วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

คนกลุ่มวรรณะจัณฑาลคือกลุ่มที่ถูกรังเกียจ และถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดในสังคมอินเดียในขณะนี้


คนอินเดียราว 170 ล้านคน (บางข้อมูลว่าถึง 300 ล้านคน) เกิดมาในกลุ่มที่เรียกว่า อวรรณะหรือ ถูกเรียกว่าจัณฑาล หรือ อธิศูทร และคนกลุ่มวรรณะจัณฑาลคือกลุ่มที่ถูกรังเกียจ และถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดในสังคมอินเดียในขณะนี้ 

ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูเกี่ยวกับเรื่องวรรณะในอินเดียนั้น วรรณะมี 4 ชั้น คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร โดยมีบทบาทความสำคัญในสังคม ตามลำดับ แต่เมื่อมีการแต่งงานข้ามวรรณะ บุตรที่เกิดมาก็จัดเป็นพวกจัณฑาล

คนวรรณะจัณฑาลถูกคนวรรณะอื่นรุมรังเกียจจนถึงกับไม่กล้าจับต้องพวกเขา กลัวว่าจะติดเชื้อโรค โดนเงาก็ยังไม่ได้ นี่เป็นคำสอนกันมาแต่โบราณและยังคงเชื่อกันจนในทุกวันนี้

อาชีพของพวกเขาก็คือ กวาดถนน ล้างท่อระบายน้ำ เก็บขยะ เป็นต้น ถ้าจะทำการเกษตรก็ทำได้เพียงเช่าที่เขาทำ ไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดิน ไม่อนุญาตให้ใช้ของบางชนิดซึ่งคนในวรรณะอื่นๆใช้ และจะอาศัยแถวๆ กองขยะหรือตามแหล่งเสื่อมโทรม

เมื่อเกิดมาเป็นจัณฑาล(อธิศูทร)ก็ต้องมีชีวิตอยู่อย่างจัณฑาล และตายไปอย่างจัณฑาล ที่สำคัญพวกเขาเองก็ยอมรับว่าพวกตนถูกพระเจ้าสาปให้เกิดมาใช้กรรมใช้เวร เขาจึงเป็นคนที่แตกสลาย ไร้อนาคต สมดังคำว่าจัณฑาล(Dalit)ซึ่งแปลว่ามืดมน ไร้อนาคต

เรื่องระบบชนชั้นวรรณะในอินเดียนั้นถูกฝังรากลึก อยู่ในวัฒนธรรมของชาวอินเดียมาอย่างช้านาน แม้จะมีกฎหมายออกมาห้ามการเลือกปฏิบัติเช่นนี้มากว่า 50 ปีแล้วก็ตาม (ตั้งแต่ปี 2498) แต่ด้วยความเชื่อที่ฝังลึกในเรื่องวรรณะนี้จึงไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย แม้กฏหมายเปลี่ยนไป แต่ความเชื่อของคนยังไม่เปลี่ยนแปลง มีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะให้ยุติการเลือกปฏิบัติต่อคนจัณฑาล แต่อคติที่มีต่อคนกลุ่มนี้ฝังรากลึก ไม่สามารถทำให้หมดไปได้

มีโรงเรียนรัฐบาลในอินเดียถึงร้อยละ 38 ซึ่งเด็กจัณฑาลต้องแยกโต๊ะรับประทานอาหารกับเด็กวรรณะอื่น และมีโรงเรียนถึงร้อยละ 20 ซึ่งเด็กจัณฑาลไม่ได้รับอนุญาติให้ดื่มน้ำ ร่วมแหล่งเดียวกับเด็กวรรณะอื่นๆ ถ้าเด็กเหล่านี้ได้เข้าโรงเรียนก็จะต้องนั่งแถวหลังสุด!

แต่ที่แย่ไปกว่านั้น ก็คือเคยเกิดกรณีครูลงโทษนักเรียนจัณฑาลอย่างรุนแรง ชายผู้หนึ่งกล่าวว่า เขาลาออกจากโรงเรียนเมื่อ 38 ปีก่อน เพราะถูกลงโทษด้วยการตีด้วยขาเก้าอี้ เพียงเพราะจ่ายค่าเล่าเรียนไม่ตรงเวลา ในขณะที่นักเรียนคนอื่น ที่ทำแบบเดียวกับเขา แต่อยู่ต่างวรรณะกัน เพียงแค่ถูกตักเตือนเท่านั้น นอกจากนี้นักเรียนจัณฑาล ยังคงต้องนั่งอยู่หลังห้อง และไม่ได้รับการเหลียวแลจากครูผู้สอน

เขาเล่าต่ออีกว่า ร้านขายของชำในหมู่บ้านในอุตรประเทศ ไม่ยอมรับเงินจากมือโดยตรงของลูกค้าจัณฑาล และอีกหลายหมู่บ้านที่คนจัณฑาลถูกก่อกวนรังควานเมื่อสวมเสื้อผ้าใหม่ บางคนถูกบังคับให้เหน็บกิ่งไม้ไว้ที่หลัง เพื่อให้ช่วยลบรอยเท้าเวลาเดิน หรือแม้จะจัดงานแต่งงาน ก็ยังถูกวรรณะอื่นที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันกดดันให้เลิก ครูผู้หนึ่งเล่าว่า ครอบครัวของเขาเตรียมจัดงานใหญ่โต แต่ทันทีที่เขาเดินออกจากบ้าน เพื่อไปหาลูกสาว ชาวบ้านบางคนที่อยู่ในวรรณะสูงกว่า ออกมาด่าทอว่า วรรณะจัณฑาลไม่ควรมีพิธีแต่งงานที่เอิกเกริก

แม้คนจัณฑาลยังคงถูกเลือกปฏิบัติอยู่ แต่ก็ยังคงมีการรณรงค์ตามหมู่บ้าน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เพื่อให้คนจัณฑาลได้รู้สึกเชื่อมั่นว่าการศึกษา ยังคงเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ

แต่ทุกคนก็เห็นว่ามันยากอยู่ หากคนวรรณะอื่น ๆ ไม่ร่วมมือที่จะมองและปฏิบัติต่อกันให้สมกับที่เขาเป็นมนุษย์เหมือนกัน

นักเคลื่อนไหวเพื่อคนจัณฑาลในอินเดียกล่าวว่า แม้ประเทศอินเดียจะมีโครงการส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์ แต่คนจัณฑาลก็ยังถูกกดให้จมปลักอยู่กับอาชีพที่ใช้แรงงาน เช่นการล้างท่อระบายน้ำ ซึ่งแม้ว่าพวกเขาต้องการเปลี่ยนอาชีพ แต่ก็ยังคงถูกบังคับให้ทำงานประเภทนี้อยู่ต่อไป

ต้องยอมรับว่าศาสนาสามารถส่งผลต่อชีวิตคนทั้งปัจเจกและสังคมได้อย่างลึกซึ้งและยาวนานจริงๆ
...

หากเราย้อนกลับมาดูรายละเอียดเรื่องของระบบวรรณะตามหลักความเชื่อของศาสนาฮินดู เราจะเห็นความตั้งใจของคนยุคโบราณมากขึ้น สี่วรรณะของศาสนาฮินดูมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละวรรณะดังนี้ 1. พราหมณ์ มีหน้าที่สั่งสอนผู้คนให้มีความรู้ท้างด้านขนบธรรมเนียมและประเพณี 2. กษัตริย์ มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง 3. ไวศยะ มีหน้าที่ใช้วาจาค้าขาย 4. ศูทร มีหน้าที่แรงงาน

ถ้าดูลึกๆ การที่ศาสนาฮินดูแบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะ และให้แต่ละวรรณะมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป เป็นการแบ่งแยกในเรื่องลำดับความสำคัญและลำดับศักดิ์ศรีสูงต่ำทางสังคมมาก่อน และเรื่องความยากง่ายของงานก็อาจมีส่วนประกอบด้วย

และก็เป็นไปได้ที่ว่า เพราะพวกเขาเวลานั้นมีแนวคิดว่า สังคมต้องมีงานหลัก 4 ประเภทนี้ และงานแต่ละประเภทนี้ต้องใช้คนที่มี "สายพันธุ์" หรือดีเอ็นเอที่แตกต่างกัน จึงจะทำได้ดี แม้เป็นคนเหมือนกันแต่ยืนส์ต่างพันธุ์ก็ทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดี อีกทั้งงานบางอย่างต้องการความศักดิ์สิทธิ์ของสายเลือดแท้ที่สืบต่อกันมา ซึ่งนี่ก็เป็นแนวคิดแบบโบราณ เช่นคนจะเป็นผู้ปกครองก็ต้องมีสายเลือดกษัตริย์เท่านั้น จะเป็นนักบวชก็ต้องสายเลือดพราห์มเท่านั้น

ถ้าจะพยายามมองแง่ดีก็มองได้อีกว่า การแบ่งแยกชนชั้นวรรณะซึ่งเป็นการแบ่งงานเช่นนี้ จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการถ่ายทอดความรู้ความสามารถให้กับคนในวรรณะเดียวกันไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นการพัฒนาต่อยอดความรู้ความสามารถและเทคโนโลยีไปด้วย

แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อทฤษฎีนี้สักเท่าไหร่

แต่กลับเชื่อมากกว่าคือ ก็มีบางแนวคิดวิเคราะห์ว่า เรื่องระบบวรรณะนี้ จริงๆแล้วอาจเป็นแผนการของพวกกษัตริย์และพราห์มสมคบคิดกันใช้ศาสนามาอ้าง เพื่อกดหัวประชาชนซึ่งเป็นคนนอกเชื้อสายของพวกตนไม่ให้กล้าคิดแข็งข้อขึ้นมาชิงอำนาจและล้มล้างราชวงศ์ของกษัตริย์!! ซึ่งวิธีกดหัวด้วยกำลังทหารก็อาจไม่เข้มแข็งพอหรือไม่ยั่งยืนพอ เพราะประชาชนมีจำนวนมหาศาล อย่ากระนั้นเลย ให้พวกเราใช้วิธีกดหัวให้ปกครองง่ายกว่าคือใช้ศาสนาควบคุมจิตใจประชาชนไว้ ซึ่งก็จะทำให้ไม่กล้าแม้แต่จะคิด

ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าระบบที่โง่เขลาและไร้จริยธรรมขนาดนี้ยังคงได้ผลมานานนับหลายพันปี และยังคงอยู่อย่างมั่นคงจวบจนปัจจุบัน

ก่อนจบยังมีอีกประเด็นที่ต้องเพิ่มเติมอีกหน่อยก็คือประเด็นปัญหาเรื่องการแต่งงานข้ามวรรณะ

แน่นอนว่า การแต่งงานโดยที่สามีภรรยาอยู่วรรณะเดียวกัน เมื่อมีลูก ลูกก็จะอยู่ในวรรณะเดียวกับพ่อแม่ และก็มักถือกันมาตลอดว่าถ้าแต่งงานข้ามวรรณะ ลูกที่ออกมาจะเป็นจัณฑาลหมด

อย่างไรก็ดี ก็มีบางตำรา(ซึ่งก็ปรากฎในวิกิพีเดียด้วย)ก็บอกว่า ของดั้งเดิมไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว หากมีการแต่งงานข้ามวรรณะกัน จะมีวรรณะต่างกันเรียกว่าวรรณะสังกร และมีการแต่งงานข้ามวรรณะแบบที่ส่งผลดีและส่งผลไม่ดี ดังนี้

แบบแรก การแต่งงานข้ามวรรณะแล้วส่งผลดี คือแต่งงานโดยสามีอยู่ในวรรณะที่สูงกว่าภรรยา
-สามีวรรณะพราหมณ์ ภรรยาวรรณะกษัตริย์ จะมีลูกเป็นวรรณะมูรธาวสิกต
-สามีวรรณะพราหมณ์ ภรรยาวรรณะแพศย์ จะมีลูกเป็นวรรณะอัมพัษฐะ
-สามีวรรณะพราหมณ์ ภรรยาวรรณะศูทร จะมีลูกเป็นวรรณะนิษาทะ
-สามีวรรณะกษัตริย์ ภรรยาวรรณะแพศย์หรือศูทร จะมีลูกเป็นวรรณะมาหิษยะ
-สามีวรรณะแพศย์ ภรรยาวรรณะศูทร จะมีลูกเป็นวรรณะกรณะ

ส่วนการแต่งงานที่เลว คือแต่งงานข้ามวรรณะโดยภรรยาอยู่ในวรรณะที่สูงกว่าสามี
-ภรรยาวรรณะพราหมณ์ สามีวรรณะกษัตริย์ จะมีลูกเป็นวรรณะสูตะ
-ภรรยาวรรณะพราหมณ์ สามีวรรณะแพศย์ จะมีลูกเป็นวรรณะไวเทหถะ
-ภรรยาวรรณะพราหมณ์ สามีวรรณะศูทร จะมีลูกเป็นวรรณะจัณฑาล อันนี้เลวร้ายที่สุด
-ภรรยาวรรณะกษัตริย์ สามีวรรณะแพศย์ จะมีลูกเป็นวรรณะมาคระ
-ภรรยาวรรณะกษัตริย์ สามีวรรณะศูทร จะมีลูกเป็นวรรณะกษัตตฤ
-ภรรยาวรรณะแพศย์ สามีวรรณะศูทร จะมีลูกเป็นวรรณะยาโยควะ

แนวทางนี้ยังบอกอีกว่า นอกจากนี้แล้วยังมีวรรณะอื่นๆ อีก 3,000 วรรณะเกิดจากการแต่งงานของลูกของสามีภรรยาในวรรณะกษตริย์และแพศย์ และยังขึ้นกับการทำอาชีพของคนนั้นๆด้วย เช่น คนวรรณะพราหมณ์ ถ้าทำอาชีพแบบศูทร 7 ชั่วคน ก็จะเป็นวรรณะศูทร เป็นต้น และวรรณะสังกรยกเว้นจัณฑาลก็สามารถเข้าสู่ 4 วรรณะแรกได้ เช่น ตระกูลพราหมณ์ชายที่แต่งงานกับหญิงวรรณะนิษาทะมาแล้ว 7 ชั่วคน ลูกที่เกิดมาในรุ่นต่อมาจะมีวรรณะพราหมณ์

อันนี้ก็แล้วแต่ว่าจะเชื่อหรือไม่ แต่ที่แน่ๆคือ ภาคปฏิบัติที่ทำในสังคมจริงกันมาตลอดไม่ได้ยึดตามนี้

และไม่ว่าใครจะมองอย่างไร แต่ผู้เขียนถือว่า เรื่องวรรณะมันก็คือเรื่องเดียวกับการเหยียดผิว (apathied) เหยียดเชื้อสายหรือเหยียดเชื้อชาติ (racism) เหยียดเพศ (sexism) และเหยียดศาสนา (sectism) ดีๆนี่เอง เพียงแต่ใส่เรื่องราวสตอรี่ว่ามีประวัติศาสตร์เชิงเทพนิยายประกอบเข้าไปให้ฟังดูขลังขึ้น

ต่ำกว่าจัณฑาล!!!

วรรณะนี้เรียกว่า "มหาจัณฑาล" เรียกในภาษาฮินดีว่า mahadalit

จำได้ไหมว่าจัณฑาลแปลว่าอะไร? แปลว่า มืดมน สิ้นหวัง ไร้อนาคต ครับ และเมื่อเป็นมหาจันฑาลก็ย่อมต้องแปลว่ายิ่งกว่านั้น

คนในวรรณะ "มหาจัณฑาล" นี้จะเป็นกลุ่มที่ยากจนแสนเข็ญที่สุดในหมู่พวกจัณฑาลด้วยกัน และถูกรังเกียจมากที่สุดด้ว

เมื่อเร็วๆนี้ที่อินเดียเกิดภัยน้ำท่วม คนอินเดียหลายร้อยคนต้องอพยพไปอยู่ในศูนย์บรรเทาทุกข์ที่รัฐบาลจัดสรรให้ โดยทุกคนจะได้รับแจกอาหารเป็นข้าวและมันบดให้รับประทานกันวันละสองมื้อ

ปรากฏว่า คนในวรรณะสูงกว่าก็เรียกร้องให้ทางการแยกครัวแยกเตาที่ทำอาหารให้พวกมหาจัณฑาลต่างหากจากของพวกเขาด้วย

ยังไม่พอ เรื่องวรรณะยังมีผลลามไปถึงสิ่งอื่นๆด้วย ที่พักก็ต้องแยกต่างหากและแน่นอนว่าต้องสภาพแย่กว่า เงินช่วยเหลือก็ไม่ได้ แผ่นยางสังเคราะห์ที่ใช้คลุมที่พักที่ได้รับแจกก็ต้องสีต่างและคุณภาพแย่กว่า

เรื่องของศาสนานี่บางทีก็ทำให้สามัญสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ของคนเราบกพร่องเอาได้เหมือนกันครับ..!!


suriya mardeegun

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น