สงครามกลางเมืองอเมริกา
สงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War, ค.ศ. 1861-1865) เป็นสงครามกลางเมืองซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งอับราฮัม ลินคอล์น เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา รัฐทาสทางใต้สิบเอ็ดรัฐประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา และจัดตั้งเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา ส่วนอีกยี่สิบห้ารัฐสนับสนุนรัฐบาลกลาง ("สหภาพ") หลังสงครามนานสี่ปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัฐทางใต้ ฝ่ายสมาพันธรัฐยอมจำนนและมีการเลิกทาสทั่วประเทศ ปัญหาซึ่งนำสู่สงครามบางส่วนได้รับการแก้ไขในยุคบูรณะ (Reconstruction Era) ที่เกิดขึ้นตามมา แต่ยังมีที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอีก
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 1860 พรรครีพับลิกัน นำโดย อับราฮัม ลินคอล์น รณรงค์ต่อต้านการขยายระบบทาสนอกเหนือไปจากรัฐที่มีอยู่แล้ว พรรครีพับลีกันเป็นผู้ให้การสนับสนุนชาตินิยมอย่างแข็งขัน และในแนวนโยบายของพรรคใน ค.ศ. 1860 ประณามภัยคุกคามจากความแตกแยกว่าส่อกบฏอย่างชัดเจน หลังพรรคชนะการเลือกตั้ง แต่ก่อนฝ่ายบริหารเริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1861 รัฐผลิตฝ้ายเจ็ดรัฐประกาศแยกตัวและรวมเข้าด้วยกันเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา ทั้งรัฐบาลประธานาธิบดีเจมส์ บูคานัน และรัฐบาลชุดถัดมาไม่ยอมรับว่าการแยกตัวดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย และมองว่าเป็นการกบฏ ส่วนอีกแปดรัฐทาสยังปฏิเสธการเรียกร้องให้แยกตัวออกมาจนถึงจุดนี้ ไม่มีประเทศใดในโลกยอมรับสมาพันธรัฐ
สงครามเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 เมื่อกองทัพสมาพันธรัฐโจมตีที่ตั้งทหารสหรัฐที่ฟอร์ตซัมเตอร์ในเซาท์แคโรไลนาลินคอล์นตอบสนองโดยเรียกร้องให้กองทัพอาสาสมัครจากแต่ละรัฐยึดทรัพย์สินของรัฐบาลกลางคืน ซึ่งนำไปสู่การประกาศแยกตัวออกเพิ่มอีกโดยสี่รัฐทาส ทั้งสองฝ่ายขยายกองทัพเมื่อสหภาพควบคุมรัฐชายแดนในช่วงต้นสงครามและเริ่มการปิดล้อมทางทะเล สงครามภาคพื้นในภาคตะวันออกไม่แพ้ชนะกันใน ค.ศ. 1861-62 เมื่อสมาพันธรัฐสามารถขับความพยายามของสหภาพในการยึดริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย เมืองหลวงของสมาพันธรัฐออกไป ที่โดดเด่นคือ ระหว่างการทัพคาบสมุทร ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1862 การทัพของสมาพันธรัฐในแมริแลนด์ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ในยุทธการแอนตีแทม (Antietam) ซึ่งทำให้อังกฤษเปลี่ยนใจไม่เข้าแทรกแซงในสงคราม[2]ไม่นานหลังจากยุทธการนั้น ลินคอล์นประกาศเลิกทาส ซึ่งทำให้การเลิกทาสไม่เป็นเป้าประสงค์ในสงครามอีกต่อไป[3]
ใน ค.ศ. 1863 การบุกขึ้นเหนือของนายพลสมาพันธรัฐ โรเบิร์ต อี. ลียุติลงด้วยความพ่ายแพ้ที่ยุทธการเกตตีสเบิร์ก ในทางตะวันตก สหภาพควบคุมเหนือแม่น้ำมิสซิสซิปปี หลังยุทธการชิโลห์ (Shiloh) และการล้อมวิคสเบิร์ก (Vicksburg) ซึ่งเป็นผลให้สมาพันธรัฐแบ่งออกเป็นสองและทำลายกองทัพตะวันตกไปเป็นอันมาก ด้วยความสำเร็จในทางตะวันตก ยูลิสซิส เอส. แกรนท์ จึงได้รับอำนาจบังคับบัญชากองทัพตะวันออกใน ค.ศ. 1864 และจัดระเบียบกองทัพของวิลเลียม เทคุมเซห์ เชอร์แมน, ฟิลิป เชอริแดน, และคนอื่น ๆ ให้โจมตีสมาพันธรัฐจากทุกทิศทาง ซึ่งเพิ่มความได้เปรียบด้านกำลังพลของฝ่ายเหนือถึงขีดสุด แกรนท์ปรับโครงสร้างของกองทัพสหภาพ และวางตัวนายพลคนอื่นให้บังคับบัญชากองพลของกองทัพเพื่อสนับสนุนการบุกเวอร์จิเนียของเขา เขานำการทัพภาคพื้นดินเพื่อยึดริชมอนด์ แม้จะเผชิญกับการต้านทานอย่างดุเดือด เขาจะเปลี่ยนแผนและนำการล้อมปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งทำลายกองทัพที่เหลือของลีเกือบทั้งหมด แกรนท์มอบอำนาจให้เชอร์แมนยึดแอตแลนตาและเคลื่อนทัพไปยังทะเลโดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายสาธารณูปโภคของสมาพันธรัฐ เมื่อความพยายามป้องกันปีเตอร์สเบิร์กของสมาพันธรัฐล้มเหลว กองทัพสมาพันธรัฐล่าถอย แต่ก็ถูกตามล่าและพ่ายแพ้ในที่สุด ซึ่งส่งผลให้ลียอมจำนนต่อแกรนท์ที่แอพโพแมตทอก คอร์ทเฮาส์เมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1865
สงครามกลางเมืองอเมริกันเป็นหนึ่งในสงครามอุตสาหกรรมที่แท้จริงครั้งแรก ๆ ของโลก ทางรถไฟ โทรเลข เรือกลไฟ และอาวุธซึ่งผลิตเป็นจำนวนมากมีการใช้กันอย่างกว้างขวาง แบบของสงครามเบ็ดเสร็จ ซึ่งพัฒนาโดยเชอร์แมนในรัฐจอร์เจีย และสงครามสนามเพลาะรอบปีเตอร์สเบิร์กเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในทวีปยุโรป สงครามครั้งนี้ยังเป็นสงครามที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้ทหารเสียชีวิตกว่า 620,000 นาย และพลเรือนเสียชีวิตไม่ทราบจำนวน นักประวัติศาสตร์ จอห์น ฮัดเดิลสตัน ประเมินยอดผู้เสียชีวิตว่า ชายรัฐทางเหนือทุกคนที่อายุระหว่าง 20-45 ปี เสียชีวิตไป 10% และชายรัฐทางใต้ทุกคนที่อายุระหว่าง 18-40 ปี เสียชีวิตไป 30%[4] ชัยชนะของฝ่ายเหนือหมายถึงจุดจบของสมาพันธรัฐและทาสในสหรัฐอเมริกา และเสริมอำนาจแก่รัฐบาลกลาง ปัญหาทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและเชื้อชาติของสงครามมีอิทธิพลต่อยุคบูรณะซึ่งดำเนินไปจนถึง ค.ศ. 1877
สาเหตุของสงคราม
สาเหตุของสงครามเกิดจากความแตกต่างระหว่างแต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกา ที่มีรูปแบบและชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก ในขณะที่รัฐทางใต้ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทาสในการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ รัฐทางเหนือกลับเป็นรัฐอุตสาหกรรมที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทาสมากนัก เมื่ออับราฮัม ลิงคอล์นซึ่งมีแนวคิดต่อต้านระบบทาสอย่างชัดเจน ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐทางใต้ 13 รัฐที่ไม่พอใจ แยกตัวเป็นอิสระ และตั้งรัฐบาลใหม่ในนามว่าสมาพันธรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น