วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ลีโอ ตอลสตอย เมื่อความรักฆ่านักปราชญ์

 ลีโอ ตอลสตอย เมื่อความรักฆ่านักปราชญ์



นักเขียน นักคิด นักปฏิวัติสังคม ขุนนางผู้มั่งคั่ง และนักรักเสเพล นั่นคือหลายบทบาทที่ทับซ้อนกันอยู่ในตัวของ ลีโอ ตอลสตอย ยอดนักประพันธ์เอกของโลก แต่บทบาทที่ปวดร้าวที่สุดในชีวิตของเขาเห็นจะได้แก่การเป็นสามีของโซฟี อันเดรเยฟน่าเบอร์ส

     
เคานท์ ลีโอ นิโคเลเยวิช ตอลสตอย เกิดในปี 1828 ครอบครัวของเขาเป็นตระกูลขุนนางที่สืบทอดตำแหน่งท่านเคานท์กันมาหลายชั่วคน เด็กน้อยตอลสตอยจึงมีชีวิตที่หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ อยากได้อะไรเป็นต้องได้ ไม่ต่างอะไรกับลูกเทวดา ซึ่งตอลสตอยก็ทำตัวเป็นเทวดาจริงๆ เขาไม่ยอมเรียนหนังสือหนังหา เอาแต่เสเพลเที่ยวเตร่กินเหล้าาเคล้านารีไปวันๆ ในบันทึกอัตชีวประวัติของเขาเล่าว่า ตอลสตอยเสียพรหมจรรย์ให้กับหญิงโสเภณีตั้งแต่อายุเพียง16 ปี เพราะถูกรุ่นพี่ลากตัวไป "ครั้งแรกที่พี่ฉุดตัวผมไปเที่ยวซ่องและบังคับให้ร่วมเพศ ผมนั่งลงแทบเท้าเธอคนนั้นแล้วร้องไห้"


แต่น้ำตาในคืนนั้นเป็นความตกใจของเด็กหนุ่มที่ยังไม่เคยลิ้มรสรักเท่านั้น หลังจหากผ่านประสบการณ์เรียนรู้ความรัญจวนไปแล้ว ตอลสตอยก็มีอาการที่เรียกว่า อดสเน่หาจากสตรีไม่ได้ จนเจ้าตัวยังยอมรับตัวเองว่าไม่รู้จักพอ ซ่องโสเภณีกลายเป็นที่เที่ยวประจำของตอลสตอยแม้แต่สาวใช้ในบ้านสองคนก็เป็นคู่นอนของเขา ตอลสตอยหัวหกก้นขวิดอยู่อย่างนี้จนเข้ามหาวิทยาลัย แต่แล้วจู่ๆเขาก็ถอดใจกับการเรียนขึ้นมาจึงลาออกแล้วไสมัครเป็นทหาร ชีวิตในกองทัพทำให้เขาเห็นความไม่เป็นโล้เป็นพายของตัวเอง เขาจึงเริ่มอุทิศตัวเพื่อสังคมด้วยการสร้างโรงเรียนให้กับลูกชาวนาที่บ้านเกิด และเป็นจุดเริ่มต้นของงานเขียนของเขา


ในปี 1862 ตอลสตอยได้พบรักกับสาวงามโซฟี อันเดรเยฟน่า เบอร์สก่อนจะแต่งงานกัน ตอลสตอยบังคับให้โซฟีอ่านบันทึกส่วนตัว ซึ่งเขาได้บรรยายชีวิตรักและกามารมณ์ของตัวเองเอาไว้อย่างถึงพริกถึงขิง เพื่อให้เธอเข้าใจในตัวตนที่แท้จริงของเขา และตัดสินใจว่าจะอยู่กินด้วยได้หรือเปล่า ถ้าเป็นสมัยนี้การกระทำของตอลสตอยก็เรียกได้ว่าแฟร์มากทีเดียว แต่บังเอิญโซฟีเป็นผู้หญิงในศตวรรษที่ 18 ทั้งหัวเก่าเคร่งศาสนาและยังไม่เคยผ่านประสบการณ์รักๆใคร่ๆ มาก่อน เธอจึงตีความไปว่า ว่าที่เจ้าบ่าวแต่งงานกับเธอก็เพียงเพื่อเชยชมร่างกาย จิตใจของสาวน้อยจึงเริ่มมีอคติกับเรื่องโลกีย์นับตั้งแต่นั้น


โซฟีสารภาพว่าเธอไม่เคยมีความสุขกับการร่วมรักของสามีเลย และเพศสัมพันธ์ก็เป็นการแสดงออกทางกายที่น่าสะอิดสะเอียนอย่างยิ่ง เมื่อเมียสาวหน่ายเซ็กซ์ต้องมาร่วมชายคากับสามีผู้ไม่เคยอิ่มในกาม จึงไม่น่าแปลกใจที่ชีวิตคู่ของ ทั้งสองจะไม่ราบรื่น ตอลสตอยต้องแอบไปเริงรักกับสาวๆ ชาวนาในละแวกนั้นอยู่เป็นประจำ แต่ทั้งๆที่มีปัญหาเรื่องนี้ เขาก็ยังไม่วายทำให้เมียท้องได้ถี่ยิบ ทั้งคู่มีลูกด้วยกันถึง13 คน 


แม้โซฟีจะเป็นคู่นอนที่ไม่ได้ความแต่สำหรับหน้าที่ภรรยาเธอก็ทำได้ไม่ขาดตกบกพร่อง เธอปรนนิบัติสามี ดูแลลูกๆ ทำงานบ้าน และยังเป็นผู้ช่วยตอลสตอยในการผลิตงานเขียนทุกชิ้น เมื่อครั้งที่ตอลสคอยแต่งวรรณกรรมอมตะเรื่องสงครามและสันติภาพ(War And Peace) นิยายความยาว7 แสนคำ หนา 1400 หน้า ซึ่งส่งให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็ได้โซฟีนี่ล่ะ ที่นั่งหลังขดหลังแข็งคัดลอกต้นฉบับจากลายมือยุ่งๆ ของเขาถึง 7 เที่ยวกว่าจะส่งไปโรงพิมพ์ ทว่าความทุ่มเทของโซฟีกลับถูกแฟนๆ ของตอลสตอยมองข้ามไปสิ้น เพราะความทุกข์ทรมานที่เธอหยิบยื่นให้กับสามี มีปริมาณมหาศาลเทียบเท่ากับความทุ่มเทช่วยเหลือสามีเรื่องานเช่นกัน


โซฟีเป็นผู้หญิงปากร้าย จู้จี้ และพร้อมจะบ่นได้ตลอดเวลา กิจกรรมที่เธอโปรดปรานที่สุดก็คือการคะยั้นคะยอให้สามีเขียนหนังสือ และจะคอยจ้ำจี้จ้ำไชด้วยถ้อยคำระคายหูหากตอลสตอยไม่ยอมทำงาน หรือทำสิ่งที่เธอเห็นว่าไร้สาระขัดต่อความเป็นคริสตศาสนิกชนที่ดี ความเคร่งศาสนาของเธอสวนทางกับนิสัยเสเพลปล่อยเนื้อปล่อยตัวของสามีราวขางกับดำ โซฟีทำให้ตอลสตอยเกิดความรู้สึกว่าเซ็กซ์เป็นสิ่งสกปรก และเป็นที่มาของผลงานเรื่อง บทเพลงแห่งกลกาม (The Kreutzer Sonata) ที่มีเนื้อหาประณามการร่วมรักและเรียกร้องให้คนละเว้นการร่วมประเวณี ขณะเดียวกันตัวตอลสตอยเองกลับห้ามความต้องการตามธรรมชาติไม่ได้ เขาจึงทั้งรักทั้งเกลียดโซฟีที่เป็นต้นเหตุให้เขาตกอยู่ในสภาพที่ขัดกับแนวคิดของตัวเองเช่นนี้ ฝ่ายโซฟีก็ดูถูกสามีว่ามือถือสากปากถือศีล เขียนบทความประณามเซ็กซ์แต่กลับมรไฟราคะไม่รู้จักจบสิ้น ใต้หลังคาบ้านของสองผัวเมียจึงเหมือนมีเสือสองตัวมาอาศัยอยู่ร่วมกัน จนหาความสุขไม่ได้


7 ปีต่อมาหลังจาก บทเพลงแห่งกลกามถูกตีพิมพ์ สถานการณ์ในบ้านของพวกเขาเลวร้ายถึงขีดสุด เมื่อโซฟีไปหลงรักเซอเกรี่ ทานาเยฟ เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ของสามีเข้า เซอเกรีนั้นเป็นนักเปียโนเจ้าสำอาง แต่งตัวปราณีต ท่าทางกรีดกรายผู้ดีจ๋า ถูกต้องตรงรสนิยมของโซฟีทุกอย่าง ผิดกับนักเขียนสุดเซอร์น้ำท่าไม่อาบอย่างสามีของเธอ เธอมักจะด่าเขาว่า ตัวเหม็นเหมือนแพะ แต่สุดท้ายโซฟีก็ตัดใจจากเซอเกรีได้หลังจากหลงใหลเขาหัวปักหัวปำอยู่ถึงหนึ่งปี


พอภรรยากลับมาเข้ารูปเข้ารอยก็ถึงทีของตอลสตอยที่จะนอกใจบ้างโซฟีโวยวายว่าตอลสตอยกับเซอร์ตคอฟ ลูกศิษย์คนโปรดเป็นคู่รักร่วมเพศกัน แต่เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานยืนยัน และขณะนั้นโซฟีก็บังเอิญไปรู้ว่าตอลสตอยกำลังให้เซอร์ตคอฟช่วยร่างพินัยกรรมยกลิขสิทธิ์งานเขียนของเขาให้เป็นสมบัติสาธารณะ จึงเป็นไปได้ว่าเธออาจจะแกล้งกล่าวหาสามีเพื่อให้พินัยกรรมฉบับนั้นเป็นโมฆะ (หลังตอลสตอยเสียชีวิต โซฟีได้ฟ้องเรียกลิขสิทธิ์ในงานของเขาคืนมา) การที่โซฟีเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพินัยกรรมทำให้ตอลสตอยยิ่งหมดความไว้ใจในตัวภรรยาทั้งคู่มีปากเสียงกันบ่อยเสียจน เธอเคยขู่ว่าจะหนีออกจากบ้าน แต่ก็ไม่ทำจริงดังปากว่าเสียที เพราะจากบันทึกของเดล เคเนกี เพื่อนสนิทคนหนึ่งของตอลสตอย โซฟีเป็นผู้หญิงประเภทที่ไม่มีวันผละจากความมั่งคั่งของสามีไปแน่นอน


"เธอชอบชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย กระหายความมีหน้ามีตาและการยกยอปอปั้นในวงสังคม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายต่อตอลสตอย เธอชอบความร่ำรวย แต่เขาเชื่อว่าทรัพย์สินเงินทองล้วนแต่เป็นบาป เธอเชื่อในการปกครองด้วยอำนาจ แต่เขาเชื่อในการปกครองด้วยความรัก"


ยิ่งไปกว่านั้นโซฟียังเป็นคนอารมณ์ร้าย พร้อมจะโมโหกระฟัดกระเฟียดได้ตลอดเวลา ความหัวสูงทำให้เธอรังเกียจเพื่อนๆ นักประพันธ์ซอมซ่อของตอลสตอย ทั้งยังแสดงออกมาอย่างไม่ปิดบังอีกด้วย ครั้งหนึ่งโซฟีมีเรื่องกับลูกสาว เธอโกรธมากถึงกับไล่ลูกออกจากบ้าน จากนั้นก็หันไปคว้าปืนลมของตอลสตอยมายิงรูปถ่ายลูกสาวคนนี้เสียกระจุย ยามใดที่ทะเลาะกัน เธอจะเอ็ดตะโรแช่งด่าตอลสตอย จนบ้านเปรียบเสมือนนรกบนดินสำหรับเขา


ชีวิตของตอลสตอยต้องพลิกผันอีกครั้งเมื่อถึงวัยไม้ใกล้ฝั่ง เขามีความเชื่อเสมอว่ามนุษย์ไม่ควรยึดติดกับวัตถุที่ไม่จีรัง นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่จึงบริจาคทรัพย์สมบัติมหาศาลที่มีให้กับสาธารณะ ถึงแม้โซฟีจะไม่เดือดร้อนเพราะตอลสตอยยังกันเงินพร้อมบ้านหลังหนึ่งไว้ให้เธอและลูกๆ แต่เธอก็ไม่พอใจอย่างแรง เธอด่าว่า ประณามเขาอย่างสาดเสียเทเสีย จนตอลสตอยซึ่งอดทนมานานถึง 48 ปีทนความบีบคั้นต่อไปไม่ไหว เขาตัดสินใจทิ้งทุกอย่างพเนจรเร่ร่อนไปบนถนนท่ามกลางหิมะที่ตกหนัก และแล้วเพียง 20 วันหลังจากนั้น ชายชราวัย 82 ปี คนนี้ก็เสียชีวิตอย่างเดียวดายด้วยโรคปอดบวมที่สถานีรถไฟเล็กๆ เมืองแอสตาโปโว ก่อนสิ้นใจตอลสตอยได้ทิ้งถ้อยคำสุดท้ายไว้ว่า"สัจธรรม คือสิ่งที่ข้าแสวงหา"


ตลอดเวลา 14 ปีหลังการตายของตอลสตอย โซฟีต้องตกเป็นจำเลยของสังคม ในฐานะเมียใจยักษ์ที่ผลักไสผัวออกไปพบจุดจบที่ไม่ดี แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าแท้ที่จริงแล้วเธอหรือตอลสตอยกันแน่ที่สร้างความทรมานให้อีกฝ่ายมากกว่ากัน เพราะชีวิตคู่ของคนทั่งสอง ก็เป็นดั่งเช่นข้อความที่ตอลสตอยเขียนไว้ในนิยายเรื่องหนึ่งของเขา


"หลายครอบครัวซ้ำซากอยู่ที่เดิม ทั้งๆที่สามีภรรยาแสนจะเบื่อหน่ายกัน นั่นก็เพราะทั้งคู่ไม่กลมเกลียวกันอย่างแท้จริง"


จากนิตยสาร LIVE คอลัมน์ คู่รักบันลือโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น