อุดมการณ์ของนักหนังสือพิมพ์
ผมไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านสื่อสารมวลชน ก็เลยไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือกับอาจารย์ สุภา ศิริมานนท์ ตอนที่เข้าสู่วงการนี้ในปี 1989 ก็ไม่สำนึกด้วยซ้ำไปว่า ตัวเองเป็นสื่อมวลชน เป็นนักหนังสือพิมพ์ หรือ journalist อะไรเลย เพียงแต่คิดว่า เรารู้ภาษาต่างประเทศและพอจะเขียนหนังสือได้ ทักษะประเภทนี้ใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ผมก็คิดแค่นั้น แม้จะเคยเป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่คิดว่า จะเอาอาชีพมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองแต่อย่างใด ความจริงหนังสือพิมพ์หลายค่ายที่ผมไปสมัครงานและรู้ประวัติของผม เขาปฏิเสธด้วยซ้ำไป หรือบางทีก็ยืนเงื่อนไขให้ผมละทิ้งกิจกรรมทางการเมืองเสียก่อนมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งผมก็โอเคนะเพราะคิดว่า การเมืองไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตเราหรอก ตอนนั้นผมมีน้องๆที่ต้องส่งเสียให้เรียนอีกตั้ง 4 คน อีกทั้งประเทศไทยก็มีนายกมาจากเลือกตั้งแล้ว ผมก็คิดว่า ภารกิจของผมจบแล้ว
ผมไม่ได้รู้จักกับอาจารย์สุภาเป็นการส่วนตัว แต่ได้อ่านหนังสือของท่าน และได้รับทราบเรื่องราวของท่านผ่านคนที่เขารู้จักและเป็นลูกศิษย์ลูกหา (รวมถึงภรรยาของผมด้วย) อาจารย์สุภามี 2 มิติคือ อย่างแรก เป็นปัญญาชนฝ่ายซ้าย ดูเหมือนท่านประกาศตัวเป็นมาร์กซิสม์ด้วย ผมรู้จักท่านในด้านนี้ค่อนข้างมาก เพราะอ่าน แคปิตะลิสม์ ของท่าน ตอนทำงานที่เศรษฐศาสตร์การเมือง เมื่อท่านเสียชีวิตแล้วป้าจินดา ภรรยาของท่านได้เอาหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองมามอบให้กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่ตอนนั้นกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองมีห้องทำงานแค่ห้องเดียว เลยตกลงกันเอาหนังสือไปไว้มุมหนึ่งของเศรษฐศาสตร์จุฬา (หวังว่าทุกวันนี้จะยังอยู่)
อย่างที่สอง ในฐานะนักหนังสือพิมพ์และปรมาจารย์ทางด้านสื่อสารมวลชน ซึ่งผมไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ มีแต่ภรรยาผมเอางานด้านนี้ของท่านมาให้อ่าน เพื่อว่าเป็นหลักปฏิบัติในวิชาชีพ หนึ่งในนั้นคือ หนังสือเล่มเล็กว่าด้วย "จริยธรรมของหนังสือพิมพ์" ซึ่งในนั้นอาจารย์สุภาเขียนว่าเป็นอุดมการณ์ของหนังสือพิมพ์ และในนั้นมีแค่ 2 ข้อใหญ่คือ ความถูกถ้วน (accuracy) ท่านใช้คำว่า "ถูกถ้วน" ผมเดาว่าน่าจะแปลว่าถูกต้องครบถ้วน สมัยใหม่เราแปลคำนี้ว่า ถูกต้องแม่นยำ อีกอย่างหนึ่งคือ วิพากษ์วิจารณ์อย่างซื่อสัตย์ (Honest criticism) ปรับตามหลักวิชากฎหมายที่ผมเรียนมา ก็จะได้ความว่า สื่อมวลชนพึงวิพากษ์จารณ์โดยสุจริต (in good faith)
แต่เพื่อให้บรรลุถึงอุดมการณ์นั้น ท่านบอกว่ามีหลักการสำคัญอีก 4 ข้อ คือ 1 ความจริงที่แท้ (Objectivity) คำนี้พวกเศรษฐศาสตร์การเมืองแปลว่า ภาวะวิสัย 2 ความสัตย์จริง (honesty) 3 ความเหมาะควร (Decency) 4 ไม่ลอกงานคนอื่น (plagiarism)
เข้าประเด็นในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ objectivity นั้นอาจารย์สุภาบอกว่ามีหลักการอีก 5 ข้อที่จะทำให้เราทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างเป็น ภาวะวิสัย คือ 1 ความไม่เป็นฝักเป็นฝ่าย (impartiality) 2 หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ขัดกัน (conflict of interest) 3 ให้โอกาสปฏิเสธ (opportunity of denial) 4 ละเว้นความลำเอียงหาพวกพ้อง (avoidance of cronyism) และ 5 ละเว้นความพยาบาทเคียดแค้น (avoidance of vengeance)
ความไม่เป็นฝักเป็นฝ่ายนั้นในหลักปฏิบัติคือ เมื่อจำเป็นต้องรายงานเรื่องความขัดแย้งใดๆ ก็ให้เสาะแสวงหาทัศนะของฝ่ายต่างๆมาให้ครบถ้วน และต้องนำเสนอด้วยความสมดุลอย่างมีเหตุผล ท่านว่า "แต่ในหลักปฏิบัติจริงๆมันออกจะยากมากทีเดียว เพราะอะไร ? ก็เพราะว่าตัวนักหนังสือพิมพ์โดยทั่วๆไปนั้นเองมักจะมีความคิดความเห็นแรงไปทางใดทางหนึ่งแง่ใดแง่หนึ่งอยู่แล้วโดยปกติ" (หน้า 19)
ในยุคสมัยของอาจารย์สุภานั้น บ้านเมืองเป็นเผด็จการ การเมืองแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า เหมือนในปัจจุบันนั่นแหละ เพียงแต่จะไม่ซับซ้อนเท่าใดนัก นักหนังสือพิมพ์รุ่นนั้นจำนวนไม่น้อยเป็นพวก activist ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง อาจารย์สุภาเองก็เป็นปัญญาชนฝ่ายซ้าย เรื่องที่ว่าจะเห็นดีเห็นงามกับฝ่ายขวานั้นคงไม่มีหรือมีก็คงน้อย ดังนั้นนักหนังสือพิมพ์ก็จะหนีการครอบงำทางอุดมการณ์ไปไม่พ้น จะมากจะน้อย รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เท่าที่ได้อ่านได้ศึกษามาบ้างผมก็เห็นว่า นักหนังสือพิมพ์ชั้นแนวหน้ายุคนั้น เอาอุดมการณ์ทางการเมืองชี้นำความเป็นสือมวลชนเลยก็ว่าได้ พวกเขาจำนวนมากต่อต้านเผด็จการทหารและเชิดชูประชาธิปไตยเสรี
ในยุคสมัยของอาจารย์สุภานั้น บ้านเมืองเป็นเผด็จการ การเมืองแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า เหมือนในปัจจุบันนั่นแหละ เพียงแต่จะไม่ซับซ้อนเท่าใดนัก นักหนังสือพิมพ์รุ่นนั้นจำนวนไม่น้อยเป็นพวก activist ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง อาจารย์สุภาเองก็เป็นปัญญาชนฝ่ายซ้าย เรื่องที่ว่าจะเห็นดีเห็นงามกับฝ่ายขวานั้นคงไม่มีหรือมีก็คงน้อย ดังนั้นนักหนังสือพิมพ์ก็จะหนีการครอบงำทางอุดมการณ์ไปไม่พ้น จะมากจะน้อย รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เท่าที่ได้อ่านได้ศึกษามาบ้างผมก็เห็นว่า นักหนังสือพิมพ์ชั้นแนวหน้ายุคนั้น เอาอุดมการณ์ทางการเมืองชี้นำความเป็นสือมวลชนเลยก็ว่าได้ พวกเขาจำนวนมากต่อต้านเผด็จการทหารและเชิดชูประชาธิปไตยเสรี
ถามว่า เราเคร่งคัดกับความไม่เป็นฝ่ายในทางการเมืองได้มากแค่ไหน ผมคิดว่าแม้อาจารย์สุภาเองก็คงจะยอมรับว่าทำได้ยาก ท่านจึงได้บัญญัติหลักนี้ว่า เราพึงนำเอาทัศนะทุกฝ่ายมาอยู่ในรายงานของเรา (แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม) เราพึงให้โอกาสทุกฝ่ายได้ปฏิเสธ (ข้อกล่าวหาในรายงานนั้น) เสมอกัน ทั้งเราเองไม่ควรมีผลประโยชน์ ไม่มีเห็นแก่พวกพ้องของเรา และ อย่าเอาความอาฆาตพยายามมาใส่ลงในรายงานข่าวของเรา ปฏิบัติได้เยี่ยงนี้ก็น่าจะเพียงพอต่อการเป็นผู้มี"อาชีวปฎิญาณ" แล้ว
ปัญหาในยุคสมัยปัจจุบันก็ซับซ้อนมาก สื่อสารมวลฝักใฝ่การเมืองกันหลายแบบ บ้างฝักไฝ่เผด็จการ บ้างฝักใฝ่ประชาธิปไตย บ้างเป็นซ้าย บ้างเป็นขวา บ้างเป็นพวกก้าวหน้า บ้างเป็นอนุรักษ์นิยม บ้างสีโน้น บ้างสีนี้ มั่วไปหมด ถามว่าพวกเขามีเสรีภาพจะประพฤติเช่นนั้นหรือไม่ คำตอบคือมีแน่นอน แต่ไม่พึงเอามันมาใส่ลงในงานอาชีพ ซึ่งมีหลักแห่งความไม่ฝักใฝ่กำกับอยู่แล้ว
ถามว่านักข่าวมีเสรีภาพในชุมนุมทางการเมืองไล่คนโน้นคนนี้หรือไม่ คำตอบคือในฐานะพลเมืองย่อมมีแน่นอน แต่ควรทำในเวลาที่ว่างเว้นจากงานอาชีพ ทว่านักข่าวก็มีอาชีพที่ทำงานไม่ค่อยเป็นเวลา จะไปทำข่าวด้วยและถือโอกาสชุมนุมไล่ผู้นำทางการเมืองที่เราไม่ชอบขี้หน้าได้หรือไม่ มันคงเกิดขึ้นได้บ่อยๆเช่นกัน แต่ถ้าจะรายงานข่าวพึงให้โอกาสคนที่เราขับไล่ได้ชี้แจงในข้อกล่าวหาในข่าวของเราด้วย ไม่พึงรายงานด้วยความโกรธเกลียดพยาบาทอาฆาตแค้น หรือแพร่กระจายความเกลียดชัง
บางทีอาจจะมีการบังคับใช้หลักการนี้เข้มแข็งมาก เช่นสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง ถ้ารู้ว่านักข่าวของตัวเองไปร่วมชุมนุม แต่งกายให้เข้าพวก ถือป้าย ตะโกนคำขวัญ เป่านกหวีด ฯลฯ ระหว่างไปทำข่าว เขาจะไล่ออกทันที โดยไม่สนใจว่าคุณมีฝีมือในทางข่าวแค่ไหน เป็นตัวเงินตัวทองให้บริษัทหรือไม่
บางทีอาจจะมีการบังคับใช้หลักการนี้เข้มแข็งมาก เช่นสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง ถ้ารู้ว่านักข่าวของตัวเองไปร่วมชุมนุม แต่งกายให้เข้าพวก ถือป้าย ตะโกนคำขวัญ เป่านกหวีด ฯลฯ ระหว่างไปทำข่าว เขาจะไล่ออกทันที โดยไม่สนใจว่าคุณมีฝีมือในทางข่าวแค่ไหน เป็นตัวเงินตัวทองให้บริษัทหรือไม่
แม้ว่าเคร่งครัดขนาดนั้น แต่นักข่าว นักหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์มีสังกัดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งได้หรือไม่ คำตอบคือ มี political alignment อยู่อย่างเห็นได้ชัดในฝรั่งเศส ถ้าผู้อ่านชอบทัศนะแบบฝ่ายขวาอ่าน Le Figaro กลางค่อนไปทางซ้ายแบบที่ปัญญชนชอบก็ต้อง Le Mond แต่ถ้าซ้ายไปเลยก็อ่าน Liberation
สมัยก่อนผมเคยช่วยงานวิทยุ Radio France International เขาจะมีรายการสรุปหัวข่าวหนังสือพิมพ์ประจำวันแทรกอยู่ในตอนท้ายรายการข่าวประจำวัน ผู้ประกาศหรือนักเล่าข่าวจะบอกด้วยว่า หนังสือพิมพ์นั้นมีความโน้มเอียงทางการเมืองแบบใด เช่น หนังสือพิมพ์แนวนิยมขวา Le Figaro หนังสือพิมพ์ของฝ่ายซ้าย Liberation ก็เพื่อเตือนคนรับสารก่อนว่า มีอุดมการณ์บางอย่างเจือปนมาด้วยนะ ประชาชนเขาก็มีวิจารณ์ญาณตัดสินเองได้ว่าจะชอบแบบไหน
ดูแนวโน้มแล้ว อีกหน่อยบ้านเราก็คงมีแบบนี้ (ความจริงตอนนี้ก็พอมองกันออก แม้ว่าหลายเจ้าจะยังเหนียมอายอยู่มากก็ตาม)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น