วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พระเจดีย์ชเวดากอง และ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

พระเจดีย์ชเวดากอง และ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ของเมียนม่า

ไปขุดเจอบทความหนึ่งใน ศิลปวัฒนธรรม เขาเรียบเรียงมาจากบทความ Icon of Identity As Sites of Protest: Burma and Thailand. พยายามหา paper เต็มๆ มาอ่าน แต่ดันเป็นภาษาจีนเสียนี่ คนเขียนเป็นฝรั่งแต่เขาไปเสนอผลงานในการประชุมที่จีน เข้าใจว่าเพราะเหตุนี้เลยเป็นภาษาจีน
DSCF4624

ประเด็นก็คือเขาเปรียบเทียบพม่ากับไทย โดยยกเอาสถานที่ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์อย่าง พระเจดีย์ชเวดากอง และ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาเป็นกรณีศึกษาในประเด็นทางการเมืองว่าด้วยการประท้วงและเรียกร้อง ประชาธิปไตย (หรือเรื่องอื่นๆ ก็ตาม) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของบ้านเรานั้นชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นอนุสรณ์ทางการ เมือง จึงเป็น Landmark สำคัญเวลามีสถานการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะร้อนมากหรือร้อนน้อย แต่กับ ชเวดากอง นั้นไม่ใช่ พระมหาเจดีย์ถูกเปลี่ยนสถานะอย่างเป็นทางการน่าจะเป็นช่วงก่อนเกิดสงคราม ระหว่างพม่ากับอังกฤษในยุคแรก ตอนที่อังกฤษบุกเข้ามายึดย่างกุ้งนั้นก็มาเอาชเวดากองเป็นที่มั่น เพราะตั้งอยู่ที่สูง ชัยภูมิดี แต่ส่วนหนึ่งผมเชื่อว่าอังกฤษต้องการเอาพระมหาเจดีย์เป็นตัวประกัน อย่าลืมว่าอังกฤษไม่ใช่เพิ่งเข้ามา แต่ดอดเข้ามาหากินในพม่ามานานจนรู้ไส้พุงรู้นิสัยคนพม่าดี ถ้าใครเคยอ่านประวัติศาสตร์พม่าคงเคยพบมีการบันทึกว่า อังกฤษตั้งฐานที่ชเวดากอง จนทหารพม่าไม่กล้ายิงเข้าไปเพราะกลัวจะโดนพระมหาเจดีย์ บางคนเห็นคนนอกศาสนาเข้ามายึดพระมหาเจดีย์ก็ทอดอาลัย ทิ้งปืนยอมแพ้มันเสียเลย ขออย่างเดียวอย่าทำอะไรพระมหาเจดีย์ … พุทโธ่เอ๋ย
ที่สุดอังกฤษก็ยีดเอาพม่าตอนใต้ไว้ได้ คนพม่าตอนบนที่อพยพหนีไปก็ใจหาย ผ่านไปไม่นานก็แอบหนีมาอยู่ตอนใต้ยอมอยู่ใต้อาณัติฝรั่ง เพราะได้ใกล้ชิดพระมหาเจดีย์ เขาศรัทธาของเขาอย่างนั้นนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่รักชาติไม่รักเอกราช อีกทั้งความเป็นอยู่ในพม่าตอนบนก็ใช่ว่าจะดี พม่าตอนใต้เจริญเอาๆ เพราะอังกฤษปกครองแบบใช้หลักกฎหมาย พัฒนาโน่นพัฒนานี่ แต่อังกฤษก็ไม่ได้นอนใจ พระเจ้ามินดง มีพระราชประสงค์จะเสด็จมาประกอบพิธีถวายยอดฉัตรชเวดากอง แต่อังกฤษเซย์โน เบื้องลึกนั้นเพราะอังกฤษไม่ต้องการให้ราชสำนักพม่าแสดงตนว่ายังคงมีอิทธิพล ต่อพระพุทธศาสนาและ Rebranding ระบอบกษัตริย์จนอาจทำให้คนพม่าเริ่มเขว นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่แสดงให้เห็นว่าพระมหาเจดีย์เริ่มถูกกำหนดบทบาทใหม่จากศาสนสถานเป็น สัญลักษณ์ทางการเมือง
DSCF4673
ชเวดากอง กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญก็สมัยที่พม่าพยายามเรียกร้องเอกราช จากอังกฤษ และช่วงที่เรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลทหาร คงจำกันได้ว่า อองซาน ซูจี ประกาศตัวเป็นทายาททางการเมืองต่อจากบิดา โดยปราศรัยครั้งแรกก็ที่ชเวดากองนี่ล่ะ ใครที่ได้ชมภาพยนตร์ The Lady ก็น่าจะพอนึกภาพออก ว่ากันว่าแม้รัฐบาลทหารจะพยายามสกัดกั้นทุกวิถีทาง คนพม่าก็ยังอุตส่าห์แห่แหนไปฟังเธอปราศรัยถึงหลักล้านคน!

แต่ว่าต่อให้ ชเวดากอง จะถูกกำหนดบทบาทในฐานะอะไรก็ตาม จากคนกลุ่มใดก็ตาม เนื้อแท้ที่ชาวพม่าน่าจะทั้งประเทศยังคงระลึกเสมอก็คือ นี่คือศาสนสถานที่พวกเขาให้ความเคารพศรัทธามากที่สุด ว่ากันว่าหากจะยึดประเทศนี้ไม่ต้องยกกองทัพไปยึดนครหลวง แต่ให้ไปยึดพระมหาเจดีย์แทน แต่หากจะมีใครทำนี้จริง ผมเชื่อว่าคงไม่มีทางทำสำเร็จ เพราะคงต้องฝ่าด่านมหาชนชาวพม่าทั้งประเทศให้ได้เสียก่อนล่ะ

จาก ศิลปวัฒนธรรม

suriya mardeegun

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น