วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การสร้างประชาธิปไตยทำอย่างไร

การสร้างประชาธิปไตยทำอย่างไร

 

บ้านเราในปัจจุบันเกิดการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางใหญ่โตชนิดไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ความต้องการประชาธิปไตยของพี่น้องประชาชนดังกล่าวได้แสดงออกมาให้เห็นแล้วว่า พวกเขาพร้อมที่จะพังทลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคของการสร้างประชาธิปไตย

ในสภาวการณ์ดังกล่าว กลุ่มการเมืองและคณะการเมือง บางกลุ่มบางคณะ เข้ามานำพาประชาชนไปเรียกร้องประชาธิปไตยไปตามทัศนะของตน โดยไม่เอื้อเฟื้อต่อหลักการและหลักวิชา การนำผิดดังกล่าวนอกจากจะทำให้การต่อสู้ของประชาชน ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าบ้านเมืองไม่มีทางออกแล้ว ยังส่งผลร้ายทำให้ความขัดแย้งของคนในชาติทวีความรุนแรงหนักขึ้นไปอีก

ยิ่งไปกว่านั้น “การนำผิด” ดังกล่าว ยังจะไปสร้างความสับสนให้กับพี่น้องทั่วไปอีกว่า แบบไหนคือประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่ควรทำ อะไรคือสิ่งไม่ควรทำ การสร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร

ประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับหลักวิชาทางการเมือง ใครจะเอาความเข้าใจของตนเองมากำหนดไม่ได้เลย การจะสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จได้ นอกจากจะต้องมีความเข้าใจในลัทธิประชาธิปไตย (Democracy) เป็นพื้นฐานแล้ว ยังจะต้องประกอบด้วยความเข้าใจในปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่เป็นเงื่อนไขสำคัญอีกหลายประการเช่น

1. เราต้องเข้าใจว่า ปัญหาพื้นฐานของชาติคือ ระบอบเผด็จการ (Dictatorial Regime) หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของคนส่วนน้อยที่ดำรงอยู่ยาวนานถึง 77 ปี ประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้ถึงความเป็นเผด็จการนี้ได้ดีแต่นักวิชาการและนักการเมืองบ้านเรากลับไม่รู้ นอกจากไม่รู้แล้วพวกเขายังหลอกประชาชนให้เข้าใจผิดต่อเรื่องนี้อีกด้วย

2. การสร้างประชาธิปไตยหรือการปฏิวัติประชาธิปไตยนั้น ประชาชนต้องทำเอง โดยการทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Soveriegnty of The People หรือ Popular Sovereignty) ไม่ใช่การเรียกร้องเอารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 คืนมาหรือเอารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 คืนไป ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การโค่นรัฐบาลอำมาตยาธิปไตยหรือการยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่อยู่ที่ประชาชนต้องร่วมกัน “โค่น” “ระบอบเผด็จการ”

3. “การเลือกตั้ง” ในขณะที่การปกครองของชาติยังเป็นเผด็จการ ย่อมไม่ใช่ทางออกของชาติ เพราะวันนี้ เป็นวันที่ประชาชนปฏิเสธการปกครองที่ไม่ใช่การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน การเลือกตั้งจะทำได้และเกิดผลดีก็ต่อเมื่อชาติมีการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น

4. เราต้องแยกการปฏิวัติ (Revolution) ออกจากการรัฐประหาร (Coup d’etat) อย่างเด็ดขาด เพราะการปฏิวัติหมายถึงการทำสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้น เป็นการพัฒนาและสร้างสรรค์ ในทางการเมืองหมายถึงการเปลี่ยนระบอบเผด็จการเป็นระบอบประชาธิปไตย ส่วนการรัฐประหารหมายถึงการใช้กำลังยึดอำนาจรัฐโดยผิดกฎหมาย เราจึงไม่ควรเอาคำสองคำนี้มาปะปนกัน เพราะการเห็นการรัฐประหารเป็นการปฏิวัตินั้นเป็นอาชญากรรมทางวุฒิปัญญาซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างประชาธิปไตย

5. การเรียกร้อง ลัทธิรัฐธรรมนูญ (Constitutionalism) หรือการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยของนักวิชาการโดยไม่เรียกร้องลัทธิประชาธิปไตย (Democracy) นั้น เป็นการพ่นพิษใส่ประชาชน เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างสำคัญที่สุดของการสร้างประชาธิปไตยของประเทศไทย ในทางวิชาการเราเรียกขบวนการเมืองชนิดนี้ว่า พวกปฏิปักษ์ปฏิวัติ (Counter Revolution) หรือพวกปฏิวัติซ้อน ซึ่งหมายถึงพวกปฏิวัติที่ทำลายการปฏิวัติ

6. ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism System) ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ตราบใดที่กรรมกรซึ่งเป็นชนชั้นล่าง ยังไม่มีการ ผลักดัน (Pressure) การสร้างประชาธิปไตย ตราบนั้น เป็นอันเชื่อได้ว่าจะยังไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่เป็นจริงเกิดขึ้นได้เลย ระบบทุนนิยมและระบอบประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้ก็มีแต่ความร่วมมือระหว่างกรรมกรกับนายทุนเท่านั้น ขาดข้างใดข้างหนึ่งจะไม่มีระบบทุนนิยมและถ้าวันนนี้ กรรมกรไม่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็จะไม่มีระบอบประชาธิปไตยโดยเด็ดขาด

7. การสร้างประชาธิปไตยจำต้องมีห้วงเวลาในการเปลี่ยนแปลง ในทางวิชาการเรียกว่าระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) หรือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ความล้มเหลวหรือความสำเร็จของการสร้างประชาธิปไตยอยู่ที่ตรงจุดนี้ มันเป็นภารกิจสำคัญของ รัฐบาลเฉพาะกาล (Provisional Government) หรือรัฐบาลชั่วคราว (Interim Government) ไม่ใช่ภารกิจของรัฐบาลรักษาการณ์ (Caretaker Government) (ซึ่งไม่มีอำนาจ) หรือรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองในระบอบเผด็จการ เช่นพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ ที่พรรคพวกนี้ทำไม่ได้ ก็เพราะทั้งหมดเป็นพรรคปฏิกิริยา (Reactionary) เป็นขบวนการเมืองที่ล้าหลัง (Backward) ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตย ไม่ใช่ขบวนปฏิวัติ (Revolutionary) หรือขบวนก้าวหน้า (Progressive)

8. ประเทศไทยมีแต่การปฏิวัติสันติ (Peaceful Line) เท่านั้นที่จะสำเร็จได้ การเคลื่อนไหวด้วย
แนวทางรุนแรง (Violence Line) และการเคลื่อนไหวมวลชนเช่นที่ผ่านมาจึงไม่สำเร็จ การเคลื่อนไหวปฏิวัติในประเทศไทยนอกจากจะต้องใช้แนวทางสันติแล้ว การเคลื่อนไหวปฏิวัติ ยังจะต้องประกอบด้วย
8.1.การเคลื่อนไหวทางความคิด
8.2.การเคลื่อนไหวทางหลักการ
8.3.การเคลื่อนไหวทางการจัดตั้ง

9. การสร้างประชาธิปไตย หัวใจสำคัญอยู่ที่ “แนวทาง”หรือ “มรรควิธี” (Method) ไม่ใช่อยู่ที่ “เจตนาดี” สาระสำคัญของแนวทางก็คือ “อธิปไตยของปวงชน”และ “เสรีภาพของบุคคล” เช่นเดียวกับสาระสำคัญของนโยบาย 66/23 (ที่สามารถยุติสงครามกลางเมืองลงได้ก็ด้วยการขยายเสรีภาพบุคคลและการขยายอำนาจอธิปไตยของปวงชนให้เป็นจริง)

10. การจะสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จได้นั้น เราต้องเข้าใจในความหมายของประชาธิปไตยใน 2 ลักษณะคือลักษณะทั่วไปและลักษณะประยุกต์ ลักษณะทั่วไปคือปัญหาหลักการและหลักวิชาของลัทธิประชาธิปไตย แต่ความรู้เท่านั้นยังไม่พอ เรายังต้องมีความเข้าใจประชาธิปไตยในลักษณะประยุกต์ด้วย กล่าวคือต้องสามารถประยุกต์หลักการและหลักวิชาอันเป็นสากลให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมไทยให้ได้อีกด้วย ถ้าเรายังแก้ไขปัญหานี้ไม่ตก เราก็สร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศไม่ได้

11. เราต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยมีหลายแบบคือ ประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่พัฒนากันมาเป็นร้อยปีแล้วกับประเทศประชาธิปไตยในประเทศที่กำลังพัฒนาว่า “สวมใส่กันไม่ได้” เพราะคนละกรอบสังคม ดังนั้นเราจึงต้องสร้างประชาธิปไตยที่เป็นของเราเอง เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทย
เหตุที่บ้านเราล้มเหลวในการสร้างประชาธิปไตยมายาวนานก็เพราะคณะราษฎร ไปลอกเลียนแบบประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งดุ้นมาครอบประเทศไทยเอาไว้ นักร่างรัฐธรรมนูญคณะต่อๆมาก็ “ดีแต่ลอกของคนอื่นมาใช้” ไม่เคยคิดสร้างแบบของเราขึ้นมาใช้เองเลย จึงทำให้ประชาธิปไตยในบ้านเราล้มเหลวมาจนทุกวันนี้

12. เราต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยนั้นมีทั้งเนื้อแท้และด้านรูปแบบภายนอก ด้านเนื้อแท้คือหลักการ คือคำจำกัดความที่ท่านอับราฮัม ลินคอร์น ได้ประกาศไว้คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นด้านสำคัญที่สุด ด้านรูปแบบภายนอกคือการมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีการเคลื่อนไหวต่างๆตามแบบประชาธิปไตย ซึ่งรูปแบบภายนอกจะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อ “หลักการ” ซึ่งเป็นด้านเนื้อแท้ ปรากฏเป็นจริงแล้วเท่านั้น

13. เราต้องเข้าใจว่า การเลือกตั้ง เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะบรรลุผลให้มีการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนให้ปรากฏเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ “การปกครองแบบประชาธิปไตย” ถูกสถาปนาขึ้นแล้วเท่านั้น แต่ถ้าการปกครองของชาติยังตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งกลับกลายเป็นอุปสรรค ต่อการเป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเลือกตั้งภายใต้ระบอบเผด็จการใดก็ได้เผด็จการนั้นกลับคืนมา ดังนั้น เพื่อให้บรรลุจุดมั่งหมายของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เราจึงจำเป็นต้องระงับการเลือกตั้งไว้ก่อน โดยต้องเข้าใจว่าการไม่มีผู้แทนที่ราษฎรเลือกตั้งมา ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติจะไม่เป็นประชาธิปไตย หากฝ่ายปกครองสามารถรวบรวมเอาความคิดเห็นของประชาชนมาทำการปกครอง ทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง การปกครองนั้นก็เป็นประชาธิปไตย
ในทางกลับกัน ผู้แทนราษฎรซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาโดยตรงแต่ไม่ทำหน้าที่ผู้แทนของประชาชนกลับไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นสูงบ้าง การปกครองนั้นก็ไม่เป็นประชาธิปไตย

14. การที่เราจะสร้างประชาธิปไตยได้ เราต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “เผด็จการ” และคำว่า “อนาธิปไตย” ด้วย การเมืองในบ้านเราดูภายนอกก็เห็นว่า มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง จนเราเข้าใจผิดว่านั่นเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าเรามาดูเนื้อในแล้วก็จะเห็นความเป็นอนาธิปไตยหรือไม่ก็เป็นเผด็จการ ทั้งอนาธิปไตยและเผด็จการก็ต่างล้วนเป็นภัยต่อประชาชนด้วยกันทั้งคู่ ทหารเป็นเผด็จการเราเข้าใจกันดีแต่พรรคการเมืองที่นำมาซึ่งอนาธิปไตย (ทุกครั้งที่มีอำนาจ) เรากลับไม่เข้าใจกัน ซ้ำยังกลับเห็นว่า อนาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยอีกด้วย

15. เราต้องเข้าใจความหมายของของประชาธิปไตยว่ามี 2 นัย คือนัยอันแคบและนัยอันอันกว้าง นัยอันแคบหมายถึงประชาธิปไตยในทางการเมือง นัยอันกว้างหมายถึงระบบประชาธิปไตย (Democratic System) คือหมายถึงระบบสังคมทั้งระบบ ซึ่งประกอบด้วย การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมรวมทั้งเรื่องอื่นๆอีกมากมาย ไม่ใช่มองกันที่รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเท่านั้น การทำให้เกิดประชาธิปไตยอันกว้าง (คือทำสังคมให้เป็นประชาธิปไตยทั้งระบบ) เท่านั้น จึงนำมาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริงได้

16. เราต้องเข้าใจว่า ประชาธิปไตยของไทยนั้นต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ เพราะองค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะ “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” โดยเฉพาะประเทศไทยมีการปกครองแบบ “รัฐเดี่ยว” (Unitary State) ซึ่งต้องใช้การปกครองด้วยวิธี “รวมอำนาจการปกครอง” (Centralization of Administrative Power) จะใช้ “การกระจายอำนาจการปกครองมิได้ หรือจะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้ เพราะผิดหลักวิชารัฐศาสตร์อย่างร้ายแรง และการสร้างประชาธิปไตยโดยสันติได้ ก็มีแต่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น

17. เราต้องเข้าใจว่า ที่การสร้างประชาธิปไตยของคณะราษฎรล้มเหลวนั้น ก็ด้วยเหตุสำคัญ 2 ประการทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ การวางแผนด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลวก็เพราะว่า “เอียงไปทางซ้ายสุด” ไม่ใช่ระบบเสรีนิยม เมื่อผิดพลาดแล้วก็ไม่ได้กำหนดแผนใหม่เข้ามาแทนที่กลับปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ส่วนในทางการเมืองที่ล้มเหลวนอกจาก หลัก 6 ประการของคณะราษฎรขาดหลัก อำนาจอธิปไตยของปวงชน แล้ว คณะราษฎรยังไปเอารัฐธรรมนูญตะวันตก ซึ่งเป็นคนละกรอบ(กับสภาวการณ์ทางประวัติศาสตร์และสังคมของประเทศหรือลักษณะพิเศษของสังคมไทย) มาครอบประเทศไทยไว้ จึงทำให้เกิดการโน้มเอียงไประหว่าง “เผด็จการ” กับ “อนาธิปไตย” ตลอดเวลา

18. เราต้องเข้าใจว่า ประชาธิปไตยกับเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันมิได้ ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้ก็ต้องทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองและการจะทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองได้ ก็ต้องขจัดความเป็นเผด็จการและอนาธิปไตย การจะทำให้เผด็จการกับอนาธิปไตยหมดไปก็ด้วยการทำหลัก อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและเสรีภาพบุคคลบริบูรณ์ให้มีความสมดุลกัน เพราะถ้ามีอำนาจอธิปไตยมากเกินไปก็เป็นเผด็จการ ถ้ามีเสรีภาพมากเกินไปก็เป็นอนาธิปไตย

19. การที่นักวิชาการ นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวมวลชนตั้งสูตรว่า ทหารเป็นเผด็จการ พลเรือนเป็นประชาธิปไตย นั้น ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและหลักวิชา เพราะโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว ยอดนักเผด็จการของโลกล้วนแต่เป็นพลเรือนทั้งสิ้นไม่ว่า ฮิตเลอร์ มุสโสลินี โงดินห์เดียม ฯลฯ และตามหลักวิชาแล้ว ระบอบอะไรหมายถึงอำนาจเป็นของใคร เช่นระบอบประชาธิปไตยหมายถึงอำนาจเป็นของประชาชน ระบอบเผด็จการหมายถึงอำนาจเป็นของชนส่วนน้อย ชนส่วนน้อยนั้นจะเป็นพรรคทหารหรือพรรคพลเรือนก็ได้ทั้งสิ้น

20. เราต้องเข้าใจว่า การสร้างรัฐธรรมนูญนั้นคนละเรื่องกับการสร้างประชาธิปไตย ยังไม่มีที่ไหนในโลกที่เอารัฐธรรมนูญมาสร้างประชาธิปไตยสำเร็จได้สักประเทศเดียว มีแต่การสร้างประชาธิปไตยก่อนแล้วจึงสร้างรัฐธรรมนูญมารักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ บ้านเรากลับดันทุรังที่จะสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นวิปริตพุทธิหรือปัญญาวิปริต

21. ในกรณีที่เริ่มต้นสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือที่เรียกว่า “สร้างประชาธิปไตย” นั้น เป็น “การปฏิวัติ” หรือการทำการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ดังนั้นหากต้องใช้กำลังไม่ว่ารูปแบบใดก็เป็นที่ยอมรับกันโดยหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ว่าเป็นความถูกต้องชอบธรรมทั้งสิ้น

22. ในสถานการณ์ปฏิวัติ เราจำต้องทำความรู้จักกับขบวนการเมือง (Political Movement) ที่สำคัญในประเทศไทย(ซึ่งมีอยู่ในทุกๆประเทศด้วย) ดังนี้
22.1 ขบวนปฏิวัติประชาธิปไตย
22.2 ขบวนเผด็จการ
22.3 ขบวนปฏิวัติสังคมนิยม
22.4 ขบวนรัฐธรรมนูญ

ขบวนประชาธิปไตย มีความมุ่งหมายเพื่อสร้างประชาธิปไตย โดยมีนายทุนที่ก้าวหน้าร่วมมือกับขบวนการรรมกรเป็นกำลังพื้นฐาน

ขบวนเผด็จการ มีความมุ่งหมายเพื่อรักษาระบอบเผด็จการ มีพรรคการเมืองของชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง(นายทุนผูกขาด) เป็นตัวแทนของชนส่วนน้อย โดยทั้งคู่ปฏิเสธความร่วมมือกับชนชั้นล่าง

ขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม เป็นขบวนปฏิวัติที่มาแข่งกับขบวนการประชาธิปไตย ความมุ่งหมายของขบวนการนี้ก็เพื่อไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ ขบวนการนี้มีชนกรรมาชีพเป็นกำลังสำคัญในการสลายชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง

ขบวนการรัฐธรรมนูญ มีความมุ่งหมายเพื่อรักษาระบอบเผด็จการเอาไว้โดยไม่รู้ตัว เป็นขบวนของนักวิชาการเป็นส่วนใหญ่ ขบวนการนี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยอย่างที่สุด เป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการประชาธิปไตยที่ร้ายแรงมากกว่าขบวนเผด็จการ ถ้าขบวนนี้หยุดเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญเมื่อใด ประเทศไทยก็จะเป็นประชาธิปไตยเมื่อนั้น

23. สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ปฏิวัติหรือเป็นสถานการณ์ “ประชาชนขัดแย้งกับระบอบเผด็จการ”จึงเกิด “การเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อกดดันระบอบเผด็จการ”อย่างรุนแรง แต่บรรดานักการเมืองต่างๆซึ่งเป็นฝ่ายเผด็จการ ไม่ต้องการเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยให้เป็นของประชาชน จึงแบ่งขบวนการออกเป็น 2 ขั้ว ระดมสรรพกำลังเข้าต่อสู้กันเองเพื่อแย่งอำนาจและเบี่ยงเบนกระแสปฏิวัติของประชาชน

จากสถานการณ์จำเพาะดังกล่าว “การเคลื่อนไหวมวลชน” ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไร จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวปฏิวัติ (Revolution) ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่การนำของผู้นำเท่านั้นที่เป็นปฏิกิริยา (Reaction)
ดังนั้นถ้ากระแสปฏิวัติของประชาชนรุนแรงมากขึ้นเพียงใดก็จะยิ่งส่งผลทำให้ฝ่ายเผด็จการต่อสู้กัน

รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น และไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ ผู้ชนะก็จะพาประชาชนไปสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ ทำการเลือกตั้งใหม่เพื่อหลอกพรางเอาอำนาจอธิปไตยมาไว้กับตัวเองเหมือนเดิมโดยไม่สร้างประชาธิปไตย
ประชาชนต้องผ่านบทเรียนเหล่านี้ก่อนที่จะได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ว่าในประเทศไหนๆ

24. เราต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าในสิ่งหรือปรากฏการณ์ใดๆ เนื้อหา (Content) และ รูปแบบ (Form) ย่อมเป็นเอกภาพกันเสมอแยกออกจากกันมิได้ ถ้ารูปแบบกับเนื้อหาแยกออกจากกันเมื่อใดก็จะไม่มีสิ่งนั้นหรือปรากฏการณ์นั้นๆ
เช่นเดียวกันถ้าหลักการปกครอง (Principle of Government) กับ รูปการปกครอง (Form of Government) แยกออกจากกันก็จะไม่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย (Democratic Government) กล่าวอีกนัยหนึ่งถ้าระบอบประชาธิปไตยกับระบบรัฐสภาแยกออกจากกัน ก็จะไม่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยไทย

ภายใต้สภาวการณ์อนาธิปไตย (Anarchism) ของประเทศไทยที่มีรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นนายกอยู่ในขณะนี้ นอกจากหลักการปกครองไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว รูปการปกครองก็ยังไม่ใช่ระบบรัฐสภาอีกด้วย รูปแบบและเนื้อหาที่ผิดเพี้ยนดังกล่าวจึงส่งผลทำให้วิกฤติชาติ ครั้งนี้ มีความรุนแรงอย่างที่สุดและหาทางออกไม่ได้ ถ้าทุกพรรคการเมืองเห็นแก่ชาติบ้านเมืองตามที่พูด ก็ต้องวางมือทางการเมืองชั่วคราวแล้วเปิดทางให้ “รัฐบาลเฉพาะกาล” เข้ามาแก้ไขปัญหาก่อน ประเทศชาติจึงมีทางออกได้

25. เราต้องเข้าใจว่าประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เศรษฐกิจได้เปลี่ยนเป็นเสรีนิยม (Liberalism System) โดยมีระบอบประชาธิปไตย (Democratic Regime) ตั้งอยู่บนบนรากฐานของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม สภาพการณ์ดังกล่าว มันจะไปผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางและเป็นไปเอง ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย ก็จะส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับระบอบเผด็จการพัฒนาขึ้นเป็นความรุนแรง และถ้ามีอุปสรรคขัดขวาง (การเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตย) เมื่อใดก็จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง (Civil War) เกิดมวลชนลุกขึ้นสู้ (Mass Uprising) นำความหายนะมาสู่ชีวิตและทรัพย์สินของชาติและประชาชนตามมา

26. เราต้องเข้าใจว่า แนวทางสร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้องของประเทศไทยนั้น คือ แนวทางของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ รัชกาลที่ 5 , 6 ,7 เป็นต้นมา เป็นวิวัฒนาการของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในประเทศไทย ร้อยกว่าปีจนถึงปัจจุบัน โดยมีความมุ่งหมายเพื่อสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย ตามแบบยุโรป และญี่ปุ่น เพราะอยู่ในรุ่นเดียวกัน
ญี่ปุ่นสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยสำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 2432 ภายหลังความสำเร็จสมบูรณ์ของมหาปฏิวัติฝรั่งเศส 15 ปี คือปี พ.ศ. 2414 โดยที่ประเทศไทย ก็เริ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตยมาพร้อม ๆ กับญี่ปุ่น ในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิ มัตซูฮิโต โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินการปฏิวัติประชาธิปไตย ซึ่งในขณะนั้นเรียกทับศัพท์ว่า “เรโวลูชั่น” ด้วยวิธี “การปฏิรูปการปกครอง” ซึ่งเรียกทับศัพท์ว่า “คอเวิร์นเมนต์รีฟอร์ม” เพื่อบรรลุความมุ่งหมายเช่นเดียวกับญี่ปุ่น แต่ต่อมา แนวทางดังกล่าวต้องล้มเหลว ก็เพราะ การยึดอำนาจของคณะราษฎรในสมัยรัชกาลที่ 7 และล้มเหลวมาจนถึงทุกวันนี้ ฉะนั้น การสร้างประชาธิปไตย จึงต้องกลับสู่การนำโดยพระมหากษัตริย์ดังเดิม ก็จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นไปด้วยความราบรื่นและเป็นผลดี

27. การจะทำให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองกันนั้น ก่อนอื่นเราจะต้องมีความเข้าใจรูปธรรมของความขัดแย้งทางสังคม ว่าอะไรคือคู่ขัดแย้ง เมื่อมีความเข้าใจแล้วก็จะแก้ปัญหานั้นได้ มีผู้ที่อธิบายหลักการพิจารณาปัญหานี้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า “ถูกต้อง” ก็คือ “มาร์กซ” และ “เองเกลส์” ซึ่งเป็นผู้สร้าง ปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษ (Dialectic Materialism) ขึ้น แล้วก็ได้นำเอาวัตถุนิยมวิภาษไปประยุกต์กับพัฒนาการของพัฒนาการของสังคมและสรุปขึ้นเป็น วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) โดยถือว่าพัฒนาการของสังคมนั้น ยอมมีความขัดแย้งไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งต้องเป็นไปตาม กฎของวัตถุนิยมวิภาษ เช่นเดียวกับ โลกธรรมชาติทั้งปวง
โดยเห็นว่าความขัดแย้งภายในสังคม ซึ่งนอกจากจะเป็นความขัดแย้งแล้ว ยังเป็นพลังผลักดันพัฒนาการของสังคมด้วยก็คือ ความขัดแย้งระหว่าง “กำลังผลิต” (Productive Force) กับ “ความสัมพันธ์การผลิต” (Relation Production) ในสังคมชนชั้น มันจะแสดงออกเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น โดยรูปธรรมของความขัดแย้งที่แท้จริงก็คือ “กรรมกร” กับ “นายทุน” นั่นเอง ดังนั้น ความปรองดองแห่งชาติในสังคมทุนนิยม จะเป็นไปได้ก็คือ คู่ขัดแย้งตัวจริงของสังคมทุนนิยมต้องสามัคคีกัน และการจะสามัคคีกันได้นั้น อยู่ที่ต้องสร้างประชาธิปไตยร่วมกัน ถ้าตราบใดที่ขบวนการกรรมกรยังไม่เข้าร่วมผลักดันการสร้างประชาธิปไตย ตราบนั้นก็จะยังไม่มีความปรองดองแห่งชาติเกิดขึ้นได้

28. การจะสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จได้ เราต้องเข้าใจว่า ระบอบเผด็จการ (Dictatorial Regime) เนื้อแท้ตัวจริงเป็นอย่างไร การปกครองแบบประชาธิปไตย (Democratic Government) ซึ่งจะเรียกว่า ระบอบประชาธิปไตย (Democratic Regime) ก็ได้ แต่การปกครองแบบประชาธิปไตย กับ ระบอบประชาธิปไตยนั้น แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์อย่างแยกกันไม่ออก ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะ ระบอบ คือ มรรควิธีของการปกครอง กล่าวอย่างรูปธรรมหมายถึง อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ซึ่งมีเพียง 2 อย่างคือ “ปวงชน” และ “ชนส่วนน้อย” ถ้าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนก็เป็น “ระบอบประชาธิปไตย” ถ้าอำนาจประชาธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อยก็เป็น “ ระบอบเผด็จการ” ฉะนั้น ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นหลักการปกครองที่สำคัญที่สุดของ การปกครองแบบประชาธิปไตย และเป็นตัวกำหนดการปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าปราศจากระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าหลักการอื่นหรือเงื่อนไขอื่นเช่นมีเสรีภาพ มีระบบรัฐสภา มีการเลือกตั้งฯลฯ ก็ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย
ระบอบเผด็จการ ตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย มีความหมายตามหลักวิชาคือ อำนาจอธิปไตยของชนส่วนน้อย ชนส่วนน้อยนั้นจะเป็น ชนชั้นสูงก็ได้ ชนชั้นกลางก็ได้ ชนกรรมาชีพก็ได้ อาจจะเป็นทหารก็ได้ เป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ (ที่มีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน) ก็ได้ ชนเหล่านี้ไม่ใช่เป็นผู้แทนของปวงชนทั้งสิ้น

นักการเมืองบ้านเราล้วนเป็นผู้แทนของชนส่วนน้อยทั้งหมด แต่การที่เป็นผู้แทนของ ชนส่วนน้อย ก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นเป็นเผด็จการไปด้วย การจะเป็นเผด็จการได้ก็ต่อเมื่อเข้าไปถืออำนาจอธิปไตยแล้วเท่านั้น ถ้ายังไม่ได้อำนาจอธิปไตยก็ยังไม่ใช่เผด็จการระบอบเผด็จการจึงมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1.เป็นผู้แทนคนส่วนน้อย
2.เป็นคณะหรือพรรคผู้ถืออำนาจอธิปไตย
ดังนั้น เผด็จการที่แท้จริงจึงอยู่ที่ตัวคณะผู้ปกครองหรือรัฐบาล ไม่ใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญเลย แล้วเราจะไปแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

29. การสร้างประชาธิปไตยก็คือ การปฏิวัติประชาธิปไตย กล่าวตามความหมายที่เป็นศัพท์ทางวิชาการก็คือ การทำให้ดีขึ้น แต่ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็หมายถึง การยกเลิกสิ่งไม่ดีแล้วสร้างสรรค์สิ่งดีขึ้นมาแทน ทั้งนี้ก็เพราะว่า การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีไม่สามารถเป็นไปได้ถ้าไม่ยกเลิกสิ่งที่ไม่ดี ทำนองเดียวกับการปฏิบัติธรรมคือต้องมีทั้ง “ปหานะ” และ “ภาวนา” ปหานะก็คือการ “ละ” อกุศลธรรม ภาวนาคือการ “เจริญ” กุศลกรรม ดังนั้นการเจริญกุศลกรรมโดยไม่ละอกุศลกรรมนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ การทำดีโดยไม่ละชั่วจึงเป็นไปไม่ได้ การทำนาโดยไม่กำจัดวัชพืชก่อนจึงเป็นไปไม่ได้
ฉะนั้นการสร้างประชาธิปไตยจึงจำต้องยกเลิกระบอบเผด็จการและการปกครองแบบเผด็จการโดยสิ้นเชิง ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสำคัญดังต่อไปนี้
29.1 ทำให้รัฐบาลของการปกครองแบบเผด็จการสิ้นสุด
29.2 ทำให้รัฐสภาของการปกครองแบบเผด็จการสิ้นสุด
29.3 ยกเลิกธรรมนูญของการปกครองแบบเผด็จการ
29.4 สลายพรรคการเมืองเผด็จการ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือบริษัทค้าการเมืองอันเป็นเครื่องมือทำธุรกิจของบรรดาเจ้าพ่อทั้งหลาย
29.5 สลายกลุ่มผลักดันมาเฟียและองค์กรอิสระทั้งปวงที่เป็นกลไกปกป้องคุ้มครองระบอบเผด็จการ เพราะองค์กรเหล่านั้น “เป็นกลไกพรรค” ไม่ใช่ “กลไกรัฐ”
29.6 ให้จัดตั้ง “สภาปฏิวัติแห่งชาติ” ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรระดับชาติและองค์กรระดับจังหวัด มีผู้แทนในแต่ละอำเภอทั่วประเทศรวมกับผู้แทนอาชีพอย่างเป็นสัดส่วน
29.7 ผู้แทนสาขาอาชีพต่างๆ ได้เปิดประชุมในแต่ละสาขาอาชีพ สะท้อนปัญหาและเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาของอาชีพนั้นๆ
29.8 กำหนดนโยบายประชาธิปไตย ประกอบด้วยนโยบายหลักและนโยบายเร่งด่วนเฉพาะหน้าซึ่งสาระสำคัญของนโยบายเร่งด่วนเฉพาะหน้าควรเป็นดังนี้
29.8.1 ยกเลิกการกดขี่ข่มเหงประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกๆกรณีทันที
29.8.2 ยกเลิกหนี้สินของประชาชนที่มีฐานะยากจนและเฉลี่ยรายได้แห่งชาติให้เกิดความเป็นธรรม
29.8.3 ตรึงและพยุงราคาสินค้า โดยใช้รัฐวิสาหกิจที่ได้ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพแล้วเป็นสำคัญ
29.8.4 ประกันราคาพืชผลเกษตรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ผลประโยชน์ตกแก่ชาวนาชาวไร่อย่างทั่วถึง
29.8.5 ให้ข้าราชการเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงานและพรรคการเมืองได้อย่างเสรี ซึ่งจะยังผลให้ข้าราชการมีจิตสำนึกเป็นข้าราชการของประชาชนอย่างแท้จริง
29.8.6 ให้ผู้แทนรัฐวิสาหกิจ โดยองค์กรของผู้ใช้แรงงานที่แท้จริงเข้าร่วมกับฝ่ายบริหารเพื่อพิจรณากำหนดนโยบายและมาตรการในการปรับปรุงรัฐวิสาหกิจ
29.8.7 ออกกฎหมายประกันสังคมให้เป็นธรรม รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหางานและส่งคนงานไปต่างประเทศ
29.8.8 ปรับปรุงแก้ไขสาธารณูปโภคให้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง
29.8.9 ปลดปล่อยนักโทษและยกเลิกคดีการเมือง
29.8.10 ปราบปรามอาชญากรรม คอรัปชั่นและรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้พรรคการเมืองและองค์กรมวลชนร่วมดำเนินการ
29.8.11 ปรับปรุงระบบราชการให้เป็นประชาธิปไตย โดยใช้มาตรการประสานกับกลไกรัฐกับกลๆไกพรรคเป็นสำคัญ
29.8.12 ให้วุฒิสมาชิกมาจากสาขาอาชีพอย่างยุติธรรม
29.8.13 ให้พรรคการเมืองพัฒนาตามธรรมชาติ มิใช่โดยกฎหมายบังคับ
29.9.14 ให้มีสภาการเลือกตั้งแห่งชาติ ประกอบด้วยส่วนราชการ พรรคการเมืองและองค์การมวลชน ทำหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเลือกตั้งเสรีและผู้มีสิทธิ์ 1 คนเลือกผู้แทนได้คนเดียว
29.8.15 ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายทั้งปวงที่ทำลายหรือบั่นทอนเสรีภาพของบุคคล
29.8.16 ตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับโครงสร้างและหลักการประชาธิปไตยที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์แล้วนั้น เมื่อรัฐสภาลงมติเห็นชอบแล้วก็ให้ประชาชนลงมติก่อนบังคับใช้
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงและเป็นทางออกของชาติ

โดยอาจารย์วันชัย พรหมภา ประธานสภากรรมกรแห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น