วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

“รัฐฉาน” ประวัติศาสตร์ความทรงจำ สมัยอาณานิคมสู่ยุคแห่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า

“รัฐฉาน” ประวัติศาสตร์ความทรงจำ สมัยอาณานิคมสู่ยุคแห่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า




“รัฐฉาน” ประวัติศาสตร์ความทรงจำ
สมัยอาณานิคมสู่ยุคแห่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า
               
                  นายสุธี ไชยจำเริญ ภาควิชาประวัติศาสตร์
                  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ
                การศึกษาเรื่อง รัฐฉาน ประวัติศาสตร์ความทรงจำสมัยอาณานิคมสู่ยุคแห่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ การศึกษาประวัติศาสตร์พัฒนาการของรัฐฉาน ประเทศพม่า การศึกษาถึงผลกระทบต่อการเข้ามาของอังกฤษในรัฐฉานประเทศพม่า ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง สังคมวัฒนธรรม ตลอดถึงนโยบายแบ่งแยกและปกครองของอังกฤษได้สร้างผลกระทบที่เป็นมรดกตกทอดมาสู่รัฐฐานจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างไร และปัญหาของความขัดแย้งระหว่างรัฐฉานและรัฐบาลกลางของพม่าในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งจากสัญญาปางหลวงที่เคยกระทำกันมาในอดีต
          ผลการศึกษาพบว่า เข้ามาของอังกฤษมาพร้อมกับการแบ่งแยกชนพื้นเมืองออกจากชาวพม่า ทำให้เกิดการแตกแยกร้าวฉาน เป็นผลทำให้รัฐฉานมีสถานภาพที่แตกต่างไปจากเดิม ผลทกระทบที่เข้ามามีทั้งผลดีและผลเสีย โดยส่วนมากจะเป็นผลเสียซึ่งส่งผละยะยาวถึงปัจจุบันเป็นความขัดแย้งทางชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะมีเบื้องหลังทางด้านการเมือง ผลประโยชน์ทางทรัพยากร จึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง อีกทั้งชาวรัฐฉานก็ยึดถือคำมั่นสัญญาในการลงนามที่เมืองปางหลวง ที่หวังว่าจะสามารถแยกตัวเองออกมาเป็นรัฐที่สามารถปกครองตนเองได้ เหล่านี้เป็นผลสะท้อนมาจากการกระทำของอังกฤษเป็นมรดกที่ตกทอดจากยุคอาณานิคม ก้าวล่วงเข้ามาสู่ยุคสมัยปัจจุบันซึ่งทำให้พม่าเกิดความขัดแย้งภายในชาติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
บทนำ
ประเทศพม่าประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านวัฒนธรรมและภาษาพูด ในส่วนของพม่าแท้จะประกอบไปด้วยชาวพม่าเป็นส่วนใหญ่ และมีกลุ่มมอญ ไทยใหญ่และกะเหรี่ยงผสมผสานอยู่บ้าง แต่ในเขตชายแดนแล้ว ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีภาษาพูดแตกต่างกันออกไปมากกว่า 100 ภาษา ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ล้วนมีโครงสร้างการปกครองไม่ซับซ้อน เพียงแค่ระดับหมู่บ้านหรือหัวหน้าเผ่า หรือในขณะที่บางกลุ่มก็มีวัฒนธรรมและโครงสร้างการปกครองที่สูงถึงขั้นมีผู้ปกครองนครรัฐในระดับเจ้าฟ้า[1] คือ ไทยใหญ่
          รัฐฉาน (Shan) หรือ รัฐไทใหญ่ (ในภาษาไทยใหญ่ เรียกว่า เมิ้งใต้) ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งในพม่าหรือสหภาพเมียร์มาร์ ถือได้ว่ารัฐฉานเป็นดินแดนที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศพม่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทั้งด้านการเป็นรัฐที่มีความมั่งคั่งของทรัพยากรเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมอันเกิดจากการมีดินแดนอยู่ทามกลางวัฒนธรรม กระแสหลักที่หลั่งไหลมาจากอำนาจรัฐขนาดใหญ่ คือ อาณาจักรจีน อาณาจักรไทย และอาณาจักรพม่า โดยมีจารีตทางประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักพม่ามานานหลาย ศตวรรษ สภาวะเช่นนี้ได้ทำให้เกิดการถ่ายทอดและการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมา ยาวนานในรัฐฉาน กระทั่งเกิดระดับขั้นของพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม และมีโครงสร้างทางการเมืองการปกครองตามแบบแผนของตนเอง[2]
การศึกษาเรื่องรัฐฉาน ประวัติศาสตร์ความทรงจำสมัยอาณานิคมสู่ยุคแห่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า นี้ สะท้อนให้เห็นภาพกว้างๆของประวัติศาสตร์รัฐฉาน และประวัติศาสตร์พม่าๆไปพร้อมกัน โดยศึกษาตามช่วงระยะเวลาของประวัติศาสตร์ ให้หลักฐานเอกสารตำราทางวิชาการมาวิเคราะห์ออกมาในรูปแบบการพรรณา โดยประกอบไปด้วย ภูมิหลังประวัติศาสตร์ของรัฐฉานในสมัยรัฐจารีตที่มีความเป็นเอกภาพอย่างไร รวมถึงเรื่องของสภาพสังคมวัฒนธรรมก่อนการเข้ามาของอังกฤษ รัฐฉานมีระบบการปกครอง ประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อที่เป็นของตนเอง จนก้าวเข้าสู้ช่วงสมัยอาณานิคมที่อังกฤษใช้นโยบายการแบ่งแยกและปกครองส่งผลกระทบในทุกๆมิติ ของรัฐฉานก็ว่าได้ ซึ่งถือได้ว่าพหุสังคมแบบเก่าและการเกิดขึ้นของพหุสังคมแบบใหม่ในรัฐฉาน มีกลุ่มของมิชชันนารี ที่เข้ามาเผยแพร่ความความความเชื่อและการพัฒนาด้านสาธารณสุข การจัดระบบการศึกษาแผนใหม่ตามแนวทางอังกฤษ ฯลฯ ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย จนกระทั้งเข้าสู่ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีการเกิดขบวนการชาตินิยม ที่รัฐบาลพม่าจะให้รัฐฉานสามารถแยกการปกครองตนเองได้ แต่กระนั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่มองเรื่องชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป จนกระทั่งเป็นปัญหาเรื้อรัง ถึงขั้นมีกองกำลังติดอาวุธต่อสู้เพื่อแบ่งแยงดินแดนในพม่าเกิดเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง
ภูมิหลังประวัติศาสตร์ “รัฐฉาน” ในสมัยรัฐจารีต
          ในสมัยที่พม่ายังปกครองด้วยระบบราชาธิปไตย ก่อนหน้าที่ดินแดนพม่าตอนบนจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในตอนปลายคริสต์ศวรรษที่ 19 บรรดาหัวเมืองของพวกรัฐฉาน สองฟากแม่น้ำสาละวิน ยังมีการปกครองด้วนระบบเจ้าฟ้าหรือเจ้าเมือง หัวเมืองใหญ่ๆเป็นอิสระต่อกันแต่ต้องส่งส่วยและตัดหาแรงงานให้กับราชสำนักพม่า
ในรัฐฉานมีหัวเมืองต่างๆ 33 หัวเมือง ปกครองโดยผู้นำที่สืบทิดตำแหน่งโดยสายเลือด ผู้นำเหล่านั้นมีลำดับศักดินาแตกต่างกัน ทว่าก็มีความเท่าเทียมกันทางอำนาจในขอบข่ายของตนทั้ง 33 หัวเมืองดังกล่าว จัดลำดับศักดินาได้ดังนี้ ระดับเจ้าฟ้า (ChaoFah) 16 ตำแหน่ง ระดับเมียวซา (Myo Za) 12 ตำแหน่ง ระดับฉ่วนกันมู (Shue gunhm) 3 ตำแหน่ง ระดับงวยกันมู (Ngne ganhmu) 6 ตำแหน่ง แต่ภายหลังทุกตำแหน่งได้รับการยอมรับให้เป็นเจ้าฟ้าทุกตำแหน่ง[3]
ตั้งแต่ในรัชสมัยพระเจ้าอลองพญาช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ลงมา ซึ่งเป็นผลจากการที่ทางราชสำนักพม่าเข้าไปควบคุมการปกครองภายในของหัวเมืองขึ้นเข้มงวดกว่าที่เป็นมา อีกทั้งยังมีความพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานระหว่างราชวงศ์พม่ากับธิดาเจ้าเมืองแระเทศราชต่างๆ ในเกือบ ทุกรุ่นอายุ ซึ่งความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางวัฒนธรรมและเครือญาติเช่นนั้น ได้ดำรงสืบต่อมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้ามินดงช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่กลับเสื่อมทรามลงในรัชสมัยพระเจ้าสีป้อ กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์อลองพญาช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งนี้เนื่องเพราะกษัตริย์พระองค์หลังทรงเก็บภาษีอย่างขูดรีดจากหัวเมืองประเทศราช อีกทั้งยังเป็นกษัตริย์ที่โหดร้าย ได้สังหารบรรดาเชื้อพระวงศ์และมเหสีของพระเจ้ามินดงลงเสียเป็นอันมาก ด้วยความหวาดระแวงว่าจะเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ โดยบรรดาผู้ที่ถูกสังหารเหล่านั้นมีเชื่อสายเจ้าฟ้าจากหัวเมือง “ไต” (รัฐฉาน) อยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง
ความไม่พอใจต่อราชสำนักพม่าด้วยเกตุเหล่านั้นทำให้บรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยสองฟากแม่น้ำสาละวิน(รัฐฉาน) อย่างเช่น เมืองเชียงตุง เมืองนาย รวมถึงเมืองเล็กเมืองน้อยที่เป็นบริวารของหัวเมืองทั้งสอง แข็งข้อกับราชสำนักพม่า โดยตั้งศูนย์กลางซ่องสุมกำลังประกาศตัวเป็นอิสระอยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน กลุ่มนี้ต้องการปลดพระเจ้าสีป้อออกจากตำแหน่ง แล้วสถาปนาเจ้าลิมปินซึ่งเป็นเชื้อสายเก่าในราชวงศ์พม่าขึ้นเป็นกษัตริย์แทน แต่ยังไม่ทันได้กระทำการใดลงไปก็พอดีกับที่อังกฤษประกาศยึดพม่าตอนบน พร้อมกับเนรเทศพระเจ้าสีป้อไปอยู่ที่อินเดียเสียก่อน
สภาพสังคมวัฒนธรรมก่อนการเข้ามาของอังกฤษ
                สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ได้มีส่วนอย่างมากในการกำหนดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากิน ตลอดจนวิธีคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการกำหนดลักษณะทางเศรษฐกิจ                   สภาพสังคม และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มภายในรัฐฉานด้วย การที่รัฐฉานตั้งอยู่ในเขตที่มีทั้งบริเวณรายลุ่มแม่น้ำไหลผ่านหุบเขาและมีเทือกเขาเป็นแนวยาว ลักษณะเช่นนี้ ได้ส่งผลให้สังคมจารีตรัฐฉานมีความเป็นพหุสังคมในรูปแบบสังคมแบบรัฐในหุบเขา เกิดการสร้างชุมชนที่รวมตัวกันอยู่ในลักษณะกลุ่มหมู่บ้าน มีผู้นำระดับหมู่บ้าน และบางกลุ่มมีการรวมตัวกันตั้งเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย โดยมีเจ้าเมืองเป็นหัวหน้า ชีวิตของผู้คนในสังคมฉาน จะผูกพันด้วยเรื่องของครอบครัว เทศกาลทางพุทธศาสนา และการหมุนเวียนตามฤดูกาล[4]
          พลเมืองของรัฐฉานส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ และชาวเขาเผ่าต่างๆ สอดคล้องกับการที่รัฐฉานได้ถูก ขนานนามว่าเป็นดินแดน “หลอยสามซิบ ไตสามซิบ” อันหมายถึง การเป็นรัฐแห่งภูเขาสามสิบลูกไตสามสิบเผ่า สิ่งนี้ได้แสดงถึงธรรมชาติของรัฐฉานในทางภูมิศาสตร์และความเป็นพหุสังคม หรือการเป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในรัฐฉาน ส่วนใหญ่อ่านเขียนไม่ได้ นอกจากบางกลุ่มที่ได้รับวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาเช่นเดียวกับชาวพม่า
          รัฐฉานประกอบไปด้วยชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม ซึ่งแบ่งรัฐฉานออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ คนในเขตพื้นที่ราบ และกลุ่มชาวเขาบนที่สูง ทั้งสองกลุ่มนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีต โดยมีวิถีการดำรงชีพและระบบสังคมที่ตรงกันข้าม ระบบสังคมในที่สูง จะมีระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ในจารีตของระบบเครือญาติ ขณะที่ระบบในพื้นที่ราบหุบเขาอย่าง ไทใหญ่ (รัฐฉาน) รัฐไม่มีพรมแดนชัดเจน มีระบบความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับอำนาจของเจ้าฟ้า ความสัมพันธ์ทั้งสองระบบมีความขัดแย้งและการพึ่งพาอาศัยกัน เหตุมาจากระบบเศรษฐกิจแบบรัฐตอนในทวีป อย่างรัฐฉาน รวมถึงการขาดแคลนทรัพยากรในแต่ละพื้นที่เหล่านี้ได้เป็นข้อจำกัดอย่างสำคัญที่ทำให้ทั้งสองกลุ่มมีการติดต่อพึ่งพากันมาตั้งแต่ในอดีต จนนำมาสู่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ทั้ง ภาษา และเศรษฐกิจ
          การแลกเปลี่ยนภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมต่างๆกับอาณาจักรรัฐฉานกับอาณาจักรใหญ่อย่างเช่น จีน อินเดีย ผ่านอาณาจักรพม่า และสยาม(ล้านนา) ซึ่งมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนในพื้นที่รัฐฉานทั้งสองฟากแม่น้ำสาละวินเป็นอย่างมาก การถ่ายทอดวัฒนธรรม จนก่อให้เกิดเอกลักษณะร่วมกันที่สำคัญ ก็คือ การรับเอาพระพุทธศาสนา จากอาณาจักรใหญ่เข้ามาในสังคมรัฐฉาน จนมีบทบาทต่อชีวิตของผู้คนรัฐฉาน  และฝังรากลึกในเวลาต่อมา
          ในอดีตพุทธศาสนายังเข้ามาไม่ถึง มีการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสิ่งเหนือธรรมชาติ (Animistic worship) เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปแบบงานประเพณี พิธีกรรมต่างๆ เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาผสมกลมกลืน ศาสนาพุทธถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้นำใช้เพื่อการส่งเสริมการกระชำอำนาจ เข้าสู่ศูนย์กลาง ดังจะเห็นได้จากสมัยที่รัฐฉานตกอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์บุเรงนอง กลางศตวรรษที่ 16 ศาสนาพุทธได้มีส่วนให้เจ้าฟ้าและชาวรัฐฉานยอมรับการปกครองวัฒนธรรมพม่า
นโยบายแบ่งแยกและปกครองของอังกฤษต่อรัฐฉานในสมัยอาณานิคม
          อังกฤษเข้ามาในพม่าโดยในช่วงแรกเข้ามาแทรกแซงพม่าในนามบริษัทอีสอินเดีย (East India Company) จนมีชัยชนะเหนือพม่าตนบน (Upper Burma) และได้รวมส่วนต่างๆของพม่าเข้ามาเป็นมณฑลเดียวของอินเดีย โดยใช้การปกครองแบบเดียวกับที่ใช้กับอินเดีย มาใช้ที่พม่า โดยยกเลิกการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการแต่งตั้งข้าหลวงจากอินเดียมาปกครองพม่า และให้ข้าราชการฝ่ายปกครองมาบริหารรัฐพม่าแทนข้าราชการในราชสำนักเดิม[5]
          อังกฤษเข้ามาแบ่งพม่าออกเป็น 2 ส่วน คือ พม่าแท้ (Proper Burma) และส่วนบริเวณภูเขา   (Hill Areas) หรือเขตชายแดน (Frontier Areas) พม่าแท้ใช้การปกครองโดยตรง (Direct rule) และปกครองบริเวณภูเขาโดยอ้อม (Indirect rule) รวมทั้งรัฐฉานก็อยู่ในส่วนบริเวณนี้ด้วย กล่าวคือ ปล่อยให้ผู้ปกครองเผ่าหรือแคว้นปกครองกันมาแต่ตั้งเดิมปกครองต่อไป แต่ให้อยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของผู้บริหาร ชาวอังกฤษ[6] ในช่วงแรกการครอบครองพื้นที่พม่าตอนบน อังกฤษยังไม่ได้เข้ามาจัดการเขตรัฐฉานปัจจุบันอย่างทันทีทันใด เนื่องเพราะอังกฤษก็ยังไม่ทราบว่าดินแดนที่พระเจ้าสีป้อครอบครองอยู่เดิมมีอาณาเขตแผ่ไปถึงที่ใด อีกทั้งอังกฤษยังมีความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของดินแดนรัฐฉานอยู่น้อยมาก ซึ่งในช่วงเวลานี้เองเกิดเหตุการณ์ในดินแดนรัฐฉานเต็มไปด้วยความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมือง เมืองต่างๆ แตกแยก เป็นก๊กเป็นเหล่าและพุ่งรบกันเองเป็นโกลาหล โดยในจำนวนก๊กเหล่านี้มีทั้งกลุ่มที่ต้องการสถาปนาระบบกษัตริย์กลับคืนมา และกลุ่มที่ต้องการสวามิภักดิ์อยู่ภายใต้การอารักขาของอังกฤษ อย่างไรก็ดี อังกฤษสามารถควบคุมสถานการณ์ให้สงบลง ด้วยการผนวกเมืองทั้งสองฟากแม่น้ำสาละวินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพม่าตอนบนได้ทั้งหมด เมื่อปีค.ศ. 1887[7]  แต่กระนั้นในขณะที่การปกครองพม่าแท้มีวิวัฒนาการของรูปแบบประชาธิปไตย ที่แนะนำโดยอังกฤษ มีการพัฒนาเติบโตไปตามครรลองภายใต้การดูแลและควบคุมของรัฐบาลอังกฤษ ส่วนการปกครองในเขตบริเวณภูเขา (รัฐฉาน) กลับยังเหมือนเดิม และถูกมองว่าล้าหลัง (Backward Areas) อังกฤษไม่ค่อยจะให้ความสนใจเท่าไหร่ แต่อยู่ภายใต้การแนะนำห่างๆของข้าหลวงใหญ่ และข้าราชการท้องถิ่นสังกัดหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรงคือ Burma Frontien Serrice ซึ่งทำให้เกิดการ “แตกแยก” หรือบางครั้ง “ลักลั่น” กล่าวคือในส่วนที่เป็นแคว้นต่างๆของรัฐฉาน ซึ่งอังกฤษถือว่ามีระบบการปกครองที่พัฒนาเหนือกว่าชนเผ่าอื่นๆ ผู้ปกครองอังกฤษได้จัดตั้งเป็น “สหพันธ์รัฐฉาน” (Federation of Shan States) ขึ้น มีสภานิติบัญญัติ  (หรือสหภาพผู้นำแห่งรัฐฉาน Federal Council of Shan Chiefs) ประกอบด้วยเจ้าฟ้าผู้ครองแคว้น หรือ  เจ้าเมืองในแต่ละรัฐเป็นสมาชิก (โดยในแง่บุคคลผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าฟ้า ล้วนเป็นผู้ที่ยอมสวามิภักดิ์ต่ออังกฤษทั้งสิ้น) โดยมีข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษเป็นประธานสภา ทำหน้าที่อภิปรายและแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับกิจการภายใน และการใช้งบประมาณในสหพันธ์รัฐฉาน
สหพันธ์รัฐฉาน ภายใต้การปกครองของอังกฤษ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือภาคเหนือประกอบด้วยเมืองสำคัญๆ อย่างเช่น แสนหวีเหนือ แสนหวีใต้ สีป้อ ต่องแป่ง ตัวเมืองหลวงอยู่ที่ ล่าเสี้ยว และภาคใต้มีเมืองนาย ยองห้วย หมอกใหม่ เชียงตุง โดยมีตองยี เป็นเมืองหลวง[8]
แผนที่แสดงชื่อเมืองต่างๆ ในเขตรัฐฉาน[9]
ต่อมาได้จัดตั้งคณะกรรมการสามัญประจำสภา (Standing Committee) ขึ้นมาอีกหนึ่งคณะ  เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับข้าหลวงใหญ่ ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับรัฐฉานโดยตรง จึงเท่ากับอังกฤษยกระดับการปกครองของรัฐฉานขึ้นมาอยู่เหนือการปกครองส่วนอื่นๆ ของบริเวณชายแดนอีกขั้นหนึ่ง ในทางการเมืองจึงเริ่มต้นนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในความหมายของการเป็นดินแดนคนละส่วนกับ “พม่า” ซึ่งเป็นไปตามนโยบายแบ่งแยกและปกครอง
ซึ่งการปกครองทางอ้อมนี้ อังกฤษอ้างว่า เพื่อบริหารจัดการหัวหน้าชนเผ่ามากกว่าประชาชน  ซึ่งดำเนินงานผ่านไปได้ด้วยดีแต่กระนั้นก็เพราะอังกฤษกลัวว่าจะเป็นภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ต่อรัฐ เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นเขตที่กองกำลังภายนอกใช้โจมตีที่ราบลุ่มอิระวดี และรัฐฉานมีความก้าวหน้าทางการเมืองที่สุด ในบรรดาดินแดนในเขตภูเขา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐที่มีโครงสร้างทางชนชั้นที่ชัดเจน มีการปกครองในลักษณะที่ซับซ้อนกว่า และครอบครองพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กินอาณาบริเวณมากกว่า นอกจากนี้ รัฐฉานยังเป็น พวกเจ้าฟ้า (Sawbwas) อยู่ในตำแหน่งที่เทียบได้กับเจ้าผู้ปกครองเหนือหัวที่เป็นอิสระแต่ต้องส่งบรรณาการให้กับกษัตริย์ที่กรุงอังวะ และอยู่ในฐานะ “ตู่-จี” หรือ “เมี้ยว” ภายใต้การควบคุมทางการบริหารของอำนาจจากส่วนกลาง ดังนั้นอังกฤษจึงง่ายกว่าที่จะตั้งองค์กรในพื้นที่โดยทางอ้อม[10]
นโยบายการแบ่งแยกและปกครอง ซึ่งแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์แล้ว ทั้งสองส่วนคือพม่าแท้และชนกลุ่มน้อยยังไม่มีความสัมพันธ์กันอันเนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศ จึงทำให้ไม่มีความเป็นเอกภาพและความเสมอภาคทางด้านการเมืองแล้ว ยังไม่มีความเสมอภาคทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย อังกฤษได้ทุ่มเทงบประมาณให้กับการพัฒนาส่วนของพม่าแท้ ความเจริญทางด้านสาธารณูปโภค การเมือง การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ บริเวณส่วนชายแดน ในแถบรัฐฉาน กะเหรี่ยง ฯลฯ ถูกทิ้งให้มีวิถีการดำเนินชีวิตไปตามครรลองดั้งเดิมของจารีตและวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ตน ความแตกต่างของพม่าทำให้ความเจริญไม่เท่าเทียมกัน เกิดความแปลกแยกทางด้านสังคมโดยรวม[11]
ระบบอาณานิคมกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะ สังคมวัฒนธรรม ในรัฐฉาน
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมพม่าภายหลังการเขายึดครองของอังกฤษกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบาย “แบ่งแยกและปกครอง” (Divide and Rules) ก่อให้เกิดความแตกแยกทางเชื้อชาติพันธุ์   มากยิ่งขึ้นในเรื่องปัญญาชนกลุ่มน้อย ทำให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังจนถึงทุกวันนี้[12]
เป็นเวลากว่า 60 ปี ที่รัฐฉานอยู่ในสถานะไม่ต่างจากประเทศราชในระบบอาณานิคมและภายใต้ยุคสมัยของอาณานิคมอังกฤษนี้ รัฐฉานมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง สังคมวัฒนธรรม ของระบอบอาณานิคม ซึ่งส่งผ่านมานั้น แท้ที่จริงเป็นรูปแบบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดทอนอำนาจของผู้ปกครองรัฐฉาน และยังพบอีกว่าการเข้ามาของอาณานิคมย่อมส่งผลในระดับชนชั้นปกครองและสังคมระดับราษฎรที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้มีประเด็นที่สำคัญก็คือ รูปแบบพหุสังคมแบบเก่าและการเกิดขึ้นของพหุสังคมแบบใหม่ในรัฐฉาน สมัยอาณานิคม การเข้ามาของมิชชันนารีกับความแปรผันทางความเชื่อและการพัฒนาทางด้านสาธารณสุข การจัดระบบการศึกษาแบบใหม่ในรัฐ ตลอดจนการแสดงอัถลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทั้งภาษา สถาปัตยกรรม และการแต่งการ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐฉาน และส่งผ่านเป็นมรดกของอาณานิคมนอกเหนือผลกระทบจากนโยบายแบ่งแยกและปกครอง มาถึงปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
พหุสังคมแบบเก่าและการเกิดขึ้นของพหุสังคมแบบใหม่ในรัฐฉาน[13]
ภายใต้การบริหารรัฐอาณานิคมของอังกฤษนั้น มีลักษณะเด่นชัดอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “นโยบายการดึงเอาคนนอกเข้าสู่สังคมพื้นเมือง” นโยบายนี้ได้ถูกมาใช้ในรัฐฉาน และได้ทำให้รัฐฉานซึ่งเดิมเป็นสังคมจารีตแบบรัฐในหุบเขาที่มีความหลากหลายทางชาติพันธ์หรือความเป็นพหุสังคมอยู่ก่อนแล้ว กลายเป็นมีรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากยุคจารีตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในรัฐฉานในยุคจารีตนั้นเป็นแบบพหุสังคมที่มีการหยิบยืมและการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมโดยการเหลื่อมซ้อนไม่แบ่งแยกจากกันชัดเจน ระหว่างคนไทยใหญ่(รัฐฉาน) และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด การค้า ความเป็นมิตร รวมถึงการทะเลาวิวาท ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา สิ่งเหล่านี้ล้วนต่างจากทัศนคติของอังกฤษซึ่งมองสภาวะความแตกต่างทางชาติพันธ์ว่าเป็นเรื่องที่ต้องแบ่งแยกขาดออกจากกัน ไม่สามารถเชื่อมโยงผสมกลมกลืนกันได้ ภายใต้ทัศนะของผู้ปกครองอย่างอังกฤษ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้คนและสังคมของรัฐใต้ปกครองนี้เอง เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งในรัฐฉาน อังกฤษจึงจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในรัฐฉาน ตามทัศนะคติของอังกฤษที่มองปัญหาอย่างไม่เข้าใจถึงธรรมชาจิ ของความหลากหลายทางสังคมเดิมภายในรัฐ ดังเช่น กรณีเกิดขึ้นของกบฏคะฉิ่นทางตอนเหนือที่ต่อต้านอำนาจเจ้าฟ้าเมืองแสนหวี(รัฐฉาน) การที่ขุนนางไทใหญ่เข้าไปปกครองกดขี่ห่มเหง อังกฤษจึงให้ทั้งสองชาติพันธุ์อยู่แยกจากกัน โดยยุติข้อขัดแย้ง โดยการแต่งตั้งผู้ช่วยข้าหลวงปกครองให้เข้ามาติดต่อและมีอำนาจโดยตรง กับกลุ่มคะฉิ่นบริเวณตอนเหนือของแสนหวี (รัฐฉาน) ซึ่งความสำเร็จของอังกฤษในการจัดการปัญหานี้ได้
ซึ่งการแก้ไขปัญหาความแตกต่างนี้โดยให้แยกจากกันเท่ากับเป็นการแบ่งแยกและปกครองระหว่างชาติพันธุ์ในรัฐฉานซ้ำซ้อนย่อยลงไปอีก จากนโยบายแบ่งแยกและปกครอง ที่อังกฤษใช้ในกาปกครอง               อาณานิคมของพม่า ซึ่งส่งผลต่อกลไกในการดำเนินการดำรงอยู่ของผู้คนในดินแดนรัฐฉานทีละน้อย เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดช่องว่างทางชาติพันธุ์ให้มีมากขึ้น ตอกย้ำด้วยนโยบาย “การดึงเอาคนนอกเข้าสู่สังคม” พื้นเมืองอังกฤษในรัฐอาณานิคม เหล่านี้ ยังทำให้เกิดรูปแบบของพหุสังคมแบบใหม่สมัยอาณานิคมในรัฐฉานที่ต่างไปจากเดิม โดยมีการพัฒนาชนชั้นขึ้นมาใหม่ การปรากฏขึ้นของกลุ่มชนชั้นต่างๆ ภายใต้แนวคิดสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งแยกหน้าที่ การทำงานเพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรณีของอาณานิคมอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย มลายู พม่า และรัฐฉาน ก็จะเป็นรูปแบบของพหุสังคมที่สามารถแบ่งกลุ่มคนที่ปรากฏได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก ข้าราชการอังกฤษในฐานะผู้กำหนดนโยบาย กลุ่มที่สองกลุ่มข้าราชการระดับล่าง ผู้ปกครองท้องถิ่น กลุ่มที่สามราษฎรในท้องถิ่น กลุ่มที่สี่คือคนนอกสังคม ชาวอินเดีย ชาวจีน ถูกนำเข้ามาเป็นแรงงาน ขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงไม่แปลกนักที่ไทใหญ่ (รัฐฉาน) สมัยอาณานิคม จะมีทัศนะต่อคนพม่าว่าเป็นคนต่างชาติต่างถิ่น ทั้งๆที่อยู่ในแผ่นดินใกล้ชิดกัน
สภาพสังคมรัฐฉาน จึงเป็นลักษณะของพหุสังคมแบบใหม่ ขณะที่คนพื้นเมืองเดิมโดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ชาวอังกฤษซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ต่างยึดกุมตำแหน่งระดับสูงในระดับระบบราชการและเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันเฉพาะในพื้นที่ทางเศรษฐกิจ (ตลาด) เท่านั้น               โดยประชากรแต่ละเชื้อสายเผ่าพันธุ์จะรักษาประเพณี วัฒนธรรมจารีตทางศาสนาและวิถีชีวิตไว้อย่างเหนียวแน่น กระทั่งกลายเป็นสังคมที่มีเชื้อสายเผ่าพันธุ์ต่างสมาคมอยู่เฉพาะในชุมชนของตน
มิชชันนารี ความความเปลี่ยนผ่านทางความเชื่อและการพัฒนาด้านสาธารณสุข[14]
กลุ่มมิชชันนารีได้เข้ามาเผยแพร่ความเชื่อทางศาสนาแบบคริสตเตียนในรัฐฉาน ค.ศ. 1908 มีมิชชันนารีที่เข้ามามากกว่า 6,000 คน ทำให้เกิดการผันแปรทางความเชื่อที่อดีตนั้นนับถือ ผีสางเทวดา กลับมาเปิดประตูนับความเชื่อของคณะสอนศาสนามิชชันนารีได้นำความเปลี่ยนแปลงเข้ามาสู่ชาวรัฐฉาน
ขณะเดียวกันการเผยแพร่ศาสนาในหมู่ชาวพื้นเมืองพื้นที่ราบในรัฐฉาน แม้จะเป็นการสอดแทรกเข้าในกิจกรรม เช่น ร้องเพลง เล่านิทาง แจกเสื้อ การบำเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ แต่ประสบความสำเร็จน้อยมาก จึงมีการพัฒนาทางด้านสาธารณสุขในรัฐ ซึ่งแต่เดิมประเพณีความเชื่อเรื่องโรคภัยไข้เจ็บจะอยู่กับเวทย์มนต์คา สิ่งเหนือธรรมชาติ หรือคำสาปแช่ง ดำเนินการรักษาโดยการรับศีลรับพรจากพระสงฆ์ แต่เมื่อมิชชันนารีเข้ามามีการฉีดวัคซีนแทน เพื่อป้องกันไข้ทรพิษ มีการแนะนำให้รู้จักการใช้ยากควินิน ป้องกันมาลาเรีย จัดการแหล่งน้ำเพื่อป้องกันอหิวาตกโรค การเปลี่ยนแปลงทางด้านการอนามัยภายในรัฐก็คือ การที่ประชาชนในรัฐมีพื้นฐานที่สำคัญก็คือยาที่ผลิตจากตะวันตก
การจัดระบบการศึกษาแบบใหม่[15]
เนื่องจากทัศคติระบบการศึกษาของอังกฤษที่มีความแตกต่างจากวิถีดั้งเดิมของรัฐฉาน มีการปลูกฝังความคิดความรู้แบบใหม่ผ่านระบบการศึกษา แต่เดิมกระบวนการเรียนรู้แบบจารีตมีวัดและพระสงฆ์เป็นแกนกลาง อังกฤษมองว่าไม่ดีพอ ดังนั้นนโยบายการจัดการเตรียมระบบการศึกษาแบบใหม่ จึงถูกนำมาแทนที่การศึกษาแบบจารีต แต่ไม่เกิดผลมากนัก ซึ่งอังกฤษใช้ 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกการศึกษาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการปลูกฝังวินัยชนชั้นปกครอง เพื่อกล่อมเกลาชนชั้นปกครองให้เกิดการยอมรับและมีทัศนตามกรอบปฏิบัติอังกฤษ แนวทางที่สองคือรูปแบบการศึกษาผ่านทางมิชชันนารี แห่งคริสตจักรที่เป็นการศึกษาของราษฎร เพื่อขจัดความเชื่อภูตผี สิ่งเหนือธรรมชาติ เพราะความเชื่อเช่นนี้เป็นมูลเหตุสำคัญ ที่ทำให้การบริหารงานอาณานิคมดำเนินไปด้วยความยากลำบากและเป็นอันตรายทางการเมือง
ผลสัมฤทธิ์จากการเกิดการศึกษาแม้จะได้รับการตอบรับจากชนชั้นสูง ที่นิยมส่งบุตรหลานเข้าสถานศึกษาแบบใหม่ แต่ประชาชนสามัญยังมีช่องว่างสูงมากระหว่างชนชั้นผู้นำและชาวบ้านในด้านการศึกษา
          การแสดงอัถลักษณ์ทางวัฒนธรรม[16]
          ภาษา ในสมัยที่รัฐฉานอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบทั้งตัวอักษรกลุ่มไทใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการเขียนลักษณะตัวยาวมาเป็นตัวอักษรตัวกลม โดยการสนับสนุนจากทางการอังกฤษ เพื่อใช้แทนตัวอักษรไทใหญ่ ทั้งสิ่งพิมพ์ พระคัมภีร์ และเอกสารของรัฐฉานต่างๆด้วย
         สถาปัตยกรรม รัฐฉานกลายเป็นอีกรัฐหนึ่งของพม่าและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปรากฏรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบใหม่ด้วยการผสมความเป็นตะวันตกทางสถาปัตยกรรม ในยุคสมัยอาณานิคมโดยจะพบว่า “หอคำ” ที่ประทับของเจ้าฟ้า ในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกหรูหราโอ่อ่า โดยมีแรงงานชาวอินเดียเป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างและมีลักษณะสถาปัตยกรรม ผสมผสานระหว่างศิลปะอินเดียและยุโรป หอหลวงนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนภาพของทัศนคติทางแนวคิดที่คล้ายคลึงกันในสังคม ยุคจักรวรรดินิยมและเป็นการย้ำถึงระบบศักดินาในสมัยนั้นจึงไม่แปลกใจ ที่ภายหลังพม่าได้เอกราชจากอังกฤษ สถาปัตยกรรมซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมสมัยอาณานิคมและมีความเป็น จักรวรรดินิยมที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงตุง (รัฐฉาน) สมัยอาณานิคม แห่งนี้จะถูกทำลายไป

หอหลวงเชียงตุง ได้ถูกสร้างขึ้น โดยที่ได้แรงบัลดาลใจจากสถาปัตยกรรมอินเดีย อังกฤษ
ผสมหลังคาแบบไทเขิน
          การแต่งกาย ผลจากการขยายตัวทางการค้าจึงทำให้เกิดการหลั่งไหลประเภทสิ่งทอที่กำลังเป็น ที่นิยมจากภายนอกเข้ามาสู่ชุมชนรัฐฉานเพิ่มขึ้น ในช่วงระยะเวลาที่รัฐฉานตกอยู่ภายใต้อาณานิคมในอารักขาของอังกฤษความนิยมทาง การแต่งกานของผู้คนภายในรัฐฉานก็มีความแปรฝันไปตามกระแสนิยม นั่นก็คือ สินค้า   สิ่งทอความนิยมตะวันตก ในหมู่ชนชั้นสูงมีการเรียนรู้รับเอาวัฒนธรรมรสนิยมการแต่งการเข้ามา
ลักษณะของการแต่งการของชนชั้นปกครองแบบดั้งเดิมของรัฐฉาน
          ดังนั้นเรื่องของการที่สังคมรัฐฉานเป็นลักษณะของพหุสังคมอยู่แล้ว เมื่อการเข้ามาจัดระเบียบของอังกฤษก่อให้เกิดทั้งผมดีและผลเสีย ผลดีก็คือเข้ามาของกลุ่มมิชชันนารี การจัดระบบสาธารณสุข การศึกษา การแสดงอัถลักษณ์ทางวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ทั้ง ภาษา สถาปัตยกรรม การแต่งการ ที่มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอาจจะเพราะว่า อังกฤษเองที่เข้ามาอยู่ในรัฐฉาน ต้องการสร้างคนในบังคับของตนเองขึ้นมาจึงใช้รากฐานทางการศึกษาเข้ามาบังคับใช้ก็เป็นไปได้ ส่วนในส่วนของผลเสียคือ จากนโยบายแบ่งแยกและปกครองและการนำเอาคนนอกเข้าสู้ในพื้นที่ จนทำให้เกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ขึ้น ล้วนก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่รู้จักจบสิ้นในเวลาต่อมา
ขบวนการชาตินิยม - สถานะของรัฐฉานภายหลังประกาศเอกราช
            ขบวนการชาตินิยมของพม่าได้ก่อตัวขึ้นอย่างจริงจังในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914 - 1918) ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ มีอิทธิพลของพุทธศาสนา เป็นตัวกระต้นส่งเสริมการรวมตัวและการปฏิบัติงานของขบวนการต่างๆ แม้ว่าผู้ก่อตั้งขบวนการชาตินิยมจะเป็นชนชั้นใหม่ที่มีค่านิยม แบบตะวันตก แต่อิทธิพลของพุทธศาสนาก็มีอิทธิพลต่อการดำเนินงานของขบวนการชาตินิยมตลอดมา[17]
          ซึ่งต่อมามีการก่อตั้ง “สมาคมชาวพุทธ” (YMBA) ค.ศ. 1906 ซึ่งเป็นขบวนการชาตินิยมที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางของกระบวนการชาตินิยมเน้นในทางศาสนาและวัฒนธรรม กิจกรรมที่ดำเนินงานในช่วงนี้ ประสบความสำเร็จคือ การห้ามสวมเกือก (No Footwear) เข้าวัด ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากชาวพม่าเป็นอย่างดี จนสามารถทำให้ฝรั่งต้องถอดรองเท้าเข้าวัด [18]
          สมาคมชาวพุทธได้ยุบตัวลง มีการตั้งสมาคมใหม่คือ GCBA เน้นปฏิบัติงานในทางการเมืองโดยตรง ขยายวงกว้างออกไปสู่หนุ่มสาว จึงมีการจัดตั้งสมาคม “ชาวเราพม่า” ขึ้นมา ผู้นำเช่น อู อองซาน อูนุ เป็นต้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น บรรดานักศึกษาชาวพม่าและนักการเมืองได้พากันรวบรวมและจัดตั้งกองทัพส่วนตัว ซึ่งในระยะนี้มีการจับตัวชาวพม่าที่เชื่อวาทำการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอังกฤษ อองซาน และพรรพวกรวม 30 คน หรือ “30 สหาย” (30 comrades) ได้ลับลอบหนีออกจากพม่าเพื่อขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นให้ต่อต้านอังกฤษ ซึ่งกลุ่มนี้เองที่ไปรับการฝึกอบรมจารกรรมสงครามจากญี่ปุ่น ต่อมาได้จัดตั้งกองทัพพม่าอิสระขึ้น (Burma Independence Army - BIA) ในปี ค.ศ. 1941 ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่ม 30สหาย และชาวพม่าในไทยประมาณ 200 คน และชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรตำรวจลับของญี่ปุ่นที่ปฏิบัติการในพม่า
          เมื่อญี่ปุ่นยึดพม่าได้แล้วได้แต่ตั้ง ดร.บามอ เป็นนายกรัฐมนตรี ค.ศ. 1942 ซึ่งภายหลังญี่ปุ่นไม่ได้มีความจริงให้ต่อชาวพม่าอย่างแท้จริง ยังพบว่าพยายามกุมอำนาจการปกครองของพม่าอีกด้วยเมื่อคณะของ อองซานได้เดินทางกลับพม่า อองซานได้ก่อตั้ง องค์การสันนิบาตเสรีภาพแห่งประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist Peoples Freedom League : AFPFL) เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ องค์การนี้ภายหลังได้กลายเป็นพรรคการเมือง ชื่อ พรรค AFPFL เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว อองซานและพรรค AFPFL ได้เจรจากับอังกฤษ โดยอังกฤษยืนยันที่จะให้พม่ามีอิสรภาพปกครองตนเองภายใต้เครือจักรภพ และมีข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำพม่าช่วยให้คำปรึกษา แต่อองซานมีอุดมการณ์ที่ต้องการเอกราชอย่างสมบูรณ์ อังกฤษได้พยายามสนันสนุนพรรคการเมืองอื่น ๆ ขึ้นแข่งอำนาจกับพรรค AFPFL ของอองซานแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงยินยอมให้พรรค AFPFL ขึ้นบริหารประเทศโดยมีอองซานเป็นหัวหน้า อองซานมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และต้องการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษโดยสันติวิธี จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ในพรรค AFPFL อองซานและคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน จึงถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1947 ขณะที่เดินออกจากที่ประชุมสภา ต่อมาตะขิ้นนุหรืออูนุได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 1947  โดยอังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่พม่าแต่ยังรักษาสิทธิทางการทหารไว้ 4 มกราคม ค.ศ. 1948  อังกฤษจึงได้มอบเอกราชให้แก่พม่าอย่างสมบูรณ์[19]
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 1948 รัฐบาลพม่าได้ผนวกดินแดนรัฐฉานเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่าตาม “ข้อตกลงปางหลวง” ปี 1947  ซึ่งลงนามโดย อู อองซาน “บิดาเอกราชพม่า” ร่วมกับผู้แทนชนกลุ่มน้อยรัฐฉาน และอื่นๆเพื่อหวังที่จะหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมอังกฤษ ตามคำประกาศในสมุดปกขาวของอังกฤษ และตามเงื่อนไขที่ว่ารัฐบาลพม่าจะยอมให้ชนกลุ่มน้อยมีรัฐบาลปกครองตนเอง เมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่จะให้รัฐของชนกลุ่มน้อยมีสิทธิแยกตัวออกไปจากสหภาพพม่าได้
ความสำเร็จของข้อตกลงปางหลวงเกิดขึ้นเพราะความเป็นผู้นำของออง ซาน รวมทั้งทัศนคติของเขาต่อชนกลุ่มน้อย ในที่ประชุมปางหลวงนี้ ออง ซานนั้นเชื่อในเรื่องของ “เอกภาพในความแตกต่าง” (Unity in Diversity) เขาตระหนักดีว่าพลเมืองพม่านั้นประกอบไปด้วยกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ แล่ตะเผ่าพันธุ์ก็มีวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ของตนที่แตกต่างกันออกไปนโยบายการปกครองของอังกฤษได้ทำให้ เกิดความแตกต่างกันออกไป นโยบายปกครองของอังกฤษได้ทำให้เกิดความแตกแยกระหวางกลุ่มชาติพันธุ์ยิ่งขยาย ใหญ่ขึ้น ดังนั้นหากรัฐบาลใหม่ของพม่าไม่มีความละเอียดอ่อนในการแก้ไขปัญหา ปัญหาความแตกแยกก็ยังคงมีต่อไป และได้เน้นย้ำถึงความเท่าเทียมของประชาชนในเขตพม่าแท้และประชาชนในเขตชายแดน อีกทั้งอิสรภาพในการที่จะดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ประจำเผ่าพันธุ์ ตลอดจนสิทธิในการปกครองตนเองอย่างไรก็ตาม อองซาน มีความเห็นสำหรับกรณีการเป็น “ชาติ” ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า มีแต่กลุ่มไทยใหญ่หรือฉาน (Shans) เท่านั้นที่มีคุณสมบัติเป็นชาติได้ ทั้งนี้เพราะไทใหญ่มีอาณาเขตเป็นของตนเอง มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆที่เพียงเป็นชนกลุ่มน้อยเท่านั้น
ในช่วงสิบปีแรกของการอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐฉานและรัฐบาลพม่า ผู้นำรัฐฉานต่างให้ความร่วมมือเป็นอันดีในการปกครองและบริหารประเทศร่วมกับรัฐบาลพม่า แม้ว่าในระยะเวลาเดียวกันจะเกิดการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลพม่าและพรรคคอมมิวนิสต์พม่า แต่ชาวไทยใหญ่ (รัฐฉาน) ก็ให้ความร่วมมือและมั่นคงอยู่กับรัฐบาลกลางของพม่า
          ต่อมาเมื่อถึงปี ค.ศ. 1957 ซึ่งครบกำหนด 10 ปี ตามข้อตกลงที่เมืองปางหลวง ปรากฏว่ารัฐบาลพม่ากลับเพิกเฉย เมื่อบรรดาผู้แทนรัฐต่างๆทักท้วงในสิทธินี้รัฐบาลพม่าก็ไม่ยินยอม ชนกลุ่มน้อยถือว่ารัฐบาลพม่ากระทำผิดคำมั่นสัญญา จึงเป็นมูลเหตุให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆดำเนินการต่อต้ายรัฐบาลสหภาพพม่าอย่างเปิดเผย โดยอาศัยพื้นที่ในท้องถิ่นที่ตนอยู่เป็นฐานปฏิบัติการต่อสู้ ซึ่งรัฐบาลพม่าก็ได้พยายามทำการปราบปรามอย่างรุนแรง[20] และสาเหตุที่สำคัญที่รัฐฉานต้องการแยกตนเป็นอิสระก็คือเพราะพม่าต้องการที่จะยึดอำนาจการปกครองของรัฐฉาน และถ่ายโอนอำนาจของบรรดาเจ้าฟ้าทั้งหลายให้เข้าสู่อำนาจส่วนกลางของรัฐบาลกลางที่ย่างกุ้ง นอกจากนี้รัฐบาลพม่ายังได้พยายามที่จะเข้าไปแทรกแซงในกิจการภายในของรัฐบานอยู่ตลอดเวลา
นโยบายของรัฐบาลพม่าต่อรัฐฉาน และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ
          จากที่อองซานได้ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศพม่าในช่วงแรก ได้รักษาคำมั่นสัญญาของเขาที่มีต่อชนกลุ่มน้อย(จากที่ได้กล่าวมาแล้ว) และได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลใหม่ของพม่าให้การรับรองสิทธิของชนกลุ่มน้อยและรัฐฉาน ตามที่ได้ตกลงกันในข้อตกลงปางหลวง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ อองซาน ได้ถูกลอบสังหารในระหว่างการประชุมร่างรัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ. 1947 ทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายของเขาต่อชนกลุ่มน้อยได้สำเร็จ แม้ว่าอูนุ ซึ่งเป็นทายาทการเมืองของ อองซาน พยายามที่จะสานต่อนโยบายของอองซาน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องมาจากสาเหตุ ปัญหาทางภูมิศาสตร์ ซึ่งมีแม่น้ำ ป่าทึบ ทำหน้าที่เป็นเครื่องขวางกั้นประชาชนออกจากกัน การทะเลาะเบาะแว้งความเห็นที่ไม่ตรงกัน และที่สำคัญคือการปกครองภายใต้อาณานิคม ซึ่งเป็นตัวเรงให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจกันและตั้งตนเป็นศัตรูกัน  ซึ่งในช่วงเวลาที่อูนุปกครองนี้สัมพันธ์ภาพของกลุ่มต่างๆ ชาติพันธุ์ การเมือง รัฐบาล กลับเข้าสู่ขั้นวิกฤตในสมัยของอูนู ถึงเขาเชื่อว่าทุกคนเป็น “บุตรสาวและบุตรชายของมาตุภูมิพม่า” และการที่พม่าควรจะเป็นรัฐเดียว มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว ไม่ควรจะแบ่งเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย นำไปสู่การพยายามไม่ให้แยกรัฐแต่กระนั้นในช่วงเวลา 10 ปี แรกที่เขาบริหารกับเกิดปัญหาวุ่นวายขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยมากที่สุด โดยเขาเองพยายามให้มีการเจรจาแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และมักลงท้ายด้วยการต่อสู้  ซึ่งกล่าวได้ว่ารัฐบาลอูนุได้ทำสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลชุด ก่อนหน้าได้ให้สัญญากับชนกลุ่มน้อยเป็นการกระทำที่สวนทางกันที่ให้สัญญาไว้ แต่แรก
          ในสมัยต่อมาคือสมัยที่ รัฐบาลของเนวิน ได้ทำการยึดอำนาจจากอูนุ ซึ่งมีนโยบายตรงไปตรงมาและมีความชัดเจนคือการไม่เห็นด้วยกับชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธ์ที่จะแยกออกไปเป็นรัฐอิสระ ซึ่งเกิดการต่อสู้สงครามกลางเมืองที่เลวร้ายมาก ซึ่งเขายึดหลัก 2 ประการในการบริหาร คือรณรงค์เพื่อต่อต้านกองกำลังของชนกลุ่มน้อยในบริเวณชนบทอย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างระบบควบคุมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางผ่านระบบพรรค การเมืองพรรคเดียวซึ่งกระจายจากย่างกุ้งไปครอบคลุมเหนือบริเวณชนกลุ่มน้อย ดังนั้นสถานะของรัฐฉานในเวลานี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองจัดตั้งกองกำลัง เพิ่งเริ่มต้นเมื่อราวปี ค.ศ. 1958 เมื่อรัฐบาลพม่าผิดสัญญาที่จะไม่ยอมมอบเอกราชให้กับ “ฉาน”  เพื่อแยกตนเป็นอิสระ ต่อสู้ความเสมอภาค และรักษาวัฒนธรรมของกลุ่มตนไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ชนกลุ่มน้อยเคยได้รับคำมั่นสัญญาว่า จะให้ชนกลุ่มน้อยตั้งแต่สมัยการร่วมมือกันต่อสู้ เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ คือ นายพลอองซาน และผู้นำต่อต้านจักรวรรดินิยมคนอื่นๆเคยสัญญาไว้แต่ปรากฏว่าในสมัยหลัง รัฐบาลพม่ากลับมีนโยบายว่า ชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มต้องยอมวางอาวุธและรัฐบาลใช้นโยบายปราบปรามรุนแรงตลอดมา 
กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในรัฐฉานเหตุการณ์ในรัฐฉานปัจจุบัน
          ภายหลังรัฐฉานมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเป็นกองกำลังติดอาวุธและเคลื่อนไหวอยู่ตามชายแดนไทย พม่า คือ สภาฟื้นฟูรัฐฉาน (Shan State Restoration Council - SSRC) และกองทัพเมืองไต (Mong Tai Army - MTA) นำโดยขุนส่า ประธานบริหาร พันเอกกันเจ็ด ประธานสภา เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่รัฐฉานภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน บริเวณชายแดนไทยพม่า แถบบริเวณจังหวัดภาคเหนือ ขบวนการต่อต้านรัฐบาลพม่าได้เริ่มดำเนินงานภายในประเทศ แต่ถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปรามอย่างหนัก บรรดาชนกลุ่มน้อยที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและมวลชนราษฎรจึงพากันอพยพหลบภัย มาอาศัยพื้นที่บริเวณชายแดนไทย พม่า อย่างไรก็ดีรัฐบาลเผด็จการพม่าภายใต้การนำของอูเนวิน ก็สามารุครอบครองอำนาจการปกครองประเทศไว้ได้ตลอด ซึ่งต่อมาขบวนการนักศึกษาพม่าได้ฟื้นตัวขึ้นมา ค.ศ. 1987 – 1988 ส่งผลให้การเรียกร้องประชาธิปไตยได้รับการสนับสนุนจาดหลายๆฝ่าย ซึ่งร่วมเดินขบวนประท้วงอูเนวิน จนมีการปราบปรามอย่างหนัก เหตุการณ์ความรุนแรงทำให้พม่าเปลี่ยนรัฐบาลถึง 3 ครั้ง โยพลเอกซอหม่องได้ทำการรัฐประหาร และจัดตั้งสภาฟื้นฟูกฎและระเบียบแห่งรัฐ ทำหน้าที่เป็นกลไกฝ่ายบริหาร และต่อมาปี 1992 ก็ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้นำมาเป็นพลเอกตาน ฉ่วย ซึ่งเป็นเหตุให้นานาชาติ เช่นสหรัฐอเมริกา คว่ำบาตรต่อพม่า เพื่อให้ปรับปรุงปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นประชาธิปไตย พม่าจึงไปพึ่งพาจีน ซึ่งจีนมีส่วนให้การสนับสนุนการยุติการสู้รบกับชนกลุ่มน้อยต่างๆที่เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐฉาน โดยเฉพาะบริเวณชายแดนพม่า จีน ให้กลับเข้ามาเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลพม่าเป็นจำนวนมาก
          ปัจจุบันชนกลุ่มน้อยในรัฐฉานแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่าที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลพม่า และฝ่ายที่ยังต่อต้ายรัฐบาลพม่า ฝ่ายที่ต่อต้ายรัฐบาลพม่า ได้แก่ กลุ่มสภาฟื้นฟูรัฐฉาน และกองทัพเมืองไต(ขุนส่า)  โดยการต่อต้านทั้งทางการเมืองและกองกำลังติดอาวุธ ไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีหนทางยุติการสู้รบหรือแนวทางการเจรจาสันติภาพกันได้[21] แต่ภายหลังก็มีการวางอาวุธของกองทัพเมืองไต(ขุนส่า) ได้ทำข้อยุติหยุดยิง  ทำให้กองกำลังของชนกลุ่มเคลื่อนไหวชาวไทใหญ่(รัฐฉาน) อื่นๆ ไม่เป็นที่หนักใจของรัฐบาลพม่าเพราะด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ล้าสมัยจึงไม่มีปัจจัยที่สนับสนุนกองกำลังให้เกิดการต่อสู้ได้มากนัก ปัจจุบันนี้มีองค์กรที่น่าสนใจคือ องค์กรรัฐฉาน เป็นของชาวไทใหญ่โพ้นทะเล และกลุ่มนักการเมืองพรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย เป็นพรรคการเมืองของรัฐฉานที่เป็นของชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุด[22]
บทสรุป
ในช่วงรอยต่อของประวัติศาสตร์รัฐฉานจากสมัยจารีต เข้าสู่ยุคอาณานิคมจนถึงช่วงปัจจุบัน ปัญหาเรื้อรังที่เป็นมรดกตกทอดตั้งแต่สมัยอาณานิคมปัญหาหนึ่งก็คือ ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของประเทศพม่า อันมีต้นตอรากเหง้าของปัญหามาจากความหลากหลายของพลเมืองในประเทศซึ่งเจ้าอาณานิคมคืออังกฤษได้ใช้นโยบายแบ่งแยกและปกครองเข้ามาควบคุม ทำให้เกิดความแตกแยกทางชาติพันธุ์มากขึ้น  และกระบวนการจัดการทางสังคมวัฒนธรรมของอาณานิคม ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน มีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดี กล่าวคือผลดีที่ มิชชันนารีเข้ามาจัดการศึกษา สาธารณสุข ของรัฐฉานให้ดีขึ้น ส่วนผลเสียที่เป็นมรดกสืบต่อให้เกิดความขัดแย้งที่มาจากการนโยบายแบ่งแยกและ ปกครองนั้นทำให้เกิดความคิดของสังคมพหุวัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน และปัจจัยที่เป็นตัวเร่งคือรัฐบาลพม่า นโยบายที่ขัดแย้งกัน โดยไม่ทำตามข้อตกลงปางหลวง อีกทั้งเรื่องของผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจ การเมือง นั้น จึงทำให้เกิดความขัดแย้งภายในตลอดเวลา ซึ่งทำให้รัฐฉานการต้องการแยกตัวออกมาจากพม่า
ปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยของพม่าเป็นปัญหาการเมืองภายในประเทศพม่าเองที่ไม่สามารถสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คนในชาติได้ ประกอบกับชนเชื้อชาติที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะรัฐฉาน นอกจากนี้ยังมีระบบการปกครองที่แตกต่างรวมถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในช่วงอาณานิคม รวมถึงสัญญาปางหลวงที่จะให้ชนกลุ่มน้อยสามารถแยกตัวออกไปตั้งเป็นรัฐปกครองตนเองได้ ฉะนั้นเมื่อเวลาต่อมาพม่าเป็นประเทศที่เริ่มเปิดความความสัมพันธ์กับภายนอก ยังมีลักษณะของการไม่ไว้วางใจคนในชาติ (Xenophobia) อีกด้วย นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความขัดแย้งเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติในพม่า ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความขัดแย้งกับรัฐฉาน และชนกลุ่มน้อยต่างๆ หรือแม้กระทั่งการแทรกแซงจากต่างประเทศเอง เช่นสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการแทรกแซงเพื่อดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาลพม่า
ความพยายามที่จะยุติการสู้รบภายในรัฐฉานระหว่างรัฐบาลพม่าและกองกำลังกลุ่มต่างๆนั้น เป็นความพยายามที่สมควรได้รับการสนับสนุนแม้หลายฝ่ายจะวิจารณ์ว่าข้อตกลงหยุดยิงที่กองกำลังต่างๆทำไว้กับรัฐบาลพม่า จะเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มิได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่อย่างน้อยก็ช่วยระงับการรบราฆ่าฟันอันมีแต่จะสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ปัจจุบันประชากรรัฐฉานกว่า 5 ล้านคนที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างยากไร้ มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น และยังมีพวกที่ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยหรือจีนอีกเป็นจำนวนมาก หากรัฐฉานปลอดสงครามและมีแต่ความสุข คงเป็นไปได้ว่าประชาชนเหล่านี้จะกลับคืนสู่แผ่นดินเกิดเพื่อร่วมกันพัฒนารัฐฉาน โดยไม่เป็นการสร้างภาระให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องให้การคุ้มครองดูและอีกต่อไป
          ประเด็นสำคัญในทุกวันนี้จึงอยู่ที่ว่า รัฐบาลพม่านั้นมีความจริงใจที่จะให้โอกาสแก่บรรดาผู้นำและปัญญาชนชาวไทใหญ่ (รัฐฉาน)เพียงใด ในการที่จะให้พวกเขามีส่วนร่วมในการบริหารและพัฒนารัฐฉาน วันนี้รัฐฉานก็ยังทำการต่อสู้เพื่อทวงคืนสัญญาที่จะได้ปกครองตนเองจากรัฐบาลพม่าอยู่
แหล่งอ้างอิง
กนกอร สว่างศรี (2552). รัฐฉานกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมภายใต้การปกครอง
ของอังกฤษ ค.ศ. 1886 – 1948. อักษรศาสตรมหาบัณฑิต.สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา.
คณะอักษรศาตร์.มหาวิทยาลัยศิลปากร.
จอห์น เอฟ เคดี้. (2520). ไทย พม่า ลาวและกัมพูชา.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์ฯ.
ทรงวิทย์ ศรีอ่อน.(2538). ปัญหาชนกลุ่มน้อยในรัฐฉาน และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย - พม่า.
รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต.สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง.คณะรัฐศาสตร์.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ธนาสฤษฏิ์ สตะเวทิน. (2555). เอเชียอาคเนย์ พัมนาการทางการเมืองและการต่างประเทศ.กรุงเทพฯ :
 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
บังอร ปิยพันธุ์. (2537). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.กรุงเทพฯ : โอเอสปรินติ้งเฮาส์.
พรพิมล ตรีโชติ. (2542). ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า.กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
โรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์. (2550). รัฐในพม่า.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้า.
วิกีพีเดีย.(2556). ประเทศพม่า. วันที่ค้นข้อมูล 2 ธันวาคม 2556, เข้าถึงได้จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศพม่า
เสมอชัย พูลสุวรรณ. (2552). รัฐฉาน(เมืองไต) พลวัตของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และสังคมการเมือง
ร่วมสมัย.กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร.
อัคนี มูลเมฆ. (2548). รัฐฉาน ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติ.กรุงเทพฯ : มติชน.


[1] พรพิมล ตรีโชติ. (2542). ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า.(กรุงเทพฯ :สำนักงานสนับสนุนการวิจัย).หน้า 51.
[2] กนกกอร สว่างศรี. (2552). รัฐฉานกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมภายใต้การปกครองของอังกฤษ ค.ศ.1886 – 1948.อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต.ประวัติศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร .หน้า 1.
[3] อัคนี มูลเมฆ. (2548). รัฐฉาน ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติ.กรุงเทพฯ : มติชน.หน้า 17.
[4] กนกอร สว่างศรี (2552). รัฐฉานกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมภายใต้การปกครอง
ของอังกฤษ ค.ศ. 1886 – 1948. อักษรศาสตรมหาบัณฑิต.สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา.คณะอักษรศาตร์.มหาวิทยาลัยศิลปากร.หน้า 21.
[5] พรพิมล ตรีโชติ. (2542). ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า.กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.หน้า 13.
[6] แหล่งเดิม.
[7] อัคนี มูลเมฆ. (2548). รัฐฉาน ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติ.กรุงเทพฯ : มติชน.หน้า 104 - 105
[8] เสมอชัย พูลสุวรรณ. (2552). รัฐฉาน(เมืองไต) พลวัตของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองร่วมสมัย.กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร.หน้า 105
[9] แหล่งเดิม.
[10] โรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์. (2550). รัฐในพม่า.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้า.หน้า 130 – 131.
[11] กนกอร สว่างศรี (2552). รัฐฉานกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมภายใต้การปกครอง
ของอังกฤษ ค.ศ. 1886 – 1948. อักษรศาสตรมหาบัณฑิต.สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา.คณะอักษรศาตร์.มหาวิทยาลัยศิลปากร.หน้า 22.
[12] บังอร ปิยพันธุ์. (2537). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.กรุงเทพฯ : โอเอสปรินติ้งเฮาส์.หน้า 133.
[13] กนกกอร สว่างศรี. (2552). รัฐฉานกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมภายใต้การปกครองของอังกฤษ ค.ศ.1886 – 1948.อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต.ประวัติศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร .หน้า 65-67.
[14] กนกกอร สว่างศรี. (2552). รัฐฉานกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมภายใต้การปกครองของอังกฤษ ค.ศ.1886 – 1948.อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต.ประวัติศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร .หน้า 68 – 70.
[15] แหล่งเดิม.หน้า 71 – 73.
[16] กนกกอร สว่างศรี. (2552). รัฐฉานกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมภายใต้การปกครองของอังกฤษ ค.ศ.1886 – 1948.อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต.ประวัติศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร .หน้า
[17] บังอร ปิยพันธุ์. (2537). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.กรุงเทพฯ : โอเอสปรินติ้งเฮาส์.หน้า 189 – 190.
[18] ธนาสฤษฏิ์ สตะเวทิน. (2555). เอเชียอาคเนย์ พัมนาการทางการเมืองและการต่างประเทศ.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.หน้า 50.
[19]วิกีพีเดีย.(2556). ประเทศพม่า. วันที่ค้นข้อมูล 2 ธันวาคม 2556, เข้าถึงได้จากhttp://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศพม่า.
[20] ทรงวิทย์ ศรีอ่อน.(2538). ปัญหาชนกลุ่มน้อยในรัฐฉาน และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย - พม่า.
รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต.สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง.คณะรัฐศาสตร์.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.หน้า 3-4 .
[21] ทรงวิทย์ ศรีอ่อน.(2538). ปัญหาชนกลุ่มน้อยในรัฐฉาน และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย - พม่า.
รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต.สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง.คณะรัฐศาสตร์.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.หน้า 7 .
[22]พรพิมล ตรีโชติ. (2542). ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า.กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. หน้า 84-87.

2 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  2. ดีแล้ว ถูกต้องแล้ว เมื่อเราศึกษาแล้วก็สรุปรวบรวม แจ้งแหล่งอ้างอิง พร้อมทั้งแบ่งปันความรู้เชิงประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง แด่ชนรุ่หลังๆและประชาชนต่อไป

    ครูทองคำ วิรัตน์

    ตอบลบ