๓. การสังคม
๓.๑ แก้ปัญหาสังคมบนรากฐานของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประกอบด้วยการศึกษาอบรม
ปัญหาสังคม เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาคอรัปชั่น และความเน่าเฟะต่างๆ ในสังคม ส่วนสำคัญเกิดจากความยากจนและการไม่มีงานทำ อันเนื่องมาจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ตก ฉะนั้น ถ้าความยากจนและการไม่มีงานทำยังครอบงำสังคมอยู่ การพร่ำสอนไม่ทำให้ทำชั่วและขยันขันแข็งประกอบสัมมาอาชีพจึงไม่ใคร่จะได้ผล เพราะถ้าไม่ประกอบอาชญากรรม ทำคอรัปชั่น หรือประกอบมิจฉาชีพก็ไม่มีอะไรจะกิน และถึงแม้จะขยันขันแข็งก็ไม่มีงานทำ แต่การศึกษาอบรมจะได้ผลเต็มที่ถ้าความยากจนบรรเทาลง คนมีงานทำและอาชญากรรมแก้ไขได้ คอรัปชั่นปราบได้ การว่างงานขจัดได้ ด้วยการศึกษาอบรมและมาตรการทางกฎหมาย ถ้าพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตามนโยบายและแผนอันถูกต้อง
๓.๒ แผนการศึกษาแห่งชาติขึ้นต่อแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ
สมัยก่อน การบำรุงการศึกษาไม่มีขอบเขตจำกัด เพราะสมัยนั้นความเจริญของบ้านเมืองขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน ยิ่งขยายการศึกษามากเพียงใดบ้านเมืองก็เจริญมากเพียงนั้น แต่ในปัจจุบัน การขยายตัวทางการศึกษาจำกัดด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การขยายตัวทางการศึกษาอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดแทนที่จะเป็นผลดีกลับเป็นผลร้าย โดยเฉพาะจะเป็นเหตุหนึ่งของการว่างงาน การจำกัดการขยายตัวของการศึกษานั้น ไม่หมายถึงการลดงบประมาณการศึกษา งบประมาณการศึกษาจะต้องเพิ่มขึ้นโดยลำดับอย่างแน่นอน การจำกัดการขยายตัวของการศึกษา หมายความถึงแผนการศึกษาจะต้องขึ้นต่อแผนเศรษฐกิจ ซึ่งจะกำหนดให้การขยายการศึกษาเป็นไปตามความต้องการของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ในสภาวการณ์ใดระดับการศึกษาและวิชาชีพใดเพียงพอแก่ความต้องการก็ลดลว ในสภาวการณ์ใดระดับการศึกษาและสาขาอาชีพใดเป็นความต้องการ ก็เพิ่มขึ้น ส่วนด้านสามัญศึกษาจะต้องขยายให้มากที่สุดไม่มีขอบเขตจำกัด ตามระดับความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นลำดับไป ทั้งนี้ จะเป็นไปได้โดยขยายการศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้มากที่สุด และควบคุมการศึกษาของเอกชนอย่างเคร่งครัด การศึกษาของชาติจะประสบความสำเร็จสมความมุ่งหมายขึ้นอยู่กับความถูกต้องของแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ และประสานแผนการศึกษาแห่งชาติเข้ากับแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ
๓.๓ ดำเนินการประกันสังคมทั่วทุกด้าน
ความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากผลสำเร็จของการสร้างระบบเศรษฐกิจของระบอบประชาธิปไตยตามนโยบายที่ถูกต้อง ย่อมจะเป็นปัจจัยให้มีงานให้ประชาชนทำมากขึ้น และเป็นปัจจัยให้รัฐสามารถขยายการศึกษา การสาธารณสุข และสาธารณูปการอย่างอื่นให้กว้างขวางออกไปตามส่วน ประชาชนมีโอกาสทำงาน มีโอกาสศึกษา มีโอกาสรักษาพยายาบาล และมีโอกาสอื่นๆ เพิ่มขึ้นโดยลำดับ เมื่อเกิดความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจ การว่างงานก็ค่อย ๆ หมดไป การศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน การรักษาโดยไม่ต้องเสียค่ารักษาตลอดจนบำเหน็จบำนาญของคนชราและทุพลภาพก็จะมีขึ้นโดยลำดับ ฉะนั้น ความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจจึงเป็นการประกันสังคมอยู่ในตัว และมาตรการประกันสังคมที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตามนโยบายและแผนอันถูกต้องให้บรรลุผลสำเร็จนั่นเอง กฎหมายประกันสังคมจะต้องออกตามผลสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ แม้ว่าจะออกกฎหมายประกันสังคมอย่างสวยงามเพียงใด แต่ถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติล้มเหลวกฎหมายนั้นก็ปฏิบัติไม่ได้
๔ การป้องกันประเทศ
๔.๑ หน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพแห่งชาติ
กองทัพแห่งชาติไม่ใช่กองทัพของบุคคลหรือคณะบุคคล แต่เป็นกองทัพของชาติและของประชาชน กองทัพแห่งชาติไม่สนับสนุนการเมืองของบุคคลหรือคณะบุคคล แต่สนับสนุนการเมืองของชาติ ที่ว่าทหารไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น ไม่หมายความกองทัพแห่งชาติจะไม่สนับสนุนการเมืองของชาติ แต่หมายความว่าทหารไม่สนับสนุนการเมืองของบุคคลหรือการเมืองที่ไม่ถูกต้อง เอกราชของชาติและอธิปไตยของปวงชน คือ สาระสำคัญของการเมืองของชาติ ซึ่งจะต้องอาศัยความสนับสนุนของกองทัพแห่งชาติ จึงจะดำรงอยู่ได้ ฉะนั้น หน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพแห่งชาติ จึงอยู่ที่การรักษาเอกราชของชาติและรักษาอธิปไตยของประชาชน
การที่กองทัพแห่งชาติจะต้องรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาตินั้น เข้ากันดี แต่การที่กองทัพแห่งชาติจะต้องรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยของปวงชนนั้น ดูเหมือนจะยังไม่ชัดเจนพอ ความจริงแล้วเอกราชขึ้นอยู่กับประชาธิปไตย ประเทศชาติจะต้องเป็นประชาธิปไตยจึงจะมีเอกราชได้ และการที่ระบอบประชาธิปไตยล้มเหลวตลอดมา ก็เพราะกองทัพแห่งชาติไม่เข้าไปทำหน้าที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยให้เพียงพอนั่นเอง ฉะนั้น กองทัพแห่งชาติจึงไม่เพียงแต่มีหน้าที่ทางทหารเท่านั้น หากยังมีหน้าที่ทางการเมืองอีกด้วย คือ หน้าที่ทางการเมืองของชาติ อันได้แก่การรักษาเอกราชของชาติ และรักษาอธิปไตยของปวงชน
๔.๒ ปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพแห่งชาติ
การที่กองทัพแห่งชาติจะปฏิบัติหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์สองประการอย่างมีประสิทธิภาพได้ จะต้องปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพให้สูงขึ้น เนื่องจากสงครามในปัจจุบันซึ่งกองทัพแห่งชาติเผชิญอยู่ มีลักษณะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสงครามในอดีต ทำให้ยุทธศาสตร์ของกองทัพแห่งชาติที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอสำหรับทำสงครามในลักษณะใหม่ให้ชนะ ฉะนั้น สารสำคัญของการปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพ จึงอยู่ที่การปรับปรุงยุทธศาสตร์ เมื่อปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้สมบูรณ์ ทั้งยุทธศาสตร์ทหารและยุทธศาสตร์การเมืองแล้ว การปรับปรุงขีดความสามารถอื่นๆ เช่นด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็จะสำเร็จตามไปด้วย
๔.๓ ปรับปรุงสวัสดิการทหาร
การที่กองทัพจะมารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยขีดความสามารถในระดับสูงได้นั้น ทหารจะต้องได้รับสวัสดิการในทุกด้านอย่างเพียงพอ ฉะนั้น จึงต้องปรับปรุงสวัสดิการทหารในทุกด้านให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น