วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

การเมืองคืออะไร


การเมืองคืออะไร คำนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดมาตลอด อ่านตามตำรา ในเน็ต ก็เจอแต่ศัพท์วิชาการ เข้าใจยาก วันนี้ผมเลยลองเรียบเรียงเชียน นิยามของ “การเมือง” ในแบบบ้านๆ เข้าใจง่ายๆดู
การเมือง จะเกี่ยวข้องกับเรา เมื่อมีคนตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป เพราะ ถ้ามีคนเดียว ก็ไม่ต้องมีการเมือง ทุกอย่างคุณทำเองหมด หาอาหาร ล่าสัตว์ ปลูกข้าว ล้างจาน สร้างบ้าน ทำความสะอาด ซักผ้า
เมื่อมีกัน 2 คน ก็จะมีความคิดเห็นเกิดขึ้น ทาบ้านสีอะไรดี ใครจะทิ้งขยะ ใครจะทำความสะอาด วันนี้กินไรดี ใครจะซักผ้า ใครจะหุงข้าว
ซึ่งความคิดเห็นก็ไม่เสมอไปที่จะเห็นไปในแนวทางเดียว จะมีความเห็นที่ต่างกันไป ไม่ตรงกัน นั่นคือ “ความขัดแย้ง” ตรงนี้ล่ะที่ การเมือง จะเข้ามาเกี่ยว เพราะ นิยามหนึ่งของการเมือง คือ “การจัดการความขัดแย้ง”
แล้วจะจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังไงล่ะ ถ้าเป็นสัตว์ก็ใช้กำลังให้อีกฝ่ายยอมศิโรราบ
แต่เราเป็นมนุษย์ซึ่งมีอารยะก็ใช้วิธีการเจรจาหาทางออกร่วมกัน
คราวนี้มาสเกลใหญ่หน่อย หมู่บ้าน มี 100 คน ความขัดแย้งก็จะมากขึ้นละ เช่น จะทำทางเข้าหมู่บ้านยังไงดี ลาดยาง เทคอนกรีต จะเดินไฟฟ้าในหมู่บ้านยังไงดี จะฝังดิน หรือ เดินลอย ทิ้งขยะที่ไหน ใครจะเป็นคนเรียกรถเก็บขยะ ใครจะดูแลความปลอดภัยในหมู่บ้าน
ซึ่งบางเรื่องก็สามารถจัดการได้เอง แต่ก็มีบางเรื่องที่ต้องใช้เงินจัดการ เพราะ สาธารณูปโภคในหมู่บ้าน เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน จะต้องใช้เงินในการก่อสร้าง และ ของเหล่านี้ใช้ร่วมกันในหมู่บ้าน แล้วเงินนี้จะเอามาจากไหนล่ะ ก็มาจากการเรี่ยไรจากคนในหมุ่บ้าน เพราะ คงไม่มีใครหน้าใหญ่พอ ที่จะออกค่าใช้จ่ายพวกนี้คนเดียว
เงินที่เรี่ยไรจากทุกคนในหมู่บ้าน ก็คือ “ภาษี” ที่เอาไปใช้เป็น “งบประมาณ” ในการจัดการด้านต่างๆ ของหมู่บ้าน ตั้งแต่สาธารูปโภค ไฟฟ้า ประปา ถนน การจัดการขยะ การจ้าง รปภ ติดตั้ง CCTV สร้างห้องสมุด.....
แล้วใครจะเป็นคนจัดการ “งบประมาณ” หรือเงินกองกลางตัวนี้ล่ะ ตรงนี้ก็จะมีการเมืองมาเกี่ยวข้อง
ถ้าเป็น เผด็จการ ก็มีมาเฟีย กลุ่มนึง มาจัดการทุกอย่างเอง คนอื่นที่เหลืออย่าแส่ ห้ามถาม ห้ามแย้ง ใครแย้งยิงทิ้ง ซึ่งระบบนี้ก็จัดการได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ระบบที่ดี เพราะ มาเฟีย คนนั้น ก็จะเอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นใหญ่ไม่สนใจใครในหมู่บ้าน ทำสาธารณูปโภค ก็ตามมีตามเกิด ใครขัดดี๋ยวปั๊ดยิงทิ้ง ซึ่งพอก่อตัวมากเข้า ชาวบ้านก็จะรวมตัวล้มมาเฟียคนนั้นในที่สุด
ซึ่งระบบการจัดการต่อมาก็คือ ระบบ “ประชาธิปไตย” ก็คือ คนในหมู่บ้านทุกคนมาประชุมจัดการ และ โหวตหาข้อยุติในเรื่องต่างๆ โดยอิงเสียงส่วนใหญ่
ไม่ว่าใช้ระบอบใหนก็เป็นการเมืองทั้งนั้น
การที่ คนทุกคนในหมู่บ้านจัดการกับ งบประมาณ ในการใช้จ่าย นั่นก็คือ “ฝ่ายบริหาร”
ต่อมาพอเป็นหมู่บ้านที่มีคนอยู่กันเยอะขึ้น ก็จะมีปัญหาตามมา เช่น รถบ้านนั้นมาจอดขวางหน้าบ้านชั้น หมาข้างบ้านส่งเสียงหนวกหู มะม่วงที่บ้านชั้นหายไปใครขโมยไป แล้วจะใช้อะไรจัดการกับความขัดแย้งระหว่างคนในหมู่บ้าน นั่นก็คือ ”กฎหมาย” ซึ่งคนทั้งหมู่บ้านตกลงร่วมกันที่จะตรากฏหมาย มาใช้ เพื่อเป็นข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้าน การออกกฎหมาย ก็คือ “นิติบัญญัติ” นั่นเอง
เพื่อขจัดความขัดแย้งระหว่างคนในหมุ่บ้าน ก็ต้องมีการจัดการด้วยการอิงกฏหมายที่ตราขึ้น แล้วนำคู่กรณี มาไต่สวน สอบสวน และ พิพากษาว่าใครผิด ใครถูก คนผิดก็โดนจ่ายค่าปรับไป ตามแต่ที่กฎหมายกำหนด เรียกว่า “ตุลาการ”
ซึ่งหมู่บ้านที่มีคน 100 คน มันก็สามารถประชุมทุกคนได้ ประชุมการออกกฎหมาย ประชุมการจัดการงบประมาณ ประชุมพิจารณาไต่สวนคดีความ แต่พอหมู่บ้านใหญ่ขึ้น เป็นพัน หมื่น แสน ล้าน คน การจะให้มาประชุมทุกคนคงเป็นไปไม่ได้
จึงมีการตกลงหาตัวแทนเพื่อ เป็นปากเสียงแทนตัวเอง โดยอาจจะซักหมื่นคน เลือกมาคนหนึ่ง ให้คนนี้มาแทนเสียงคนทั้งหมื่นคนนะ คนกลุ่มอื่นก็ไปคัดตัวแทนกันมาเป็นปากเสียงให้ตัวเอง นั่นก็คือ “ผู้แทนราษฎร” นั่นเอง ก็จะเป็นตัวแทนของคนทั้งกลุ่มในการบริหารจัดการงบประมาณ
นิติบัญญัติ กับ ตุลาการ ก็เช่นกัน ตามแนวทางประชาธิปไตย ก็ควรจะมีการเลือกตั้งหาตัวแทนเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวเช่นกัน
แต่สำหรับ ประเทศเราตอนนี้ที่มีปัญหา ก็คือ รปภ ที่หมู่บ้านจ้างมารักษาความสงบเรียบร้อย กลับไม่ทำหน้าที่ ตั้งแต่ตอนมีปัญหาของคนในชุมชน ปล่อยให้ม็อบปิดทางเข้าหมู่บ้าน ปิดถนน ปิดสถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านเพียงไม่กี่คนถ้าเทียบกับคนทั้งหมู่บ้าน
พอถึงจุดหนึ่ง รปภ ก็จัดการล้มระบบการปกครองที่หมู่บ้านสร้างขึ้น แล้วตั้งตัวเองเป็นใหญ่ อ้างเพื่อ “ลดความขัดแย้ง” ซึ่งมันไม่ใช่ มันควรจะจัดการม็อบนี้ ตั้งแต่ ระบบตุลาการแล้ว
รปภ ก็จัดการทุกอย่างที่เห็นว่าดี จัดการออกกฎหมายเอง บริหารเอง พิพากษาเอง ซึ่งใครในหมู่บ้านก็แย้งไม่ได้ เพราะ ทั้งหมู่บ้าน รปภ มีอาวุธอยู่กลุ่มเดียว ใครแย้งก็โดนอัดน่วม
แล้วการที่คนกลุ่มเดียว ออกกฎหมาย บริหาร พิพากษา บังคับใช้คนทั้งหมู่บ้าน มันจะดีไปได้อย่างไร มันไม่ใช่ประชาธิปไตย มันก็คือ เผด็จการ นั่นเอง
จบละครับ ที่เขียนมายืดยาว โดยเนื้อแท้ ผมอยากให้การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว อย่างที่หลายคนเข้าใจ หลายคนอาจหน่าย ขี้เกียจ มันดูยุ่งยาก แต่จริงๆแล้ว คุณจะต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะ ถ้าคุณไม่อยากยุ่งกับการเมือง มีทางเดียวครับ ออกไปอยู่ป่าแบบสันโดษ ไม่ยุ่งกับใคร..!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น