วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

คำครู

คำครู
คำครู !!!
*****
ต้องยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง
ทำไมเราจึงต้องยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง ?
เรื่องนี้เกี่ยวพันกับปัญหาทฤษฎีและปัญหาข้อเท็จจริง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พรรคคืออะไร ? พรรคการเมืองคืออะไร ? เมื่อพูดถึงปัญหาทางทฤษฎีมาทำความเข้าใจว่าพรรคการเมืองคืออะไร ?
๑. ‪#‎ความหมาย‬
“พรรคการเมือง” คือ กลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลที่ยึดกุมอำนาจรัฐ หรือมีความมุ่งหมายเพื่อที่จะเข้ายึดกุมอำนาจรัฐ นี่คือความหมายย่อๆ และก็ง่ายๆ ของพรรคการเมือง คำว่าพรรคการเมืองนี้ นักวิชาการโดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์ อธิบายหลายแง่หลายมุมและก็ยืดยาวบางทียากต่อการทำความเข้าใจ แท้จริงแล้วก็มีความหมายและสาระสำคัญเพียงแค่นี้ จะมีรูปเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ รูปของกลุ่มของคณะบุคคลนั้น อาจจะไม่เรียกว่าพรรคก็ได้ อาจจะเรียกว่าขบวนการก็ได้ อย่างขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ แต่ถ้ามีความมุ่งหมายที่จะเข้ากุมอำนาจรัฐแล้วก็ได้ชื่อว่ามีลักษณะเป็นพรรคการเมืองทั้งสิ้น ฉะนั้นพรรคการเมืองจึงหมายถึงสาระสำคัญของมัน ไม่ได้หมายถึงรูปแบบของการมี อาจจะเรียกว่าพวกก็ได้ ถ้าคนเหล่านั้นมีความมุ่งหมายเพื่อเข้ากุมอำนาจรัฐ
ความจริงแต่ก่อนเมืองไทยไม่เคยมีคำว่าพรรคการเมือง คำว่าพรรคมีมาใช้ตอนหลังๆ สมัยก่อนเรียกว่า “คณะ” บ้าง ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Party” หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า “Political Party” แปลว่า “พรรคการเมือง” ที่จริงคำว่าพรรคการเมืองนี่มันมีความหมายโดยทั่วไปก็ได้ อย่างที่เราเรียกว่า Tea Party คือจะมีการเลี้ยงน้ำชากันเป็นหมู่คณะ หรืออะไรก็แล้วแต่ ได้อีกมากมาย
๒. ‪#‎ที่มาของรัฐที่ทำให้เกิดพรรค‬
ส่วนพรรคการเมืองนั้นไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน พรรคการเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ ถ้าจะถามว่าเกิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็ต้องบอกว่าเกิดมาพร้อมกับ “รัฐ” คือ “ประเทศ” เมื่อมีรัฐก็มีพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ เมื่อมีประเทศก็มีรัฐปกครองประเทศ ก็ต้องมีพรรคการเมือง ตั้งแต่ยุคโบราณเป็นมาอย่างนี้
ฉะนั้นพรรคการเมืองหรือพรรคเป็นของคู่กับรัฐ นี่เป็นกฎเกณฑ์ที่สำคัญ ที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน ว่าพรรคนั้นเป็นของคู่กับรัฐ ถ้าไม่มีรัฐก็ไม่มีพรรคการเมือง ถ้ามีประเทศ ไม่มีรัฐ ก็ไม่มีพรรค คือว่าประเทศกับรัฐไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ประเทศมีมาแต่ไหนแต่ไร อาจจะไม่มีรัฐก็ได้ แต่ว่ามีประเทศ อย่างยุคสมัยป่าเถื่อน ถ้ายังไม่มีการปกครองที่มีรัฐ อาจจะปกครองด้วยวิธีต่างๆ เช่น ปกครองแบบพ่อบ้าน ปกครองแบบพ่อแม่ปกครองลูก แบบเครือญาติ ประเทศสมัยก่อนปกครองแบบโบราณแบบเครือญาติ ฉะนั้นประเทศอย่างนั้นเขาไม่มีรัฐ และเราก็ไม่ปนคำว่า “ประเทศ” (Country) กับ “รัฐ” (State) เข้าด้วยกัน ไม่ใช่ว่ามีประเทศแล้วก็จะต้องมีรัฐเสมอไป แต่ว่าในยุคปัจจุบัน เมื่อมีประเทศแล้วก็ต้องมีรัฐ สมัยนี้มันเป็นอย่างนี้เสียแล้ว แต่สมัยโบราณมีประเทศโดยไม่มีรัฐ “ประเทศ” เราเรียกอีกอย่าง “ปิตุภมิ” (Father Land) หรือ “มาตุภูมิ” (Mother Land)
เมื่อมีประเทศมีรัฐแล้วก็มีรูปต่างๆกัน เช่นก่อนสมัยกลาง สมัยกรีกโรมัน เมื่อเกิดประเทศขึ้นแล้ว รัฐเขาเรียกว่า “รัฐแห่งนคร” ต่อมาประเทศเป็นรูปของ “จักรวรรดิ” เพราะขยายใหญ่โต อย่างสมัยของจักรวรรดิโรมัน เราคงเคยได้ยินกัน ประเทศเป็นจักรวรรดิ เมื่อประเทศเป็นจักรวรรดิ รัฐมันก็กลายเป็นจักรวรรดิ เรียกว่า “Empire State”
ต่อมาจักรวรรดิสูญหายไป ล่มสลายไปกลายเป็นรูปใหม่ กลายเป็นรูปศักดินา หรือ Feudal ซึ่งเรียกว่าสมัยกลาง อันนี้เราต้องติดตามประวัติศาสตร์กันบ้าง สมัยกลางนี้ ถ้าพูดถึงยุโรปก็ราวๆ สมัยเดียวกับกรุงสุโขทัย หรืออยุธยา ถึงต้นรัตนโกสินทร์ อย่างนี้เรียกว่าสมัยกลาง สมัยกลางนี้ประเทศมีรูปเป็นศักดินา ฉะนั้นรัฐเขาก็เรียกว่า “รัฐศักดินา” หรือ Feudal State
ต่อมาประเทศก็เปลี่ยนรูปไปอีก เปลี่ยนรูปไปเป็น “ชาติ” หรือ “ประชาชาติ” อย่างคณะชาตินิยม กลุ่มชาตินิยม ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในเวลานี้ หมายความว่าประเทศ ที่มีรูปเป็นชาติหรือประชาชาติ แล้วก็มีขบวนการหนึ่งเกิดขึ้นก็เรียกว่าขบวนการชาตินิยม หรือขบวนการประชาชาตินิยม ประเทศมีรูปเป็นชาติหรือประชาชาติรัฐก็เปลี่ยนรูปไป เป็น “รัฐประชาชาติ” หรือ “รัฐแห่งชาติ” อย่างในยุคปัจจุบันรัฐล้วนมีรูปเป็นรัฐแห่งชาติทั้งสิ้นไม่ว่าชาตินั้นจะเป็นชาติชนิดไหน ชาติมีหลายชนิด ชาติชนิดประชาธิปไตยก็มี ชาติชนิดเผด็จการก็มี ชนิดสังคมนิยมก็มี ที่เป็นกันอยู่ตามข้อเท็จจริง
ฉะนั้นรัฐมันก็เป็นไปตามชนิดของชาติที่เป็นเผด็จการ หรือประชาธิปไตย หรือเป็นสังคมนิยม หรือเป็นคอมมิวนิสต์ เราจึงเรียกว่ารัฐเผด็จการบ้าง รัฐประชาธิปไตยบ้าง รัฐสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์บ้าง
๓. ‪#‎รัฐและอำนาจ‬
ทีนี้ “รัฐ” เนื้อแท้ตัวจริงของมันหมายถึงกลไก และอำนาจการปกครองประเทศ หากจะอธิบายกันอย่างง่ายๆ ถ้าจะอธิบายกันตามวิชารัฐศาสตร์ ก็อธิบายกันมากมายก่ายกองจนไม่สามารถทำความเข้าใจได้ ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือกลไกและอำนาจที่ใช้การปกครองประเทศ กลไกเหล่านั้นก็ได้แก่ กองทัพ กองตำรวจ ศาลยุติธรรม ระบบราชการ ตลอดจนถึงองค์การนิติบัญญัติ ทางตุลาการ ทางบริหารเป็นต้น
พอมีกลไกแห่งรัฐก็ยังไม่พอ ต้องมี “อำนาจ” ด้วย เพราะการปกครองนั้นต้องปกครองด้วยอำนาจ ถ้าไม่มีอำนาจก็ไม่สามารถปกครองได้ ในระดับหมู่คณะ แม้ในหน่วยครอบครัวก็ต้องมีผู้ปกครองใช้อำนาจ ต่างกันเพียงแค่อำนาจในการปกครองประเทศนั้นเป็นอำนาจสูงสุด สามารถตัดหัวคนได้ สั่งฆ่าคนได้
อำนาจในการปกครองประเทศเรียกว่า “อำนาจแห่งรัฐ”(อธิปไตย) เป็นอำนาจสูงสุด อำนาจและกลไกแห่งรัฐเมื่อบวกกันก็เรียกว่า “รัฐ” ทีนี้ทั้งกลไกและทั้งอำนาจต่างๆ นี้ ต้องมีผู้ใช้ ผู้ใช้คือใคร ผู้ใช้คือผู้ที่เข้าไปยึดกุม ใครเข้าไปยึดกุมก็สามารถใช้อำนาจและกลไกดังกล่าวได้ สามารถใช้อำนาจแห่งรัฐและกลไกแห่งรัฐได้
เพราะฉะนั้น คณะบุคคลที่เรียกว่าพรรคการเมือง ซึ่งจะมีรูปเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้ามีความมุ่งหมายเพื่อที่จะเข้าไปยึดกุมอำนาจแห่งรัฐแล้วก็เรียกว่าพรรคการเมือง เพราะถ้าคณะเหล่านั้นถ้าได้เข้าไปยึดกุมแล้วก็มีอำนาจสูงสุดสามารถใช้กลไกแห่งรัฐแล้ว ก็มีอำนาจสูงสุดสามารถใช้กลไกแห่งรัฐและสามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ สมัยโบราณบรรดาผู้ที่เข้าไปยึดกุมอำนาจแห่งรัฐก็ย่อมมีอำนาจปกครองและใช้อำนาจนั้นตั้งแต่ประหารชีวิตคนลงมาเป็นลำดับๆ จนถึงโทษต่างๆ ผู้ที่เข้าไปยึดกุมก็คือพรรคการเมือง เพียงแต่ว่าแต่ก่อนไม่ได้เรียกว่าพรรคการเมือง อย่างเช่นในสมัยโบราณ สมัยกรีกโรมัน พวกที่เข้าไปยึดกุมนี้จะเรียกว่าเป็นคณะ เป็นกลุ่ม ฯลฯ แต่ก็จะเห็นว่ามีการยึดกุมกันอยู่เรื่อยๆ
๔. ‪#‎กลุ่มคนผู้ใช้อำนาจ‬
ต่อมาในยุคที่เรียกว่าสมัยกลาง ผู้ที่เข้าไปยึดกุมเรียกว่าราชวงศ์ ไม่ว่าประเทศไหนๆ ล้วนแต่มีพระราชวงศ์ พระราชวงศ์หนึ่งๆ ก็เรียกว่าพรรคนั่นเอง เช่นในประเทศจีน มีราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ฮั่น กลุ่มเหล่านั้นต่อสู้กันเพื่อเข้าไปยึดกุมอำนาจในกลไกแห่งรัฐ เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด คำว่าพรรคนี่มีเริ่มมีเมื่อ ๓๐๐ ปีมานี่เอง คือหลังจากยุคสมัยกลาง การยึดกุมอำนาจในสมัยก่อนอาจเป็นการรวบรวมกำลังพล นำประชาชน ชาวนามาโค่นล้มอีกฝ่าย พอมาถึงยุคสมัยใหม่ก็เห็นว่าการสู้รบเป็นเรื่องล้าหลัง ก็เลยต้องต่อสู้กันแบบใหม่ด้วยเหตุผลที่เรียกกันว่าวิถีทางประชาธิปไตย ใครที่ต้องการจะเข้าไปกุมอำนาจรัฐหรือกลไกแห่งรัฐ ก็ตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่าตั้งพรรคขึ้นแล้วก็ต่อสู้กันด้วยวิธีการต่างๆ วิธีการเลือกตั้งก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะเข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐ และกลไกแห่งรัฐ
การต่อสู้กันสมัยนี้ก็มีอยู่สองแบบ คือตามวิธีการประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งกันไป อีกแบบหนึ่งก็คือใช้กำลังเวลาไม่เอาด้วยก็เอารถถังออกมา ส่วนวิธีที่ร้ายกว่ารถถังก็ต้องเป็นแบบคอมมิวนิสต์คือการทำสงคราม ซึ่งคอมมิวนิสต์เชื่อว่าเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะยึดกุมกลไกแห่งรัฐและอำนาจรัฐด้วยการจัดตั้งกองทัพ
ต้องเข้าใจว่าผู้ที่จะเข้าไปกุมอำนาจแห่งรัฐเหนือกลไกแห่งรัฐนี้เรียกว่า “พรรคการเมือง” และจะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่เหนือรัฐ พรรคการเมืองคือผู้ที่จะเข้าไปกุมรัฐ ถ้าเข้าไปกุมไม่ได้ก็ถือว่ามีความมุ่งหมายที่จะเข้าไปอยู่เหนือรัฐทั้งนั้น เพราะจะเข้าไปเอาอำนาจรัฐ เข้าไปเอากลไกรัฐมาไว้ในกำมือตน เป็นสิ่งที่เหนือรัฐ ตามหลักที่แท้จริงแล้วพรรคจึงต้องอยู่เหนือรัฐทั้งนั้นและคณะบุคคลก็อยู่เหนือรัฐทั้งนั้น แต่ขณะนี้กลับเกิดสภาพพรรคบางพรรคเกิดไม่ถือหลักเกณฑ์ขึ้นมา คิดจะเข้าไปยึดกุมเสียคนเดียว กีดกันพรรคอื่นออกไป เพื่อให้พรรคตนเองยึดกุมอยู่ฝ่ายเดียว ก็เลยคิดวิธีการใหม่ขึ้นมาด้วยการใช้กฎหมายพรรคการเมือง ออกกฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง โดยมีความมุ่งหวังเพื่อขัดขวางไม่ให้พรรคอื่นมีโอกาสเหมือนตนเอง วิธีการอย่างนี้เรียกว่า “วิธีการเผด็จการ”
๕. ‪#‎พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่ใช่ตามกฎหมาย‬
ตามประวัติศาสตร์ที่เล่ามาพรรคการเมืองจึงควรพัฒนามาตามธรรมชาติที่มันควรจะเป็น เติบโตขึ้นตามสภาพของมันเองและขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มไหนหรือกลไกไหนจะมีความสามารถทำให้ประชาชนสนับสนุน กฎหมายไม่น่าจะเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรได้ เพราะกฎหมายเป็นเรื่องของรัฐ ไม่ใช่เรื่องของพรรค พรรคไม่มีกฎหมาย แต่อยู่เหนือกฎหมายเพราะว่าอยู่เหนือรัฐ พรรคจึงอยู่เหนือกฎหมาย กฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เมื่อพรรคอยู่เหนือรัฐ พรรคก็ต้องอยู่เหนือกฎหมาย ฉะนั้นถ้าหากว่ามาทำให้พรรคอยู่ใต้กฎหมายก็หมายความว่าเป็นการทำพรรคให้อยู่ใต้รัฐนั่นเอง ตามธรรมดาพรรคจะอยู่เหนือรัฐได้ พรรคต้องไม่มีกฎหมาย การออกกฎหมายเมื่อปี ๒๕๒๔ ให้รัฐอยู่เหนือพรรค จึงเป็นการผิดหลักเกณฑ์ของพรรคการเมือง การทำให้พรรคอยู่ใต้รัฐ เป็นการทำลายกฎเกณฑ์ของพรรคการเมือง เป็นการฝืนธรรมชาติ และตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตยที่มุ่งให้พัฒนาและเจริญไปเองตามธรรมชาติ การสกัดกั้นไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาแข่งขันด้วยความกลัว จึงทำให้เกิดระบอบเผด็จการขึ้นมาและเป็นการฝืนธรรมชาติของการพัฒนา ตัวอย่างพรรคเผด็จการก็อย่างเช่น พรรคฟาสซิสต์ของมุสโสลินี พรรคนาซีของฮิตเลอร์
๖. ‪#‎ต้องยกเลิกกฎหมายพรรคการเมืองเพื่อสร้างประชาธิปไตย‬
เรื่องพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับระบอบประชาธิปไตย ถ้าจะให้เป็นระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องยกเลิกกฎหมายพรรคการเมืองเสียใหม่ ให้พรรคการเมืองก่อตัวขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างเช่นการให้สัมภาษณ์ของ ดร. กมล ทองธรรมชาติ ครั้งหนึ่งที่ว่า บ้านเราต้องการจะพัฒนาระบบพรรคด้วยกฎหมาย มุ่งหมายให้มีพรรคการเมืองน้อยพรรค แต่ทำเช่นนี้มาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าจะออกกฎหมายอย่างรัดกุม พรรคการเมืองก็ยังมีอยู่หลายพรรคอยู่นั่นเอง ชาติใดที่ต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตย จึงต้องให้มีการพัฒนาของพรรคการเมืองอย่างเป็นธรรมชาติ จะใช้กฎหมายมาตั้งพรรคการเมืองไม่ได้ ตามหลักการที่ว่าพรรคการเมืองอยู่เหนือรัฐ ไม่ใช่รัฐอยู่เหนือพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองมีเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่เคยมีมาในอดีต มีอยู่เพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่กล่าวในเรื่องพรรคการเมืองอย่างถูกหลักเกณฑ์ของระบอบประชาธิปไตย ก็คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งกล่าวถึงพรรคการเมืองไว้ว่า “บุคคลมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการรวมกันเป็นพรรคการเมือง เพื่อดำเนินการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย และจะนำเอากฎหมายที่ว่าด้วยสมาคมมาใช้กับพรรคการเมืองมิได้” นี่คือแบบฉบับของรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องในเรื่องที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง
แท้จริงแล้วสาระสำคัญตามกฎหมายพรรคการเมืองมีสาระสำคัญเพียงข้อเดียวคือ พรรคการเมืองต้องจดทะเบียน ถ้าพรรคการเมืองต้องจดทะเบียน พรรคการเมืองก็ไปขึ้นตรงกับรัฐ เพราะต้องไปจดกับกระทรวงมหาดไทย(1) ซึ่งขึ้นตรงกับรัฐ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องยกเลิกกฎหมายพรรคการเมืองและในข้อเท็จจริงก็ต้องกลับไปสู่สถานการณ์ที่เป็นอยู่เมื่อปี ๒๔๘๙-๒๔๙๐ ก่อนมีการทำรัฐประหาร
--------------------------------
* เอกสารทางวิชาการและการเมือง “ทำไมเราจึงต้องยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง”
ถอดเทปจากคำบรรยายของ นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตประธานคณะกรรมการบริหาร
ขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ โดย นายอนุสรณ์ สมอ่อน กรรมการบริหารขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ
เผยแผ่โดยขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ
The National Democratic Movement of Thailand (NDMT)
(1) ปัจจุบันจดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น