การตั้งถิ่นฐานและการเจริญเติบโตของชุมชน “เมืองดงละคร”
การตั้งถิ่นฐานและการเจริญเติบโตของชุมชน
“เมืองดงละคร”
นายสุธี ไชยจำเริญ ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
“ดงละคร”หรือ
“ดงละคอน” เป็นชื่อของตำบลหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
ซึ่งไม่ใช่ชื่อดั้งเดิมของเมืองโบราณแห่งนี้
แต่เป็นชื่อซึ่งตั้งขึ้นจากราษฎรในถิ่นนี้ที่มีหลักฐานจากคำบอกเล่าว่าได้เข้ามาอยู่เมื่อราว
120
ปีมาแล้ว เมืองโบราณแห่งนี้นอกจากจะเรียกดงละครแล้ว
ยังมีชื่อเรียกว่าเมืองลับแล สันคู ซึ่งชื่อเหล่านี้ล้วนปรากฏเป็นตำนานเรื่องเล่าของชาวบ้านที่เล่าสืบต่อกันมา[1]
ซึ่ง
ประวัติและหลักฐานที่จะบ่งบอกถึงการตั้งเมืองและความเจริญของเมืองไม่ได้
เด่นชัดไม่สามารถจะกำหนดไปได้แน่นอน แต่ดงละครก็เหมือนกับเมืองโบราณอื่นๆ
ที่ขาดหลักฐานต่างๆ ที่จะกำหนดถึงอายุการตั้งเมืองได้
ดังนั้นเมืองเหล่านี้จะต้องมีเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองที่เล่าสืบต่อกันมา
จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นตำนานของเมืองนั่นเอง
โดยที่ชื่อเมืองโบราณดงละครนั้นสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า
“ดงนคร” หมายถึง ที่ป่ารกร้างที่เคยเป็นเมืองมาก่อน
มีร่องรอยสิ่งก่อสร้างคูน้ำคันดินที่ผู้ปกครองโบราณทำไว้เพื่อป้องกันข้าศึกเพื่อให้เด็กอาศัยในเมืองอย่างปลอดภัย
ต่อมามีศึกใหญ่
ผู้คนจึงอพยพทิ้งเมืองไปทิ้งข้าวของเครื่องใช้และลูกปัดจำนวนมากไว้นั่นเอง[2]
(แผนผังเมืองดงละคร อ้างอิงจากสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา)
นอกจากนี้ยังมีหนังสือชุมนุมพระบรมราชาธิบาย
เอกสารที่มีการกล่างถึงเมืองดงละคร ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 เล่า
ไว้ว่า “ในสมัยที่เขมร
(ขอมโบราณ) ยังครอบครอง
ดินแดนส่วนด้านทิศตะวันออกของประเทศไทยอยู่นั้นกษัตริย์ได้ครอบครองราชย์
สมบัติ
ทรงพอพระทัยในการมีสนมเป็นผู้ชาย
พวกอำมาตย์เสนาบดีจึงได้แสวงหาชายรูปงามในเมืองเขมรมาถวายอยู่งานตาม
อัธยาศัยถือว่าเป็นความชอบในราชการอย่างหนึ่งของพวกอำมาตย์เสนาบดีจึงช่วย
กันหาความชอบที่จะแสวงหาชายรูปงามเข้าไปถวายจนกระทั่งชายรูปงามในเขมรหมดตัว
มีอำมาตย์ผู้หนึ่งเสาะหาชายรูปงามในประเทศไทยไปถวายพระองค์ทรงโปรดปรานมาก
แต่ชายรูปงามผู้นั้นไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในพระราชวัง
(นครขอม) พระนางเธอจึงทรงเจรจากับไทย ขอสร้างเมืองขึ้นในดินแดนไทย
ฝ่ายไทยก็ยินยอม
พระนางจึงโบรดให้สร้างเมืองขึ้นที่ ดงละคร ”[3]
(แผนที่เมืองดงละคร อ้างอิงจากสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา)
แต่
กระนั้นชาวบ้านหรือคนในท้องถิ่นก็มีการอธิบายถึงเมืองดงละครในรูปแบบตำนาน
หรือนิทานพื้นบ้านที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านดงละครเล่าและเชื่อสืบต่อกันมาคือ
เรื่องผีละครเมืองลับแล ไว้ว่า
“เมื่อถึงวันดีคืนดี ซึ่งมักจะเป็นวันเพ็ญ 14 – 15 ค่ำ จะมีเสียงพิณพาทย์ลาดตะโพนแว่วมาตามสายลม
บ้างก็ว่ามีเสียงมาจากทางตะวันออก แต่คนที่อยู่ทางตะวันออกก็ว่ามาจากทางใต้
คนที่อยู่ทางใต้ก็ว่ามาจากทางเหนือ เป็นเสียดังนี้ จับไม่ได้ว่ามาจากทางไหนตามเสียงไปก็หาย
เล่าลือกันอีกว่าผีในดงชอบละคร ถ้าใคร มาร้องละครภายในบริเวณดงนี้จะเป็นไข้ตาย
ผีจะเอาไปอยู่ด้วย หากมีคนจะร้องละครแล้วมีคนห้ามผีจะเอาคนห้ามไปแทน
จึงทำให้ไม่มีใครกล้ามาร้องละครเลย”กลายมาเป็นที่มาของดงละคร
ชุมชนโบราณดงละครมีพัฒนาการมาจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงปลายซึ่งมีพัฒนาการสังคมค่อนข้างสูง
ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้เคียงคือบ้านนา อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
ได้อพยพเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เมืองดงละคร แล้วค่อยๆ
พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนในวัฒนธรรมทวารวดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13[4] ซึ่งการเคลื่อนย้ายนี้อาจมีสาเหตุมาจากการเกษตรที่มีเฉพาะตามริมคลองบ้านนา
ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอ
จึงต้องย้ายไปยังพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำนครนายกที่สามารถทำการเพาะปลูกได้ดี[5] คือ บริเวณเมืองโบราณดงละคร
ซึ่งห่างจากเมืองนครนายกปัจจุบันไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร
เนื่องจากมีองค์ประกอบสำคัญในการตั้งถิ่นฐาน
กล่าวคือพื้นที่รอบดงละครเป็นที่ลุ่มเหมาะสมกับการเกษตรกรรม ตลอดจนมีเส้นทางสามารถติดต่อกับชุนชนต่างถิ่น
ดงละคร
เป็นเมืองโบราณที่มีพื้นที่ไม่กว้างขวางมากนัก เคยเป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรทวารวดี
ผังของเมืองเป็นรูปไข่หรือเกือบกลม
การเลือกทำเลที่ตั้งบนเนินดินบริเวณชายฝั่งทะเลเดิม
จากการขุดค้นทางโบราณคดีในเขตเมืองดงละคร
พบเศษภาชนะดินเผา ประเภทหม้อมีสี เศษภาชนะดินเผา ซึ่งกำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่
14
– 16 ทำให้เห็นความเจริญเติบโตของชุมชนแห่งนี้
ซึ่งมีการอยู่อาศัยสืบเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี
สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชุมชนโบราณที่เมืองดงละครที่เคยมีการอยู่อาศัยหนาแน่นพอสมควร[6]
ใน
เมืองโบราณดงละครได้พบเศษภาชนะดินเผาและตะคันดินเผาหลายชิ้นมีร่องรอยเขม่า
ไฟแสดงว่ามีการถูกใช้งาน
อันเป็นหลักฐานว่ามีการอยู่อาศัยของคนสมัยโบราณอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามได้พบเมล็ดข้าวสารที่ถูกเผาจนเป็นถ่านซึ่งอย่างน้อยก็แสดงให้
เห็นชัดเจนว่าข้าวเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของคนสมัยโบราณที่ดงละคร
[7] รวมทั้งนิเวศน์วัตถุประเภทเมล็ดพืชเผาไฟต่างๆ
ที่ประกอบอาชีพทำเกษตรกรรมของชาวเมืองดงละคร
อีกทั้งยังพบว่ามีการหลอมโลหะใช้เป็นเครื่องมือเกษตรอีกด้วย
ทั้งนี้สันนิษฐานว่าภายในเมืองน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นปกครองประชาชนโดยทั่วไปจะกระจายอยู่รอบเมือง
และบริเวณรอบเนินเดินอันเป็นที่ลุ่ม โดยมีคันดิน 2 ชั้น ซึ่งต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก ปัจจุบันเหลือเพียงชั้นเดียว
และคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบตัวเมืองอันเป็นศูนย์กลางการปกครอง
จากการสำรวจพบว่าเดิมทางน้ำที่เข้ามาหล่อเลี้ยงคูเมือง
น่าจะเชื่อมกับลำน้ำเก่าทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นส่วนของคลองโพธิ์
แต่ปัจจุบันตื้นเขินไปหมดแล้ว[8]
แสดงให้เห็นถึงขนาดของชุมชนที่ค่อนข้างใหญ่ นอกจากนี้พัฒนาการทางเทคนิควิทยา
และสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนย่อมผลักดันให้เกิดการทำงานเฉพาะด้านขึ้น
ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิดการปกครองโดยผู้นำ ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสิน ผู้ชี้นำ
และผู้รักษากติกาของสังคม
จากการพบโบราณวัตถุ
การสำรวจและการขุดค้นทางโบราณคดี ขี้ว่าเมืองดงละครนี้เป็นเมืองโบราณขนาดกลาง
ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเมืองใหญ่ๆ เช่น เมืองศรีมโหสถ เมืองพระรถ
เมืองอื่นๆแถบลุ่มแม่น้ำบางปะกง จากลักษณะของเมืองที่อยู่ใกล้แนวชายฝั่งทะเลเดิม
แม้ว่าจะไม่อยู่ชิดติดทะเล แต่อาจจะมีช่องทางติดต่อกับทะเลได้โดยสะดวก[9]
จึงทำให้เมืองดงละครเป็นชุมชนท่า ที่มีความเจริญเติบโตของชุมชนขึ้นตามลำดับ
ถึงแม้ว่าจะมีพัฒนาการที่น้อยกว่า
แต่อาจมีความสำคัญในฐานะที่เป็นตัวกลางระหว่างเมืองศรีมโหสถ
กับชุมชนเมืองอื่นๆทางทิศตะวันตก และทิศเหนือของเมืองดงละคร
อีกทั้งยังรับวัฒนธรรมแบบทวาราวดีในภาคกลางของไทยและวัฒนธรรมขอมจากอีสานตอนใต้
หรือจากฝั่งตะวันออก ปราจีนบุรี จันทบุรี มาใช้ในชุมชนตามความเหมาะสมของสถานการณ์
หลักฐานที่พบ
จึงสามารถอธิบายได้ว่าเมืองดงละครสามารถเติบโตตั้งขึ้นเป็นชุมชนที่เป็นเมืองท่าสำคัญในระหว่างสมัยประวัติศาสตร์
ในการติดต่อกับ อินเดีย จีน และ เปอร์เซีย ที่มีการแลกเปลี่ยนวัตถุกัน
และการทำเครื่องประดับเองในกลุ่มดงละคร
ซึ่งดงละครมิได้โดดเดี่ยวแต่มีการติดต่อทั้งภายในและภายนอก [10]
ทำให้มีชุมชนแห่งนี้มีการเจริญเติบโตขึ้นเป็นเมืองที่สำคัญแห่งหนึ่ง
การที่เมืองดงละครก้าวขึ้นมามีความเจริญได้นั้นพิจารณาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเมืองที่อยู่ลึกเข้าไป
และตั้งอยู่กึ่งกลางของ 2 ลุ่มน้ำคือ
ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ส่งผลให้ดงละครเป็นแหล่งที่รับอารยธรรมจากเมืองต่างๆ
อีกทั้งยังเป็นจุดแวะพักทางการค้าของบริเวณภูมิภาคตะวันออก
เพราะเมื่อพ่อค้าเดินทางจากอ่าวไทยเข้าสู่ศรีมโหสถ ที่เป็นเมืองท่าชายฝั่งแล้ว
ก็จะเดินทางไปยังดงละคร เพราะ จะเป็นจุดแวะพักทางการค้าตลอดจนหาเสบียงอาหาร
จึงทำให้เมืองดงละครเจริญเติบโต เป็นแหล่งที่มีผู้คนเข้ามาทำการค้าเศรษฐกิจที่เป็นแหล่งที่ตั้งที่เชื่อมโยงระหว่างภาคกลาง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ซึ่งจะต้องเดินทางผ่านดงละครทั้งสิ้น
ประการต่อมาที่ทำให้ดงละครมีความเจริญเติบโตของชุมชนได้นั้นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
ที่สำคัญคือ แร่ควอทซ์ ที่สามารถนำมาทำเครื่องประดับ
และยังมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกธัญพืช
ที่จะเป็นอาหารหล่อเลี้ยงคนในชุมชนแห่งนี้ และคนต่างถิ่นที่เดินทางมาแวะพัก
ทำให้มีความเจริญของเมือง
เพราะดินบริเวณนี้เกิดจากการทับถมของตะกอนลำนำดังนั้นจึงบริบูรณ์ด้วยแร่ธาตุที่น้ำได้พัดพา
ประการต่อมาดงละครใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเมืองอื่นๆ เช่น ดีบุก เหล็ก
ทองคำ ฯลฯ โดยใช้แร่ควอทซ์ เป็นแลกเปลี่ยนกับสินค้าจากเมืองอื่นๆ
ทำให้เมืองดงละครมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้เมืองสามารถเลี้ยงตนเองอยู่ได้ไม่เฉพาะแต่การทำเกษตรอย่างเดียว[11]
ดัง
นั้นจากตำนานคำบอกเล่า
หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจึงสามารถยืนยันได้ถึงการตั้งถิ่นฐาน
เป็นลักษณะของชุมชนที่สำคัญและมีการเจริญเติบโตในฐานะเมืองท่าอีกแห่งหนึ่ง
ในภูมิภาคตะวันออกที่สามารถเชื่อมต่อไปยังชุมชนอื่นๆ
ทั้งภาคกลาง และภาคอีสาน
ซึ่งดงละครเองมีการขยายตัวของเมืองโดยที่การสันนิษฐานว่ามีการแบ่งการอยู่
อาศัยชองผู้ปกครอง
และผู้อยู่ใต้การปกครอง
มีแหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่การเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนเพื่อเลี้ยงประชาชนในดง
ละครอีกด้วย
[1] กองโบราณคดี.(2536). รายงานการขุดค้นและขุดแต่งเมืองดงละคร
อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก. กรุงเทพฯ :กองโบราณคดี.
หน้า 13.
[2] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. (2544).
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนครนายก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
หน้า 23 – 24.
[3]
ชัยยุทธ มณีรัตน์ .(2530). การศึกษารูปแบบลูกปัดแก้วจากแหล่งโบราณคดี ดงละคร
ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก . สารนิพนธ์ศิลปศาสตร์บัณฑิต. ภาควิชาโบราณคดี.
คณะโบราณคดี. มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 16.
[4] เย็นจิต สุขวาสนะ.(2540). ดงละครกับความสำคัญของโบราณคดีฝั่งตะวันออก.
วารสารประวัติศาสตร์. หน้า 101.
[5] กองประวัติศาสตร์ส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. (2539) ประวัติศาสตร์เมืองนครนายก. กรุงเทพ : เมืองโบราณ. หน้า 28.
[6] กองโบราณคดี.(2536). รายงานการขุดค้นและขุดแต่งเมืองดงละคร
อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก. กรุงเทพฯ :กองโบราณคดี.
หน้า 23 – 33.
[7] แหล่งเดียวกัน หน้า 18.
[8] ภารดี มหาขันธ์. (2555).
การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของภาคตะวันออกยุคต้น (ยุคก่อนประวัติศาสตร์ – รัตนโกสินทร์ตอนต้น). ชลบุรี : สาขาไทยศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. หน้า 144.
[9] กองโบราณคดี. (2536). รายงานการขุดค้นและขุดแต่งเมืองดงละคร
อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก. กรุงเทพฯ :กองโบราณคดี.
หน้า18
[10] จารึก วิไลแก้ว. (2538). แหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับเส้นทางเดินทัพและเส้นทางติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สระบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี. กรุงเทพฯ :
กรมศิลปากร. หน้า 106.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น