ความชราที่มาพร้อมกับข้อมูลใหม่ (Grey Tsunami Coming With New Big Data)
© flickr.com-photos-neloqua
เรามักจินตนาการถึงโลกอนาคตที่หมุนไปพร้อมกับเทคโนโลยีและระบบปฏิบัติการอัจฉริยะอย่างในภาพยนตร์ Minority Report (2002) Her (2013) หรืออาจเป็นโลกดิสโทเปียที่มนุษย์ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับภาวะขาดแคลนทรัพยากรในยุคหลังสังคมล่มสลาย ดังเช่น Interstellar (2014) และ Mad Max: Fury Road (2015) จนไม่ทันได้สังเกตว่าสิ่งที่กำลังรอเราอยู่ในอีก 35 ปีข้างหน้าก็คือ คลื่นประชากรของผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือคิดเป็น 2 พันล้านคนของประชากรโลกทั้งหมด และนั่นหมายถึงในปี 2050 โลกของเราจะกลายเป็นสังคมแห่งคนแก่โดยสมบูรณ์ (Aged-Society) ด้วยสัดส่วนของผู้สูงวัยมากถึง 1 ใน 5 ของประชากร ตามการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก
จากบันไดสู่ความสำเร็จ สู่ขั้นกว่าของการเปลี่ยนแปลง
อาจเรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของมนุษย์ที่คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์แทบทุกความต้องการพื้นฐานได้สำเร็จ ทั้งด้านการแพทย์และยารักษาโรคที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง โดยเฉพาะทารกแรกเกิด และเมื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกระจายไปสู่ระดับภูมิภาคพร้อมกับบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา และการเติบโตของเมือง ผู้คนเริ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับอายุยืนยาวเป็นโบนัส ในทางกลับกัน อัตราการเกิดและอัตราการเจริญพันธุ์กลับลดลง เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการมีบุตรและวางแผนครอบครัว จากรายงาน "สูงวัยในศตวรรษที่ 21: การเฉลิมฉลองและความท้าทาย" โดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund: UNFPA) ร่วมกับองค์การช่วยเหลือผู้สูงอายุระหว่างประเทศ (HelpAge International) ระบุว่าอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดในแต่ละประเทศกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าปัจจุบัน ใน 33 ประเทศ มีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดมากถึง 80 ปี และเมื่อสิ้นสุดปี 2050 จะมี 64 ประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 30 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ของสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ระดับดังกล่าวในช่วงปี 2031- 2032 ส่วนวัยแรงงานในฝั่งยุโรปจะเหลือเพียง 265 ล้านคนเท่านั้นในปี 2060
แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงสั่นคลอนโครงสร้างพีระมิดของประชากรโลก แต่ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ตั้งแต่ระดับมหภาค เช่น แรงงานการผลิต งบประมาณด้านสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ การพัฒนาชุมชนและสังคมที่เอื้อต่อผู้สูงวัย ไปจนถึงระดับปัจเจก เช่น ทัศนคติต่อความชรา การอยู่อาศัย และไลฟ์สไตล์ที่ไม่จำกัดอายุ เพราะไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน เด็กกับคนหนุ่มสาวมักจะได้รับโอกาสและทางเลือกมากกว่าวัยโรยราซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้อย่างเคย กระทั่งสังคมที่เจริญแล้วก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับประชากรสูงวัยอย่างแท้จริง หลายฝ่ายจึงต้องหันกลับมาศึกษาและทำความเข้าใจผู้สูงวัยในฐานะผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่ครอบครองกำลังซื้อและความต้องการใหม่เพื่อหาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
© telegraph.co.uk
โลกใบเก่า คนแก่ แต่ข้อมูลใหม่
อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศย่อมใช้เวลาเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการเตรียมพร้อมของรัฐบาล หลายประเทศจึงเลือกจะศึกษาเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ไปก่อนใครเพื่อน เช่น สวีเดน (1972) สหราชอาณาจักร (1976) และ อิตาลี (1988) ที่สำคัญ การสืบค้นข้อมูลไม่ใช่ปัญหายุ่งยากอีกต่อไป เมื่อเทียบกับการจัดการปริมาณข้อมูลมหาศาลที่ส่งตรงมาจากตัวผู้บริโภค โรงพยาบาล หรืออาจโอนถ่ายผ่านระบบคลาวด์มาอีกทีหนึ่ง ไหนจะต้องแกะรอยพฤติกรรมใหม่ๆ ของผู้สูงอายุที่หันมาใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและโซเชียลมีเดียกันยกใหญ่ เช่น แอพพลิเคชั่นสุขภาพ การทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต การรับชมสื่อออนไลน์ ข้อมูลเหล่านี้เปรียบได้กับประตูสู่อินไซต์ของคนสูงวัยที่นำไปต่อยอดได้แทบทุกสาขาวิชา ทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งนโยบายการพัฒนาประเทศ แต่กลับมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้บริโภควัยอื่น งานนี้ นักจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Scientist) จึงต้องออกโรงมาจัดระเบียบข้อมูลของผู้สูงอายุกันอย่างจริงจัง
องค์การช่วยเหลือผู้สูงอายุระหว่างประเทศได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สังคมผู้สูงวัยในปี 2014 จาก 96 ประเทศทั่วโลก เพื่อจัดทำ "ดัชนีชี้วัดเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั่วโลก (Global Age Watch Index)” ทั้งในรูปแบบรายงานวิชาการและฐานข้อมูลออนไลน์ในเว็บไซต์ helpage.org โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ภาคีเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญกว่า 40 รายจากสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น ชราภาพวิทยา สุขภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต
หน้าที่ของระบบดัชนีข้อมูลนี้ ไม่ใช่แค่ช่วยเปลี่ยนข้อมูลเป็นภาพ ตาราง แผนภูมิ และแผนที่เท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ใช้มองเห็นและเข้าใจภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น สามารถติดตามข้อมูลเชิงสถิติของจำนวนผู้สูงวัยใน 96 ประเทศทั่วโลก และสืบค้นไปถึงข้อมูลเชิงลึกได้ว่าแต่ละประเทศมีวิธีการจัดการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างไร นอกจากนี้ ทางองค์การจะคอยรายงานการประเมินผลความสำเร็จของนโยบายน้อยใหญ่ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาและพัฒนาสังคมสำหรับผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต โดยประมวลจากข้อมูล 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ ความมั่นคงด้านรายได้ สุขภาพ ความสามารถ (การศึกษาและการว่าจ้างงาน) และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวก ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชน ซึ่งทุกข้อล้วนบ่งชี้ถึงความเป็นอยู่ที่ดีนั่นเอง
© asiasociety.org
ระบบนี้ยังมีฟังก์ชั่น "Compare Countries" ให้เลือกประเภทข้อมูลและกลุ่มประเทศที่ต้องการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบได้ เพื่อเอื้ออำนวยให้หน่วยงานและคนที่สนใจนำไปพัฒนางานวิชาการ นโยบาย คิดวิเคราะห์แนวโน้มของอนาคต และอาจได้บทสรุปใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น ดังที่ทางองค์การได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงทางรายได้และเงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุในปี 2014 ว่า มีประชากรโลกแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่คาดว่าจะได้รับเงินบำนาญหลังวัยเกษียณ และประเทศพัฒนาหลายแห่งก็ยังขาดการจัดการเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบ สะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไม่อาจรับรองว่าผู้สูงวัยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเสมอไป
น้อยคนจะรู้ว่าดัชนีชี้ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อสนองคำเรียกร้องของนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดให้มีการปฏิวัติข้อมูล (Data Revolution) อย่างยั่งยืน และยืนยันว่าเมื่อปี 2015 สิ้นสุดลง จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลังแผนการพัฒนาสำหรับโลกอนาคตอีกต่อไป ซึ่งหมายรวมถึงประชากรสูงวัยในปัจจุบันด้วย เพราะที่ผ่านมา คนสูงวัยมักจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกตัดออกจากแผนพัฒนาและนโยบายสาธารณะอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไรนักว่า เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุ
องค์การสหประชาติได้แบ่งระดับสังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) กล่าวคือ ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ 2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) กล่าวคือ เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 เพิ่มเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ 3. ระดับสังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super-aged Society หรือ Hyper-Aged Society) กล่าวคือ เมื่อประชากรอายุ 65 ขึ้นไป มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ |
ที่มา:
รายงาน "สูงวัยในศตวรรษที่ 21: การเฉลิมฉลองและความท้าทาย" โดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund: UNFPA) และ องค์การช่วยเหลือผู้สูงอายุระหว่างประเทศ (HelpAge International)
helpage.org/global-agewatch
suriya mardeegun
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น