Revolution…and then
หากเราลองมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติเศรษฐกิจโลก โลกผ่านการปฏิวัติเกษตรกรรม สู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เทคโนโยลีการผลิตแบบ Mass Production ได้ทำให้เกิดกระบวนการผลิตแบบโรงงานคราวละมากๆ จากระบบไอน้ำและทางรถไฟ สู่การประดิษฐ์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์ จนเมื่อราว 50 ปีก่อน การเกิดขึ้นของระบบคอมพิวเตอร์ การพัฒนาเวิลด์ไวด์เว็บ และระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้โลกปฏิวัติกระบวนการผลิตใหม่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โลกนี้จึงกลายเป็นสถานที่ที่แตกต่างกันมากในเวลาเพียงแค่ไม่กี่ทศวรรษ กลายเป็นสถานที่ที่ต้องปรับตัวสำหรับคนในหลายเจเนอเรชั่น และเป็นสถานที่ที่ยากลำบากมากขึ้นในการที่จะสร้างผลกำไรทางธุรกิจ
แต่อัจฉริยภาพทางการคิดค้นของมุนษย์ได้นำเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่สวมใส่ลงบนการผลิตแบบเดิม และออกแบบอนาคตใหม่ให้แก่ธุรกิจ ดังเช่นบริษัท Schoeller Textiles บริษัทอันเก่าแก่ของสวิตเซอร์แลนด์ที่มีรากฐานมาตั้งแต่ปี 1867 ในฐานะผู้ผลิตเส้นใยที่มีคุณภาพและผ้าลูกไม้ชั้นสูง ซึ่งเช่นเดียวกับโรงงานเท็กซ์ไทล์ทั่วไปที่ต้องต่อสู้กับความต้องการสินค้าราคาย่อมเยา แต่ Schoeller เลือกที่จะปฏิวัติตัวเอง โดยการทุ่มเทกับส่วนงานวิจัยเพื่อสร้างสิ่งทอสร้างสรรค์และสร้างมิติใหม่ๆ ให้กับสิ่งทอ เช่น การพัฒนาสิ่งทอเพื่อใช้รักษาโรค โดยสร้างเส้นใยจากสารแขวนตะกอนน้ำมัน และพืชที่มีฤทธิ์ในการรักษา อย่าง “อนิก้า (Arnica)” ที่คลายอาการปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งเส้นใยนี้จะทำงานแบบกลุ่มสารแม่เหล็ก เมื่อสวมใส่สัมผัสกับผิวหนังตัวยาก็จะออกฤทธิ์บรรเทาอาการ หรือการสร้างสิ่งทอที่มีความเร้าใจให้โลกแฟชั่นชั้นสูงแบบโอต์ กูตูร์ ให้แก่คริสเตียน ดิออร์ และชาแนล เช่น ผ้าและลูกไม้ทำจากเส้นด้ายทองคำยาว 1 เมตร มีราคาระหว่าง 880-8,800 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นโดยนักนาโนเทคโนโลยีที่ใช้กระบวนการเคลือบทองคำเข้ากับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ในตู้สุญญากาศ โดยไฟพลาสม่าที่ไปกระแทกอะตอมของทองคำ และถูกผลักไปในทิศทางที่จะควบแน่นและเกิดเป็นชั้นๆ กลายเป็นเส้นใยโลหะแวววาวที่มีน้ำหนักเบาอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งธุรกิจนวัตกรรมสิ่งทอนี้มีมูลค่าตลาดราว 700-800 เหรียญสหรัฐฯ และเป็นเครื่องการันตีความเหนือชั้นกว่าบริษัทสิ่งทออื่นๆ ในตลาดโลก
เป้าหมายทางธุรกิจเป็นมิติหนึ่งของการปฏิวัติเทคโนโลยีในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น อีก 20 ปีต่อจากนี้ เราอาจได้เห็นสงครามมนุษย์จักรกล (Robotic war) ที่คุ้นตาจากโลกภาพยนตร์มาเป็นในสมรภูมิรบจริงๆ หรือหุ่นยนต์ขนาดเท่าผึ้ง ซึ่งสามารถบินเข้าไปในช่องหน้าต่างเล็กๆ เพื่อบันทึกภาพและเสียง อันเป็นสิ่งที่เพนตากอนได้บุกเบิกมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ขณะที่ในเชิงพาณิชย์นั้น มากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกกำลังพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ เพราะเชื่อมั่นว่าอนาคตสิ่งที่คิดอยู่ในวันนี้ จะเป็นเพียงบริการพื้นฐานของสังคมเราเท่านั้นเอง
จากฝูงหุ่นยนต์ในสมรภูมิรบกลางทะเลทราย โดรนสอดแนมขนาดเท่าผึ้ง ที่นอนป้องกันแผลกดทับ จนถึงเส้นด้ายทองคำที่เพิ่มความหรูหราให้กับการสวมใส่ การปฏิวัติเทคโนโลยีได้สร้างความเป็นไปได้มากมายให้แก่การใช้ชีวิตของผู้คน แต่การปฏิวัติระบบการผลิตครั้งล่าสุดของโลกนี้ ไม่ใช่การเปลี่ยนโลกในเวลาข้ามคืน มันต้องอาศัยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการลงทุน ความรู้ และเทคโนโลยีมหาศาล และความจริงก็คือ ช่องว่างระหว่างผู้นำหน้า กับผู้เดินตามนั้น ยิ่งห่างกันออกไปเรื่อยๆ โอกาสของการวิ่งไล่ล่าอนาคตจึงต้องเอาชนะข้อจำกัด เชื่อมต่อ และสร้างประโยชน์จากเทคโนโลยีเดิมให้ล้ำเลิศกว่า เพื่อให้การก้าวกระโดดนั้นมั่นคง สร้างผลลัพธ์ที่น่าจดจำ และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติแห่งยุคของเราได้อย่างแท้จริง
เรื่อง: อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล
บรรณาธิการอำนวยการ
Apisit.L@tcdc.or.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น