ระบบการเมืองและการปกครองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และแนวความคิดเกี่ยวกับระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ แบบเผด็จการ
ระบบการเมืองและการปกครองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
และแนวความคิดเกี่ยวกับระบบพ่อขุนอุปถัมภ์
แบบเผด็จการ
สภาพการณ์ทางการเมืองไทย
ก่อน พ.ศ. 2500
ภายหลังการเปลี่ยนแปลง
2475 อำนาจทางการเมืองได้เปลี่ยนจากฝ่ายเจ้าไปสู่คนกลุ่มใหม่
ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการทหารและพลเรือน ซึ่งเรียกตนเองว่า "คณะราษฎร์" เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบบประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองในระยะนั้นได้แก่
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งในระยะแรกได้มีความสัมพันธ์และความร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการโค่นล้ม
"ระบบเก่า" แต่ภายหลังได้เกิดความขัดแย้งในแนวความคิดในประเด็นสำคัญ
ฝ่าย หลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้นเชื่อมั่นอยู่ในแนวความคิดที่ว่า
การปกครองต้องตั้งอยู่บนรากฐานแห่งกฎหมาย ส่วนจอมพล ป. พิบูลสงครามมีความเลื่อมใสในขบวนการฟาสซิสต์แบบเยอรมัน
อิตาลี และญี่ปุ่น ความแตกแยกอันนี้เริ่มชัดเจนและรุนแรงขึ้น
ในตอนปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยอมให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในขณะที่หลวงประดิษฐ์ฯ
หันไปร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตร
อย่างไรก็ตาม
ภายหลังสงครามอำนาจของกลุ่มทหารบกถูกตัดลงจากข้อเรียกร้องของ
รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศส
และกลุ่มพลเรือนผู้มีหน้าที่ในการบริหารประเทศภายหลังสงคราม
ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้มีการปลดทหารออกเป็นจำนวนมาก
ปัญหาการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ได้เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหารโดยคณะทหารเมื่อปี
2490 และอีก 4 ปี หลังจากนั้น
กลุ่มรัฐประหาร 2490 ก็สามารถทำลายอิทธิพลของกลุ่มพลเรือน
ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกเสรีไทยและบรรดานายทหารในกองทัพเรือบางส่วนที่สนับสนุนหลวงประดิษฐ์ฯ
ในงานของทักษ์
เฉลิมเตียรณ ชี้ว่า ผู้นำในกลุ่มรัฐประหาร
2490 นี้แตกต่างไปจากผู้นำ 2475 ในแง่ที่ว่า
พวกเขาเหล่านั้นส่วนมากเป็นนายทหารบกและเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ
ดังนั้นความรู้ความเขัาใจต่อระบบการเมืองของผู้นำกลุ่มนี้
จึงเกิดขึ้นจากการสังเคราะห์ประสบการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความเชื่อมั่นหรือซึมซาบต่อระบอบประชาธิปไตยตามแบบตะวันตกเช่นเดียวกับผู้นำรุ่น
2475 เคยเป็น ทักษ์ได้ชี้ให้เห็นต่อไปอีกว่า
จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสังเคราะห์อุดมการณ์ทางการเมืองแบบ "พ่อขุน" ของจอมพลสฤษดิ์ในเวลาต่อมา
ดังนั้นเมื่อถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ ความหมายของประชาธิปไตยจึงถูกจำกัดลงเหลือเพียง "ประชาธิปไตยแบบไทย"
เท่านั้น
การรัฐประหารเมื่อวันที่
20 ตุลาคม 2501 ซึ่งเป็นการรัฐประหารครั้งที่
2 ของจอมพลสฤษดิ์
แต่นับเป็นการรัฐประหารครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เพราะการรัฐประหารครั้งนี้มีผลทำให้การเมืองการปกครองไทยต้องเข้าสู่รูปแบบของเผด็จการอำนาจนิยม
(authoritarianism) เป็นเวลานานถึง 15 ปี
และทำให้ทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารบก
มีบทบาทอย่างสูงต่อการเมืองการปกครองไทยในระยะเวลาต่อมา
สาเหตุของการรัฐประหาร
20 ตุลาคม 2501
สาเหตุสำคัญที่ทำให้จอมพลสฤษดิ์เข้าทำรัฐประหารในครั้งนี้
พอจะสรุปได้ 4 ประการ
หลัก ๆ ด้วยกันคือ
1.
ความไม่พอใจต่อระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยตะวันตก โดยอ้างว่าไม่
เหมาะสมกับประเทศไทย
ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า
"ในเวลาทำรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน 2500 นั้น มิได้มีการแก้ไขรูปแบบการปกครองบ้านเมืองใหม่
คงปล่อยให้ดำเนินการตามแบบเดิม กล่าวคือ ยังคงมีรัฐสภา มีพรรคการเมือง
ให้เสถียรภาพหนังสือพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเต็มที่และกว้างขวาง
มีสหพันธ์และสหบาลกรรมกรที่ชอบหยุดงานและสไตรค์เมื่อไม่พอใจนายจ้าง
เหล่านี้เป็นต้น… ที่ร้ายที่สุดก็คือ
ผู้แทนราษฎรทั้งหลายพยายามแก่งแย่งชิงกันเป็นรัฐมนตรีและข้าราชการการเมือง
โดยขู่รัฐบาลว่า ถ้าไม่แต่งตั้งแล้วก็จะถอนตัวออกจากการสนับสนุนรัฐบาล
พากันไปตั้งพรรคฝ่ายค้านขึ้นใหม่ ในที่สุดมีความเห็นพ้องกันว่า
จะต้องใช้วิธีปฏิวัติหรือผ่าตัดขนาดใหญ่ จึงจะสามารถแก้ปัญหาของประเทศชาติขณะนั้นได้.."
2.
ฐานะการคลังของรัฐบาล อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐบาลชุด
พล.ท.ถนอม กิตติ
ขจร
ต้องเผเชิญกับวิกฤตการณ์ทางด้านการคลัง กล่าวคือ งบประมาณประจำปี 2500 ขาดดุลอยู่ถึงกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า
"…สมัยก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติ
ชาติที่รักของเราต้องตกอยู่ในสภาวะที่คับขันเพียงใด
ฐานะทางการเงินการคลังของประเทศต้องทรุดลงไปอย่างหนักยิ่ง
รัฐบาลต้องตกเป็นลูกหนี้ธนาคารแห่งชาติ ถึง 1,507 ล้านบาทเศษ"
ทางออกของรัฐบาลก็คือ
การขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาเพื่อสนับสนุนโครงการด้านเศรษฐกิจทั้งหมดใน พ.ศ. 2501 - 2502 เป็นเงิน 58.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
3.
ภัยคอมมิวนิสต์ จอมพลสฤษดิ์มองว่า ภัยจากคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อความมั่นคง
ของชาติ และอาจเป็นไปได้ที่ว่า
การอ้างการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามนักการเมืองตลอดจนปัญญาชนที่เป็นฝ่ายตรงข้าม
โดยจอมพลสฤษดิ์ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า
"…ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น
คอมมิวนิสต์ได้โหมปฏิบัติการอย่างกว้างขวางเพื่อแทรกซึมเข้าไปในวงการต่าง ๆ
เพื่อล้มล้างสถาบันอันศักสิทธิ์ของชาติเราคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
อย่างน่าห่วงใยและผู้แทนราษฎรหลายคนได้ยอมขายตนเป็นเครื่องมือของลัทธินี้อย่างเปิดเผย…"
ในขณะเดียวกันนั้น
สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศได้แบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ
ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยรัสเซียและฝ่ายโลกเสรีนิยมที่นำโดยอเมริกา
มีการทำสงครามเย็นกันอย่างกว้างขวางทั่วไป
.4. สภาพการณ์โดยทั่วไปของสังคมไทย เช่น
การอพยพเข้าสู่เมืองหลวงของชาว
ชนบทจากภาคอีสานอันเนื่องมาจากภาวะฝนแล้งอย่างหนัก
โดยที่รัฐบาลก่อน คือ จอมพล ป. ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ผู้ที่อพยพเข้าสู่เมืองได้มีส่วนทำให้เกิดปัญหาสังคม
เช่น ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายจากชนบทส่วนมากเข้าเมืองและประกอบอาชีพถีบสามล้อ
ซึ่งจอมพลสฤษดิ์มองว่าทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาวะเศรษฐกิจ
เนื่องจากไม่ทำให้เกิดผลผลิตและสร้างความเสื่อมโทรม ไม่เป็นระเบียบ
โดยกล่าวว่า
"…ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า
ชายฉกรรจ์ชาวหัวเมืองในชนบทของเราเป็นจำนวนหมื่นจะละทิ้งงานผลิต คือ
เกษตรกรรม มาทำงานที่ไม่ผลิต เช่น การขับขี่สามล้อนั้น
เป็นการเสื่อมเสียทางเศรษฐกิจปรากฏแก่กระทรวงมหาดไทยว่า
ผู้ประกอบอาชีพทางถีบสามล้อนั้นลงท้ายกลายเป็นคนติดฝิ่นไปเป็นจำนวนไม่น้อย…"
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นสู่อำนาจแล้ว
ก็ให้ยกเลิกอาชีพสามล้อ
และให้ผู้ประกอบอาชีพนี้กลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิมหรือจัดสรรที่ดินทำกินให้ในรูปของนิคมประชาสงเคราะห์
ภายหลังการทำรัฐประหารแล้วจอมพลสฤษดิ์
ก็ขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในนามของหัวหน้าคณะปฏิวัติและนายกรัฐมนตรี
และได้อาศัยอำนาจเด็ดขาดตามมาตรา 17 จัดการกับปัญหาต่าง ๆ
ตลอดจนทำการกวาดล้างผู้ที่จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง ตลอดจนปัญญาชน นักคิด นักเขียน
เป็นจำนวนมาก กล่าวกันว่า ภายใต้แนวความคิดเรื่องความเด็ดขาดต่อผู้กระทำความผิดนี้
ได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความสะพรึงกลัวแก่ประชาชนทั่วไป
และในหลายกรณีได้มีผู้ซึ่งกลายเป็นเหยื่อทางการเมือง หรือนัยหนึ่งแพะรับบาป
ไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนมากจะเป็นบรรดาคนจีน
อุดมการณ์ทางการเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ
ดังได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่าจอมพลสฤษดิ์นั้นเป็นบุคคลที่เป็นผลผลิตภายใน
คือไม่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ
ดังนั้นแนวความคิดประชาธิปไตยและลัทธิเสรีนิยมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกปลูกฝังอยู่ในจิตใจของจอมพลสฤษดิ์เท่ากับผู้นำรุ่นก่อน
ประกอบกับอาชีพทหารและวิถีชีวิตของทหารนั้นเน้นหนักไปในทางการใช้อำนาจมาแก้ไขปัญความขัดแข้งทางการเมือง
ความล้มเหลวของคณะผู้ก่อการ 2475 ในที่สุดนำไปสู่ข้อสรุปขั้นต้นในจิตใจของจอมพลสฤษดิ์ว่า
การเมืองไทยจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการเมืองไทย
และความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมแบบไทย
มิใช่แบบตะวันตก
ดังคำพูดออกอากาศของโฆษกวิทยุสองศูนย์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2508 ว่า
"คณะปฏิวัติ มีความมุ่งหมายที่จะทำประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย
มีความมุ่งหมายที่จะสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทยให้เป็นผลสำเร็จ
และเห็นว่าจะบรรลุผลตามความมุ่งหมายนี้ได้จะต้องแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตเสีย
จึงทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยที่นำมาจากต่างประเทศทั้งดุ้นเสีย
และเสนอว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับลักษณะพิเศษและสภาวการณ์ของไทย
จะสร้างประชาธิปไตยของไทย
ประชาธิปไตยแบบไทย"
และในเอกสารอีกแหล่งแสดงความเห็นไว้ว่า
"หลักการประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้นหลัง พ.ศ.
2475 เป็นสิ่งที่ได้หยิบยืมมาจาก
ประเทศตะวันตก
โดยเฉพาะประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส
และถึงแม้ว่าในกาลต่อมาจะได้มีการปรับปรุง
แต่ก็ได้ทำไปภายในขอบเขตของประชาธิปไตยแบบตะวันตก
ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายจึงจะถือไม่ได้ว่าเป็นการทำปฏิวัติ"
และในทำนองเดียวกันนี้ โฆษกของคณะปฏิวัติได้พูดออกอากาศในรายการวิทยุสองศูนย์
ในทำนองเปรียบเทียบว่า
"ขอให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นเสมือนกัลปพฤกษ์ที่หยั่งรากลึกจากแผ่นดินไทย
งอกงามเติบใหญ่ในแสงแดดและแรงฝน ออกผลเป็นกล้วยน้ำว้า มะม่วง เงาะ มังคุด
และทุเรียน มากกว่าที่จะเป็นแอปเปิ้ล องุ่น อินทผลัม บ้วย หรือเกาลัด…"
รูปแบบของการปกครอง
"ประชาธิปไตยแบบไทย" นี้
เป็นผลสะท้อนจากแนวความคิดและความเข้าใจของจอมพลสฤษดิ์ต่อสิ่งที่คิดว่าเป็นระบบการเมืองที่ถูกต้อง
และเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในประวัติศาสตร์มาก
ซึ่งในทัศนะของทักษ์ เฉลิมเตียรณ มองว่า หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้มีส่วนอยู่มาก
และงานเขียนต่าง ๆ ของหลวงวิจิตรฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรื่องของการแสวงหารูปแบบของการปกครองในสมัยโบราณ
ที่อาจนำมาใช้ได้กับการพัฒนาประเทศ
ความคิดดังกล่าวผนวกเข้ากับภูมิหลังทางการศึกษาภายในประเทศและ
ประสบการณ์ทางการเมืองในฐานะนายทหารผู้คร่ำหวอดอยู่กับการใช้กำลังทำให้พอ
สรุปถึงความเข้าใจทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ต่อรูปแบบของสังคมการเมืองไทย
ว่าประกอบขึ้นด้วยรัฐ/รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน
ในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ประชาธิปไตยแบบไทยควรที่จะเป็นไปในรูปที่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ
และมองว่าระบบพรรคการเมืองนั้นไม่เหมาะสมกับสังคมไทย ดังนั้นพรรคการเมือง และ/หรือการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงจึงมิใช่สิ่งที่มีความจำเป็นต่อระบบการเมืองไทย
ดังความเห็นที่ว่า
"แม้ว่ารัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรจะมีข้อความสั้น ๆ น้อยมาตรา
ก็ยังมีบท
บัญญัติให้เอาแบบทั่วไปของระบอบรัฐธรรมนูญ
คือประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยมาใช้ความเป็นไปในรัฐสภาของเราที่มีอยู่ในเวลานี้
ผิดกับในยามที่ใช้รัฐธรรมนูญปกติแต่เพียงว่า
ไม่มีผู้แทนที่หาเสียงเลือกตั้งโดยตรงมาจากราษฎร แต่ข้าพเจ้ากล้ารับรองว่า
ในกระบวนการรักษาผลประโยชน์ของราษฎร ความหวังดีต่อราษฎร
และเจตนาที่จะสร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาตินั้น
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในเวลานี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าสมาชิกสภาในสมัยใด ๆ
เราทำงานกันด้วยความสุจริตใจ ด้วยวิชาความรู้ ด้วยดุลพินิจอันเที่ยงธรรม
ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลบีบบังคับ ไม่ต้องห่วงใยในการที่จะแสดงตนเป็นวีรบุรุษ
เพื่อประโยชน์แก่การเลือกตั้งคราวหน้า"
จอมพลสฤษดิ์ยังได้พูดถึงความไร้สมรรถภาพ
ความไม่มีวินัยของนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ว่ามีพื้นฐานอยู่บนผลประโยชน์ของตัวเองโดยใช้วิธีการและเล่ห์กลที่สกปรกและการขยายตัว
จนไม่สามารถที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง
มีแต่จะนำไปสู่ความวุ่นวาย
ไร้เสถียรภาพทางการเมือง โดยสรุปก็คือ
ระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองนั้นไม่เหมาะสมกับประเทศไทย
เพราะจะทำให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีและนำไปสู่ความวุ่นวายไร้ระเบียบ
และทางออกของปัญหานี้ก็คือ ควรต้องให้อำนาจกับรัฐบาลมากขึ้น กล่าวคือ รัฐบาลเป็นสถาบันที่จะกำหนดว่า
อะไรคือเจตนารมณ์ของชาวไทยทั้งประเทศโดยมีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ที่ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง
จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า
การปกครองเป็นเรื่องของกษัตริย์ ของเจ้านายผู้มีบุญวาสนา
ขอเพียงแต่ให้ผู้นำนั้นมีความเที่ยงธรรมและสุจริตใจตั้งอยู่ในศีลธรรม (เช่นเดียวกับหลักธรรมในการปกครองแบบโบราณสำหรับกษัตริย์ คือ ทศพิธราชธรรม)
แนวความคิดเหล่านี้ ในทางปฏิบัติแล้วจอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า ผู้นำคือนายกรัฐมนตรี
ต้องมีอำนาจที่เด็ดขาด โดยอำนาจนั้นตั้งอยู่บนหลักของความเป็นธรรม
ซึ่งในสังคมไทยคือ หน้าที่ของพ่อที่ต้องปกครองบุตรให้ได้รับความสุข
ในขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจเด็ดขาดหากบุตรคนใดไม่เคารพเชื่อฟัง อย่างไรก็ตาม การลงโทษนั้นก็เพื่อทำให้บุตรเป็นคนดีต่อไป
การให้เหตุผลในการวางหลักการปกครองแบบไทยเช่นนี้
คือการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองที่มีพื้นฐานอยู่บนประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีดั้งเดิมของสังคมไทย
ซึ่งจอมพลสฤษดิ์
เชื่อมั่นว่าเป็นการประยุกต์แนวความคิดประชาธิปไตยเข้ากับจารีตและวัฒนธรรม ไทย และ
"พ่อ" ของคนไทยทุกคน หรือนัยหนึ่งพ่อของครอบครัวที่ใหญ่ที่สุด
คือชาติ ก็คือ พ่อขุน
ผู้ปกครองด้วยความเป็นธรรมและเปี่ยมไปด้วยความเมตตาในขณะเดียวกันเป็นผู้ใช้อำนาจเด็ดขาดต่อผู้อยู่ใต้ปกครองได้
แนวความคิดนี้สะท้อนออกมาชัดเจนมากในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าที่ประชุมกำนัน
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2503 ดังนี้
"กำนันเป็นบุคคลสำคัญมากในสายการปกครอง เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับราษฎร เป็น
สายสัมพันธ์ระหว่างราษฎรกับรัฐบาล
ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาด้วยความนิยมนับถือของราษฎรจริง ๆ
เป็นผู้ที่รักษาระบบการปกครองเก่าและของใหม่ให้ประสานกัน เพราะว่าประเพณีการปกครองของไทยแต่โบราณมาได้ถือระบอบพ่อปกครองลูก เราเรียกพระมหากษัตริย์ว่าพ่อขุน หมายความว่า
เป็นพ่อที่สูงสุด ต่อมาก็มี พ่อเมือง คือผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อไปถึง พ่อบ้าน
คือกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในที่สุดก็ถึงพ่อเรือน คือหัวหน้าครอบครัว
แม้ในสมัยนี้ จะได้มีระบบการปกครองเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น
ไม่เรียกว่าพ่อเหมือน
แต่ก่อน
แต่ข้าพเจ้ายังยึดมั่นนับถือคติและประเพณีโบราณของไทยเราในเรื่องพ่อปกครองลูกเสมอ
ข้าพเจ้าเคยพูดบ่อย ๆ ว่า ชาติเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ ผู้ปกครองไม่ใช่อื่นไกล
คือหัวหน้าครอบครัวใหญ่นั่นเอง ต้องถือว่าราษฎรทุกคนเป็นลูกเป็นหลาน
ต้องมีความอารีไมตรีจิต เอาใจใส่ในทุกข์สุขของราษฎร
เท่ากับบุตรหลานในครอบครัวของตนเอง ข้าพเจ้าเองพยายามไปถึงที่นั่น
ดูแลอำนวยการบำบัดทุกข์ภัยด้วยตนเอง
ข้าพเจ้าพยายามเข้าถึงราษฎรและเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของราษฎร เหมือนหนึ่งว่าเป็นครอบครัวของข้าพเจ้าเองเสมอ…"
คำกล่าวนี้ได้เป็นสิ่งที่แสดงแนวความคิดทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์อย่างชัดเจน
หัวใจสำคัญของการปกครองบ้านเมืองขึ้นอยู่กับตัวผู้ปกครองหรือพ่อขุนซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของที่อยู่ใต้ปกครอง
ข้าราชการและประชาชนมีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายและรับเอาสิ่งที่เป็นความ "อุปถัมภ์ " จากฝ่ายรัฐบาล
ภายใต้กระบวนการนี้
องค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ระบบราชการหรือข้าราชการ
ซึ่งมีหน้าที่เป็นแทนและปฏิบัติตามคำบัญชาของผู้ปกครอง
และต้องยอมรับการชี้แนวทางการปฏิบัติจากรัฐบาล โดยเฉพาะตัวผู้นำ ดังนั้น โดยนัยแห่งการปกครองแบบนี้
ข้าราชการจึงมิได้มีความหมายในแง่ของการเป็นผู้รับใช้หรือบริการประชาชน
หากแต่มีความหมายไปในทำนองเป็นข้ารัฐบาลหรือผู้รับใช้รัฐบาลมากกว่า
ดังนั้นในทางปฏิบัติจะเห็นได้ว่า
องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดภายใต้ระบบการเมืองแบบนี้ก็คือ รัฐ/รัฐบาล
และข้าราชการ ส่วนประชาชนนั้น ไม่มีบทบาททางการเมือง
หรือมีบทบาททางการเมืองอย่างจำกัด ภายใต้การควบคุมและยินยอมจากรัฐเท่านั้น
ในฐานะพ่อขุน
จอมพลสฤษดิ์ได้พยายามสร้างกิจกรรมขึ้นรองรับกับแนวความคิดในเรื่องการเป็นพ่อบ้านหรือผู้ปกครองหลายประการด้วยกัน
เช่น ในแง่ของการช่วยเหลือประชาชน การรักษาความสงบเรียบร้อย
การส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรม การเยี่ยมเยียนราษฎร และการออกคำสั่ง
จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนช่วยเหลือประชาชน
เพื่อเป็นการแสดงถึงความมีเมตตากรุณาต่อประชาชนผู้เปรียบเสมือน
"ลูก ๆ " ในทันทีที่มีการปฏิวัติเพียงไม่กี่วัน
คณะปฏิวัติได้มีคำสั่งให้ลดค่ากระแสไฟฟ้าและออกพระราชกฤษฎีกาให้แต่ละครอบครัวได้รับน้ำฟรีเดือนละ 30 ปีบ
ตลอดจนลดค่าโทรศัพท์ ค่ารถไฟ และค่าเล่าเรียน เป็นต้น
สิ่งที่สนใจอีกประการหนึ่ง
จอมพลสฤษดิ์ได้ส่งให้กองทัพเรือทำการจัดหามะพร้าวราคาถูกและนำมาขายให้ประชาชนในราคาต้นทุน
การกระทำในลักษณะนี้
ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อพ่อขุนคนใหม่
ทำให้การยอมรับในหมู่ประชาชนได้ขยายกว้างขวางออกไปอย่างรวดเร็ว
จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนรักษาความสงบเรียบร้อย
จอมพลสฤษดิ์มีความเชื่อว่า
การจะนำประเทศไปสู่สภาวะความทันสมัยและเจริญนั้น
ต้องเริ่มต้นที่การมีสภาวะจิตใจที่ดี ดังนั้นหลังการรัฐประหาร 2501 จึงได้มีคำสั่งให้จัดการกับอันธพาลอย่างเฉียบขาดเพื่อส่งเสริมความผาสุกของประชาชน
เนื่องจากมองว่าอันธพาลเป็นการบ่อนทำลายสังคมประชาชนทั่วไป
ในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ความสงบเรียบร้อยรวมถึงการปฏิเสธวัฒนธรรมตะวันตก
เช่น เพลงร็อก การเต้นทวิสต์ ซึ่งได้รับความนิยมในสมัยนั้น
กวดขันเกี่ยวกับแหล่งอบายมุขและสถานเริงรมย์ต่าง ๆ โสเภณีก็อยู่ในข่ายนี้ด้วย
โดยในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์มองว่าเป็นผู้ส่งเสริมอาชญากรรมจึงออกกฎหมายห้ามการค้าประเวณีและให้ยกเลิกอาชีพสามล้อในเขตกรุงเทพมหานคร
เป็นต้น
สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ
การจัดการเกี่ยวกับเรื่องเพลิงไหม้อย่างเฉียบขาด
ด้วยการยิงเป้าผู้ที่ต้องสงสัยหรือจับได้ว่าเป็นผู้วางเพลิง ณ
บริเวณเกิดเหตุนั้นเอง ซึ่งได้สร้างความเกรงกลัวให้กับประชาชนทั่วไป
เมื่อปรากฏว่ามีเพลิงไหม้ ณ ที่ใด
จอมพลสฤษดิ์มักจะไปอำนวยการดับเพลิงด้วยตนเองเสมอ
การกระทำเช่นนี้ได้สร้างความเชื่อถือแก่ประชาชนทั่วไปต่อจอมพลสฤษดิ์ยิ่งขึ้น
จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรม
ได้แก่การกวดขันและปราบปรามการค้ายาเสพติด
อันได้แก่ฝิ่นและเฮโรอีน โดยได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2502 เป็นต้นไป ให้ถือว่าการเสพฝิ่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
และโรงยาฝิ่นก็ถูกปิดอย่างถาวร ในขณะเดียวกัน
ได้จัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาเพื่อช่วยให้เลิกติดยาเสพติด
จอมพลสฤษดิ์
ในฐานะพ่อขุนเยี่ยมเยียนครอบครัว
ในการเน้นความสามัคคีและการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองนั้นจอมพลสฤษดิ์ได้พยายามออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขของประชาชนในภาคต่าง
ๆ และได้มีการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
ซึ่งพูดถึงแผนพัฒนาส่วนภูมิภาคด้วย จอมพลสฤษดิ์เองร่วมเป็นกรรมการพัฒนาภาคอีสาน
การไปตรวจราชการตามภาคต่าง ๆ นั้น
จอมพลสฤษดิ์ได้ให้ความสนใจกับปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชนโดยการเดินทางด้วยรถยนต์และไปตั้งแคมป์พักกลางทาง
ทุก ๆ
แห่งที่ผ่านไปจะให้ความสนใจกับสภาพตลาดของแต่ละชุมชนและจากการนี้จอมพลสฤษดิ์ได้สรุปถึงปัญหาของประชาชนในเวลานั่นว่า
ขึ้นอยู่กับน้ำและถนน
อนึ่ง
ในเวลานั้นจอมพลสฤษดิ์ตระหนักดีว่า
ภาคอีสานและภาคใต้กำลังเป็นส่วนที่มีปัญหาทางการเมืองมากที่สุด
โดยเฉพาะภาคอีสานปรากฏมีขบวนการต่อต้านอำนาจทางการเมืองของกรุงเทพฯ อยู่เสมอ ในขณะที่ในภาคใต้มีเรื่องราวเกี่ยวกับความไม่สงบเรียบร้อยบ่อยครั้ง
โดยเฉพาะในบริเวณ 4 จังหวัดภาคใต้
การ
กระทำดังกล่าวนี้เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่า
ตนห่วงใยประชาชนในทุกภาคและต้องการที่จะเห็นสภาพความเป็นอยู่ตามที่เป็นจริง
ด้วยตาของตนเองจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้นำคนแรกที่ออกตรวจราชการโดยทางบกบ่อยครั้ง
ที่สุด
จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนใช้อำนาจเด็ดขาด
ยาโนะวิเคราะห์การปกครองแบบเผด็จการว่ามีลักษณะเด่น
ๆ 3 ประการ คือ ประการแรก
มีคำกล่าวแบบไทยเกี่ยวกับแนวความคิดเรื่องภาระของคนชั้นสูง
นักการเมืองทุกคนล้วนแล้วแต่มีลักษณะพิเศษตามแบบบิดากับบุตรทั้งสิ้น
ประการที่สอง ด้านเสียของการปกครองแบบบิดากับบุตรคือ เสรีภาพในการใช้อำนาจการปกครองโดยคำสั่งมีความสมบูรณ์แบบมากจนกระทั่งสามารถขจัดข้อผูกมัดทั้งปวงให้ออกไปพ้นจากการใช้อำนาจเด็ดขาด
ประการที่สาม
คือการกำจัดส่วนที่มิใช่เป็นไทยหรือพวกนอกรีตที่เข้ากับผู้ปกครองไม่ได้อย่างเฉียบขาด
ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ การใช้อำนาจแบบเด็ดขาดเพื่อจำกัด "พวกนอกรีตนอกรอย" เป็นสิ่งที่พบเห็นได้อยู่เสมอ เช่น
การลงโทษประหารชีวิตชาวจีนผู้ลอบวางเพลิง และกำจัดผู้กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์
คำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2501 ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สอบสวนยิ่งขึ้นในอันที่จะกักขังผู้ต้องหาไว้ตลอดระยะเวลาสอบสวน
ยิ่งกว่านั้นคำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 15 ยังได้กำหนดไว้ว่า
คดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
จำต้องโอนไปขึ้นศาลทหารตามกฎอัยการศึก
ในสมัยนี้
ปัญญาชน นักศึกษา และนักหนังสือพิมพ์
ตลอดจนนักการเมืองจำนวนมากมายที่วิพากษ์วิจารณ์จอมพลสฤษดิ์ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์และสังคมไทย
ได้ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงตัวอย่างในจำนวนนี้ได้แก่ กรณีของ จิตร ภูมิศักดิ์
เป็นต้น
โดยสรุปก็คือ
ในอีกด้านหนึ่งของระบบพ่อขุน
นอกเหนือจากที่มีการดูแลทุกข์สุขของราษฎรแล้วก็ยังมีลักษณะของเผด็จการอยู่ด้วย
ซึ่งลักษณะอันนี้ได้สร้างพลังกดดันให้แก่สังคมไทยอย่างมหาศาล
และในที่สุดก็ปะทุขึ้นมา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516
การควบคุมระบบราชการ
ในเรื่องของการบริหารจอมพลสฤษดิ์ได้ดำเนินการปรับปรุงอำนาจของนายกรัฐมนตรี
จากการเป็น fist
minister มาเป็น chief executive และได้รวมศูนย์อำนาจให้เข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรง
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 57 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย ได้เน้นถึงการให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรี
ในการปรับปรุงสำนักงานนายกรัฐมนตรีได้ตามที่เห็นสมควร โดยเพิ่มหน่วยงานจาก 12
หน่วยงานเป็น 24 หน่วยงาน ในปี 2506
นอกจากนั้น
จอมพลสฤษดิ์ยังรวมศูนย์อำนาจทางด้านการใช้กำลังไว้แต่เพียงผู้เดียว
โดยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมตำรวจ
และหลังจากที่ได้ตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติขึ้น
ก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ตามแนวความคิดเกี่ยวกับรัฐ/รัฐบาล
ข้าราชการ ประชาชน ดังได้กล่าวไปแล้วนั้น ในความเป็นจริงปรากฏว่า
กลุ่มทหารนั้นมักจะได้ดำรงตำแหน่งผู้นำระดับสูง แต่จอมพลสฤษดิ์ก็ตระหนักดีว่า
ในเวลาเดียวกันก็ไม่อาจละเลยความสำคัญของข้าราชการพลเรือนได้
เพราะหากปราศจากการสนับสนุนของข้าราชการรัฐบาลก็ยากที่จะดำเนินการตามนโยบายที่ได้วางไว้
แต่เนื่องจากระบบการทำงานของข้าราชการไทยมีลักษณะเป็นแบบระบบอุปถัมภ์
สมาชิกในคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่เป็นเพียงตัวแทนผลประโยชน์ของข้าราชการในแต่ละกระทรวงที่ตนสังกัดอยู่
ทำให้มีลักษณะของความแตกแยกสูง
การไม่ยอมประสานงานระหว่างหน่วยราชการเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ
ข้าราชการมองตัวเองเป็นเพียงผู้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลโดยไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างกระตือรือร้นเท่าที่ควร
จอม
พลสฤษดิ์จึงพยายามที่จะให้มีการสร้างความสัมพันธ์อันดีซึ่งกันและกันระหว่าง
ข้าราขการระดับสูงโดยอาศัยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเป็นเครื่องมือ
การเข้าไปศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีเกียรติ
และบ่งถึงความสำคัญของหน่วยงานของตน โดยสรุปแล้ว วปอ. สามารถที่จะสร้างความเป็นปึกแผ่นและความร่วมมือระหว่างข้าราชการระดับสูง
โดยเฉพาะพลเรือนและทหาร ได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าจอมพลสฤษดิ์จะสามารถสร้างบารมีและสถาปนารูปแบบการเป็นผู้นำแบบพ่อขุนซึ่งเป็นเสมือนพ่อบ้าน
ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปได้ก็จริงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์
ก็ตระหนักดีว่าสถาบันที่มีความสำคัญยิ่งต่อระบบการเมืองการปกครองไทยอีกสถาบันหนึ่งคือ
สถาบันกษัตริย์ จากบทเรียนในอดีตซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับจอมพล
ป. ทำให้หลายฝ่ายหยิบยกขึ้นมาเป็นจุดโจมตีรัฐบาล ในขณะเดียวกัน
ทำให้ความเลื่อมใสของประชาชนต่อรัฐบาลลดลง
กลุ่มที่ทำการล้มอำนาจของจอมพล
ป. ในปี 2500 มองว่า
การที่จะแสวงหาความชอบธรรมในระยะยาวอันหนึ่ง คือ
การพึ่งพาการยอมรับของสถาบันกษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
เพราะการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันนี้ จะเป็นการส่งเสริมฐานะและอำนาจของรัฐบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้นำ พ.ศ. 2500 ซึ่งไม่ได้มีบทบาทในการล้มอำนาจฝ่ายเจ้าในปี 2475 จึงสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มต่อต้านเจ้า
อนึ่งแนวความคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นแนวความคิดที่สอดคล้องกับระบบการเมืองแบบไทยและระบบพ่อขุนเป็นอย่างดี
ดังนั้นบทบาทหน้าที่และเกียรติของสถาบันกษัตริย์จึงได้รับการส่งเสริมมากกว่ารัฐบาลก่อน
ๆ เช่น การสนับสนุนให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จไปเยี่ยมประเทศต่าง ๆ ส่วน
ด้านการปกครองภายในประเทศนั้น
ก็พยายามส่งเสริมให้องค์พระมหากษัตริย์มีโอกาสแสดงพระราชดำรัสต่อประชาชน
พาดพิงถึงนโยบายต่าง ๆ เช่นแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
รัฐบาลพยายามสร้างสถาบันกษัตริย์ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีความเป็น
ปึกแผ่นของคนในชาติ
การปรับปรุงประเทศไปสู่ภาวะทันสมัย
และผลกระทบต่อสังคมไทยในเวลาต่อมา
การไปตรวจราชการตามต่างจังหวัดหลายครั้ง
หลัง พ.ศ. 2501
ทำให้จอมพลสฤษดิ์เชื่อมั่นว่า
ความต้องการของประชาชนในชนบทนั้นมีอยู่ 2 ประการหลัก ๆ
ด้วยกันคือ น้ำกับถนน
ด้วยปัจจัยสำคัญทั้งสองประการนี้จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาและความกินดีอยู่ดีของประชาชน
จอมพลสฤษดิ์ได้อธิบายถึงความสำคัญของน้ำดังนี้
"เรื่องน้ำเป็นปัญหาสำคัญมาก ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นจังหวัดใดที่มีน้ำบริบูรณ์
ประชาชนใน
จังหวัดนั้นหน้าตาผ่องใส
ผิวพรรณสะอาดสะอ้านสดชื่น พืชพันธุ์ธัญญาหารในการเพาะปลูกก็ได้ผลดี
ทำให้การเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นรุ่งเรืองและสดใสตามไปด้วย…"
การปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยเป็นเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งของจอมพลสฤษดิ์ โดยให้
สภาพัฒนาฯ ทำการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก
พ.ศ. 2504 - 2508 อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากผลการวิจัยและข้อเสนอแนะของธนาคารโลกที่ได้ทำขึ้นในนามรัฐบาลไทย
โดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้
1.
วัตถุประสงค์เบื้องแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติก็คือ
การยกมาตรฐานการ
ครองชีพของประชาชนไทย ข้อความย่อ ๆ นี้
ดูเป็นการแนะนำเกี่ยวกับเป้าหมายทางวัตถุเท่านั้น
โดยมิได้คำนึงถึงค่านิยมทางด้านสุนทรีย์
วัฒนธรรม และสังคม แต่ในขณะเดียวกันความสุขสบายก็มีวัตถุประสงค์อยู่ในตัวแล้วและที่สำคัญยิ่งกว่านี้คือ
ยังเป็นหนทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายอย่างอื่นอีกขั้นหนึ่งที่ทำให้พลเมืองทุกคนได้มีชีวิตที่ผาสุกกว่า สร้างสรรค์กว่า และสมบูรณ์กว่า ดังนั้น "การยกมาตรฐานการครองชีพ"
จึงจำต้องอธิบายในแง่ที่กว้างเช่นนี้
2.
การให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย
จำเป็นต้องเพิ่มรายได้ของสินค้าและบริการต่อ
หัวทั้งหมด
และรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ก็จะต้องกระจายออกไปโดยทั่วถึง
เพื่อว่าพลเมืองทุกคนไม่เฉพาะเพียงแต่บางคนเท่านั้นจะพึงได้ผลประโยชน์จากการนี้
3.
เชื่อกันว่า
ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่จะได้มาจากความพยายามด้วยตนเองของ
พลเมืองแต่ละคนโดยมีรัฐบาลช่วยเกื้อหนุนมากกว่าจากการที่รัฐบาลจะเข้าไปเป็นผู้ผลิตเองโดยตรง
ดังนั้นประการสำคัญของโครงการพัฒนาเพื่อสาธารณชนจึงเป็นการส่งเสริม
ให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจขึ้นในภาคเอกชนและสิ่งอุดหนุนของรัฐบาล
ก็มุ่งไปสู่โครงการทั้งในภาคเศรษฐกิจและประเภทกิจกรรมและที่ไม่ใช่กสิกรรม
เป็นส่วนใหญ่
ซึ่งต่างก็มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันนี้
อีกสามปีถัดไป การก่อสร้างด้านชลประทาน การสร้างและปรับปรุงถนนหนทาง
และการคมนาคมอื่น ๆ
โครงการพลังงานไฟฟ้าที่ไม่แพง
และโครงการอื่น ๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวัตถุ
ซึ่งต่างก็ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลของรัฐบาล
การขยายและการวิจัยทางด้านเกษตร การฝึกอบรมทางเทคนิค อาชีวศึกษา และโครงการอื่น
ๆ ที่จะขยายความรู้ทางด้านเทคนิค
ซึ่งรัฐบาลจะต้องร่วมลงทุนอย่างมหาศาลด้วยเหมือนกัน
การใช้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อวัตถุประสงค์เหล่านี้และเพื่อโครงการของรัฐบาลด้านอื่น
ๆ ก็จะเอื้ออำนวยให้เกิดหนทางและโอกาสในการผลิตที่เพิ่มขึ้น
และช่วยให้ภาคเอกชนได้ขยายกิจการโดยอาศัยความคิดริเริ่มของตนเอง นอกจากนี้
รัฐบาลยังช่วยด้านบริการสังคมอีกด้วย
อาจกล่าวได้ว่า
ยุคนี้เป็นยุคแห่งการพัฒนาไปสู่ภาวะแห่งความทันสมัยโดยได้มีการพยายามปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยอย่างขนานใหญ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานอันได้แก่ น้ำ ถนน ไฟฟ้า ฯลฯ
ตลอดจนมีการขยายตัวของการศึกษาขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใต้คำขวัญที่ว่า "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ
บำรุงความสะอาด"
อนึ่ง
ยุคนี้เป็นยุคของการสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติโดยให้สิทธิพิเศษหลายประการ โดยในปี 2503 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโดยเน้นการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนจากต่างประเทศ
เช่น ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ลดภาษีส่งออก
ให้นำกำไรออกนอกประเทศ
สินค้าใดที่นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาผลิตในประเทศแล้ว รัฐบาลจะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้านั้น
ๆ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ภายใต้ระบอบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ การประท้วงและการเรียกร้องของกรรมกร
ตลอดจนการชุมนุมทางการเมืองใด ๆ
เป็นสิ่งที่ถูกห้ามอย่างเด็ดขาด
จากปัจจัยต่าง ๆ
เหล่านี้ได้ดึงดูดให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยขยายตัวไปอย่างมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการเงิน
อย่างไรก็ตาม แนวความคิดเรื่องการ
พัฒนาเศรษฐกิจนี้ก็ได้ถูกโจมตีว่า
ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและสร้างปัญหาเศรษฐกิจสังคมให้แก่สังคมไทยมากมาย
เช่น งานของ ศจ.เสน่ห์ จามริก ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ได้นำไปสู่การกระจุกตัวของกลุ่มธุรกิจผูกขาด
ในขณะเดียวกันได้ทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรมลงอย่างย่อยยับ
สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการศึกษาถึงเรื่องการสร้างความทันสมัยของจอมพลสฤษดิ์
ก็คือ อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ได้มีความสัมพันธ์กับไทยอย่างใกล้ชิด
สำหรับจอมพลสฤษดิ์
ความสัมพันธ์นี้แนบแน่นขึ้นเมื่อสหรัฐได้สนับสนุนการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 และกระบวนการการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ
นั้น จำต้องอาศัยงบประมาณและบุคลากรทางเทคนิคจำนวนมหาศาล
ทำให้จอมพลสฤษดิ์จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือและแหล่งเงินกู้
ซึ่งในกรณีนี้
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหลักที่ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านเงินทุนและบุคลากร
จอมพลสฤษดิ์จึงต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สอดคล้องกับสหรัฐอเมริกา คือการต่อต้านอิทธิพลของฝ่ายโลกคอมมิวนิสต์ ซึ่งในที่สุดนำไปสู่แถลงการณ์ร่วมรัสค์ -
ถนัด ซึ่งสรุปว่า
ความมั่นคงของประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญ
และสหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะต่อต้านการรุกรานบ่อนทำลายของคอมมิวนิสต์ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อประเทศไทย
อันรวมถึงการช่วยเหลือไทยต่อต้านการก่อการร้ายภายในประเทศด้วย
การดำเนินนโยบายผูกพันกับสหรัฐอย่างใกล้ชิด
เพื่อมุ่งรับการสนับสนุนทางการทหารและเศรษฐกิจนั้นทำให้นโยบายการ
พัฒนาประเทศจำต้องเกี่ยวพันกับเรื่องของความมั่นคงของประเทศและสถานการณ์ทาง
การเมืองระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในทางปฏิบัติเป้าหมายของการพัฒนาประเทศถูกกำหนดให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความมั่นคง
เช่น การสร้างถนน โดยเฉพาะถนนมิตรภาพ ซึ่งมีความยาว 450 ไมล์
จากกรุงเทพฯ - หนองคาย เป็นต้น
ซึ่งมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ทางการทหารเป็นสำคัญ
และในที่สุดการดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงนี้
ได้นำมาซึ่งความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจในภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการ
และได้ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปอย่างมากมายจากการนี้
สรุป
ถึงแม้หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมจะได้มีการเปิดโปงข่าวการโกงกิน
การมีภรรยาน้อยจำนวนมากมาย และการแย่งชิงมรดกจำนวนสองพันแปดร้อยล้านบาทก็ตาม
แต่ความคิดทางการเมืองและระบบการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ใน
ยุคที่ จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา
และแม้ในปัจจุบันก็ยังมีคนเลื่อมใสในระบบการเมืองแบบพ่อขุนผู้มีความเด็ดขาด
ในการแก้ไขปัญหาอยู่อีกมาก
ผล
ของการปฏิรูปเพื่อนำประเทศไปสู่ภาวะแห่งความทันสมัยได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยน
แปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมายในช่วงเวลาหลังจากนั้น
แต่ผลที่ตามมาก็คือ
ระบบพ่อขุนของจอมพลสฤษดิ์ซึ่งมุ่งที่จะใช้อำนาจแบบเผด็จการโดยมิได้สนใจที่
จะแก้ไขปัญหาการขัดแย้งทางการเมือง
และในขณะเดียวกันมิได้สนใจที่จะสร้างสถาบันทางการเมืองขึ้นมารองรับกับการ
เปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในขณะที่ผลของการปฏิรูปได้กระตุ้นให้ประชาชนเกิดความคาดหวังและความต้องการ
ที่จะเรียกร้องสิทธิของตน
การเข้าไปพัวพันอย่างลึกซึ้งต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและการยอมให้ประเทศไทยเป็นเสมือน
"เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดยักษ์" เพื่อ
ทำสงครามเวียดนาม
ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย
ในขณะเดียวกันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างขนานใหญ่สิ่งหนึ่งที่
ปฏิเสธไม่ได้ก็คือการเข้ามาของทหารอเมริกันได้นำไปสู่การขยายตัวของธุรกิจใน
ภาคบริการ
บาร์ ไนต์คลับ อาบอบนวด ซุปเปอร์มาเก็ต โรงภาพยนตร์ ฯลฯ
ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั้งในกรุงเทพฯ และตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วไป
โดยเฉพาะเมืองที่เป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกัน
สาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางสังคมครั้งใหญ่ในสังคมไทย
เศรษฐีใหม่จำนวนมากเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจกับอเมริกัน
ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นโสเภณี เมียเช่า อาวุธ ยาเสพติด
สินค้าหนีภาษี และอื่น ๆ
จุดนี้เป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่มาเสริมการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการนำประเทศไปสู่ภาวะแห่งความทันสมัย
ให้มีความเข้มข้นของการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
ผล
ของการพัฒนาและการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจนี้ได้ผลักดันให้ออกจากการทำการผลิตใน
ภาคการเกษตรไปสู่การทำอาชีพอื่นนอกภาคการเกษตร
และคนกลุ่มนี้ได้สร้างปัญหาให้กับสังคมไทยและมีบทบาทในการเข้าร่วมในกระบวน
ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระยะต่อมาร่วมกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา
อีกแง่หนึ่ง
อิทธิพลตะวันตก รวมทั้งการขยายตัวของระบบการศึกษา
ได้ทำให้เกิดการไหลบ่าของอุดมการณ์ประชาธิปไตยตลอดจนลัทธิการเมืองอื่น ๆ
ในหมู่ปัญญาชน ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมและระบบการเมืองที่ดำรงอยู่
จอมพลถนอม
ทายาททางการเมืองผู้รับเอามรดกของการปกครองเแบบสฤษดิ์แต่ไม่มีความเด็ดขาดและฐานอำนาจที่แข็งแกร่งเช่นเดียวกับที่จอมพลสฤษดิ์เคยมี
จึงเป็นผู้แบกรับกับปัญหาของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างเต็มที่
จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยแต่อย่างใดต่อการถูกโค่นล้มอำนาจโดยมวลชนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516
เพียงสิบปีภายหลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์
ซึ่งนับเป็นสิ่งสะท้อนได้เป็นอย่างถึงความผิดพลาดของระบบการเมืองที่
ปราศจากความยืดหยุ่นและเป็นเผด็จการแบบพ่อขุนโดยละเลยการสร้างสถาบันทางการ
เมือง
ในขณะที่สังคมไม่ใช่เป็นสิ่งที่หยุดนิ่งหากแต่ตรงกันข้ามมีความเปลี่ยน
แปลงอยู่ตลอดเวลาในขณะที่การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่เกิดขึ้นในสังคมไทยเปรียบ
เสมือนคลื่นยักษ์ได้โหมกระหน่ำซัดเข้าทำลายกำแพงเก่า
ๆ ที่ปราศจากการก่อสร้างตามหลักวิชา
มิหนำซ้ำปราศจากการเอาใจใส่ซ่อมแซมดูแลอย่างเพียงพอ
ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดจากความคิดทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งสืบต่อโดยจอมพลถนอม กิตติขจรนั้นก็คือ ในแง่หนึ่งจอมพลสฤษดิ์ไม่ใช่ผู้ซึ่งได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงแตกต่างจากลุ่มคณะราษฎร์ โดยเฉพาะ
จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์มองตัวเองในแง่ผู้นำ
ซึ่งมีลักษณะพ่อขุน กล่าวคือ เป็นเสมือนบิดาปกครองครอบครัว
โดยมีความเมตตาและเอื้ออาทร แต่ขณะเดียวกันก็ใช้ความเด็ดขาดในการปราบปราม "ความชั่วร้าย" ของสังคมซึ่งสอดคล้องกับความคิดเรื่องเผด็จการผู้อารี
(bonevolent dictatorship) โดยนัยหนึ่งเป็นการเอาลักษณะผู้นำของสุโขทัย คือแบบพ่อลูก
มาผสมกับผู้นำของอยุธยาคืออำนาจเด็ดขาด เข้าลักษณะใช้ทั้งพระคุณและพระเดช
ระบบการเมืองและลักษณะผู้นำของจอมพลสฤษดิ์ก็คือ
ระบบผู้นำแบบจารีตนิยมโบราณ เน้นที่ความเด็ดขาดและอำนาจ
ขณะเดียวกันก็มีความตั้งใจทำประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชนโดยตรง เช่น
การมีนโยบายลดค่าอุปโภคบริโภค การปราบฝิ่น การปราบอันธพาล และการปราบคอมมิวนิสต์
เป็นต้น พร้อมกันนั้นก็ใช้นักวิชาการ และการเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษา
เป็นไปได้ว่าจอมพลสฤษดิ์พยายามเลียนแบบพระพุทธเจ้าหลวง แต่เน้นต่างกัน
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเน้นการสร้างรัฐชาติการรวมศูนย์อำนาจ
การปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความทันสมัยนั้น จอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์เน้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารราชการแบบสมัยนิยม
จะสังเกตเห็นว่า นักวิชาการที่มีบทบาทมากในสมัยจอมพลสฤษดิ์ คือ นักเศรษฐศาสตร์และนักบริหารรัฐกิจ
รวมทั้งนักเทคนิคทั้งหลาย เช่น นักสถิติ เป็นต้น
มีการตั้งหน่วยงานใหม่ ๆ ขึ้น เช่น กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จุดเน้นอยู่ที่การพัฒนาการศึกษา
มีการขยายมหาวิทยาลัยออกต่างจังหวัดทุกภาค
จุดเน้นอยู่ที่การปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยไม่ตั้ง
ประเด็นสงสัยในระบบการเมืองการปกครองว่ามีความถูกต้องชอบธรรมเพียงใด กล่าวอีกนัยหนึ่งจอมพลสฤษดิ์ใช้วิธีการแช่เย็นการเมือง
โดยถือว่าเป็นเรื่องวุ่นวายยุ่งยาก แต่เน้นการบริหารและการพัฒนาคือ
มีรัฐบาลและระบบราชการทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนก็เพียงพอแล้ว
แต่ปัญหาที่จอมพลสฤษด์มิได้คาดการณ์ไว้ก็คือ
การสืบทอดอำนาจระบบผู้นำเด็ดขาดแบบพ่อขุนอุปถัมภ์หรือพ่อขุนนั้น เน้นที่ตัวบุคคล
กิจกรรม และนโยบาย อยู่ที่คน ๆ เดียวหรือกลุ่มเดียว เมื่อบุคคลนั้นหมดอำนาจลง
ก็จะเกิดปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจรวมทั้งการสืบทอดนโยบาย
ซึ่งก็โชคดีที่หลังจากการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์แล้ว
ปัญหาการสืบทอดอำนาจไม่เป็นประเด็นวิกฤต อย่างไรก็ตาม
จุดที่จอมพลสฤษดิ์มิได้คาดการณ์จุดที่สองก็คือ
การเสียดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
และการพัฒนาการเมืองในระบบเปิดแบบมีส่วนร่วม
ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมือง ซึ่งยากที่ระบบการเมืองแบบปิดแบบจารีตนิยมจะรับไว้ได้
ผลสุดท้ายก็เกิดแรงผลักดันต่อระบบการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจนเกิดเหตุการณ์
14 ตุลาคม 2516
ซึ่งจะได้กล่าวในบทต่อไป
ระบบจอมพลสฤษดิ์ยังมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การกระจุกตัวทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ
ในทางเศรษฐกิจได้กล่าวมาแล้วว่า ทำให้เกิดกลุ่มผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดทางเศรษฐกิจขึ้น
นอกจากนี้ยังเกิดการร่วมวงศ์ไพบูลย์ระหว่างข้าราชการและพ่อค้า ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ในส่วนของการเมืองนั้นระบบเผด็จการเยี่ยงพ่อขุนของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ได้นำไปสู่การกระจุกตัวของกลุ่มการเมืองและกลุ่มอำนาจ
ซึ่งทำให้กลุ่มอื่นเจาะตัวเข้ามาได้ยาก ซึ่งเมื่อประสานกับผลประโยชน์กับกลุ่มเศรษฐกิจแล้ว
ทำให้เกิดการกระจุกตัวและผูกขาดทั้งอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจขึ้น
ทำให้เกิดแรงผลักดันที่จะล้มล้างกลุ่มการเมืองเศรษฐกิจดังกล่าว
ซึ่งได้แก่กลุ่มผู้สืบทอดอำนาจหลังจากอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์
ระบบการเมืองแบบจอมพลสฤษดิ์ซึ่งได้สืบทอดโดยจอมพลถนอม
กิตติขจรนั้น เป็นระบบตรงข้ามกับระบบประชาธิปไตยหรือเป็นขั้วต้าน (anti -
thesis) ของระบบการเมืองแบบเปิด
เป็นระบบที่เป็นการแบ่งแยกระหว่างผู้ปกครองและประชาชน
เน้นการปกครองบริหารแทนการต่อรองและการใช้เสียงข้างมากตัดสินนโยบายในระบบประชาธิปไตย
เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่าการสร้างจิตสำนึกทางการเมือง
การมีส่วนร่วมและสถาบันทางการเมือง เน้นการกระทำและรูปธรรมมากกว่านามธรรม
แม้จอมพลสฤษดิ์จะมีความตั้งใจดีและประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำแบบพ่อขุน
แต่จอมพลสฤษดิ์ก็ได้ขุดหลุมสำหรับระบบดังกล่าวโดยไม่รู้ตัว
นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นนโยบายที่บ่อนทำลายความสถาพรของระบบจอมพลสฤษดิ์ตั้งแต่ต้น
การเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
เพื่ออาศัยเป็นฐานของความชอบธรรมทางการเมืองกลับกลายเป็นเหตุให้เกิดประเด็นสงสัยในความชอบธรรมทางการเมืองขึ้น
ซึ่งจะกล่าวในบทต่อไป
แต่
จอมพลสฤษดิ์ได้ทิ้งมรดกสำคัญทางการเมืองไว้
กล่าวคือ เป็นการเปิดทางเลือกของลักษณะผู้นำในสังคมไทย
ความเด็ดขาดของจอมพลสฤษดิ์และการปฏิบัติการอย่างรวดเร็วเป็นที่นิยมของคน
บางกลุ่มซึ่งอาจสอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยซึ่งมีแนวโน้มในแง่การ
ใช้ความเด็ดขาดในการแก้ปัญหาหรือการขจัดฝ่ายตรงกันข้าม
ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นเป็นบางครั้งว่า ปัญหาต่างๆ
ในสังคมที่ประเทศชาติกำลังเผชิญอยู่
อาจจะแก้ไขได้โดยวิธีการแบบเดียวกับที่จอมพลสฤษดิ์เคยทำมาแล้ว
ซึ่งวิธีการดังกล่าวย่อมตรงกันข้ามกับกระบวนการของระบบประชาธิปไตย
ซึ่งเน้นการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลและกระบวนการต่อรองออมชอมอันยืดยาว
ข้อที่น่าสังเกตคือ ผู้นำซึ่งมีบุคลิกแบบจอมพลสฤษดิ์ ยังไม่เคยปรากฏซ้ำสอง
แม้จะมีผู้พยายามเลียนแบบ
และในสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทวีความซับซ้อนขึ้นนี้
ยังมีข้อสงสัยเป็นอย่างมากว่า
จะใช้ระบบผู้นำเด็ดขาดในลักษณะ "ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่ผู้เดียว" ได้หรือไม่
สภาวะแวดล้อมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ
ซับซ้อนและใหญ่โตเกินกว่าความสามารถของคน ๆ เดียวที่จะรวมอำนาจไว้ในมือ
และสภาวะดังกล่าวนี้ก็เป็นผลมาจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษาของ "พ่อขุน" เอง
ลิขิต ธีรเวคิน, การเมืองการปกครองไทย, กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541.
___________, วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย, กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
2544.
___________, วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย, กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
2544.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น