ฟูนัน
รัฐฟูนัน
ฟู
นันเป็นรัฐที่รุ่งเรืองอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่
1-6 ที่ตั้งของรัฐอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งประเทศกัมพูชา เวียดนามตอนใต้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บางตอนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
และภาคใต้ของไทยลงมาถึงแหลมมลายู
ฟูนานรวมกันเป็นรัฐแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป็นรัฐชลประทานภายในแผ่นดินที่ประชาชนดำรงชีพด้วยการเกษตร
โดยใช้น้ำจากระบบชลประทานที่พัฒนาเป็นอย่างดี นอกจากนั้น
ฟูนันยังมีเมืองท่าสำหรับจอดเรือและค้าขายต่างประเทศ
ฟูนัน จึงมีรายได้จากการค้าขาย และการเดินเรืออีกด้วย
เรื่องราวของรัฐฟูนัน
ทราบจากบันทึกของชาวจีนที่เดินทางมายังบริเวณแถบนี้ ได้เขียนเล่าถึงความมั่งคั่ง
ความเป็นอยู่ในชุมชนที่เป็นระเบียบ มีคุณธรรม มีการปกครองระบบกษัตริย์
มีเมืองต่างๆมาขึ้นด้วยหลายเมือง มีวัฒนธรรมแท้ๆของตนเอง
มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ทั้งใน ทวีปเอเชียด้วยกันและโลกตะวันตก
ชาวพื้นเมืองที่เป็นชนชั้นสูง
เป็นพวกมาลาโยโพลีนีเซียน ชนชั้นล่างเป็นพวกเนกริโต และเมลานีเซียน ฟูนันมีประวัติความเป็นมา
เริ่มจากการรวมตัวกันของผู้คน เป็นชุมชนเล็กขนาดหมู่บ้าน
จากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐ วิธีการพัฒนาจากสังคมเผ่าเป็นสังคมรัฐมีปัจจัยและขั้นตอนหลายประการ
สาเหตุที่ฟูนานพัฒนาจากสังคมเผ่ามาเป็นสังคมรัฐ
สังคมดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสังคมเผ่า(Tribal
Society) ต่อมาพัฒนาเป็นสังคมรัฐ (Social State) เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมา ตัวอย่าง คือ ฟูนัน
เดิมเป็นหมู่บ้านต่อมาขยายออกไป เพราะมีประชากรเพิ่มมากขึ้น
จึงต้องขยายที่เพาะปลูกให้พอกินพอใช้กับจำนวนชุมชนที่ขยายขึ้น
ได้พยายามหาเทคนิควิทยา (Technology) มาช่วยเช่น
ขุดคูคลองกั้นน้ำ เพื่อให้อยู่ดี และ มีอาหารพอเพียงต่อมาเริ่มมีโครงร่างของสังคมดีขึ้น
จึงพัฒนามาเป็นรัฐ
เหตุที่ฟูนันพัฒนามาเป็นรัฐได้นั้น
มีผู้แสดงความเห็นไว้ เช่น เคนเนธ อาร์ ฮอลล์ กล่าวว่าเป็นเพราะฟูนัน
มีการพัฒนาในเรื่องการเพาะปลูกอย่างมาก และที่สำคัญอีก คือ ฟูนันมีเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเล
พร้อมทั้งได้ยกข้อคิดเห็นของ โอ.ดับบลิว.โวลเตอร์ (O.W. Wolter) ที่กล่าวถึงการพัฒนาการจากสังคมเผ่าเป็นสังคมรัฐว่า
เป็นเพราะลักษณะทางการค้า และสภาพภูมิศาสตร์เอื้ออำนวย โดยเฉพาะที่เมืองออกแก้ว (Oc-Eo) เมืองท่าของฟูนันที่เรือต่างๆผ่านมาต้องแวะด้วย
เมืองออกแก้วเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้นในดินแดน
เพื่อต้องการตอบสนองความต้องการสินค้าของลูกค้าที่แวะมาเมืองท่า
และการชลประทานในฟูนันก็เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกทำให้ฟูนันขยายตัวเป็นรัฐขึ้นมา
และเป็นรัฐแรกในภูมิภาคนี้
ส่วนเรื่องการเข้ามาของชาวอินเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
น่าจะเริ่มที่พ่อค้าเข้ามาก่อน โดยมาติดต่อกับผู้ปกครอง
แล้วพราหมณ์จึงตามเข้ามาทีหลัง และไม่เชื่อว่า
ฟูนานจะกว้างใหญ่ถึงขนาดเป็นอาณาจักร (Kingdom) ได้แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการใช้คำศัพท์
ทั้งนี้ เพราะส่วนใหญ่ได้ข้อมูลมาจากจีนมองดูบ้านเมืองแถบนี้ด้วยสายตาของจีน
และนำเอาคำศัพท์จีนมาใช้ เช่นเดียวกับชาวตะวันตกที่ใช้คำว่า “Kingdom” หมายถึง อาณาจักรในแนวคิด และแบบของยุโรป ซึ่งเทียบกันไม่ได้กับสภาพเป็นจริงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากการศึกษาโดยละเอียด ในเนื้อหาของบันทึกหลักฐานทางโบราณคดี และสภาพแวดล้อมแล้ว
ฟูนันยังไม่เหมาะที่จะใช้คำว่า อาณาจักร หรือจักรวรรดิได้ ฟูนันขณะนั้นเป็นเพียงการรวมเผ่าต่างๆ เข้าด้วยกัน
มีหัวหน้าใหญ่ซึ่งได้มาโดยการยกย่องหัวหน้าเผ่าบางคนขึ้นมาโดยดูจากความสามารถส่วนตัว
หัวหน้าใหญ่คนนี้ก็จะมีอำนาจอยู่ในชั่วอายุของตนเองเท่านั้น
เมื่อตายไปแล้วอำนาจก็สิ้นสุด ไม่ตกทอดถึงทายาท
ชลประทานขนาดใหญ่
ทำให้เกิดการผลิตในทางเกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าวที่รัฐฟูนันดึงเข้ามายังส่วนกลางในรูปของส่วยอากร
เพื่อสร้างความมั่นคั่ง และมั่นคงในทางการเมืองให้กับรัฐ และกลุ่มชนชั้นปกครอง
ขณะเดียวกัน มีนักวิชาการท่านหนึ่ง
ได้ค้านแนวความคิดเรื่องโครงสร้างชลประทานขนาดใหญ่ดังกล่าว คือ ดับบลิว. เจ.
แวนเลอ (W.J. Van Liere) กล่าวว่า
ไม่มีร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า โครงสร้างชลประทานขนาดใหญ่จะมีผลไปถึงการเพาะปลูก
ตรงข้ามโครงสร้างดังกล่าว
เป็นเรื่องของศาสนาที่ค้ำจุนฐานะของกษัตริย์ในลัทธิเทวราช
และอาจเป็นคูคลองป้องกันเมืองก็ได้ ส่วนการปลูกข้าวยังอาศัยฤดูกาลทางธรรมชาติ
ตลอดจนการชลประทานขนาดเล็ก ที่ราษฎรทำเอง เรียกว่า
ชลประทานราษฎร์
ตัวอย่างดังกล่าวนี้
แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดต่างๆ และแนวคิดที่คัดค้านกันเป็นวิธีศึกษาทางวิชาการ
ที่นักวิชาการพยายามจะหาข้อมูลที่ถูกต้อง
หรือใกล้ความจริงมากที่สุดเพื่อแสดงให้เห็นว่า
สังคมเผ่าพัฒนามาเป็นสังคมรัฐได้อย่างไร
ความเจริญและความเสื่อมของฟูนัน
หลักฐานของจีนกล่าวว่า
ฟูนานตั้งขึ้นโดยพราหมณ์โกณธิญญะ(Kaundinya)
ผู้มีอิทธิพลเหนือชาวพื้นเมืองและได้แต่งงานกับเจ้าหญิงนาคี(Nagi) ของแคว้นนี้ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 ฟูนันอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้
เมืองหลวงชื่อ วยาธปุระ (Vyadhapura) แปลว่า เมืองของกษัตริย์นายพราน (The
City of the hunter king) ชื่อของฟูนันเทียบกับภาษาเขมร คือ พนม บนม
หรือภูเขาผู้ปกครองของฟูนัน เรียกว่า กูรุง บนม (Kurung Bnam)
คือ เจ้าแห่งภูเขา (King of the mountain) หรือมีพระนามตามภาษาสันสฤตว่า “ไศละราชา” (Shailaraja) วยาธปุระ
อยู่ใกล้ภูเขาบาพนม (Ba
phnom) และมีเมืองท่าชายทะเลที่สำคัญ คือ เมืองออกแก้ว
มีแม่น้ำสายยาว 200 กิโลเมตร ต่อเชื่อมเมืองท่ากับเมืองวยาธปุระ เนื่องจากเมืองหลวงตั้งอยู่ส่วนสูงสุดของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ใกล้ภูเขาบาพนม ตรงที่แม่น้ำทะเลทราบไหลมารวมกัน
จึงช่วยระบายน้ำในทะเลสาบไปยังพื้นที่ทางทิศตะวันตก ซึ่งช่วยในการเพราะปลูกได้ดี
สถานที่ตั้งทางด้านยุทธศาสตร์ของฟูนัน ทำให้สามารถควบคุมช่องแคบเดินเรือที่เชื่อมฝั่งทะเลของอ่าวไทยเข้ากับทะเลอันดามัน
และเมืองท่าต่างๆ ของจีนทางตอนใต้ เห็นได้ชัดว่า ได้ให้ความมั่งคั่ง
และอิทธิพลทางการเมืองอย่างสำคัญยิ่ง ทำให้ฟูนันมีอำนาจปกครองเหนือเมืองลังกาสุคะ
(Langkasuka มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองปัตตานี) และเมืองตามพร-ลิงค์
(Tambralinga มีเมืองหลวงอยู่ที่นครศรีธรรมราชหรือไชยา)
เมืองทั้งสองตั้งอยู่สองฝั่งเส้นทางเดินเรือค้าขายที่สำคัญ
ฟูนันยังมีอำนาจเหนือเจนละ ซึ่งอยู่ตอนเหนือของฟูนัน
ฟูนันปกครองเหนือดินแดนในอินโดจีนส่วนใหญ่ถึงห้าศตวรรษ
การขนส่งภายในฟูนันใช้ทางน้ำเป็นสำคัญ
ประชากรอาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำ ปลูกบ้านแบบใต้ ถุนสูง กีฬาที่โปรดปราน คือ การชนไก่
ชนหมู ภาษีอากรจ่ายเป็นทอง เงิน ไข่มุก น้ำหอม ฟูนันได้ติดต่อค้าขายกับตะวันตกด้วย
เพราะจากการขุดค้นได้พบรากฐานของอาคารหลายแห่งที่เมืองออกแก้ว
ได้พบหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างฟูนันกับตะวันตก เช่น
เหรียญโรมันต่างๆมีรูปจักรพรรดิโรมัน แหวนจารึกภาษาอินเดีย สมัยคริสต์ศตวรรษที่
2-5 หินสลักรูปต่างๆ ที่ได้แบบมาจากกรีก
ลักษณะของวัฒนธรรมที่เมืองออกแก้ว
เป็นแบบผสมกันระหว่างวัฒนธรรมพื้นเมืองและวัฒนธรรมอินเดีย เช่น
ประเพณีการบูชาภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ และเจ้าหญิงธิดาพญานาคของชาวฟูนัน
ได้สืบทอดต่อมาเป็นธรรมเนียมที่กษัตริย์กัมพูชาทรงปฏิบัติ
ส่วนลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นแบบวัฒนธรรมอินเดีย ได้แก่
โบราณสถานของกัมพูชาสมัยก่อนนครวัด นอกจากนั้น มีพระพุทธรูปแบบคุปตะ
ภาพปั้นพระวิษณุสวมมาลาทรงกระบอก และภาพปั้นพระหริหระ ล้วนแสดงให้เห็นว่า ประติมากรชาวฟูนันได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากอินเดีย
สมัยราชวงศ์ปาลวะ และราชวงศ์คุปตะ ทั้งศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู มีภาษาสันสกฤต
ซึ่งเห็นได้จากบันทึกของชาวฟูนันที่บันทึกไว้คราวมีงานเฉลิมฉลองรัชกาลพระเจ้าโกณธิญญะที่
2
(สวรรคต ค.ศ. 434) และรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 1
(ครองราชย์ ค.ศ. 478 - 514) ที่มีประเพณีการจัดงานต่างๆ
ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียแล้ว
ยังปรากฏคำลงท้ายพระนามกษัตริย์ฟูนันว่า “วรมัน” ภาษาสันสกฤต แปลว่า “ผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์” ที่ผู้อยู่ในวรรณะกษัตริย์ของอินเดียนิยมใช้กัน สิ่งเหล่านี้
ล้วนแสดงให้เห็นอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียที่มีต่อรัฐฟูนัน
ฟูนันมีสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน
ดังนั้น เรื่องราวของฟูนันจึงปรากฏในบันทึกของจีนที่กล่าวไว้ว่า
เมืองต่างๆในฟูนันมีกำแพงล้อมรอบ มีปราสาทราชวัง และบ้านเรือนราษฎร ชาวฟูนันมีผิวดำ
ผมหยิก เดินเท้าเปล่า ทำการเพาะปลูก ชอบการแกะสลักเครื่องประดับ การสลักหินมีตัวอักษรใช้ลักษณะคล้ายกับอักษรของพวก
“ฮู้” (อยู่ในเอเชียตอนกลาง ใช้อักษรแบบอินเดีย) มีทาสเชลยศึก มีการค้าทองคำ
ค้าเงิน ค้าไหม ทำแหวน สร้อยมือทองคำ ถ้วยชามเงิน
การพิจารณาคดีความใช้แบบจารีตนครบาล เช่น ล้วงหยิบ แหวนทองเหลือ หรือ
ไข่ในน้ำเดือด ใช้โซ่ร้อน
จัดคล้องมือ แล้วเดินไป 7 ก้าว หรือดำน้ำพิสูจน์
เป็นต้น มีแหล่งน้ำใช้ร่วมกัน มีการทดน้ำ เพื่อการเพาะปลูก สถาปัตยกรรมเป็นแบบหลังคา
เป็นชั้นเล็กๆ จำนวนมาก ตกแต่งด้วยช่องเล็กช่องน้อยครอบอยู่
ผู้สถาปนาอาณาจักรฟูนัน
คือ โกญฑัญญะ (Kuandiya) จีนเรียก “หวั่นถิน” นัยว่าเป็นชาวอินเดีย
นักประวัติศาสตร์บางท่านก็ว่าเป็นพราหมณ์ บางท่านก็บอกว่าเป็น เจ้าชาย
บางท่านก็ว่าเป็น นักผจญภัย
โกญฑัญญะจะเป็นอะไรก็ตาม
แต่ที่เห็นพ้องต้องกันเป็นส่วนใหญ่ คือ ผู้สถาปนาอาณาจักรฟูนัน
แต่เป็นคนละคนกับโกญฑัญญะที่เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
เรื่องราวที่โกญฑัญญะจะเข้ามามีอำนาจในดินแดนแห่งนี้
เล่ากันหลายสำนวน ล้วนแต่มีอิทธิพลปาฏิหาริย์ให้เห็นว่าโกญฑัญญะผู้นี้ไม่ได้เป็นบุคคลธรรมดาๆ
ซึ่งประวัติบุคคลสำคัญในสมัยก่อนๆ มักจะเป็นเช่นนั้น
เช่นเล่าว่า ก่อนจะเดินทางมา
โกญฑัญญะได้ฝันว่าได้มีผู้มาสั่ง (จะเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า หรือ ปีศาจ)
ว่าให้ลงเรือของพวกพ่อค้าที่เดินทางไปเอเชียอาคเนย์ ตอนเช้าโกญฑัญญะจึงไปไหว้เทพเจ้าในเทวสถาน
ก็พบคันธนู (คงจะเป็นธนูกายสิทธิ์) จึงนำติดตัวไปด้วย
เมื่อเดินทางมาถึงอาณาจักรฟูนันก็ได้สู้รบกับนางพญา Willow
Leaf (ขอแปลง่ายๆ ว่า “นางพญาใบไม้” เพราะคงจะนุ่งห่มด้วยใบไม้ชนิดหนึ่ง บางท่านแปลว่า “พระนางก้านมะพร้าว” จะเรียกว่า “พระนางลิวเย”) โกญฑัญญะมีชัยโดยใช้ศรกายสิทธิ์สู้รบ
และได้อภิเษกกับนางพญา
จากเค้าเรื่องนี้แสดงว่า
ก่อนที่อินเดียจะมามีบทบาทสำคัญในเอเชียอาคเนย์ เขมรตอนนั้นยังไม่เจริญ
คนขนาดนางพญายังใช้ใบไม้นุ่งห่ม แล้วคนชั้นธรรมดาๆ จะเป็นอย่างไร
ฟูนันได้รับอารยธรรมจากอินเดีย
โดยการสมรสเป็นปฐมและการไปมาค้าขายกันในภายหลังจึงพัฒนาตัวเองขึ้นตามลำดับ
บางเรื่องก็เล่าว่า...
พราหมณ์ชื่อโกญฑัญญะได้เดินทางมาถึงประเทศนนี้ และได้สมรสกับนางโสมา (Soma) พระราชธิดาของพระเจ้านาคา ( the King of the Naga)
ซึ่งเป็นหัวหน้าของชนท้องถิ่น
หลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าโกญฑัญญะมีความจำเป็นจะต้องเดินทางออกประเทศอินเดีย
เพราะในอินเดียในสมัยนั้นตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช
ซึ่งเดิมทรงนิยมแผ่เดชานุภาพด้วยการทำสงคราม ฆ่าฟันผู้คนตายมากมายก่ายกอง
ภายหลังได้เสวนากับบัณฑิตย์ในพระพุทธศาสนา จึงกลับใจหันมาแผ่เดชานุภาพในทางธรรม
นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า
ทรงส่งสมณทูตมาเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนที่เรียกกันว่า “สุวรรณภูมิ”
ตามหลักฐานที่ได้จากจีน กล่าวว่า
อาณาจักรนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1
เรื่องราวของอาณาจักรฟูนันในระยะแรกปรากฏอยู่ในบันทึกของทูตจีน 2 คน คือ คัง ไถ (K’ ang T’ai) และชู ยิง (Chu Ying)
ซึ่งได้เดินทางมายังอาณาจักรฟูนันในคริสต์ศตวรรษที่ 3 แม้ว่าต้นฉบับจริงจะได้สูญหายไป
แต่ก็ยังพอมีหลักฐานปรากฏอยู่ในพงศาวดารจีนและสารานุกรมของจีน (Encyclopeadia) พอสมควร คัง ไถ ได้กล่าวว่า
“พระราชาองค์แรกของอาณาจักรฟูนันทรงพระนามว่า ฮวนเถียน” (Houen – t’ine) หรือ เกาณฑิณยะ (Kaundiya) ตามตำนานกล่าวว่า
ท่านผู้นี้ได้มาจากประเทศอินเดีย หรือแหลมมลายู หรือ หมู่เกาะอินโดนีเซีย
โดยฝันว่าเทวดาประจำตระกูลได้มอบศรให้และสั่งให้ลงเรือไป ครั้นตอนเช้า เกาณฑิณยะ
ได้พบศรวางอยู่ที่โคนต้นไม้ในเทวาลัย จึงได้ลงเรือมาจนถึงอาณาจักรฟูนัน
นางกษัตริย์แห่งอาณาจักรนั้นทรงนามว่า ลิวเย (Liu - ye) หรือWillo – leaf ต้องการที่จะปล้นสะดมและยึดเรือลำนั้น เกาณฑิณยะจึงแผลงศรไปทะลุเรือนางลิวเย
นางก็ตกใจกลัว จึงยอมอ่อนน้อมเป็นภรรยาของเกาณฑิณยะ ขณะนั้นนางไม่ได้สวมเสื้อผ้าเกาณฑิณยะจึงจับผ้าเข้าและสวมลงไปบนศีรษะของนาง
ต่อจากนั้น เขาก็ขึ้นปกครองประเทศและสืบราชวงศ์ต่อมา
เรื่องที่ คัง ไถ เล่านี้
ได้เค้าโครงมาจากเรื่องราวอินเดีย
ซึ่งมีปรากฏอยู่ในศิลาจารึกภาษาสันสกฤตของอาณาจักรจัมปา (Champa) ซึ่งกล่าวว่า พราหมณ์เกาณฑิณยะได้รับหอก (Javelin)จากพราหมณ์อัศวัตถามัน
(As’ vatthaman) ซึ่งเป็นบุตรแห่งพราหมณ์โทรณะ (Drona) ได้พุ่งหอกนั้นเพื่อไปสร้างราชธานีในแหล่งใหม่ ต่อมาได้แต่งงานกับธิดาพระยานาค
(Nagas) ซึ่งมีนามว่าโสมา (Soma) และสืบเชื้อสายต่อมา อาจสันนิษฐานได้ว่า
อาณาจักรนี้จะอยู่ในระยะประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 1
เพราะปรากฏเรื่องราวของฟูนันอยู่ในหลักฐานของจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 2
ตามประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหลียง
(The Liang History)
กล่าวว่าลูกหรือหลานของพระเจ้าฮวนเตียน คือ พระเจ้าฮัน พัน ฮวง (Hun – p’
an - huang) ได้ครองราชย์ต่อมา ต่อจากนั้นก็ถึงสมัยโอรสของพระองค์
คือ พัน พัน (P’an-p’an) ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์
แต่ได้มอบอำนาจสิทธิขาดให้แก่ขุนพลนามว่า ฟันมัน (Fan Man)
หรือ ฟันชิมัน (Fan-shi-man) เมื่อ P’an-P’an ครองราชย์ได้ 3 ปีก็สิ้นพระชนม์ประชาชนจึงได้เลือกฟันมัน
หรือ ฟันชิมันนี้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ฟันมันทรงดำรงตำแหน่งมหาราชาแห่งอาณาจักรฟูนัน (The
Great King og Fu-Nan) ทรงมีความกล้าหาญ และมีความสามารถมาก
ทรงขยายเขตจนได้เมืองขึ้นหลายเมือง สมัยนี้อาณาจักรฟูนันมีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง
มีการต่อสู้เรือขนาดใหญ่ โจมตีอาณาจักรใกล้เคียงได้มากกว่า 10 อาณาจักร
ปรากฏชื่อว่า ซูตูกัน (Ch’u-tu-k’un) เชาชี (Chiu-chih) และเถียนซัน (Tien - sun) เป็นต้น อาณาจักรเขตของฟันมันได้ขยายกว้างขวางออกไปมาก
(ปรากฏในพงศาวดารราชวงศ์เหลียงว่ากว้างขวางประมาณ 5,000 -6,000 ลี้ 1 ลี้ = 576 เมตร )
การขยายอาณาเขตของฟันมัน
ทางทิศตะวันออก
ขยายอาณาเขตไปถึงเมืองญาตรัง (Nha - trang) ซึ่งปรากฏเรื่องนี้ใน ศิลาจารึกสันสกฤตเก่าแก่ คือ
ศิลาจารึกสันสกฤตที่ค้นพบที่โวดาญ (Vo - canh)
บริเวณเมืองญาตรัง ประเทศเวียดนามใต้ ฟันมัน อาจจะทรงพระนามในภาษาสันสกฤตว่า
ศรีมาระ (Shri Mara) ศิลาจารึกนี้เป็นของผู้ครองราชย์ต่อจากพระองค์
ตัวอักษรที่ใช้มีอายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3
ทางใต้
ขยายไปสู่ทางตอนเหนือของคาบสมุทรมาเลย์
ซึ่งอาจจะมีจุดประสงค์เพื่อหาเส้นทางการค้าทะเลและเพื่อการขนส่งทางบก
ทางตะวันตกขยายไปถึงพม่าตอนใต้
ซึ่งฟันมันได้สิ้นพระชนม์ลงในขณะยกกองทัพไปรุกรานอาณาจักรชินลิน (Chin - lin) หรือเรียกว่า (Golden Frontier) ซึ่งอาจจะหมายถึงสุวรรณภูมิ หรือดินแดนทอง (Goldland) ในตำราภาษาบาลี หรือ สุวรรณกุฑยะ (Suvarnakudya)
หรือกำแพงทอง (Gold
wall) ในตำราภาษาสันสกฤต อันได้แก่ประเทศพม่าภาคใต้ หรือแหลมมลายู
ผู้สืบต่อจากฟันมัน คือ ฟันจัน (Fan Chan) ซึ่งในสมัยนี้มีความสำคัญมากเพราะได้เริ่ม ทำไมตรีกับอินเดียและจีน
หลักฐานกล่าวว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 เชีย-เซียง-ลี (Chia – hsiang - li) แห่งเมืองตันยัง (Tan - yang)
ซึงอยู่ทางทิศตะวันตกของอินเดียได้เดินทางข้ามประเทศอินเดียมายังอาณาจักรฟูนัน
และได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับอินเดีย ถวายพระเจ้าฟันจัน
พระองค์จึงส่งพระญาติองค์หนึ่งนามว่า ซูวู (Su-wu)
ไปยังประเทศอินเดีย ท่านผู้นี้ได้ลงเรือที่ โห ชิว ลี (T’ou – chu - li)
ซึ่งอาจจะเป็นเมืองตักโกละซึ่งแสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของอาณาจักรฟูนันนั้น ได้แผ่ขยายลงมาถึงมหาสมุทรอินเดีย
คณะทูตฟูนันได้แล่นเรือขึ้นไปตามแม่น้ำคงคาจนถึงเมืองหลวงของราชวงศ์มุรุณฑะ (Muruda) กษัตริย์อินเดียได้รับรองคณะฑูตฟูนันเป็นอย่างดี
และตอนกลับได้ฝากม้าพันธุ์อินเดียชิเทียน (Indo - scythian) จำนวน 4 ตัวมาถวายเป็นของขวัญแก่กษัตริย์ฟูนันด้วย
และส่งชาวอินเดียนามว่า เชน ซุง (Ch’en - sung)
ให้ร่วมเดินทางกลับมาด้วย
นอกจากนี้ประวัติศาสตร์จีนสมัยสามก๊ก
(Histroy of the three Kingdom)
ได้กล่าวว่าใน ค.ศ. 243
อาณาจักรฟูนันได้ส่งคณะฑูตมายังประเทศจีนพร้อมด้วยนักดนตรีและผลผลิตภายใน
ประเทศเป็นเครื่องราชบรรณาการ
ซึ่งระยะนี้ก็อยู่ในสมัยฟันจันเช่นกัน สันนิษฐานว่า
อาจเป็นพระเจ้าฟันจันที่โปรดให้จารึกข้อความภาษาสันสกฤตที่กล่าวมาข้างต้น
พระองค์กล่าวว่า
พระองค์อยู่ในราชสกุลของพระเจ้าศรีมาระ ซึ่งที่นี้อาจจะเป็นไปได้
เพราะฟันจันทรงเป็นโอรสของพระเชษฐภคนีหรือพระขนิษฐาของพระเจ้าศรีมาระ
หรือ ฟันมัน
กษัตริย์องค์ต่อมาก็คือ ฟัน ซุน (Fan - Hsun) ครองราชย์อยู่ในระยะ ค.ศ. 245 – 250
ซึ่งในสมัยนี้ คณะทูตของราชวงศ์มุรุณฑะ และคณะทูตชุด คัง ไถ และ ซู ยิง
ของจีนได้พบกัน ณ อาณาจักรฟูนันนี้ และพระเจ้าฟัน
ซุน ก็ได้ส่งคณะฑูตไปยังจีน ใน ค.ศ. 268 – 287
ซึ่งประวัติศาสตร์ราชวงศ์จิ๋นได้กล่าวไว้ คณะทูตฟูนัน 3 ครั้งหลัง ระหว่าง ค.ศ.
285 – 287 อาจเข้ามาเพื่อผลประโยชน์การค้าทางทะเล
เพราะราชวงศ์จิ๋นได้รวบรวมประเทศจีนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไว้ใน ค.ศ.
280 จึงต้องการสินค้าจำนวนมากสำหรับราชสำนัก
ในปี ค.ศ. 357
อาณาจักรฟูนันได้มีกษัตริย์เป็นชาวต่างชาติปกครอง คือ เป็นชาวอินเดีย ชื่อ จัน ตัน (Chan T’an) ดูเหมือนว่าจะเป็นพวก ไอราเนียน (Itaian) หรืออาจจเป็นพวกกกุษาณะ (Kusana)
พงศาวดารราชวงศ์จิ๋นและราชวงศ์เหลียงได้บันทึกว่า
ได้รับช้างที่ฝึกแล้วจากอาณาจักรฟูนันเป็นเครื่องราชบรรณาการ
โดยจีนเรียกพระนามกษัตริย์ที่ส่งเครื่องราชบรรณาการมาครั้งนี้ว่า เถียนชู จันตัน (T’ien
chu chan t’an) ซึ่งคำว่า เถียนชู เป็นชื่อที่จีนใช้เรียกอินเดีย
หลังจากนี้ไม่มีการบันทึกกล่าวถึงฟูนันอีกจนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่
4 ต้นคริสต์ศตวรรษที่
5 ระยะนี้อาณาจักรฟูนันอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ นามว่า เกาณฑิณยะที่ 2 (Kaundinya II)
คงจะเป็นพราหมณ์มาจากอินเดียสมัยนี้มีการรับอารยธรรมอินเดียครั้งใหญ่มีการ
เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวพื้นเมืองสันนิษฐานว่า
อารยธรรมอินเดียมาจากแคว้นทางใต้ เช่น พวกปาลวะ
ซึ่งอยู่ในบริเวณแม่น้ำกริสนาและโคธาวารี พวกปาลวะเป็น ชาวอารยัน
ศิลปะแบบปาลวะเรียกว่า
ศิลปะแบบอมราวดี
อารยธรรมที่รับไว้ในรัชกาลเกาณฑิณยะที่
2 คือ
-
การรับอักษรแบบปาลวะ
-
การนับเดือน ปี
แบบศกะ (Saka) ของอินเดีย
-
ใช้คำว่า Varman ต่อท้ายพระนามของกษัตริย์
ดังนั้นกษัตริย์ฟูนันองค์หลังๆจึงมีคำว่า วรมัน ต่อท้ายพระนามเป็นส่วนใหญ่
มีการปรับปรุงการบูชาพระเจ้าให้ดีขึ้น หมายถึงพระเจ้าในศาสนาฮินดู
ให้มีพิธีเป็นระเบียบแบบอินเดีย นับถือศิวลึงค์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระเจ้า
มีการนับถือพระอิศวรปางเจ้าแห่งภูเขา เรียกว่า ศิริศศะ (Shiva Girissha)
ต่อมาก็เป็นสมัย “เกาณฑิยะชัยวรมัน” (Kaundinya
Jayavarman) เป็นสมัยรับอารยธรรมอินเดียมากขึ้น
กษัตริย์องค์นี้ได้รับเกียรติจากราชสำนักจีน ยกย่องให้เป็น “General of the
Pacified South, King of Funan ”
(นายพลแห่งดินแดนภาคใต้ที่มีความสงบ กษัตริย์แห่งฟูนัน) สมัยของ เกาณฑิณยะชัยวรมันนี้
ฟูนันเฟื่องฟูมีอาณาเขตกว้างใหญ่ และมีความเจริญด้านอารยธรรมสูง ได้เป็นศูนย์กลางความเจริญในบรรดาอาณาจักรใกล้เคียง
และดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ปรากฏชื่อเมืองหลวงของฟูนันว่า วยาธปุระ (Vyadhapura) หรือ City of the hunter สมัยนี้ได้มีประเพณีการบูชาพระศิวะ
หรือ มเหศวร (Maheshvara)
ซึ่งเชื่อว่าทรงเสด็จลงมาประทับอยู่ยอดเขาชื่อโมตาน (Motan)
ซึ่งเป็นชื่อของเทือกเขา เป็นที่สักการะทางศาสนา เพราะถือว่า
เป็นสถานที่ที่โลกสวรรค์และโลกมนุษย์จะติดต่อกันได้ ได้มีการบูชาพระเจ้าในรูปศิวลึงค์
และนับถือลัทธิไวษณพนิกายด้วย
หลังเกาณฑิณยะชัยวรมันสิ้นพระชมน์ลงใน
ค.ศ. 514 เราได้ทราบเรื่องราวของเกาณฑิณยะชัยวรมันจากจารึกของมเหสีของพระองค์คือ
พระนางกุลประภาวดี (Kulaprathavati) และพระโอรส คือ
เจ้าชายคุณวรมัน (Gunavarman)
ซึ่งระยะที่จารึกอยู่ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 5 เมื่อเกาณฑิณยะชัยวรมันสิ้นพระชนม์
เกิดมีการแย่งชิงราชสมบัติในอาณาจักรฟูนันโอรสองค์หนึ่งมีชัยชนะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่ารุทรวรมัน (Rudravarman) หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว
ได้ส่งทูตไปจีนหลายครั้ง ระหว่าง ค.ศ. 517 – 539 เพื่อให้จักรพรรดิจีนยอมรับฐานะของพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรฟูนัน
หลักฐานจากจีนกล่าวว่า ในระยะรัชกาลนี้
พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองมากในอาณาจักรฟูนัน
มีทูตจากจีนเดินทางเข้ามาในอาณาจักรฟูนัน ระหว่าง ค.ศ. 535 และค.ศ.
545 เพื่อขอให้กษัตริย์แห่งฟูนันรวบรวมคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและส่งพระภิกษุที่เป็นครูของพุทธศาสนาเดินทางไปยังจีน
กษัตริย์ฟูนันจึงได้ส่งพระภิกษุชาวอินเดียที่พำนักอยู่ในอาณาจักร คือ พระปรมารถ (Paramartha) หรือ คุณรัตน (Gunaratna) ไปยังประเทศจีน
พระปรมารถได้เดินทางไปใน ค.ศ. 546 และนำคัมภีร์ศาสนาจำนวน
240 ผูกไปด้วย เพื่อนำไปเผยแพร่ใน ประเทศจีน
ตอนปลายรัชกาลเกิดเหตุการณ์ยุ่งยาก
เจ้าชายจิตรเสนแห่งอาณาจักรเจนละ (กัมพูชา) ได้ยกทัพมาตีอาณาจักรฟูนันได้
ฟูนันจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรเจนละ และในที่สุดก็เริ่มสลายตัวลง
ระหว่าง ค.ศ. 557-607 และปรากฏว่าใน
ค.ศ. 627 กษัตริย์เจนละ
คืออิศานวรมันให้ยกกองทัพมาตีฟูนันอีกครั้งหนึ่ง และฟูนันได้ถูกรวมกับอาณาจักรเจนละในที่สุดก็ถูกกลืนไป ทีละน้อยๆ
อาณาจักรฟูนันได้เจริญรุ่งเรืองเป็นใหญ่อยู่ในอินโดจีนประมาณ
5 ศตวรรษแม้จะ สลายตัวลง ก็ยังมีชื่อเสียงต่อมาอีกนาน กษัตริย์ยุคก่อนเมืองพระนคร
(Pre-Angkor) ของเขมรได้ยอมรับประเพณีการตั้งราชวงศ์ของกษัตริย์ฟูนัน
และในสมัยเมืองพระนคร (Angkor) กษัตริย์เขมรก็พยายามจะเกี่ยวข้องกับกษัตริย์แห่งเมืองวยาธปุระ
โดยกล่าวว่าสืบเชื้อสายอันเดียวกัน และกษัตริย์ชวาในระยะคริสต์ศตวรรษที่
8 ก็ใช้คำนำหน้าพระนามว่า Silendra ซึ่งมีความหมายว่า King of Mountain เช่นเดียวกับกษัตริย์ฟูนัน
ลำดับกษัตริย์ฟูนัน
1.
โกญฑัญญะ หรือ ฮั่นเถียน (Kaundinya
or Hunt’ien)ครองราชย์ราวตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่1
2.
ฮันฟังหาง (Hun
P’an-h’ uang) ครองราชย์ราว ค.ศ. 250
3.
ฟันฟัน (P’an-P’an) เป็นราชย์โอรสของกษัตริย์ที่2 ครองราชย์อยู่ได้3ปี เสด็จขึ้นครองราชย์บัลลังก์ราว
ต้นคริสศตวรรษที่ 3
4.
ฟันชิมัน (Fan
Shih-man) นายพล
5.
ฟันชิงเช็ง(Fan
Chin-sheng) โอรสของกษัตริย์องค์ที่ 4
6.
ฟันจัน (Fan
Chan) เป็นผู้ชิงราชบัลลังก์
7.
ฟันจาง (Fan
Ch’ang)
โอรสของกษัตริย์องค์ที่ 4
8.
ฟันซุน (Fan
Hsun) ผู้แย่งชิงราชสมบัติ
9.
ชูจันตัน (Chu
Chan-t’an) ครองราชย์ปี ค.ศ.357 (พ.ศ.900)
10.
โกญฑัญญะที่ 2 สิ้นพระชนม์ก่อนปี 434
11.
เจ ลิปาโม (Che-li-pa-mo) ส่งทูตไปเมืองจีน ค.ศ.434-435
12.
(โกญฑัญญะ) ชัยวรมัน
ครองราชย์ปี ค.ศ.484 สิ้นพระชนม์ปี ค.ศ.539
13. รุทธวรมัน
(Rudravarman) ครองราชย์ในปี ค.ศ.539
ความเจริญทั่วๆไปของอาณาจักรฟูนัน
ส่วนใหญ่ได้หลักฐานเกี่ยวกับความเจริญของอาณาจักรฟูนันจากหลักฐานจีนและโบราณวัตถุที่ค้นพบสำหรับหลักฐานจากจีน ก็คือ บันทึกเรื่องราวของอาณาจักรฟูนันโดยทูต ชาวจีนที่เข้ามายังอาณาจักรนี้
ดังนั้น ความเจริญทั่วๆ ไปของอาณาจักรฟูนันที่ปรากฏอยู่ในบันทึกของทูตจีน จึงเป็นเรื่องราวในสมัยที่ทูตจีนเข้ามาพบเห็น
แต่เนื่องจากไม่มีหลักฐานอื่น ที่ชัดเจนกว่านี้
หลักฐานจากจีนจึงมีความสำคัญและให้เรื่องราวเกี่ยวกับฟูนันไว้มากที่สุด
การปกครองของอาณาจักรฟูนัน
จะเห็นได้ว่าในระยะที่อาณาจักรฟูนันมีความเข้มแข็ง กษัตริย์ฟูนันจะขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวางมาก
โดยอาศัยแสนยานุภาพที่เหนือกว่า จึงมีชัยชนะเหนืออาณาจักรใกล้เคียง เช่น ในสมัยพระเจ้าฟัน มัน (Fan
Man) เป็นต้น เหตุการณ์ในหลายๆ รัชกาลแสดงให้เห็นว่า กษัตริย์อาณาจักรฟูนันมักจะส่งบรรณาการไปทำไมตรีกับจีน
ให้จีนยอมรับฐานะกษัตริย์ของตน
ดูเหมือนจะเป็นการยอมรับความยิ่งใหญ่ของจีนโดยปริยาย ซึ่งความจริงข้อนี้
จีนจึงมีความสำคัญในตัวเองว่า ตนอยู่ในฐานะเหนือกว่าอาณาจักรใหญ่น้อยในบริเวณเอเชียอาคเนย์นี้
และการส่งบรรณาการไปยังราชสำนักจีนก็เปรียบเสมือนการขอความคุ้มครองจากราชสำนักจีน
ดังนั้นในบางครั้ง จีนจึงมองตำแหน่งทางการเมืองของจีนให้แก่กษัตริย์ฟูนัน เช่น ในสมัยพระเจ้าเกาณทินยะชัยวรมัน
เป็นต้น ฐานะของสถาบันกษัตริย์ของอาณาจักรฟูนันเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจเด็ดขาด
เป็นผู้ปกครองและเป็นจอมทัพด้วย
การปกครองประชาชน เราทราบจากบันทึกของทูตจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 3 (คัง ไถ และ ชู ยิง)
ซึ่งปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการตัดสินความในกรณีมีผู้กระทำความผิดขึ้น กล่าวคือ ฟูนันใช้วิธีการพิสูจน์ว่าผู้ใดบริสุทธิ์
ด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้
-
โดยการโยนแหวนทอง
หรือไข่ลงไปในน้ำที่กำลังเดือด แล้วให้คู่ความใช้มือหยิบขึ้นมา
ผู้บริสุทธิมือจะไม่พอง ตรงกันข้ามกับผู้ผิดจะเป็นอันตราย
-
ใช้วิธีเผาโซ่ให้ร้อนจนแดง
แล้วให้คู่ความเดินถือโซ่ร้อนจนแดงนั้นไปเป็น ระยะ 7 ก้าว ผู้ผิดมือจะไหม้เกรียม
ส่วนผู้บริสุทธิ์จะไม่เป็นอันตราย
-
ใช้วิธีดำน้ำพิสูจน์
ผู้บริสุทธิ์จะไม่จมน้ำ สำหรับวิธีพิสูจน์ความผิดดังกล่าวนี้ ชาวฟูนันมีความเชื่อที่ว่า ผู้บริสุทธิ์พระเจ้าจะช่วยให้ปลอดภัย
ลักษณะการเมือง
จาก
การสันนิษฐาน อาณาจักรฟูนันคงจะแบ่งออกเป็นเมือง และมีกำแพงเมืองแต่ขุด
ไม่พบซากกำแพงเมือง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสร้างด้วยวัสดุที่ไม่คงทน
จึงพังทลาย ไปหมด เช่น อาจจะทำด้วยไม้
หรือเพิงดิน เหตุที่กล่าวว่า เมืองมีกำแพงล้อมรอบ เพราะปรากฏอยู่ในบันทึกของทูตจีน คือ คังไถ และ ชู ยิง ซึ่งเข้ามายังอาณาจักรฟูนันนี้ในคริสต์ศตวรรษ ที่ 3 ดังกล่าวมาแล้ว
จากลักษณะเมืองใช้การคมนาคมทางน้ำสะดวกที่สุด
เมืองท่าที่สำคัญของอาณาจักรฟูนัน อยู่ในตำบลหนึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า Oc Eo อยู่ในประเทศเวียดนามใต้ และปรากฏชื่อเมือง กัตติการะ (Kattigara)
ซึ่งปโตเลมีก็ได้เอ่ยถึงชื่อเมืองนี้ในหนังสือที่เขาเขียนขึ้น มีคลองเชื่อมจากเมืองท่านี้ไปยังเมือง
Angkor Borei ของเขมรในปัจจุบัน
ลักษณะชาวเมืองและความเป็นอยู่
หลักฐานจากจีนอีกเช่นกันที่กล่าวว่า ชาวเมืองของอาณาจักรฟูนัน มีหน้าตาน่าเกลียด
(ugly) ผิวดำ ผมหยิก ไม่สวมเสื้อผ้า
และเดินเท้าเปล่า บุตรชายของตระกูลใหญ่ๆ จะสวมโสร่ง ผู้หญิงจะใช้ผ้าคลุมศีรษะ ส่วนคนจนจะใช้ผ้าผืนเดียวพันกาย
มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่ชอบลักขโมย เมื่อมีความเข้มแข็งจะโจมตีอาณาจักรใกล้เคียงที่ไม่ยอมอ่อนน้อม
เอาชาวเมืองในดินแดนที่ตีได้มาเป็นทาส ประชาชนรู้จักการกสิกรรม ชอบทำการเพาะปลูกโดยหว่านพืช
1 ปี และเก็บเกี่ยวผลไป 3 ปี
รู้จักทดน้ำ ขุดคลอง เพาะปลูกข้าวจ้าว อ้อย ไม้หอม สำหรับการค้า
สินค้าที่สำคัญได้แก่ ไข่มุกและไม้หอม นอกจากนี้ยังค้าเงิน
ไหม แหวนทอง กำไล ชอบแกะสลัก เครื่องประดับ และ ประดิษฐ์ภาชนะที่ใช้ในการรับประทานอาหารด้วยเงิน
ชาวเมืองจะเสียภาษีด้วยเงิน ทอง ไข่มุก และเครื่องหอม นอกจากนี้ยังรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผาด้วย
พระราชาจะประทับอยู่ในตำหนักที่มีหลายชั้น
(Multi-storeyed palace) ส่วน บ้านคนธรรมดา
ทำด้วยฟางและมุงหลังคาด้วยใบไม้ไผ่ใบใหญ่ๆ ซึ่งขึ้นริมทะเลประชาชนจะไม่ขุดบ่อน้ำใกล้ๆ
บ้านของตน แต่จะใช้บ่อน้ำรวมกันประมาณ 10 ครอบครัวต่อหนึ่งบ่อ
ชาวฟูนันรู้จักต่อเรือใช้ มีความยาวประมาณ 80-90 ฟุต และความกว้างประมาณ
6-7 ฟุต ลักษณะเรือเหมือนกับ หัวและหางของปลา
สภาพความเป็นอยู่ของชาวฟูนัน
บรรดาผู้ครองอาณาจักรฟูนันมักจะส่งทูตไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับจีน
ส่วนใหญ่ติดต่อเกี่ยวกับการค้าขาย ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์จีน เล่าถึงความเป็นอยู่ของชาวฟูนันในสมัยของพระเจ้าฟันซุน
ผู้ครองอาณาจักรสือต่อจากพระเจ้าชิมัน ขณะนั้น คังไถ หรือ กังไท
นักเดินทางจีนคนหนึ่งได้เดินทางไปเยือนอาณาจักรฟูนันอย่างเป็นทางการ กล่าวว่า
“ชาวฟูนันอยู่กันตามนครต่างๆ
ซึ่งมีกำแพงล้อมรอบ (แสดงว่า มีสภาพเป็น “คนเมือง”)มีหนังสือและตัวอักษรใช้ (คงจะนำตัวอักษรจากอินเดียตอนใต้มาใช้)
โดยใช้ภาษาอินเดีย ชาวฟูนันมีทองคำแท่ง เงินแท่งใช้”
อย่างไรก็ตาม ตามทัศนะของคังไถแล้ว ถือว่าชาวฟูนันยังเป็นอนารยชน (คือ
คนป่า) อย่างมาก มีคนจีนเท่านั้นที่ดูถูกชาติที่เจริญน้อยกว่าตนว่าเป็น “คนป่า” ดังที่จีนเรียกว่า “ฮวน”
ชาวตะวันตกที่เคยเจริญรุ่งโรจน์มาก่อน เช่นชาวโรมัน
ก็ถือว่าชาติที่ยังไม่เจริญทัดเทียมกับตนเป็น “คนป่า”
คังไถกล่าวต่อไปว่า “ชาวฟูนันมีรูปร่างน่าเกลียด
ผิวดำ ผมหยิกหยอง และไม่สวมเสื้อผ้า”
เรื่องเปลือยกาย หรือไม่สวมเสื้อผ้า นักประวัติศาสตร์บางท่านก็บอกว่า
เป็นดังว่าไม่นุ่งเฉพาะท่อนบน ส่วนท่อนล่างลงมาคงมีวัตถุบางอย่างปกปิดร่างกาย
เรื่องไม่สวมเสื้อนี้ นักบันทึกรุ่นก่อนๆ ทั้งชาวตะวันออกเช่น
จีน และชาวตะวันตก คือฝรั่งทั้งปวง มีความคิดเห็นติเตียนอย่างรุนแรง
อาจจะเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศไม่เหมือนกัน เช่น จีนเป็นคนเอเชียเหมือนกัน
แต่เมืองจีนฤดูหนาวกว่าเมืองเขมร เมืองไทย และเมืองอื่นๆ
ในเอเชียอีกหลายเมืองหลายประเทศ
ความนิยมในการนุ่งห่มของคนในเมืองหนาวกับคนในเมืองร้อนย่อมไม่เหมือนกัน
คนในเมืองร้อนอาจจะเห็นว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องดูอื่นไกลขนาดประเทศไทย
สมัยรัชกาล ที่ 4
ยังต้องมีประกาศสั่งให้ข้าราชการทั่งปวงสวมเสื้อเข้าเฝ้า
ทั้งนี้ก็คงจะกระทำเพื่อ “รักษาหน้า” มากกว่าอย่างอื่นๆ
เพราะตอนนั้นฝรั่งเริ่มมาติดต่อกับประเทศสยามมากกว่ารัชการใดๆ
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเป็นการปรับตัวให้เข้ากับชาวตะวันตก
การแต่งกายของชาวฟูนัน ตามบันทึกของชาวฟูนัน กล่าวว่า “ลูกผู้ดีมีตระกูลจะส่วมโสร่ง ชาวฟูนันนิยมเครื่องประดับที่เป็นแหวน
หรือสร้อยคอทองคำ หรือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเงิน”
บันทึกตอนนี้แสดงว่าชาวฟูนันเริ่มมีอารยธรรมสูง รู้จักรักสวยรักงาม
แม้ผ้านุ่งก็ยังใช้โสร่ง ซึ่งมีลวดลายเป็นดอกเป็นดวง ไม่ใช้เป็นสีพื้นๆ แบบผ้านุ่งธรรมดาๆ
จริงอยู่ชาวฟูนันอาจจะ “ต่ำต้อย” ในสายตาของชาวจีนในสมัยนั้น
แต่ชาวฝรั่งตะวันตกอีกมากมายในยุคเดียวกันนั้นยังคงป่าเถื่อน
หลายชาติคงยังไม่มีผ้านุ่ง และหลายสิบหลายร้อยชาติยังเป็น “คนป่า”
ยังไม่มีบ้านเมืองเป็นหลักแหล่ง
แม้แต่ชาติที่เป็นมหาอำนาจในปัจจุบันบางชาติ ก็เพิ่งเกิดเมื่อประมาณร้อยกว่าปีถึงสองร้อยปีที่แล้วมา
ศาสนาและประเพณี
ฟูนันได้รับอารยธรรมอินเดียในด้านศาสนา มีการนับถือพุทธศาสนา
ศาสนาฮินดู สำหรับพุทธศาสนานั้นนับถือทั้งพุทธศาสนามหายานและหินยาน แต่มหายานเป็นที่แพร่หลายมากกว่า
ชาวฟูนันมีประเพณีบูชาพระเจ้าแห่งท้องฟ้า และหล่อรูปพระเจ้าด้วยสัมฤทธิ์
พระเจ้าที่มี 2 พักตร์ จะมี 4
กร พระเจ้าที่มี 4 พักตร์ จะมี 8 กร ซึ่งถือของ เช่น เด็ก นก สัตว์สี่เท้า ดวงอาทิตย์ หรือไม่ก็ดวงจันทร์
นอกจากนี้ยังมีการนับถือพระหริหระ (Harihara) ซึ่งพระวิษณุและศิวะซึ่งอยู่ในร่างเดียวกัน สำหรับการนับถือนิกายไวษณพนั้น
ได้หลักฐานที่ชัดเจนจากจารึกของเจ้าชายคุณวรมัน และพระนางกุลประภาวดีพุทธศาสนานิกายเถรวาท
ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตเป็นทีแพร่หลายในระยะศตวรรษที่ 3 แต่เฟื่องฟูมากในระยะคริสต์ศตวรรษที่
5-6 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมัน และรุทรวรมัน
ประเพณีเกี่ยวกับกษัตริย์ เมื่อพระราชาประทับทรงตะแคงพระองค์ลงบนพระที่ยกพระชงฆ์ขวาขึ้น
ปล่อยพระชงฆ์ซ้ายทอดลงกับพื้น หน้าที่ประทับจะมีผ้าลาดก่อนเสร็จมีแจกันทอง และมีเจ้าพนักงานเผากำยาน
(เครื่องหอม) เวลาเสด็จ พระราชาทรงใช้ช้างเป็นพาหนะ และผู้หญิงก็สามารถใช้ช้างเป็นพาหนะ
ประเพณีปลงศพและไว้ทุกข์ของชาวเมือง ญาติของผู้ตายจะโกนผมและเคราเป็นการไว้ทุกข์
สำหรับการปลงศพ มี 4 วิธี
-
โยนศพลงในแม่น้ำ
-
เผาให้เป็นเถ้าถ่าน
-
ฝังดินให้เป็นที่เป็นทาง
-
โยนให้เป็นเหยี่อนกกา
การละเล่นของประชาชนซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก คือ การชนไก่ และชนหมู
ภาษาและศาสนา
ภาษาเป็นเรื่องที่แสดงถึงอารยธรรมหรือความเจริญของแต่ละชาติ
ชาติใดไม่มีภาษาซึ่งเป็นสื่อกลางของความหมายชาตินั้นจะต้องหายสาบสูญไป
หรือชาติใดไม่มีภาษาใช้ของตนเอง หรือมีภาษาใช้มากเกินไป ก็จะตั้งอยู่บนความแตกแยก
กล่าวว่า
ชาวฟูนันใช้ภาษาสันสกฤตซึ่งถือว่าเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ใช้จารึกเรื่องราวทางศาสนาพุทธ
และคงจะรับวัฒนธรรมภาษามาจากอินเดียด้วย ภาษาที่ชาวฟูนันใช้จัดอยู่ในกลุ่ม
ภาษาก่อน-เขมร ผสมออสโตร-เอเชียติค (pre-Khmer Austro-Asiatic ) ซึ่งบัดนี้คงหายสาบสูญไปแล้ว
ศาสนาที่สำคัญคือศาสนาพุทธ
และ ศาสนาพราหมณ์
การนับถือ
ชาวฟูนันนับถือเทพเจ้า
และวิญญาณในท้องฟ้า มีรูปปั้นทำด้วยสัมฤทธิ์ บางทีมี 2หน้า 4กร (คงจะเป็นเทวรูปของ
พระวิษณุ พระนารายณ์หรือพระศิวะ)
ลักษณะตัวอักษรที่ใช้ในอาณาจักรฟูนัน
การเขียนด้วยอักษรแบบพวกฮู (Hou) ซึ่งเป็นพวกที่อาศัยอยู่แถบตอนกลางของทวีปเอเชีย
ซึ่งใช้ภาษาเขียนแบบอินเดีย นอกจากนี้ชาวฟูนันใช้อักษรสันสฤต
ทั้งนี้จากการค้นพบจารึกสันสฤตที่สำคัญมากและเก่าที่สุด ณ บริเวณโวคาญ (Vocanh) เมืองญาตรัง ประเทศเวียตนามใต้ สันนิษฐานอยู่
ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 3 จารึกสันกฤษนี้ เขียนด้วยภาษาสันสกฤตที่ไพเราะและถูกหลักแสดงว่า
ผู้จารึกจะต้องมีความรู้ในภาษาสันสกฤตและใช้เป็นภาษาราชการ นอกจากนี้ อาณาจักรฟูนันมีการสร้างสถานที่เก็บเอกสารและหนังสือสำคัญๆด้วย
ส่วนสถาปัตยกรรมของอาณาจักรฟูนัน ส่วนใหญ่สูญสิ้นไปหมด แต่พอหลงเหลืออยู่ในบริเวณเมือง Oc Eo ในกัมพูชา 2-3 อย่าง และมีสิ่งก่อสร้างประมาณศริสต์ศตวรรษที่
7 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบเขมรในยุคก่อนเมืองพระนคร
(Pre-Angkor period) คือ มีหลังคาซ้อนกันเป็นชั้นเล็กๆ ประดับด้วยลายหน้าต่างวงโค้งขนาดย่อมซึ่งมีลักษณะจำลองมาจากสถาปัตยกรรมสมัยอาณาจักรฟูนัน
ประติมากรรม พบที่เมือง อัตกอร์ โบโร (Angkor
Borei) เป็นรูปปั้นซึ่งคงเป็นพระวิษณุกฤษณะ (Visnu-Krisna)
และได้พบศิลปกรรมแบบคุปตะอยู่บ้าง
นอกจากนี้มีสิ่งแสดงให้เห็นการติดต่อกับตะวันตก
คือ การพบเหรียญโรมัน (Roman medals) ซึ่งมีรูปของจักรพรรดิ
Antoninus Pius และ Marcus Aurelius และมีร่องรอยที่แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะเฮเลนิสติค (Hellenistic
Art) อยู่ในการแกะสลักสิ่งของบ้าง
ลักษณะการทำมาหากิน
จากเอกสารจีนทำให้เราทราบว่า
“ชาวฟูนันดำรงชีวิตอยู่อย่างโจรสลัด (คือเที่ยวปล้นสะดม) และทำการค้า”
ชาติใดที่จะทำมาหากินทางการค้าและเป็นโจรสลัดได้สภาพภูมิประเทศของบ้านเมืองต้องอำนวย
เช่นเป็นเมืองท่าเป็นเกาะ หรืออยู่บริเวณช่องแคบที่เป็นทางผ่านไปมาของเรือสินค้า
หรือชาวเรือทั้งปวง
ทั้งอาจจะมีความจำเป็นบางประการที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับอาณาจักรของตน คือ
บังคับให้ชาวเรือทั้งหลายที่ผ่านไปมาต้องแวะเมืองท่าของตนเพื่อมาค้าขาย
ถ้าไม่มาอาจถูกปล้นสะดม พวกพ่อค้าจึงจำเป็นต้องมาติดติอค้าขายด้วย
ซึ่งลักษณะเช่นว่านี้อาณาจักรบางแห่งในเอเชียอาคเนย์ ก็จะปฏิบัติเช่นนี้เหมือนกัน
จะกล่าวรายละเอียดในตอนหลัง
อนึ่ง
การที่ราษฎรของอาณาจักรใดประเทศใดจะประกอบอาชีพเป็นโจรสลัดนั้น
ถ้าหากทางบ้านเมืองไม่มีส่วนสนับสนุนทั้งทางตรงหรือทางอ้อม
ก็จะไม่มีโอกาสกระทำการดังกล่าวได้
ถ้าจะกล่าวว่าการเป็นโจรสลัดของอาณาจักรฟูนัน
เป็นรัฐวิสาหกิจอย่างหนึ่งก็คงจะไม่ผิดความเป็นจริงไปเท่าไรนักเพราะประเทศที่เจริญๆ
มีเมืองขึ้นมากมายไปทั่วโลกก็ดูเหมือนว่าเคยมีพฤติการณ์เช่นว่านี้มาก่อนเหมือนกัน
เพิ่งจะเลิก ลาไปไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง
แต่อย่างไรก็ดี
ตามลักษณะภูมิประเทศแล้ว พลเมืองในอาณาจักรฟูนันคงต้องประกอบอาชีพกสิกรรมเป็นหลัก
ซึ่งเป็นลักษณะโดยทั่วๆของประเทศต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
พืชผลบางอย่างที่ชาวฟูนันนิยมปลูก
คือ ข้าว ฝ้าย อ้อย นอกจากนี้ที่บางเมืองอยู่ริมฝั่งทะเล จึงมีสภาพเป็นเมืองท่า
ชาวเมืองจึงมีอาชีพค้าขาย และการประมง
ซึ่งเป็นลักษณะส่วนใหญ่ของมนุษย์ที่อยู่ริมน้ำ
เป็นหลักธรรมดาของผู้ที่อยู่ริมน้ำมักมีความเจริญมากกว่าคนที่อยู่ที่ดอน
ด้วยการที่ได้รู้จักไปมาค้าขาย
หรือติดต่อกับคนที่อยู่ต่างบ้านต่างเมืองที่เจริญกว่าตน เป็นช่องทางให้มีโอกาสได้เรียนรู้
อารยธรรมต่างๆ มากกว่าคนที่อยู่เมืองดอน ด้วยเหตุนี้เมืองหลวงส่วนใหญ่ของโลกจึง มักตั้งอยู่ริมแม่น้ำสำคัญๆ
ชาวฟูนันที่อยู่ริมน้ำ
ก็ต้องรู้จักกรรมวิธีในการต่อเรือเพื่อใช้เป็นพาหนะในการติดต่อ
หรือค้นย้ายสิ่งของต่างๆ เรือของชาฟูนันยาว 8-9 ฟุต กว้างราว 6-7 ฟุต
หางเสือทำเป็นรูปหัวหรือหางปลา
เรือที่กล่าวมานี้คงเป็นเรือที่ประชาชนใช้ธรรมดาๆ
บางหลักฐานว่าชาวฟูนันมีเรือใช้ใหญ่โตกว่านี้
คงจะเป็นเรือสินค้าหรือจะเป็นเรือหลวง ตามหลักฐานบรรยายไม่แจ้งชัด
เป็นแต่เพียงกล่าวว่า... “การคมนาคมใช้เรือเป็นพาหนะสำคัญ เรือมีขนาดยาว 80-90
ฟุต”
การค้าขายของขาวฟูนัน
คงเป็นไปในลักษณะ “แลกเปลี่ยน” ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น
ซึ่งชาวยุโรปอื่นๆในสมัยเดียวกันก็ใช้วิธีการที่ว่ามานี้
เมื่อมีการแลกเปลี่ยนสินค้ากันในทางการค้า บ้านเมืองก็จะต้องเก็บภาษีอากร สิ่งที่ชาวฟูนันจะเสียภาษีอากรให้กับรัฐก็มิใช่อื่นไกล
คือ ข้าวของหรือสินค้าหรือผลิตผลที่ตนทำได้หรือหามาได้ นั่นคือ ไข่มุก ของหอม
เงินแท่ง ทองคำแท่ง
สำหรับ “ของหอม” ซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยถือว่า
“สิ่งฟุ่มเฟือย” กันนั้น ในปัจจุบันหมายถึง “น้ำหอม” แต่ในอดีตอาจหมายถึงพวก มดยอบ
กำยาน หรือสิ่งอื่นๆที่มีกลิ่นหอม เพราะอียิปต์ชาติ ที่เจริญมาตั้งแต่โบราณตั้ง 4000-5000
ปีกว่าที่แล้วมาก็รู้จักทำของหอมใช้
สรุปได้ว่า
เรื่องราวของฟูนันได้ทราบจากบันทึกของชาวจีน ชื่อ คังไถ่
ซึ่งเดินทางมากับคณะทูตจีน ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3 นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกนำมากล่าวอ้างอิงกันมาก
แต่ปัจจุบันได้มีนักวิชาการนำบันทึกของคังไถ่มาวิเคราะห์กันใหม่
และได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านข้อมูลเกี่ยวกับฟูนัน
โดยยกเหตุผลมาสนับสนุนข้อคัดค้านของตน ดังได้กล่าวมาแล้ว
ในเรื่องพัฒนาการของสังคมเผ่ามาเป็นสังคมรัฐ และยังมีอีกหลายประเด็นที่ เคนเนธ
อาร์. ฮอลล์ กล่าวไว้ รวมทั้งตำนานเกี่ยวกับการเข้ามาตั้งฟูนัน
โดยพราหมณ์โกณธิญญะมาแต่งงานกับเจ้าหญิงนาคี ว่าเป็นเรื่องของการใช้ตำนานเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธ์น่ายินยมยินดี
และเพื่อสถานภาพของกษัตริย์ ความเห็นนี้ตรงกับ มิสตัน ออสบอร์น ที่กล่าวว่า “เรื่องดังกล่าวเป็นตำนานเล่ากันมา เป็นการบิดเบือน
เพื่อหวังผลทางปฏิบัติอย่างสูง สำหรับคนระดับที่เป็นผู้ปกครองของรัฐนี้”
ฟูนันรับวัฒนธรรมอินเดียทั้งรูปแบบการปกครอง สังคม วัฒนธรรม
อิทธิพลวัฒนธรรมอินเดีย มีอยู่มากในชนระดับสูง
ส่วนชาวบ้านทั่วไปยังยึดมั่นในขนบประเพณีสังคมดั้งเดิมของตนอยู่
ฟูนันมีลักษณะเป็นรัฐชลประทานเพื่อปลูกข้าว โดยการขุดคลองทำนบกักเก็บน้ำ
แล้วระบายไปยังไร่นาต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็มีเมืองท่าชื่อเมืองออกแก้ว
เป็นแหล่งนำรายได้ผลประโยชน์มาสู่รัฐอีกทางหนึ่ง นำความอุดมสมบูรณ์มาให้ด้วย
ฟูนันยั่งยืนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 จึงตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐเจนละ
สาเหตุแห่งความพ่ายแพ้ หรือความเสื่อมสลายนี้ มิได้มีหลักฐานแน่ชัด จากพงศาวดารราชวงศ์ถัง
ซึ่งคณะทูตชาวจีนที่เดินทางไปยังดินแดนแถบฟูนัน ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 กล่าวเพียงว่า ได้พ่ายแพ้แก่พวกเจนละ กษัตริย์ฟูนันต้องหนีไปทางใต้
ฟูนันเป็นรัฐที่เรืองอำนาจแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สามารถรักษาเกียรติภูมิอันยิ่งใหญ่ เป็นที่ระลึกแก่คนรุ่นหลัง
เห็นได้จากเหตุการณ์หลังจากที่รัฐเจนละเข้าครอบครองฟูนันแล้ว
กษัตริย์ของเจนละทุกพระองค์ได้รับเอาเรื่องราวของราชวงศ์ฟูนันเป็นของตนด้วย และสมัยต่อมา คือ สมัยนครวัด
กษัตริย์ทุกพระองค์ที่นครวัดจะถือว่าพระองค์สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์แห่งเมืองวยาธปุระทั้งสิ้นจึงกล่าวได้ว่า
รัฐฟูนันน่าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยแพร่ขยายอารยธรรมอินเดียในอินโดจีน
และเป็นรัฐที่เป็นรากฐานของประเทศกัมพูชา
ดี.จี.อี. ฮอลล์ ,ท่านผู้หญิงวรุณยุพา
สนิทวงศ์ ณ อยุธยา.(2549). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก
เฉียงใต้ :
สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร = A history of
south-east asia. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย.
เดวิด แชนด์เลอร์. (2546, หน้า 22 – 32). ประวัติศาสตร์กัมพูชา(พรรณงาม
เง่าธรรมสาร, สดใส
ขันติวรพงศ์ และวงเดือน นาราสัจจ์, แปล). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ไพโรจน์ โพธิ์ไทร.(2515). ภูมิหลังของเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ.
เฟื่องอักษร.
บังอร ปิยะพันธุ์.
(2537).
ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์.
มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (2553). ประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 1
(History of Southeast
Asia 1). วันที่ค้นข้อมูล
25 พฤษภาคม 2555, เข้าถึงได้จาก http://e-book.ram.edu/e-
book/inside/html/dlbook.asp?code=HI333
สุภัทรดิศ ดิศกุล.
(2549). ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง
พ.ศ. 2000. กรุงเทพฯ: สมาคม
ประวัติศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น