ผมค้นหนังสือเก่าที่สะสมไว้เล่มหนึ่ง “คดีสภาปฏิวัติแห่งชาติ” แผนพัฒนาการเมืองไปสู่ “ระบอบประชาธิปไตย” ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้สนใจการเมือง โดยเฉพาะในสถานการณ์บ้านเมืองเราต้องการแสวงหาทางออกเพื่อสลายความขัดแย้งครั้งใหญ่
แม้ว่าจะมีการถกวิเคราะห์กันมามากกว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาหลักคือ ระบอบการเมือง ยังไม่เคยแก้ให้ตกไปได้
ฉะนั้นเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จึงเหมาะควรที่เราท่านน่าจะได้นำมาทบทวนกันอีกครั้ง ตามความคิดเห็นของผม ผมยังมองว่าเนื้อหาในนี้มีความก้้าวหน้ามากทีเดียว และขอได้โปรดพินิจเคราะห์กันเองเถิด
นโยบายหลักของสภาปฏิวัติแห่งชาติ
ประกาศโดยที่ประชุมผู้แทนประชาชนทั่วประเทศ ก่อตั้งสภาปฏิวัติแห่งชาติ ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๐
สภาปฏิวัติแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรลักษณะผู้แทนปวงชนชาวไทยอันแท้จริง ขอแถลงนโยบายหลักของการปฏิวัติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ อันเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ดังต่อไปนี้
๑. สถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จ
ระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะเป็นความต้องการของประเทศชาติและประชาชนแล้ว ยังเป็นปัจจัยอันจำเป็นของการแก้ปัญหาทั้งปวงของชาติอีกด้วย จะต้องสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จจึงจะแก้ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และปัญหาวัฒนธรรมให้ตกไปได้ สภาปฏิวัติแห่งชาติจะสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จด้วยมาตรการต่อไปนี้
๑.๑ เทิดทูนและพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติไทย และคู่กับชาติไทยมาแต่บรรพกาล แม้ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ไทยก็ประกอบด้วยลักษณะประชาธิปไตยเป็นอันมากอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของระบอบพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย จึงเป็นการถูกต้องและจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยจะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งเป็นอุปการคุณสำคัญที่สุดไม่เฉพาะแต่ในการสร้างระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จเท่านั้น หากในการแก้ปัญหาพิเศษต่างๆ ซึ่งสถาบันอื่นไม่อาจแก้ปัญหาได้อีกด้วย
๑.๒ การส่งเสริมความรู้ประชาธิปไตย
การที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จก็ดี การจะใช้ระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาต่างๆ ของชาติก็ดีขึ้นอยู่กับความรู้ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ผ่านมา เป็นเพราะขาดความรู้ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ฉะนั้น จะต้องส่งเสริมความรู้ประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านทฤษฎีและด้านการประยุกต์ทฤษฎีกับสภาวการณ์ และลักษณะพิเศษของประเทศไทย
๑.๓ ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
หัวใจของระบอบประชาธิปไตย คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน นัยหนึ่งคือ การปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชนและของประชาชน แต่ความเป็นจริงอำนาจอธิปไตยยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะนโยบายของรัฐที่ผ่านมายังไม่สนองความต้องการของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ฉะนั้น จึงต้องปรับปรุงนโยบายของรัฐบาลทั้งนโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติและประชาชน และปรับปรุงรัฐสภาให้ทำหน้าที่ของปวงชนอย่างแท้จริง
๑.๔ ทำให้บุคคลมีเสรีภาพบริบูรณ์
เสรีภาพบริบูรณ์ของบุคคลจะมีได้ก็แต่เฉพาะภายใต้อำนาจอธิปไตยของปวงชน เสรีภาพที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของปวงชนนั้น ไม่ใช่เสรีภาพที่บริบูรณ์ ถ้าไม่เป็นเสรีภาพที่เกินขอบเขตแบบอนาธิปไตย ก็เป็นเสรีภาพที่จำกัดเกินควรแบบเผด็จการ และเสรีภาพบริบูรณ์ของบุคคลย่อมทำให้เกิดความรับผิดชอบแก่บุคคล ฉะนั้น เพื่อให้บังเกิดเสรีภาพชนิดนี้จะต้องทำให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันก็ต้องยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่บั่นทอนเสรีภาพของบุคคล
๑.๕ สร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้มั่นคง
เสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยอันจำเป็นของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และปัจจัยอันสำคัญที่สุดของเสถียรภาพทางการเมือง ก็คือ ความสนับสนุนของประชาชน และปัจจัยความสนับสนุนของประชาชน ก็คือ นโยบายที่ถูกต้อง และปฏิบัตินโยบายนั้นให้ได้ผลประจักษ์แก่ประชาชน ฉะนั้นนอกจากจะต้องปรับปรุงนโยบายให้ถูกต้องอย่างสมบูรณ์แล้ว ยังจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยด้วย
๑.๖ สร้างระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง
พรรคการเมืองประชาธิปไตย คือ ผู้แทนทางการเมืองของประชาชนทำหน้าที่จรรโลงและพัฒนาระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่เข้มแข็งจะต้องเป็นพรรคที่มีนโยบายสอดคล้องกับนโยบายแห่งชาติที่ถูกต้อง จะต้องมีการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นระบบและมีลักษณะเป็นพรรคมวลชน มิใช่เป็นเพียงพรรคสภาหรือพรรคนักการเมืองเท่านั้น ฉะนั้น จะต้องส่งเสริมให้การสร้างพรรคการเมืองชนิดนี้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งเงื่อนไขประการแรกคือ จะต้องยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อให้ระบบพรรคการเมืองพัฒนาไปตามธรรมชาติ
๑.๗ ปรับปรุงระบบราชการให้เป็นประชาธิปไตย
ระบบราชการในประเทศไทย ยังเป็นปฏิปักษ์อย่างมากต่อระบอบประชาธิปไตย จึงยังไม่สามารถสนองความต้องการของระบอบประชาธิปไตยได้ การปรับปรุงระบบราชการให้เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นปัจจัยที่จะขาดเสียมิได้ของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย วิธีการปรุงก็คือ ประสานระบบราชการเข้ากับระบบพรรคการเมือง โดยให้ข้าราชการเข้าร่วมกิจการของพรรคการเมืองได้อย่างเสรี ซึ่งจะยังผลให้ข้าราชการได้มีจิตสำนึกทางการเมืองของตน และจิตสำนึกทางการเมืองนั้น จะทำให้ข้าราชการเป็นข้าราชการของประชาชนได้
๑.๘ ส่งเสริมกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ
กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เป็นสิ่งแสดงออกของพลังมวลชนและเป็นพลังผลักดันทางการเมืองในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย แต่กลุ่มผลประโยชน์ย่อมมีความขัดแย้งกัน เพราะมีผลประโยชน์แตกต่างกัน ระบอบประชาธิปไตยย่อมแก้ไขความขัดแย้งด้วยการไม่ทำลายกัน แต่ด้วยการประสานประโยชน์ระหว่างกัน โดยการทำให้ผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผลประโยชน์ของชาติ โดยนายทุน กรรมกร ชาวนา นักศึกษา ฯลฯ จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของฝ่ายอื่นด้วย โดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
๑.๙ ส่งเสริมสถาบันหนังสือพิมพ์และการแสดงประชามติประชาธิปไตย
สถาบันหนังสือพิมพ์ในฐานะฐานันดรที่ ๔ ย่อมเป็นกลไกอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยนอกเหนือจากเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการแสดงประชามติ ฉะนั้นผู้ทำหนังสือพิมพ์จึงเป็นบุคคลในสถาบันซึ่งจะต้องมีความรับผิดชอบกว่าบุคคลธรรมดา การส่งเสริมเสรีภาพบริบูรณ์ของคนทำหนังสือพิมพ์ จึงแตกต่างกับบุคคลนอกสถาบัน จะถือว่า “เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ คือ เสรีภาพของประชาชน” หาได้ไม่
ประชามติที่ถูกต้องเท่านั้นจึงจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนจึงจะเป็น และความถูกต้องของประชามติก็มิได้วัดด้วยจำนวนคนที่แสดง แต่วัดด้วยผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ประชามติใดแม้จะแสดงด้วยคนจำนวนน้อย แต่ถ้าสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมก็เป็นประชามติประชาธิปไตย ฉะนั้น สภาปฏิวัติแห่งชาติจึงสนับสนุนประชามติที่ถูกต้อง แต่จะป้องกันประชามติที่ไม่ถูกต้อง
๑.๑๐ สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย
ขบวนการประชาธิปไตยย่อมประกอบด้วยบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่มีความมุ่งหมายเพื่อความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตย แต่เนื่องจากแนวโน้มแห่งวิวัฒนาการของประเทศไทยเป็นแนวโน้มทางประชาธิปไตย จึงทำให้กลุ่มชนที่เป็นปรปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องแอบแฝงโดยยกเอาประชาธิปไตยขึ้นนำหน้า
สภาปฏิวัติแห่งชาติสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริงทั้งสิ้น แต่จะขัดขวางขบวนการที่ขัดขวางขบวนการประชาธิปไตยที่แอบแฝงอำพราง
๑.๑๑ ทำลายการกดขี่ด้วยอำนาจและอิทธิพล
การกดขี่ด้วยประการใดๆ โดยผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลเป็นลักษณะของระบอบเผด็จการ ตราบใดที่มีการกดขี่โดยผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลตราบนั้นยังไม่มีระบอบประชาธิปไตย หรือไม่มีระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง ฉะนั้นจึงต้องกำจัดการกดขี่ด้วยอำนาจและอิทธิพลทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นให้หมดไป
๑.๑๒ จัดระบอบบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาคและส่วนกลางให้สอดคล้องกันยิ่งขึ้น
การกระจายอำนาจเป็นลักษณะหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย วิธีการคือ ทำให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้น และให้องค์การบริหารส่วนภูมิภาคมีฐานะเป็นตัวแทนขององค์การบริหารส่วนกลางอย่างแท้จริง ไม่ใช่องค์การบริหารส่วนกลางทำงานแข่งขันซ้ำซ้อนกับองค์การบริหารส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่น แต่ให้องค์การบริหารสามส่วนนี้มีการประสานงานกันเป็นอย่างดี
๑.๑๓ สร้างสันติภาพภายในประเทศให้สมบูรณ์ และกระชับความสามัคคีแห่งชาติ
สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย ถึงแม้ว่ากองทัพสามารถยุติสงครามกลางเมืองลงได้โดยพื้นฐานแล้วก็ตาม แต่การต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์แนวทางอาวุธยังดุเดือดเข้มข้นอยู่ โดยฝ่ายคอมมิวนิสต์แนวทางอาวุธพยายามทุกวิถีทางที่จะฟื้นฟูสงครามขึ้นใหม่ ซึ่งถ้าหากฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถทำได้แล้ว สงครามครั้งใหม่จะยังความหายนะแก่ประเทศชาติ และยังความทุกข์ยากแก่ประชาชนมากกว่าสงครามครั้งที่แล้วหลายเท่านัก อันเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงแก่การสร้างระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นที่จะต้องสกัดกั้นการฟื้นฟูสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นการต่อสู้ในแนวทางสันติ ตามนโยบายประชาธิปไตยที่ถูกต้องที่ได้ประกาศไปแล้ว ซึ่งเป็นนโยบายรากฐานของความสามัคคีแห่งชาติ และเป็นเส้นด้ายทองคำร้อยพวงมาลัยแห่งความสามัคคีระหว่างประชาชนทุกหมู่เหล่าอีกด้วย
หมายเหตุ : วันข้างหน้าผมจะนำโพสต์ลงให้อ่านอีีก ขอบพระคุณที่ติดตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น