคำอยู่กับภรรยาที่บ้านเกาะ อีก 5 ปีต่อมา หม่องคำและเพื่อนตองสู้ 2 คน นำควาย 32 ตัว วัว 18 ตัว จ้างกรรมกรลาวช่วยต้อนไปขายที่เมืองกบินทร์บุรี (อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี) หม่องคำได้ภรรยาที่เมืองกบินทร์บุรีอีกคนหนึ่ง หม่องคำกลับมาอาศัยอยู่กับภรรยาที่บ้านเกาะ เมืองหนองหานอีก หลังจากนั้นเพื่อนตองสู้ก็ผ่านมาพักเยี่ยมเยียนเสมอๆ รวมทั้งเพื่อนพ่อค้าชาวจีนเมืองท่าขอนยาง (ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม) ด้วย…”
จากเอกสารดังกล่าว แสดงว่ามีชาวตองสู้จำนวนหนึ่งได้ภรรยาเป็นชาวท้องถิ่น และมักจะตั้งหลักแหล่งถาวรในภาคอีสาน และเดินทางไปค้าขายแห่งอื่นบ้างในบางโอกาส ดังกรณีหม่องคำ เป็นต้น
ชาวกุลา (ตองสู้) ในตลาดโคราช เมื่อ พ.ศ. 2449
ชาวกุลา (ตองสู้) ในตลาดโคราช เมื่อ พ.ศ. 2449
เอกสาร ใบบอกจากหัวเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน พบว่าได้กล่าวถึงชาวตองสู้อยู่เนืองๆ แสดงว่าชาวตองสู้ได้เดินทางค้าขายไปทุกหัวเมืองในภาคอีสาน และดูเหมือนว่ามีชาวตองสู้จำนวนมากอีกด้วย ชาวตองสู้จำนวนหนึ่งได้ตั้งหลักแหล่งถาวรโดยมีภรรยาเป็นชาวท้องถิ่น ดังกรณีหม่องคำตองสู้เมืองอุดรธานี ได้ให้ปากคำแก่พนักงานดังปรากฏอยู่ที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ เรื่องใบบอกจากเมืองต่างๆ ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) ดังกล่าวแล้วนั้น
นอก จากนี้ บริเวณเมืองอุบลราชธานีและเมืองบริวาร ได้มีชาวตองสู้มาตั้งหลักแหล่งโดยได้ภรรยาเป็นชาวท้องถิ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมืองเดชอุดมนั้นชาวตองสู้ได้ตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนใหญ่ จนเจ้าเมืองกรมการเมืองเดชอุดม ทำหนังสือใบบอกมายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอแต่งตั้งนายฮ้อยคำนาน ตองสู้คนในบังคับอังกฤษ (พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ฉะนั้นชาวตองสู้ในเมืองมะละแหม่งจึงถือหนังสือเดินทางเป็นคนในบังคับอังกฤษ) เป็นนายกองคุมพวกกุลาตองสู้ในสังกัดเมืองเดชอุดม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงต้องมีหนังสือพระราชโองการโปรดเกล้าฯ กำชับเจ้าเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน ห้ามตั้งชาวตองสู้เป็นนายกอง และห้ามอนุญาตให้ชาวตองสู้ซื้อที่ดินไร่นาในหัวเมือง ประกาศเมื่อวันศุกร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 8 ปี จ.ศ. 1249 (พ.ศ. 2430) ว่า
“…คนสัปเยกต์มี หนังสือเดินทาง สำหรับตัวไปมาค้าขายเพียงปีหนึ่ง หาได้ไปตั้งทำสวนไร่นาในแขวงเมืองนั้นๆ ไม่ ถ้าพ้นกำหนดหนังสือแล้วต้องให้กลับหรือไปเปลี่ยนหนังสือเสียใหม่ จึงจะกลับมาค้าขายในพระราชอาณาเขตต่อไปได้ ไม่สมควรที่จะต้องตั้งนายกองให้ควบคุมคนซึ่งต้องไปๆ มาๆ ให้ผิดด้วยแบบธรรมเนียมราชการ และให้ห้ามคนสัปเยกต์อย่าให้ตั้งและซื้อสวนไร่นาบ้านเรือนให้ผิดสัญญาทางพระ ราชไมตรี…” [ประชุมพงศาวดารภาคที่ 4 พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร หน้า 111]
[สัปเยกต์ เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 หมายถึง คนชาติอื่นที่ไม่ใช่คนไทย ปัจจุบันนี้เรียกรวมกันว่า “คนต่างด้าว”]
ชาว ตองสู้เดินทางค้าขายในภาคอีสาน ส่วนใหญ่จะต้อนวัวควายไปขายจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง มักจะพบเอกสารทางราชการที่ชาวตองสู้กล่าวฟ้องร้องเรื่องถูกโจรปล้นวัวควาย อยู่เนืองๆ นอกจากนี้ชาวตองสู้มักจะถืออภิสิทธิ์ว่าเป็นคนในบังคับอังกฤษ มักจะไม่ค่อยปฏิบัติตามระเบียบราชการไทย เจ้าเมืองบางเมืองมักจะรอมชอมกับชาวตองสู้ จึงต้องได้รับพระราชอาญาก็มี ดังกรณีท้าวนาก และพระยาวิเศษภักดี (โท) เจ้าเมืองศรีสะเกษ ดังปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดาร ภาคที่ 4 หน้า 11 ว่า
“…ท้าวนาก (ตำแหน่งใดไม่ปรากฏ) เมืองศรีสะเกษ ทำหนังสือเบิกล่องเดินทางให้แก่นายร้อยคำยี่ คำอ่อน เชียงน้อย ตองซู ซึ่งคุมโคกระบือไม่มีพิมพ์รูปพรรณไปจำหน่าย ผิดพระราชบัญญัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลูกขุน ณ ศาลาปรึกษาโทษท้าวนากตัดสิน ทวน 50 (ที) จำคุก 3 ปี แลให้ปรับพระยาวิเศษภักดี (โท) เจ้าเมืองศรีสะเกษ ซึ่งให้การอ้างว่ามีตราพระราชสีห์อนุญาตว่า ถ้าราษฎรจะซื้อขายโคกระบือ ให้เจ้าเมืองทำใบเบิกล่องเดินทางให้ตรวจตำหนิรูปพรรณลงในใบเบิกล่องก็ได้ โดยไม่เป็นจริงนั้น เป็นเบี้ยละเมิดจัตรคูณ เป็นเงิน 5 ชั่ง 6 ตำลึงกึ่ง (2 บาท) 3 สลึง 600 เบี้ย”
บ้านเรือนและสินค้าชาวกุลาที่เมืองโคราช เมื่อ พ.ศ. 2449 [ภาพเก่าจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ]
บ้านเรือนและสินค้าชาวกุลาที่เมืองโคราช เมื่อ พ.ศ. 2449 [ภาพเก่าจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ]
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการหัวเมืองมณฑลอุดร มณฑลอีสาน และมณฑลนครราชสีมา เมื่อ ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) ได้กล่าวถึงชาวตองสู้หรือกุลาว่า เป็น ชาวพม่า และชาวตองสู้บางคนได้อาศัยอยู่ในภาคอีสานตั้งหลักแหล่งมานาน หรือมีลูกหลานเป็นคนไทยแล้วยังไปมาค้าขายกับเมืองมะละแหม่งอีกก็มี ดังนี้วัน ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2449 ได้เดินทางออกจากสกลนคร ไปพักแรมตามทาง ครั้นวันที่ 17 มกราคม ได้พักแรมใกล้ลำน้ำก่ำ (อำเภอธาตุพนม) มีราษฎรมาหาจำนวนมาก และในกลุ่มราษฎรเหล่านั้นท่านได้บันทึกไว้ว่า
“ใน หมู่ราษฎรที่มาหามีพม่า 3 คน ซึ่งมารับซื้อกระบือลงไปขายข้างใต้ ไต่ถามถึงหนทางที่ไปว่าลงไปทางช่องตะโก เพราะเป็นทางที่มีน้ำท่าบริบูรณ์กว่าทางอื่น กระบือที่พาลงไปปีละครั้ง อยู่ในระหว่างเดือน 3 เดือน 4 คราวหนึ่ง (นำกระบือไป) ถึง 800 -900 ตัว ลงไปขายทางเมืองพนมสารคาม เมืองพนัสนิคมบ้าง เมืองมินบุรีบ้าง กรุงเก่าบ้าง ไต่ถามถึงการพิทักษ์รักษากระบือเวลาเดินทางเปลี่ยว ว่าใช้กระบวนนอนเฝ้ารายกันเป็นวงรอบฝูงกระบือ ถ้าจะมีคอกสำหรับกระบือพัก ควรมีที่ปากดงแห่งหนึ่ง กลางเขาแห่งหนึ่ง และเชิงเขาอีกแห่งหนึ่ง และที่ๆ ต้องการน้ำเวลานี้ คือ ในเขตมณฑลปราจีนบุรี ที่ลงเขาช่องตะโกแล้วแห่งหนึ่ง ที่ละหานทรายแห่งหนึ่ง…”
[มูลนิธิดิศกุล. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดรอีสาน ร.ศ. 125, โรงพิมพ์วัชรินทร์การพิมพ์ พ.ศ. 2530 หน้า 119]
อีก ตอนหนึ่ง ได้กล่าวถึงพ่อค้าชาวเมืองเรณูนคร (อ. เรณูนคร จ. นครพนม) ได้นำวัวควายไปขายที่เมืองมะละแหม่ง เดินทางผ่านทางช่องสระผม เมืองเพชรบูรณ์ ไปเมืองมะละแหม่ง (มรแมน) โดยเฉพาะขุนสฤษดิ์เรณู พ่อค้านำโคกระบือไปขายที่เมืองมะละแหม่งจนร่ำรวย และได้สร้างวัดกลาง (วัดกลางเมืองเรณูนคร) ตามสถาปัตยกรรมพม่า
ขุนสฤษดิ์เรณูนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่ได้กล่าวว่าเป็นพม่า (ตองสู้) หรือผู้ไทย แต่ลักษณะการประกอบอาชีพ น่าจะเป็นชาวตองสู้ที่มาอยู่ในหมู่บ้านดงหวาย (ชื่อเดิมของเมืองเรณูนคร) นานแล้ว หรืออาจจะเป็นลูกหลานชาวตองสู้หรือกุลา จึงได้ประกอบอาชีพพ่อค้าวัวเร่ เดินทางค้าขาย และมีความคุ้นเคยกับเมืองมะละแหม่ง (มรแมน) และได้รับแต่งตั้งตำแหน่งขุนสฤษดิ์เรณูด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าชาวตองสู้ได้เดินทางค้าขายไปมาระหว่างหัวเมืองอีสานกับภาค กลาง และเมืองมะละแหม่งนั้น ได้ตั้งชุมชนอยู่รวมกับชาวท้องถิ่น โดยแต่งงานกับชาวท้องถิ่น จนเป็นที่ยอมรับของชาวอีสานทั่วไป ดังนี้
“วัน ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่งออกจากที่พักบ้านนาลาด เดินตามทางในทุ่งและในป่าโดยลำดับมา ระยะทาง 285 เส้น ถึงเมืองเรณูนคร เวลาเช้า 2 โมง 20 นาที มีราษฎรชายหญิงมารับเป็นอันมาก เมืองเรณูนครนี้เดิมชื่อบ้านดงหวาย ตั้งเป็นเมืองขึ้นเมืองนครพนมในรัชกาลที่ 3 สังเกตดูผู้คนแต่งตัวสะอาดเรียบร้อยดีกว่าทุกแห่งที่ได้ผ่านมาแล้ว พลเมืองเป็นผู้ไทยโดยมาก มีจำนวน 11,986 เป็นที่ดอน ใช้น้ำบ่อแต่ที่นาดี ชาวบ้านมีฝีมือทอผ้าดี กับมีการผสมโคกระบือนำไปขายถึงเมืองมรแมน (มะละแหม่ง) เดินทางช่องสระผมผ่านไปทางมณฑลเพชรบูรณ์ ขากลับซื้อสินค้าจากเมืองมรแมน (มะละแหม่ง) มาขาย ที่นี่จึงมีผ้าด้ายไหมเครื่องแต่งตัวแปลกๆ พักกินข้าวเช้าแล้วไปที่วัดกลาง มีโบสถ์สร้างใหม่ เป็นรูปโบสถ์อย่างพม่า เพราะขุนสฤษดิ์เรณู พ่อค้า ซึ่งนำโคกระบือไปขายเมืองมรแมน (มะละ         แหม่ง) เลียนแบบมาจากพม่า…” [มูลนิธิดิศกุล, เรื่องเดิม หน้า 120]
ฉะนั้นชาวตองสู้ หรือตองซู หรือชาวอีสานเรียกว่า กุลา กุหล่า เป็น ชาวพม่า หรือไทยใหญ่ เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ที่เดินทางเข้ามาค้าขายในภาคอีสาน และแต่งงานกับชาวท้องถิ่น ตั้งหลักแหล่งทั่วไปในหัวเมืองอีสาน มีลูกหลานอาศัยอยู่ในเมืองเหล่านั้น จนบางคนได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนางก็มี ดังกรณี “ขุนสฤษดิ์เรณู” เป็นต้น
[ปรับปรุงจาก-ชนชาติต้องสู้ โดย ธวัช ปุณโณทก เรียบเรียง ในหนังสือ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 4 มูลนิธิวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทย พาณิชย์ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น