๕ นโยบายต่างประเทศ
๕.๑ รักษาลักษณะพิเศษของนโยบายต่างประเทศของชาติไทย
นโยบายต่างประเทศกำหนดขึ้นจากรากฐานของวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์และทางสังคมของประเทศไทย ภายใต้หลักนำของลักษณะพิเศษประจำชาติไทย ๓ ประการ คือ
๕.๑.๑ รักความเป็นไท
๕.๑.๒ อหิงสา
๕.๑.๓ รู้จักประสานผลประโยชน์
ชาติไทย เป็นชาติเก่าแก่ซึ่งมีลักษณะประจำชาติสูงส่ง จึงมีนโยบายต่างประเทศอันแน่นอน เป็นมรดกล้ำค่าตกทอดมาแต่บรรพกาล เรียกว่า “นโยบายอิสระ” วิธีดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ถูกต้องก็คือ นำเอานโยบายอิสระมาใช้กับปัญหาความสัมพันธ์กับต่างประเทศตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น สำหรับนโยบายต่างประเทศของไทยแล้ว นโยบายหลักไม่เปลี่ยนแปลง แต่นโยบายตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และจะต้องใช้นโยบายสองอย่างนี้ควบคู่กันตลอดไป โดยนโยบายตามสถานการณ์ตั้งอยู่บนรากฐานของนโยบายหลัก ไม่ว่าจะดำเนินนโยบายต่อประเทศใด หรือต่อปัญหาใด ในสถานการณ์ใด เช่น ต่อสหรัฐอเมริกา ต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อสหภาพโซเวียต ต่อสหประชาชาติ ต่ออาเซี่ยน ต่ออินโดจีน ฯลฯ จะต้องยึดถือนโยบายอิสระเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา วิธีดำเนินนโยบายต่างประเทศเช่นนี้ ประเทศไทยเคยใช้มาแต่อดีต ยังผลให้รอดพ้นภัยพิบัติและดำรงเอกราชอธิปไตยไว้ได้ ในปัจจุบันสภาวการณ์ทางภูมิศาสตร์และทางการเมือง กำหนดให้ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในความขัดแย้งของโลก ทั้งความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับสังคมนิยม ความขัดแย้งภายในระบบเสรีนิยม ความขัดแย้งภายในระบบสังคมนิยม และในท่ามกลางความขัดแย้งของโลกปัจจุบัน ไม่มีประเทศใดไม่ว่ามหาอำนาจหรือมิช่มหาอำนาจ จะเป็นหลักในการแก้ความขัดแย้งได้ ทำให้มีอันตรายแห่งสงคราม ทั้งในขอบเขตภูมิภาคและขอบเขตโลก แต่ประเทศไทยซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดและมีนโยบายต่างประเทศที่อยู่บนรากฐานของลักษณะประจำชาติอันสูงส่ง เป็นประเทศเดียวที่อยู่ในฐานะที่จะแก้ความขัดแย้งของโลก ป้องกันสงครามและรักษาสันติภาพซึ่งเป็นหลักประกันของการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างถึงที่สุด ฉะนั้น ประเทศไทยจึงต้องวางตัวเป็นหลักตามความหมายที่แท้จริงของ “นโยบายอิสระ” ในท่ามกลางความขัดแย้งทั้งในภูมิภาคและในโลก
๕.๒ ส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับทุกประเทศ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจและสังคม
๕.๓ ส่งเสริมชักชวนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีหลักประกันที่เป็นธรรม และร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศ
๕.๔ ยับยั้งการสร้างสถานการณ์เพื่อเปลี่ยนสงครามในประเทศเป็นสงครามประชาชาติ และกำจัดบรรยากาศสงครามประชาชาติ
๕.๕ ดำเนินนโยบายเป็นกลางบนรากฐานของ “นโยบายอิสระ” ของชาติไทย ในปัญหาความขัดแย้งภายในระบบสังคมนิยม
๕.๖ เรียกร้องให้มีการประชุมนานาชาติ เพื่อรับรองสถานภาพเป็นกลางของประเทศไทย เพื่อเป็นเงื่อนไขให้ประเทศไทย ในฐานะเป็นจุดยุทธศาสตร์อันสำคัญที่สุดในความขัดแย้งของโลกปัจจุบัน ได้แสดงบทบาทอย่างเต็มภาคภูมิในการป้องกันสงครามและรักษาสันติภาพถาวรของโลก
๖ วัฒนธรรม
๖.๑ กำจัดวัฒนธรรมต่ำทรามที่แพร่หลายมาจากต่างประเทศ และรับวัฒนธรรมต่างประเทศโดยกลั่นกรอง
วัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบอันสำคัญอย่างหนึ่งของระบบสังคม และมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับองค์ประกอบสำคัญอีกสองประการ คือ เศรษฐกิจและการเมือง ฉะนั้น การแก้ปัญหาวัฒนธรรมจึงต้องประสานกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง เศรษฐกิจซึ่งระบบผูกขาดของเอกชนครอบงำการครองชีพของประชาชน และการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากจะบั่นทอนวัฒนธรรมอันดีงาม ยังเป็นแหล่งรองรับวัฒนธรรมต่ำทรามที่แพร่มาจากต่างประเทศอีกด้วย การพัฒนาระบบเศรษฐกิจระบบเสรีนิยมที่ก้าวหน้าและพัฒนาการเมืองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ มาตรการพื้นฐานในการป้องกันและกำจัดวัฒนธรรมต่ำทรามต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศและที่แพร่มาจากต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็ใช้มาตรการทางกฎหมายและทางการศึกษาอบรมควบคู่กันไปด้วย วัฒนธรรมต่ำทรามนั้นไม่เป็นสิ่งพึงประสงค์ไม่ว่าของเทศใดๆ แต่วัฒนธรรมที่ดีของแต่ละชาติก็ไม่ใช่ว่าจะยอมรับซึ่งกันและกันใด้เสมอไป วัฒนธรรมซึ่งชาติหนึ่งถือว่าดี อีกชาติหนึ่อาจถือว่าไม่ดีก็ได้ เช่น ประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งชาติหนึ่งถือว่าดีงาม แต่อีกชาติหนึ่งถือว่าเป็นการอนาจารไปก็มี ฉะนั้น การรับวัฒนธรรมจากต่างชาติ จึงต้องคัดเลือกกลั่นกรองเอาแต่เฉพาะที่ไม่ขัดกับวัฒนธรรมไทย แม้ว่าวัฒนธรรมเหล่านั้นจะไม่ใช่วัฒนธรรมต่ำทรามก็ตาม
๖.๒ เชิดชูวัฒนธรรมไทยอันสูงส่งมาแต่บรรพกาล
ภูมิแห่งจิตใจของชนชาติไทยซึ่งแสดงออกทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ วรรณคดี และความสัมพันธ์กับต่างชาติ เป็นต้นนั้นสูงส่งอย่างยิ่ง ซึ่งจะต้องรักษาและเชิดชูไว้ตลอดไป วัฒนธรรมอันสูงส่งย่อมอาศัยระบอบประชาธิปไตยเป็นพื้นฐาน เพราะวัฒนธรรมอันสูงส่งก็คือวัฒนธรรมของประชาชน ถ้าไม่มีประชาธิปไตย วัฒนธรรมของประชาชนก็จะไม่สามารถพัฒนาอย่างเต็มที่ได้ การปกครองประเทศไทยมีลักษณะประชาธิปไตยมาตั้งแต่บรรพกาล นี่คือ ปัจจัยสำคัญให้วัฒนธรรมของประชาชนได้พัฒนาอย่างเต็มที่ จึงส่งเสริมให้วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่สูงส่ง ฉะนั้น มาตรการพื้นฐานของการเชิดชูวัฒนธรรมไทยก็คือ การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทยนั่นเอง ประสานกับการส่งเสริมวัฒนธรรมใดด้านต่าง ๆ โดยตรงด้วย
๖.๓ ส่งเสริมเสรีภาพของกลุ่มชนต่างเชื้อชาติในประเทศไทยในการพัฒนาวัฒนธรรมของตน
คนไทยประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติ นอกจากเชื้อชาติไทยแล้วยังมีชนเชื้อชาติอื่นๆ เช่น ชาวเขา ชาวมาเลย์ เป็นต้น ความแตกต่างทางเชื้อชาติย่อมกำหนดความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ระบอบประชาธิปไตยยอมรับ ฉะนั้น ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องให้เสรีภาพทางวัฒนธรรมแก่ชนเชื้อชาติต่างๆ ภายในประเทศ เพื่อให้วัฒนธรรมของประชาชนเชื้อชาติเหล่านั้นได้พัฒนาไปอย่างเต็มที่ แม้ว่าวัฒนธรรมของชนเชื้อชาติอื่นจะแตกต่างกับวัฒนธรรมของชนเชื้อชาติไทยก็ตาม แต่เมื่อเป็นวัฒนธรรมของประชาชนก็ย่อมเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามทั้งสิ้น ฉะนั้น การให้เสรีภาพทางวัฒนธรรมจึงมีผลดี โดยเฉพาะคือ ผลดีในการกระชับความสามัคคีแห่งชาติ
๖.๔ พัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองบนรากฐานของการส่งเสริมทรรศนะที่ถือว่า การเมืองคือคุณธรรมตามคตินิยมของคนไทยแต่โบราณ
โดยลักษณะการเมืองคือคุณธรรม เพราะมีความมุ่งหมายเพื่อความสุขของประชาชน ความจริงข้อนี้คนไทยได้ถือเป็นคตินิยมมาแต่โบราณ เช่น ทศพิธราชธรรม เป็นต้น
ในบรรดาระบอบการปกครองทั้งหลาย ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มีคุณธรรมสูงสุด เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น ประชาธิปไตยก็คือธรรมาธิปไตย นั่นเอง จึงไม่มีการเมืองใดจะมีคุณธรรมสูงส่งเสมอด้วยการเมืองประชาธิปไตย และดังนั้นถ้าจะเป็นประชาธิปไตยก็จำเป็นจะต้องกำจัดทรรศนะที่เห็นการเมืองเป็นของสกปรกและกลับไปสู่ทรรศนะเดิม คือ การเมืองเป็นคุณธรรมต่อไป และบนรากฐานของทรรศนะที่ถูกต้องนี้ ดำเนินการพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่นความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ความอดทนต่อความเห็นที่ตรงกันข้ามกับของตน ความมีวินัย ความยอมรับเสียงข้างมาก ความยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้องแม้ว่าจะเป็นฝ่ายข้างน้อย ความใจกว้าง ความยอมแพ้ต่อเหตุผล ความเคารพในหลักวิชา ความอุทิศตนเพื่อประเทศชาติเพื่อประชาชน และเพื่อคุณธรรม เป็นต้น ให้มีทรรศนะที่เห็นการเมืองเป็นคุณธรรม และให้สมบูรณ์ด้วยวัฒนธรรทางการเมืองอย่างมากที่สุด
๖.๕ ส่งเสริมความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติไทย รวมทั้งศาสนาอื่นๆ ในประเทศไทย
พระพุทธศาสนาเป็นองค์ประกอบอันสำคัญที่สุดของวัฒนธรรมไทย เพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนาสอดคล้องอย่างลึกซึ้งกับลักษณะพิเศษประจำชาติไทย โดยเฉพาะคือ อหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของคนไทย และหลักธรรมอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาคือ อหิงสา ปรโม ธมฺโม (ความไม่เบียดเบียนเป็นธรรมอย่างยิ่ง) ด้วยเหตุนี้ คนไทยซึ่งรับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จึงเข้ากับศาสนาอื่นได้เป็นอย่างดี ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยไม่เคยมีการเลือกปฏิบัติต่อศาสนาอื่น และไม่เคยมีเหตุการณ์ร้ายแรงอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางศาสนา การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนับถือพุทธศาสนาของคนไทยนั้น โดยพื้นฐานเป็นการนับถือหลักธรรมอันแท้จริง แม้ว่าจะประกอบด้วยพิธีการ และลัทธินิยมอื่นๆ มากมาย แต่โดยพื้นฐานก็มิได้ละทิ้งหลักธรรมอันแท้จริง หลักธรรมอันแท้จริงนี่เอง คือ ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของศาสนา ซึ่งควรเน้นหนักในการส่งเสริมโดยร่วมมือกับบรรดานักปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง
เหล่านี้ คือนโยบายหลักของสภาปฏิวัติแห่งชาติ สภาปฏิวัติแห่งชาติ มีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะปฏิบัตินโยบายนี้เพื่อให้เป็นผลสำเร็จ โดยถือเป็นภารกิจอันสำคัญที่สุดในการนำประเทศชาติและประชาชนผ่านพ้นภัยพิบัติ ผลักดันความเจริญก้าวหน้าไปสู่สังคมประชาธิปไตย ยังความไพบูลย์แก่ประเทศชาติและความผาสุกแก่ประชาชน และรักษาชาติไทยให้ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น