สนธิสัญญาเบาว์ริง กับการแทรกแซงกิจการภายในสยามของอังกฤษ
ภาพวาดแสดงการขนส่งทางเรือสำเภาในยุค รัชการ ที่ 2 และ รัชการที่ 3
ในปี พ.ศ.๒๓๖๔ อังกฤษ ส่งจอห์น ครอเฟิต เข้ามาเจรจากับ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย ขอให้ฝ่ายไทยคืนรัฐไทรบุรีแก่พระยาไทรบุรี (ตนกู ปะแงรัน) เข้ามาปกครองตามเดิม แต่ฝ่ายไทยไม่ยินยอม ฝ่ายไทยให้เหตุผลว่าพระยาไทรบุรีเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ถ้ามีเรื่องจะร้องทุกข์ ก็ควรเข้ามาถวายฎีการ้องเรียนต่อพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง มิบังควรให้บุคคลอื่นมาแทน อนึ่งพระยาไทรบุรีเองก็เคยขัดขืน พระบรมราชโองการ ที่ทรงเรียกตัวเข้ามาชี้แจงข้อกล่าวหา ของ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ว่าเอาใจไปฝักใฝ่ต่อพม่า มีการ ลอบส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายกษัตริย์พม่า ทำนองเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย
เหตุที่อังกฤษพยายามเข้าช่วยเหลือ พระยาไทรบุรี ก็เนื่องมาจาก เกาะปีนัง ซึ่งอังกฤษ ได้เช่าไปจากพระยาไทรบุรี (อับดุล ละโมกุรัมซะ) นั้น ชาวเกาะปีนังต้องพึ่งพาข้าวปลาอาหาร ที่ส่งไปจากรัฐไทรบุรี ซึ่งอยู่ในความปกครองของบุตรเจ้าพระยานครฯ (น้อย) อังกฤษกลัวไทย จะสกัดกั้นการติดต่อ การค้าขายหรือเรียกเก็บภาษีสูงขึ้น จะทำให้ประชาชนในเกาะปีนัง ต้องเดือดร้อน
ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๓๖๘ ขณะที่กองทัพเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เตรียมการจะยกกำลัง ไปช่วยเหลือรัฐเปรัค เพื่อป้องกันมิให้รัฐสลังงอร์รุกราน ข้าหลวงอังกฤษประจำเกาะปีนัง คือ นายโรเบิร์ต ฟุลเลอตัน ก็ทำการขู่เข็ญเจ้าพระยานครฯให้ยับยั้งการส่งทหารเข้าไปยังรัฐเปรัค ด้วยการ ส่งเรือรบมาคอยสกัดกั้น กองเรือของไทย ที่ชุมนุมกันอยู่ ณ ปากน้ำ เมืองตรัง ทำให้ เจ้าพระยานครฯ ต้องระงับแผนการไว้
ปี พ.ศ.๒๓๖๙ อังกฤษส่งร้อยเอก เฮนรี เบอร์นี เข้ามาเป็นทูต เจรจาทำสนธิสัญญา กับไทยอีกครั้งหนึ่ง โดย อังกฤษให้สัญญาว่า อังกฤษจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการของรัฐตรังกานู และ รัฐกลันตัน โดยจะยอมรับว่า ไทยมีอำนาจสมบูรณ์ในรัฐไทรบุรี อังกฤษขอสัญญาว่า จะไม่ทำการรุกรานต่อรัฐไทรบุรีอีกต่อไป และฝ่ายไทย ต้องยอมรับว่า เกาะปีนัง และ มณฑล เวลเลสเลย์ ที่อังกฤษขอเช่าไปจาก พระยาไทรบุรี เป็นของอังกฤษ และไทย จะไม่เก็บภาษีสินค้า อาหาร ตามที่เกาะปีนัง และ มณฑล เวลเลสเลย์ ต้องการจากไทรบุรี
ผลของการทำสัญญา เบอร์นี ครั้งนี้ ทำให้พ่อค้าและข้าราชการอังกฤษในมลายู ไม่พอใจ นายเฮนรี เบอร์นี เป็นอันมาก หาว่า เบอร์นี กระทำการอ่อนข้อให้กับไทย ทำให้ไทยคงมีอำนาจอยู่ในดินแดนมลายูตอนเหนือ ซึ่งพวกตนไม่สามารถทำการค้าขายกับรัฐเหล่านั้นได้สะดวก
ทางด้าน รัฐเปรัค ฟุลเลอตัน ได้ส่ง ร้อยเอก โลว์ นำทหารซีปอย และเรือรบจำนวนหนึ่ง ไปยังเมืองเปรัค เพื่อทำการยุยง สุลต่าน เปรัค ให้ทำสัญญากับอังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๓๖๙ เป็นใจความว่า "เพื่อเป็นการตอบแทน ที่อังกฤษจะเข้าช่วยเหลือต่อต้านผู้ใดก็ตาม ที่จะ คุกคามเอกราชของรัฐสุลต่าน จะต้องไม่ติดต่อทางการเมืองกับไทย นครศรีธรรมราช, สลังงอร์ หรือรัฐมลายูอื่นๆ และจะต้องเลิกส่งต้นไม้ เงินทอง หรือบรรณาการใด ไปให้ไทย" เป็นเหตุให้สุลต่าน เปรัค หมดความเกรงกลัวไทย รีบทำการปลดข้าราชการในราชสำนัก ที่เป็นฝ่าย จงรักภักดีต่อไทย ตามคำแนะนำของฟุลเลอตัน และให้ทางไทย ถอนกำลังทหารออกไปจากรัฐเปรัค ตั้งแต่นั้นมา อิทธิพลไทยที่เคยมีต่อรัฐเปรัคก็สิ้นสุดลง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๕ อังกฤษก็พยายามสนับสนุนให้เจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) ได้กลับเข้ามาเป็นผู้ว่าราชการเมืองไทรบุรีอีกครั้ง ซึ่งทางฝ่ายไทยเห็นว่า เจ้าพระยาไทรบุรีชราภาพมากแล้ว คงไม่คิดอ่าน ที่จะกระทำการกระด้างกระเดื่องอีกต่อไป อีกทั้งเมืองไทรบุรี ขณะนั้น ข้าราชการแตกความสามัคคี แยกกันหลายก๊ก หลายฝ่าย ทำให้การบริหารบ้านเมือง ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เจ้าพระยาไทรบุรี เป็นผู้ใหญ่ เป็นที่เคารพยำเกรงของบุคคล เหล่านั้น คงจะเข้ามาไกล่เกลี่ยให้ผู้คน เกิดความสมัครสมานกลมเกลียวกันได้
เซอร์จอห์น เบาริง คนๆนี้ คนไทยลืมยาก
ปี พ.ศ.๒๓๙๘ อังกฤษ ส่ง เซอร์จอห์น เบาริง เข้ามาขอทำสัญญากับไทยอีก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๓๙๘ ผลของสนธิสัญญาฉบับนี้ ทำให้ไทยต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางการค้า และเอกราชทางการศาล ไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง คือ ด้านการค้า จำกัดการเรียกเก็บภาษีขาเข้าจากอังกฤษได้ในอัตรา ร้อยละสาม และ ขาออก ได้ร้อยละหนึ่ง อีกทั้งยอมให้อังกฤษนำฝิ่นเข้ามาขายในเมืองไทยได้ด้วย
ด้านเอกราชทางการศาลไทย ต้องอนุญาตให้ชาวต่างประเทศ และคนในบังคับของชาตินั้นๆ เข้ามามีสิทธิภาพนอกเหนืออาณาเขตไทยได้ ไทยจึงต้องประสพปัญหายุ่งยากที่ไม่สามารถจะตัดสิน กรณีพิพาทระหว่าง คนไทยกับคนต่างชาติ โดยใช้กฎหมายไทยได้
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๕ อังกฤษ กล่าวหาว่า ไทยสนับสนุนพระยาตรังกานู และ สุลต่าน มะหะหมัด ทำการโจมตีเมืองปาหัง ทำให้กิจการค้าของอังกฤษในเมืองปาหัง ได้รับความเสียหาย นายเคเวนนาจ์ ผู้สำเร็จราชการประจำสิงคโปร์ จึงสั่งให้นาย แมคเฟอร์สัน นำเรือรบมาระดมยิงเมืองตรังกานู เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๐๕ เป็นเวลา ๑ สัปดาห์
รัฐบาลไทยได้มีหนังสือประท้วงไปยัง ลอร์ดรัชเวลล์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ อังกฤษ ที่กรุงลอนดอน โดยอ้างสิทธิเหนือรัฐกลันตันและรัฐตรังกานู ตามสนธิสัญญาเบอร์นี ตามความในมาตรา ๑๒ ความว่า
"เมืองไทยไม่ไปขัดขวางทางการค้าขาย ณ เมืองตรังกานู กลันตัน ให้ลูกค้าพวกอังกฤษ ได้ไปมาค้าขายโดยสะดวกเหมือนแต่ก่อน อังกฤษไม่ไปเบียดเบียนรบกวนเมืองตรังกานู กลันตัน ด้วยการสิ่งใด" เป็นเหตุให้รัฐบาลอังกฤษ ต้องเรียกตัว นายเคเวนนาจ์ ผู้สำเร็จราชการ ประจำสิงคโปร์กลับ และส่งผู้สำเร็จราชการคนใหม่มาแทน ทำให้เหตุการณ์ในเมืองตรังกานูยุติลง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อังกฤษก็ยังคงพยายามส่งคนเข้ามาคอยยุแหย่เจ้าเมืองในบริเวณหัวเมืองทั้ง ๗ เพื่อหวังจะลิดรอนอำนาจของไทยในแหลม มลายูให้หมดไป เป็นเหตุให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิรูประบอบการบริหารราชการแผ่นดิน ของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ กำลังดำเนินการอยู่ จวนเจียนจะล้มเหลว พระองค์จึงตัดสินพระทัย ถอดถอน ตนกู อับดุล กาเดร์ พระยา ตานี ออกจากตำแหน่ง ผู้ว่า ราชการเมืองปัตตานี ซึ่งขัดขืนพระบรมราชโองการ ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการจัดการ ปกครองเมืองปัตตานี ในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล ที่ทรงนำมาใช้กับเมืองทั้ง ๗
เพื่อผ่อนคลายนโยบายรุกรานทางด้านการเมืองของอังกฤษ และให้ได้มาซึ่งเอกราช ทางการศาล ที่ไทยต้องเสียเปรียบแก่อังกฤษ จากสัญญาที่ไทย และอังกฤษทำไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ ไทยจำต้องเอารัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และ เปอร์ลิส เข้าทำการแลกเปลี่ยน (ตามคำแนะนำของ นายเอตเวิด สโตรเบล ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน) เพื่อให้ รัฐบาลอังกฤษ ยอมให้คนในบังคับของตน ที่ขึ้นทะเบียนเป็นคนในบังคับอังกฤษไว้ก่อน ทำสนธิสัญญาฉบับนี้ มาขึ้นที่ศาลต่างประเทศจนกว่าทางฝ่ายไทย จะได้ประกาศใช้ประมวล กฎหมายครบถ้วน แล้วจึงให้มาขึ้นศาลไทยธรรมดา สนธิสัญญาฉบับนี้ได้กระทำกันในปี พ.ศ.๒๔๕๒
ฝรั่งผู้รุกกราน
ขอบคุณภาพจากกูเกิ้ล
ที่มา :
ชื่อหนังสือ ประวัติเมืองลังกาสุกะ - เมืองปัตตานี ผู้เขียน อนันต์ วัฒนานิกร
เลขหมู่หนังสือ ๙๕๙.๓๙๕๐๑
พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๑,๐๐๐ เล่ม (สงวนลิขสิทธิ์)
ราคา ๔๐ บาท
จัดจำหน่ายโดย บริษัท เคล็ดไทย จำกัด ๓๐๓/๗ ซอยสันติภาพ ถนนนเรศ บางรัก กรุงเทพฯ
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์สยาม ๘๙/๖๙ ศูนย์การค้าตลาดใหม่บางซื่อ ถนนเตชะวนิช ดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๘๐๐ โทร ๕๘๗-๐๙๔๓
ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายกิ่ง แช่มสะอาด
เพิ่มเติม จาก วิกิพีเดีย
สนธิสัญญาเบอร์นี
สนธิสัญญาเบอร์นี ประกอบไปด้วยสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีรวม 14 ข้อ
และมีสนธิสัญญาทางการพาณิชย์แยกออกมาอีกฉบับหนึ่งรวม 6 ข้อ
ในด้านการค้าได้มีข้อตกลงไว้ดังนี้ คือ- อนุญาตให้พ่อค้าไทยทำการค้ากับพ่อค้าชาวอังกฤษได้อย่างเสรี ตามความสะดวก รัฐบาลห้ามมิให้พ่อค้าซื้อข้าวเพื่อส่งออกนอกประเทศ ส่วนกระสุนปืน และดินปืนนั้น ถ้านำมาขายจะต้องขายให้แก่รัฐบาลไทยได้เพียงผู้เดียว ถ้าหากรัฐบาลไทยไม่ต้องการให้นำออกไป
- รัฐบาลจะเก็บภาษีจาก พ่อค้าอังกฤษรวมเป็นอย่างเดียว ตามความกว้างของปากเรือ หากเรือใดได้บรรทุกสินค้ามาให้คิดราคาตามความกว้างของปากเรือเป็นราคาวาละ 1,700 บาท ส่วนเรือที่ไม่ได้บรรทุกสินค้ามานั้นให้คิดตามความกว้างของปากเรือราคาวาละ 1,500 บาท
- เรือสินค้าของพ่อค้าชาวอังกฤษที่เข้ามาค้าขายกับไทย จะต้องมาทอดสมอคอยอยู่นอกสันดอนปากแม่น้ำก่อน ผู้บังคับการเรือจะต้องให้คนนำบัญชีรายชื่อสินค้าที่บรรทุกมาตลอดจนอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ แจ้งแก่เจ้าเมืองปากน้ำ
- เจ้าพนักงานไทยยังคงมีสิทธิลงไปตรวจสอบสินค้าของพ่อค้า และให้นำสินค้าประเภทอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้ ณ เมืองปากน้ำ แล้วเจ้าเมืองจึงอนุญาตให้เรือมาถึงกรุงเทพ
- พ่อค้าอังกฤษ ตลอดจนผู้บังคับการเรือและลูกเรือทั้งหลายซึ่งเข้ามาค้าขายยังเมืองไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยทุกประการ
สนธิสัญญาเบาว์ริง
สาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริง
- ประเทศอังกฤษจะตั้งสถานกงสุลไว้ในประเทศไทย
- ชาวอังกฤษ สามารถสร้างโบสถ์และเผยแพร่ ศาสนาคริสต์ได้
- เปิดเสรีการค้า ระหว่าง ประเทศไทยและประเทศอังกฤษ
- ประเทศไทยสามารถเก็บภาษีขาเข้าได้ไม่เกินร้อยละสาม
- รัฐสามารถสั่งระงับการส่งออกสินค้า 3 ขนิด คือ ข้าว ปลา และ เกลือ ได้
- หากมีการจดสนธิสัญญากับประเทศอื่น ที่มีผลประโยชน์มากกว่าประเทศอังกฤษ จะต้องทำให้กับอังกฤษด้วย
- สนธิ สัญญานี้ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลง จนกว่าจะใช้แล้ว 10 ปี หากจะแก้ไข จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 1 ปี โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องยินยอมซึ่งกันและกัน
- หากคนอังกฤษทำผิดในประเทศไทย จะต้องขึ้นศาลกงสุลอังกฤษ ไม่ต้องขึ้นศาลไทย
- ชาวอังกฤษ สามารถเช่าที่ในประเทศไทยได้
สนธิสัญญาเบาว์ริงก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ เท่านั้น ประเทศไทยเสียเปรียบประเทศอังกฤษในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การถูกจำกัดในเรื่องสิทธิการเก็บภาษีขาเข้า เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและคนในบังคับต่างชาติ แต่การทำสนธิสัญญาก็เป็นเพียงหนทางเดียวที่ประเทศไทยจะสามารถรักษาเอกราชเอา ไว้ได้ จากลิทธิจักวรรดินิยม
สนธิสัญญาเบาว์ริงใช้บังคับอยู่เป็นเวลา ถึง 70 กว่าปี จนกระทั่งมีการแก้ไข ค่อยๆยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ. 2461
สุริยา มาดีกุล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น